“จงแสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์”
“จงแสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์”
“ส่วนพระยะโฮวา พระเนตรของพระองค์กวาดมองไปทั่วแผ่นดินโลกเพื่อจะสำแดงฤทธิ์ของพระองค์เพื่อคนเหล่านั้นที่มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวต่อพระองค์.”—2 โครนิกา 16:9, ล.ม.
1. อำนาจคืออะไร และมนุษย์ได้ใช้อำนาจอย่างไร?
อำนาจอาจมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น การควบคุม, การบังคับบัญชา, หรือการมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น; ความสามารถในการกระทำหรือก่อให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใด; กำลังทางกาย (ความแข็งแรง); หรือ ประสิทธิภาพทางจิตใจหรือทางศีลธรรม. มนุษย์มีประวัติไม่ดีในเรื่องการใช้อำนาจ. ลอร์ดแอกทัน นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงอำนาจในมือนักการเมืองว่า “อำนาจมักทำให้เสื่อมทราม และอำนาจสิทธิ์ขาดทำให้เสื่อมทรามอย่างสิ้นเชิง.” ประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันเต็มไปด้วยตัวอย่างซึ่งแสดงถึงความเป็นจริงโดยทั่วไปในคำพูดของลอร์ดแอกทัน. ระหว่างศตวรรษที่ 20 “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่เขา” อย่างที่ไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน. (ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) ผู้เผด็จการที่ชั่วร้ายได้ใช้อำนาจของตนอย่างผิดมหันต์และทำลายชีวิตผู้คนนับล้าน. อำนาจที่ปราศจากการควบคุมโดยความรัก, สติปัญญา, และความยุติธรรมเป็นอันตราย.
2. จงอธิบายถึงคุณลักษณะอื่น ๆ ของพระเจ้าซึ่งมีผลต่อวิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์?
2 ไม่เหมือนกับมนุษย์จำนวนมาก พระเจ้าทรงใช้อำนาจของพระองค์ในทางดีเสมอ. “ส่วนพระยะโฮวา พระเนตรของพระองค์กวาดมองไปทั่วแผ่นดินโลกเพื่อจะสำแดงฤทธิ์ของพระองค์เพื่อคนเหล่านั้นที่มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวต่อพระองค์.” (2 โครนิกา 16:9, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์อย่างมีการควบคุม. ความอดทนทำให้พระเจ้าทรงระงับการสำเร็จโทษคนชั่วไว้ เพื่อให้พวกเขามีโอกาสกลับใจ. ความรักกระตุ้นพระองค์ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ส่องสว่างแก่คนทุกชนิด—ทั้งคนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรม. ในที่สุด ความยุติธรรมจะกระตุ้นพระองค์ให้ใช้อำนาจอันไร้ขีดจำกัดของพระองค์เพื่อทำลายตัวการที่ทำให้เกิดความตาย คือซาตานพญามาร.—มัดธาย 5:44, 45; เฮ็บราย 2:14; 2 เปโตร 3:9.
3. เหตุใดอำนาจอันยิ่งใหญ่สูงสุดของพระเจ้าเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งสำหรับการไว้วางใจพระองค์?
3 อำนาจอันน่าเกรงขามของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราเป็นเหตุผลหนึ่งสำหรับความไว้วางใจและความเชื่อมั่น—ทั้งในเรื่องคำสัญญาและการคุ้มครองของพระองค์. เด็กเล็กรู้สึกปลอดภัยในหมู่คนแปลกหน้าเมื่อเขาจับมือบิดาของเขาไว้แน่น เนื่องจากเขาทราบว่าบิดาจะไม่ปล่อยให้อันตรายใด ๆ มาถึงตัวเขา. ในทำนองเดียวกัน พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่ง “อานุภาพที่จะช่วยให้รอดได้” จะทรงคุ้มครองเราไว้จากอันตรายถาวรใด ๆ ก็ตามหากเราดำเนินกับพระองค์. (ยะซายา 63:1; มีคา 6:8) และในฐานะพระบิดาที่ดี พระยะโฮวาทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์เสมอ. อำนาจอันไร้ขีดจำกัดของพระองค์รับประกันว่า ‘ถ้อยคำของพระองค์จะมีผลสัมฤทธิ์แน่นอนดังที่พระองค์ได้ใช้ให้ไปทำ.’—ยะซายา 55:11, ล.ม.; ติโต 1:2.
4, 5. (ก) เกิดผลเช่นไรเมื่อกษัตริย์อาซาไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่? (ข) อาจเกิดอะไรขึ้นหากเราหมายพึ่งทางแก้ปัญหาจากมนุษย์?
4 เหตุใดจึงสำคัญมากที่เราควรสำนึกเสมอถึงการคุ้มครองจากพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา? เนื่องจากเป็นไปได้ที่เราอาจถูกสถานการณ์แวดล้อมกดดันอย่างหนักและลืมไปว่าความมั่นคงแท้จริงของเรานั้นอยู่ที่ไหน. เรื่องนี้เห็นได้จากตัวอย่างของกษัตริย์อาซา บุรุษผู้ซึ่งโดยปกติแล้วไว้วางใจพระยะโฮวา. ระหว่างรัชสมัยของอาซา กองทัพกล้าแข็งของเอธิโอเปียซึ่งมีจำนวนนับล้านยกมาโจมตียูดา. โดยตระหนักว่าฝ่ายศัตรูมีข้อได้เปรียบทางทหาร อาซาอธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, มีเฉพาะแต่พระองค์ผู้เดียวที่จะทรงสงเคราะห์ในระหว่างพวกที่มีฤทธิ์กับผู้ที่หามีกำลังไม่เลย: ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า, ขอพระองค์ทรงโปรดช่วย, เพราะข้าพเจ้ายึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง, และได้ออกมาต่อสู้หมู่คณะใหญ่นี้ในพระนามของพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา, 2 โครนิกา 14:11) พระยะโฮวาทรงทำตามคำทูลขอของอาซาและทำให้ท่านได้ชัยชนะเด็ดขาด.
พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า, ขออย่าให้มนุษย์ได้ชัยชนะต่อพระองค์เลย.” (5 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์หลายปี ความเชื่อมั่นของอาซาในอำนาจแห่งการช่วยให้รอดของพระยะโฮวากลับคลอนแคลน. เพื่อจะพ้นจากการคุกคามทางทหารของอาณาจักรยิศราเอลซึ่งอยู่ทางเหนือ ท่านหันไปขอความช่วยเหลือจากซุเรีย. (2 โครนิกา 16:1-3) แม้ว่าสินบนที่ท่านมอบให้แก่เบ็นฮะดัดกษัตริย์แห่งซุเรียช่วยให้ยูดาพ้นจากการคุกคามของยิศราเอล แต่สัญญาไมตรีที่อาซาทำกับซุเรียแสดงถึงการขาดความมั่นใจในพระยะโฮวา. ผู้พยากรณ์ฮะนานีถามท่านอย่างตรงไปตรงมาว่า “พวกอายธิโอบกับพวกลูบีมนั้นเป็นกองทัพใหญ่นัก, มีรถรบ, และทหารม้าเป็นอันมากมิใช่หรือ? แต่เมื่อท่านได้พึ่งพระยะโฮวา, พระองค์ทรงมอบเขาไว้ในมือท่าน.” (2 โครนิกา 16:7, 8) อย่างไรก็ตาม อาซาไม่ยอมรับการว่ากล่าวนี้. (2 โครนิกา 16:9-12) เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา ขอเราอย่าได้หมายพึ่งทางแก้จากมนุษย์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้เราแสดงความมั่นใจในพระเจ้า เพราะการไว้วางใจในอำนาจของมนุษย์ย่อมนำไปสู่ความผิดหวังแน่นอน.—บทเพลงสรรเสริญ 146:3-5.
จงแสวงหาอำนาจที่พระยะโฮวาทรงประทาน
6. เหตุใดเราควร “แสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์”?
6 พระยะโฮวาสามารถประทานอำนาจแก่ผู้รับใช้ของพระองค์และคุ้มครองพวกเขา. คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราให้ “แสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 105:4) เพราะเหตุใด? เพราะเมื่อเราทำสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยกำลังจากพระเจ้า อำนาจที่เรามีจะถูกใช้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหาย. ไม่มีที่ใดซึ่งเราจะพบตัวอย่างในเรื่องนี้ที่ดีกว่าพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงกระทำการอัศจรรย์หลายอย่างด้วย “ฤทธิ์เดชของพระเจ้า.” (ลูกา 5:17) พระเยซูสามารถทุ่มเทตัวเองเพื่อจะเป็นคนร่ำรวย, มีชื่อเสียง, หรือแม้แต่เป็นกษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจบริบูรณ์. (ลูกา 4:5-7) แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์ทรงใช้อำนาจที่พระเจ้าประทานเพื่อฝึกอบรมและสั่งสอน เพื่อช่วยเหลือและรักษาโรค. (มาระโก 7:37; โยฮัน 7:46) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีอะไรเช่นนี้สำหรับเรา!
7. คุณลักษณะสำคัญอะไรที่เราปลูกฝังเมื่อเราทำสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยกำลังที่ได้จากพระเจ้าแทนที่จะพึ่งอาศัยกำลังของตัวเราเอง?
7 นอกจากนั้น เมื่อเราทำสิ่งต่าง ๆ ตาม “กำลังซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทาน” นั่นย่อมจะช่วยเราให้รักษาความถ่อมใจไว้. (1 เปโตร 4:11) มนุษย์ที่แสวงหาอำนาจสำหรับตัวเองนั้นทำเกินสิทธิ์. ตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้คือเอซัรฮาโดนกษัตริย์อัสซีเรียผู้ประกาศอย่างโอ้อวดว่า “เราคือผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ, เราคือผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจทั้งสิ้น, เราคือวีรบุรุษ, เราคือผู้ยิ่งใหญ่, เราคือผู้ใหญ่ยิ่ง.” ตรงกันข้าม พระยะโฮวา “ทรงเลือกสิ่งที่โลกถือว่าอ่อนกำลัง เพื่อจะให้คนมีกำลังมากอับอาย.” ด้วยเหตุนั้น หากคริสเตียนแท้จะอวด เขาอวดในพระยะโฮวา เพราะเขาทราบว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมิได้บรรลุผลด้วยกำลังของตนเอง. ‘การถ่อมตัวเราเองลงภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า’ ย่อมจะนำมาซึ่งความปลื้มปีติแท้.—1 โกรินโธ 1:26-31; 1 เปโตร 5:6.
8. เราควรทำอะไรเป็นอันดับแรกเพื่อจะได้รับกำลังจากพระยะโฮวา?
8 เราจะได้กำลังจากพระเจ้าโดยวิธีใด? ประการแรก เราต้องอธิษฐานขอ. พระเยซูทรงให้คำรับรองแก่เหล่าสาวกว่าพระบิดาจะทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้ที่ทูลขอ. (ลูกา 11:10-13) ขอให้พิจารณาวิธีที่การอธิษฐานขอทำให้เหล่าสาวกของพระคริสต์เปี่ยมด้วยพลังเมื่อเขาเลือกจะเชื่อฟังพระเจ้าแทนที่จะเชื่อฟังพวกหัวหน้าศาสนาที่สั่งพวกเขาเลิกให้คำพยานถึงพระเยซู. เมื่อพวกเขาอธิษฐานขอให้พระ ยะโฮวาทรงช่วยเหลือ คำอธิษฐานที่จริงใจของพวกเขาได้รับคำตอบ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานกำลังแก่พวกเขาที่จะประกาศข่าวดีด้วยความกล้าต่อ ๆ ไป.—กิจการ 4:19, 20, 29-31, 33.
9. จงบอกถึงแหล่งที่สองซึ่งสามารถให้กำลังฝ่ายวิญญาณ และยกตัวอย่างจากพระคัมภีร์ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของกำลังจากแหล่งดังกล่าว.
9 ประการที่สอง เราสามารถได้กำลังฝ่ายวิญญาณจากคัมภีร์ไบเบิล. (เฮ็บราย 4:12) อำนาจแห่งพระคำของพระเจ้าปรากฏชัดระหว่างสมัยของกษัตริย์โยซียา. แม้ว่ากษัตริย์ยูดาองค์นี้ได้ขจัดรูปเคารพของพวกนอกรีตออกไปจากแผ่นดินแล้ว การค้นพบพระบัญญัติของพระยะโฮวาในพระวิหารอย่างไม่คาดคิดกระตุ้นท่านให้ปฏิบัติการกวาดล้างเต็มที่ยิ่งขึ้น. * หลังจากโยซียาได้อ่านพระบัญญัติด้วยตัวท่านเองให้ประชาชนฟัง ทั้งชาติก็ทำสัญญาไมตรีกับพระยะโฮวา และมีการรณรงค์เพื่อกวาดล้างการบูชารูปเคารพอีกเป็นคำรบสองซึ่งทำกันอย่างแข็งขันยิ่งกว่าเดิม. ผลดีจากการปฏิรูปของโยซียาคือ ตลอด “รัชกาลของพระองค์เขาทั้งหลายมิได้หันไปจากการติดตามพระเยโฮวาห์.”—2 โครนิกา (พงศาวดาร) 34:33, ฉบับแปลใหม่.
10. วิธีที่สามที่จะได้รับกำลังจากพระยะโฮวาคืออะไร และเหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
10 ประการที่สาม เราได้รับกำลังจากพระยะโฮวาโดยการคบหาสมาคมในหมู่เพื่อนคริสเตียน. เปาโลสนับสนุนคริสเตียนให้เข้าร่วมการประชุมเป็นประจำเพื่อ “เร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี” และหนุนกำลังใจกัน. (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) เมื่อเปโตรได้รับการช่วยให้ออกจากคุกโดยการอัศจรรย์ ท่านต้องการจะอยู่กับพวกพี่น้องจึงได้ตรงไปยังบ้านมารดาของโยฮัน มาระโก ซึ่งที่นั่น “มีหลายคนได้ประชุมอธิษฐานกันอยู่.” (กิจการ 12:12) แน่นอน พวกเขาทุกคนสามารถอยู่กับบ้านและอธิษฐาน. แต่พวกเขาเลือกที่จะมาอยู่ร่วมกันเพื่ออธิษฐานและหนุนกำลังใจกันในช่วงเวลาที่ยุ่งยากลำบากนั้น. เมื่อเปาโลจวนจะสิ้นสุดการเดินทางอันยาวนานและเสี่ยงภัยไปยังกรุงโรม ท่านพบกับพี่น้องบางคนในเมืองโปติโอลอย และต่อมาก็ได้พบกับคนอื่น ๆ ที่เดินทางมาพบท่าน. ปฏิกิริยาของท่านนะหรือ? “เมื่อเปาโลเห็นเขาแล้วท่านจึงขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าและมีใจชื่นบานขึ้น.” (กิจการ 28:13-15) ท่านได้รับกำลังเข้มแข็งขึ้นจากการได้อยู่ร่วมกับเพื่อนคริสเตียนอีกครั้งหนึ่ง. เราเองก็เช่นกันได้รับกำลังจากการคบหากับเพื่อนคริสเตียน. ตราบเท่าที่เรามีอิสระและสามารถคบหาสมาคมกัน เราต้องไม่พยายามดำเนินเพียงลำพังตัวเองในทางแคบซึ่งนำไปสู่ชีวิต.—สุภาษิต 18:1; มัดธาย 7:14.
11. จงกล่าวถึงสถานการณ์บางอย่างที่เราจำเป็นต้องได้รับ “กำลังที่มากกว่าปกติ” เป็นพิเศษ.
11 โดยการอธิษฐานเป็นประจำ, การศึกษาพระคำของพระเจ้า, และการคบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมความเชื่อ เรา “รับเอาพลังต่อ ๆ ไปในองค์พระผู้เป็นเจ้าและในพลานุภาพแห่งฤทธิ์เดชของพระองค์.” (เอเฟโซ 6:10, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัยว่า เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับ ‘พลังในองค์พระผู้เป็นเจ้า.’ บางคนทนอยู่กับความเจ็บป่วยที่ทำให้อ่อนเปลี้ย คนอื่น ๆ ประสบความทุกข์เนื่องด้วยวัยชราหรือจากการสูญเสียคู่ชีวิต. (บทเพลงสรรเสริญ 41:3) บางคนอดทนการต่อต้านจากคู่สมรสที่ไม่เชื่อ. บิดามารดา โดยเฉพาะบิดาหรือมารดาไร้คู่ อาจพบว่าการเอาใจใส่งานเต็มเวลาในขณะที่เอาใจใส่เลี้ยงดูครอบครัวเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่ทำให้เหน็ดเหนื่อยมาก. หนุ่มสาวคริสเตียนจำเป็นต้องได้รับกำลังที่จะต้านทานแรงกดดันจากคนรุ่นเดียวกันและบอกปฏิเสธยาเสพย์ติดและการผิดศีลธรรม. ไม่ควรมีใครรีรอที่จะทูลขอพระยะโฮวาให้ประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” เพื่อรับมือข้อท้าทายเหล่านั้น.—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.
“ประทานแรงแก่ผู้ที่อิดโรย”
12. พระยะโฮวาทรงค้ำจุนเราอย่างไรในงานรับใช้ของคริสเตียน?
12 นอกจากนั้นแล้ว พระยะโฮวาทรงประทานกำลังแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ขณะที่พวกเขาทำงานรับใช้ของตน. เราอ่านจากคำพยากรณ์ของยะซายาว่า “พระองค์ทรงประทานแรงแก่ผู้ที่อิดโรย, ส่วนผู้ที่อ่อนเปลี้ย, พระองค์ทรงประทานกำลังให้. . . . ผู้ที่คอยท่าพระยะโฮวาจะได้รับกำลังเพิ่มขึ้น; เขาจะกางปีกบินขึ้นไปดุจนกอินทรี; เขาจะวิ่งไป, และไม่รู้จักอ่อนเปลี้ย, เขาจะเดินไป, และไม่รู้จักอิดโรย.” (ยะซายา 40:29-31) อัครสาวกเปาโลเองได้รับกำลังที่จะทำงานรับใช้ของท่าน. ผลก็คือ งานรับใช้ของท่านมีประสิทธิภาพ. ท่านเขียนถึงคริสเตียนในเมืองเธซะโลนิเกว่า “ข่าวดีที่เราประกาศไม่ได้มาถึงท่ามกลางท่านทั้งหลายโดยวาจาเท่านั้นแต่โดยฤทธิ์และโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (1 เธซะโลนิเก , ล.ม.) การประกาศและการสอนของท่านมีพลังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในชีวิตของคนที่ฟังท่าน. 1:5
13. อะไรเสริมกำลังยิระมะยาให้พากเพียรต่อไปแม้เผชิญการต่อต้าน?
13 เมื่อเผชิญกับน้ำใจไม่แยแสในเขตทำงานของเรา—เขตซึ่งเราอาจได้ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายปีโดยที่มีการตอบรับเพียงเล็กน้อย—เราอาจเริ่มท้อใจ. ยิระมะยาก็รู้สึกท้อใจคล้าย ๆ กันเนื่องด้วยการต่อต้าน, การเยาะเย้ย, และความไม่แยแสที่ท่านเผชิญ. ท่านบอกกับตัวเองว่า “ข้าพเจ้าจะไม่พูดถึง [พระเจ้า] อีก, หรือจะไม่บอกในนามของพระองค์อีกแล้ว.” แต่ท่านไม่สามารถนิ่งเงียบอยู่ได้. ข่าวสารที่ท่านมีอยู่นั้น “เหมือนอย่างไฟปิดไว้ในกระดูกทั้งปวงของตัว [ท่าน].” (ยิระมะยา 20:9) อะไรทำให้ท่านมีพลังขึ้นอีกครั้งในการเผชิญหน้ากับความเป็นปฏิปักษ์อย่างมากเช่นนั้น? ยิระมะยากล่าวว่า “พระยะโฮวาได้อยู่ด้วยข้าพเจ้าเป็นเหมือนอย่างผู้มีฤทธิ์อันพิลึกพึงกลัว.” (ยิระมะยา 20:11) ความหยั่งรู้ค่าของยิระมะยาต่อความสำคัญของข่าวสารและงานมอบหมายที่พระเจ้าทรงประทานแก่ท่านทำให้ท่านตอบรับการหนุนกำลังใจจากพระยะโฮวา.
อำนาจที่ก่อความเสียหายและอำนาจที่ให้การรักษา
14. (ก) ลิ้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังขนาดไหน? (ข) จงยกตัวอย่างเพื่อแสดงถึงความเสียหายที่ลิ้นอาจก่อให้เกิดขึ้นได้.
14 ไม่ใช่อำนาจทุกอย่างที่เรามีมาจากพระเจ้าโดยตรง. ตัวอย่างเช่น ลิ้นมีอำนาจที่ก่อผลเสียหายได้เช่นเดียวกับมีอำนาจที่ให้การรักษา. ซะโลโมเตือนว่า “ความตายและชีวิตอยู่ในอำนาจลิ้น.” (สุภาษิต 18:21) ผลที่เกิดจากการสนทนาสั้น ๆ ระหว่างซาตานกับฮาวาแสดงให้เห็นว่าคำพูดอาจก่อความเสียหายได้มากขนาดไหน. (เยเนซิศ 3:1-5; ยาโกโบ 3:5) เราก็เช่นกันอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้มากด้วยลิ้นของเรา. คำพูดกระทบกระเทียบเกี่ยวกับน้ำหนักตัวของเด็กสาวคนหนึ่งอาจส่งผลให้เธอกลายเป็นโรคอะโนเรกเซีย. การกล่าวซ้ำคำให้ร้ายโดยไม่ยั้งคิดอาจทำลายสัมพันธภาพที่มีต่อกันมายาวนานชั่วชีวิต. ถูกแล้ว จำเป็นต้องควบคุมลิ้น.
15. เราจะใช้ลิ้นของเราเพื่อเสริมสร้างและให้การรักษาได้อย่างไร?
15 อย่างไรก็ตาม ลิ้นอาจช่วยเสริมสร้างได้เช่นเดียวกับที่ก่อผลเป็นการทำลาย. สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่; แต่ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” (สุภาษิต 12:18) คริสเตียนที่สุขุมใช้อำนาจของลิ้นเพื่อปลอบโยนคนซึมเศร้าและผู้โศกเศร้าเนื่องจากการสูญเสียผู้ที่ตนรัก. คำพูดแสดงความเห็นอกเห็นใจสามารถหนุนกำลังใจวัยรุ่นที่ต่อสู้อยู่กับแรงกดดันที่ก่อความเสียหายจากคนรุ่นเดียวกัน. คำพูดที่แสดงการคำนึงถึงสามารถให้ความมั่นใจแก่พี่น้องชายหญิงสูงอายุว่าคนอื่นยังต้องการและรักเขา. คำพูดที่แสดงความกรุณาสามารถทำให้โลกสดใสขึ้นสำหรับผู้ป่วย. ยิ่งกว่าอื่นใด เราสามารถใช้ลิ้นของเราในการแบ่งปันข่าวสารอันทรงพลังเรื่องราชอาณาจักรให้แก่ทุกคนที่ฟัง. การประกาศพระคำของพระเจ้านั้นอยู่ในขอบเขตอำนาจที่เราทำได้ หากหัวใจเราติด สนิทอยู่กับพระคำของพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “อย่ากีดกันความดีไว้จากคนใด ๆ ที่เขาควรจะได้ความดีนั้น, ในเมื่อเจ้ามีอำนาจอยู่ในกำมืออาจจะทำได้.”—สุภาษิต 3:27.
จงใช้อำนาจอย่างถูกต้อง
16, 17. เมื่อใช้อำนาจซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้ ผู้ปกครอง, บิดามารดา, สามี, และภรรยาจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างไร?
16 แม้ว่าทรงไว้ซึ่งฤทธานุภาพทุกประการ พระยะโฮวาทรงปกครองประชาคมด้วยความรัก. (1 โยฮัน 4:8) โดยเลียนแบบพระองค์ คริสเตียนผู้ดูแลเอาใจใส่ฝูงแกะของพระเจ้าด้วยความรัก—ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนในทางผิด. จริงอยู่ บางครั้งผู้ดูแลจำเป็นต้อง “ว่ากล่าว, ตำหนิ, กระตุ้นเตือน” แต่เขาทำอย่างนี้ “ด้วยความอดกลั้นทนนานทุกอย่าง และด้วยศิลปะแห่งการสั่งสอน.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) ดังนั้น ผู้ปกครองคิดรำพึงอยู่เป็นประจำถึงคำกล่าวของอัครสาวกเปโตรซึ่งเขียนถึงคนที่มีอำนาจหน้าที่ในประชาคมว่า “จงบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าในความอารักขาของท่านทั้งหลาย มิใช่เพราะถูกบังคับ แต่ด้วยความเต็มใจ; ไม่ใช่เพราะรักผลกำไรโดยมิชอบ แต่ด้วยใจจดจ่อ; ไม่ใช่เหมือนเจ้านายกดขี่คนเหล่านั้นซึ่งเป็นมรดกของพระเจ้า แต่เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะนั้น.”—1 เปโตร 5:2, 3, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 2:7, 8.
17 ผู้เป็นบิดาและสามีมีอำนาจที่พระยะโฮวาทรงประทานแก่เขาด้วย และควรใช้อำนาจนี้เพื่อช่วยเหลือ, บำรุงเลี้ยง, และทะนุถนอม. (เอเฟโซ 5:22, 28-30; 6:4) ตัวอย่างของพระเยซูแสดงว่าสามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีที่เปี่ยมด้วยความรัก. หากการตีสอนมีความสมดุลและคงเส้นคงวา บุตรจะไม่รู้สึกท้อใจ. (โกโลซาย 3:21) สายสมรสได้รับการเสริมให้เหนียวแน่นเมื่อสามีที่เป็นคริสเตียนใช้ตำแหน่งประมุขของตนด้วยความรักและภรรยาแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อตำแหน่งประมุขของสามี ไม่ประพฤติเกินขอบเขตหน้าที่ของตนตามที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ด้วยการแสดงอำนาจข่มหรือทำตามใจชอบ.—เอเฟโซ 5:28, 33; 1 เปโตร 3:7.
18. (ก) เราควรเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาอย่างไรในการควบคุมความโกรธของเรา? (ข) คนที่มีอำนาจในหน้าที่ควรพยายามปลูกฝังอะไรไว้ในคนที่เขาดูแล?
18 คนที่มีอำนาจในครอบครัวและประชาคมควรระวังเป็นพิเศษที่จะควบคุมความโกรธ เนื่องจากความโกรธเพาะให้เกิดความกลัว ไม่ใช่ความรัก. ผู้พยากรณ์นาฮูมกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงพิโรธช้าและทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่.” (นาฮูม 1:3, ล.ม.; โกโลซาย 3:19) การควบคุมความโกรธของเราเอาไว้เป็นข้อบ่งชี้ถึงความเข้มแข็ง แต่การระเบิดโทโสเป็นหลักฐานถึงความอ่อนแอ. (สุภาษิต 16:32) ทั้งในครอบครัวและประชาคม เป้าหมายคือการปลูกฝังความรัก—ความรักต่อพระยะโฮวา, ความรักต่อกันและกัน, และความรักต่อหลักการที่ถูกต้อง. ความรักเป็นสายใยที่เหนียวแน่นที่สุดของความสามัคคีและเป็นแรงกระตุ้นที่มีพลังที่สุดในการทำสิ่งถูกต้อง.—1 โกรินโธ 13:8, 13; โกโลซาย 3:14.
19. พระยะโฮวาทรงให้คำรับรองที่ปลอบโยนอะไร และเราควรตอบสนองอย่างไร?
19 การรู้จักพระยะโฮวาหมายถึงการยอมรับอำนาจของพระองค์. พระยะโฮวาตรัสโดยทางยะซายาว่า “เจ้าไม่เคยได้รู้หรือเจ้าไม่เคยได้ยินหรอกหรือ? พระยะโฮวา พระผู้สร้างที่สุดขอบเขตทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกทรงเป็นพระเจ้าถึงเวลาไม่กำหนด. พระองค์ไม่ทรงเหนื่อยล้าหรือละเหี่ยไป.” (ยะซายา 40:28, ล.ม.) อำนาจของพระยะโฮวาไม่มีที่สิ้นสุด. หากเราไว้วางใจพระองค์และไม่วางใจตัวเราเอง พระองค์จะไม่ละทิ้งเรา. พระองค์ทรงให้คำรับรองแก่เราว่า “อย่ากลัวเลย, ด้วยว่าเราอยู่กับเจ้า, อย่าท้อใจ, เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า, เราจะหนุนกำลังเจ้า, เออ, เราจะช่วยเจ้า, เออ, เราจะยกชูเจ้าไว้ด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา.” (ยะซายา 41:10) เราควรตอบสนองอย่างไรต่อการใฝ่พระทัยด้วยความรักของพระองค์? เช่นเดียวกับพระเยซู ขอให้เราใช้อำนาจใด ๆ ก็ตามที่พระยะโฮวาทรงประทานแก่เราเพื่อให้การช่วยเหลือและเสริมสร้าง. ขอให้เราควบคุมลิ้นของเราเพื่อลิ้นนั้นจะให้การรักษาแทนที่จะก่อความเสียหาย. และขอให้เราตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ ตั้งมั่นคงในความเชื่อ และมีกำลังเข้มแข็งขึ้นในอำนาจแห่งพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา พระยะโฮวาพระเจ้า.—1 โกรินโธ 16:13.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 ดูเหมือนว่า ชาวยิวค้นพบต้นฉบับของพระบัญญัติของโมเซ ซึ่งถูกเก็บไว้ในพระวิหารหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น.
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์อย่างไร?
• เราจะได้รับกำลังจากพระยะโฮวาโดยวิธีใดบ้าง?
• ควรใช้อำนาจแห่งลิ้นอย่างไร?
• อำนาจในหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้จะเป็นพระพรได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 15]
พระเยซูทรงใช้อำนาจจากพระยะโฮวาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
[ภาพหน้า 17]
การประกาศพระคำของพระเจ้าอยู่ในขอบเขตอำนาจที่เราทำได้ หากหัวใจเราติดสนิทอยู่กับพระคำของพระองค์