ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำแนะนำสำหรับครอบครัว | การเลี้ยงลูก

ชมลูกอย่างไรไม่ให้เหลิง?

ชมลูกอย่างไรไม่ให้เหลิง?

ปัญหา

บางคนบอกว่า มันยากที่จะชมลูกแบบพอดี ๆ ไม่เว่อร์จนเกินไป ส่วนคนอื่นก็บอกว่าการชมบ่อย ๆ จะทำให้ลูกเหลิงและกลายเป็นคนหลงตัวเอง แล้วนี่จะทำให้ลูกคิดว่าจะทำอะไรก็ได้เพราะโลกนี้เป็นของเขา

นอกจากจะคิดว่าควรชมบ่อยแค่ไหน คุณยังอาจต้องคิดถึงวิธีชมลูกด้วย การชมแบบไหนที่จะทำให้ลูกมีกำลังใจ? หรือแบบไหนที่จะทำให้ลูกท้อใจ? และคุณจะชมลูกอย่างไรถึงจะได้ผลดีที่สุด?

สิ่งที่คุณควรรู้

คำชมใช่ว่าจะดีไปหมด ให้เรามาดูว่าชมลูกแบบไหนถึงจะดีที่สุด

ชมมากเกินไปอาจกลายเป็นโทษ พ่อแม่บางคนชอบชมลูกพร่ำเพรื่อเพราะอยากให้ลูกภูมิใจในตัวเอง ดร. เดวิด วอลช์เตือนว่า แต่เด็ก “ก็ฉลาดพอที่จะมองออกว่านั่นเป็นการพูดเกินจริงและสรุปได้ว่าคุณไม่ได้หมายความอย่างที่พูดจริง ๆ หรอก ลูกรู้ตัวว่าไม่สมควรจะได้รับ [คำชม] และอาจสรุปว่าเขาเชื่อใจคุณไม่ได้” *

ชมความสามารถดีกว่าชมพร่ำเพรื่อ ถ้าลูกสาวของคุณวาดรูปเก่ง ก็เป็นเรื่องปกติที่คุณอยากชมลูกเพื่อลูกจะได้ฝึกวาดรูปให้เก่งขึ้น แต่การชมแบบนี้ก็อาจมีข้อเสียด้วย เพราะคำชมที่เน้นแต่ความเก่งล้วน ๆ อาจทำให้ลูกคิดว่าเก่งแล้วไม่ต้องฝึกอะไรก็ได้ แล้วเขาก็อาจไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามารถ เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ ลูกอาจนึกในใจว่า ‘ถ้ามันยากนักก็ไม่ต้องเลยละกัน จะพยายามไปทำไมล่ะ?’

ชมความพยายามดีที่สุด เด็ก ๆ ที่ได้รับคำชมเพราะความขยันหมั่นเพียรแทนที่จะได้รับคำชมเพราะความเก่ง จะเข้าใจความจริงที่สำคัญข้อหนึ่งคือ กว่าจะเก่งได้ก็ต้องมีมานะและอดทน หนังสือชื่อปล่อยไป ด้วยรักและมั่นใจ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า การที่รู้ว่า “งานจะออกมาดีได้ก็ต้องใช้ความพยายาม แม้แต่เมื่อผลงานยังไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไร พวกเขาก็จะไม่คิดว่าตัวเองไม่เอาไหน เพราะกำลังอยู่ในขั้นฝึก”

สิ่งที่คุณทำได้

ชมเชยที่ลูกพยายาม ไม่ใช่เพราะเก่ง การบอกลูกว่า “ดีจังที่ลูกตั้งใจวาดซะสวยเลย” อาจดีกว่าบอกว่า “ลูกนี่เป็นศิลปินตั้งแต่เกิดเลยนะ” สังเกตว่าคำพูดทั้งสองแบบนี้เป็นการชมเชย แต่คำชมแบบที่ 2 อาจทำให้คิดได้เหมือนกันว่าที่ลูกเก่งก็เพราะพรสวรรค์ล้วน ๆ

เมื่อคุณชมเชยที่ลูกพยายาม คุณก็สอนให้ลูกรู้ว่าเขาจะเก่งได้ถ้าขยันฝึก แล้วลูกของคุณก็จะกล้ามากขึ้นที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทาย—หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: สุภาษิต 14:23

ช่วยลูกให้เรียนจากข้อผิดพลาด แม้แต่คนดี ๆ ก็ผิดพลาดได้ และอาจจะหลายครั้งด้วย (สุภาษิต 24:16) แต่ทุกครั้งที่ผิดพลาด พวกเขาก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์นั้น แล้วลุกขึ้นก้าวเดินต่อไป คุณจะช่วยลูกให้เป็นคนคิดบวกแบบนี้ได้อย่างไร?

ก็ให้เน้นที่ความพยายามอีกนั่นแหละ ลองคิดถึงตัวอย่างนี้สิ สมมุติว่าคุณชอบพูดกับลูกสาวว่า “ลูกนี่เกิดมามีหัวทางเลขจริง ๆ เลยนะ” แต่พอลูกสอบตกวิชาเลข ลูกอาจคิดว่าเมื่อตัวเองไม่มีหัวทางนี้แล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ช่างมันเถอะ จะพยายามไปทำไมล่ะ?

แต่เมื่อคุณชมเชยที่ความมุมานะ คุณก็ฝึกลูกให้รู้จักอดทน ช่วยให้ลูกมองว่าที่สอบตกก็เหมือนกับเดินสะดุด แต่ไม่ถึงกับหัวร้างข้างแตก ดังนั้น แทนที่จะเลิก ลูกจะลองหาวิธีอื่นหรือพยายามฝึกฝนให้มากขึ้น—หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: ยาโกโบ 3:2

ติเพื่อก่อ เมื่อติชมอย่างถูกวิธีลูกก็จะไม่ท้อใจ และถ้าคุณหมั่นพูดชมเชยลูกแบบที่พอเหมาะพอดี ลูกก็จะเต็มใจรับฟังว่าเขาจะพัฒนาความสามารถของตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร แล้วผลงานที่ได้จากความพยายามนี้ก็จะทำให้คุณกับลูกปลื้มใจ—หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: สุภาษิต 13:4

^ วรรค 8 จากหนังสือไม่ได้: ทำไมเด็กทุกวัยต้องได้ยิน และพ่อแม่จะพูดคำนี้อย่างไร (ภาษาอังกฤษ)