‘จงเรียนจากเรา’
‘จงเรียนจากเรา’
“จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลายและเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า.”—มัดธาย 11:29, ล.ม.
1. เหตุใดการเรียนรู้จากพระเยซูจึงให้ความเพลิดเพลินและเสริมสร้างชีวิตเราให้มีความสุขยิ่งขึ้น?
พระเยซูคริสต์ทรงคิด, สอน, และกระทำอย่างเหมาะสมเสมอ. ช่วงเวลาที่พระองค์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลกนั้นสั้น แต่พระองค์ทรงเพลิดเพลินกับงานประจำชีพที่มีค่าน่าพอใจ และพระองค์ทรงมีความสุขเสมอ. พระองค์ทรงรวบรวมเหล่าสาวกและสอนพวกเขาเกี่ยวกับวิธีนมัสการพระเจ้า, วิธีแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์, และวิธีเอาชนะโลกนี้. (โยฮัน 16:33) พระองค์ทรงเติมความหวังไว้ในหัวใจของพวกเขาและ “ทรงนำชีวิตและซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่านั้นให้กระจ่างแจ้งโดยกิตติคุณ.” (2 ติโมเธียว 1:10) หากคุณถือว่าตัวคุณเองเป็นสาวกของพระองค์ คุณคิดว่าการเป็นสาวกหมายถึงอะไร? ด้วยการพิจารณาคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับเหล่าสาวก เราสามารถเรียนรู้วิธีที่จะเสริมสร้างชีวิตเราให้มีความสุขยิ่งขึ้น. การพิจารณาดังกล่าวรวมไปถึงการยอมรับทัศนะของพระองค์และการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานบางอย่าง.—มัดธาย 10:24, 25; ลูกา 14:26, 27; โยฮัน 8:31, 32; 13:35; 15:8.
2, 3. (ก) การเป็นสาวกของพระเยซูหมายถึงอะไร? (ข) เหตุใดจึงสำคัญที่จะถามตัวเองว่า ‘ฉันเป็นสาวกของผู้ใด?’
2 ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำที่มักแปลกันว่า “สาวก” มีความหมายพื้นฐานหมายถึงคนที่มุ่งความคิดจิตใจไปที่สิ่งหนึ่ง หรือคนที่เรียนรู้. คำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันปรากฏอยู่ในข้อพระคัมภีร์ที่เป็นอรรถบทของบทความนี้ คือมัดธาย 11:29 (ล.ม.) ซึ่งอ่านว่า “จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลายและเรียน จากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า.” ถูกแล้ว สาวกคือผู้เรียนรู้. พระธรรมกิตติคุณมักใช้คำ “สาวก” กับคนที่ติดตามพระเยซูอย่างใกล้ชิด ซึ่งเดินทางไปกับพระองค์ขณะที่พระองค์ทรงประกาศและได้รับการสั่งสอนจากพระองค์. บางคนอาจเพียงแค่ยอมรับคำสอนของพระเยซู หรือแม้แต่ยอมรับอย่างไม่เปิดเผยด้วย ซ้ำ. (ลูกา 6:17; โยฮัน 19:38) ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณยังได้กล่าวถึง “พวกศิษย์ [หรือสาวก] ของโยฮัน [ผู้ให้บัพติสมา] และ [สาวกของ] พวกฟาริซาย” ด้วย. (มาระโก 2:18) เนื่องจากพระเยซูทรงเตือนเหล่าผู้ติดตามพระองค์ให้ “ระวังคำสอนของพวกฟาริซาย” เราอาจถามตัวเองได้ว่า ‘ฉันเป็นสาวกของผู้ใด?’—มัดธาย 16:12.
3 หากเราเป็นสาวกของพระเยซู และหากเราได้เรียนรู้จากพระองค์ คนอื่น ๆ น่าจะรู้สึกสดชื่นทางฝ่ายวิญญาณเมื่อเราอยู่ด้วย. พวกเขาน่าจะสังเกตเห็นว่าเราเปลี่ยนเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยนและใจถ่อมกว่าเดิม. หากเรามีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้จัดการ, หรือเป็นบิดามารดา, หรือมีหน้าที่บำรุงเลี้ยงฝูงแกะในประชาคมคริสเตียน ผู้ที่อยู่ในความดูแลของเรารู้สึกไหมว่าเราปฏิบัติต่อเขาเหมือนพระเยซูทรงปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในความดูแลของพระองค์?
วิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อผู้คน
4, 5. (ก) เหตุใดจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทราบว่าพระเยซูทรงปฏิบัติอย่างไรต่อผู้คนที่มีปัญหา? (ข) มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูกำลังรับประทานอาหารที่บ้านของฟาริซายคนหนึ่ง?
4 เราจำเป็นต้องทราบวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่มีปัญหาหนัก. การเรียนรู้ในเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก; คัมภีร์ไบเบิลมีรายงานมากมายเกี่ยวกับเรื่องที่พระเยซูทรงพบปะกับผู้คน บางคนมีความทุกข์หนักใจ. ขอให้เราสังเกตด้วยว่าพวกหัวหน้าศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฟาริซาย ปฏิบัติต่อผู้คนที่มีปัญหาคล้าย ๆ กันอย่างไร. ข้อแตกต่างที่เราเห็นจะช่วยให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น.
5 ในปีสากลศักราช 31 ขณะที่พระเยซูทรงเดินทางประกาศไปทั่วมณฑลแกลิลี (ฆาลิลาย) “มีคนหนึ่งในพวกฟาริซายเชิญ [พระเยซู] ไปรับประทานอาหารกับเขา.” พระเยซูไม่ได้ทรงลังเลที่จะตอบรับคำเชิญนั้น. “พระองค์ก็เสด็จเข้าไปนั่งในบ้านของคนฟาริซายคนนั้น. และนี่แน่ะ, มีผู้หญิงคนหนึ่งในเมืองนั้นเคยเป็นหญิงชั่ว, เมื่อรู้ว่าพระองค์ทรงนั่งรับประทานอาหารอยู่ในบ้านของคนฟาริซายนั้น, เขาจึงถือผอบศิลามีน้ำมันหอม มายืนอยู่ข้างหลังใกล้พระบาทของพระองค์, ร้องไห้น้ำตาไหลชำระพระบาท, เอาผมเช็ด, จุบพระบาทของพระองค์มาก, และเอาน้ำมันนั้นชโลม.”—6. อะไรอาจเป็นเหตุที่หญิงคนนี้ซึ่งเป็น “หญิงชั่ว” สามารถเข้าไปในบ้านของฟาริซายได้?
6 คุณนึกภาพเหตุการณ์นั้นออกไหม? หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งอ้างว่า “หญิงคนนี้ (ข้อ 37) ฉวยประโยชน์จากขนบธรรมเนียมที่อนุญาตให้คนจนมายังงานเลี้ยงเพื่อขออาหารที่เหลือ.” นั่นอาจเป็นเหตุผลที่คนซึ่งไม่ได้รับเชิญสามารถเข้าไปในบ้านได้. อาจมีคนอื่น ๆ รอกวาดอาหารที่เหลือเมื่อการกินเลี้ยงในมื้อนั้นสิ้นสุดลง. แต่พฤติกรรมของหญิงคนนี้แปลกออกไป. เธอไม่ได้คอยเฝ้าดูอยู่ข้าง ๆ และคอยให้อาหารค่ำมื้อนั้นจบลง. เธอมีชื่อเสียงไม่ดีด้านศีลธรรม เป็น “หญิงชั่ว” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ถึงขนาดที่พระเยซูตรัสว่าพระองค์ทรงทราบเกี่ยวกับ “ความผิดบาปของผู้หญิงนี้ซึ่งมีมาก.”—ลูกา 7:47.
7, 8. (ก) เราอาจแสดงปฏิกิริยาอย่างไรหากอยู่ในสภาพการณ์ดังที่บอกไว้ในลูกา 7:36-38? (ข) ซีโมนแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
7 ขอให้นึกภาพว่าตัวคุณเองมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นและอยู่ในฐานะเดียวกับพระเยซู. คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? คุณจะรู้สึกอึดอัดไหมเมื่อหญิงคนนี้เข้ามาใกล้คุณ? สถานการณ์เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อคุณอย่างไร? (ลูกา 7:45) คุณจะรู้สึกขนลุกหรือขยะแขยงไหม?
8 ถ้าคุณอยู่ในหมู่แขกคนอื่น ๆ สิ่งที่คุณคิดอาจคล้าย ๆ กับความคิดของฟาริซายผู้นี้ที่ชื่อซีโมนไหม? “ฝ่ายคนฟาริซายที่ได้เชิญ [พระเยซู] เมื่อเห็นแล้วก็นึกในใจว่า, ‘ถ้าท่านนี้เป็นศาสดาพยากรณ์ก็คงจะรู้ว่าหญิงผู้นี้ที่ถูกต้องกายของท่านเป็นผู้ใดและเป็นคนอย่างไร, เพราะเขาเป็นคนชั่ว.’ ” (ลูกา 7:39) ตรงกันข้าม พระเยซูทรงเป็นบุรุษผู้มีความกรุณาอันลึกซึ้ง. พระองค์ทรงเข้าใจสภาพอันเลวร้ายของหญิงคนนี้และรับรู้ความเจ็บปวดรวดร้าวของเธอ. ไม่มีบันทึกบอกไว้ว่าเธอพลาดพลั้งสู่วิถีชีวิตที่ผิดบาปอย่างไร. หากว่าเธอเป็นหญิงโสเภณีจริง ก็เห็นได้ชัดว่าพวกผู้ชายในเมืองนั้นซึ่งเป็นชาวยิวที่เคร่งศาสนาไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เธอ.
9. พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยาตอบอย่างไร และอาจเกิดผลเป็นเช่นไร?
9 แต่พระเยซูทรงปรารถนาจะช่วยเธอ. พระองค์ตรัสแก่เธอว่า “ความผิดบาปของเจ้าโปรดยกเสียแล้ว.” แล้วพระองค์ตรัสอีกว่า “ความเชื่อของเจ้าได้ทำให้เจ้ารอด. จงไปเป็นสุขเถิด.” (ลูกา 7:48-50) บันทึกจบลงตรงนี้. บางคนอาจแย้งว่าไม่เห็นพระเยซูทรงช่วยอะไรเธอมากนัก. แต่พื้นฐานสำคัญคือ พระองค์ทรงส่งเธอให้กลับออกไปด้วยคำอวยพร. คุณคิดว่าเธอจะกลับไปสู่วิถีชีวิตอันน่ารังเกียจอีกไหม? แม้ว่าเราไม่อาจกล่าวได้แน่นอนในเรื่องนี้ แต่ขอให้สังเกตสิ่งที่ลูกากล่าวต่อจากนั้น. ท่านเล่าว่าพระเยซูทรงเดินทาง “ไปทั่วตลอดตามบ้านตามเมือง, ทรงประกาศกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า.” ลูการายงานด้วยว่า “ผู้หญิงลางคน” อยู่กับพระเยซูและเหล่าสาวก และ “ปรนนิบัติพระองค์ด้วยการถวายสิ่งของ.” เป็นไปได้ว่าหญิงคนนี้ได้กลับใจและแสดงความหยั่งรู้ค่าและบัดนี้ได้มาอยู่ในหมู่เหล่าสาวก เริ่มดำเนินชีวิตในแนวทางที่พระเจ้าพอพระทัย โดยมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด, มีเป้าหมายใหม่, และมีความรักที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อพระเจ้า.—ลูกา 8:1-3.
ความแตกต่างระหว่างพระเยซูกับพวกฟาริซาย
10. เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาเรื่องราวของพระเยซูกับหญิงคนนี้ที่บ้านของซีโมน?
10 เราเรียนอะไรได้จากบันทึกนี้ซึ่งกล่าวไว้อย่างชัดเจน? เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจมิใช่หรือ? ขอให้นึกภาพว่าตัวคุณเองอยู่ในบ้านของซีโมน. คุณจะรู้สึกอย่างไร? คุณจะแสดงปฏิกิริยาแบบเดียวกับพระเยซู หรือคุณจะรู้สึกคล้าย ๆ กับฟาริซายผู้เป็นเจ้าบ้าน? พระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า เราจึงไม่อาจรู้สึกและทำได้เหมือนพระองค์ทุกอย่าง. แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราคงไม่อยากให้ตัวเราเองเป็นเหมือนกับฟาริซายซีโมน. คงมีน้อยคนที่จะรู้สึกภูมิใจว่าตัวเองมีความคิดเหมือนกับพวกฟาริซาย.
11. เหตุใดเราคงไม่อยากถูกจัดว่ามีความคิดเหมือนกับพวกฟาริซาย?
11 จากการศึกษาในคัมภีร์ไบเบิลและหลักฐานทางโลก *
เราลงความเห็นได้ว่าพวกฟาริซายถือตัวว่าตนเป็นผู้พิทักษ์สวัสดิภาพของชาติและดูแลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในหมู่ประชาชน. พวกเขาไม่รู้สึกอิ่มใจที่พระบัญญัติของพระเจ้ามีลักษณะพื้นฐานที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย. ในที่ใดก็ตามที่พวกเขารู้สึกว่าพระบัญญัติไม่ได้กำหนดแน่นอน พวกเขาก็จะพยายามอุดจุดที่เขาคิดว่าเป็นช่องโหว่นั้นด้วยข้อกำหนดในการใช้พระบัญญัติ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้สติรู้สึกผิดชอบ. พวกหัวหน้าศาสนาเหล่านี้พยายามคิดคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งควบคุมการกระทำในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องหยุม ๆ หยิม ๆ.12. พวกฟาริซายถือว่าตัวเองเป็นเช่นไร?
12 โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวแห่งศตวรรษแรกกล่าวไว้ชัดเจนว่าพวกฟาริซายถือว่าตัวเองกรุณา, อ่อนโยน, ยุติธรรม, และมีสิทธิโดยสมบูรณ์สำหรับหน้าที่ของตน. ไม่ต้องสงสัยว่าคงมีบางคนที่ทำได้ใกล้เคียงกับข้ออ้างดังกล่าว. คุณอาจนึกถึงนิโกเดโม. (โยฮัน 3:1, 2; 7:50, 51) ในเวลาต่อมา มีบางคนในพวกฟาริซายได้รับเอาแนวทางชีวิตแบบคริสเตียน. (กิจการ 15:5) คริสเตียนอัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับชาวยิวบางคน เช่น พวกฟาริซายว่า “พวกเขามีใจแรงกล้าเพื่อพระเจ้า; แต่หาเป็นไปตามความรู้ถ่องแท้ไม่.” (โรม 10:2, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม พระธรรมกิตติคุณกล่าวถึงพวกเขาอย่างที่คนทั่วไปมอง กล่าวคือ หยิ่ง, ยโส, ถือตัวชอบธรรม, ชอบจับผิด, ตัดสินผู้อื่น, และประพฤติตัวไม่น่านับถือ.
ทัศนะของพระเยซู
13. พระเยซูตรัสเช่นไรเกี่ยวกับพวกฟาริซาย?
13 พระเยซูทรงตำหนิพวกอาลักษณ์และฟาริซายว่าหน้าซื่อใจคด. “เขาดีแต่ผูกมัดของหนักซึ่งแบกยากวางบนบ่ามนุษย์ ส่วนเขาเองแม้แต่นิ้วเดียวก็ไม่จับต้องเลย.” ถูกแล้ว ภาระของพวกเขานั้นหนัก และแอกที่พวกเขาวางบนประชาชนก็ทารุณ. พระเยซูตรัสต่อไปโดยเรียกพวกอาลักษณ์และมัดธาย 23:1-4, 16, 17, 23.
ฟาริซายว่า “คนโฉดเขลา.” คนโฉดเขลาเป็นภัยต่อชุมชน. พระเยซูทรงเรียกพวกอาลักษณ์และฟาริซายด้วยว่า “คนนำทางตาบอด” และตรัสอย่างหนักแน่นว่าพวกเขาได้ ‘ละเว้นส่วนข้อสำคัญแห่งพระบัญญัติ คือความชอบธรรม, ความเมตตา, และความเชื่อ.’ ใครล่ะอยากให้พระเยซูมองว่าเขาเป็นเหมือนพวกฟาริซาย?—14, 15. (ก) วิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อมัดธายเลวีเผยอะไรเกี่ยวกับแนวทางประพฤติของพวกฟาริซาย? (ข) เราสามารถได้บทเรียนสำคัญอะไรจากเรื่องนี้?
14 ผู้อ่านบันทึกพระธรรมกิตติคุณเกือบทุกคนสามารถเห็นได้ว่าพวกฟาริซายส่วนใหญ่มีนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์. หลังจากพระเยซูทรงเชิญมัดธายเลวีซึ่งเป็นคนเก็บภาษีให้มาเป็นสาวก เลวีจัดงานเลี้ยงใหญ่ต้อนรับพระองค์. บันทึกกล่าวว่า “ฝ่ายพวกฟาริซายและพวกอาลักษณ์ของเขากะซิบบ่นติพวกศิษย์ของพระองค์ว่า, ‘เหตุไฉนพวกท่านมากินและดื่มกับพวกเก็บภาษีและกับพวกคนบาป?’ พระเยซูตรัสตอบเขาว่า, ‘ . . . เรามิได้มาเพื่อจะเรียกคนชอบธรรม, แต่มาเรียกคนบาปให้กลับใจเสียใหม่.’ ”—ลูกา 5:27-32.
15 เลวีเองเข้าใจอีกสิ่งหนึ่งที่พระเยซูตรัสในโอกาสนั้น ที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงไปเรียนข้อนี้ให้เข้าใจซึ่งว่า, ‘เราประสงค์ความเมตตา, และเครื่องบูชาเราไม่ประสงค์.’ ” (มัดธาย 9:13) แม้ว่าพวกฟาริซายอ้างว่าเชื่อในข้อเขียนของผู้พยากรณ์ชาวฮีบรู แต่พวกเขามิได้ยอมรับคำกล่าวนี้ซึ่งยกจากโฮเซอา 6:6. พวกเขายอมฝ่าฝืนพระบัญญัติมากกว่าจะฝ่าฝืนประเพณี. ขอให้เราแต่ละคนถามตัวเองดังนี้: ‘ฉันได้ชื่อว่าเป็นคนที่ยึดติดกับกฎบางอย่าง เช่น กฎที่สะท้อนความเห็นส่วนตัวหรือว่าฉันยึดถือสามัญสำนึกมากกว่า? หรือ คนอื่น ๆ มองว่าฉันเด่นในด้านความเมตตาและใจดีไหม?’
16. แนวทางประพฤติของพวกฟาริซายเป็นเช่นไร และเราจะหลีกเลี่ยงการทำอย่างพวกเขาได้อย่างไร?
16 ติ, ติ, แล้วก็ติ. นั่นคือแนวทางประพฤติของพวกฟาริซาย. พวกฟาริซายจ้องหาข้อบกพร่องทุกอย่าง ไม่ว่าที่เป็นข้อบกพร่องจริงหรือที่นึกเอาเอง. พวกเขาทำให้ประชาชนต้องเตรียมใจรอรับการว่ากล่าวอยู่เสมอ และคอยเตือนพวกเขาให้นึกถึงข้อผิดพลาดของตัวเอง. พวกฟาริซายภาคภูมิใจว่าพวกเขาถวายสิบลดหนึ่งแม้แต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สะระแหน่, ยี่หร่า, และขมิ้น. พวกเขาโอ้อวดว่าตนเคร่งศาสนาด้วยการแต่งกายและพยายามชี้นำบงการชาติ. แน่นอน เพื่อที่การกระทำของเราจะสอดคล้องลงรอยกับตัวอย่างของพระเยซู เราต้องหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่จะจับผิดและเน้นข้อบกพร่องของผู้อื่นอยู่เสมอ.
พระเยซูทรงจัดการปัญหาอย่างไร?
17-19. (ก) จงอธิบายว่าพระเยซูทรงจัดการอย่างไรในเหตุการณ์ที่อาจก่อผลร้ายแรงมาก. (ข) อะไรทำให้เรื่องนี้ตึงเครียดและไม่น่ายินดี? (ค) หากคุณอยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นเมื่อหญิงคนนี้เข้าไปหาพระเยซู คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร?
17 วิธีของพระเยซูในการจัดการปัญหาแตกต่างกันมากกับวิธีของพวกฟาริซาย. ขอให้พิจารณาวิธีที่พระเยซูทรงจัดการในเหตุการณ์หนึ่งซึ่งอาจนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก. เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับหญิงคนหนึ่งซึ่งตกเลือดมานานถึง 12 ปี. คุณจะอ่านเรื่องนี้ได้ในลูกา 8:42-48.
18 บันทึกของมาระโกกล่าวว่าหญิงคนนี้ “กลัวจนตัวสั่น.” (มาระโก 5:33) เพราะเหตุใด? ไม่มีข้อสงสัยว่าเพราะเธอทราบว่าเธอได้ละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า. ตามที่ระบุไว้ในเลวีติโก 15:25-28 ผู้หญิงที่ตกเลือดในลักษณะผิดปกติถือว่าเป็นมลทินตราบเท่าที่ยังตกเลือดอยู่ รวมถึงหลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์. ทุกสิ่งที่เธอแตะต้องและทุกคนที่ถูกต้องตัวเธอถือว่าเป็นมลทิน. เพื่อจะเข้าไปถึงพระเยซูได้ หญิงคนนี้ต้องฝ่าฝูงชนเข้าไป. เมื่อเราพิจารณาเรื่องนี้ในเวลานี้หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 2,000 ปี เรารู้สึกเห็นใจในความลำบากใจของเธอ.
19 หากคุณอยู่ในในสมัยนั้น คุณจะมองเหตุการณ์นี้อย่างไร? คุณจะพูดอย่างไร? สังเกตว่าพระเยซูทรงปฏิบัติต่อหญิงคนนี้อย่างกรุณา, เปี่ยมด้วยความรัก, และคำนึงถึงความรู้สึกของเธอ ไม่ได้ตรัสถึงปัญหาที่เธออาจได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ.—มาระโก 5:34.
20. ถ้าเลวีติโก 15:25-28 เป็นข้อเรียกร้องในปัจจุบัน เราจะเผชิญกับข้อท้าทายอะไร?
20 เราจะเรียนบางสิ่งบางอย่างจากเหตุการณ์นี้ได้ไหม? เลวีติโก 15:25-28 เป็นข้อเรียกร้องอย่างหนึ่งสำหรับคริสเตียนในปัจจุบัน และมีสตรีคริสเตียนคนหนึ่งได้ละเมิดกฎหมายข้อนี้ และเธอวิตกกังวลอย่างยิ่งและรู้สึกไร้ที่พึ่งพิง. คุณจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? คุณจะทำให้เธออับอายต่อหน้าธารกำนัลด้วยการให้คำแนะนำในเชิงต่อว่าไหม? คุณอาจพูดว่า “ผมคงไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่! ผมคงทำตามแบบอย่างของพระเยซู โดยพยายามให้ถึงที่สุดเพื่อจะแสดงความกรุณา, ความรัก, คิดถึงความรู้สึกของเธอ, และเห็นใจเธอ.” นั่นนับว่าดีมาก! อย่างไรก็ตาม การเลียนแบบพระเยซูอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย.
สมมุติว่าคุณเป็นผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนในปัจจุบัน. และสมมุติต่ออีกว่า21. พระเยซูทรงสอนประชาชนเช่นไรเกี่ยวกับพระบัญญัติ?
21 โดยพื้นฐานแล้ว ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความสดชื่นจากพระเยซู, มีสภาพจิตใจดีขึ้น, และได้กำลังใจ. ตรงไหนที่พระบัญญัติของพระเจ้ากำหนดไว้แน่ชัด ก็หมายความอย่างที่กล่าวไว้. หากดูเหมือนว่าพระบัญญัติกล่าวไว้กว้าง ๆ พวกเขาก็จะต้องใช้สติรู้สึกผิดชอบของตนมากขึ้น และจะสามารถแสดงความรักต่อพระเจ้าได้ด้วยการตัดสินใจของตน. พระบัญญัติมีความยืดหยุ่น ไม่ตายตัว. (มาระโก 2:27, 28) พระเจ้าทรงรักไพร่พลของพระองค์, ทรงดำเนินการเพื่อประโยชน์ของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ, และทรงเต็มพระทัยจะแสดงความเมตตาเมื่อพวกเขาล้มพลาด. พระเยซูก็ทรงเป็นอย่างนั้น.—โยฮัน 14:9.
ผลของคำสอนของพระเยซู
22. การเรียนจากพระเยซูทำให้อารมณ์ของเหล่าสาวกเป็นเช่นไร?
22 คนที่ฟังพระเยซูและเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์มองเห็นคุณค่าของความจริงที่พระองค์ทรงประกาศว่า “แอกของเราก็พอเหมาะ, และภาระของเราก็เบา.” (มัดธาย 11:30) พวกเขาไม่เคยรู้สึกว่าพระองค์ทรงวางภาระหนัก, คอยรบกวนใจ, หรือดุด่าพวกเขา. พวกเขามีอิสระมากขึ้น, มีความสุขขึ้น, และมั่นใจยิ่งขึ้นในสัมพันธภาพที่เขามีกับพระเจ้าและสัมพันธภาพที่พวกเขามีต่อกัน. (มัดธาย 7:1-5; ลูกา 9:49, 50) พวกเขาเรียนรู้จากพระองค์ว่าการเป็นผู้นำหน้าฝ่ายวิญญาณต้องช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกสดชื่น โดยแสดงจิตใจและหัวใจที่อ่อนถ่อม.—1 โกรินโธ 16:17, 18; ฟิลิปปอย 2:3.
23. การอยู่กับพระเยซูช่วยสอนบทเรียนสำคัญอะไรแก่เหล่าสาวก และช่วยพวกเขาให้ลงความเห็นเช่นไร?
23 นอกจากนั้น หลายคนประทับใจอย่างยิ่งในความสำคัญของการตั้งมั่นคงอยู่ในการร่วมสามัคคีกับพระคริสต์และการมีน้ำใจอย่างที่พระองค์ทรงมี. พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “พระบิดาได้ทรงรักเราฉันใด, เราก็รักท่านฉันนั้น ท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของเรา. ถ้าท่านทั้งหลายประพฤติตามบัญญัติของเรา, ท่านจะตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของเรา เหมือนเราได้ประพฤติตามพระบัญญัติของพระบิดา, และตั้งมั่นคงอยู่ในความรักของพระองค์.” (โยฮัน 15:9, 10) หากพวกเขาต้องการจะประสบผลสำเร็จในการเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า พวกเขาต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระเยซูอย่างขยันขันแข็ง ทั้งในการประกาศการสอนอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับข่าวดีอันมหัศจรรย์ของพระเจ้าและในการปฏิบัติต่อครอบครัวและมิตรสหาย. ขณะที่ความเป็นพี่น้องกันในประชาคมงอกงามขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องเตือนตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่าแนวทางของพระเยซูนั้นคือแนวทางที่ถูกต้อง. สิ่งที่พระองค์ทรงสอนเป็นความจริง และชีวิตของพระองค์ที่พวกเขาได้สังเกตเรียนรู้นับว่าเป็นส่วนที่ให้แรงบันดาลใจอย่างแท้จริง.—โยฮัน 14:6; เอเฟโซ 4:20, 21.
24. มีตัวอย่างอะไรบ้างของพระเยซูซึ่งเราควรเอาใจใส่?
24 เมื่อคุณใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้พิจารณากันไปแล้วนี้ คุณมองเห็นแนวทางต่าง ๆ ที่จะปรับปรุงไหม? คุณเห็นด้วยไหมว่าพระเยซูทรงคิด, สอน, และกระทำอย่างเหมาะสมเสมอ? ถ้าอย่างนั้น ก็ขอให้มีกำลังใจ. คำตรัสของพระองค์ให้กำลังใจแก่เราดังนี้: “ถ้าท่านทั้งหลายรู้สิ่งเหล่านั้นแล้วและประพฤติตาม, ท่านก็จะเป็นสุข.”—โยฮัน 13:17.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 “ความแตกต่างที่สำคัญ [ระหว่างพระเยซูกับพวกฟาริซาย] นั้นจะเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อมองที่ความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งตรงข้ามกันของทั้งสองฝ่าย. สำหรับพวกฟาริซายแล้ว พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่เรียกร้องเป็นส่วนใหญ่; แต่สำหรับพระเยซู พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความกรุณาและความเมตตาสงสาร. แน่นอน พวกฟาริซายไม่ปฏิเสธคุณความดีและความรักของพระเจ้า แต่ในทัศนะของพวกเขาพระเจ้าทรงแสดงคุณความดีและความรักด้วยการประทานโทราห์ [พระบัญญัติ] และโดยโปรดให้เป็นไปได้ที่จะสำเร็จเป็นจริงตามพระบัญชาที่บันทึกไว้ที่นั่น. . . . พวกฟาริซายถือว่าการยึดมั่นอยู่กับคำสอนสืบปาก พร้อมกับกฎต่าง ๆ สำหรับการตีความพระบัญญัติ เป็นแนวทางที่ทำให้โทราห์สำเร็จเป็นจริง. . . . การที่พระเยซูทรงยกระดับพระบัญชาสองข้อเกี่ยวกับความรัก (มัด. 22:34-40) ขึ้นสู่ระดับที่เป็นบรรทัดฐานของการตีความ รวมทั้งการที่พระองค์ทรงปฏิเสธลักษณะที่จำกัดเกินไปของคำสอนสืบปาก . . . ทำให้พระองค์ขัดแย้งกับหลักธรรมของพวกฟาริซาย.”—พจนานุกรมนานาชาติฉบับใหม่เกี่ยวกับเทววิทยาแห่งพันธสัญญาใหม่ (ภาษาอังกฤษ).
คุณจะตอบอย่างไร?
• การเป็นสาวกของพระเยซูมีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ?
• พระเยซูทรงปฏิบัติต่อผู้คนอย่างไร?
• เราสามารถเรียนรู้อะไรจากวิธีที่พระเยซูทรงสอน?
• พวกฟาริซายและพระเยซูแตกต่างกันอย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 18, 19]
เจตคติของพระเยซูต่อประชาชนช่างแตกต่างจริง ๆ กับเจตคติของพวกฟาริซาย!