การระบาดของความเกลียดชัง
การระบาดของความเกลียดชัง
“ผู้คนทั่วไปไม่เคยเห็นอกเห็นใจคนที่เขาเกลียด.”—เจมส์ รัสเซลล์ โลเวลล์ นักเขียนเรื่องสั้นและนักการทูต.
ความเกลียดชังดูเหมือนจะมีอยู่รอบ ๆ ตัวเราในทุกวันนี้. ชื่อต่าง ๆ เช่น ติมอร์ตะวันออก, โคโซโว, ไลบีเรีย, ลิตเทิลตัน, และซาราเยโว—และก็พวกนาซีใหม่, อันธพาลวัยรุ่นหัวเกรียน, และผู้ที่ถือว่าคนผิวขาวเหนือกว่า—ฝังอยู่ในความคิดของเราพร้อมกับภาพของซากปรักหักพังที่ไหม้เกรียม, หลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่เพิ่งขุดใหม่ ๆ, และซากศพที่ยังคงติดตาติดใจเราอยู่.
ความปรารถนาจะมีอนาคตที่ปราศจากความเกลียดชัง, การต่อสู้, และความรุนแรงนั้นได้พังทลายลง. ดาเนียล มิตเตอรองด์ ภริยาของประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้ล่วงลับไปแล้ว รำลึกถึงช่วงวัยสาวของเธอว่า “คนทั่วไปใฝ่ฝันถึงการมีชีวิตอย่างอิสระในสังคมที่เป็นเหมือนพี่น้องกันซึ่งพวกเขาไว้ใจได้; มีชีวิตอยู่อย่างสงบใจในท่ามกลางคนอื่นและกับคนอื่น; พวกเขาใฝ่ฝันถึงการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี, สงบสุขและมีศักดิ์ศรีในโลกที่เข้มแข็งและเอื้ออาทรซึ่งดูแลเอาใจใส่พวกเขา.” เกิดอะไรขึ้นกับความใฝ่ฝันเหล่านั้น? เธอคร่ำครวญว่า “ครึ่งศตวรรษต่อมา เป็นที่ยอมรับกันว่าความฝันของเราถูกโจมตี.”
ความเกลียดชังที่กลับมีขึ้นมาอีกในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้. ความเกลียดชังแพร่หลายมากขึ้น และปรากฏให้เห็นในรูปแบบที่โจ่งแจ้งขึ้นเรื่อย ๆ. ความรู้สึกปลอดภัยส่วนบุคคลซึ่งหลายล้านคนถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีนั้นได้ลดน้อยลงเนื่องด้วยคลื่นของการกระทำด้วยความเกลียดชังอย่างขาดสติ และดูเหมือนว่าการกระทำดังกล่าวแต่ละรายนั้นน่าหวาดกลัวยิ่งกว่ารายก่อน ๆ. ถึงแม้เราพ้นจากความเกลียดชังในบ้านของเราหรือในประเทศของเรา ความเกลียดชังก็ยังรอเราอยู่ในที่อื่น. เราคงจะเห็นหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกวันบนจอโทรทัศน์ในการออกอากาศแพร่ภาพข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน. บางเรื่องถึงกับแพร่ไปทางอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ. ขอพิจารณาดูบางตัวอย่าง.
ทศวรรษที่แล้ว ลัทธิชาตินิยมปรากฏขึ้นมาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. โจเซฟ เอส. ไนย์ จูเนียร์ ผู้อำนวยการศูนย์กลางเกี่ยวกับเหตุการณ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ลัทธิชาตินิยมกลายเป็นเรื่องรุนแรงมากขึ้นในโลกส่วนใหญ่ ไม่ลดน้อยลง. แทนที่จะเป็นหมู่บ้านโลกหมู่บ้านเดียว กลับมีหมู่บ้านต่าง ๆ ที่แยกกันทั่วโลกซึ่งรู้สึกต่อกันรุนแรงขึ้น. นั่นก็จึงทำให้โอกาสที่จะต่อสู้กันมีเพิ่มมากขึ้น.”
ความเกลียดชังแบบอื่น ๆ เป็นไปอย่างแฝงเร้นมากขึ้น ซุ่มซ่อนอยู่ภายในประเทศหรือแม้แต่ในละแวกบ้าน. เมื่ออันธพาลวัยรุ่นหัวเกรียนห้าคนได้ฆ่าชาวซิกข์ผู้สูงอายุคนหนึ่งในแคนาดา เหตุการณ์นี้ “ทำให้เห็นชัดถึงสิ่งที่บางคนถือว่าเป็นการฟื้นขึ้นใหม่ของอาชญากรรมอันเนื่องจากความเกลียดชังในประเทศซึ่งมักได้รับการยกย่องอยู่เนือง ๆ ว่ามีการยอมให้ทางด้านเชื้อชาติ.” ในเยอรมนี หลังจากการลดลงเรื่อย ๆ ในปีก่อน ๆ นั้น การทำร้ายโดยพวกเหยียดผิวหัวรุนแรงได้เพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ในปี 1997. “นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หมดกำลังใจ” มันเฟรด คานเทอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยได้กล่าวไว้เช่นนั้น.
ในภาคเหนือของแอลเบเนีย รายงานหนึ่งเปิดเผยว่าเด็กมากกว่า 6,000 คนแทบจะกลายเป็นผู้ถูกคุมขังในบ้านของตนเองเนื่องจากกลัวว่าจะถูกยิงโดยศัตรูของครอบครัว. เด็กเหล่านี้เป็นเหยื่อของความอาฆาตพยาบาทระหว่างตระกูลที่สืบทอดกันมา “ซึ่งได้ขัดจังหวะชีวิตปกติสำหรับครอบครัวนับพัน.” ในสหรัฐ ตามที่ตำรวจหน่วยสืบสวนกลางได้แจ้งไว้นั้น “อาชญากรรมที่กระทำเนื่องจากความเกลียดชัง 7,755 ราย
ในปี 1998 ซึ่งมีการรายงานต่อเอฟบีไอนั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากอคติด้านเชื้อชาติ.” สาเหตุบางประการของอาชญากรรมอันเนื่องจากความเกลียดชังนอกจากนั้นเกี่ยวข้องกับอคติทางด้านศาสนา, แหล่งที่มาทางชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ, และการไร้สมรรถภาพ.นอกจากนั้น พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์แต่ละวันชี้ถึงการระบาดของความเกลียดกลัวคนต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมุ่งไปยังพวกผู้ลี้ภัยซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 21 ล้านคน. น่าเศร้าใจ ส่วนใหญ่ของคนเหล่านั้นที่แสดงความเกลียดชังต่อคนต่างประเทศเป็นคนหนุ่มสาวซึ่งได้รับการปลุกปั่นโดยนักการเมืองที่ไม่มีความรับผิดชอบและคนอื่นที่กำลังมองหาผู้ซึ่งจะเป็นแพะรับบาป. สิ่งบ่งชี้ที่เห็นไม่ค่อยชัดเกี่ยวกับปรากฏการณ์อย่างเดียวกันนี้รวมถึงความไม่ไว้วางใจ, การไม่ยอมทน, และการเหมาเอาว่ากลุ่มคนที่แตกต่างไปจากตนเองไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้.
เหตุผลบางประการสำหรับการระบาดของความเกลียดชังเช่นนี้คืออะไร? และจะทำประการใดได้เพื่อถอนรากความเกลียดชังออกไป? บทความต่อไปจะพิจารณาคำถามเหล่านี้.
[ที่มาของภาพหน้า 2]
Cover, top: UN PHOTO 186705/J. Isaac
[ที่มาของภาพหน้า 3]
Daud/Sipa Press