ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

นักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณ—สนับสนุนความจริงของคัมภีร์ไบเบิลไหม?

นักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณ—สนับสนุนความจริงของคัมภีร์ไบเบิลไหม?

นัก​เขียน​แห่ง​คริสตจักร​โบราณ—สนับสนุน​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?

ไม่​ว่า​คุณ​เป็น​คริสเตียน​หรือ​ไม่ มโนคติ​ของ​คุณ​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​แห่ง​คัมภีร์​ไบเบิล, พระ​เยซู, และ​ศาสนา​คริสเตียน​อาจ​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​พวก​เขา. หนึ่ง​ใน​คน​เหล่า​นี้​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น​ลิ้น​ทอง​และ​อีก​คน​หนึ่ง​เป็น​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่. มี​การ​พรรณนา​ถึง​พวก​เขา​ทั้ง​กลุ่ม​ว่า​เป็น “แบบ​ฉบับ​อัน​ประเสริฐ​สุด​แห่ง​ชีวิต​ของ​พระ​คริสต์.” คน​เหล่า​นี้​เป็น​ใคร? พวก​เขา​เป็น​นัก​คิด​ทาง​ศาสนา, นัก​เขียน, นัก​เทววิทยา, และ​นัก​ปรัชญา​ใน​สมัย​โบราณ​ซึ่ง​มี​อิทธิพล​มาก​ที​เดียว​ต่อ​ทัศนะ​ของ “คริสเตียน” ใน​ปัจจุบัน—นัก​เขียน​แห่ง​คริสตจักร​โบราณ.

“คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ใช่​ทั้ง​หมด​ที่​เป็น​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า” เดมีตรีโอส เจ. คอนสตันเตลอส ศาสตราจารย์​ศาสนศาสตร์​แห่ง​นิกาย​กรีก​ออร์โทด็อกซ์​อ้าง​อย่าง​นั้น. เขา​กล่าว​ด้วย​ว่า “พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ซึ่ง​เปิด​เผย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ไม่​อาจ​ถูก​จำกัด​ไว้​เฉพาะ​บน​หน้า​หนังสือ.” แหล่ง​ใด​อีก​ซึ่ง​อาจ​เป็น​ที่​มา​อัน​น่า​เชื่อถือ​ของ​การ​เปิด​เผย​จาก​พระเจ้า? คอนสตันเตลอส​ประกาศ​ไว้​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ที่​ชื่อ​เข้าใจ​คริสตจักร​กรีก​ออร์โทด็อกซ์ (ภาษา​อังกฤษ) ดัง​นี้: “ธรรมเนียม​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​และ​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ถือ​ว่า​เป็น​สอง​ด้าน​ของ​เหรียญ​เดียว​กัน.”

รากฐาน​ของ “ธรรมเนียม​อัน​ศักดิ์สิทธิ์” นั้น​รวม​ถึง​คำ​สอน​และ​ข้อ​เขียน​ของ​เหล่า​นัก​เขียน​คริสตจักร. พวก​เขา​เป็น​นัก​เทววิทยา​และ​นัก​ปรัชญา “คริสเตียน” ที่​โดด​เด่น​ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่​สอง​ถึง​ศตวรรษ​ที่​ห้า​แห่ง​สากล​ศักราช. พวก​เขา​มี​อิทธิพล​ต่อ​แนว​คิด “คริสเตียน” ใน​สมัย​ปัจจุบัน​มาก​เพียง​ไร? คำ​สอน​ของ​พวก​เขา​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม? อะไร​ควร​เป็น​รากฐาน​อัน​หนักแน่น​ของ​ความ​จริง​ตาม​หลักการ​คริสเตียน​สำหรับ​สาวก​ของ​พระ​เยซู​คริสต์?

ภูมิหลัง​ทาง​ประวัติศาสตร์

ใน​ช่วง​กลาง​ศตวรรษ​ที่​สอง​แห่ง​สากล​ศักราช ผู้​ที่​อ้าง​ตัว​เป็น​คริสเตียน​ปก​ป้อง​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​จาก​ผู้​กดขี่​ชาว​โรมัน​และ​จาก​พวก​ออก​หาก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นี่​เป็น​ยุค​ที่​มี​ข้อ​คิด​เห็น​ทาง​เทววิทยา​มาก​มาย​อย่าง​ยิ่ง. การ​ถก​กัน​ใน​วงการ​ศาสนา​เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง “ความ​เป็น​พระเจ้า” ของ​พระ​เยซู​ตลอด​จน​ลักษณะ​และ​การ​ทำ​งาน​ของ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​ที่​หนัก​ยิ่ง​กว่า​ความ​แตก​แยก​ด้าน​ปัญญา. ความ​ขัด​แย้ง​อัน​ขมขื่น​และ​ความ​แตก​แยก​ที่​ไม่​อาจ​ประสาน​กัน​ได้​ใน​เรื่อง​หลัก​คำ​สอน “คริสเตียน” ได้​แพร่​ทะลัก​ไป​สู่​แวดวง​วัฒนธรรม​และ​การ​เมือง บาง​ครั้ง​ก่อ​ให้​เกิด​การ​จลาจล, การ​กบฏ, การ​ต่อ​สู้​กัน​ใน​หมู่​พลเมือง, หรือ​แม้​แต่​สงคราม. นัก​ประวัติศาสตร์ พอล จอห์นสัน เขียน​ดัง​นี้: “ศาสนา​คริสเตียน [ที่​ออก​หาก] เริ่ม​ต้น​ด้วย​ความ​สับสน, ความ​ขัด​แย้ง, และ​ความ​แตก​แยก ซึ่ง​ก็​เป็น​อย่าง​นี้​อยู่​เรื่อย​มา. . . . ภูมิภาค​แถบ​เมดิเตอร์เรเนียน​ภาค​กลาง​และ​ภาค​ตะวัน​ออก​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​แรก​และ​ศตวรรษ​ที่​สอง​แห่ง​คริสต์ศักราช​เนืองแน่น​ไป​ด้วย​แนว​คิด​ทาง​ศาสนา​มาก​มาย​นับ​ไม่​ถ้วน ซึ่ง​ต่าง​ก็​พยายาม​เผย​แผ่​แนว​คิด​ของ​ตน​ออก​ไป. . . . ดัง​นั้น ตั้ง​แต่​ต้น​ที​เดียว มี​ศาสนา​คริสเตียน​มาก​มาย​หลาก​หลาย​โดย​ที่​แทบ​ไม่​มี​อะไร​เหมือน​กัน​เลย.”

ใน​ยุค​นั้น นัก​เขียน​และ​นัก​คิด​ที่​เห็น​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ตี​ความหมาย​คำ​สอน “คริสเตียน” โดย​ใช้​ศัพท์​ปรัชญา​เริ่ม​รุ่งเรือง​เฟื่องฟู. เพื่อ​เอา​ใจ​คน​นอก​รีต​ที่​มี​การ​ศึกษา​ซึ่ง​เพิ่ง​เปลี่ยน​มา​ถือ “ศาสนา​คริสเตียน” นัก​เขียน​ด้าน​ศาสนา​เหล่า​นี้​พึ่ง​พิง​วรรณกรรม​กรีก​และ​ยิว​ใน​ยุค​แรก ๆ เป็น​อย่าง​มาก. เริ่ม​ต้น​ที่​จัสติน มาร์เทอร์ (ประมาณ ส.ศ. 100-165) ซึ่ง​เขียน​โดย​ใช้​ภาษา​กรีก ผู้​ที่​อ้าง​ตัว​เป็น​คริสเตียน​เริ่ม​ซับซ้อน​ยิ่ง​ขึ้น​เรื่อย ๆ ขณะ​ที่​เขา​ซึมซับ​มรดก​ด้าน​ปรัชญา​ของ​วัฒนธรรม​กรีก​มาก​ขึ้น.

แนว​โน้ม​อย่าง​นี้​เริ่ม​เบ่ง​บาน​ใน​ข้อ​เขียน​ของ​ออริเกน (ประมาณ ส.ศ. 185-254) นัก​เขียน​ชาว​กรีก​จาก​อะเล็กซานเดรีย. ว่า​ด้วย​หลัก​คำ​สอน​ขั้น​ต้น ซึ่ง​เป็น​บทความ​ของ​ออริเกน​นับ​เป็น​ก้าว​แรก​ที่​เขา​พยายาม​อย่าง​เป็น​ระบบ​เพื่อ​อธิบาย​คำ​สอน​หลัก​ของ​เทววิทยา “คริสเตียน” โดย​ใช้​ศัพท์​ปรัชญา​กรีก. สภา​แห่ง​นีเซีย (ส.ศ. 325) ซึ่ง​พยายาม​อธิบาย​และ​พิสูจน์​เรื่อง “ความ​เป็น​พระเจ้า” ของ​พระ​คริสต์ นับ​ว่า​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​ให้​แรง​ผลัก​ดัน​ใหม่​แก่​การ​ตี​ความหมาย​หลัก​คำ​สอน “คริสเตียน.” สภา​นี้​นับ​เป็น​สัญญาณ​ซึ่ง​ชี้​ถึง​การ​เริ่ม​ต้น​ของ​ยุค​ที่​สภา​ประชุม​คริสตจักร​โดย​ทั่ว​ไป​พยายาม​ให้​คำ​นิยาม​หลัก​คำ​สอน​อย่าง​รัดกุม​ยิ่ง​ขึ้น.

นัก​เขียน​และ​นัก​บรรยาย

ยูเซบิอุส​แห่ง​ซีซาเรีย ซึ่ง​เขียน​ใน​ช่วง​ที่​สภา​นีเซีย​เรียก​ประชุม​ครั้ง​แรก คบหา​อยู่​กับ​จักรพรรดิ​คอนสแตนติน. กว่า 100 ปี​เล็ก​น้อย​ภาย​หลัง​สภา​นีเซีย นัก​เทววิทยา​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เขียน​โดย​ใช้​ภาษา​กรีก​ถกเถียง​กัน​อย่าง​ยาว​นาน​และ​เผ็ด​ร้อน​เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง​หนึ่ง​ซึ่ง​กลาย​มา​เป็น​คำ​สอน​เด่น​ของ​คริสต์​ศาสนจักร คือ​ตรีเอกานุภาพ. ที่​เด่น​ใน​กลุ่ม​นัก​เทววิทยา​เหล่า​นี้​ได้​แก่​อะทานาซิอุส สังฆราช​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย​ซึ่ง​เชื่อ​มั่น​ใน​ตัว​เอง​มาก กับ​ผู้​นำ​คริสตจักร​สาม​คน​จาก​กัปปะโดเกีย แคว้น​เอเชีย​ไมเนอร์—บาซิล​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่, เกรกอรี​แห่ง​นิสซา น้อง​ชาย​ของ​เขา, และ​เกรกอรี​แห่ง​นาซิอันซุส สหาย​ของ​ทั้ง​สอง.

นัก​เขียน​และ​นัก​เทศน์​ใน​ยุค​นั้น​มี​มาตรฐาน​ด้าน​วาทศิลป์​สูง. เกรกอรี​แห่ง​นาซิอันซุส​และ​จอห์น ไครซอสตอม (หมาย​ถึง “ลิ้น​ทอง”) ซึ่ง​ใช้​ภาษา​กรีก และ​อัมโบรส​แห่ง​มิลาน​กับ​เอากุสติน​แห่ง​ฮิปโป​ซึ่ง​ใช้​ภาษา​ลาติน เป็น​สุด​ยอด​นัก​บรรยาย ปรมาจารย์​แห่ง​ศิลปะ​การ​พูด​ซึ่ง​เป็น​ศิลปะ​ที่​ได้​รับ​ความ​นิยม​และ​การ​ยกย่อง​สูง​สุด​ใน​สมัย​นั้น. นัก​เขียน​ที่​ทรง​อิทธิพล​ที่​สุด​ใน​ยุค​นั้น​ได้​แก่​เอากุสติน. บทความ​ด้าน​เทววิทยา​ของ​เขา​มี​ส่วน​อย่าง​มาก​ใน​พัฒนาการ​ของ​แนว​คิด “คริสเตียน” ใน​ปัจจุบัน. เจโรม ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​เด่น​ที่​สุด​ใน​ยุค​นั้น เป็น​ผู้​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ลาติน​วัลเกต​จาก​ภาษา​ดั้งเดิม.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คำ​ถาม​สำคัญ​คือ นัก​เขียน​คริสตจักร​เหล่า​นี้​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​แท้​จริง​หรือ​ไม่? ใน​คำ​สอน​ของ​พวก​เขา พวก​เขา​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​พระ​คัมภีร์​ซึ่ง​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ไหม? ข้อ​เขียน​ของ​พวก​เขา​เป็น​แนว​ชี้​นำ​ที่​ไว้​ใจ​ได้​ไหม​เพื่อ​รับ​เอา​ความ​รู้​ถ่องแท้​ของ​พระเจ้า?

คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​หรือ​คำ​สอน​ของ​มนุษย์?

เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ เมโทดีอุส เจ้า​คณะ​เขต​ปกครอง​ศาสนา​แห่ง​ปิซิเดีย​ของ​นิกาย​กรีก​ออร์โทด็อกซ์​เขียน​หนังสือ​ที่​ชื่อ​รากฐาน​กรีก​ใน​ศาสนา​คริสเตียน (ภาษา​อังกฤษ) เพื่อ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​วัฒนธรรม​และ​ปรัชญา​กรีก​เป็น​โครง​สร้าง​พื้น​ฐาน​ของ​แนว​คิด “คริสเตียน” ใน​ปัจจุบัน. ใน​หนังสือ​นั้น เขา​ยอม​รับ​อย่าง​ไม่​ลังเล​ว่า “นัก​เขียน​คริสตจักร​ที่​โดด​เด่น​เกือบ​ทุกคน​ถือ​ว่า​หลัก​พื้น​ฐาน​ของ​กรีก​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ยิ่ง และ​พวก​เขา​หยิบ​ยืม​หลัก​เหล่า​นั้น​มา​จาก​วรรณกรรม​โบราณ​ของ​กรีก ใช้​เป็น​เครื่อง​มือ​เพื่อ​จะ​ทำ​ความ​เข้าใจ​และ​แสดง​ความ​จริง​แห่ง​หลักการ​คริสเตียน​ให้​ถูก​ต้อง.”

เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขอ​ให้​พิจารณา​แนว​คิด​ที่​ว่า​พระ​บิดา, พระ​บุตร, และ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ประกอบ​กัน​เป็น​ตรีเอกานุภาพ. ภาย​หลัง​การ​ประชุม​ของ​สภา​นีเซีย นัก​เขียน​คริสตจักร​หลาย​คน​ได้​กลาย​มา​เป็น​ผู้​เชื่อ​ตรีเอกานุภาพ​ที่​เคร่งครัด. ข้อ​เขียน​และ​คำ​อธิบาย​ของ​พวก​เขา​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​ทำ​ให้​ตรีเอกานุภาพ​เป็น​คำ​สอน​เด่น​ของ​คริสต์​ศาสนจักร. ทว่า พบ​ว่า​มี​ตรีเอกานุภาพ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม? ไม่​เลย. ถ้า​อย่าง​นั้น​นัก​เขียน​คริสตจักร​ได้​คำ​สอน​นี้​มา​จาก​ไหน? พจนานุกรม​ความ​รู้​ด้าน​ศาสนา (ภาษา​อังกฤษ) ชี้​ว่า มี​หลาย​คน​กล่าว​ว่า​ตรีเอกานุภาพ “เป็น​ความ​เสื่อม​ที่​หยิบ​ยืม​มา​จาก​ศาสนา​นอก​รีต และ​นำ​มา​ทาบ​ต่อ​เข้า​กับ​ความ​เชื่อ​ของ​คริสเตียน.” และ​หนังสือ​ลัทธิ​นอก​รีต​ใน​ศาสนา​คริสเตียน​ของ​เรา (ภาษา​อังกฤษ) ยืน​ยัน​ว่า “แหล่ง​กำเนิด​ของ [ตรีเอกานุภาพ] มา​จาก​ศาสนา​นอก​รีต​ทั้ง​กระบิ.” *โยฮัน 3:16; 14:28.

หรือ​ขอ​ให้​พิจารณา​คำ​สอน​เรื่อง​อมตภาพ​ของ​จิตวิญญาณ ความ​เชื่อ​ที่​ว่า​บาง​ส่วน​ของ​คน​เรา​มี​ชีวิต​ต่อ​ไป​หลัง​จาก​กาย​ตาย​แล้ว. อีก​ครั้ง​หนึ่ง นัก​เขียน​คริสตจักร​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​นำ​เอา​แนว​คิด​นี้​เข้า​มา​ใน​ศาสนา​ซึ่ง​ไม่​มี​คำ​สอน​ใน​เรื่อง​จิตวิญญาณ​ที่​รอด​อยู่​ต่อ​ไป​หลัง​จาก​ตาย. คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ไว้​ชัดเจน​ว่า​จิตวิญญาณ​ตาย​ได้: “จิตวิญญาณ​ที่​ได้​ทำ​บาป, จิตวิญญาณ​นั้น​จะ​ตาย​เอง.” (ยะเอศเคล 18:4) รากฐาน​สำหรับ​ความ​เชื่อ​ของ​นัก​เขียน​คริสตจักร​ใน​เรื่อง​จิตวิญญาณ​อมตะ​คือ​อะไร? สารานุกรม​คาทอลิก​ฉบับ​ใหม่ กล่าว​ว่า “แนว​คิด​ของ​คริสเตียน​เกี่ยว​กับ​วิญญาณ​ที่​พระเจ้า​สร้าง​ที่​เข้า​ไป​ใน​ร่าง​กาย​ตอน​ปฏิสนธิ​เพื่อ​ประกอบ​เป็น​ตัว​มนุษย์​ทั้ง​หมด​เป็น​ผล​มา​จาก​พัฒนาการ​อัน​ยาว​นาน​ด้าน​ปรัชญา​คริสเตียน. เฉพาะ​ออริเกน​แห่ง​ฝ่าย​ตะวัน​ออก​และ​เซนต์เอากุสติน​แห่ง​ฝ่าย​ตะวัน​ตก​เท่า​นั้น​ที่​ยอม​รับ​หลัก​คำ​สอน​ที่​ว่า​จิตวิญญาณ​คือ​วิญญาณ รวม​ทั้ง​แนว​คิด​ทาง​ปรัชญา​ที่​เกิด​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​ลักษณะ​ของ​จิตวิญญาณ. . . . [คำ​สอน​ของ​เอากุสติน] . . . ส่วน​มาก (รวม​ทั้ง​จุด​บกพร่อง​บาง​อย่าง) ได้​มา​จาก​คติ​นิยม​เพลโต​ใหม่.” และ​วารสาร​เพรสไบทีเรียน ไลฟ์ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ความ​เป็น​อมตะ​ของ​จิตวิญญาณ​เป็น​แนว​คิด​แบบ​กรีก​ซึ่ง​เกิด​จาก​ลัทธิ​ลึกลับ​ซึ่ง​มี​มา​แต่​โบราณ​และ​ถูก​นำ​มา​พัฒนา​โดย​นัก​ปรัชญา​เพลโต.” *

รากฐาน​อัน​หนักแน่น​ของ​ความ​จริง​ตาม​หลักการ​คริสเตียน

หลัง​จาก​ที่​ได้​ตรวจ​สอบ​ภูมิหลัง​ทาง​ประวัติศาสตร์​ของ​นัก​เขียน​คริสตจักร แม้​ว่า​สั้น ๆ รวม​ทั้ง​ตรวจ​สอบ​ที่​มา​แห่ง​คำ​สอน​ของ​พวก​เขา นับ​ว่า​เหมาะ​ที่​จะ​ถาม​ว่า คริสเตียน​ที่​มี​น้ำ​ใส​ใจ​จริง​ควร​ยึด​ถือ​คำ​สอน​ของ​นัก​เขียน​คริสตจักร​เพื่อ​เป็น​หลัก​สำหรับ​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​ไหม? ขอ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​ตอบ​คำ​ถาม​นี้.

ประการ​หนึ่ง​นั้น พระ​เยซู​คริสต์​เอง​ทรง​ห้าม​การ​ใช้​ยศ​ศักดิ์​ทาง​ศาสนา​ที่​มี​การ​เรียก​บาง​คน​ว่า “บิดา” [ใน​ภาษา​อังกฤษ คำ​ที่​ใช้​หมาย​ถึง​นัก​เขียน​คริสตจักร ตาม​ตัว​อักษร​คือ “บิดา​แห่ง​คริสตจักร”] เมื่อ​พระองค์​ตรัส​ว่า “อย่า​เรียก​ผู้​ใด​ว่า​บิดา​ของ​ท่าน​บน​แผ่นดิน​โลก​เพราะ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มี​พระ​บิดา​แต่​ผู้​เดียว คือ​ผู้​ที่​สถิต​ใน​สวรรค์.” (มัดธาย 23:9, ล.ม.) การ​ใช้​คำ “บิดา” เพื่อ​เรียก​ใคร​คน​ใด​คน​หนึ่ง​ทาง​ศาสนา​ไม่​ถูก​ต้อง​ตาม​หลัก​คริสเตียน​และ​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​เป็น​ลายลักษณ์​อักษร​เขียน​เสร็จ​สิ้น​ประมาณ​ปี​สากล​ศักราช 98 ด้วย​บันทึก​ของ​อัครสาวก​โยฮัน. ด้วย​เหตุ​นั้น คริสเตียน​แท้​ไม่​จำเป็น​ต้อง​หมาย​พึ่ง​มนุษย์​คน​ใด​เพื่อ​เป็น​แหล่ง​แห่ง​การ​เปิด​เผย​ซึ่ง​มา​จาก​การ​ดล​ใจ. พวก​เขา​ระวัง​ที่​จะ​ไม่ “ทำลาย​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า” ด้วย​ประเพณี​ของ​มนุษย์. การ​ปล่อย​ให้​ประเพณี​ของ​มนุษย์​เข้า​มา​แทน​ที่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ความ​เสียหาย​ร้ายแรง​ฝ่าย​วิญญาณ. พระ​เยซู​ทรง​เตือน​ว่า “ถ้า​คน​ตา​บอด​จูง​คน​ตา​บอด ทั้ง​สอง​จะ​ตก​ลง​ใน​บ่อ.”—มัดธาย 15:6, 14.

คริสเตียน​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​เปิด​เผย​จาก​แหล่ง​อื่น​อีก​ไหม​นอก​จาก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล? ไม่. พระ​ธรรม​วิวรณ์​เตือน​ไม่​ให้​เพิ่ม​สิ่ง​ใด​เข้า​ไป​ใน​บันทึก​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​โดย​กล่าว​ดัง​นี้: “ถ้า​ผู้​ใด ๆ จะ​เพิ่ม​ข้อ​ความ​ใน​เรื่อง​ราว​พยากรณ์​ของ​หนังสือ​นี้, พระเจ้า​จะ​ทรง​เพิ่ม​ภัย​ทรมาน​ที่​เขียน​ไว้​ใน​หนังสือ​เล่ม​นี้​ให้​แก่​ผู้​นั้น ๆ.”—วิวรณ์ 22:18.

ความ​จริง​ตาม​หลักการ​คริสเตียน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​เป็น​ลายลักษณ์​อักษร คือ​คัมภีร์​ไบเบิล. (โยฮัน 17:17; 2 ติโมเธียว 3:16; 2 โยฮัน 1-4) ความ​เข้าใจ​ที่​ถูก​ต้อง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​อิง​อยู่​กับ​ปรัชญา​ฝ่าย​โลก. เกี่ยว​กับ​คน​ที่​พยายาม​ใช้​สติ​ปัญญา​ของ​มนุษย์​เพื่อ​อธิบาย​การ​เปิด​เผย​จาก​พระเจ้า นับ​ว่า​เหมาะ​ที่​จะ​กล่าว​ซ้ำ​คำ​ถาม​ของ​อัครสาวก​เปาโล ที่​ว่า “คน​มี​ปัญญา​หาย​ไป​ไหน​แล้ว? อาลักษณ์​หาย​ไป​ไหน​แล้ว? นัก​ตั้ง​ปัญหา​สมัย​นี้​หาย​ไป​ไหน​แล้ว? พระเจ้า​มิ​ได้​ทรง​กระทำ​ปัญญา​ของ​โลก​ให้​กลาย​เป็น​การ​โฉด​เขลา​ไป​หรือ?”—1 โกรินโธ 1:20.

นอก​จาก​นั้น ประชาคม​คริสเตียน​แท้​เป็น “หลัก​และ​ราก​แห่ง​ความ​จริง.” (1 ติโมเธียว 3:15) ผู้​ดู​แล​ประชาคม​ปก​ป้อง​ความ​บริสุทธิ์​สะอาด​ของ​การ​สอน​ใน​ประชาคม ไม่​ปล่อย​ให้​สิ่ง​ใด ๆ ที่​ไม่​บริสุทธิ์​ด้าน​หลัก​คำ​สอน​แทรกซึม​เข้า​มา. (2 ติโมเธียว 2:15-18, 25) พวก​เขา​ป้องกัน​ประชาคม​ไว้​จาก ‘ผู้​พยากรณ์​เท็จ, ผู้​สอน​ผิด, และ​มิจฉา​ลัทธิ.’ (2 เปโตร 2:1) ภาย​หลัง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​เหล่า​อัครสาวก นัก​เขียน​คริสตจักร​ปล่อย​ให้ “ถ้อย​คำ​โดย​การ​ดล​ใจ​ซึ่ง​ทำ​ให้​หลง​ผิด​และ​คำ​สอน​ของ​ผี​ปิศาจ” งอก​ราก​ขึ้น​ใน​ประชาคม​คริสเตียน.—1 ติโมเธียว 4:1, ล.ม.

ผล​ของ​การ​ออก​หาก​นี้​เห็น​ได้​ชัด​ใน​คริสต์​ศาสนจักร​ปัจจุบัน. ความ​เชื่อ​และ​กิจ​ปฏิบัติ​ของ​คริสต์​ศาสนจักร​ต่าง​กัน​มาก​กับ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 สำหรับ​การ​พิจารณา​อย่าง​ลึกซึ้ง​เรื่อง​หลัก​คำ​สอน​ตรีเอกานุภาพ​จะ​พบ​ได้​ใน​จุลสาร​คุณ​ควร​เชื่อ​ตรีเอกานุภาพ​ไหม? (ภาษา​อังกฤษ) จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

^ วรรค 16 สำหรับ​การ​พิจารณา​โดย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เรื่อง​จิตวิญญาณ โปรด​ดู​หนังสือ​การ​หา​เหตุ​ผล​จาก​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) หน้า 98-104 และ 375-380 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

นัก​เขียน​แห่ง​คริสตจักร​แห่ง​กัปปะโดเกีย

“คริสตจักร​ออร์โทด็อกซ์ . . . ให้​ความ​นับถือ​เป็น​พิเศษ​ต่อ​นัก​เขียน​แห่ง​ศตวรรษ​ที่​สี่ และ​โดย​เฉพาะ​ต่อ​บุคคล​ที่​คริสตจักร​นี้​เรียก​ขาน​ว่า ‘พระ​มหา​ราชา​คณะ​สาม​องค์’ อัน​ได้​แก่ เกรกอรี​แห่ง​นาซิอันซุส, บาซิล​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่, และ​จอห์น ไครซอสตอม” นัก​เขียน​ซึ่ง​เป็น​นัก​บวช​คน​หนึ่ง​ที่​ชื่อ คัลลิสตอส กล่าว​ดัง​ข้าง​ต้น. นัก​เขียน​คริสตจักร​เหล่า​นี้​ยึด​พระ​คัมภีร์​ซึ่ง​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​เป็น​หลัก​สำหรับ​คำ​สอน​ของ​ตน​ไหม? เกี่ยว​กับ​บาซิล​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่ หนังสือ​นัก​เขียน​แห่ง​คริสตจักร​กรีก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “งาน​เขียน​ของ​เขา​แสดง​ว่า​เขา​มี​ความ​รู้​จัก​คุ้น​เคย​มา​โดย​ตลอด​เกี่ยว​กับ​เพลโต, โฮเมอร์, ตลอด​จน​นัก​ประวัติศาสตร์​และ​นัก​บรรยาย​ชั้น​ครู​ทั้ง​หลาย และ​คน​เหล่า​นี้​มี​อิทธิพล​ต่อ​รูป​แบบ​การ​เขียน​ของ​เขา​แน่นอน. . . . บาซิล​ยัง​คง​เป็น ‘กรีก.’ ” เป็น​เช่น​นั้น​ด้วย​กับ​เกรกอรี​แห่ง​นาซิอันซุส. “ใน​ทัศนะ​ของ​เขา การ​แสดง​ชัย​ชนะ​และ​ความ​เหนือ​กว่า​ของ​คริสตจักร​ทำ​ได้​ดี​ที่​สุด​โดย​ที่​คริสตจักร​รับ​เอา​จารีต​ของ​วัฒนธรรม​กรีก​โบราณ​อย่าง​เต็ม​ที่.”

เกี่ยว​กับ​บุคคล​ทั้ง​สาม​นี้ ศาสตราจารย์​พานายีโอทีส เค. คริสตู เขียน​ไว้​ว่า “แม้​ว่า​พวก​เขา​เตือน​เป็น​ครั้ง​คราว​ให้​ระวัง ‘หลัก​ปรัชญา​และ​คำ​ล่อ​ลวง​เหลวไหล’ [โกโลซาย 2:8]—เพื่อ​ให้​สอดคล้อง​กับ​พระ​บัญชา​ใน​พระ​คริสตธรรม​ใหม่—แต่​ใน​ขณะ​เดียว​กัน พวก​เขา​ก็​กระตือรือร้น​ใน​การ​ศึกษา​ปรัชญา​และ​หลัก​ปฏิบัติ​ที่​เกี่ยว​ข้อง และ​แม้​แต่​แนะ​นำ​คน​อื่น ๆ ให้​ศึกษา​เช่น​เดียว​กัน.” เห็น​ได้​ชัด ศาสนาจารย์​แห่ง​คริสตจักร​เหล่า​นี้​คิด​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​เดียว​ไม่​เพียง​พอ​ที่​จะ​รอง​รับ​แนว​คิด​ของ​ตน. การ​ที่​พวก​เขา​แสวง​หา​หลัก​หรือ​บุคคล​อื่น ๆ ที่​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​นับถือ​แสดง​ว่า​คำ​สอน​ของ​พวก​เขา​มา​จาก​แหล่ง​อื่น​นอก​เหนือ​คัมภีร์​ไบเบิล​มิ​ใช่​หรือ? อัครสาวก​เปาโล​เตือน​คริสเตียน​ชาว​ฮีบรู​ว่า “อย่า​หลง​ไป​ตาม​คำ​สอน​ต่าง ๆ ที่​แปลก ๆ.”—เฮ็บราย 13:9, ฉบับ​แปล​ใหม่.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 20]

ซีริล​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย—นัก​เขียน​แห่ง​คริสตจักร​โบราณ​ผู้​ก่อ​ความ​ขัด​แย้ง

บุคคล​ผู้​หนึ่ง​ซึ่ง​ก่อ​ความ​ขัด​แย้ง​อย่าง​มาก​ใน​หมู่​นัก​เขียน​คริสตจักร​ได้​แก่​ซีริล​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย (ประมาณ ส.ศ. 375-444). นัก​ประวัติศาสตร์​คริสตจักร ฮันส์ ฟอน คัมเพนเฮาเซน พรรณนา​ถึง​เขา​ว่า “ดื้อ​รั้น, รุนแรง, และ​ฉลาด​แกม​โกง, ซาบซ่าน​ด้วย​ความ​รู้สึก​ถึง​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​แห่ง​หน้า​ที่​การ​งาน​และ​ความ​สูง​ส่ง​แห่ง​ตำแหน่ง​ของ​ตน” และ​ยัง​เสริม​อีก​ว่า “เขา​ไม่​เคย​เห็น​ว่า​อะไร​ถูก​เว้น​แต่​สิ่ง​นั้น​เป็น​ประโยชน์​ใน​การ​ส่ง​เสริม​อำนาจ​และ​อำนาจ​หน้า​ที่​ของ​เขา . . . ความ​โหด​ร้าย​และ​ความ​ไร้​ยางอาย​แห่ง​วิธี​การ​ที่​เขา​ใช้​ไม่​เคย​ทำ​ให้​เขา​สลด​หดหู่.” ขณะ​ที่​เขา​ดำรง​ตำแหน่ง​บิชอป​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย ซีริล​ใช้​การ​ติด​สินบน, การ​โฆษณา​หมิ่น​ประมาท, และ​การ​ให้​ร้าย​ป้าย​สี​เพื่อ​ให้​บิชอป​แห่ง​คอนสแตนติโนเปิล​ถูก​ปลด. กล่าว​กัน​ว่า​เขา​อยู่​เบื้อง​หลัง​ฆาตกรรม​อัน​โหด​ร้าย​ใน​ปี ส.ศ. 415 ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​ไฮพาเชีย นัก​ปรัชญา​ผู้​มี​ชื่อเสียง. เกี่ยว​กับ​งาน​เขียน​ด้าน​เทววิทยา​ของ​ซีริล คัมเพนเฮาเซน​กล่าว​ว่า “เขา​ริเริ่ม​การ​ตัดสิน​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ไม่​เพียง​โดย​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก แต่​โดย​ใช้​วาทะ​และ​ชุด​วาทะ​ซึ่ง​เข้า​กัน​ได้​พอ​ดี​ของ​บุคคล​ที่​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​นับถือ​เสริม​เข้า​ไป​ด้วย.”

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 18]

© Archivo Iconografico, S.A./CORBIS

[ภาพ​หน้า 19]

เจโรม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Garo Nalbandian