คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ยะซายาบท 53 มีคำพยากรณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักดีเกี่ยวกับพระมาซีฮา. ยซา. 53 ข้อ 10 (ล.ม.) กล่าวว่า “พระยะโฮวาเองทรงยินดีในการบดขยี้เขา; พระองค์ได้ทำให้เขาป่วย.” ข้อนี้หมายความเช่นไร?
เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจว่าทำไมอาจเกิดคำถามเกี่ยวกับยะซายา 53:10. คริสเตียนแท้ไม่คิดว่าพระเจ้าของเราผู้ทรงเมตตาและอ่อนโยนจะทรงยินดีในการบดขยี้ใครหรือทำให้ใครป่วย. คัมภีร์ไบเบิลวางพื้นฐานที่ทำให้เรามั่นใจว่าพระเจ้าไม่ทรงยินดีในการทรมานผู้ไร้ความผิด. (พระบัญญัติ 32:4; ยิระมะยา 7:30, 31) ตลอดหลายศตวรรษ เป็นครั้งคราวพระยะโฮวาอาจยอม ให้เกิดความทุกข์ด้วยเหตุผลที่เป็นไปตามสติปัญญาและความรักของพระองค์. แต่พระองค์ไม่ได้ก่อ ความทุกข์แก่พระเยซู พระบุตรที่รักของพระองค์ อย่างแน่นอน. ถ้าเช่นนั้น ข้อความนี้ถ่ายทอดความหมายเช่นไรจริง ๆ?
เอาละ อาจเป็นการช่วยเราได้เพื่อเข้าใจความหมายถ้าเราพิจารณาดูทั้งข้อ และสังเกตว่ามีคำ “ยินดี” สองครั้ง. ยะซายา 53:10 (ล.ม.) อ่านว่า “พระยะโฮวาเองทรงยินดีในการบดขยี้เขา; พระองค์ได้ทำให้เขาป่วย. ถ้าท่านจะจัดจิตวิญญาณของเขาเป็นเครื่องบูชาไถ่ความผิด เขาจะเห็นบุตรหลานของเขา เขาจะทำให้วันเวลาของเขายืนยาว และด้วยน้ำมือของเขาสิ่งที่เป็นความยินดีของพระยะโฮวาจะสำเร็จ.”
ข่าวสารโดยรวมของคัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่า “ความยินดีของพระยะโฮวา” ที่กล่าวในตอนท้ายของข้อนี้รวมจุดอยู่ที่การทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จโดยทางราชอาณาจักร. การที่พระยะโฮวาทรงทำเช่นนั้นจะพิสูจน์ว่าพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ถูกต้องและจะเปิดทางให้มีการขจัดบาปที่ได้รับเป็นมรดก—บาปของพวกเรา—ออกไปจากมนุษย์ที่เชื่อฟัง. (1 โครนิกา 29:11; บทเพลงสรรเสริญ 83:18; กิจการ 4:24; เฮ็บราย 2:14, 15; 1 โยฮัน 3:8) ปัจจัยสำคัญสำหรับทั้งหมดนี้คือว่า พระบุตรของพระเจ้าต้องมาเป็นมนุษย์และถวายเครื่องบูชาไถ่. ดังที่เราทราบ ในระหว่างขั้นตอนนี้พระเยซูทรงทนทุกข์. คัมภีร์ไบเบิลแจ้งให้เราทราบว่า พระองค์ “ทรงเรียนรู้การเชื่อฟังจากสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทนเอา.” ดังนั้น พระเยซูทรงได้รับประโยชน์จากการทนทุกข์ครั้งนั้น.—เฮ็บราย 5:7-9, ล.ม.
พระเยซูทรงทราบล่วงหน้าว่า แนวทางอันประเสริฐที่พระองค์จะทรงรับเอานั้นเกี่ยวข้องกับความทุกข์ทรมานบางประการ. เรื่องนี้เห็นชัดจากคำตรัสของพระองค์ที่โยฮัน 12:23, 24 (ล.ม.) ข้อนั้นอ่านว่า “ยามที่บุตรมนุษย์จะได้รับเกียรติก็มาถึงแล้ว. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดินและตายไปจะคงเป็นเพียงเมล็ดเดียว; แต่ถ้าตายไปก็จะเกิดผลมาก.” ใช่แล้ว พระเยซูทรงทราบว่าพระองค์ต้องรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ด้วยซ้ำ. บันทึกกล่าวต่อไปว่า “ ‘บัดนี้จิตวิญญาณของเราเป็นทุกข์ และเราจะพูดว่าอย่างไร? ข้าแต่พระบิดา ขอโปรดช่วยให้ข้าพเจ้าพ้นจากยามนี้เถิด. แต่กระนั้นเพราะเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงได้มาถึงยามนี้. พระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดให้พระนามของพระองค์ได้รับเกียรติ.’ ฉะนั้น จึงมีพระสุรเสียงออกมาจากสวรรค์ว่า ‘เราได้ทำให้พระนามนั้นได้รับเกียรติแล้ว และยังจะทำให้พระนามนั้นได้รับเกียรติอีก.’ ”—โยฮัน 12:27, 28, ล.ม.; มัดธาย 26:38, 39.
ในบริบทนี้เองที่เราสามารถเข้าใจยะซายา 53:10. พระยะโฮวาทรงทราบดีว่าสิ่งที่พระบุตรของพระองค์จะประสบนั้นเกี่ยวข้องกับการถูกบดขยี้ในแง่หนึ่ง. กระนั้น พระยะโฮวาทรงยินดีด้วยสิ่งที่พระเยซูประสบเพราะพระองค์ทรงคำนึงถึงผลบั้นปลายอันรุ่งโรจน์และยอดเยี่ยม. ในความหมายนั้น พระยะโฮวาทรง “ยินดีในการบดขยี้” พระมาซีฮา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือพระองค์ทรงยินดีในการที่พระมาซีฮาถูกบดขยี้. และพระเยซูเองก็เช่นกัน ทรงยินดีในสิ่งที่พระองค์สามารถทำและได้ทำให้สำเร็จ. จริงทีเดียว เป็นดังที่ยะซายา 53:10 (ล.ม.) ลงท้ายว่า ‘ด้วยน้ำมือของพระองค์สิ่งที่เป็นความยินดีของพระยะโฮวาได้สำเร็จ.’