คุณประสบผลสำเร็จได้ไม่ว่าคุณถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร
คุณประสบผลสำเร็จได้ไม่ว่าคุณถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร
นิโคลัสส่อนิสัยดื้อรั้นตั้งแต่เป็นเด็กอายุน้อย. * ต่อมา ความขัดแย้งภายในตัวทำให้เขาหันไปใช้สารเสพย์ติดและดื่มอย่างหัวราน้ำ. นิโคลัสชี้แจงว่า “พ่อผมเป็นคนติดเหล้า และพ่อทำให้ผมกับน้องสาวลำบากมาก.”
มองจากฐานะภายนอก พ่อแม่ของมาลินดาเป็นสมาชิกโบสถ์ที่ผู้คนในชุมชนให้ความนับหน้าถือตา. ทว่าคนทั้งสองยังเกี่ยวข้องกับอีกลัทธิหนึ่งด้วย. ตอนนี้มาลินดาในวัย 30 เศษครวญว่า “กิจปฏิบัติบางอย่างในลัทธินั้นทำร้ายจิตใจดิฉันและทำลายความมีชีวิตชีวาในวัยเด็กของดิฉัน.” เธอพูดเพิ่มเติมว่า “ความรู้สึกสิ้นหวังและความคิดที่ว่าตัวเองไร้ค่ายังคงตราตรึงอยู่ในใจดิฉันมานานตั้งแต่จำความได้.”
ใครจะปฏิเสธได้ที่ว่าชีวิตของหลายคนในวัยเด็กนั้นเคยถูกทำให้เสียหายด้วยความรุนแรง, ถูกด่าว่า, ไม่ได้รับการเหลียวแลจากพ่อแม่, และสาเหตุอื่น ๆ ในทางลบ? การขาดความสุขในวัยเด็กอาจเป็นแผลลึก. ทว่าความเจ็บช้ำดังกล่าวจำต้องหมายความว่าคนเราจะหมดโอกาสตลอดไปไหมที่จะรับเอาความจริงแห่งพระคำของพระเจ้าและประสบความสุขในระดับหนึ่ง? ไม่ว่าพวกเขารับการเลี้ยงดูมาอย่างไร นิโคลัสและมาลินดาจะสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้ตลอดไปไหม? ก่อนอื่น ขอพิจารณาตัวอย่างกษัตริย์โยซียาแห่งยูดา.
ตัวอย่างในพระคัมภีร์
โยซียาปกครองแผ่นดินยูดาเป็นเวลา 31 ปี ในช่วงศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช. (659-629 ก.ส.ศ.) ตอนที่โยซียาขึ้นครองราชย์ภายหลังราชบิดาของท่านถูกลอบปลงพระชนม์ สถานการณ์ในแผ่นดินยูดาเลวร้ายยิ่งนัก. ผู้คนทั่วทั้งแผ่นดินยูดาและยะรูซาเลมนมัสการพระบาละ และกล่าวสาบานโดยออกนามพระมัลคัม พระสำคัญของชาวอัมโมน. ซะฟันยาผู้พยากรณ์ของพระเจ้าสมัยนั้นพูดถึงบรรดาเจ้านายในยูดาเป็นดุจ “สิงโตเสียงดัง” และผู้พิพากษาทั้งหลายเหมือน “หมาในที่เที่ยวเวลาเย็น.” ดังนั้น จึงเกิดความรุนแรงและการหลอกลวงเต็มบ้านเต็มเมือง. หลายคนกล่าวในใจของเขาว่า “พระยะโฮวาจะทำดีหรือจะกระทำชั่วก็หามิได้.”—ซะฟันยา 1:3–2:3; 3:1-5.
โยซียานั้นเล่าเป็นผู้ครอบครองประเภทไหน? เอษราผู้บันทึกเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเขียนอย่างนี้: “[โยซียา] ได้กระทำการชอบต่อพระเนตรพระยะโฮวา, ดำเนินตามแบบอย่างของดาวิดราชบิดาใหญ่ของท่าน, ไม่เลี้ยวไปข้างซ้ายหรือข้างขวา.” (2 โครนิกา 34:1, 2) ปรากฏชัดว่าโยซียาประสบผลสำเร็จเมื่อได้ทำสิ่งที่ถูกต้องในคลองพระเนตรพระเจ้า. แต่ภูมิหลังของครอบครัวท่านเป็นอย่างไร?
ครั้งเยาว์วัยได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีหรือถูกประทุษร้าย?
เมื่อโยซียาเกิดปี 667 ก.ส.ศ. อาโมนราชบิดาของท่านอายุแค่ 16 ปี และตอนนั้นมะนาเซพระอัยกาของท่านปกครองแผ่นดินยูดา. มะนาเซเป็นหนึ่งในบรรดากษัตริย์ของยูดาซึ่งได้ประพฤติชั่วอย่างที่สุด. ด้วยการตั้งแท่นบูชาพระบาละ “[ท่าน] ได้กระทำการชั่วมากต่อพระเนตรพระยะโฮวา.” ท่านให้ราชบุตรบางคนลุยไฟ, ทำเวทมนตร์, ทำการเสี่ยงทาย, ส่งเสริมกิจปฏิบัติของภูตผีปิศาจ, ทั้งทำให้โลหิตคนไม่มีความผิดไหลนอง. นอกจากนั้น มะนาเซได้นำเอาเสาศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านได้แกะสลักเป็นรูปเคารพไปตั้งไว้ในโบสถ์วิหารของพระยะโฮวา. ท่านเป็นเหตุให้ชาวยูดาและชาวกรุงยะรูซาเลม “หลงไปประพฤติการชั่วยิ่งกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่พระยะโฮวาทรงล้างผลาญเสียแล้วต่อหน้าพงศ์พันธุ์ยิศราเอล.”—2 โครนิกา 33:1-9.
มะนาเซประพฤติชั่วมากจนในที่สุดพระยะโฮวาทรงปล่อยให้ทหารจับท่านตีตรวนพาไปถึงบาบูโลน หนึ่งในจำนวนราชธานีของกษัตริย์ชาวอัสซีเรีย. ในช่วงเวลาที่เป็น2 โครนิกา 33:10-17.
เชลย มะนาเซได้สำนึกผิด, แสดงความถ่อมใจ, และทูลขอพระยะโฮวาให้อภัย. พระเจ้าสดับคำอ้อนวอนของท่านและพอพระทัยให้ท่านคืนสู่ฐานะกษัตริย์ในกรุงยะรูซาเลม. แล้วมะนาเซได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปบ้านเมืองและประสบความสำเร็จพอสมควร.—ความชั่วของมะนาเซและการได้สำนึกผิดและกลับใจในภายหลังมีผลอย่างไรต่ออาโมนราชบุตรของท่าน? ปรากฏว่าเขาชั่วร้ายมาก. ครั้นมะนาเซกลับใจแล้วและตั้งพระทัยมุ่งชำระชาติให้หมดมลทินซึ่งท่านเองได้ก่อการชั่วขึ้นในแผ่นดิน อาโมนกลับไม่ตอบสนอง. เมื่อขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 22 พรรษา อาโมน “ได้กระทำการชั่วต่อพระเนตรพระยะโฮวา, เหมือนมะนาเซราชบิดาได้ประพฤตินั้น.” แทนที่จะอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระยะโฮวา “อาโมนได้ประพฤติการชั่วยิ่งมากทวีขึ้น.” (2 โครนิกา 33:21-23) โยซียามีพระชนม์เพียง 6 พรรษาเมื่ออาโมนเป็นกษัตริย์ของยูดา. สภาพการณ์ที่โยซียาต้องได้ประสบในวัยเด็กนั้นช่างเลวร้ายอะไรเช่นนั้น!
การปกครองอันชั่วร้ายของอาโมนถึงจุดจบภายหลังครองราชย์เพียงสองปีเท่านั้น โดยที่ข้าราชการรวมหัวกันก่อกบฏและสังหารท่าน. แต่แล้วราษฎรในแผ่นดินก็ได้ฆ่าคนทั้งปวงที่คิดกบฏต่ออาโมนแล้วเชิญโยซียาราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์.—2 โครนิกา 33:24, 25.
ถึงแม้สถานการณ์แวดล้อมในวัยเด็กช่วงต้น ๆ มีเรื่องที่ยังความปวดร้าวใจแก่ท่าน กระนั้น โยซียาก็ยังคงมุ่งทำการดีในสายพระเนตรพระยะโฮวา. รัชกาลของท่านประสบผลสำเร็จถึงขนาดที่คัมภีร์ไบเบิลแจ้งว่า “ก่อนนั้นไม่มีกษัตริย์เหมือนอย่างท่าน, ที่ได้กลับหาพระยะโฮวาด้วยสุดใจสุดจิตต์, และด้วยสุดกำลัง, ตามข้อต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในพระธรรมของโมเซ; หรือภายหลังท่านก็มิได้มีกษัตริย์เหมือนอย่างท่านเลย.”—2 กษัตริย์ 23:19-25.
ถือได้ว่าโยซียาเป็นตัวอย่างที่ให้กำลังใจแก่คนเหล่านั้นซึ่งชีวิตวัยเด็กของเขาอาจต้องทนรับความร้ายกาจน่ากลัว! เราเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างของท่าน? อะไรทำให้โยซียาเลือกแนวทางอันถูกต้องและดำเนินอยู่ในทางนั้นต่อ ๆ ไป?
มุ่งหมายจะรู้จักพระยะโฮวา
แรงจูงใจในทางดีซึ่งส่งผลกระทบชีวิตโยซียาในช่วงต้นนั้นก็คือการที่มะนาเซพระอัยกาของท่านได้สำนึกผิดและกลับใจ. คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้แจ้งว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ต่อกันมากน้อยเพียงใด หรือโยซียามีอายุเท่าไรตอนที่มะนาเซได้ปรับปรุงแก้ไขแนวทางของตนเอง. เนื่องจากในครอบครัวยิวมักมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทกัน มะนาเซอาจพยายามปกป้องราชนัดดาของตนให้พ้นอิทธิพลรอบ ๆ ตัวที่เสื่อมเสียด้วยการปลูกฝังความเคารพยำเกรงพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้ และพระคำของพระองค์ไว้ในหัวใจราชนัดดา. เมล็ดแห่งความจริงใด ๆ ที่มะนาเซสามารถหว่านลงในหัวใจโยซียา บางทีอาจประกอบด้วยแรงจูงใจอื่น ๆ ที่ดี ก็เกิดผลในที่สุด. ครั้นโยซียาวัย 15 พรรษาในปีที่แปดแห่งรัชกาล จึงทรงตั้งพระทัยแสวงหาและกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา.—2 โครนิกา 34:1-3.
เด็กเยาว์วัยบางคนเคยได้สัมผัสกับเรื่องราวฝ่ายวิญญาณทางเดียวคือโดยทางญาติห่าง ๆ, คนที่รู้จัก, หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง. กระนั้น หากเมล็ดความจริงได้รับการเพาะเลี้ยงเช่นนั้น ทีหลังอาจออกผลที่ดีก็ได้. มาลินดา ที่เอ่ยถึงในตอนต้นได้รับวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! โดยมีเพื่อนบ้านผู้สูงอายุได้นำส่งที่บ้านเป็นประจำ. เมื่อนึกถึงผู้สูงอายุคนนั้นด้วยความนิยมชมชอบ เธอพูดว่า “สิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจเพื่อนบ้านคนนี้มากที่สุดคือเขาไม่ฉลองเทศกาลต่าง ๆ. เรื่องนี้สำคัญสำหรับฉัน เพราะวันฮัลโลวีนและวันเทศกาลอื่น ๆ ล้วนเป็นโอกาสสำหรับการประกอบพิธีกรรมในลัทธิที่พ่อแม่ของฉันเข้าร่วม.” สิบปีต่อมา เพื่อนได้ชวนมาลินดาไปร่วมการประชุมคริสเตียน ณ หอประชุมพยานพระยะโฮวา เธอนึกถึงเพื่อนบ้านคนนี้จึงตอบรับคำเชิญทันที. นั่นทำให้เธอได้พบความจริง.
จงนอบน้อมถ่อมตนต่อพระเจ้า
ในรัชกาลของโยซียา การปฏิรูปปรับปรุงศาสนาอย่างใหญ่โตเป็นเหตุการณ์เด่นในแผ่นดินยูดา. หลังจากใช้เวลาหกปีรณรงค์กวาดล้างการบูชารูปเคารพและการชำระแผ่นดินให้สะอาด โยซียาจึงเริ่มงานซ่อมบำรุงราชนิเวศของพระยะโฮวา. ขณะงานนั้นดำเนินอยู่ มหาปุโรหิตฮิศคียา [ฮิลคียา] ได้พบสิ่งอันมีค่ามากสุดประมาณ! ท่านพบ “หนังสือพระบัญญัติของพระยะโฮวา” ฉบับดั้งเดิม. ด้วยความตื่นตะลึงและน่ายินดี ฮิลคียาจึงมอบหนังสือนั้นไว้กับซาฟานผู้เป็นอาลักษณ์ให้รายงานกษัตริย์เกี่ยวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้น. ความสำเร็จต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นเหตุให้โยซียาวัย 25 พรรษาหยิ่งทะนงไหม?—2 โครนิกา 34:3-18.
เอษราบันทึกดังนี้: “เมื่อได้ทรงฟังข้อความในหนังสือพระบัญญัตินั้นแล้ว, ท่านก็ได้ฉีกฉลองพระองค์.” การทำเช่นนี้แสดงความเศร้าเสียใจอย่างจริงใจ เนื่องจากท่านตระหนักว่าบรรพบุรุษทั้งหลายหาได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าทุกข้อทุกประการไม่. นั่นคือสัญลักษณ์แสดงความถ่อมใจอย่างแท้จริง! โดยไม่ชักช้า กษัตริย์ทรงมอบหมายตัวแทนห้าคนให้ทูลถามพระยะโฮวาผ่านผู้พยากรณ์หญิงชื่อฮุลดา. ตัวแทนเหล่านั้นกลับมาทูลรายงานใจความว่า ‘ภยันตรายจะเกิดขึ้นเพราะการไม่เชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวา. แต่เนื่องจากกษัตริย์โยซียาแสดงความถ่อมใจ ท่านจะถูกรวมไว้กับที่ฝังศพของเชื้อวงศ์อย่างเป็นสุขสำราญและจะไม่ได้พบเห็นโพยภัยใด ๆ.’ (2 โครนิกา 34:19-28) พระยะโฮวาทรงชอบพระทัยกับทัศนคติของโยซียา.
แม้ภูมิหลังของเราเป็นอย่างไร เราก็เช่นกันสามารถถ่อมใจลงต่อพระยะโฮวาพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ได้ และแสดงเจตคติให้ปรากฏว่าเรานับถือพระองค์และพระคำของพระองค์ซึ่งได้แก่คัมภีร์ไบเบิล. นิโคลัส ที่เอ่ยถึงในตอนต้นก็ทำเช่นนั้น. เขาพูดว่า “แม้ชีวิตของผมยุ่งยากลำบากและมีปัญหาเนื่องจากการใช้ยาเสพย์ติดและการเมาเหล้า แต่ผมสนใจคัมภีร์ไบเบิลและอยากมีจุดมุ่งหมายในชีวิต. ในที่สุด ผมได้ติดต่อคบหากับพยานพระยะโฮวา ผมเปลี่ยนแนวทางชีวิตและรับเอาความจริง.” ใช่แล้ว เราสามารถแสดงเจตคติที่นับถือพระเจ้าและพระคำของพระองค์ได้ไม่ว่าสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไรก็ตาม.
รับประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระยะโฮวา
อนึ่ง โยซียานับถือเหล่าผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาอย่างลึกซึ้ง. ท่านไต่ถามไม่เฉพาะผู้พยากรณ์หญิงฮุลดา ทว่าได้รับแรงจูงใจมากมายจากผู้พยากรณ์อื่น ๆ ในสมัยของท่านด้วย. ตัวอย่างเช่น ผู้พยากรณ์ยิระมะยาและซะฟันยาซึ่งทั้งสองคนต่างก็วุ่นอยู่กับงานประกาศตำหนิกล่าวโทษการบูชารูปเคารพในแผ่นดินยูดา. การตั้งใจฟังข่าวสารจากผู้พยากรณ์เหล่านั้นได้เสริมกำลังโยซียามากเพียงใดในยิระมะยา 1:1, 2; 3:6-10; ซะฟันยา 1:1-6.
ขณะที่ท่านรณรงค์ต่อต้านการนมัสการเท็จ!—พระเยซูคริสต์ ผู้เป็น “นาย” ทรงแต่งตั้งกลุ่มผู้ติดตามที่ได้รับการเจิมคือ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ให้แจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาที่สมควร. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) โดยทางสรรพหนังสือที่ยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักและการจัดเตรียมของประชาคม ชนจำพวกทาสได้โน้มน้าวให้ใส่ใจต่อผลประโยชน์อันพึงได้จากการเชื่อฟังคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้กับชีวิตประจำวันของเรา. สมควรเพียงใดที่เราจะนำวิธีการของพระยะโฮวามาใช้เพื่อเอาชนะเจตคติใด ๆ ที่ไม่ดีซึ่งฝังแน่นในจิตใจของเรา! นิโคลัสเกลียดอำนาจปกครองตั้งแต่เด็ก. ถึงแม้ได้มาเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าแล้วก็ตาม จุดอ่อนของเขาทำให้เขารีรอที่จะรับใช้พระยะโฮวาอย่างเต็มที่. ที่เขาจะเปลี่ยนทัศนคติแนวนี้ไม่ง่าย. แต่ผลที่สุด เขาทำได้สำเร็จ. อย่างไร? นิโคลัสชี้แจงว่า “ด้วยการช่วยเหลือของผู้ปกครองสองคนที่มีความรู้สึกร่วม ผมยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาซึ่งจัดการได้ยาก และจึงลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยความรักซึ่งยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก.” เขาพูดเพิ่มเติม: “ถึงแม้ผมรู้สึกขุ่นเคืองเป็นครั้งคราว แต่ตอนนี้ผมควบคุมนิสัยดื้อรั้นได้แล้ว.”
มาลินดาก็เช่นเดียวกัน เธอตั้งใจรับคำแนะนำจากผู้ปกครองเมื่อจะต้องตัดสินใจประเด็นที่สำคัญในชีวิต. ในการรับมือกับความรู้สึกสิ้นหวังและความไร้ค่าซึ่งติดตัวมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก สิ่งล้ำค่าเป็นพิเศษที่เธอพบคือบทความต่าง ๆ ในหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! เธอพูดว่า “บางครั้งในบทความมีแค่วรรคเดียวหรือประโยคเดียว—แค่ไม่กี่คำ—ซึ่งมีผลกระทบต่อจิตใจฉัน. ประมาณเก้าปีมาแล้ว ฉันเริ่มสะสมบทความต่าง ๆ โดยตัดเก็บไว้ในสมุดบันทึก ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการนำขึ้นมาอ่านอีก.” เวลานี้ สมุดบันทึกสามเล่มของเธอบรรจุบทความประมาณ 400 เรื่อง!
คนเราใช่ว่าจะต้องรับเอาผลกระทบอันเลวร้ายเสมอไปเพราะเหตุสืบเนื่องจากชีวิตครอบครัวที่ไม่ดี. ด้วยการช่วยเหลือของพระยะโฮวาเขาสามารถบรรลุความสำเร็จฝ่ายวิญญาณได้. การถูกอบรมเลี้ยงดูอย่างดีไม่ใช่หลักประกันความซื่อสัตย์มั่นคงของคนเราฉันใด วัยเด็กซึ่งประสบแต่ความเลวร้ายก็ไม่ใช่สิ่งปิดกั้นคนเราที่จะกลายเป็นคนเกรงกลัวพระเจ้าฉันนั้น.
หลังจากได้พบหนังสือพระบัญญัติในระหว่างการซ่อมแซมพระวิหาร โยซียา ‘ได้ทำคำสัตย์สาบานต่อพระพักตร์พระยะโฮวาว่าจะแสวงหาพระยะโฮวาและจะเชื่อฟังพระองค์ด้วยสิ้นสุดหัวใจและสุดจิตวิญญาณของตน.’ (2 โครนิกา 34:31) และท่านไม่ลังเลใจเมื่อต้องกระทำตามการตกลงใจเช่นนี้กระทั่งสิ้นชีวิต. มาลินดาและนิโคลัสได้ตัดสินใจแน่วแน่เช่นกันจะรักษาความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวาพระเจ้าและที่จะประสบผลสำเร็จในฐานะไพร่พลที่มีความซื่อสัตย์มั่นคง. เช่นเดียวกัน ขอคุณตั้งใจแน่วแน่จะติดสนิทกับพระเจ้าและรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์. คุณย่อมมั่นใจได้ว่าจะประสบผลสำเร็จ เพราะพระยะโฮวาทรงสัญญาดังนี้: “อย่ากลัวเลย, ด้วยว่าเราอยู่กับเจ้า, อย่าท้อใจ, เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า, เราจะหนุนกำลังเจ้า, เออ, เราจะช่วยเจ้า, เออ, เราจะยกชูเจ้าไว้ด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา.”—ยะซายา 41:10, 13.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 เราได้เปลี่ยนชื่อบางคน.
[ภาพหน้า 26]
ถึงแม้โยซียาประสบสภาพการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็ก กระนั้น ท่านแสวงหาพระยะโฮวาและประสบผลสำเร็จในชีวิต
[ภาพหน้า 28]
พวกผู้ปกครองสามารถช่วยคุณให้เอาชนะนิสัยที่ฝังรากลึก
[ภาพหน้า 28]
วารสาร “หอสังเกตการณ์” และ “ตื่นเถิด!” สามารถช่วยคุณรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้