ชีวิตมั่งคั่งเนื่องด้วยการรับใช้พระยะโฮวา
เรื่องราวชีวิตจริง
ชีวิตมั่งคั่งเนื่องด้วยการรับใช้พระยะโฮวา
เล่าโดยรัสเซลล์ เคอร์เซน
ผมเกิดวันที่ 22 กันยายน 1907 เจ็ดปีก่อนยุคสมัยที่เด่นกว่ายุคอื่นมากซึ่งเริ่มขึ้นด้วยการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. ครอบครัวของเรามั่งคั่งในแนวทางที่นับว่าสำคัญอย่างยิ่ง. หลังจากคุณฟังรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติพวกเราสักเล็กน้อย ผมคิดว่าคุณคงจะเห็นพ้องด้วย.
ขณะที่ยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ คุณย่าเคอร์เซนได้สืบค้นหาความจริงเรื่องพระเจ้าอยู่แล้ว. ก่อนย่างเข้าสู่วัยรุ่น ย่าได้แวะเยือนโบสถ์หลายแห่งในเมืองสปีตซ์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บ้านเกิดของท่านซึ่งทัศนียภาพที่นั่นงดงามมาก. หลังจากย่าแต่งงานไม่กี่ปี ครอบครัวเคอร์เซนได้สมทบกับกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งมาถึงชายฝั่งประเทศสหรัฐในปี 1887.
หลังจากครอบครัวได้ตั้งหลักปักฐานในรัฐโอไฮโอ ณ ที่นี่ ประมาณปี 1900 ย่าได้พบสมบัติซึ่งพยายามเสาะหามาตลอด. สมบัติที่ว่านี้พบได้จากหน้าหนังสือที่ชาลส์ เทซ รัสเซลล์เขียน ชื่อว่าเวลาใกล้จะถึงแล้ว ในภาษาเยอรมัน. ย่าเข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่าเรื่องที่อ่านนั้นเป็นความสว่างเกี่ยวกับความจริงแห่งคัมภีร์ไบเบิล. แม้ย่าแทบจะอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก แต่ท่านได้บอกรับวารสารหอสังเกตการณ์ ภาษาอังกฤษ. ด้วยวิธีนี้ ท่านเรียนรู้ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น และเรียนภาษาอังกฤษไปพร้อม ๆ กัน. ปู่ไม่เคยสนใจเรื่องฝ่ายวิญญาณอย่างที่ภรรยาของท่านสนใจ.
ในจำนวนลูก 11 คนของคุณย่าเคอร์เซน มีเพียงลูกชายสองคนคือจอห์นผู้พี่และอะดอล์ฟน้องชายที่เห็นคุณค่าสมบัติฝ่ายวิญญาณที่ย่าได้พบ. จอห์นเป็นคุณพ่อของผมเอง และท่านได้รับบัพติสมาในปี 1904 ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ณ การประชุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น. เนื่องจากนักศึกษาพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนร่ำรวย จึงมีการกำหนดเวลาเดินทางไปร่วมการประชุมใหญ่ให้ตรงกันกับงานเวิลด์แฟร์ในเมืองเซนต์หลุยส์ เพื่อจะได้ส่วนลดค่าโดยสารรถไฟเป็น
พิเศษ. ต่อมาในปี 1907 อะดอล์ฟซึ่งเป็นอาของผมได้รับบัพติสมา ณ การประชุมใหญ่ ที่เมืองไนแอการาฟอลส์ รัฐนิวยอร์ก. ด้วยความกระตือรือร้น ทั้งพ่อและอาของผมได้ประกาศเผยแพร่ความรู้ที่ท่านเรียนจากคัมภีร์ไบเบิล และในที่สุดทั้งสองคนได้มาเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าไพโอเนียร์).ดังนั้น ปี 1907 ตอนที่ผมเกิด ครอบครัวของเรามั่งคั่งอยู่แล้วทางฝ่ายวิญญาณ. (สุภาษิต 10:22) ปี 1908 ผมเป็นแค่เด็กทารก เมื่อพ่อแม่ผมคือจอห์นกับไอดาได้พาผมไปยังการประชุมภาค “มุ่งสู่ชัยชนะ” ที่พุตอินเบย์ รัฐโอไฮโอ. เวลานั้น โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ดเป็นผู้รับใช้เดินทาง และเป็นประธานการประชุม. ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ท่านเดินทางไปถึงเมืองดัลตัน รัฐโอไฮโอ ได้แวะเยี่ยมพวกเราที่บ้านและให้คำบรรยายแก่กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในท้องถิ่น.
แน่ละ ลำพังผมคงจำเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ได้หรอก แต่ผมจำการประชุมใหญ่ ปี 1911 ที่เมืองเมาน์เทนเลกปาร์ก รัฐแมริแลนด์ได้. ที่นั่น ผมกับเอสเทอร์น้องสาวได้พบบราเดอร์ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ ท่านได้ดูแลการเผยแพร่ทั่วโลกที่นักศึกษาพระคัมภีร์ทำกันอยู่.
วันที่ 28 มิถุนายน ปี 1914 โลกกระโจนสู่สงครามซึ่งมีสาเหตุจากการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กเฟอร์ดินันด์กับพระชายาที่เมืองซาราเยโว ส่วนผมกับคนในครอบครัวเข้าร่วมการประชุมภาคที่สงบสุขในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ. ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต ผมมีสิทธิพิเศษได้อยู่ ณ การประชุมใหญ่แห่งไพร่พลของพระยะโฮวาหลายครั้ง. บางครั้งมีผู้เข้าร่วมประชุมเพียงร้อยกว่าคนหรือประมาณนั้น. แต่บางครั้งก็เป็นการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นในสนามกีฬาบางแห่งซึ่งใหญ่ที่สุดของโลกเลยทีเดียว.
บ้านของเราเป็นศูนย์กลาง
จากปี 1908 ถึงปี 1918 โดยประมาณ บ้านของเราในเมืองดัลตันอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย กับเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ เราได้จัดบ้านให้เป็นที่ประชุมสำหรับประชาคมขนาดเล็กของกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. บ้านของเราเป็นศูนย์ต้อนรับหลายต่อหลายคนที่เดินทางมาให้คำบรรยาย. แขกของเรามักผูกม้าและรถเทียมม้าของเขาไว้หลังคอกปศุสัตว์ และเล่าประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น อีกทั้งความรู้ฝ่ายวิญญาณซึ่งมีคุณค่าให้ผู้เข้าร่วมการประชุมฟัง. วาระต่าง ๆ ดังกล่าวให้การหนุนกำลังใจอย่างแท้จริง!
พ่อผมเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียน แต่หัวใจของท่านผูกพันอยู่กับงานสั่งสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาการสอนทั้งมวล นั่นคือการเป็นคริสเตียนผู้เผยแพร่. ท่านทำให้แน่ใจว่าได้สอนครอบครัวของท่านให้รู้จักพระยะโฮวา และทุกวันตอนเย็นพวกเราได้ร่วมใจอธิษฐานด้วยกันฐานะเป็นครอบครัว. เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ปี 1919 พ่อตัดสินใจขายม้าทั้งรถเทียมม้า แล้วซื้อรถฟอร์ดรุ่น 1914 ด้วยราคา 175 ดอลลาร์ ทั้งนี้ก็เพื่อท่านจะไปถึงผู้คนได้มากขึ้นในงานเผยแพร่. ปี 1919 และปี 1922 ครอบครัวของเราได้นั่งรถฟอร์ดคันนี้แหละไปร่วมการประชุมใหญ่ที่น่าจดจำของกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์ในเมืองซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ.
ทุกคนในครอบครัวของเราคือพ่อ, แม่, เอสเทอร์, จอห์น น้องชาย, และตัวผมเองได้เข้าส่วนร่วมกิจกรรมงานเผยแพร่แก่สาธารณชนทั่วไป. ผมจำครั้งแรกได้แม่นเมื่อเจ้าของบ้านถามผมข้อหนึ่งเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. ตอนนั้นอายุผมราว ๆ เจ็ดขวบ. ชายคนนั้นถามผม “ไอ้หนู อาร์มาเก็ดดอนคืออะไร?” ด้วยการช่วยนิดหน่อยจากพ่อ ผมสามารถให้คำตอบได้จากคัมภีร์ไบเบิล.
เริ่มเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา
ปี 1931 ครอบครัวของเราไปร่วมการประชุมใหญ่ที่โคลัมบัส รัฐโอไฮโอ เราตื่นเต้นดีใจมากที่ได้ร่วมรับเอาชื่อใหม่คือพยานพระยะโฮวา. จอห์นตื่นเต้นมากถึงกับตัดสินใจชวนผมเข้าสู่งานไพโอเนียร์ด้วยกัน. * เราทำอย่างนั้นจริง ๆ อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่และเอสเทอร์ก็ตกลงใจทำเช่นเดียวกัน. ช่างเป็นความมั่งคั่งเสียจริง ๆ เมื่อครอบครัวร่วมสามัคคีทำงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วยความชื่นชมยินดี! ผมไม่เคยนึกเบื่อหน่ายในการขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ประทานสิ่งล้ำค่านี้แก่เรา. แม้พวกเรามีความสุขมากอยู่แล้ว กระนั้น พวกเรายังมีสิ่งซึ่งยังความชื่นใจยินดีมากกว่านี้รออยู่.
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1934 ผมเริ่มรับใช้ที่สำนักงานกลางแห่งพยานพระยะโฮวา (เรียกว่าเบเธล) ในบรุกลิน นิวยอร์ก. หลังจากนั้นราว ๆ สองสามสัปดาห์ จอห์นได้ไปสมทบกับผมที่นั่น. เราอยู่ห้องเดียวกันเรื่อยมากระทั่งเขาแต่งงานกับเจสซีภรรยาสุดที่รักของเขาในปี 1953.
หลังจากผมกับจอห์นเข้าอยู่ในเบเธล พ่อกับแม่ก็ตอบรับงานมอบหมายฐานะไพโอเนียร์ เผยแพร่ไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ภายในประเทศ และเอสเทอร์กับจอร์จ รีด สามีของเธอร่วมสมทบไปด้วย. พ่อแม่ของเราเป็นไพโอเนียร์อย่างต่อเนื่อง กระทั่งท่านทั้งสองเสียชีวิตเสร็จสิ้นภารกิจบนแผ่นดินโลกในปี 1963. เอสเทอร์กับสามีของเธอดูแลครอบครัวเป็นอย่างดี. ผมมีหลานเหลนชายหญิงหลายคน ซึ่งผมก็รักทุกคน.
การงานและการสมาคมคบหาที่เบเธล
จอห์นใช้ทักษะด้านงานช่างของเขาทำงานที่เบเธลและร่วมมือกับสมาชิกเบเธลคนอื่น ๆ ทำโครงการต่าง ๆ อาทิ การผลิตหีบเสียงชนิดหิ้วได้. พยานพระยะโฮวานับพัน ๆ คนใช้หีบเสียงชนิดนี้ในงานเผยแพร่ตามบ้าน. นอกจากนั้น จอห์นยังได้ช่วยออกแบบและประดิษฐ์เครื่องห่อวารสารและเครื่องติดชื่อบนกระดาษห่อที่จะส่งทางไปรษณีย์ถึงผู้บอกรับแต่ละคน.
ผมเริ่มงานรับใช้ที่เบเธลในแผนกทำปกหนังสือ. ในโรงงานสมัยนั้นมีคนหนุ่ม ๆ หลายคนทำงานซึ่งเวลานี้ยังคงรับใช้อย่างซื่อสัตย์อยู่ที่เบเธล. คนเหล่านี้รวมถึงแครีย์ บาร์เบอร์และโรเบิร์ต ฮัตซ์เฟลด์. ในบรรดาผู้ที่ผมชื่นชอบที่ล่วงลับไปแล้วและยังอยู่ในความทรงจำของผมก็มี นาทาน นอรร์, คาร์ล ไคลน์, ไลแมน สวิงเกิล, เคลาส์ เจนเซน, แกรนต์ ซูตเตอร์, จอร์จ แกนกัส, ออริน ฮิบบาร์ด, จอห์น ซิออรัส, โรเบิร์ต เพย์น, ชาลส์ เฟเกล, เบนโน บุร์ชิก, และจอห์น เพอร์รี. คนเหล่านี้ทำงานปีแล้วปีเล่าด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เคยโอดครวญหรือคาดหมาย “การเลื่อนตำแหน่ง.” กระนั้น สำหรับคริสเตียนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ซึ่งรับการเจิมด้วยพระวิญญาณ ยิ่งองค์การเจริญเติบโต ก็ยิ่งมีความรับผิดชอบด้านต่าง ๆ ที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น. บางท่านรับใช้ในคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาด้วยซ้ำไป.
ผมได้บทเรียนสำคัญจากการทำงานกับพี่น้องที่มีน้ำใจเสียสละเหล่านี้. คนทำงานอาชีพได้ค่าแรงงานเป็นเงินเดือน. นั่นเป็นบำเหน็จของเขา. งานรับใช้ที่เบเธลนำมาซึ่งพระพรอุดมฝ่ายวิญญาณ และเฉพาะชายหญิงที่เป็นมนุษย์1 โกรินโธ 2:6-16.
ฝ่ายวิญญาณถึงจะหยั่งรู้ค่าและรู้สึกขอบคุณที่ได้บำเหน็จดังกล่าว.—นาทาน นอรร์ได้เข้ามาในเบเธลปี 1923 ขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น มีหน้าที่ดูแลฝ่ายโรงงานในช่วงทศวรรษ 1930. ทุก ๆ วันท่านมักเดินทั่วโรงงานและทักทายคนงานแต่ละคนอย่างทั่วถึง. พวกเราที่เพิ่งเข้าเบเธลใหม่ ๆ รู้สึกขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจเป็นส่วนตัวเช่นนั้น. ในปี 1936 พวกเราได้รับเครื่องพิมพ์ใหม่ถอดด้ามจากประเทศเยอรมนี และพี่น้องหนุ่มบางคนประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกันอย่างยากลำบาก. ดังนั้น บราเดอร์นอรร์จึงใส่ชุดทำงานและเข้ามาช่วยบราเดอร์หนุ่ม ๆ เหล่านั้นทำงานนานกว่าหนึ่งเดือน จนกระทั่งพวกเขาสามารถเดินเครื่องได้.
บราเดอร์นอรร์เป็นคนขยันขันแข็งซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ไม่อาจเทียบได้เลย. แต่ท่านก็รู้วิธีที่จะเพลิดเพลินจากการพักผ่อนหย่อนใจด้วย. แม้หลังจากได้รับการแต่งตั้งในเดือนมกราคม 1942 ให้ดูแลกิจการเผยแพร่ของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก แต่ท่านก็ยังลงสนามเล่นเบสบอลเป็นครั้งคราวกับสมาชิกครอบครัวเบเธลและกับนักเรียนโรงเรียนมิชชันนารีกิเลียด ณ สนามใกล้เซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก.
เดือนเมษายน ปี 1950 ครอบครัวเบเธลได้ย้ายไปอยู่ที่อาคารสูงสิบชั้น ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จที่ 124 โคลัมเบียไฮตส์ บรุกลิน นิวยอร์ก. ห้องรับประทานอาหารแห่งใหม่มีที่นั่งมากพอสำหรับพวกเราทุกคนจะร่วมรับประทานอาหารได้พร้อมกัน. ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างอาคารที่อาศัยแห่งนี้ซึ่งกินเวลานานสามปีกว่า พวกเราไม่อาจจัดวาระการนมัสการตอนเช้าได้. น่ายินดีเพียงใดเมื่อเราสามารถร่วมการนมัสการตามวาระได้อีกครั้งหนึ่ง! บราเดอร์นอรร์มอบหมายให้ผมนั่งอยู่กับท่าน ณ โต๊ะของประธาน เพื่อผมจะได้ช่วยท่านจำชื่อสมาชิกใหม่ของครอบครัว. ผมนั่งประจำอยู่ที่โต๊ะเดิมนี้นานถึง 50 ปีทีเดียว เพื่อการนมัสการตอนเช้าและอาหารมื้อเช้าด้วย. ครั้นแล้ว ได้เลิกใช้ห้องอาหารนี้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2000 และผมถูกมอบหมายไปอยู่ห้องอาหารห้องหนึ่งที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ ในอาคารซึ่งเดิมเป็นโรงแรมเทาเวอรส์.
ในช่วงทศวรรษ 1950 ผมทำงานระยะหนึ่งในโรงงานหล่อแม่พิมพ์ (ไลโนไทป์) จัดเตรียมตัวพิมพ์แต่ละบรรทัดแล้วประกอบเป็นหน้าหนังสือ อันเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการทำแม่พิมพ์. ผมไม่ชอบงานที่ว่านี้ ทว่าวิลเลียม ปีเตอร์สันซึ่งดูแลแผนกเครื่องจักรนั้นดีต่อผมมาก ผมจึงรู้สึกเพลิดเพลินกับการทำงานที่นี่. ต่อมาในปี 1960 มีความต้องการอาสาสมัครทำงานทาสีอาคารที่พักอาศัยซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ณ เลขที่ 107 โคลัมเบียไฮตส์. ผมยินดีที่ได้เสนอตัวรับใช้ช่วยตระเตรียมอาคารใหม่สำหรับครอบครัวเบเธลของเราที่กำลังขยายตัวเติบโต.
หลังจากเสร็จงานทาสีอาคารเลขที่ 107 โคลัมเบียไฮตส์ได้ไม่นาน ผมประหลาดใจและรู้สึกยินดีที่ถูกมอบหมายงานต้อนรับแขกที่มาเยือนเบเธล. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาที่ผมทำหน้าที่ต้อนรับแขกช่างเป็นช่วงเวลาที่ดีวิเศษจริง ๆ เช่นเดียวกับช่วงเวลาอื่น ๆ ที่ผมรับใช้ในเบเธล. เมื่อได้เห็นแขกผู้มาเยือนก็ดี หรือสมาชิกใหม่ของครอบครัวเบเธลก็ดีเดินผ่านประตูเข้ามา ช่างน่าตื่นเต้นเมื่อคิดถึงผลอันเนื่องมาจากความบากบั่นร่วมกันของเราในการทำงานเพื่อเพิ่มพูนผลแห่งราชอาณาจักร.
นักศึกษาพระคัมภีร์ผู้มีความปรารถนาแรงกล้า
ครอบครัวเบเธลของเรามั่งคั่งบริบูรณ์ฝ่ายวิญญาณเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวนี้รักคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อผมมาถึงเบเธลทีแรก ผมถามเอมมา แฮมิลตัน ซึ่งทำงานด้านพิสูจน์อักษรว่าเธออ่านคัมภีร์ไบเบิลจบกี่รอบ. เธอตอบว่า “สามสิบห้ารอบและหลังจากนั้นไม่ได้นับอีกเลย.” แอนตัน เคอร์เบอร์ คริสเตียนที่เข้มแข็งอีกคนหนึ่งซึ่งรับใช้ที่เบเธลประมาณเวลาเดียวกันเคยพูดว่า “อย่าให้คัมภีร์ไบเบิลอยู่ห่างเกินมือจะเอื้อมไปถึง.”
ภายหลังการสิ้นชีวิตของบราเดอร์รัสเซลล์ในปี 1916 บราเดอร์โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ดได้รับหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ในองค์การแทนบราเดอร์รัสเซลล์. บราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ด เป็นนักพูดในที่สาธารณะที่เปี่ยมด้วยพลังและประสบผลสำเร็จ ท่านเป็นนักกฎหมายที่แก้ต่างให้ฝ่ายพยานพระยะโฮวาในศาลสูงแห่งสหรัฐ. หลังจากรัทเทอร์ฟอร์ดเสียชีวิตเมื่อปี 1942 บราเดอร์นอรร์เข้ารับหน้าที่แทนและบากบั่นพยายามอย่างหนักเพื่อพัฒนาศักยภาพของท่านในการบรรยายสาธารณะ. เนื่องจากห้องของผมอยู่ใกล้ห้องท่าน ผมมักได้ยินท่านฝึกซ้อมคำบรรยายซ้ำแล้ว
ซ้ำอีก. ต่อมา ด้วยความมานะพยายามอย่างขันแข็ง ท่านได้เป็นผู้บรรยายสาธารณะที่ดีเยี่ยม.เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1942 บราเดอร์นอรร์ได้ตั้งโครงการฝึกอบรมอย่างหนึ่งขึ้นมาเพื่อช่วยพวกเราบราเดอร์ในเบเธลให้ปรับปรุงสมรรถนะการสอนและการพูด. โรงเรียนนี้เพ่งเล็งการค้นคว้าด้านคัมภีร์ไบเบิลและการบรรยายสาธารณะ. ตอนเริ่มต้น พวกเราแต่ละคนถูกมอบหมายให้บรรยายสั้น ๆ เรื่องบุคคลในคัมภีร์ไบเบิล. คำบรรยายแรกของผมเป็นเรื่องโมเซ. ปี 1943 โรงเรียนคล้าย ๆ กันนี้ได้เริ่มขึ้นในประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา และดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน. ที่เบเธลยังคงเน้นถึงการได้มาซึ่งความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลและการพัฒนาวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพ.
ชั้นเรียนแรกของโรงเรียนมิชชันนารีกิเลียดได้เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1943. ตอนนี้ นักเรียนรุ่นที่ 111 ของโรงเรียนเพิ่งจบหลักสูตร! ตลอดช่วงดำเนินการนานกว่า 58 ปี มีมากกว่า 7,000 คนได้รับการฝึกอบรมให้รับใช้ฐานะมิชชันนารีอยู่ทั่วโลก. น่าทึ่งจริง ๆ เมื่อโรงเรียนนี้เริ่มดำเนินงานในปี 1943 พยานพระยะโฮวาทั่วโลกมี 100,000 กว่าคนเท่านั้น. ในปัจจุบัน มากกว่า 6,000,000 คนมีส่วนร่วมงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า!
การหยั่งรู้ค่ามรดกฝ่ายวิญญาณของผม
ไม่นานก่อนการก่อตั้งโรงเรียนกิเลียด พวกเราสามคนจากเบเธลได้รับมอบหมายให้เยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ทั่วสหรัฐ. เราพักที่ประชาคมเหล่านั้นหนึ่งวันบ้าง สองสามวันบ้าง หรือกระทั่งหนึ่งสัปดาห์เพื่อชูกำลังประชาคมเหล่านั้นให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. เราถูกเรียกว่าคนรับใช้พวกพี่น้อง ชื่อนี้ภายหลังเปลี่ยนเป็นผู้รับใช้หมวดหรือผู้ดูแลหมวด. แต่ไม่นานหลังจากโรงเรียนกิเลียดเปิดดำเนินการ ผมถูกขอให้กลับมาสอนบางวิชา. ผมทำหน้าที่เป็นผู้สอนประจำตั้งแต่รุ่น 2 ถึงรุ่น 5 และยังได้สอนรุ่นที่ 14 แทนผู้สอนประจำอีกท่านหนึ่งด้วย. การได้ทบทวนกับนักเรียนถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในช่วงต้น ๆ ของประวัติองค์การของพระยะโฮวาสมัยปัจจุบัน—หลายเรื่องผมสามารถเล่าจากประสบการณ์ส่วน
ตัว—ทำให้ผมหยั่งรู้ค่ามรดกอันมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณของผมมากยิ่งขึ้น.สิทธิพิเศษอีกประการหนึ่งที่ผมชื่นชมเรื่อยมาตลอดหลายปีคือการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติแห่งไพร่พลของพระยะโฮวา. ปี 1963 ผมได้เดินทางรอบโลกพร้อมกับคนอื่นอีก 500 คนเพื่อร่วมการประชุมใหญ่ “ข่าวดีนิรันดร์.” การประชุมใหญ่ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์ที่ผมได้ร่วม ได้แก่ การประชุมปี 1989 ในวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์; ปี 1990 ที่นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี; และปี 1993 ที่มอสโก ประเทศรัสเซีย. ณ การประชุมแต่ละแห่ง ผมมีโอกาสได้พบบราเดอร์และซิสเตอร์บางคนผู้เป็นที่รักของเราซึ่งเคยอดทนการกดขี่ข่มเหงนานนับสิบ ๆ ปีทีเดียวภายใต้การปกครองทั้งระบอบนาซีและระบอบคอมมิวนิสต์. ประสบการณ์เหล่านั้นช่างเสริมความเชื่อให้มั่นคงจริง ๆ!
ชีวิตของผมเพื่องานรับใช้พระยะโฮวานั้นมั่งคั่งบริบูรณ์โดยแท้! พระพรฝ่ายวิญญาณที่หลั่งไหลมานั้นจะไม่มีวันจบสิ้น. และไม่เหมือนความมั่งคั่งฝ่ายวัตถุ ยิ่งเราให้ปันสิ่งมีค่าเหล่านี้มากเท่าไร ทรัพย์อันมีค่าของเรายิ่งเพิ่มพูน. บางครั้งผมได้ยินบางคนกล่าวว่าเขาไม่น่าจะได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้เป็นพยานพระยะโฮวา. เขาพูดในทำนองว่าเขาจะหยั่งรู้ค่าความจริงของคัมภีร์ไบเบิลมากกว่านี้หากได้ประสบชีวิตภายนอกองค์การของพระเจ้าเสียก่อน.
ผมรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ได้ยินพวกหนุ่มสาวพูดอย่างนั้นเพราะจริง ๆ แล้วเขากำลังบอกว่าดีกว่าที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตมาด้วยความรู้ตามแนวทางของพระยะโฮวา. แต่คิดดูสิ ผู้คนซึ่งได้มาเรียนรู้ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลในภายหลัง ก็จำต้องละเลิกนิสัยไม่ดีและแนวคิดมากมายที่เสื่อมทราม. ผมรู้สึกขอบคุณพ่อแม่ของผมอย่างมากเสมอที่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกสามคนของท่านในแนวทางแห่งความชอบธรรม. จอห์นได้รักษาสถานภาพฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาจนกระทั่งสิ้นชีวิตในเดือนกรกฎาคม ปี 1980 ส่วนเอสเทอร์ยังคงเป็นพยานฯ ที่ซื่อสัตย์ตราบทุกวันนี้.
ผมมองย้อนหลังด้วยความปลื้มปีติที่ผมมีมิตรภาพที่ดีกับพี่น้องคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์มากมายทั้งชายและหญิง. ผมเข้ามาอยู่ในเบเธลจนบัดนี้มากกว่า 67 ปีแล้วซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ. แม้ผมไม่ได้แต่งงาน แต่ผมมีลูกชายลูกสาวฝ่ายวิญญาณหลายคน รวมถึงหลานฝ่ายวิญญาณด้วย. และผมดีใจเมื่อนึกถึงสมาชิกใหม่ทั่วโลกซึ่งเป็นที่รักภายในครอบครัวฝ่ายวิญญาณของเราที่ผมยังจะได้พบปะ แต่ละคนมีค่าทั้งนั้น. ถ้อยคำเหล่านี้ช่างเป็นจริงเหลือเกินที่ว่า “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง; และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย”!—สุภาษิต 10:22.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 16 ผมได้รับบัพติสมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1932. จริง ๆ แล้ว ผมรับบัพติสมาภายหลังที่ได้ตัดสินใจว่าผมควรเป็นไพโอเนียร์.
[ภาพหน้า 20]
จากซ้ายไปขวา: คุณพ่อพร้อมกับจอห์นน้องชายผมนั่งตักท่าน, เอสเทอร์, ผม, และคุณแม่
[ภาพหน้า 23]
สอนในชั้นเรียนกิเลียด ปี 1945
บนขวา: ผู้สอนที่โรงเรียนกิเลียด เอดวาร์โด เคลเลอร์, เฟรด แฟรนซ์, ผม, และอัลเบิร์ต ชโรเดอร์
[ภาพหน้า 24]
คิดรำพึงถึงชีวิตมั่งคั่งของผมเนื่องด้วยการรับใช้พระยะโฮวา