วิธีที่คุณจะมีเพื่อน
วิธีที่คุณจะมีเพื่อน
“เพื่อนคนเดียวในชีวิตช่วงหนึ่งนับว่ามากพอ; สองคนก็นับว่ามากมาย; สามคนอาจจะหาได้ยาก.”—เฮนรี บรุกส์ แอดัมส์.
คำกล่าวนี้บ่งบอกว่าเพื่อนแท้นั้นหายาก. คำพูดอย่างเช่น “ฉันไม่มีใครที่จะหันไปขอความช่วยเหลือได้,” “ฉันไว้ใจใครไม่ได้,” หรือไม่ก็ “สุนัขเป็นเพื่อนดีที่สุดของฉัน” ได้ยินกันบ่อยเหลือเกินจากผู้คนที่ว้าเหว่จริง ๆ ซึ่งเสาะหามิตรภาพ.
ที่จะสร้างมิตรภาพอันยืนยงและรักษาให้คงอยู่ต่อไปนั้นเป็นเรื่องท้าทาย. การสำรวจตลาดเผยให้เห็นว่า “ในสหรัฐ 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ประสบ ‘ความว้าเหว่รุนแรง’ และ . . . ในฝรั่งเศสประชาชนครึ่งหนึ่งประสบความรู้สึกเดียวดายอย่างรุนแรง.” การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสโมสรสำหรับการนัดพบระหว่างเพศตรงข้ามและห้องสนทนาในคอมพิวเตอร์อีกทั้งการลงโฆษณามากมายในหนังสือพิมพ์โดยคนเหล่านั้นที่แสวงหาเพื่อนบ่งชี้ว่าผู้คนปรารถนาเหลือเกินที่จะมีการติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์.
ดร. เดวิด วีกส์ นักจิตวิทยาทางประสาทยืนยันว่า ความว้าเหว่มีผลกระทบไม่เพียงต่อสภาพจิตใจของคนเราเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพกายของเขาด้วย. “ผมมีคนไข้ในอัตราส่วนที่สูงซึ่งเป็นโรคกลัวความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าซึ่งอาจพรรณนาได้ว่าเป็นคนว้าเหว่. มีความเกี่ยวพันกันระหว่างความรุนแรงของความซึมเศร้ากับความรุนแรงของความว้าเหว่.”
การหย่าร้างและความล้มเหลวในชีวิตครอบครัวทำให้ผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องดำเนินชีวิตอยู่เดียวดาย. การสำรวจหนึ่งที่ทำในบริเตนสรุปว่า พอถึงตอนเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 มีมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของชาตินั้นจะอยู่ในครอบครัวที่อยู่ตัวคนเดียว.
พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจได้บอกล่วงหน้าไว้ว่า น้ำใจของความเห็นแก่ตัวจะมีดาษดื่นใน “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ดูเหมือนว่าหลายคนสนใจในสมบัติฝ่ายวัตถุ เช่น บ้านหรือไม่ก็รถยนต์ หรือสนใจในงานอาชีพของเขามากยิ่งกว่าการปลูกฝังสัมพันธภาพกับคนอื่น. นักประพันธ์ชื่อแอนโทนี สทอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า “แทนที่จะสนใจในคู่สมรสและลูก ๆ ชีวิตของเขาขลุกอยู่แต่ในที่ทำงาน.”
เพื่อนแท้มีค่าอันประมาณมิได้
คุณภาพของชีวิตคุณขึ้นอยู่กับคุณภาพแห่งมิตรภาพของคุณเป็นส่วนใหญ่. บ่อยครั้งคนเหล่านั้นที่มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองไม่มีความสุข เพราะเขาไม่มีเพื่อนที่จะแบ่งปันสิ่งของหรือความคิดของตนให้. คำตรัสของพระเยซูคริสต์เป็นความจริงที่ว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35, ล.ม.) กวีชาวอังกฤษชื่อจอร์จ ไบรอน ได้เขียนสะท้อนความจริงข้อนี้ว่า “ทุกคนที่ปรารถนาจะได้รับความยินดี ก็ต้องแบ่งปันความยินดีนั้น.”
เพื่อนคืออะไร? พจนานุกรมเล่มหนึ่งให้คำจำกัดความคำว่าเพื่อนไว้ว่าเป็น “ผู้ที่ผูกพันกับอีกคนหนึ่งเนื่องด้วยความรักหรือความนับถือ.” เพื่อนแท้อาจช่วยชี้นำความคิดของคุณไปยังสิ่งที่เป็นประโยชน์. เขาอาจให้กำลังใจและเสริมสร้างคุณในยามที่จำเป็น. เขาอาจถึงกับร่วมความทุกข์โศกกับคุณได้ด้วยซ้ำ. กษัตริย์ซะโลโมตรัสว่า “มิตรแท้ย่อมรักอยู่ทุกเวลา และเป็นพี่น้องซึ่งเกิดมาเพื่อยามที่มีความทุกข์ยาก.” (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) ขณะที่สิ่งฝ่ายวัตถุมักเสื่อมคุณค่าเมื่อเวลาผ่านไป แต่มิตรภาพแท้งอกงามและเบ่งบานพร้อมกับเวลาที่ผ่านไป.
พระคัมภีร์กระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ “ตีแผ่” ความรักใคร่ของพวกเขา. (2 โกรินโธ 6:13) การหยิบยื่นมิตรภาพให้คนอื่นสะท้อนถึงการมีสติปัญญา. ที่ท่านผู้ประกาศ 11:1, 2 เราอ่านว่า “เจ้าจงโยนขนมปังของเจ้าให้ลอยไว้บนพื้นน้ำ; ถึงอีกหลายวันต่อมาเจ้าจะพบขนมปังนั้นได้. เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งปันให้แก่เจ็ดคน, เออ, ถึงแปดคนก็ให้เถอะ; เพราะเจ้าไม่รู้ว่าความชั่วอย่างไรจะบังเกิดขึ้นบนพื้นแผ่นดิน.” หลักการข้อนี้นำมาใช้อย่างไรกับมิตรภาพ? หากคุณได้ปลูกฝังมิตรภาพกับหลายคนแล้ว บางคนในพวกเขาอาจให้ความช่วยเหลือคุณเมื่อเกิดความลำบากขึ้น.
เพื่อนแท้เป็นเครื่องปกป้องสำหรับคุณในอีกทางหนึ่ง. สุภาษิต 27:6 (ล.ม.) กล่าวว่า “บาดแผลที่ผู้เป็นที่รักทำแก่เรานั้นเป็นการสุจริต.” ถึงแม้มีหลายคนอาจสรรเสริญเยินยอคุณก็ตาม เฉพาะแต่เพื่อนแท้เท่านั้นจะมีความนับถือคุณมากพอที่จะชี้ข้อผิดพลาดร้ายแรงออกมาและเสนอคำแนะนำที่เสริมสร้างด้วยท่าทีที่แสดงความรัก.—สุภาษิต 28:23.
เพื่อนดี ๆ ที่สนิทสนมกันเป็นหนึ่งในบรรดาของประทานเหล่านั้นที่หายากซึ่งก่อผลกระทบในทางบวกต่อคุณ. ในกิจการบท 10 เราอ่านถึงเหตุการณ์ในชีวิตของโกระเนเลียว นายทหารชาติโรมันซึ่งได้รับการแจ้งจากทูตสวรรค์ว่า คำอธิษฐานของเขาได้รับการสดับแล้ว. ขณะที่รอคอยการเยี่ยมของอัครสาวกเปโตรอยู่นั้น โกระเนเลียว “ได้เชิญญาติพี่น้องกับเพื่อนสนิทของตนให้มาประชุมกัน.” เพื่อนที่ใกล้ชิดเหล่านั้นของโกระเนเลียวอยู่ในบรรดาคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตรุ่นแรกซึ่งรับเอาข่าวดีและได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พร้อมกับมีความหวังที่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรของพระเจ้า. ช่างเป็นพระพรอะไรเช่นนี้สำหรับเหล่าเพื่อนสนิทของโกระเนเลียว!—กิจการ 10:24, 44.
อย่างไรก็ดี คุณจะลงมือหาเพื่อนได้โดยวิธีใด? คัมภีร์ไบเบิลซึ่งกล่าวไว้มากมายเกี่ยวกับมิตรภาพให้คำตอบพร้อมกับคำแนะนำที่ใช้ได้ผล. (โปรดดูกรอบหน้าถัดไป.)
แหล่งที่คุณจะหาเพื่อนแท้ได้
แหล่งดีที่สุดที่จะหาเพื่อนแท้ได้นั้นเกี่ยวข้องกับประชาคมคริสเตียน. อันดับแรก คุณสามารถใช้โอกาสที่จะเป็นมิตรกับพระยะโฮวา พระผู้สร้างและพระบิดาทางภาคสวรรค์ของคุณ และกับพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของคุณ. พระเยซูผู้ทรงเชิญคุณให้มาเป็นมิตรของพระองค์ได้ตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดมีความรักใหญ่ยิ่งกว่านี้ คือที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสละจิตวิญญาณของตัวเพื่อมิตรของตน.” (โยฮัน 15:13, 15, ล.ม.) โดยการเป็นมิตรกับพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ คุณจะมั่นใจได้ว่า พระองค์ทั้งสองจะ “ต้อนรับ [คุณ] ในที่อาศัยอันถาวรเป็นนิตย์.” ถูกแล้ว มิตรภาพกับพระยะโฮวาและพระเยซูหมายถึงชีวิตนิรันดร์.—ลูกา 16:9; โยฮัน 17:3.
คุณสามารถได้มาซึ่งมิตรภาพอันอบอุ่นกับพระองค์ทั้งสองโดยวิธีใด? ข้อเรียกร้องเพื่อจะเป็นแขกในพลับพลาของพระยะโฮวาในฐานะมิตรคนหนึ่งของพระองค์นั้นมีการสรุปไว้ในเพลงสรรเสริญบท 15. ขอเปิดดูในคัมภีร์ไบเบิล แล้วอ่านห้าข้อของเพลงสรรเสริญบทนั้น. นอกจากนี้ พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นมิตรของเราถ้าเจ้าปฏิบัติตามที่เราสั่งเจ้า.”—โยฮัน 15:14, ล.ม.
ถูกแล้ว โดยการศึกษาคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าและนำไปใช้อย่างซื่อตรง คุณแสดงให้เห็นว่า คุณต้องการเป็นมิตรของพระยะโฮวาและพระเยซู. นอกจากนั้น เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ คุณต้องเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการถ่ายทอดความรู้ของพระยะโฮวา
พระเจ้า. จงทุ่มเทตัวอย่างซื่อสัตย์ที่จะรับฟังพระยะโฮวา แล้วคุณจะใกล้ชิดมากขึ้นกับพระองค์และพระบุตร.นอกจากนี้ ณ การประชุม คุณสามารถรู้จักคุ้นเคยกับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งรักพระยะโฮวาและสำแดงผลแห่งพระวิญญาณในชีวิตของเขา ซึ่งก็ได้แก่ ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) หากคุณอยากได้เพื่อนและอยากขจัดความว้าเหว่อย่างแท้จริงแล้ว จงเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนทุกสัปดาห์. การทำเช่นนั้นทำให้คุณอยู่ในสถานที่เหมาะสมในเวลาอันเหมาะเพื่อจะปลูกฝังมิตรภาพที่ยืนยงกับไพร่พลของพระเจ้าที่ได้รับพระพร.
มิตรสหายตลอดกาล
มิตรภาพแท้เป็นของประทานอันวิเศษจากพระยะโฮวาพระเจ้า. มิตรภาพนั้นเกิดจากบุคลิกภาพและนิสัยของพระองค์เอง. เนื่องจากน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยความรักและเอื้ออารี พระองค์ได้ทรงทำให้แผ่นดินโลกเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่มีเชาวน์ปัญญาซึ่งเป็นผู้ที่คุณจะพัฒนามิตรภาพด้วยได้. จงคบหากับเพื่อนคริสเตียน. ให้กำลังใจพวกเขา. ทำงานร่วมกับเขาในงานเผยแพร่. จงอธิษฐานเป็นประจำกับเขาและอธิษฐานเผื่อเขาด้วย. ครั้นแล้ว คุณจะเลียนแบบพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์.
มิตรภาพเป็นของประทานที่ทุกคนสามารถให้และรับได้. ในอนาคตอันใกล้ คุณจะมีโอกาสขยายแวดวงเพื่อนฝูงของคุณออกไป. คุณสามารถเป็นเพื่อนกับคนนับล้าน ๆ ที่มีชีวิตอยู่ขณะนี้ อีกทั้งกับคนเหล่านั้นจากชั่วอายุที่ผ่านไปซึ่งหลับอยู่ในความตาย คอยท่าการกลับเป็นขึ้นจากตายคราวที่ “ความตายจะไม่มีต่อไป.” (วิวรณ์ 21:4; โยฮัน 5:28, 29) จงใช้ความพยายามขณะนี้ที่จะมีไมตรีจิต และเป็นเพื่อนกับคนเหล่านั้นซึ่งรักพระยะโฮวา. จงมุ่งแสวงหามิตรภาพกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์โดยรับฟังพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. ครั้นแล้ว คุณจะไม่ว้าเหว่อีกเลยตลอดนิรันดรกาล.
[กรอบหน้า 22]
หกขั้นตอนที่นำไปสู่มิตรภาพที่ยั่งยืน
1. จงเป็นเพื่อน. อับราฮามได้รับสมญาว่า “มิตรสหายของพระยะโฮวา” เนื่องจากความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนของท่าน. (ยาโกโบ 2:23, ล.ม.) แต่มีเหตุผลนอกจากนั้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าอับราฮามได้แสดงความรักต่อพระเจ้า. (2 โครนิกา 20:7) ท่านเป็นฝ่ายริเริ่มและให้พระยะโฮวาทราบความรู้สึกของท่าน. (เยเนซิศ 18:20-33) ถูกแล้ว ต้องเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะให้ข้อพิสูจน์เกี่ยวกับมิตรภาพของคุณ. พระเยซูตรัสว่า “จงแจกปันให้เขา, และเขาจะแจกปันให้ท่านด้วย.” (ลูกา 6:38) คำพูดที่ให้กำลังใจหรือการยื่นมือช่วยเหลือกันอาจเป็นเมล็ดที่เพาะให้มิตรภาพอันดีงามงอกงามขึ้นได้. ราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สัน นักประพันธ์เรื่องสั้นชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “วิธีเดียวที่จะมีเพื่อนก็คือ เราเองต้องเป็นเพื่อน.”
2. ใช้เวลาปลูกฝังมิตรภาพ. คนส่วนใหญ่ปรารถนาจะได้ประโยชน์จากมิตรภาพ. กระนั้น พวกเขาก็มีธุระยุ่งเกินไปที่จะให้เวลาซึ่งจำเป็นเพื่อบรรลุมิตรภาพนั้น. โรม 12:15, 16 สนับสนุนเราให้ร่วมในความสุขและความสำเร็จ ความโศกเศร้าและความผิดหวังของคนอื่น. ข้อนั้นบอกว่า “จงมีใจยินดีด้วยกันกับผู้ที่มีความยินดี จงร้องไห้ด้วยกันกับผู้ที่ร้องไห้. จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.” พระเยซูคริสต์ ถึงแม้เป็นบุคคลที่มีธุระยุ่ง ก็ยังให้เวลาสำหรับมิตรสหายของพระองค์เสมอ. (มาระโก 6:31-34) อย่าลืมว่า มิตรภาพก็เป็นเช่นเดียวกับไม้ดอก จำเป็นต้องได้รับการรดน้ำและเอาใจใส่ดูแลเพื่อจะออกดอก—และนั่นต้องใช้เวลา.
3. จงเอาใจใส่เมื่อคนอื่นพูด. ผู้ฟังที่ดีซึ่งตั้งใจฟังมักพบว่าง่ายขึ้นที่จะมีเพื่อน. สาวกยาโกโบกล่าวว่า “ทุกคนจำต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด.” (ยาโกโบ 1:19, ล.ม.) เมื่อคุณพูดคุยกับคนอื่น จงแสดงความสนใจเป็นส่วนตัวในความรู้สึกของเขา. สนับสนุนเขาให้พูดเกี่ยวกับตัวเอง. จงนำหน้าในการให้เกียรติแก่เขา. (โรม 12:10, ล.ม.) แล้วเขาจะต้องการอยู่กับคุณ. ในทางกลับกัน หากคุณผูกขาดการสนทนาเสียทั้งหมด หรือทำให้ตัวเองเป็นจุดรวมความสนใจอยู่เรื่อย คุณจะพบว่ายากที่จะหาใครสักคนซึ่งพร้อมจะฟัง หรือใส่ใจในความรู้สึกและความต้องการของคุณ.
4. จงรู้จักให้อภัย. ครั้งหนึ่งพระเยซูทรงสั่งเปโตรให้พร้อมจะให้อภัย “ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง.” (มัดธาย 18:21, 22, ล.ม.) เพื่อนแท้ไวในการมองข้ามความผิดพลาดเล็กน้อย. เพื่อเป็นตัวอย่าง: บางคนไม่ชอบรับประทานน้อยหน่าเพราะมีเม็ดมาก. อย่างไรก็ตาม คนเหล่านั้นที่ชอบผลไม้ชนิดนี้ ไม่สนใจเม็ดเหล่านั้น. เพื่อนแท้เป็นที่รักเพราะคุณลักษณะที่ดีของเขา; ความผิดพลาดเล็กน้อยของเขาได้รับการมองข้าม. เปาโลกระตุ้นเตือนเราว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้าง.” (โกโลซาย 3:13, ล.ม.) คนเหล่านั้นที่รู้จักให้อภัยก็รักษาเพื่อนเอาไว้.
5. นับถือความเป็นส่วนตัวของคนอื่น. ทุกคนต้องการความเป็นส่วนตัวในบางประการ รวมทั้งเพื่อนของคุณด้วย. สุภาษิต 25:17 ให้ข้อสังเกตอย่างฉลาดสุขุมไว้ว่า “อย่าย่างเท้าเข้าไปในบ้านของเพื่อนบ้านเจ้าบ่อยนัก, เกรงว่าเขาจะเบื่อและเกลียดเจ้า.” ฉะนั้น จงเป็นคนมีเหตุผลในการไปเยี่ยมเพื่อน อย่าไปบ่อยนักและอย่าอยู่นานเกินไป. จงหลีกเลี่ยงการแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งอาจนำไปสู่การหวงแหน. จงใช้ความสุขุมเมื่อแสดงออกซึ่งรสนิยมส่วนตัวและความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ. การทำเช่นนี้ย่อมส่งเสริมมิตรภาพที่ทำให้สดชื่นและน่ายินดี.
6. จงเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. มิตรภาพได้รับการปลูกฝังโดยทางความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. คำแนะนำของอัครสาวกเปาโลคือ “ให้เป็นคนใจกว้าง, พร้อมจะแบ่งปัน.” (1 ติโมเธียว 6:18, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น จงแบ่งปันถ้อยคำที่ให้กำลังใจกับคนอื่น. (สุภาษิต 11:25, ล.ม.) จงให้คำชมเชยที่จริงใจและใช้คำพูดที่เสริมสร้างอย่างไม่อั้น. เมื่อคุณแสดงความสนใจอย่างแท้จริงในสวัสดิภาพของคนอื่นเขาก็ถูกดึงดูดมาหาคุณ. จงคิดถึงสิ่งที่คุณทำได้เพื่อเขา แทนที่จะเพ่งเล็งในสิ่งที่เขาจะทำให้คุณได้.