เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่าย—ในความทุกข์ยากของเขา
เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่าย—ในความทุกข์ยากของเขา
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองออกว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกที่ขาดความรัก. เมื่อกล่าวถึงคนชนิดที่มีอยู่ระหว่าง “สมัยสุดท้าย” อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จะเกิดวิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้. เพราะว่าคนจะรักตัวเอง, . . . ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ.” (2 ติโมเธียว 3:1-3, ล.ม.) ถ้อยคำเหล่านี้ช่างเป็นจริงสักเพียงไร!
สภาพแวดล้อมทางศีลธรรมในสมัยของเราได้กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการขาดความเมตตาสงสารในหัวใจของหลายคน. ผู้คนสนใจน้อยลงทุกทีในสวัสดิภาพของคนอื่น บางกรณีแม้แต่กับสมาชิกในครอบครัวของตัวเองด้วยซ้ำ.
เรื่องนี้มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อหลายคนซึ่งกลายเป็นคนขัดสนยากจน เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ. จำนวนของแม่ม่ายและลูกกำพร้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลมาจากสงคราม, ภัยธรรมชาติ, และการย้ายถิ่นของผู้คนซึ่งเสาะหาที่ลี้ภัย. (ท่านผู้ประกาศ 3:19) รายงานจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “[เด็ก] มากกว่า 1 ล้านคนเป็นลูกกำพร้าหรือไม่ก็ถูกแยกจากครอบครัวของเขาอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงคราม.” คุณคงทราบด้วยว่า มารดาไร้คู่, มารดาที่ถูกสามีทอดทิ้ง, หรือที่หย่าร้าง จำนวนมากมายเผชิญกับภารกิจที่ลำบากในการอยู่ต่อไปและเลี้ยงดูครอบครัวของเธอด้วยตัวเอง. สภาพการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าบางประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งทำให้พลเมืองหลายคนดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากแค้นแสนเข็ญ.
เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ มีความหวังใด ๆ ไหมสำหรับคนเหล่านั้นที่ประสบความทุกข์ยาก? จะทำให้ความทุกข์ของแม่ม่ายและลูกกำพร้าบรรเทาลงได้อย่างไร? ปัญหานี้จะมีวันถูกขจัดให้หมดไปไหม?
การเอาใจใส่ดูแลด้วยความรักในสมัยคัมภีร์ไบเบิล
การเอาใจใส่ดูแลต่อความจำเป็นทางด้านร่างกายและทางด้านวิญญาณของแม่ม่ายและลูกกำพร้านั้นเป็นส่วนที่แยกไม่ออกของการนมัสการพระเจ้าเสมอมา. เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวหรือผลไม้ ชนยิศราเอลต้องไม่เก็บส่วนที่ตกค้างอยู่ในทุ่งนา หรือรวงข้าวที่เขาทำตก. ต้องทิ้งข้าวที่ตกนั้นไว้ “ให้เป็นของสำหรับคนต่างชาติ, ลูกกำพร้า, และหญิงหม้าย.” (พระบัญญัติ 24:19-21) พระบัญญัติของโมเซระบุว่า “อย่าข่มเหงหญิงหม้ายหรือลูกกำพร้าเลย.” (เอ็กโซโด 22:22, 23) แม่ม่ายและลูกกำพร้าที่มีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล เป็นตัวแทนอย่างเหมาะสมแสดงถึงคนที่ยากจนกว่า เนื่องจากความตายของสามีและบิดาหรือของทั้งบิดาและมารดา สมาชิกที่เหลืออยู่ของครอบครัวอาจถูกทิ้งไว้ตามลำพังและประสบความยากจนข้นแค้น. โยบปฐมบรรพบุรุษได้กล่าวว่า “ข้าฯ จะช่วยชีวิตคนเดือดร้อนที่ร้องขอความช่วยเหลือ และเด็กชายกำพร้าพ่อและใคร ๆ ที่ไม่มีคนช่วย.”—โยบ 29:12, ล.ม.
ระหว่างสมัยแรกเริ่มของประชาคมคริสเตียน การเอาใจใส่ดูแลคนเหล่านั้นที่เดือดร้อนและขัดสนจริง ๆ เนื่องจากการสูญเสียบิดามารดาหรือสามีนั้นเป็นลักษณะที่เด่นชัดของการนมัสการแท้. ด้วยความสนใจแรงกล้าในสวัสดิภาพของคนเช่นนั้น สาวกยาโกโบได้เขียนว่า “แบบแห่งการนมัสการที่สะอาดและปราศจากมลทินจากทัศนะของพระเจ้าและพระบิดาของเราเป็นดังนี้: ให้เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่ายในความทุกข์ยากของเขา และรักษาตัวให้ปราศจากด่างพร้อยของโลก.”—ยาโกโบ 1:27, ล.ม.
นอกจากกล่าวถึงลูกกำพร้าและแม่ม่ายแล้ว ยาโกโบยังได้แสดงความห่วงใยสุดซึ้งต่อคนอื่นที่ยากจนและสิ้นเนื้อประดาตัวด้วย. (ยาโกโบ 2:5, 6, 15, 16) อัครสาวกเปาโลได้แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างเดียวกัน. เมื่อท่านและบาระนาบาได้รับมอบหมายงานประกาศนั้น คำสั่งข้อหนึ่งที่ท่านทั้งสองได้รับคือ ‘การไม่ลืมคนจน.’ เปาโลสามารถพูดด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่ดีว่า “[นี่] เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้ากระตือรือร้นที่จะกระทำอยู่แล้วด้วย.” (ฆะลาเตีย 2:9, 10) เรื่องราวเกี่ยวกับกิจการงานของประชาคมคริสเตียนหลังจากก่อตั้งขึ้นไม่นานได้แสดงชัดว่า “ในจำพวกสานุศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน . . . [มีการ] แจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ.” (กิจการ 4:34, 35) ถูกแล้ว การจัดเตรียมที่ตั้งขึ้นในยิศราเอลโบราณในเรื่องการเอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้า, แม่ม่าย, และผู้ที่ขัดสนยากจนได้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของประชาคมคริสเตียน.
1 ติโมเธียว 5:3-16. จากที่นั่นเราเห็นว่า ถ้าญาติของผู้ขัดสนสามารถช่วยเหลือเขาได้แล้ว ญาติก็ต้องรับภาระในเรื่องนั้น. แม่ม่ายที่ขัดสนต้องบรรลุข้อเรียกร้องบางประการเพื่อจะเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ. ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการจัดเตรียมที่ฉลาดสุขุมซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้เพื่อเอาใจใส่ดูแลคนเหล่านั้นที่ขัดสน. นอกจากนั้น นั่นยังแสดงให้เห็นด้วยว่าต้องมีความสมดุลเพื่อจะไม่มีใครฉวยประโยชน์จากความกรุณานี้อย่างไม่สมควร.—2 เธซะโลนิเก 3:10-12.
แน่นอน ความช่วยเหลือที่เสนอให้นั้นมีจำกัดและสอดคล้องกับกำลังทรัพย์ของประชาคมแต่ละแห่ง. ไม่มีการใช้เงินโดยเปล่าประโยชน์ และคนเหล่านั้นที่ขัดสนจริง ๆ ก็ได้รับการช่วยเหลือ. คริสเตียนต้องไม่ฉวยประโยชน์จากการจัดเตรียมนี้โดยมิชอบ และไม่มีการวางภาระที่ไม่จำเป็นไว้กับประชาคม. เรื่องนี้ปรากฏชัดในคำแนะนำของเปาโลซึ่งชี้แจงไว้ที่การเอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและแม่ม่ายในทุกวันนี้
หลักการที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าในอดีตได้ปฏิบัติตามนั้นยังคงนำมาใช้ในประชาคมของพยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับการแสดงความห่วงใยและการให้ความช่วยเหลือแก่คนเหล่านั้นที่ประสบความทุกข์ยาก. ความรักฉันพี่น้องเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ ดังที่พระเยซูได้ตรัสว่า “โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.” (โยฮัน 13:35, ล.ม.) หากบางคนประสบความขาดแคลนหรือตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติหรือผลกระทบจากสงครามหรือการต่อสู้ระหว่างพลเรือน คนอื่น ๆ ที่เป็นส่วนของภราดรภาพนานาชาติก็กระตือรือร้นที่จะหาทางให้ความช่วยเหลือทางด้านวิญญาณและทางด้านวัตถุ. ขอให้เราสังเกตประสบการณ์สมัยปัจจุบันบางเรื่องที่แสดงว่ามีการทำอะไรไปแล้วในเรื่องนี้.
เปโดรจำได้ไม่มากนักเกี่ยวกับคุณแม่ของเขาที่เสียชีวิตตอนเขาอายุแค่ขวบครึ่งเท่านั้น. พอเปโดรอายุห้าขวบ คุณพ่อของเขาก็เสียชีวิตด้วย. ดังนั้น เปโดรถูกทิ้งไว้ตามลำพังกับพวกพี่ชายของเขา. พยานพระยะโฮวาได้มาเยี่ยมพ่อของพวกเขาอยู่ก่อนแล้ว เปโดรกับพี่ชายทั้งหมดจึงเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่บ้าน.
เปโดรเล่าว่า “สัปดาห์ถัดไปเราเริ่มเข้าร่วมการประชุม. ขณะที่เราคบหาสมาคมกับพวกพี่น้อง เรารู้สึกได้ถึงความรักที่พวกเขาแสดงต่อเรา. ประชาคมเป็นที่พักพิงสำหรับผม เพราะพวกพี่น้องชายและหญิงแสดงความรักและความเอ็นดูต่อผม ราวกับว่าพวกเขาเป็นพ่อแม่ของผม.” เปโดรจำได้ว่าคริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งเชิญเขาไปที่บ้าน. ที่นั่นเปโดรมีส่วนร่วมกับครอบครัวนั้นในการสนทนาและการพักผ่อนหย่อนใจ. เปโดรซึ่งเริ่มประกาศเกี่ยวกับความเชื่อของเขาตอนอายุ 11 ปีและได้รับบัพติสมาเมื่ออายุ 15 ปีกล่าวว่า “เหตุการณ์เหล่านี้เป็นความทรงจำที่ผมชื่นชอบ.” โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนเหล่านั้นในประชาคม พวกพี่ชายของเขาได้ทำความก้าวหน้ามากเช่นกันในแนวทางฝ่ายวิญญาณ.
ยังมีกรณีของเดวิดด้วย. เขากับน้องสาวคู่แฝดถูกทิ้งเมื่อพ่อแม่แยกทางกัน. คุณตาคุณยายและน้าได้เลี้ยงดูเขาทั้งสอง. “เมื่อเราโตขึ้นมาและสำนึกถึงสภาพการณ์ที่ประสบอยู่นั้น ความรู้สึกไม่มั่นคงและความเศร้าครอบงำเรา. เราต้องการอะไรสักอย่างที่จะพึ่งพิงได้. คุณน้าของผมได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา และเพราะเหตุนี้ เราจึงได้รับการสั่งสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. พวกพี่น้องได้แสดงความรักใคร่และความเป็นมิตรต่อเรา. พวกเขาชอบเรามากและสนับสนุนเราให้บรรลุเป้าต่าง ๆ และทำงานเพื่อพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป. เมื่อผมอายุประมาณสิบขวบ ผู้ช่วยงานรับใช้คนหนึ่งจะมารับผมไปด้วยในงานเผยแพร่ตามบ้าน. พี่น้องอีกคนหนึ่งเอาใจใส่เรื่องค่าใช้จ่ายของผมเมื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่. พี่น้องคนหนึ่งถึงกับช่วยเหลือเพื่อผมจะสามารถบริจาคเงินที่หอประชุม.”
เดวิดได้รับบัพติสมาตอนอายุ 17 ปี และภายหลังเขาได้เริ่มรับใช้ ณ สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาใน
เม็กซิโก. แม้แต่ตอนนี้เขาก็ยังยอมรับว่า “มีผู้ปกครองหลายคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาของผมและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผม. โดยวิธีนี้ ผมจึงเอาชนะความรู้สึกไม่มั่นคงและความรู้สึกว้าเหว่.”อาเบล ผู้ปกครองในประชาคมหนึ่งที่เม็กซิโกซึ่งมีแม่ม่ายหลายคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเล่าว่า “ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พวกแม่ม่ายจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่มากที่สุดก็คือ การเกื้อหนุนทางด้านอารมณ์. บางครั้งพวกเธอประสบช่วงเวลาที่มีความซึมเศร้า รู้สึกว้าเหว่. เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะให้การเกื้อหนุน รับฟังพวกเธอ. พวกเรา [ผู้ปกครองในประชาคม] ไปเยี่ยมเธอบ่อย ๆ. นับว่าสำคัญที่จะใช้เวลาเอาใจใส่ปัญหาของเธอ. การทำเช่นนี้ทำให้เธอรู้สึกว่าได้รับการปลอบโยนทางฝ่ายวิญญาณ.” อย่างไรก็ตาม บางครั้งความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน. อาเบลเล่าไม่นานมานี้ว่า “ตอนนี้เรากำลังสร้างบ้านให้พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นแม่ม่าย. เราใช้เวลาวันเสาร์บางวันและตอนบ่ายบางวันระหว่างสัปดาห์สร้างบ้านของเธอ.”
ผู้ปกครองในประชาคมอีกคนหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเองในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกกำพร้าและแม่ม่ายว่า “ผมคิดว่าลูกกำพร้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความรักแบบคริสเตียนมากกว่าแม่ม่ายเสียอีก. ผมได้สังเกตว่าพวกเขาดูเหมือนจะรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการมากกว่าเด็ก ๆ และวัยรุ่นซึ่งมีทั้งพ่อและแม่. พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการแสดงความรักใคร่ฉันพี่น้องอย่างมากมาย. นับว่าดีที่จะมองหาพวกเขาหลังการประชุมเพื่อจะทราบว่าพวกเขาเป็นอย่างไร. มีพี่น้องชายที่สมรสแล้วคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกกำพร้าตอนเป็นเด็กเล็ก ๆ. ผมทักทายเขาอย่างอบอุ่นเสมอ ณ การประชุม และเขาโอบกอดผมเมื่อเราพบกัน. นี่ทำให้ความผูกพันของความรักแท้ฉันพี่น้องแน่นแฟ้นขึ้น.”
พระยะโฮวา “จะทรงช่วยคนขัดสน”
การไว้วางใจในพระยะโฮวาเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับมือกับสภาพการณ์ของแม่ม่ายและลูกกำพร้า. มีการกล่าวเกี่ยวกับพระองค์ว่า “พระยะโฮวาทรงรักษาคนแขกเมือง; และทรงอุปถัมภ์เด็กกำพร้ากับหญิงหม้าย.” (บทเพลงสรรเสริญ 146:9) วิธีแก้อย่างสิ้นเชิงสำหรับปัญหาประเภทนี้จะมาทางราชอาณาจักรของพระเจ้าภายใต้การปกครองของพระเยซูคริสต์เท่านั้น. เมื่อพรรณนาเชิงพยากรณ์ถึงการปกครองโดยพระมาซีฮานั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้เขียนว่า “พระองค์จะทรงช่วยคนขัดสนเมื่อเขาร้องทุกข์, และจะทรงช่วยคนอนาถา, ที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์. พระองค์จะสงสารคนอนาถาและคนขัดสน, ชีวิตของคนขัดสนพระองค์จะช่วยให้รอด.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:12, 13.
ขณะที่อวสานของระบบปัจจุบันใกล้เข้ามา ความกดดันที่คริสเตียนโดยทั่วไปเผชิญอยู่นั้นจะเพิ่มขึ้นแน่ ๆ. (มัดธาย 24:9-13) มีความจำเป็นทุกวันที่คริสเตียนจะแสดงความห่วงใยมากขึ้นต่อกันและกันและ “มีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน.” (1 เปโตร 4:7-10, ล.ม.) ชายคริสเตียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้ปกครอง จำเป็นต้องแสดงความห่วงใยและความเมตตาสงสารต่อคนเหล่านั้นที่เป็นลูกกำพร้า. และผู้หญิงที่อาวุโสในประชาคมสามารถให้การเกื้อหนุนมากมายแก่แม่ม่ายและเป็นแหล่งแห่งการปลอบโยน. (ติโต 2:3-5) ที่จริง ทุกคนอาจมีส่วนสนับสนุนได้โดยการแสดงความห่วงใยพร้อมด้วยการกระทำต่อคนอื่นซึ่งประสบความทุกข์ลำบาก.
คริสเตียนแท้ไม่ “ปิดประตูแห่งความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุนของตน” เมื่อ “เห็นพี่น้องของตนขาดแคลน.” พวกเขาสำนึกอย่างแรงกล้าในการเอาใจใส่คำตักเตือนของอัครสาวกโยฮันที่ว่า “ลูกเล็ก ๆ ทั้งหลาย จงให้เรารัก มิใช่ด้วยถ้อยคำหรือลิ้น แต่ด้วยการกระทำและความจริง.” (1 โยฮัน 3:17, 18, ล.ม.) ดังนั้น ขอให้เรา “เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่ายในความทุกข์ยากของเขา.”—ยาโกโบ 1:27, ล.ม.
[คำโปรยหน้า 11]
“จงให้เรารัก มิใช่ด้วยถ้อยคำหรือลิ้น แต่ด้วยการกระทำและความจริง.” 1 โยฮัน 3:18, ล.ม.
[ภาพหน้า 10]
คริสเตียนแท้เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่ายทางด้านวัตถุ, ด้านวิญญาณ, และด้านอารมณ์