อะไรมีคุณค่าจริง ๆ?
อะไรมีคุณค่าจริง ๆ?
การเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าจริง ๆ นั้นอาจทำให้ปีติยินดีได้. แต่อะไรล่ะจะมีคุณค่าเช่นนั้น? เงินจำนวนมากไหม? เพชรนิลจินดาที่ราคาแพงหรืองามแปลกตาไหม? ชื่อเสียงและความเด่นดังไหม? หลายคนตีราคาสิ่งเหล่านี้อย่างสูงส่ง. การมีสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้มีสิ่งยังชีพ, ทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น, หรือสนองความต้องการในจิตใจเพื่อจะได้การยอมรับและการประสบผลสำเร็จ. เราพยายามจะได้มาซึ่งสิ่งดังกล่าว โดยหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้บรรลุเป้าหมายและความทะเยอทะยานของเราในอนาคตไหม?
ตามปกติ ผู้คนตีราคาอะไรบางอย่างโดยดูว่าสิ่งนั้นสนองความต้องการหรือความปรารถนาส่วนตัวของเขาเพียงใด. เราทะนุถนอมสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีสวัสดิภาพและเสนอความหวังเกี่ยวกับอนาคตที่มั่นคง. เราถือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เราคลายทุกข์, สบายใจ, หรือเป็นที่ยอมรับในทันทีทันใดนั้นมีค่า. กระนั้น การถือว่าอะไรบางอย่างมีค่าโดยอาศัยความปรารถนาหรือความสนใจของเราที่มักเปลี่ยนไปนั้นเป็นการคิดตื้น ๆ และไม่มองการณ์ไกล. ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่มีคุณค่าจริง ๆ นั้นได้รับการกำหนดโดยสิ่งที่เราเห็นว่าจำเป็นมากที่สุดสำหรับเรา.
อะไรคือสิ่งจำเป็นมากที่สุดสำหรับเรา? ไม่มีอะไรที่มีคุณค่าถ้าปราศจากส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญอันได้แก่ชีวิต. ถ้าปราศจากชีวิตแล้ว เราก็ไม่ดำรงอยู่. กษัตริย์ซะโลโมแห่งยิศราเอลโบราณได้เขียนว่า “ส่วนคนตาย เขาไม่รับรู้อะไรเลย . . . ไม่มีการงาน ทั้งไม่มีการวางแผน หรือความรู้ หรือสติปัญญาในเชโอล [หลุมฝังศพทั่วไปของมนุษยชาติ].” (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10, ล.ม.) ถ้าเราตาย เราก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเป็นเจ้าของนั้น. ดังนั้นแล้ว สิ่งจำเป็นมากที่สุดสำหรับเราคือการได้มาซึ่งสิ่งที่จะรักษาชีวิตของเราไว้. อะไรจะรักษาชีวิตเราไว้ได้?
อะไรจะรักษาชีวิตของเราไว้?
กษัตริย์ซะโลโมได้ตรัสว่า “เงินก็เป็นเครื่องปกป้องกัน.” (ท่านผู้ประกาศ 7:12) ถ้ามีเงินพอเราจะมีอาหารและบ้านที่สะดวกสบายได้. เงินอาจทำให้เราได้รับความเพลิดเพลินจากการเดินทางไปยังสถานที่ห่างไกล. เงินสามารถทำให้เรามีสิ่งจำเป็นตอนที่เราทำงานไม่ได้อีกต่อไปเนื่องจากวัยชราหรือทุพพลภาพ. การมีเงินก็ มีข้อดีหลายอย่าง. กระนั้น เงินไม่สามารถรักษาชีวิตของเราไว้ได้. อัครสาวกเปาโลได้ตักเตือนติโมเธียวว่า “จงกำชับคนเหล่านั้นซึ่งมั่งมีในระบบปัจจุบัน อย่าเป็นคนหัวสูง และฝากความหวังของตน ไม่ใช่กับทรัพย์ที่ไม่แน่นอน แต่กับพระเจ้า.” (1 ติโมเธียว 6:17, ล.ม.) เงินทั้งโลกก็ซื้อชีวิตไม่ได้.
ขอพิจารณาประสบการณ์ของชายคนหนึ่งชื่อฮิโตชิ. เนื่องจากได้รับการเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ยากจน ฮิโตชิจึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนรวย. เขาเชื่อมั่นในอำนาจของเงินมากเสียจนคิดว่าจะซื้อความรักหรือความภักดีของผู้คนได้ด้วยเงินเสียด้วยซ้ำ. ครั้นแล้วมีชายคนหนึ่งมาที่ประตูบ้านของฮิโตชิแล้วถามว่า เขารู้ไหมว่าพระเยซูคริสต์ได้สิ้นพระชนม์แทนเขา. คำถามนี้ทำให้ฮิโตชิอยากรู้อยากเห็นเพราะเขาคิดว่าไม่มีใครจะตายแทนคนอย่างเขา. เขาเข้าร่วมฟังคำบรรยายสาธารณะเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลและตะลึงที่ได้ยินคำตักเตือนให้ ‘รักษาตาให้ปกติ.’ ผู้บรรยายอธิบายว่าตา “ปกติ” เป็นตาที่มองการณ์ไกลและเพ่งเล็งในสิ่งฝ่ายวิญญาณ. (ลูกา 11:34) แทนที่จะตรากตรำทำงานเพื่อได้เงิน ฮิโตชิเริ่มจัดค่านิยมฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตของเขา.
ทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุอาจทำให้เรามีความมั่นคงและความปลอดภัยในระดับหนึ่งด้วย. การมีอย่างอุดมบริบูรณ์อาจขจัดความกังวลเกี่ยวกับสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน. บ้านที่สวยงามในบริเวณที่เจริญตาเจริญใจอาจทำให้เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จ. เสื้อผ้าแบบทันสมัยและรถยนต์คันงามอาจทำให้เราได้รับความนิยมชมชอบจากคนอื่น.
นับว่าเป็นพระพรที่จะ ‘เห็นสิ่งดีจากงานหนักทั้งสิ้นของเรา.’ (ท่านผู้ประกาศ 3:13, ล.ม.) และการมีอย่างเหลือเฟืออาจทำให้คนที่เรารักสามารถ ‘หายเหนื่อย, กิน, ดื่ม, และยินดี.’ อย่างไรก็ตาม สิ่งฝ่ายวัตถุมีคุณค่าเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว. ในคำเตือนที่ให้ระวังความโลภ พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ชีวิตของบุคคลใด ๆ มิได้อยู่ในของบริบูรณ์ซึ่งเขามีอยู่นั้น.” (ลูกา 12:15-21) ทรัพย์สมบัติ ไม่ว่ามีจำนวนหรือคุณค่ามากแค่ไหนก็ไม่สามารถรับประกันชีวิตเราได้.
ตัวอย่างเช่น ลิซได้แต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน. เธอเล่าว่า “เรามีบ้านที่สวยงามและรถยนต์สองคัน ฐานะทางการเงินของเราเอื้ออำนวยเราให้มีอิสระที่จะเพลิดเพลินกับอะไรก็ได้ที่โลกเสนอให้ทางด้านวัตถุ . . . แปลกทีเดียว ดิฉันก็ยังคงกังวลในเรื่องเงินอยู่.” เธอชี้แจงว่า “เรามีมากเหลือเกินที่จะสูญเสีย. ดูเหมือนว่ายิ่งคนเรามีมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกปลอดภัยน้อยลงเท่านั้น.”
หลายคนตีราคาชื่อเสียงและความเด่นดังไว้สูงส่งด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้อาจนำมาซึ่งคำสรรเสริญและเกียรติยศ. ในโลกทุกวันนี้ อาชีพที่ประสบผลสำเร็จเป็นความสำเร็จที่ได้รับการอิจฉา. การพัฒนาความสามารถหรือทักษะที่ไม่มีใดเหมือนอาจช่วยเราสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง. คนอื่นอาจสรรเสริญเรา ให้ความนับถืออย่างสูงส่งต่อความคิดเห็นของเรา และอยากจะได้รับความพอใจจากเรา. ทั้งหมดนี้อาจทำให้ปีติยินดีและพอใจ. อย่างไรก็ดี ในที่สุด สิ่งดังกล่าวก็ค่อย ๆ เลือนหายไป. ซะโลโมมีทั้งสง่าราศีและอำนาจเท่าที่กษัตริย์จะพึงมีได้ แต่พระองค์ทรงคร่ำครวญว่า “ไม่มีใครระลึกถึงคนมีสติปัญญาเช่นเดียวกับคนเขลา . . . ก็ [ถูก] ลืมกันไปหมดแล้ว.” (ท่านผู้ประกาศ 2:16, ฉบับแปลใหม่) ชื่อเสียงหรือความเด่นดังไม่ได้ให้ชีวิตแก่คนเรา.
ช่างแกะสลักชื่อเชโลได้มาเห็นความสำคัญของสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าชื่อเสียง. เนื่องจากมีพรสวรรค์ เขาจึงมีคุณสมบัติเข้ารับการศึกษาซึ่งได้เพิ่มทักษะของเขา. ไม่ช้างานของเขาก็ได้รับการยกย่องชมเชยในวงการสื่อมวลชนและจากนักวิจารณ์ด้านศิลปะ. มีการจัดแสดงงานแกะสลักหลายชิ้นของเขาในเมืองใหญ่ ๆ ของยุโรป. เชโลเล่าว่า “ผมต้องยอมรับว่าชั่วระยะหนึ่งศิลปะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตผม. อย่างไรก็ตาม ผมได้มาตระหนักว่า สำหรับผมแล้ว การทำอาชีพของตัวเองต่อไปคงจะเทียบได้กับการพยายามปรนนิบัตินายสองนาย. (มัดธาย 6:24) ผมเชื่อมั่นว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมจะทำได้คือ ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ดังนั้น ผมจึงได้ตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะเลิกงานเป็นช่างแกะสลัก.”
อะไรมีคุณค่ามากที่สุด?
เนื่องจากไม่มีอะไรที่มีความหมายหรือมีคุณค่าใด ๆ เลยหากปราศจากชีวิต มีอะไรที่เราหามาได้ซึ่งจะรับประกันว่าเราจะมีชีวิตอยู่เรื่อยไป? ชีวิตทั้งสิ้นเกิดจากพระยะโฮวาบทเพลงสรรเสริญ 36:9) ที่จริง “โดยพระองค์ เรามีชีวิตและเคลื่อนไหว และเป็นอยู่.” (กิจการ 17:28, ล.ม.) พระองค์ทรงให้ชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานแก่คนเหล่านั้นที่พระองค์รัก. (โรม 6:23) เราต้องทำประการใดเพื่อมีคุณสมบัติได้รับของประทานนี้?
พระเจ้า. (การได้รับของประทานเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ขึ้นอยู่กับการที่เรามีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. เพราะฉะนั้น ความพอพระทัยของพระองค์จึงมีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดที่เราจะมีได้. เมื่อเราได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า เราก็มีความหวังเกี่ยวกับความสุขแท้และถาวร. แต่ถ้าไม่มีความพอพระทัยของพระเจ้าแล้ว เราก็จะประสบกับการสูญสิ้นตลอดกาล. ดังนั้นแล้ว ปรากฏชัดว่า สิ่งใดก็ตามซึ่งจะช่วยเราให้บรรลุสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวานั้นก็นับว่ามีคุณค่ามหาศาล.
สิ่งที่เราต้องทำ
ความสำเร็จของเราขึ้นอยู่กับการได้รับความรู้. แหล่งแห่งความรู้ถ่องแท้คือคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระยะโฮวา. คัมภีร์ไบเบิลเท่านั้นบอกเราว่าต้องทำอะไรเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย. เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วน. ความพยายามอย่างขันแข็งที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งที่เราจะเรียนได้เกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์นั้นยังผลด้วย ‘ความรู้ซึ่งหมายถึงชีวิตนิรันดร์.’ (โยฮัน 17:3, ล.ม.) ความรู้ดังกล่าวเป็นสมบัติล้ำค่าที่พึงทะนุถนอมไว้!—สุภาษิต 2:1-5.
ความรู้ที่เราได้รับจากพระคำของพระเจ้าเตรียมเราไว้สำหรับขั้นต่อไป—การแสดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์. พระยะโฮวาทรงบัญชาว่า ทุกคนที่มาหาพระองค์ต้องทำเช่นนั้นโดยทางพระเยซู. (โยฮัน 14:6) ตามจริงแล้ว “ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย.” (กิจการ 4:12) ความรอดในที่สุดของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘เงินหรือทอง. . . . แต่ขึ้นอยู่กับโลหิตอันมีค่ามากของพระคริสต์.’ (1 เปโตร 1:18, 19, ล.ม.) เราต้องแสดงความเชื่อโดยการเชื่อฟังคำสอนของพระเยซูและติดตามแบบอย่างของพระองค์. (เฮ็บราย 12:1-3; 1 เปโตร 2:21) และเครื่องบูชาของพระองค์ช่างมีคุณค่าสักเพียงไร! การนำผลประโยชน์ของเครื่องบูชานั้นมาใช้กำหนดอนาคตถาวรของมวลมนุษยชาติ. เมื่อมีการนำมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของเราแล้ว เราก็ได้รับของประทานที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง นั่นคือชีวิตนิรันดร์.—โยฮัน 3:16.
พระเยซูตรัสว่า “จงรักพระองค์ [พระยะโฮวา, ล.ม.] ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า.” (มัดธาย 22:37) การรักพระยะโฮวาหมายถึงการที่ “เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์.” (1 โยฮัน 5:3) พระบัญญัติของพระองค์เรียกร้องให้เราแยกตัวต่างหากจากโลก, รักษาความประพฤติที่ซื่อตรง, และสนับสนุนราชอาณาจักรของพระองค์ด้วยความภักดี. นั่นคือวิธีที่เรา “เลือกเอาชีวิต” แทนที่จะเลือกเอาความตาย. (พระบัญญัติ 30:19, ล.ม.) ถ้าเรา ‘เข้าใกล้พระเจ้า พระองค์จะทรงเข้าใกล้เรา.’—ยาโกโบ 4:8, ล.ม.
ความพอพระทัยของพระเจ้าเป็นสิ่งค้ำประกันที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติทั้งมวลของโลกนี้มากนัก. คนเหล่านั้นที่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดในโลก! ดังนั้น ขอให้เราพยายามได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติที่มีคุณค่าจริง ๆ นั่นคือความพอพระทัยของพระยะโฮวานั่นเอง. แน่นอน ขอให้เราเอาใจใส่คำตักเตือนของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “จงติดตามความชอบธรรม, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความเชื่อ, ความรัก, ความเพียรอดทน, มีใจอ่อนโยน. จงเข้าในการสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ ยึดมั่นอยู่กับชีวิตนิรันดร์.”—1 ติโมเธียว 6:11, 12, ล.ม.
[ภาพหน้า 21]
อะไรที่คุณถือว่ามีคุณค่าอย่างสูงส่ง? เงิน, ทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุ, ชื่อเสียง หรือว่าอะไรอื่นอีก?
[ภาพหน้า 23]
เราต้องศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วน