ออริเกน—คำสอนของเขาส่งผลกระทบคริสตจักรอย่างไร?
ออริเกน—คำสอนของเขาส่งผลกระทบคริสตจักรอย่างไร?
“ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสตจักรหลังยุคอัครสาวก.” เจโรม ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับลาตินวัลเกตให้การยกย่องนี้แก่ออริเกน นักศาสนาในศตวรรษที่สาม. แต่ใช่ว่าทุกคนยกย่องออริเกนอย่างสูงเช่นนั้น. บางคนมองว่าเขาเป็นรากแห่งความชั่วซึ่งทำให้เกิดมีคำสอนนอกรีต. ด้วยถ้อยคำของนักเขียนในศตวรรษที่ 17 ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ออริเกนกล่าวว่า “คำสอนส่วนใหญ่ของเขาไร้เหตุผลและเป็นอันตราย เหมือนพิษงูที่ทำให้ถึงตายซึ่งเขาพ่นใส่โลก.” ที่จริง หลังจากเขาสิ้นชีวิตไปแล้วกว่าสี่ศตวรรษจึงได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าออริเกนเป็นคนนอกรีต.
เพราะเหตุใดออริเกนจึงทำให้เกิดความรู้สึกทั้งชื่นชมและชิงชังเช่นนั้น? เขาก่อผลกระทบเช่นไรต่อพัฒนาการของคำสอนแห่งคริสตจักร?
ใจแรงกล้าเพื่อคริสตจักร
ออริเกนถือกำเนิดประมาณ ส.ศ. 185 ที่เมืองอะเล็กซานเดรียของอียิปต์. เขาได้ศึกษาอย่างถ้วนถี่ในด้านวรรณคดีกรีก แต่ลีโอนีดิสบิดาของเขาผลักดันเขาให้ใช้ความพยายามเท่า ๆ กันในการศึกษาพระคัมภีร์. ตอนออริเกนอายุ 17 ปี จักรพรรดิโรมันได้ออกราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่งที่กำหนดให้การเปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย. บิดาของออริเกนถูกจำคุกเพราะเข้าเป็นคริสเตียน. ออริเกนซึ่งเต็มไปด้วยใจแรงกล้าของคนหนุ่มได้ตั้งใจจะติดคุกและพลีชีพเพื่อความเชื่อร่วมกับบิดา. เมื่อเห็นอย่างนั้น มารดาของออริเกนจึงเอาเสื้อผ้าเขาซ่อนไว้เพื่อกันไม่ให้เขาออกจากบ้าน. ออริเกนเขียนจดหมายขอร้องบิดาของเขาว่า “อย่าเปลี่ยนใจเพราะพวกเราเลย.” ลีโอนีดิสยืนหยัดมั่นคงและถูกประหาร ละครอบครัวไว้ให้ผจญความยากจน. แต่ออริเกนก็ได้รับการศึกษาสูงพอจะหาเลี้ยงมารดากับน้องชายหกคนโดยการสอนวรรณคดีกรีก.
องค์จักรพรรดิมีเจตนาจะยับยั้งการแผ่ขยายของศาสนาคริสเตียน. เนื่องจากราชกฤษฎีกาของพระองค์มุ่งจัดการไม่เพียงพวกนักศึกษาเท่านั้น แต่พวกผู้สอนด้วย ดังนั้น เหล่าคริสเตียนผู้สอนศาสนาจึงหนีไปอะเล็กซานเดรีย. เมื่อมีคนที่ไม่ใช่คริสเตียนซึ่งแสวงหาคำสั่งสอนตามหลักพระคัมภีร์มาขอความช่วยเหลือจากหนุ่มออริเกน เขายินดีรับเอางานนี้โดยถือว่าเป็นงานมอบหมายจากพระเจ้า. ศิษย์ของเขาหลายคนต้องพลีชีพเพื่อความเชื่อ ซึ่งบางคนยังศึกษาไม่จบด้วยซ้ำ. ออริเกนเองก็เสี่ยงมากที่สนับสนุนพวกศิษย์ของตนอย่างเปิดเผย ไม่ว่าพวกเขาอยู่ต่อหน้าศาล, ในคุก, หรือกำลังจะถูกประหาร. ยูเซบิอุส นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่สี่รายงานว่า ในตอนที่พวกศิษย์ถูกนำตัวไปประหารนั้น ออริเกน “จูบแสดงการยกย่องนับถือพวกเขาด้วยความกล้าหาญอย่างยิ่ง.”
ออริเกนทำให้หลายคนที่ไม่ใช่คริสเตียนโกรธแค้น พวก
นั้นถือว่าเขาต้องรับผิดชอบที่เพื่อน ๆ ของตนเปลี่ยนศาสนาและถูกประหาร. บ่อยครั้งที่ออริเกนหนีพ้นอย่างหวุดหวิดจากฝูงชนที่บ้าคลั่งและจากความตายอย่างทารุณ. แม้ว่าต้องย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเพื่อหนีพวกที่ตามล่า ออริเกนก็สอนต่อไปอย่างไม่ลดละ. ความกล้าหาญและการทุ่มเทตัวเช่นนั้นทำให้ดิมิทริอุส บิชอปแห่งอะเล็กซานเดรียประทับใจ. ฉะนั้น พอออริเกนอายุ 18 ปี ดิมิทริอุสจึงแต่งตั้งเขาเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนสอนศาสนาในอะเล็กซานเดรีย.ในที่สุด ออริเกนได้กลายเป็นผู้คงแก่เรียนที่มีชื่อและเป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมาย. บางคนบอกว่าเขาเขียนหนังสือถึง 6,000 เล่ม แม้ว่าจำนวนนี้ดูเหมือนเกินจริงไปหน่อย. เขามีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดด้วยเฮกซาพลา พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูฉบับยักษ์ของเขาซึ่งมีถึง 50 เล่ม. ออริเกนเรียบเรียงเฮกซาพลา เป็นหกคอลัมน์เรียงเทียบกันซึ่งประกอบด้วย: (1) ข้อความภาษาฮีบรูและอาระเมอิก, (2) คำทับศัพท์ภาษากรีกของข้อความนั้น, (3) ฉบับแปลภาษากรีกของอะควิลา, (4) ฉบับแปลภาษากรีกของซิมมาคุส, (5) ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ ซึ่งออริเกนปรับปรุงให้ตรงกันยิ่งขึ้นกับข้อความภาษาฮีบรู และ (6) ฉบับแปลภาษากรีกของทีโอโดเชียน. จอห์น ฮอร์ต ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลเขียนว่า “โดยฉบับรวมข้อความฉบับนี้ ออริเกนหวังว่าจะให้ความกระจ่างในเรื่องความหมายของข้อความหลายตอนซึ่งผู้อ่านภาษากรีกคงรู้สึกสับสนหรือเข้าใจผิดถ้าเขามีแต่ฉบับเซปตัวจินต์เท่านั้น.”
‘เลยขอบเขตสิ่งที่เขียนไว้’
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่สับสนทางศาสนาในศตวรรษที่สามส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อวิธีการที่ออริเกนสอนพระคัมภีร์. ถึงแม้คริสต์ศาสนจักรเพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็เปรอะเปื้อนไปแล้วด้วยหลักข้อเชื่อที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ และคริสตจักรที่อยู่กระจัดกระจายก็สอนหลักคำสอนต่าง ๆ กัน.
ออริเกนได้รับเอาหลักคำสอนเหล่านั้นบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์โดยเรียกหลักคำสอนนั้นว่า คำสอนของเหล่าอัครสาวก. แต่เขาก็ยินดีไตร่ตรองข้อข้องใจอื่น ๆ อย่างไม่มีข้อจำกัด. เวลานั้นศิษย์ของเขาหลายคนกำลังปล้ำสู้กับประเด็นเกี่ยวกับปรัชญาร่วมสมัย. ด้วยความพยายามจะช่วยศิษย์เหล่านั้น ออริเกนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับสำนักปรัชญาต่าง ๆ ซึ่งกำลังนวดปั้นจิตใจศิษย์วัยเยาว์ทั้งหลายของเขา. เขาเริ่มให้คำตอบที่น่าพอใจสำหรับคำถามของพวกศิษย์เกี่ยวกับเรื่องปรัชญา.
ด้วยความพยายามจะทำให้คัมภีร์ไบเบิลเข้ากับหลักปรัชญา ออริเกนจึงพึ่งพาอย่างมากในวิธีการตีความพระคัมภีร์โดยอาศัยความหมายแฝง. เขาสันนิษฐานว่าพระคัมภีร์มีความหมายโดยนัยเสมอ แต่ก็ใช่ว่าต้องเป็นไปตามตัวอักษร. ดังที่ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งให้ข้อสังเกต เรื่องนี้เปิดช่องให้ออริเกน “ตีความคัมภีร์ไบเบิลตามแนวคิดที่ไม่เป็นไปตามหลักคัมภีร์ไบเบิลซึ่งตรงกับหลักศาสนศาสตร์ของเขาเอง ในขณะที่ประกาศตัว (และไม่ต้องสงสัย คิดอย่างจริงใจว่าตัวเอง) เป็นผู้ตีความแนวคิดในคัมภีร์ไบเบิลที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษและซื่อสัตย์.”
จดหมายที่ออริเกนเขียนถึงศิษย์คนหนึ่งทำให้เราเห็นลึกเข้าไปในความคิดของเขา. ออริเกนชี้แจงว่าชาวอิสราเอลใช้ทองคำของชาวอียิปต์สร้างภาชนะสำหรับพระวิหารของพระยะโฮวา. ในเรื่องนี้เขาได้พบข้อสนับสนุนสำหรับการที่เขาใช้หลักปรัชญากรีกสอนศาสนาคริสเตียน. เขาเขียนว่า “ที่เป็นประโยชน์จริงแก่ชาวอิสราเอลคือสิ่งที่พวกเขานำมาจากอียิปต์ ซึ่งชาวอียิปต์เองไม่ได้เอาไปใช้อย่างถูกต้อง แต่เป็นสิ่งที่ชาวฮีบรูซึ่งได้รับการชี้นำจากสติปัญญาของพระเจ้าได้เอามาใช้เพื่องานรับใช้พระเจ้า.” ดังนั้น ออริเกนจึงสนับสนุนศิษย์ของเขาให้ “เลือกเอาอะไรก็ได้ที่เป็นส่วนดีของหลักปรัชญาของชาวกรีกซึ่งอาจใช้เป็นแนวการศึกษาค้นคว้าหรือเป็นส่วนที่พร้อมจะใช้กับศาสนาคริสเตียน.”
วิธีการตีความคัมภีร์ไบเบิลแบบไร้การควบคุมเช่นนี้ทำให้ยากจะแยกให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างหลักคำสอนคริสเตียนกับหลักปรัชญากรีก. ตัวอย่างเช่น ในหนังสือของออริเกนชื่อหลักเบื้องต้น (ภาษาลาติน) เขาอธิบายว่าพระเยซูเป็น ‘พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวซึ่งได้กำเนิดมา แต่ไม่มีการเริ่มต้น.’ และเขาอธิบายอีกว่า ‘การกำเนิดของพระองค์เป็นแบบนิรันดร. พระองค์ถูกทำให้เป็นพระบุตรไม่ใช่โดยการได้รับลมหายใจแห่งชีวิต ไม่ใช่โดยการกระทำจากภายนอก แต่โดยลักษณะเฉพาะของพระเจ้าเอง.’
ออริเกนไม่ได้พบแนวความคิดแบบนี้ในคัมภีร์ไบเบิล เพราะพระคัมภีร์สอนว่า พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวโกโลซาย 1:15, ล.ม.; วิวรณ์ 3:14, ล.ม.) ตามที่เอากุสตุส เนอันเดอร์ นักประวัติศาสตร์ด้านศาสนากล่าว ออริเกนได้แนวความคิดเรื่อง “การกำเนิดนิรันดร์” มาโดย “การศึกษาปรัชญาในสำนักเพลโต.” ด้วยเหตุนั้น ออริเกนละเมิดหลักการสำคัญของพระคัมภีร์ข้อนี้คือ “อย่าเลยขอบเขตสิ่งที่เขียนไว้.”— 1 โกรินโธ 4:6, ล.ม.
ของพระยะโฮวาเป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” และ “เป็นเบื้องต้นแห่งการทรงสร้างโดยพระเจ้า.” (ถูกกล่าวโทษว่าเป็นคนนอกรีต
ในช่วงแรกของการเป็นครู ออริเกนถูกสภาสงฆ์แห่งอะเล็กซานเดรียถอดจากฐานะบาทหลวง. เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นเพราะบิชอปดิมิทริอุสริษยาที่ออริเกนมีชื่อเสียงมากขึ้นทุกที. ออริเกนย้ายไปปาเลสไตน์ ที่ซึ่งเขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้แก้ต่างที่มีชื่อเสียงของหลักคำสอนคริสเตียน และที่นั่นเขาทำหน้าที่เป็นบาทหลวงต่อไป. ที่จริง เมื่อ “การออกหาก” ปะทุขึ้นในทางตะวันออก มีการขอให้ออริเกนช่วยหาทางทำให้พวกบิชอปที่หลงผิดกลับมาสู่หลักคำสอนดั้งเดิม. หลังจากออริเกนสิ้นชีวิตในปี ส.ศ. 254 ชื่อเสียงของเขากลับเสื่อมเสียอย่างยิ่ง. เพราะเหตุใด?
หลังจากศาสนาคริสเตียนในนามกลายเป็นศาสนาที่เด่น สิ่งที่คริสตจักรยอมรับว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมก็ยิ่งมีการกำหนดอย่างพิถีพิถันมากขึ้น. ฉะนั้น นักศาสนารุ่นหลัง ๆ จึงไม่ยอมรับการคาดคะเนหลายอย่างของออริเกนและบางครั้งก็ทัศนะทางปรัชญาที่ไม่ถูกต้องของเขา. ดังนั้น คำสอนของเขาจึงทำให้การโต้แย้งอันเผ็ดร้อนปะทุขึ้นในคริสตจักร. ด้วยความพยายามจะจัดการกับการโต้เถียงเหล่านั้นและรักษาเอกภาพของคริสตจักรไว้ คริสตจักรจึงตัดสินอย่างเป็นทางการว่าออริเกนเป็นคนนอกรีต.
ออริเกนไม่ใช่คนเดียวที่เข้าใจผิด. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าไว้แล้วถึงการออกไปจากคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์. การออกหากเช่นนี้เริ่มแพร่หลายเมื่อตอนใกล้สิ้นศตวรรษแรก คือหลังจากเหล่าอัครสาวกของพระเยซูสิ้นชีวิต. (2 เธซะโลนิเก 2:6, 7) ในที่สุด บางคนที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนจึงตั้งตัวเป็นคริสเตียน “ดั้งเดิม” และประกาศว่าพวกอื่น ๆ ล้วนเป็น “พวกนอกรีต.” แต่ตามจริงแล้ว คริสต์ศาสนจักรหันเหออกจากศาสนาคริสเตียนแท้ไปมากทีเดียว.
“เรียกผิด ๆ ว่า ‘ความรู้’ ”
ทั้ง ๆ ที่ออริเกนมีข้อคาดคะเนมากมาย แต่ผลงานของเขาก็มีส่วนที่เป็นประโยชน์. ตัวอย่างเช่น เฮกซาพลา คงพระนามของพระเจ้าไว้ในรูปอักขระฮีบรูสี่ตัวแบบเดิมที่เรียกว่า เททรากรัมมาทอน. ทั้งนี้จึงให้หลักฐานสำคัญว่าคริสเตียนรุ่นแรกรู้จักและใช้พระนามเฉพาะของพระเจ้า คือยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม สังฆราชแห่งคริสตจักรในศตวรรษที่ห้าชื่อเทโอฟีลุสเคยเตือนไว้ว่า “ผลงานของออริเกนเป็นเหมือนทุ่งหญ้าที่มีดอกไม้นานาชนิด. ถ้าข้าพเจ้าพบดอกไม้สวยสักดอกที่นั่น ข้าพเจ้าจะถอนมัน; แต่ถ้ามีสิ่งใดที่ดูเต็มไปด้วยหนามข้าพเจ้าก็เลี่ยงไปเสียประหนึ่งจะถูกหนามตำเอา.”
โดยเอาคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลผสมผเสกับปรัชญากรีก ศาสนศาสตร์ของออริเกนจึงเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด และผลของการทำเช่นนั้นเป็นภัยพิบัติแก่คริสต์ศาสนจักร. ยกตัวอย่าง แม้ว่าส่วนใหญ่ของข้อคาดคะเนตามอำเภอใจของออริเกนถูกปฏิเสธในเวลาต่อมา แต่ทัศนะของเขาเกี่ยวกับ “การกำเนิดนิรันดร์” ของพระคริสต์ก็ได้วางพื้นฐานไว้แล้วสำหรับคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพซึ่งไม่เป็นตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. หนังสือคริสตจักรในสามศตวรรษแรก (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตดังนี้: “แนวโน้มในทางหลักปรัชญา [ที่ออริเกนนำเข้ามา] คงไม่จางหายไปง่าย ๆ.” ผลเป็นเช่นไร? “ความเรียบง่ายของความเชื่อแบบคริสเตียนถูกทำให้เสื่อมทราม และความผิดพลาดมากมายนับไม่ถ้วนหลั่งไหลเข้ามาในคริสตจักร.”
สำหรับออริเกน เขาน่าจะเอาใจใส่คำเตือนสติของอัครสาวกเปาโลและหลีกเลี่ยงการส่งเสริมการออกหากนี้โดย “หันหนีเสียจากการพูดที่ไร้สาระซึ่งละเมิดสิ่งบริสุทธิ์และจากข้อขัดแย้งของสิ่งที่เรียกกันผิด ๆ ว่า ‘ความรู้.’ ” แต่เนื่องจากคำสอนของเขาอาศัย “ความรู้” เช่นนั้นมากเกินไป ออริเกนจึง “หลงไปจากความเชื่อนั้น.”—1 ติโมเธียว 6:20, 21, ล.ม.; โกโลซาย 2:8.
[ภาพหน้า 31]
‘เฮกซาพลา’ ของออริเกน แสดงว่ามีการใช้พระนามของพระเจ้าในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก
[ที่มาของภาพ]
Published by permission of the Syndics of Cambridge University Library, T-S 12.182
[ที่มาของภาพหน้า 29]
Culver Pictures