พวกฮัสโมเนียนและมรดกของเขา
พวกฮัสโมเนียนและมรดกของเขา
ตอนพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก ลัทธิยูดายแตกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยซึ่งล้วนแต่แข่งกันสร้างอิทธิพลเหนือประชาชน. นั่นคือสภาพการณ์ที่มีบอกไว้ในบันทึกกิตติคุณและในหนังสือของโยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวแห่งศตวรรษแรก.
พวกฟาริซายกับพวกซาดูกายปรากฏในฉากเหตุการณ์นี้ในฐานะผู้ทรงอิทธิพล สามารถครอบงำความคิดประชาชนจนถึงขนาดที่ไม่ยอมรับพระเยซูว่าเป็นพระมาซีฮา. (มัดธาย 15:1, 2; 16:1; โยฮัน 11:47, 48; 12:42, 43) แต่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่มีกล่าวถึงกลุ่มอิทธิพลสองกลุ่มนี้เลย.
โยเซฟุสกล่าวถึงพวกซาดูกายกับพวกฟาริซายเป็นครั้งแรกในฉากเหตุการณ์สมัยศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช. ในช่วงนั้นชาวยิวมากมายถูกโน้มน้าวไปตามแรงจูงใจของคตินิยมกรีก ซึ่งก็คือวัฒนธรรมและปรัชญากรีก. ความตึงเครียดระหว่างคตินิยมกรีกกับลัทธิยูดายถึงขีดสุดเมื่อผู้ปกครองจากราชวงศ์เซเลอคิดได้ทำให้พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมเป็นมลทินโดยอุทิศแก่พระซูส. ยูดาห์ แมกคาบี ผู้นำที่เข้มแข็งคนหนึ่งของชาวยิว จากตระกูลที่รู้จักกันว่าฮัสโมเนียน ได้นำกองทัพกบฏซึ่งทำให้พระวิหารหลุดพ้นจากเงื้อมมือชาวกรีก. *
ช่วงหลายปีต่อจากการกบฏและชัยชนะของพวกแมกคาบีเป็นช่วงที่มีลักษณะเด่นด้านแนวโน้มในการตั้งนิกายต่าง ๆ ซึ่งแข่งกันด้านคตินิยม แต่ละนิกายแข่งขันกับนิกายอื่น ๆ เพื่อจะได้ผู้เลื่อมใสในชุมชนชาวยิวมากกว่า. แต่แนวโน้มนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุใด? ทำไมลัทธิยูดายจึงแตกแยกอย่างนั้น? ให้เราตรวจดูประวัติศาสตร์ของพวกฮัสโมเนียนเพื่อจะได้คำตอบ.
อิสรภาพมากขึ้นและความแตกแยกเพิ่มขึ้น
หลังจากบรรลุจุดมุ่งหมายด้านศาสนาด้วยการฟื้นฟูการนมัสการขึ้น ณ พระวิหารของพระยะโฮวา ยูดาห์ แมกคาบี ก็หันไปมุ่งด้านการเมือง. ผลก็คือ ชาวยิวจำนวนมากเลิกติดตามเขา. ถึงกระนั้น เขาก็ยังต่อสู้กับผู้ปกครองจากราชวงศ์เซเลอคิดต่อไป, ทำสนธิสัญญากับโรม, และพยายามก่อตั้งรัฐอิสระของชาวยิว. หลังจากยูดาห์ตายในการรบ โจนาทานน้องชายกับไซมอนพี่ชายของเขาต่อสู้ต่อไป. ในตอนแรกพวกผู้ปกครองจากราชวงศ์เซเลอคิดต่อต้านพวกแมกคาบีอย่างแข็งขัน. แต่ต่อมา ผู้ปกครองเหล่านั้นก็ตกลงประนีประนอมทางการเมือง โดยให้พี่น้องตระกูลฮัสโมเนียนมีอิสระในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง.
ถึงแม้เป็นเชื้อสายปุโรหิต แต่ไม่มีใครในตระกูลฮัสโมเนียนเคยทำหน้าที่ในตำแหน่งมหาปุโรหิต. ชาวยิวหลายคนคิดว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนี้ควรเป็นปุโรหิตที่มาจากเชื้อสายของซาโดคซึ่งโซโลมอนได้แต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิต. (1 กษัตริย์ 2:35; ยะเอศเคล 43:19) โจนาทานใช้สงครามและการทูตชักจูงพวกเซเลอคิดให้แต่งตั้งเขาเป็นมหาปุโรหิต. แต่หลังจาก โจนาทานสิ้นชีวิต ไซมอนพี่ชายเขาบรรลุผลสำเร็จยิ่งกว่าเขาเสียอีก. ในเดือนกันยายนปี 140 ก่อน ส.ศ. มีราชโองการสำคัญฉบับหนึ่งออกมายังกรุงเยรูซาเลม จารึกบนแผ่นทองสัมฤทธิ์ตามแบบกรีก ความว่า “กษัตริย์เดเมตริอุส [ผู้ปกครองในราชวงศ์เซเลอคิดของชาวกรีก] แต่งตั้งท่าน [ไซมอน] ให้ดำรงตำแหน่งมหาปุโรหิต, ให้ท่านเป็นมิตรผู้หนึ่งของกษัตริย์, และให้เกียรติยศอันสูงส่งแก่ท่าน. . . . ชาวยิวกับพวกปุโรหิตของตนได้มีมติว่า ไซมอนควรเป็นผู้นำและมหาปุโรหิตของเขาตลอดไป จนกว่าผู้พยากรณ์ที่คู่ควรจะมา.”— 1 แมกคาบี 14:38-41 (หนังสือประวัติศาสตร์พบในอธิกธรรม).
ดังนั้น ตำแหน่งของไซมอนในฐานะผู้ปกครองและมหาปุโรหิต—สำหรับเขาและผู้สืบตระกูล—จึงได้รับความเห็นชอบไม่เพียงจากเซเลอคิดผู้ทรงอำนาจของต่างประเทศเท่านั้น แต่จาก “ที่ประชุมใหญ่” แห่งประชาชนของเขาเองด้วย. นี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ. ดังที่นักประวัติศาสตร์เอมีล ชือเรอร์เขียนไว้ เมื่อพวกฮัสโมเนียนตั้งราชวงศ์ทางการเมืองขึ้นมา “จุดรวมความสนใจของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จของโทราห์ [พระบัญญัติของชาวยิว] อีกต่อไป แต่อยู่ที่การรักษาและการแผ่อำนาจทางการเมือง.” อย่างไรก็ตาม ด้วยความระมัดระวังที่จะไม่ทำให้ระคายความรู้สึกของชาวยิว ไซมอนจึงใช้ชื่อตำแหน่งว่า “ผู้นำประชาชน” แทนที่จะใช้ว่า “กษัตริย์.”
ไม่ใช่ทุกคนเห็นดีด้วยกับการที่คนในตระกูลฮัสโมเนียนยึดเอาอำนาจทั้งทางศาสนาและทางการเมืองโดยมิชอบ. ตามที่นักประวัติศาสตร์หลายคนกล่าว ในช่วงนี้เองที่มีการตั้งชุมชนคุมรานขึ้น. ปุโรหิตคนหนึ่งในเชื้อสายของซาโดคซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้ซึ่งมีกล่าวถึงในข้อความที่พบที่คุมรานว่าเป็น “ผู้สอนความชอบธรรม” ได้ออกจากกรุงเยรูซาเลมและนำกลุ่มต่อต้านเข้าไปในทะเลทรายยูเดียใกล้กับทะเลเดดซี. ม้วนหนังสือทะเลตายม้วนหนึ่งซึ่งอธิบายพระธรรมฮะบาฆูคมีคำกล่าวโทษว่า “ปุโรหิตผู้ชั่วช้าซึ่งถูกเรียกด้วยนามแห่งความจริงในตอนต้น แต่พอเขาปกครองเหนืออิสราเอลแล้ว หัวใจเขาก็เกิดหยิ่งยโส.” ผู้คงแก่เรียนหลายคนเชื่อว่า ทั้งโจนาทานและไซมอนต่างก็เหมาะกับคำพรรณนาของม้วนหนังสือตอนนั้นเกี่ยวกับ “ปุโรหิตผู้ชั่วช้า” ที่ปกครองอยู่.
ไซมอนดำเนินการทางทหารต่อไปเพื่อแผ่อาณาเขตในการปกครองของเขา. แต่การปกครองของเขาชะงักลงอย่างกะทันหันเมื่อปโตเลมีบุตรเขยของเขาลอบสังหารเขาพร้อมกับบุตรชายสองคนขณะกินเลี้ยงอยู่ใกล้เมืองเยริโค. ความพยายามคราวนี้ของปโตเลมีเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจก็ล้มเหลว. จอห์น ฮีร์คานุส บุตรชายที่ยังเหลืออยู่ของไซมอน ได้รับการเตือนเรื่องที่มีการพยายามฆ่าเขา. จอห์นจึงจับตัวเหล่าผู้ซึ่งอาจลอบฆ่าเขาและขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำและตำแหน่งมหาปุโรหิตแทนบิดา.
การแผ่อำนาจและการกดขี่
ในตอนแรก จอห์น ฮีร์คานุสเผชิญการคุกคามอย่างหนักจากกองกำลังซีเรีย แต่แล้วในปี 129 ก่อน ส.ศ. ราชวงศ์เซเลอคิดก็พ่ายการรบครั้งสำคัญกับพวกปาร์เทีย. เมนาเฮม สเติร์น นักประวัติศาสตร์ชาวยิวเขียนเกี่ยวกับผลกระทบที่สงครามครั้งนั้นมีต่อราชวงศ์เซเลอคิดดังนี้: “โครงสร้างทั้งมวลของอาณาจักรนี้พังทลายแทบไม่เหลือ.” ด้วยเหตุนั้น ฮีร์คานุสจึง “สามารถได้เอกราชด้านการเมืองของยูเดียคืนมาอย่างครบถ้วนและเริ่มขยายอาณาจักรออกไปในทิศทางต่าง ๆ.” และเขาก็ได้ขยายอาณาจักรจริง ๆ.
เมื่อไม่มีอุปสรรคเนื่องด้วยการคุกคามใด ๆ จากซีเรีย ฮีร์คานุสจึงเริ่มรุกรานดินแดนภายนอกยูเดีย ทำให้ดินแดนเหล่านั้นมาอยู่ใต้อำนาจ. ราษฎรในดินแดนเหล่านั้นจำต้องเปลี่ยนศาสนามาเข้าลัทธิยูดาย มิฉะนั้นเมืองของพวกเขาจะถูกทำลายจนย่อยยับ. การรณรงค์นั้นครั้งหนึ่งมีต่อชาวอิดูเมีย (เอโดม). สเติร์นกล่าวถึงการรณรงค์ครั้งนั้นว่า “การเปลี่ยนศาสนาของชาวอิดูเมียเป็นการเปลี่ยนครั้งสำคัญยิ่ง ราวกับเป็นการเปลี่ยนทั้งชาติพันธุ์แทนที่จะเป็นไม่กี่คน.” ซะมาเรียเป็นหนึ่งในดินแดนต่าง ๆ ที่ถูกพิชิตซึ่งฮีร์คานุสได้ทำลายวิหารของชาวซะมาเรียที่ตั้งอยู่บนภูเขาเกริซิมจนย่อยยับ. เมื่อกล่าวถึงความน่าสมเพชของนโยบายบังคับให้เปลี่ยนศาสนาโดยราชวงศ์ฮัสโมเนียน นักประวัติศาสตร์โซโลมอน เกรย์เซล เขียนว่า “นี่คือหลานของมัตตาเทียส [บิดาของยูดาห์ แมกคาบี] ซึ่งฝ่าฝืนหลักการนั้น—คือหลักเสรีภาพทางศาสนา—ซึ่งคนรุ่นก่อนได้ปกป้องไว้อย่างสูงส่ง.”
พวกฟาริซายและ พวกซาดูกายปรากฏตัว
ในตอนที่เขียนเกี่ยวกับรัชกาลของฮีร์คานุส โยเซฟุสกล่าวถึงอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของพวกฟาริซายกับพวกซาดูกายเป็นครั้งแรก. (โยเซฟุสเคยกล่าวถึงพวกฟาริซายซึ่งมีอยู่ในรัชกาลของโจนาทานมาแล้ว.) เขาไม่เล่าเรื่องความเป็นมาของพวกนี้. นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่าพวกฟาริซายเป็นกลุ่มที่ออกมาจากพวกฮาซิดิม คือนิกายศาสนาที่สนับสนุนยูดาห์ แมกคาบีในด้านจุดมุ่งหมายทางศาสนา แต่ละทิ้งเขาไปเมื่อเขาหันไปทะเยอทะยานทางการเมือง.
โดยทั่วไปถือกันว่าชื่อฟาริซายเกี่ยวข้องกับคำภาษาฮีบรูที่มีความหมายดั้งเดิมว่า “พวกที่แยกต่างหาก” แม้ว่าบางคนคิดว่าคำนี้เกี่ยวพันกับคำที่หมายถึง “ผู้ตีความ.” พวกฟาริซายคือพวกผู้คงแก่เรียนจากเหล่าสามัญชนซึ่งไม่ได้มีเชื้อสายมาจากบุคคลพิเศษใด ๆ. พวกเขาแยกตัวออกมาจากพิธีทางศาสนาที่ไม่บริสุทธิ์โดยยึดหลักปรัชญาที่ให้ถือเคร่งเป็นพิเศษ ด้วยการนำพระบัญญัติเกี่ยวกับพระวิหารในเรื่องความบริสุทธิ์ของคณะปุโรหิตมาใช้กับสภาพการณ์ธรรมดาในชีวิตประจำวัน. พวกฟาริซายสร้างแบบแผนใหม่ในการตีความพระคัมภีร์และสร้างแนวคิดใหม่ซึ่งต่อมารู้จักกันว่ากฎหมายสืบปาก. ระหว่างรัชกาลของไซมอน พวกเขามีอิทธิพลมากขึ้นเมื่อบางคนได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่เยโรเซีย (สภาผู้เฒ่าผู้แก่) ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า ซันเฮดริน.
โยเซฟุสเล่าว่า ทีแรกจอห์น ฮีร์คานุสเป็นศิษย์และผู้สนับสนุนของพวกฟาริซาย. แต่มาวันหนึ่ง พวกฟาริซายว่ากล่าวเขาที่ไม่ยอมออกจากตำแหน่งมหาปุโรหิต. เรื่องนี้นำไปสู่การแตกแยกอันน่าตื่นตระหนก. ฮีร์คานุสประกาศให้พิธีทางศาสนาของพวกฟาริซายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย. เพื่อเป็นการเพิ่มโทษ เขาไปเข้ากับฝ่ายปรปักษ์ทางศาสนาของพวกฟาริซาย คือพวกซาดูกาย.
ชื่อซาดูกายดูเหมือนเกี่ยวพันกับมหาปุโรหิตซาโดค ซึ่งบุตรหลานของเขาได้อยู่ในตำแหน่งปุโรหิตมาตั้งแต่สมัยโซโลมอน. แต่ไม่ใช่พวกซาดูกายทั้งหมดเป็นคนในตระกูลนี้. ตามที่โยเซฟุสกล่าว พวกซาดูกายเป็นคนตระกูลสูงและคนร่ำรวยในชาติ และพวกนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน. ศาสตราจารย์ชิฟฟ์มันให้ความเห็นดังนี้: “ดูเหมือนพวกเขาส่วนใหญ่เป็นปุโรหิตหรือไม่ก็เป็นผู้ที่ได้แต่งงานกับคนในตระกูลมหาปุโรหิตด้วยกัน.” พวกเขาจึงเกี่ยวพันใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจเหล่านั้นมานาน. ฉะนั้น จึงถือกันว่าการที่พวกฟาริซายมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของสาธารณชนและการที่แนวคิดของพวกฟาริซายในการแผ่ขยายเรื่องความบริสุทธิ์แบบปุโรหิตไปสู่ทุกคนนั้นเป็นสิ่งคุกคามซึ่งอาจบั่นทอนอำนาจของพวกซาดูกาย. ดังนั้น ในช่วงท้าย ๆ รัชกาลของฮีร์คานุส พวกซาดูกายจึงได้อำนาจคืนมาอีกครั้ง.
มุ่งการเมืองมากขึ้น ฝักใฝ่ศาสนาน้อยลง
อะริสโตบิวลุส บุตรชายคนโตของฮีร์คานุส ครองราชย์เพียงปีเดียวก็สิ้นชีพ. เขาดำเนินนโยบายบังคับให้เปลี่ยนศาสนาต่อไปกับชาวอิตูเรียและยึดแกลิลีตอนบนมาอยู่ใต้อำนาจราชวงศ์ฮัสโมเนียน. แต่กลับเป็นในรัชกาลของอะเล็กซานเดอร์ ยานเนอุส น้องชายเขาซึ่งปกครองตั้งแต่ปี 103-76 ก่อน ส.ศ. ที่ราชวงศ์ฮัสโมเนียนบรรลุอำนาจสูงสุด.
อะเล็กซานเดอร์ ยานเนอุสปฏิเสธนโยบายเดิมและประกาศตัวเป็นทั้งมหาปุโรหิตและกษัตริย์อย่างเปิดเผย. ความขัดแย้งระหว่างพวกฮัสโมเนียนกับพวกฟาริซายรุนแรงขึ้น ถึงขนาดทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นซึ่งมีชาวยิว 50,000 คนเสียชีวิต. หลังจากปราบกบฏ ยานเนอุสสั่งให้ตรึงพวกกบฏ 800 คนบนหลัก ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้นึกถึงกษัตริย์นอกรีต. ตอนที่พวกกบฏใกล้ตาย ภรรยาและลูก ๆ ของพวกเขาถูกสังหารต่อหน้าต่อตา ขณะที่ยานเนอุสกินเลี้ยงอย่างเปิดเผยกับเหล่านางห้าม.ถึงแม้เป็นปฏิปักษ์กับพวกฟาริซาย แต่ยานเนอุสก็เป็นนักการเมืองที่ยอมรับความเป็นจริง. เขาเห็นว่าพวกฟาริซายได้รับการหนุนหลังจากเหล่าผู้นิยมชมชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ. คำแนะนำก่อนสิ้นชีพที่เขาให้แก่ซาโลเม อะเล็กซานดรา ภรรยาของเขาคือ ให้ครองอำนาจร่วมกับพวกฟาริซาย. ยานเนอุสเลือกนางเป็นผู้ครองราชย์ต่อจากเขาแทนที่จะเป็นบุตรชายทั้งหลาย. นางได้พิสูจน์ตัวเป็นผู้ปกครองที่สามารถ โดยทำให้ชาติมีความสงบสุขอีกช่วงหนึ่งหรือนานกว่านั้นภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮัสโมเนียน (76-67 ก่อน ส.ศ.). พวกฟาริซายได้คืนสู่ตำแหน่งทรงอำนาจอีก และกฎหมายต่าง ๆ ที่ห้ามพิธีทางศาสนาของพวกเขาถูกยกเลิก.
เมื่อซาโลเมสิ้นชีพ บุตรชายของนางคือฮีร์คานุสที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่มหาปุโรหิต กับอะริสโตบิวลุสที่ 2 ก็เริ่มพยายามช่วงชิงอำนาจกัน. ทั้งสองต่างขาดความหยั่งรู้ทางการเมืองและทางการทหารที่เหล่าบรรพบุรุษเคยมี และดูเหมือนว่าทั้งสองคนขาดความเข้าใจนัยอันครบถ้วนของการที่มีพวกโรมันอยู่ในเขตนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากอาณาจักรเซเลอคิดพังทลายอย่างสิ้นเชิง. ในปี 63 ก่อน ส.ศ. สองพี่น้องได้หันไปพึ่งปอมปีย์ ผู้ปกครองชาวโรมันขณะที่อยู่ในดามัสกัสและขอให้ปอมปีย์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของตน. ปีเดียวกันนั้น ปอมปีย์กับกองทหารได้ยาตราเข้าสู่กรุงเยรูซาเลมและยึดอำนาจ. นั่นเป็นตอนเริ่มต้นจุดจบของอาณาจักรฮัสโมเนียน. ในปี 37 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์เฮโรดมหาราชชาวอิดูเมียยึดครองกรุงเยรูซาเลมหลังจากสภาสูงของโรมแต่งตั้งเขาเป็น “กษัตริย์แห่งยูเดีย” “พันธมิตรและสหายของชาวโรมัน.” อาณาจักรฮัสโมเนียนสิ้นแล้ว.
มรดกของพวกฮัสโมเนียน
ระยะเวลาที่พวกฮัสโมเนียนปกครอง ตั้งแต่ยูดาห์ แมกคาบี จนถึงอะริสโตบิวลุสที่ 2 ได้วางรากฐานไว้แล้วสำหรับการแบ่งแยกทางศาสนาซึ่งยังคงมีอยู่ในขณะที่พระเยซูอยู่บนโลก. พวกฮัสโมเนียนเริ่มต้นด้วยความมีใจแรงกล้าเพื่อการนมัสการพระเจ้า แต่เสื่อมถอยลงสู่ความเห็นแก่ตัวอย่างผิด ๆ. พวกปุโรหิตของเขาซึ่งมีโอกาสจะทำให้ประชาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำตามพระบัญญัติของพระเจ้า ได้นำชาตินี้เข้าสู่ปลักแห่งการต่อสู้กันทางการเมือง. ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทัศนะที่แบ่งแยกทางศาสนาจึงแพร่หลาย. พวกฮัสโมเนียนไม่มีอีกแล้ว แต่การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางศาสนาระหว่างพวกซาดูกาย, พวกฟาริซาย, และพวกอื่น ๆ เป็นลักษณะเฉพาะของชาตินี้ซึ่งตอนนั้นอยู่ในการปกครองของเฮโรดและโรม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ดูบทความ “พวกแมกคาบีคือใคร?” ในหอสังเกตการณ์ 15 พฤศจิกายน 1998.
^ วรรค 22 “อรรถาธิบายพระธรรมนาฮูม” ในม้วนหนังสือทะเลตายกล่าวถึง “สิงโตที่โกรธเกรี้ยว” ที่ “แขวนคนทั้งเป็น” ซึ่งอาจหมายถึงเหตุการณ์ดังกล่าว.
[แผนภูมิหน้า 30]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ราชวงศ์ฮัสโมเนียน
ยูดาห์ แมกคาบี
โจนาทาน แมกคาบี
ไซมอน แมกคาบี
↓
จอห์น ฮีร์คานุส
↓ ↓
อะริสโตบิวลุส
ซาโลเม อะเล็กซานดรา — สมรส — อะเล็กซานเดอร์ ยานเนอุส
↓ ↓
ฮีร์คานุสที่ 2
อะริสโตบิวลุสที่ 2
[ภาพหน้า 27]
ยูดาห์ แมกคาบีพยายามให้ได้มาซึ่งเอกราชของชาวยิว
[ที่มาของภาพ]
The Doré Bible Illustrations/Dover Publications, Inc.
[ภาพหน้า 29]
พวกฮัสโมเนียนต่อสู้เพื่อขยายอำนาจปกครองเหนือเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ของชาวยิว
[ที่มาของภาพ]
The Doré Bible Illustrations/Dover Publications, Inc.