จงยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา!
จงยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา!
“[โมเซ] ยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.”—เฮ็บราย 11:27, ล.ม.
1. คำตรัสที่น่าทึ่งอะไรเกี่ยวกับพระเจ้าที่พระเยซูได้ตรัสในคำเทศน์บนภูเขา?
พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่ไม่ปรากฏแก่ตา. เมื่อโมเซทูลขอให้ทรงสำแดงพระรัศมีให้เห็น พระยะโฮวาทรงตอบดังนี้: “เจ้าจะเห็นหน้าของเราไม่ได้; เพราะว่าไม่มีมนุษย์ผู้ใดที่ได้เห็นหน้าของเราแล้วและยังจะมีชีวิตอยู่ได้.” (เอ็กโซโด 33:20) และอัครสาวกโยฮันเขียนไว้ว่า “ไม่มีใครได้เห็นพระเจ้าเลย.” (โยฮัน 1:18) เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงเป็นมนุษย์บนโลกนี้ แม้แต่พระองค์ก็ไม่สามารถเห็นพระเจ้าได้. อย่างไรก็ตาม ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูตรัสว่า “บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ก็เป็นสุข, เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า.” (มัดธาย 5:8) พระเยซูทรงหมายความเช่นไร?
2. เหตุใดเราไม่สามารถเห็นพระเจ้าด้วยตาของเรา?
โยฮัน 4:24; โกโลซาย 1:15; 1 ติโมเธียว 1:17) ดังนั้น พระเยซูมิได้ตรัสว่าเราซึ่งเป็นมนุษย์สามารถเห็นพระยะโฮวาด้วยตาของเรา. จริงอยู่ คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะเห็นพระยะโฮวาพระเจ้าในสวรรค์หลังจากที่พวกเขาถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในฐานะกายวิญญาณ. แต่มนุษย์ที่ “มีใจบริสุทธิ์” และมีความหวังจะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลกก็สามารถ “เห็น” พระเจ้าด้วย. เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?
2 พระคัมภีร์ระบุว่าพระยะโฮวาทรงเป็นกายวิญญาณที่ไม่ปรากฏแก่ตา. (3. มนุษย์สามารถเข้าใจคุณลักษณะบางอย่างของพระเจ้าได้อย่างไร?
3 เราเรียนรู้บางสิ่งเกี่ยวกับพระยะโฮวาด้วยการสังเกตอย่างละเอียดในสิ่งทั้งหลายที่พระองค์ทรงสร้าง. โดยวิธีนี้ เราอาจประทับใจฤทธิ์อำนาจของพระองค์และถูกกระตุ้นให้ยอมรับพระองค์ในฐานะพระเจ้าพระผู้สร้าง. (เฮ็บราย 11:3; วิวรณ์ 4:11) ในเรื่องนี้ อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “คุณลักษณะต่าง ๆ ของ [พระเจ้า] อันไม่ประจักษ์แก่ตาก็เห็นได้ชัด ตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา เพราะว่าคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้โดยสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้น กระทั่งฤทธานุภาพอันถาวรและความเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้น.” (โรม 1:20, ล.ม.) ดังนั้น คำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับการเห็นพระเจ้าหมายรวมถึงความสามารถที่จะเข้าใจคุณลักษณะบางอย่างของพระยะโฮวา. การเห็นเช่นนั้นอาศัยความรู้ถ่องแท้และเป็นการได้ความเข้าใจฝ่ายวิญญาณด้วย “ตาแห่งหัวใจ.” (เอเฟโซ 1:18, ล.ม.) คำตรัสและการกระทำของพระเยซูเผยให้เห็นมากมายเกี่ยวกับพระเจ้าเช่นกัน. ฉะนั้น พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา.” (โยฮัน 14:9) พระเยซูทรงสะท้อนบุคลิกภาพของพระยะโฮวาอย่างสมบูรณ์แบบ. ด้วยเหตุนั้น ความรู้เกี่ยวกับชีวิตและคำสอนของพระเยซูสามารถช่วยเราให้เห็นหรือเข้าใจคุณลักษณะบางอย่างของพระเจ้า.
การเข้าใจและหยั่งรู้ค่า สิ่งฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญ
4. หลายคนแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างไรว่าเขาขาดความเข้าใจและหยั่งรู้ค่าในสิ่งฝ่ายวิญญาณ?
4 ในทุกวันนี้ ความเชื่อ, ความเข้าใจ, และความหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อสิ่งฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งที่หาพบได้ยากจริง ๆ. เปาโลกล่าวว่า “ที่เชื่อนั้นไม่ใช่ทุกคน.” (2 เธซะโลนิเก 3:2) ผู้คนเป็นอันมากหมกมุ่นอย่างสิ้นเชิงในการมุ่งแสวงหาสำหรับตัวเองและไม่เชื่อในพระเจ้า. ความประพฤติที่ผิดบาปและการขาดความเข้าใจและหยั่งรู้ค่าในสิ่งฝ่ายวิญญาณกีดกันเขาไว้จากการเห็นพระองค์ด้วยตาแห่งความเข้าใจ เพราะอัครสาวกโยฮันเขียนไว้ว่า “ผู้ที่กระทำการชั่วก็เป็นผู้ที่ไม่ได้เห็นพระเจ้า.” (3 โยฮัน 11) เนื่องจากคนที่เป็นเช่นนั้นไม่เห็นพระเจ้าด้วยตา พวกเขาจึงประพฤติราวกับว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นสิ่งที่เขากำลังทำอยู่. (ยะเอศเคล 9:9) พวกเขาดูแคลนสิ่งฝ่ายวิญญาณ ทำให้เขาไม่สามารถได้รับ “ความรู้ของพระเจ้า.” (สุภาษิต 2:5) ดังนั้น เปาโลจึงเขียนไว้อย่างเหมาะเจาะว่า “มนุษย์ธรรมดาจะรับสิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นของพระวิญญาณแห่งพระเจ้าไม่ได้ ด้วยสิ่งเหล่านั้นเขาเห็นเป็นความโง่ และเขาเข้าใจไม่ได้, เพราะว่าซึ่งจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นต้องสังเกตโดยวิญญาณ.”—1 โกรินโธ 2:14.
5. ผู้ที่ฝักใฝ่สิ่งฝ่ายวิญญาณตระหนักถึงข้อเท็จจริงอะไร?
5 อย่างไรก็ตาม หากเราฝักใฝ่สิ่งฝ่ายวิญญาณ เราจะตระหนักเสมอว่าแม้พระยะโฮวาไม่ใช่พระเจ้าที่ชอบจับผิด แต่พระองค์ทรงทราบเมื่อเราคิดและปรารถนาสิ่งที่ไม่ดี. จริงทีเดียว “ทางของคนก็อยู่ในสายพระเนตรพระเจ้า และพระองค์ทรงเฝ้าดูวิถีทั้งสิ้นของเขา.” (สุภาษิต 5:21, ฉบับแปลใหม่) หากเราพลาดพลั้งทำบาป เราได้รับการกระตุ้นให้กลับใจและแสวงหาการให้อภัยจากพระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์และไม่ต้องการทำให้พระองค์เจ็บปวดพระทัย.—บทเพลงสรรเสริญ 78:41; 130:3.
อะไรช่วยเราให้ยืนหยัดมั่นคง?
6. การยืนหยัดมั่นคงหมายความอย่างไร?
6 แม้ว่าพระยะโฮวาทรงไม่ปรากฏแก่ตา ขอให้เราจำไว้เสมอว่าพระองค์ทรงเห็นเรา. การตระหนักถึงการดำรงอยู่ของพระองค์และความเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ทุกคนที่ร้องทูลต่อพระองค์จะช่วยเราให้ยืนหยัดมั่นคง—ซื่อสัตย์ต่อพระองค์อย่างหนักแน่นมั่นคงไม่สั่นคลอน. (บทเพลงสรรเสริญ 145:18) เราสามารถเป็นเหมือนกับโมเซซึ่งเปาโลเขียนเกี่ยวกับท่านว่า “โดยความเชื่อท่านออกจากอียิปต์ แต่มิใช่ว่ากลัวความกริ้วของกษัตริย์ ด้วยว่าท่านยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.”—เฮ็บราย 11:27, ล.ม.
7, 8. อะไรทำให้โมเซกล้ายืนอยู่ต่อหน้าฟาโรห์?
7 ในการทำหน้าที่มอบหมายจากพระเจ้าให้นำชาวยิศราเอลออกมาจากพันธนาการของอียิปต์ บ่อยครั้งที่โมเซต้องปรากฏตัวหน้าฟาโรห์ผู้กดขี่ในราชสำนักซึ่งคับคั่งไปด้วยคนใหญ่คนโตทางศาสนาและทางทหาร. ผนังราชวังคงมีรูปเคารพเรียงรายเต็มไปหมด. แม้พระยะโฮวาไม่ปรากฏแก่ตา แต่พระองค์ทรงเป็นจริงสำหรับโมเซ ต่างกับรูปเคารพทั้งหมดเหล่านั้นที่เป็นตัวแทนของพระแห่งชาวอียิปต์ซึ่งปราศจากชีวิต. ไม่แปลกที่โมเซไม่กลัวฟาโรห์!
8 อะไรทำให้โมเซกล้าปรากฏตัวต่อหน้าฟาโรห์ครั้งแล้วครั้งเล่า? พระคัมภีร์บอกเราว่า “โมเซนั้นเป็นคนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน.” (อาฤธโม 12:3) เห็นได้ชัด สภาพฝ่ายวิญญาณที่เข้มแข็งและความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงอยู่กับท่านทำให้โมเซมีความกล้าที่จำเป็นเพื่อเป็นตัวแทนของ “พระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา” ต่อหน้ากษัตริย์ผู้โหดร้ายแห่งอียิปต์. คนเหล่านั้นที่ “เห็น” พระเจ้าผู้ไม่ปรากฏแก่ตาแสดงความเชื่อของตนต่อพระองค์ด้วยวิธีใดบ้างในทุกวันนี้?
9. วิธีหนึ่งที่เราจะสามารถยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปคืออะไร?
9 วิธีหนึ่งในการสำแดงความเชื่อและยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปราวกับเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตาได้แก่การประกาศอย่างกล้าหาญแม้ถูกข่มเหง. พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกว่า “คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา.” (ลูกา 21:17) พระองค์ยังตรัสแก่เขาด้วยว่า “บ่าวจะเป็นใหญ่กว่านายหามิได้ ถ้าเขาข่มเหงเราแล้ว, เขาคงจะข่มเหงท่านทั้งหลายด้วย.” (โยฮัน 15:20) จริงดังคำตรัสของพระเยซู ไม่นานหลังจากที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ เหล่าสาวกถูกข่มเหงในหลายรูปแบบ ทั้งข่มขู่, จับกุม, และเฆี่ยนตี. (กิจการ 4:1-3, 18-21; 5:17, 18, 40) แม้ประสบกับคลื่นแห่งการข่มเหง เหล่าอัครสาวกของพระเยซูและสาวกคนอื่น ๆ ก็ยังคงประกาศข่าวดีด้วยความกล้าหาญต่อ ๆ ไป.—กิจการ 4:29-31.
10. ความเชื่อมั่นของเราในการปกป้องดูแลจากพระยะโฮวาช่วยเราอย่างไรในงานรับใช้?
10 เช่นเดียวกับโมเซ เหล่าสาวกรุ่นแรกของพระเยซูไม่กลัวศัตรูที่มองเห็นได้ซึ่งมีอยู่มากมาย. เหล่าสาวกของพระเยซูมีความเชื่อในพระเจ้า ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถอดทนการข่มเหงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา. ใช่แล้ว พวกเขายืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา. ปัจจุบัน การตระหนักเสมอถึงการปกป้องดูแลจากพระยะโฮวาทำให้เรากล้าหาญ ทำให้เรากล้าและปราศจากความกลัวในการประกาศเรื่องราชอาณาจักร. พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “การกลัวคนนั้นนำไปถึงบ่วงแร้ว; แต่ผู้ที่ยำเกรงพระยะโฮวาจะปลอดภัย.” (สุภาษิต 29:25) ด้วยเหตุนั้น เราไม่ถอยกลับเพราะกลัวการข่มเหง; และเราไม่ละอายในงานรับใช้ของเรา. ความเชื่อกระตุ้นเราที่จะให้คำพยานอย่างกล้าหาญแก่เพื่อนบ้าน, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนนักเรียน, และคนอื่น ๆ.—โรม 1:14-16.
พระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตาทรงชี้นำไพร่พลของพระองค์
11. ตามที่เปโตรและยูดาได้กล่าวไว้ บางคนที่สมทบกับประชาคมคริสเตียนแสดงชัดเจนอย่างไรว่าเขาขาดความเข้าใจและความหยั่งรู้ค่าในสิ่งฝ่ายวิญญาณ?
11 ความเชื่อช่วยเราให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่ชี้นำองค์การของพระองค์ทางแผ่นดินโลก. ด้วยเหตุนั้น เราหลีกเลี่ยงการมีเจตคติชอบวิพากษ์วิจารณ์ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม. ทั้งอัครสาวกเปโตรและยูดาน้องชายร่วมมารดาของพระเยซูต่างก็เตือนให้ระวังบางคนที่ขาดความเข้าใจและความหยั่งรู้ค่าในสิ่งฝ่ายวิญญาณมากจนถึงกับพูดหยาบคายต่อคนเหล่านั้นที่นำหน้าในหมู่คริสเตียน. (2 เปโตร 2:9-12; ยูดา 8) ผู้ที่ชอบจับผิดเช่นนั้นจะกล่าวอย่างนั้นเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาไหมหากเขาเห็นพระองค์ด้วยตาของเขา? คงไม่เป็นอย่างนั้นแน่! แต่เนื่องจากพระเจ้าทรงไม่ปรากฏแก่ตา คนเหล่านี้ที่อยู่ฝ่ายเนื้อหนังจึงไม่ได้คิดถึงการที่ตนต้องให้การต่อพระองค์.
12. เราควรแสดงเจตคติเช่นไรต่อผู้ที่นำหน้าในประชาคม?
12 จริงอยู่ ประชาคมคริสเตียนประกอบด้วยมนุษย์ไม่สมบูรณ์. ผู้ที่รับใช้ในฐานะผู้ปกครองมีข้อผิดพลาด ซึ่งบางครั้งอาจกระทบเราเป็นส่วนตัว. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงใช้ผู้ชายเหล่านี้ให้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์. (1 เปโตร 5:1, 2) ผู้ที่ฝักใฝ่ฝ่ายวิญญาณตระหนักว่านี่เป็นวิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงชี้นำไพร่พลของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น ในฐานะคริสเตียน เราหลีกเลี่ยงน้ำใจชอบบ่นชอบวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความนับถือต่อการจัดเตรียมตามระบอบของพระเจ้า. โดยเชื่อฟังคนที่นำหน้าในท่ามกลางพวกเรา เราแสดงให้เห็นว่าเราเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.—เฮ็บราย 13:17.
มองเห็นพระเจ้าในฐานะพระบรมครูของเรา
13, 14. การมองพระยะโฮวาในฐานะพระบรมครูมีความหมายเช่นไรสำหรับคุณ?
13 มีอีกขอบเขตหนึ่งซึ่งเรียกร้องความเข้าใจฝ่ายวิญญาณ. ยะซายาพยากรณ์ดังนี้: “ตาของเจ้าต้องมาเป็นตาที่มองเห็นพระบรมครูของเจ้า.” (ยะซายา 30:20, ล.ม.) จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อเพื่อจะตระหนักว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่สอนเราโดยทางองค์การที่อยู่บนแผ่นดินโลก. (มัดธาย 24:45-47) การมองเห็นพระเจ้าในฐานะพระบรมครูของเราหมายถึงไม่เฉพาะแต่ให้เรารักษานิสัยที่ดีในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ แต่หมายถึงการรับประโยชน์เต็มที่จากการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น เราจำเป็นต้องใส่ใจให้มากกว่าปกติต่อการนำทางที่พระยะโฮวาทรงจัดให้ทางพระเยซู เพื่อเราจะไม่ลอยห่างไปทางฝ่ายวิญญาณ.—เฮ็บราย 2:1.
14 บางครั้ง ต้องอาศัยความพยายามเป็นพิเศษเพื่อจะได้ประโยชน์เต็มที่จากอาหารฝ่ายวิญญาณ. ยกตัวอย่าง เราอาจมีแนวโน้มจะศึกษาเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่เรารู้สึกว่าเข้าใจยากอย่างลวก ๆ. เมื่ออ่านวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! เราอาจอ่านข้ามบางบทความไปเนื่องจากเป็นเรื่องที่เราไม่สนใจเท่าใดนัก. หรือเราอาจไม่ควบคุมความคิดและปล่อยใจให้ลอยระหว่างการประชุมคริสเตียน. อย่างไรก็ตาม เราสามารถรักษาความตื่นตัวหากเราหาเหตุผลอย่างถี่ถ้วนในจุดต่าง ๆ ที่กำลังพิจารณากันอยู่. ความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อการสอนฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับแสดงว่าเรายอมรับพระยะโฮวาในฐานะพระบรมครูของเรา.
เราต้องให้การ
15. โดยวิธีใดบางคนประพฤติราวกับว่าพระยะโฮวาไม่ทรงเห็นเขา?
15 โดยเฉพาะเนื่องจากความชั่วร้ายมีดาษดื่นใน “เวลาอวสาน” นี้ ความเชื่อในพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตาจึงสำคัญยิ่ง. (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) ความไม่ซื่อสัตย์และการผิดศีลธรรมทางเพศมีอยู่ทั่วไป. แน่นอน นับว่าฉลาดสุขุมที่จะจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงเฝ้าดูการกระทำของเราอยู่แม้เมื่อมนุษย์มองไม่เห็นเรา. บางคนได้สูญเสียความสำนึกถึงข้อเท็จจริงนี้. เมื่อคนอื่นมองไม่เห็นเขา เขาอาจประพฤติอย่างที่ไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์. ยกตัวอย่าง บางคน ไม่ได้ต้านทานการล่อใจให้ชมความบันเทิงที่ก่อผลเสียหายและสื่อลามกทางอินเทอร์เน็ต, โทรทัศน์, และเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบอื่น ๆ. เนื่องจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เช่นนั้นอาจเกิดขึ้นในที่ส่วนตัว บางคนได้ประพฤติราวกับว่าพระยะโฮวาไม่ทรงเห็นการกระทำของเขา.
16. อะไรน่าจะช่วยเราให้ประพฤติสอดคล้องกับมาตรฐานอันสูงส่งของพระยะโฮวา?
16 เป็นการดีที่จะคำนึงถึงคำกล่าวของอัครสาวกเปาโลไว้เสมอที่ว่า “เราแต่ละคนจะให้การต่อพระเจ้าเกี่ยวกับตัวเอง.” (โรม 14:12, ล.ม.) เราจำเป็นต้องสำนึกว่าทุกครั้งที่เราทำบาป เรากำลังทำบาปต่อพระยะโฮวา. ความสำนึกเช่นนี้น่าจะช่วยเราให้ประพฤติสอดคล้องกับมาตรฐานอันสูงส่งของพระองค์ และหลีกเลี่ยงความประพฤติที่ไม่สะอาด. คัมภีร์ไบเบิลเตือนใจเราดังนี้: “สิ่งใดที่ไม่ได้ปรากฏแก่พระองค์ไม่มี แต่สรรพสิ่งปรากฏแจ้งต่อพระเนตรของพระองค์ผู้ซึ่งเราต้องให้การนั้น.” (เฮ็บราย 4:13) จริงอยู่ เราต้องให้การต่อพระเจ้า แต่แน่นอนว่าความรักอันลึกซึ้งต่อพระยะโฮวาเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราทำตามพระทัยประสงค์และยึดมั่นในมาตรฐานที่ชอบธรรมของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น ให้เราสำแดงความสุขุมรอบคอบในเรื่องการเลือกความบันเทิงและความประพฤติต่อเพศตรงข้าม.
17. พระยะโฮวาทรงเฝ้าดูเราด้วยความสนพระทัยแบบใด?
17 พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยอย่างยิ่งในตัวเรา แต่นั่นมิได้หมายความว่าพระองค์คอยให้เราทำผิดพลาดเพื่อจะได้ลงโทษเรา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงเฝ้าดูเราด้วยความรักและห่วงใยเช่นเดียวกับบิดาที่ปรารถนาจะให้รางวัลแก่บุตรที่เชื่อฟัง. ช่างเป็นความชื่นชูใจจริง ๆ ที่ทราบว่าพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราทรงพอพระทัยในความเชื่อของเรา และ “เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ”! (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) ขอให้เราแสดงความเชื่ออย่างเต็มที่ในพระยะโฮวาและ “ปฏิบัติพระองค์ด้วยหัวใจครบถ้วน.”—1 โครนิกา 28:9, ล.ม.
18. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเฝ้าดูเราและสังเกตเห็นความซื่อสัตย์ของเรา เราได้รับคำรับรองอะไรจากพระคัมภีร์?
18 สุภาษิต 15:3 กล่าวว่า “พระเนตรของพระยะโฮวาอยู่ทั่วทุกแห่ง, เฝ้าดูทั้งคนชั่วและคนดี.” ถูกแล้ว พระเจ้าทรงเฝ้าดูคนชั่วและทรงดำเนินการตามความประพฤติของพวกเขา. อย่างไรก็ตาม หากเราอยู่ในกลุ่ม “คนดี” เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงสังเกตเห็นการกระทำที่ซื่อสัตย์ของเรา. ช่างเสริมความเชื่อสักเพียงไรที่ทราบว่า ‘การงานของเราเกี่ยวด้วยองค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ไร้ประโยชน์’ และพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตาจะไม่ ‘ลืมการงานของเราและความรักที่เราได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์’!—1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.; เฮ็บราย 6:10.
ทูลขอให้พระยะโฮวาตรวจสอบเรา
19. การมีความเชื่อที่เข้มแข็งในพระยะโฮวาก่อประโยชน์เช่นไรบ้าง?
19 ในฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา เรามีค่าสำหรับพระองค์. (มัดธาย 10:29-31) แม้พระองค์ไม่ปรากฏแก่ตา แต่เป็นไปได้ที่พระองค์ทรงเป็นจริงสำหรับเรา และเราสามารถทะนุถนอมสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่เรามีกับพระองค์. การมีเจตคติเช่นนั้นต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์นำพระพรมากมายมาสู่เรา. ความเชื่ออันเข้มแข็งช่วยเราให้มีหัวใจที่สะอาดและมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีจำเพาะพระยะโฮวา. ความเชื่อที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคดยังป้องกันเราไว้ด้วยจากการดำเนินชีวิตแบบตีสองหน้า. (1 ติโมเธียว 1:5, 18, 19) ความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนของเราในพระเจ้าเป็นการวางตัวอย่างที่ดีไว้และสามารถชักนำให้เกิดผลดีต่อคนรอบข้าง. (1 ติโมเธียว 4:12) นอกจากนั้น ความเชื่อเช่นนั้นยังส่งเสริมความประพฤติแบบที่พระเจ้าทรงพอพระทัย ทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี.—สุภาษิต 27:11.
20, 21. (ก) เหตุใดการที่พระยะโฮวาทรงเฝ้าดูเราจึงเป็นเรื่องน่าปรารถนา? (ข) เราอาจใช้บทเพลงสรรเสริญ 139:23, 24 กับตัวเราเองอย่างไร?
20 หากเราฉลาดสุขุมอย่างแท้จริง เราจะรู้สึกยินดีที่พระบทเพลงสรรเสริญ 139:23, 24, ล.ม.
ยะโฮวาทรงเฝ้าดูเรา. ไม่เพียงแต่เราปรารถนาให้พระองค์ทรงเห็นเรา แต่เรายังปรารถนาด้วยให้พระองค์ทรงตรวจสอบความคิดและการกระทำของเราอย่างถี่ถ้วน. ในคำอธิษฐาน เราควรทูลขอให้พระยะโฮวาทรงพินิจพิเคราะห์เราและตรวจดูว่าเรามีแนวโน้มใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่. พระองค์ทรงสามารถช่วยเราได้แน่นอนให้รับมือปัญหาของเราและปรับเปลี่ยนตามที่จำเป็น. ดาวิด ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ร้องเพลงอย่างเหมาะสมดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้า และทรงทราบหัวใจของข้าพเจ้า. ขอโปรดตรวจสอบดูข้าพเจ้า และทรงทราบความคิดที่ปั่นป่วนของข้าพเจ้า และทอดพระเนตรดูว่ามีวิถีที่ก่อความปวดร้าวใด ๆ ในตัวข้าพเจ้าหรือไม่ และโปรดนำข้าพเจ้าไปในหนทางที่ดำเนินสืบไปโดยไม่มีเวลากำหนด.”—21 ดาวิดวิงวอนพระยะโฮวาให้พินิจพิเคราะห์ท่านเพื่อจะเห็นว่ามี “วิถีที่ก่อความปวดร้าว” อย่างหนึ่งอย่างใดในตัวท่านหรือไม่. เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ เราปรารถนาอย่างยิ่งมิใช่หรือให้พระเจ้าทรงพินิจพิเคราะห์หัวใจของเราและดูว่าเรามีแรงกระตุ้นที่ไม่ถูกต้องหรือไม่? ดังนั้น ด้วยความเชื่อ ขอให้เราทูลขอพระยะโฮวาให้ตรวจสอบเรา. แต่จะว่าอย่างไรหากเรากระวนกระวายใจเนื่องด้วยข้อผิดพลาดบางอย่างหรือมีบางสิ่งที่ก่อผลเสียหายภายในตัวเรา? ถ้าอย่างนั้น ให้เราอธิษฐานต่อ ๆ ไปอย่างจริงจังต่อพระยะโฮวา พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักของเรา และถ่อมใจอ่อนน้อมต่อการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์และคำแนะนำจากพระคำของพระองค์. เราเชื่อมั่นได้ว่าพระองค์ทรงพร้อมเสมอจะช่วยเรา และจะช่วยเราให้ดำเนินในแนวทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.—บทเพลงสรรเสริญ 40:11-13.
22. เราควรมีความตั้งใจแน่วแน่เช่นไรเกี่ยวกับพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา?
22 ใช่แล้ว พระยะโฮวาจะทรงอวยพรให้เรามีชีวิตนิรันดร์หากเราบรรลุข้อเรียกร้องของพระองค์. แน่นอน เราต้องยอมรับฤทธิ์เดชและอำนาจของพระองค์ เช่นเดียวกับที่อัครสาวกเปาโลยอมรับเมื่อท่านเขียนว่า “จงถวายยศศักดิ์และรัศมีภาพสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์แด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเจริญนิรันดร์, ผู้ไม่ได้เปื่อยเน่าเสียไป, ผู้ไม่ได้ปรากฏแก่ตา, เป็นพระเจ้าองค์เดียว. อาเมน.” (1 ติโมเธียว 1:17) ขอให้เราแสดงความนับถือต่อพระยะโฮวาด้วยความรู้สึกจากหัวใจเสมอ. และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขออย่าให้เราสั่นคลอนในความตั้งใจแน่วแน่ที่จะยืนหยัดต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• มนุษย์จะสามารถเห็นพระเจ้าได้อย่างไร?
• หากพระยะโฮวาทรงเป็นจริงสำหรับเรา เราจะประพฤติอย่างไรเมื่อถูกข่มเหง?
• การมองพระยะโฮวาในฐานะพระบรมครูของเราหมายความเช่นไร?
• เหตุใดเราควรปรารถนาให้พระยะโฮวาตรวจสอบเรา?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 18]
โมเซ ซึ่งมิได้กลัวฟาโรห์ ประพฤติราวกับท่านสามารถเห็นพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ไม่ปรากฏแก่ตา
[ภาพหน้า 21]
ขออย่าให้เราประพฤติราวกับพระยะโฮวาไม่สามารถมองเห็นว่าเราทำอะไร
[ภาพหน้า 23]
เราแสวงหาความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าอย่างจริงจัง เพราะเรามองพระองค์ในฐานะพระบรมครูของเรา