ศาสนาคริสเตียนแท้มีชัย!
ศาสนาคริสเตียนแท้มีชัย!
“พระคำของพระยะโฮวาจึงเจริญงอกงามและมีชัยเรื่อยไปอย่างทรงพลัง.”—กิจการ 19:20, ล.ม.
1. จงพรรณนาถึงการเติบโตของศาสนาคริสเตียนในช่วงศตวรรษแรก.
โดยได้รับอำนาจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ คริสเตียนยุคแรกประกาศพระคำของพระเจ้าด้วยใจแรงกล้าดุจไฟที่ไม่อาจดับได้. นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งเขียนว่า “ศาสนาคริสเตียนได้แผ่ขยายไปทั่วโลกโรมันในอัตราเร็วที่น่าทึ่ง. พอถึงปีสากลศักราช 100 ทุกแคว้นที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนคงได้มีประชาคมคริสเตียนกันหมดแล้ว.”
2. ซาตานพยายามอย่างไรเพื่อต่อต้านข่าวดี และเรื่องนี้มีบอกล่วงหน้าไว้อย่างไร?
2 ซาตานพญามารไม่สามารถทำให้คริสเตียนยุคแรกเงียบเสียง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น มันลบล้างผลกระทบของข่าวดีด้วยวิธีอีกอย่างหนึ่ง—การออกหาก. พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าไว้แล้วถึงเรื่องนี้ในอุทาหรณ์เรื่องข้าวดีกับข้าวละมาน. (มัดธาย 13:24-30, 36-43) อัครสาวกเปโตรก็เตือนไว้ด้วยว่าจะเกิดมีครูสอนเท็จขึ้นในประชาคม ซึ่งจะนำนิกายที่ก่อความพินาศเข้ามา. (2 เปโตร 2:1-3) คล้ายกัน อัครสาวกเปาโลก็ได้เตือนไว้อย่างเจาะจงว่าการออกหากจะเกิดขึ้นก่อนวันของพระยะโฮวา.—2 เธซะโลนิเก 2:1-3.
3. เกิดอะไรขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของเหล่าอัครสาวก?
3 หลังจากที่เหล่าอัครสาวกเสียชีวิตไปแล้ว ข่าวดีเริ่มถูกครอบงำโดยคำสอนนอกรีตและปรัชญาต่าง ๆ. ดังที่บอกไว้ล่วงหน้า ครูสอนเท็จบิดเบือนและทำให้ข่าวสารความจริงอันบริสุทธิ์ปนเปื้อน. ทีละเล็กทีละน้อย ศาสนาคริสเตียนแท้ถูกบดบังโดยศาสนาเทียมที่เรียกว่าคริสต์ศาสนจักร. เกิดมีชนชั้นนักเทศน์นักบวชขึ้นมาซึ่งพยายามกีดกันคัมภีร์ไบเบิลไว้จากสามัญชน. แม้ว่าจำนวนคนที่เรียกตัวเองว่าคริสเตียนเพิ่มขึ้น แต่การนมัสการของพวกเขาไม่บริสุทธิ์. คริสต์ศาสนจักรเติบโตขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์และกลายเป็นสถาบันที่ทรงพลังและมีอิทธิพลในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ศาสนานี้มิได้รับพระพรและพระวิญญาณของพระเจ้า.
4. เหตุใดแผนการของซาตานในการขัดขวางพระประสงค์ของพระเจ้าจึงไม่ประสบผลสำเร็จ?
4 อย่างไรก็ตาม แผนการของซาตานในการขัดขวางพระประสงค์ของพระยะโฮวาไม่มีทางสำเร็จ. แม้แต่ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดแห่งการออกหาก ก็ยังคงมีศาสนาคริสเตียนแท้อยู่ท่ามกลางคนบางกลุ่ม. คนที่คัดลอกคัมภีร์ไบเบิลอุตสาหะพากเพียรเพื่อจะคัดลอกอย่างถูกต้อง. ด้วยเหตุนั้น ตัวคัมภีร์ไบเบิลเองยังคงอยู่ครบถ้วน แม้ว่าข่าวสารในนั้นถูกบิดเบือนโดยหลายคนที่อ้างว่ามีอำนาจอย่างถูกต้องที่จะสอน. ตลอดหลายศตวรรษ ผู้คงแก่เรียนอย่างเจโรมและทินเดลได้แปลและจ่ายแจกพระคำของพระเจ้าออกไปอย่าง
กล้าหาญ. ผู้คนหลายล้านคนมีโอกาสได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลและรู้จักศาสนาคริสเตียน แม้ว่าไม่ใช่ของแท้.5. ผู้พยากรณ์ดานิเอลบอกล่วงหน้าเช่นไรเกี่ยวกับ “ความรู้แท้”?
5 ในที่สุด ดังที่บอกไว้ล่วงหน้าในพระธรรมดานิเอล ‘ความรู้แท้มีอุดมบริบูรณ์.’ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน “เวลาอวสาน”—สมัยของเรานี้เอง. (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ชักนำผู้รักความจริงทั่วโลกให้รับเอาความรู้ถ่องแท้ของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้และพระประสงค์ของพระองค์. แม้มีการสอนที่ออกหากมาหลายศตวรรษ พระคำของพระเจ้าก็ยังมีชัย! ปัจจุบัน กำลังมีการประกาศข่าวดีไปทุกหนแห่ง ชี้ให้ผู้คนเห็นถึงความหวังเกี่ยวกับโลกใหม่ที่เปี่ยมด้วยความยินดี. (บทเพลงสรรเสริญ 37:11) ต่อไปนี้ ให้เราตรวจสอบเกี่ยวกับการเติบโตของพระคำของพระเจ้าในสมัยปัจจุบันนี้.
การเติบโตของพระคำในปัจจุบัน
6. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเข้าใจความจริงอะไรเมื่อถึงปี 1914?
6 ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นใจนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามพยานพระยะโฮวา. พอถึงปี 1914 คัมภีร์ไบเบิลก็ได้มีชีวิตขึ้นมาสำหรับพวกเขา. พวกเขาเข้าใจความจริงอันเยี่ยมยอดเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า. พวกเขาถูกกระตุ้นอย่างลึกซึ้งโดยความรักของพระยะโฮวาที่ได้ส่งพระบุตรมายังแผ่นดินโลก ซึ่งโดยวิธีนี้จึงเปิดทางไว้สำหรับชีวิตนิรันดร์. พวกเขายังได้มารู้จักและซาบซึ้งในพระนามและบุคลิกภาพของพระเจ้าด้วย. นอกจากนั้น พวกเขาตระหนักว่า “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” ได้สิ้นสุดลงแล้ว เป็นสัญญาณว่าเวลาที่รัฐบาลราชอาณาจักรของพระเจ้าจะนำพระพรมาสู่มนุษยชาติใกล้เข้ามาแล้ว. (ลูกา 21:24) ช่างเป็นข่าวดีที่เยี่ยมยอดจริง ๆ! ความจริงอันมีพลังดังกล่าวจะต้องได้ประกาศแก่ทุกคนและทุกแห่ง. ชีวิตของผู้คนกำลังตกอยู่ในอันตราย!
7. ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมีชัยในสมัยปัจจุบันอย่างไร?
7 พระยะโฮวาทรงอวยพรคริสเตียนผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวนเพียงหยิบมือเดียว. ปัจจุบัน จำนวนของผู้ที่ตอบรับศาสนาคริสเตียนแท้มีมากกว่าหกล้านคนแล้ว. พระคำของพระเจ้าได้แผ่ขยายในเชิงภูมิศาสตร์ด้วย เพราะพยานพระยะโฮวามีอยู่ใน 235 ดินแดน. นอกจากนั้น ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลได้ให้พลัง มีชัยเหนืออุปสรรคทุกอย่าง ไม่ว่าจะด้านศาสนาหรือด้านอื่น ๆ. กิจการงานประกาศทั่วโลกเสริมเข้ากับหลักฐานที่ไม่อาจแย้งได้ว่าพระเยซูทรงประทับด้วยขัตติยอำนาจแห่งราชอาณาจักร.—มัดธาย 24:3, 14.
8. บางคนได้กล่าวไว้เช่นไรเกี่ยวกับการเติบโตของพยานพระยะโฮวา?
8 เช่นเดียวกับที่นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงการเติบโตอันน่าทึ่งของศาสนาคริสเตียนในศตวรรษแรก ผู้คงแก่เรียนหลายคนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของไพร่พลพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน. ที่สหรัฐ ผู้คงแก่เรียนสองคนร่วมกันเขียนไว้ว่า “ในช่วง 75 ปีที่ผ่านไป พยานพระยะโฮวาได้รักษาอัตราการเติบโตที่สูงเป็นพิเศษ . . . และทำอย่างนั้นในขอบเขตที่กว้างขวางระดับโลก.” วารสารฉบับหนึ่งในแอฟริกาตะวันออกกล่าวถึงพยานพระยะโฮวาว่าเป็น “ศาสนาหนึ่งที่เติบโตเร็วที่สุดและได้รับความนับถือมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักในนานาประเทศเนื่องด้วยการยึดมั่นอย่างเต็มที่ต่อคำสอนตามหลักคัมภีร์ไบเบิล.” และวารสารคาทอลิกฉบับหนึ่งซึ่งยึดจารีตนิยมที่ตีพิมพ์ในยุโรปกล่าวถึง “การเติบโตอย่างท่วมท้นของพยานพระยะโฮวา.” อะไรได้ทำให้มีการเติบโตเช่นนี้?
พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจในทุกวันนี้
9. (ก) เหตุผลหลักที่พระคำของพระเจ้ามีชัยในปัจจุบันคืออะไร? (ข) พระยะโฮวาทรงชักนำผู้คนให้มาหาพระองค์อย่างไร?
9 เหตุผลหลักที่พระคำของพระเจ้ามีชัยในปัจจุบันคือ พระวิญญาณของพระยะโฮวากำลังดำเนินกิจอย่างเปี่ยมด้วยพลัง เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก. พระเยซูตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้, เว้นไว้พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.” (โยฮัน 6:44) คำตรัสดังกล่าวชี้ว่าพระเจ้าทรงโน้มน้าวใจคนที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องด้วยความละมุนละม่อม กระตุ้นหัวใจของพวกเขา. โดยกิจการงานประกาศของเหล่าพยานของพระองค์ พระยะโฮวากำลังชักนำ “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง”—ประชาชนที่อ่อนน้อมผู้มีนิสัยเยี่ยงแกะแห่งแผ่นดินโลกนี้—ให้มานมัสการพระองค์.—ฮาฆี 2:6, 7, ล.ม.
10. ผู้คนแบบไหนบ้างได้ตอบรับพระคำของพระเจ้า?
10 พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่เพียงประทานอำนาจแก่ไพร่พลของพระเจ้าในการนำพระคำของพระองค์ไปจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกเท่านั้น แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังได้กระตุ้นผู้คนทุกชนิดให้ตอบรับข่าวดีด้วย. ที่จริง คนเหล่านั้นที่ตอบรับพระคำของพระเจ้ามาจาก “ทุกตระกูลและทุกภาษาและทุกชาติและทุกประเทศ.” (วิวรณ์ 5:9; 7:9, 10) จะพบพวกเขาได้ในท่ามกลางคนรวยและคนจน คนที่มีการศึกษาสูงและคนที่ไม่รู้หนังสือ. บางคนได้ตอบรับพระคำภายใต้ ภาวะสงครามและการกดขี่ที่รุนแรง ในขณะที่บางคนตอบรับในช่วงเวลาที่สงบและรุ่งเรืองเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ. ภายใต้การปกครองทุกระบอบ, ในทุกวัฒนธรรม, นับตั้งแต่ในค่ายกักกันไปจนถึงในวัง ผู้คนได้ตอบรับข่าวดี.
11. พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจในชีวิตไพร่พลของพระเจ้าอย่างไร และมีข้อแตกต่างชัดเจนเช่นไร?
11 แม้ว่ามีความหลากหลายอย่างน่าทึ่งท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ. (บทเพลงสรรเสริญ 133:1-3) จุดนี้เสริมเข้ากับหลักฐานที่ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจในชีวิตของคนที่รับใช้พระเจ้า. พระวิญญาณของพระองค์เป็นพลังอันทรงฤทธิ์ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้รับใช้ของพระองค์สำแดงความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความกรุณา, และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่ดึงดูดใจ. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ปัจจุบัน เราเข้าใจชัดเจนในสิ่งที่ผู้พยากรณ์มาลาคีบอกล่วงหน้านานมาแล้วว่า “เจ้าทั้งหลายก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนชั่ว, ระหว่างคนปรนนิบัติพระยะโฮวาและคนไม่ปรนนิบัติพระยะโฮวา.”—มาลาคี 3:18.
พระคำของพระเจ้ามีชัยในด้านผู้ทำงานที่มีใจแรงกล้า
12. พยานพระยะโฮวารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับงานเผยแพร่กิตติคุณ และพวกเขาคาดหมายว่าผู้คนจะมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อกิจการงานประกาศของพวกเขา?
12 พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้ไปโบสถ์ที่ไม่ทำอะไร. พวกเขามีส่วนอย่างขันแข็งในงานเผยแพร่กิตติคุณ. เช่นเดียวกับคริสเตียนยุคแรก พวกเขาเสนอตัวด้วยความเต็มใจเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า พยายามช่วยผู้อื่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับคำสัญญาต่าง ๆ เรื่องราชอาณาจักรของพระยะโฮวา. พวกเขาเป็นผู้ร่วมทำงานกับพระเจ้า ซึ่งรวบรวมคนอื่น ๆ ให้มารับใช้พระยะโฮวา โดยประสานงานกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. ด้วยการทำอย่างนั้น พวกเขาสะท้อนถึงความเมตตาและความรักของพระยะโฮวาที่มีต่อมนุษยชาติที่ไม่เชื่อถือ. และพวกเขาทำอย่างนั้นแม้ว่าประสบกับความไม่แยแส, การเยาะเย้ย, และการกดขี่ข่มเหง. พระเยซูทรงเตรียมเหล่าสาวกไว้ให้พร้อมสำหรับปฏิกิริยาที่มีต่อข่าวดีในหลาย ๆ ลักษณะ. พระองค์ตรัสว่า “บ่าวจะเป็นใหญ่กว่านายหามิได้ ถ้าเขาข่มเหงเราแล้ว, เขาคงจะข่มเหงท่านทั้งหลายด้วย ถ้าเขานับถือคำของเราแล้ว, เขาคงจะนับถือคำของท่านทั้งหลายด้วย.”—โยฮัน 15:20.
13. ลักษณะสำคัญอะไรที่ขาดไปในคริสต์ศาสนจักรซึ่งมีอย่างอุดมในท่ามกลางพยานพระยะโฮวา?
13 สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ เราประทับใจในความคล้ายคลึงกันระหว่างพยานพระยะโฮวาในปัจจุบันกับคนเหล่านั้นที่ตอบรับศาสนาแท้ในศตวรรษแรก. ที่น่าสังเกตพอ ๆ กันคือ ความแตกต่างระหว่างพยานพระยะโฮวากับคริสต์ศาสนจักรในทุกวันนี้. หลังจากที่เขียนถึงความมีใจแรงกล้าในการเผยแพร่กิตติคุณของคริสเตียนยุคแรก ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งโอดครวญว่า “หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในนโยบายของคริสตจักรเพื่อให้งานเผยแพร่กิตติคุณกลับมาเป็นสิ่งซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของคริสเตียนที่รับบัพติสมาแล้วทุกคนอีกครั้งหนึ่ง และเสริมหลักฐานเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ดีกว่าอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับผู้ไม่มีความเชื่อ คงไม่มีทางที่เราจะก้าวหน้าได้มากนัก.” ลักษณะสำคัญที่คริสต์ศาสนจักรขาดไปมีอยู่ในท่ามกลางพยานพระยะโฮวาอย่างอุดม! ความเชื่อของพวกเขาเป็นความเชื่อที่มีชีวิตอยู่ เป็นความเชื่อแท้ และเป็นความเชื่อที่อาศัยความจริงในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งพวกเขารู้สึกถูกกระตุ้นให้แบ่งปันแก่ทุกคนที่พร้อมจะฟัง.—14. พระเยซูทรงมองงานรับใช้ของพระองค์อย่างไร และเหล่าสาวกของพระองค์แสดงเจตคติเช่นไรในปัจจุบัน?
14 พระเยซูทรงจริงจังกับงานรับใช้ของพระองค์มาก และจัดให้งานรับใช้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่เป็นอันดับแรก. พระองค์ตรัสกับปีลาตว่า “เพราะเหตุนี้เราจึงบังเกิดมาและเข้ามาในโลก เพื่อเราจะเป็นพยานถึงความจริง.” (โยฮัน 18:37) ไพร่พลของพระเจ้ารู้สึกเช่นเดียวกับพระเยซู. โดยที่มีความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลอยู่ในหัวใจ พวกเขาบากบั่นพยายามหาวิธีต่าง ๆ เพื่อจะแบ่งปันความจริงแก่คนอื่น ๆ มากเท่าที่จะมากได้. บางวิธีแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ที่น่าทึ่ง.
15. บางคนได้แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์อย่างไรในการประกาศข่าวดี?
15 ในประเทศหนึ่งที่ทวีปอเมริกาใต้ พยานฯ เดินทางล่องไปตามลำน้ำแควหนึ่งของแม่น้ำแอมะซอนเพื่อนำความจริงไปสู่ประชาชน. อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในปี 1995 การคมนาคมทางน้ำสำหรับพลเรือนถูกสั่งห้าม. ด้วยความตั้งใจแน่วแน่จะส่งสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลให้แก่ผู้สนใจ พยานฯ ตัดสินใจที่จะลอยข่าวสารนี้ไปตามแม่น้ำ. พวกเขาเขียนจดหมายใส่ในขวดพลาสติกเปล่าพร้อมกับวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! จากนั้น พวกเขาก็โยนขวดลงแม่น้ำ. เป็นอย่างนี้อยู่สี่ปีครึ่งจนกระทั่งมีการเปิดให้ชาวบ้านทั่วไปใช้แม่น้ำได้อีกครั้ง. ตลอดแม่น้ำสายนี้ ผู้คนรู้สึกขอบคุณพยานฯ สำหรับวารสารที่ได้รับ. สตรีคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกอดพวกเขาด้วยน้ำตาคลอเบ้าและกล่าวว่า “ตอนนั้น ดิฉันคิดว่าจะไม่ได้เห็นพวกคุณอีกเสียแล้ว. แต่เมื่อดิฉันเริ่มได้รับวารสารที่ใส่มาในขวด ดิฉันรู้เลยว่าพวกคุณไม่ได้ลืมดิฉัน!” คนอื่น ๆ ที่อยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำนี้กล่าวว่าพวกเขาอ่านวารสารซ้ำแล้วซ้ำอีก. หลายชุมชนมี “ที่ทำการไปรษณีย์”—จุดที่เป็นน้ำวนซึ่งวัตถุต่าง ๆ จะลอยมารวมกันอยู่ในบริเวณนั้นชั่วคราว. ตามจุดแบบนี้แหละที่ผู้สนใจจะคอยมาตรวจอยู่บ่อย ๆ เพื่อดูว่ามี “จดหมาย” มาจากต้นน้ำหรือไม่.
16. ในบางครั้ง การทำตัวให้พร้อมเสมอเปิดทางสู่การช่วยคนให้เป็นสาวกอย่างไร?
16 การประกาศข่าวดีได้รับการชี้นำและการหนุนหลังจากพระยะโฮวาพระเจ้าและทูตสวรรค์ผู้มีฤทธิ์ของพระองค์. (วิวรณ์ 14:6) โดยทำตัวให้พร้อมเสมอ บางครั้งเกิดมีโอกาสที่ไม่คาดคิดในการช่วยให้คนเป็นสาวก. ที่ไนโรบี ประเทศเคนยา สตรีคริสเตียนสองคนเพิ่งเสร็จจากการประกาศตามบ้านในเขตประกาศที่มอบหมายแก่เธอทั้งสอง. ทันใดนั้นเอง มีหญิงสาวคนหนึ่งเข้ามาหาและกล่าว อย่างตื่นเต้นว่า “ดิฉันกำลังอธิษฐานอยู่พอดีขอให้พบบางคนอย่างพวกคุณ.” เธอขอร้องให้พยานฯ ทั้งสองไปที่บ้านเพื่อคุยกันเดี๋ยวนั้นเลย และได้มีการเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเธอในวันนั้นเอง. ทำไมผู้หญิงคนนี้จึงรีบเข้ามาหาคริสเตียนทั้งสองอย่างนั้น? ประมาณสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ลูกน้อยของเธอเสียชีวิต. ดังนั้น เมื่อเธอเห็นแผ่นพับ “มีความหวังอะไรสำหรับคนรักที่ล่วงลับไป?” ในมือเด็กคนหนึ่ง เธอจึงอยากอ่านมากและขอแผ่นพับจากเด็กคนนั้น. เด็กคนนั้นไม่ยอมให้ แต่ก็ชี้ไปที่พยานฯ ซึ่งได้ให้แผ่นพับนั้นแก่เขา. ไม่นาน ผู้หญิงคนนี้ก็ทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเป็นอย่างดีและสามารถรับมือได้ดีขึ้นกับความเจ็บปวดเนื่องจากการสูญเสียบุตร.
ความรักของพระเจ้าต้องมีชัย
17-19. พระยะโฮวาทรงแสดงความรักเช่นไรต่อมนุษยชาติโดยทางค่าไถ่?
17 การเติบโตของพระคำของพระเจ้าในแผ่นดินโลกทั้งสิ้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เยซู. เช่นเดียวกับค่าไถ่ งานประกาศเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแสดงถึงความรักของพระยะโฮวาที่มีต่อผู้คนในทุกหนแห่ง. อัครสาวกโยฮันได้รับการดลใจให้เขียนว่า “พระเจ้าทรงรักโลก [แห่งมนุษยชาติ], จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์, เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ, แต่มีชีวิตนิรันดร์.”—โยฮัน 3:16.
18 ขอให้พิจารณาเกี่ยวกับความรักที่พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นในการจัดให้มีค่าไถ่. นานชั่วกัปชั่วกัลป์ พระเจ้าทรงมีสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวซึ่งทรงรักและทะนุถนอม “ผู้เป็นเบื้องต้นแห่งการทรงสร้างโดยพระเจ้า.” (วิวรณ์ 3:14, ล.ม.) พระเยซูทรงรักพระบิดาอย่างลึกซึ้ง และพระยะโฮวาทรงรักพระบุตร “ก่อนสร้างโลก.” (โยฮัน 14:31; 17:24) พระยะโฮวาทรงยอมให้พระบุตรที่รักองค์นี้สิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์จะสามารถได้รับชีวิตนิรันดร์. ช่างเป็นการแสดงออกซึ่งความรักต่อมนุษยชาติอย่างน่าเคารพยำเกรงสักเพียงไร!
19 โยฮัน 3:17 แจ้งว่า “พระเจ้ามิได้ทรงใช้พระบุตรของพระองค์เข้ามาในโลกเพื่อจะพิพากษาโลก, แต่เพื่อจะให้โลกรอดได้เพราะพระบุตรนั้น.” ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงส่งพระบุตรให้เสด็จมาในงานมอบหมายอันเปี่ยมด้วยความรักเพื่อช่วยให้รอด ไม่ใช่เพื่อพิพากษาหรือกล่าวโทษ. ทั้งนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของเปโตรที่ว่า “[พระยะโฮวา] ไม่ทรงประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดพินาศเลย, แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.”—2 เปโตร 3:9.
20. ความรอดเกี่ยวข้องในทางใดกับการประกาศข่าวดี?
20 เนื่องจากพระองค์ทรงจัดให้มีพื้นฐานตามกฎหมายสำหรับความรอดโดยที่พระองค์ต้องเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้มีคนมากที่สุดได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมนี้. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ ‘ทุกคนที่จะร้องออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็จะรอด.’ แต่คนที่ยังไม่ได้เชื่อในพระองค์, เขาจะร้องขอพระองค์อย่างไรได้? และคนที่ยังไม่ได้ยินถึงพระองค์, เขาจะเชื่อในพระองค์อย่างไรได้? และเมื่อไม่มีใครประกาศให้เขาฟัง, เขาจะได้ยินถึงพระองค์อย่างไรได้?”—โรม 10:13, 14.
21. เราควรรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโอกาสในการมีส่วนร่วมในงานประกาศ?
21 ช่างเป็นสิทธิพิเศษอันมหัศจรรย์จริง ๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการประกาศและการสอนไปทั่วโลกเช่นนี้! งานนี้ไม่ง่าย แต่พระยะโฮวาทรงชื่นชมยินดีสักเพียงไรเมื่อพระองค์ทรงสังเกตเห็นไพร่พลของพระองค์กำลังดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ในความจริงและแบ่งปันข่าวดีแก่ผู้อื่น! ดังนั้น ไม่ว่าสภาพการณ์ของคุณเป็นอย่างไร ขอให้พระวิญญาณของพระเจ้าและความรักในหัวใจคุณกระตุ้นคุณให้เข้าร่วมในงานนี้. และพึงจำไว้ว่าสิ่งที่เราเห็นว่ากำลังสำเร็จไปทั่วโลกให้หลักฐานที่ทำให้เชื่อมั่นว่า ในไม่ช้าพระยะโฮวาพระเจ้าจะทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริงใน “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” อันรุ่งโรจน์ ซึ่ง “ความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.”—2 เปโตร 3:13, ล.ม.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดการออกหากไม่อาจทำให้ผู้ประกาศข่าวดีเงียบเสียงได้?
• พระคำของพระเจ้ามีชัยในสมัยของเราอย่างไร?
• พระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจในทุกวันนี้อย่างไรบ้าง?
• ค่าไถ่เกี่ยวข้องกับการประกาศข่าวดีอย่างไร?
[คำถาม]
[แผนภูมิ/รูปภาพหน้า 16]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
การเติบโตด้านจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 20
เฉลี่ยผู้ประกาศ (ล้านคน)
6.0
5.5
5.0
4.5
4.0
3.5
3.0
2.5
2.0
1.5
1.0
0.5
1900 1910 1920 1930 1940 1950 1960 1970 1980 1990 2000
[ภาพหน้า 15]
เจโรม
ทินเดล
กูเทนเบิร์ก
ฮูส
[ที่มาของภาพ]
Gutenberg and Hus: From the book The Story of Liberty, 1878
[ภาพหน้า 15]
กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประกาศข่าวดีในทศวรรษ 1920
[ภาพหน้า 16, 17]
ทั่วโลก ผู้คนกำลังตอบรับข่าวดี
[ภาพหน้า 18]
เช่นเดียวกับเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ งานประกาศเป็นการสรรเสริญความรักของพระเจ้า