ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่ภักดีต่อพระองค์เสมอ

พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่ภักดีต่อพระองค์เสมอ

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

พระ​ยะโฮวา​ประทาน​บำเหน็จ​แก่​ผู้​ที่​ภักดี​ต่อ​พระองค์​เสมอ

เล่า​โดย เวอร์นอน ดันคอมบ์

ผม​รับประทาน​ของ​ว่าง​รอบ​ดึก​เสร็จ​และ​จุด​บุหรี่​สูบ​ตาม​เคย. แล้ว​ผม​ก็​ถาม​ไอลีน ภรรยา​ของ​ผม​ว่า “การ​ประชุม​คืน​นี้​เป็น​อย่าง​ไร​บ้าง?”

เธอ​หยุด​นิด​หนึ่ง​แล้ว​ตอบ​ว่า “มี​การ​อ่าน​จดหมาย​ซึ่ง​ประกาศ​การ​แต่ง​ตั้ง​ใหม่ และ​มี​ชื่อ​คุณ​ด้วย​นะ. คุณ​จะ​ได้​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​ดู​แล​ระบบ​เสียง. ประโยค​สุด​ท้าย​ใน​จดหมาย​นั้น​บอก​ว่า ‘ถ้า​พี่​น้อง​คน​ใด​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ใหม่​เป็น​ผู้​ใช้​ยาสูบ เขา​มี​พันธะ​ต้อง​เขียน​จดหมาย​แจ้ง​สมาคม​ฯ ว่า​เขา​ไม่​สามารถ​รับ​หน้า​ที่​มอบหมาย​นี้​ได้.’ ” * ผม​ตอบรับ​ด้วย​การ​พูด​อย่าง​เด็ดขาด​และ​ลาก​เสียง​ว่า “เหรอ! เขา​ว่า​อย่าง​นั้น​เหรอ.”

ผม​กัด​ฟัน​แน่น​และ​ขยี้​บุหรี่​มวน​นั้น​ลง​ใน​ที่​เขี่ย​บุหรี่​ข้าง ๆ ผม. “ผม​ไม่​รู้​ว่า​ทำไม​ผม​ถูก​เลือก​ให้​ทำ​หน้า​ที่​นี้. แต่​ผม​ยัง​ไม่​เคย​ปฏิเสธ​หน้า​ที่​ใด ๆ เลย และ​ผม​ไม่​อยาก​จะ​เริ่ม​ทำ​อย่าง​นั้น.” ผม​ตั้งใจ​แน่วแน่​ว่า​จะ​ไม่​สูบ​บุหรี่​อีก​เลย. การ​ตัดสิน​ใจ​ครั้ง​นั้น​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​ชีวิต​ของ​ผม​ทั้ง​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​และ​นัก​ดนตรี. ขอ​ให้​ผม​เล่า​เหตุ​การณ์​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​ผม​ตัดสิน​ใจ​แน่วแน่.

ชีวิต​ครอบครัว​ช่วง​แรก ๆ

ผม​เกิด​ที่​เมือง​โทรอนโต แคนาดา เมื่อ​วัน​ที่ 21 กันยายน 1914 เป็น​ลูก​ชาย​คน​โต​ของ​เวอร์นอน​และ​ไลลา ซึ่ง​เป็น​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​ขยัน​ขันแข็ง. ท่าน​ทั้ง​สอง​ต้อง​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​ที่​มี​ลูก​ชาย​สี่​คน​และ​ลูก​สาว​สอง​คน. น้อง​ที่​ถัด​จาก​ผม​ลง​ไป​คือ​ยอร์ก, ต่อ​จาก​เขา​ก็​เป็น​ออร์ลันโด, ดักลาส, ไอลีน, และ​คอรัล. เมื่อ​ผม​อายุ​เพียง​เก้า​ขวบ คุณ​แม่​ยื่น​ไวโอลิน​คัน​หนึ่ง​ให้​ผม​แล้ว​จัด​การ​ให้​ผม​ไป​เรียน​ดนตรี​ที่​โรง​เรียน​ดนตรี​แฮร์ริส. แม้​การ​เงิน​จะ​ฝืดเคือง แต่​คุณพ่อ​คุณ​แม่​ก็​หา​ทาง​จ่าย​ค่า​รถ​ราง​กับ​ค่า​เทอม​ให้​ผม​ได้. ต่อ​มา ผม​เรียน​ทฤษฎี​ดนตรี​และ​การ​ประสาน​เสียง​ที่​โรง​เรียน​รอยัล คอนเซอร์เวทอรี ออฟ มิวสิก ใน​โทรอนโต และ​เมื่อ​อายุ 12 ปี ผม​เข้า​ประกวด​ใน​การ​แสดง​ดนตรี​ระดับ​เมือง​ที่​แมสซีฮอลล์ ซึ่ง​เป็น​โรง​แสดง​ดนตรี​ที่​หรูหรา​กลาง​เมือง. ผม​ถูก​เลือก​ให้​เป็น​ผู้​ชนะ​เลิศ​และ​ได้​รับ​รางวัล​เป็น​ไวโอลิน​ชั้น​ดี​ใน​กล่อง​หนัง​จระเข้.

ต่อ​มา ผม​ยัง​ได้​เรียน​เปียโน​และ​เบส​ไวโอลิน. เรา​มัก​จะ​รวม​กัน​เป็น​กลุ่ม​ตอน​เย็น​วัน​ศุกร์​และ​วัน​เสาร์​และ​ไป​เล่น​ที่​งาน​เลี้ยง​เต้น​รำ​ร่วม​รุ่น​เล็ก ๆ. ใน​งาน​เลี้ยง​เหล่า​นั้น​เอง​ที่​ผม​พบ​กับ​ไอลีน​เป็น​ครั้ง​แรก. ช่วง​ที่​ผม​เรียน​ชั้น​มัธยม​ปลาย​ปี​สุด​ท้าย ผม​เล่น​ดนตรี​กับ​วง​ออร์เคสตรา​หลาย​วง​ทั่ว​เมือง. หลัง​จาก​ผม​สำเร็จ​การ​ศึกษา ผม​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ร่วม​กับ​วง​ออร์เคสตรา​เฟอร์เด เมารี และ​นั่น​เป็น​งาน​ที่​มั่นคง​ดี​จน​กระทั่ง​ปี 1943.

การ​ได้​มา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา

คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ของ​ผม​ได้​รับ​การ​แนะ​นำ​ให้​รู้​จัก​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก่อน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 เริ่ม​ขึ้น​ไม่​นาน ตอน​นั้น​คุณ​พ่อ​ทำ​งาน​แต่ง​หน้า​ร้าน​ให้​กับ​ห้าง​สรรพ​สินค้า​แห่ง​หนึ่ง​ใน​เมือง​โทรอนโต. ใน​ห้อง​รับประทาน​อาหาร​กลางวัน ท่าน​ได้​ยิน​การ​สนทนา​ระหว่าง​คน​งาน​สอง​คน​ที่​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ (ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​สมัย​นั้น) แล้ว​ท่าน​ก็​จะ​บอก​สิ่ง​ที่​ท่าน​ได้​ยิน​กับ​คุณ​แม่​เมื่อ​กลับ​มา​ถึง​บ้าน​ใน​ตอน​เย็น. ต่อ​มา​ระยะ​หนึ่ง ใน​ปี 1927 นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​ครั้ง​สำคัญ​ใน​เมือง​โทรอนโต​ที่​โรง​มหรสพ​ใน​ศูนย์​การ​แสดง​สินค้า​แห่ง​ชาติ​ของ​แคนาดา. บ้าน​ของ​เรา​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​จาก​ทาง​เข้า​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​ศูนย์​นั้น​สอง​ช่วง​ตึก เป็น​ที่​พัก​ของ​ผู้​มา​ร่วม​ประชุม 25 คน​จาก​รัฐ​โอไฮโอ สหรัฐ​อเมริกา.

หลัง​จาก​นั้น เอดา เบลตโซ คน​หนึ่ง​ใน​พวก​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ เริ่ม​มา​เยี่ยม​คุณ​แม่​ของ​ผม​บ่อย ๆ และ​ให้​สรรพหนังสือ​ใหม่ ๆ ไว้. วัน​หนึ่ง​เธอ​บอก​ว่า “คุณนาย​ดันคอมบ์​คะ ดิฉัน​ให้​สรรพหนังสือ​ต่าง ๆ กับ​คุณ​มา​ระยะ​หนึ่ง​แล้ว. คุณ​เคย​อ่าน​บ้าง​ไหม​คะ?” แม้​ว่า​จะ​ต้อง​เลี้ยง​ดู​ลูก​หก​คน คุณ​แม่​ก็​ตั้งใจ​จะ​เริ่ม​อ่าน​วารสาร​ตั้ง​แต่​นั้น​มา และ​ท่าน​ไม่​เคย​เลิก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผม​แทบ​ไม่​ได้​สนใจ​หนังสือ​เหล่า​นั้น​เลย. ผม​กำลัง​พยายาม​เรียน​ให้​จบ​และ​หมกมุ่น​มาก​กับ​เรื่อง​ดนตรี.

ใน​เดือน​มิถุนายน 1935 ผม​กับ​ไอลีน​แต่งงาน​กัน​ใน​โบสถ์​ของ​คริสตจักร​แองกลิกัน. ตั้ง​แต่​ผม​ออก​จาก​คริสตจักร​ยูไนเต็ด​เมื่อ​อายุ 13 ปี ผม​ไม่​ได้​ยุ่ง​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ใด ๆ เลย; ผม​จึง​เขียน​ใน​ทะเบียน​สมรส​ว่า​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา แม้​ว่า​ผม​ยัง​ไม่​ได้​เป็น​พยาน​ฯ.

เรา​หวัง​จะ​สร้าง​ครอบครัว​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​และ​อยาก​จะ​เป็น​พ่อ​แม่​ที่​ดี. เรา​จึง​เริ่ม​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่​ด้วย​กัน. แม้​ว่า​เรา​มี​ความ​ตั้งใจ​ดี แต่​มี​อะไร​บาง​อย่าง​มา​ขัด​ขวาง. ต่อ​มา​ไม่​นาน​เรา​ก็​พยายาม​อีก​ครั้ง แต่​ก็​เป็น​อย่าง​เดิม. และ​แล้ว​ใน​วัน​คริสต์มาส​ปี 1935 เรา​ได้​รับ​ของ​ขวัญ​เป็น​หนังสือ​ชื่อ​พิณ​ของ​พระเจ้า. ภรรยา​ของ​ผม​พูด​ว่า “โอ้​โฮ คุณ​แม่​ของ​คุณ​ให้​ของ​ขวัญ​วัน​คริสต์มาส​ที่​แปลก​อะไร​อย่าง​นี้.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​ผม​ไป​ทำ​งาน เธอ​เริ่ม​อ่าน​หนังสือ​เล่ม​นั้น และ​เธอ​ชอบ​สิ่ง​ที่​เธอ​อ่าน. ช่วง​หนึ่ง ผม​ไม่​รู้​เรื่อง​นี้. ใน​เรื่อง​ความ​คาด​หวัง​เกี่ยว​กับ​ครอบครัว​ของ​เรา​นั้น มัน​ไม่​ได้​สำเร็จ​ตาม​ความ​มุ่ง​หมาย. ลูก​สาว​ของ​เรา​เกิด​มา​ใน​วัน​ที่ 1 กุมภาพันธ์ 1937 แต่​เธอ​เสีย​ชีวิต. เรา​เศร้า​โศก​จริง ๆ!

ใน​ช่วง​นั้น ครอบครัว​ของ​ผม​เข้า​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​อย่าง​กระตือรือร้น และ​ผม​ได้​มา​รู้​ว่า​คุณ​พ่อ​เป็น​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​เพียง​คน​เดียว​ใน​ครอบครัว​ที่​ยัง​เสนอ​การ​บอกรับ​วารสาร​คอนโซเลชัน (ปัจจุบัน​คือ​ตื่นเถิด! ) ไม่​ได้. นั่น​เป็น​เป้า​ใน​การ​เสนอ​ประจำ​เดือน​นั้น. ถึง​ผม​ยัง​ไม่​เคย​อ่าน​สรรพหนังสือ​ใด ๆ ของ​สมาคม​ฯ เลย แต่​ผม​ก็​สงสาร​คุณ​พ่อ​จึง​บอก​ว่า “เอา​อย่าง​นี้​พ่อ ผม​ขอ​บอกรับ​วารสาร​จาก​พ่อ พ่อ​จะ​ได้​เหมือน​กับ​คน​อื่น ๆ.” ฤดู​ร้อน​มา​ถึง และ​วง​ออร์เคสตรา​ย้าย​ไป​เล่น​ที่​รีสอร์ต​นอก​เมือง. คอนโซเลชัน ตาม​มา​ทาง​ไปรษณีย์. ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​มา​ถึง และ​วง​ออร์เคสตรา​ย้าย​กลับ​มา​ยัง​เมือง​โทรอนโต. วารสาร​ก็​ตาม​มา​ยัง​ที่​อยู่​ใหม่​ของ​เรา​เสมอ และ​ผม​ไม่​เคย​แกะ​ออก​ดู​แม้​แต่​เล่ม​เดียว.

ระหว่าง​วัน​หยุด​คริสต์มาส ผม​มอง​ไป​ที่​กอง​วารสาร​และ​คิด​ว่า​ถ้า​ผม​จ่าย​เงิน​รับ​วารสาร​เหล่า​นั้น ผม​ก็​ควร​จะ​อ่าน​อย่าง​น้อย​บาง​ฉบับ​เพื่อ​จะ​ดู​ว่า​มี​สาระ​อะไร​บ้าง. ฉบับ​แรก​ที่​ผม​เปิด​อ่าน​ทำ​ให้​ผม​ตะลึง. ฉบับ​นั้น​เปิดโปง​ความ​ฉ้อ​ฉล​และ​การ​คอร์รัปชัน​ทาง​การ​เมือง​ใน​สมัย​นั้น. ผม​เริ่ม​พูด​กับ​เพื่อน​นัก​ดนตรี​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ผม​ได้​อ่าน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา​ไม่​เชื่อ​ว่า​สิ่ง​ที่​ผม​พูด​เป็น​ความ​จริง และ​ผม​จึง​ต้อง​อ่าน​วารสารนั้น​ต่อ​ไป​เพื่อ​จะ​ปก​ป้อง​ตัว​เอง. โดย​ไม่​รู้​ตัว ผม​เริ่ม​ให้​คำ​พยาน​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา. และ​ตั้ง​แต่​นั้น​มา​ผม​ไม่​เคย​เลิก​อ่าน​สรรพหนังสือ​อัน​ยอด​เยี่ยม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ “ทาส​สัตย์​ซื่อ​และ​สุขุม.”—มัดธาย 24:45, ล.ม.

แม้​ว่า​งาน​อาชีพ​ทำ​ให้​ผม​ยุ่ง​ตลอด​สัปดาห์ แต่​ไม่​นาน​ผม​ก็​เข้า​ร่วม​ประชุม​วัน​อาทิตย์​กับ​ไอลีน. เมื่อ​เรา​มา​ถึง​การ​ประชุม​ใน​วัน​อาทิตย์​วัน​หนึ่ง​ใน​ปี 1938 พี่​น้อง​หญิง​สูง​อายุ​สอง​คน​ทักทาย​เรา และ​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “พ่อ​หนุ่ม เธอ​เข้า​มา​อยู่​ฝ่าย​พระ​ยะโฮวา​หรือ​ยัง? เธอ​รู้​ไหม อาร์มาเก็ดดอน​จวน​จะ​มา​ถึง​อยู่​แล้ว!” ผม​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว และ​ผม​เชื่อ​ว่า​นี่​คือ​องค์การ​ของ​พระองค์. ผม​ต้องการ​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​องค์การ​นี้ ดัง​นั้น ใน​วัน​ที่ 15 ตุลาคม 1938 ผม​ก็​รับ​บัพติสมา. ไอลีน​รับ​บัพติสมา​ประมาณ​หก​เดือน​ต่อ​มา. ผม​ยินดี​ที่​พูด​ได้​ว่า​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​ผม​เข้า​มา​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา.

ผม​ชื่นชม​ยินดี​จริง ๆ ที่​ได้​คบหา​กับ​ไพร่พล​ของ​พระเจ้า! ไม่​นาน ผม​ก็​รู้สึก​เป็น​กัน​เอง​กับ​พวก​เขา. เมื่อ​ผม​เข้า​ร่วม​ประชุม​ไม่​ได้ ผม​ก็​อยาก​รู้​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น​ที่​การ​ประชุม​เสมอ. เย็น​วัน​นั้น​ที่​ผม​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​กลาย​เป็น​หัวเลี้ยว​หัวต่อ​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ของ​ผม.

ช่วง​เวลา​แห่ง​การ​เปลี่ยน​แปลง​อัน​ใหญ่​หลวง​สำหรับ​เรา

การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​สำหรับ​เรา​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 1 พฤษภาคม 1943. เรา​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ครั้ง​สำคัญ​ครั้ง​แรก​ของ​เรา นั่น​คือ​การ​ประชุม​ภาค​โลก​ใหม่​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ใน​เมือง​คลีฟแลนด์ รัฐ​โอไฮโอ ใน​เดือน​กันยายน 1942. ณ การ​ประชุม​นั้น ขณะ​ที่​สงคราม​โลก​อัน​เลว​ร้าย​กำลัง​ดำเนิน​อยู่ ซึ่ง​เป็น​สงคราม​ที่​ไม่​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​ยุติ​ลง เรา​ได้​ยิน​บราเดอร์​นอร์ ซึ่ง​เป็น​นายก​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ใน​ตอน​นั้น ให้​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​ที่​จับ​ความ​สนใจ​ชื่อ “สันติภาพ—จะ​ยืนยง​ไหม?” อย่าง​กล้า​หาญ. เรา​จำ​ได้​ดี​ว่า​ท่าน​ใช้​วิวรณ์​บท 17 แสดง​ให้​เห็น​ว่า​จะ​มี​สันติภาพ​ใน​ช่วง​หลัง​สงคราม​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​งาน​ประกาศ​บรรลุ​ผล​อัน​ยิ่ง​ใหญ่.

สิ่ง​ที่​ส่ง​ผล​กระทบ​เรา​มาก​ที่​สุด​คือ​คำ​บรรยาย​ของ​บราเดอร์​นอร์​ก่อน​หน้า​นั้น “ยิพธา​กับ​คำ​ปฏิญาณ​ของ​ท่าน.” มี​การ​เรียก​ร้อง​ขอ​ให้​มี​ไพโอเนียร์​มาก​ขึ้น! ผม​กับ​ไอลีน​มอง​หน้า​กัน​และ​กล่าว​เป็น​เสียง​เดียว (กับ​อีก​หลาย​คน​ใน​ขณะ​นั้น) ว่า “คือ​พวก​เรา​เอง!” เรา​เริ่ม​วาง​แผน​เข้า​สู่​งาน​ที่​สำคัญ​กว่า​ทันที.

มี​การ​สั่ง​ห้าม​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​แคนาดา​ตั้ง​แต่​วัน​ที่ 4 กรกฎาคม 1940. เมื่อ​เรา​เข้า​สู่​งาน​ไพโอเนียร์​ใน​วัน​ที่ 1 พฤษภาคม 1943 ยัง​เป็น​การ​ผิด​กฎหมาย​ที่​จะ​ให้​คำ​พยาน​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​เสนอ​สรรพหนังสือ​ของ​สมาคม​ฯ ใน​การ​เผยแพร่. โดย​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​คริสเตียน เรา​เอา​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​คิง เจมส์​เล่ม​ส่วน​ตัว​ของ​เรา​ติด​ตัว​ไป​เพียง​เล่ม​เดียว. เพียง​ไม่​กี่​วัน​หลัง​จาก​เรา​ไป​ถึง​เขต​มอบหมาย​งาน​ไพโอเนียร์​แห่ง​แรก​ของ​เรา​ใน​เมือง​แพร์​รี เซานด์ มณฑล​ออนแทรีโอ สจ็วต แมนน์ ไพโอเนียร์​ผู้​มี​ประสบการณ์ ถูก​สำนักงาน​สาขา​ส่ง​มา​ทำ​งาน​กับ​เรา​ใน​เขต. ช่าง​เป็น​การ​จัด​เตรียม​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​อะไร​เช่น​นั้น! บราเดอร์​แมนน์​มี​อุปนิสัย​ที่​น่า​รัก​และ​ยิ้ม​แย้ม​อยู่​เสมอ. เรา​เรียน​รู้​สิ่ง​ต่าง ๆ จาก​เขา​และ​มี​ช่วง​เวลา​ที่​มี​ความ​สุข. เรา​กำลัง​นำ​การ​ศึกษา​หลาย​ราย​ตอน​ที่​สมาคม​ฯ มอบหมาย​เรา​ไป​ยัง​เมือง​แฮมิลตัน. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น แม้​ว่า​ผม​จะ​มี​อายุ​เกิน​การ​เป็น​ทหาร​แล้ว ผม​ก็​ถูก​เกณฑ์. เมื่อ​ผม​ไม่​ยอม​เข้า​กองทัพ ผม​ถูก​จับ​กุม​ใน​วัน​ที่ 31 ธันวาคม 1943. หลัง​จาก​การ​พิจารณา​คดี​ตาม​ระเบียบ ผม​ถูก​ตัดสิน​ให้​ไป​ยัง​ค่าย​บริการ​ชุมชน​สำหรับ​ผู้​ที่​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร. ผม​อยู่​ที่​นั่น​จน​ถึง​เดือน​สิงหาคม 1945.

เมื่อ​ผม​ถูก​ปล่อย​ตัว ผม​กับ​ไอลีน​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​เป็น​ไพโอเนียร์​ทันที​ใน​เมือง​คอร์นวอลล์ มณฑล​ออนแทรีโอ. ไม่นาน​หลัง​จาก​นั้น เรา​ไป​ที่​มณฑล​ควิเบก โดย​มี​การ​มอบหมาย​พิเศษ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาล​จาก​ฝ่าย​กฎหมาย​ของ​สมาคม. ช่วง​นั้น​เป็น​ยุค​ของ​ดู​เปล​ซี​ใน​ควิเบก ซึ่ง​การ​ข่มเหง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​รุนแรง​เป็น​พิเศษ. หลาย​วัน​ต่อ​สัปดาห์ ผม​ต้อง​ไป​ที่​ศาล​สี่​แห่ง​เพื่อ​ช่วย​พี่​น้อง​ของ​เรา. ช่วง​นั้น​เป็น​ช่วง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​และ​ทำ​ให้​ความ​เชื่อ​เข้มแข็ง.

หลัง​จาก​การ​ประชุม​ภาค​ที่​คลีฟแลนด์​ใน​ปี 1946 ก็​มี​งาน​หมวด​และ​งาน​ภาค​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผม​กับ​ภรรยา​ต้อง​เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​จาก​ชายฝั่ง​ข้าง​หนึ่ง​จน​ถึง​ชายฝั่ง​อีก​ข้าง​หนึ่ง. สิ่ง​ต่าง ๆ เกิด​ขึ้น​เร็ว​มาก. ใน​ปี 1948 เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​เข้า​ร่วม​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด​ชั้น​เรียน​ที่ 11. บราเดอร์​อัลเบิร์ต ชโรเดอร์​และ​แมกซ์เวลล์ เฟรนด์​อยู่​ใน​คณะ​ผู้​สอน และ​ชั้น​เรียน​ของ​เรา​มี​นัก​เรียน 108 คน ใน​จำนวน​นี้​มี​ผู้​ถูก​เจิม 40 คน. เนื่อง​จาก​มี​ผู้​ที่​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มา​อย่าง​ยาว​นาน​หลาย​คน​เช่น​นั้น นั่น​เป็น​ประสบการณ์​ที่​ให้​บำเหน็จ​และ​ยอด​เยี่ยม​จริง ๆ!

วัน​หนึ่ง​บราเดอร์​นอร์​มา​จาก​บรุกลิน​เพื่อ​เยี่ยม​เรา. ใน​คำ​บรรยาย ท่าน​ขอ​อาสา​สมัคร 25 คน​เพื่อ​จะ​เรียน​ภาษา​ญี่ปุ่น. ทั้ง 108 คน​รับ​อาสา! ยัง​คง​เป็น​หน้า​ที่​ของ​ท่าน​นายก​เหมือน​เดิม​ที่​จะ​เลือก​ว่า​ใคร​จะ​ได้​เรียน​ภาษา​ญี่ปุ่น. ผม​คิด​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​นำ​ใน​การ​เลือก​ครั้ง​นั้น เนื่อง​จาก​ผล​ปรากฏ​ออก​มา​ดี​เหลือ​เกิน. หลาย​คน​ใน​บรรดา 25 คน​ที่​ถูก​เลือก​และ​ภาย​หลัง​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​บุกเบิก​งาน​ใน​ญี่ปุ่น​ยัง​คง​อยู่​ใน​งาน​มอบหมาย​ของ​ตน—ใช่ พวก​เขา​สูง​อายุ​แล้ว แต่​ยัง​คง​อยู่​ที่​นั่น. บาง​คน​เช่น ลอยด์​กับ​เมลบา แบร์รี ถูก​ย้าย​ไป​งาน​มอบหมาย​อื่น. ลอยด์​เป็น​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​จน​กระทั่ง​เขา​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​ปี​ที่​แล้ว. เรา​ชื่นชม​กับ​พวก​เขา​ทุก​คน​ใน​บำเหน็จ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​ให้.

วัน​สำเร็จ​การ​ศึกษา​มา​ถึง และ​เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ไป​ยัง​จาเมกา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​มี​คดี​ยืดเยื้อ​ใน​ควิเบก เรา​จึง​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ให้​กลับ​ไป​แคนาดา.

เล่น​ดนตรี​มาก​ขึ้น​อีก!

แม้​ว่า​ผม​ทิ้ง​ดนตรี​ไป​เพื่อ​เป็น​ไพโอเนียร์ แต่​ก็​ดู​เหมือน​ว่า​ดนตรี​ไม่​ได้​ทิ้ง​ผม. ปี​ถัด​มา นาทาน นอร์ นายก​สมาคม​ฯ และ​เลขานุการ​ของ​ท่าน มิลตัน เฮนเชล มา​ยัง​สนาม​เมเปิลลีฟการ์เดน ใน​โทรอนโต. คำ​บรรยาย​สาธารณะ​ของ​บราเดอร์​นอร์​เรื่อง “สาย​เกิน​กว่า​ที่​คุณ​คิด!” กระตุ้น​ทุก​คน. เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​ผม​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ควบคุม​วง​ออร์เคสตรา​ของ​การ​ประชุม​ใหญ่. เรา​เรียบเรียง​จังหวะ​วอลซ์​ของ​เพลง​ที่​นิยม​กัน​บาง​เพลง​ใน​หนังสือ​เพลง​ราชอาณาจักร (1944). พวก​พี่​น้อง​ดู​เหมือน​จะ​ชอบ. เมื่อ​ระเบียบ​วาระ​ภาค​บ่าย​วัน​เสาร์​จบ​ลง เรา​ซ้อม​การ​แสดง​สำหรับ​วัน​อาทิตย์. ผม​เหลือบ​ไป​เห็น​บราเดอร์​เฮนเชล​เดิน​ลัด​สนาม​มา​ทาง​เรา ผม​จึง​หยุด​วง​ไว้​เพื่อ​จะ​ไป​พบ​ท่าน. ท่าน​ถาม​ว่า “คุณ​มี​นัก​ดนตรี​กี่​คน​ใน​วง​ออร์เคสตรา​ที่​นี่?” ผม​ตอบ​ว่า “เมื่อ​ทุก​คน​อยู่​กัน​ครบ​ก็​มี​ประมาณ 35 คน​ครับ.” ท่าน​บอก​ว่า “เอา​ละ คุณ​จะ​มี​มาก​กว่า​นี้​สอง​เท่า​ใน​นิวยอร์ก​ฤดู​ร้อน​ปี​หน้า.”

กระนั้น ก่อน​ฤดู​ร้อน​ปี​นั้น​จะ​มา​ถึง ผม​ถูก​เชิญ​ไป​ยัง​บรุกลิน. เนื่อง​จาก​สภาพการณ์ ตอน​แรก​ไอลีน​ไป​กับ​ผม​ไม่​ได้. อาคาร​ใหม่​เลข​ที่ 124 ถนน​โคลัมเบีย​ไฮตส์​ยัง​ไม่​เสร็จ​สมบูรณ์ ผม​จึง​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​พัก​ใน​อาคาร​หลัง​เก่า ใน​ห้อง​เล็ก ๆ กับ​พี่​น้อง​ผู้​ถูก​เจิม​สอง​ท่าน—บราเดอร์​เพย์น​ผู้​สูง​อายุ​และ​บราเดอร์​คาร์ล ไคลน์ ซึ่ง​ผม​พบ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ตอน​นั้น. แออัด​ไหม? ใช่. แต่​ว่า​เรา​เข้า​กัน​ได้​ดี​มาก. พี่​น้อง​ที่​อายุ​มาก​กว่า​ผม​เป็น​ผู้​มี​ความ​อด​กลั้น​ทน​นาน​และ​อด​ทน. ผม​เพียง​แต่​พยายาม​ไม่​เกะกะ​พวก​เขา​เท่า​นั้น! นั่น​เป็น​บทเรียน​ที่​ดี​ว่า​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​สามารถ​ทำ​อะไร​ให้​สำเร็จ​ได้​บ้าง. การ​ประชุม​และ​การ​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​บราเดอร์​ไคลน์​นำ​พระ​พร​มา​ให้​ผม​จริง ๆ! ท่าน​เป็น​คน​ที่​กรุณา​และ​คอย​ช่วยเหลือ. เรา​ทำ​งาน​ร่วม​กัน​ได้​ดี​และ​เป็น​เพื่อน​สนิท​กัน​มา​ตลอด 50 กว่า​ปี.

นับ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​ช่วย​จัด​การ​เรื่อง​ดนตรี​ที่​การ​ประชุม​ภาค ณ สนาม​กีฬา​แยงกี​ใน​ปี 1950, 1953, 1955, และ 1958 รวม​ทั้ง​รับผิดชอบ​วง​ออร์เคสตรา​ร่วม​กัน​กับ​แอล แคเวลิน ที่​การ​ประชุม​ปี 1963 ณ สนาม​กีฬา​โรส โบว์ล ที่​เมือง​พา​ซา​ดีนา รัฐ​แคลิฟอร์เนีย. ระหว่าง​การ​ประชุม​ภาค​ปี 1953 ที่​สนาม​กีฬา​แยงกี มี​รายการ​ดนตรี​ใน​วัน​อาทิตย์​ก่อน​คำ​บรรยาย​สาธารณะ. เอริก ฟรอสต์​แนะ​นำ​ตัว​นัก​ร้อง​เสียง​โซปราโน​ชื่อ เอดิท ชี​มี​โอนิก (ต่อ​มา​เป็น​ไวกานด์) กับ​ผม ซึ่ง​ร้อง​เพลง​ที่​เขา​แต่ง​ชื่อ “พยาน​ทั้ง​หลาย จง​รีบ​รุด​หน้า​ไป!” ประสาน​กับ​เสียง​ดนตรี​ออร์เคสตรา​ของ​เรา. หลัง​จาก​นั้น​เรา​ต่าง​ก็​ตื่นเต้น​กับ​เสียง​อัน​ไพเราะ​ของ​พี่​น้อง​ชาวแอฟริกา​ซึ่ง​เรา​ได้​ยิน​เป็น​ครั้ง​แรก. มิชชันนารี​แฮร์รี อาร์นอตต์​นำ​เทป​บันทึก​เสียง​ที่​ดี​จาก​โรดีเซีย​เหนือ (ปัจจุบัน​คือ​แซมเบีย) มา​ให้​เรา​ฟัง. เสียง​นั้น​ก้อง​กังวาล​ไป​ทั่ว​สนาม​กีฬา.

การ​บันทึก​เสียง​หนังสือ​เพลง 1966

คุณ​จำ​หนังสือ​เพลง​เล่ม​สี​ชมพู​ปก​ไว​นิล​ชื่อ “ร้อง​เพลง​และ​มี​ดนตรี​คลอ​เสียง​ใน​ใจ​ของ​ท่าน” ได้​ไหม? เมื่อ​ใกล้​จะ​ถึง​การ​เตรียม​การ​ขั้น​สุด​ท้าย บราเดอร์​นอร์​บอก​ว่า “เรา​กำลัง​จะ​บันทึก​เสียง​กัน​แล้ว. ผม​อยาก​ให้​คุณ​รวบ​รวม​วง​ออร์เคสตรา​เล็ก ๆ แค่​มี​ไวโอลิน​ไม่​กี่​คัน​และ​ฟลุต​สอง​สาม​เลา. ผม​ไม่​อยาก​ให้​ใคร ‘เป่า​แตร’!” หอ​ประชุม​ที่​เบเธล​จะ​เป็น​ห้อง​บันทึก​เสียง​ของ​เรา แต่​มี​ความ​กังวล​อยู่​บ้าง​ที่​จะ​ใช้​หอ​ประชุม​นั้น. จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ถ้า​มี​เสียง​สะท้อน​จาก​ผนัง​ที่​ไม่​มี​ม่าน, จาก​พื้น​กระเบื้อง, และ​จาก​เก้าอี้​พับ​โลหะ? ใคร​จะ​ช่วย​เรา​แก้​ปัญหา​เสียง​ไม่​ประสาน​กัน? มี​คน​หนึ่ง​เสนอ​แนะ​ขึ้น​ว่า “ทอมมี มิตเชลล์​ไง​ล่ะ! เขา​ทำ​งาน​ที่​ห้อง​อัด​ของ​เอบีซี​เน็ตเวิร์ก.” เรา​ติด​ต่อ​กับ​บราเดอร์​มิตเชลล์ ซึ่ง​ยินดี​ช่วย​เรา.

เช้า​วัน​เสาร์​แรก​ที่​จะ​บันทึก​เสียง​มา​ถึง และ​ขณะ​ที่​บรรดา​นัก​ดนตรี​ได้​รับ​การ​แนะ​นำ​ตัว บราเดอร์​คน​หนึ่ง​เอา​กล่อง​ทรัมโบน​ขึ้น​มา. ผม​จำ​คำ​เตือน​ของ​บราเดอร์​นอร์​ได้​ที่​ว่า “ผม​ไม่​อยาก​ให้​ใคร ‘เป่า​แตร’!” แล้ว​ตอน​นี้​ผม​จะ​ทำ​อย่าง​ไร? ผม​มอง​ดู​ขณะ​ที่​พี่​น้อง​คน​นั้น​เอา​ทรัมโบน​ออก​มา​จาก​กล่อง สวม​ท่อ​ชัก​เข้า​ที่​และ​เริ่ม​ซ้อม​เสียง. บราเดอร์​คน​นั้น​คือ​ทอม มิตเชลล์ และ​เสียง​แรก ๆ ที่​เขา​เป่า​ออก​มา​ช่าง​ไพเราะ​เหลือ​เกิน. เขา​ทำ​ให้​ทรัมโบน​มี​เสียง​เหมือน​ไวโอลิน! ผม​คิด​ใน​ใจ​ว่า ‘พี่​น้อง​คน​นี้​ต้อง​อยู่​ด้วย!’ บราเดอร์​นอร์​ไม่​เคย​คัดค้าน​เลย.

ใน​วง​ออร์เคสตรา​นั้น เรา​มี​นัก​ดนตรี​เก่ง ๆ กลุ่ม​หนึ่ง​และ​ยัง​เป็น​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ด้วย. ไม่​มี​ใคร​เป็น​ดารา​เอก! การ​บันทึก​เสียง​เป็น​งาน​หนัก แต่​ไม่​มี​ใคร​บ่น. เมื่อ​งาน​สำเร็จ เรา​ก็​น้ำตา​ซึม​เมื่อ​ต้อง​จาก​กัน; และ​ความ​รู้สึก​เป็น​เพื่อน​ยัง​คง​มี​อยู่​ท่ามกลาง​คน​ที่​มี​ส่วน​ร่วม. เรา​ทุก​คน​ชื่นชม​กับ​สิทธิ​พิเศษ​นั้น และ​เนื่อง​จาก​พระ​ยะโฮวา เรา​ทำ​งาน​ให้​สำเร็จ​ได้.

สิทธิ​พิเศษ​อัน​เป็น​บำเหน็จ​เพิ่ม​ขึ้น

หลัง​จาก​หลาย​ปี ผม​ก็​ยัง​ชอบ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา. ผม​ทำ​งาน​หมวด​และ​งาน​ภาค​เป็น​เวลา 28 ปี—ซึ่ง​ผม​ชอบ​งาน​มอบหมาย​เหล่า​นั้น​ทุก​งาน. แล้ว​ก็​ตาม​มา​ด้วย​การ​ดู​แล​หอ​ประชุม​ใหญ่​นอร์วัล ใน​มณฑล​ออนแทรีโอ. ซึ่ง​มี​การ​ประชุม​หมวด​ทุก​สุด​สัปดาห์​รวม​ทั้ง​การ​ประชุม​ภาค​ภาษา​ต่าง​ประเทศ​ด้วย ผม​กับ​ไอลีน​ต่าง​ก็​ยุ่ง​กับ​งาน. ใน​ปี 1979 ถึง 1980 พวก​สถาปนิก​และ​วิศวกร​ใช้​อาคาร​หอ​ประชุม​ใหญ่​แห่ง​นั้น​เพื่อ​วาง​แผน​สร้าง​สาขา​แห่ง​ใหม่​ของ​สมาคม​ฯ ที่​เมือง​ฮาลตันฮิลส์. หลัง​จาก​งาน​ที่​หอ​ประชุม​ใหญ่​จบ​ลง เรา​ก็​ได้​รับ​งาน​มอบหมาย​อีก​งาน​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​เกี่ยว​ข้อง​เรื่อง​ดนตรี​อีก​ใน​บรุกลิน ตั้ง​แต่​ปี 1982 ถึง​ปี 1984.

ภรรยา​ที่​รัก​ของ​ผม​เสีย​ชีวิต​ใน​วัน​ที่ 17 มิถุนายน 1994 เพียง​เจ็ด​วัน​หลัง​จาก​วัน​ครบ​รอบ​วัน​แต่งงาน​ครั้ง​ที่ 59 ของ​เรา. เรา​ได้​ใช้​เวลา​เป็น​ไพโอเนียร์​ร่วม​กัน 51 ปี​เต็ม.

เมื่อ​ผม​คิด​รำพึง​ถึง​ประสบการณ์​หลาย​อย่าง​ใน​ชีวิต​ของ​ผม ผม​ไม่​เคย​ลืม​เลย​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​เป็น​เครื่อง​นำ​ทาง​อัน​ล้ำ​ค่า​ของ​ผม​สัก​เพียง​ไร. บาง​ครั้ง ผม​ใช้​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ส่วน​ตัว​ของ​ไอลีน​และ​ได้​รับ​ความ​ยินดี​อย่าง​มาก​จาก​การ​สังเกต​สิ่ง​ที่​กระตุ้น​หัวใจ​ของ​เธอ—ทั้ง​ข้อ, วลี​ใด​วลี​หนึ่ง, และ​คำ​ใด​คำ​หนึ่ง​ที่​เธอ​หมาย​ไว้. เช่น​เดียว​กับ​ไอลีน ผม​ก็​มี​ข้อ​คัมภีร์​บาง​ข้อ​ที่​มี​ความหมาย​พิเศษ​สำหรับ​ผม​ด้วย. ข้อ​ความ​ตอน​หนึ่ง​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ 137 มี​คำ​อธิษฐาน​อัน​ไพเราะ​แด่​พระ​ยะโฮวา​ดัง​นี้: “โอ้​ยะรูซาเลม​เอ๋ย, ถ้า​ข้าพเจ้า​ลืม​ท่าน, ก็​ขอ​ให้​มือ​ขวา​ของ​ข้าพเจ้า​ลืม​ฝีมือ​เพลง​เสีย. ถ้า​ข้าพเจ้า​ไม่​ระลึก​ถึง​ท่าน, หรือ​ถ้า​ไม่​นิยม​กรุง​ยะรูซาเลม​อย่าง​สูง​สุด, ก็​ขอ​ให้​ลิ้น​ของ​ข้าพเจ้า​ติด​อยู่​กับ​เพดาน​ปาก​เสีย​เถิด.” (บทเพลง​สรรเสริญ 137:5, 6) แม้​ว่า​ผม​รัก​ดนตรี ความ​ยินดี​สูง​สุด​ของ​ผม​มา​จาก​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ภักดี ผู้​ซึ่ง​ประทาน​บำเหน็จ​ให้​ผม​มี​ชีวิต​ที่​อิ่ม​ใจ​และ​พึง​พอ​ใจ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มิถุนายน 1973 อธิบาย​ว่า​เพราะ​เหตุ​ใด​นับ​แต่​นั้น​มา ใคร​ที่​จะ​รับ​บัพติสมา​และ​เข้า​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ต้อง​เลิก​ใช้​ยาสูบ​เสีย​ก่อน.

[ภาพ​หน้า 28]

กับ​ไอลีน​ใน​ปี 1947

[ภาพ​หน้า 30]

ใน​การ​บันทึก​เสียง​สมัย​แรก ๆ