พระพรอันเป็นผลมาจากข่าวดี
พระพรอันเป็นผลมาจากข่าวดี
“พระยะโฮวาได้ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้, พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้าให้นำข่าวดีไปบอกแก่ผู้ที่ถ่อมใจ, เพื่อสมานจิตต์ใจที่ฟกช้ำ . . . เพื่อเล้าโลมบรรดาคนโศกเศร้า.”—ยะซายา 61:1, 2.
1, 2. (ก) พระเยซูทรงเปิดเผยพระองค์เองว่าพระองค์เป็นผู้ทำหน้าที่อะไร และโดยวิธีใด? (ข) ข่าวดีที่พระเยซูทรงประกาศนำพระพรอะไรมาให้?
ในวันซะบาโตคราวหนึ่งตอนต้น ๆ แห่งงานรับใช้ของพระเยซู พระองค์ทรงอยู่ในธรรมศาลาในเมืองนาซาเร็ธ. ตามที่มีบันทึกไว้ มีคน “ส่งพระคัมภีร์ยะซายาศาสดาพยากรณ์ให้แก่พระองค์. เมื่อพระองค์ทรงคลี่หนังสือนั้นออกก็ค้นพบข้อที่เขียนไว้ว่า, ‘พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่บนข้าพเจ้า, เพราะว่าพระองค์ได้ทรงชโลมตั้งข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศกิตติคุณ.’” จากนั้น พระเยซูทรงอ่านข้อความพยากรณ์ตอนนั้นต่อไปอีก. หลังจากนั้น พระองค์ทรงนั่งลงและตรัสว่า “วันนี้คัมภีร์ตอนนี้ที่ท่านได้ยินกับหูของท่านก็สำเร็จแล้ว.”—ลูกา 4:16-21.
2 ด้วยวิธีนี้ พระเยซูทรงเปิดเผยพระองค์เองว่าเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณตามที่มีพยากรณ์ไว้ เป็นผู้บอกข่าวดีและผู้ปลอบประโลมใจ. (มัดธาย 4:23) และข่าวที่พระเยซูมีพันธะต้องประกาศนั้นช่างเป็นข่าวที่ดีจริง ๆ! พระองค์ทรงแจ้งแก่ผู้ฟังของพระองค์ว่า “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะมิได้เดินในความมืด, แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต.” (โยฮัน 8:12) พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “ถ้าท่านทั้งหลายตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา, ท่านก็เป็นศิษย์ของเราแท้ และท่านทั้งหลายจะรู้จักความจริง, และความจริงนั้นจะกระทำให้ท่านทั้งหลายเป็นไทย.” (โยฮัน 8:31, 32) ถูกแล้ว พระเยซูทรงมี “คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 6:68, 69) ความสว่าง, ชีวิต, และเสรีภาพเป็นพระพรที่มีค่ายิ่งอย่างแน่นอน!
3. เหล่าสาวกของพระเยซูประกาศข่าวดีอะไร?
3 หลังจากวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 เหล่าสาวกทำงานเผยแพร่กิตติคุณของพระเยซูต่อไป. พวกเขาประกาศ มัดธาย 24:14, ล.ม.; กิจการ 15:7; โรม 1:16) คนที่ตอบรับได้มารู้จักพระยะโฮวาพระเจ้า. พวกเขาได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสทางศาสนาและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติใหม่ฝ่ายวิญญาณ คือ “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” ซึ่งสมาชิกของชาตินี้มีความหวังจะปกครองตลอดไปในสวรรค์ร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา คือพระเยซูคริสต์. (ฆะลาเตีย 5:1; 6:16, ล.ม.; เอเฟโซ 3:5-7; โกโลซาย 1:4, 5; วิวรณ์ 22:5) นับเป็นพระพรที่ล้ำค่าจริง ๆ!
“ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร” แก่ทั้งชาวอิสราเอลและประชาชนในชาติต่าง ๆ. (การเผยแพร่กิตติคุณในสมัยปัจจุบัน
4. งานมอบหมายให้ประกาศข่าวดีกำลังสำเร็จเป็นจริงในปัจจุบันอย่างไร?
4 ปัจจุบัน คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังคงทำงานมอบหมายเชิงพยากรณ์ให้สำเร็จต่อไป ซึ่งแต่เดิมนั้นพระเจ้าได้ทรงมอบหมายงานนี้แก่พระเยซู. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) ผลคือ ข่าวดีกำลังประกาศออกไปในขอบเขตที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน. ใน 235 ดินแดนและเขตปกครอง พยานพระยะโฮวาได้ออกไป “นำข่าวดีไปบอกแก่ผู้ที่ถ่อมใจ, เพื่อสมานจิตต์ใจที่ฟกช้ำ, เพื่อประกาศความเป็นไทยให้เชลยฟัง, และปลดปล่อยผู้ถูกจำจอง, เพื่อประกาศวันเดือนปีที่พระเจ้าทรงโปรดปราน, และวันแห่งความแก้แค้นของพระยะโฮวา; เพื่อเล้าโลมบรรดาคนโศกเศร้า.” (ยะซายา 61:1, 2) ดังนั้น งานเผยแพร่กิตติคุณของคริสเตียนยังคงนำพระพรไปให้ผู้คนมากมาย และให้คำปลอบประโลมใจอย่างแท้จริงแก่ “คนเหล่านั้นที่มีความทุกข์ยากอย่างหนึ่งอย่างใด.”—2 โกรินโธ 1:3, 4.
5. เกี่ยวกับการประกาศข่าวดี พยานพระยะโฮวาต่างไปจากคริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรอย่างไร?
5 เป็นความจริงที่ว่า คริสตจักรแห่งคริสต์ศาสนจักรสนับสนุนการเผยแพร่กิตติคุณในหลาย ๆ วิธี. หลายคริสตจักรส่งมิชชันนารีออกไปเพื่อชักนำผู้คนในดินแดนอื่น ๆ มาเข้ารีต. ยกตัวอย่าง ดิ ออร์โทด็อกซ์ คริสเตียน มิชชัน เซ็นเตอร์ แมกกาซีน รายงานกิจกรรมของมิชชันนารีนิกายออร์โทด็อกซ์ในประเทศมาดากัสการ์, แอฟริกาทางตอนใต้, แทนซาเนีย, และซิมบับเว. อย่างไรก็ตาม คริสตจักรออร์โทด็อกซ์ก็เหมือนกับคริสตจักรอื่น ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร คือศาสนิกชนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมในงานนี้. ในทางตรงกันข้าม พยานพระยะโฮวาที่อุทิศตัวแล้วทุกคนเพียรพยายามมีส่วนร่วมในงานเผยแพร่กิตติคุณ. พวกเขาตระหนักว่า การประกาศข่าวดีเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าความเชื่อของตนเป็นความเชื่อแท้. เปาโลกล่าวว่า “ด้วยหัวใจคนเราสำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรม แต่ด้วยปากคนเราประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด.” ความเชื่อที่ไม่กระตุ้นคนเราให้ลงมือกระทำก็เท่ากับเป็นความเชื่อที่ตายแล้ว.—โรม 10:10, ล.ม.; ยาโกโบ 2:17.
ข่าวดีที่นำมาซึ่งพระพรถาวร
6. ข่าวดีอะไรที่กำลังมีการประกาศอยู่ในเวลานี้?
6 พยานพระยะโฮวาประกาศข่าวซึ่งไม่มีข่าวสารอื่นใดจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว. พวกเขาเปิดคัมภีร์ไบเบิลและแสดงให้ผู้ที่มีใจตอบรับเห็นว่า พระเยซูทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อเปิดทางให้มนุษยชาติเข้าเฝ้าพระเจ้าได้, เพื่อได้รับอภัยบาป, และมีความหวังในเรื่องชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 3:16; 2 โกรินโธ 5:18, 19) พวกเขาประกาศว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าได้สถาปนาขึ้นแล้วในสวรรค์ภายใต้การนำแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ได้รับการเจิม คือพระเยซูคริสต์ และอีกไม่ช้าราชอาณาจักรนี้จะขจัดความชั่วจากแผ่นดินโลกและดูแลการฟื้นฟูอุทยาน. (วิวรณ์ 11:15; 21:3, 4) ในความสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของยะซายา พวกเขาบอกเพื่อนบ้านให้ทราบว่าเวลานี้เป็น “วันเดือนปีที่พระเจ้าทรงโปรดปราน” เวลาที่มนุษยชาติยังคงสามารถตอบรับข่าวดี. พวกเขายังเตือนด้วยว่า “วันแห่งความแก้แค้นของพระยะโฮวา” จะมาถึงในอีกไม่ช้า เมื่อพระยะโฮวาจะนำอวสานมาสู่ผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจ.—บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11.
7. ประสบการณ์อะไรที่แสดงให้เห็นเอกภาพของพยานพระยะโฮวา และเหตุใดพวกเขาจึงมีเอกภาพเช่นนั้น?
7 ในโลกที่ถูกโจมตีด้วยโศกนาฏกรรมและภัยพิบัติ นี่เป็นข่าวดีเพียงอย่างเดียวที่ก่อผลประโยชน์ถาวร. ผู้ที่ตอบรับข่าวดีนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องคริสเตียนที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลกซึ่งไม่ยอมให้ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, หรือเศรษฐกิจทำให้พวกเขาแตกแยก. พวกเขาได้ ‘สวมตัวด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องผูกพันอันสมบูรณ์ที่ทำให้เป็นหนึ่งเดียว.’ (โกโลซาย 3:14, ล.ม.; โยฮัน 15:12) เราเห็นอย่างนั้นเมื่อปีที่แล้วในประเทศหนึ่งที่แอฟริกา. เช้าตรู่วันหนึ่ง ผู้คนในเมืองหลวงถูกปลุกให้ตื่นด้วยเสียงปืน. มีการพยายามทำรัฐประหาร. เมื่อเหตุการณ์ลุกลามมาถึงประเด็นเรื่องเชื้อชาติ พยานฯ ครอบครัวหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้ที่พักพิงแก่เพื่อนพยานฯ ซึ่งเป็นคนอีกเชื้อชาติหนึ่ง. ครอบครัวนี้ตอบว่า “มีเพียงแค่พยานพระยะโฮวาเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในบ้านของเรา.” สำหรับพวกเขาแล้ว ความแตกต่างด้านเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องสำคัญ; สิ่งสำคัญคือ การแสดงความรักแบบคริสเตียนโดยให้การปลอบโยนแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก. ญาติคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่พยานฯ แสดงความเห็นว่า “สมาชิกของทุกศาสนาทรยศเพื่อนที่นับถือศาสนาเดียวกัน. มีเพียงพยานพระยะโฮวาเท่านั้นที่ไม่ทำอย่างนั้น.” มีรายงานเหตุการณ์คล้าย ๆ กันนี้มากมายในหลายประเทศซึ่งเกิดความแตกแยกด้วยสงครามกลางเมือง ซึ่งแสดงว่าพยานพระยะโฮวา “มีความรักต่อสังคมพี่น้องทั้งสิ้น” อย่างแท้จริง.—1 เปโตร 2:17, ล.ม.
ข่าวดีทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลง
8, 9. (ก) คนที่ตอบรับข่าวดีเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาเช่นไร? (ข) ประสบการณ์อะไรบ้างที่แสดงถึงพลังของข่าวดี?
8 ข่าวดีเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เปาโลเรียกว่า “ชีวิตปัจจุบันนี้และชีวิตในอนาคต.” (1 ติโมเธียว 4:8) ข่าวดีนี้ไม่เพียงเสนอความหวังอันแน่นอนและยอดเยี่ยมสำหรับอนาคต แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข “ชีวิตปัจจุบันนี้” ให้ดีขึ้นด้วย. พยานพระยะโฮวาแต่ละคนได้รับการชี้นำโดยพระคำของพระเจ้า คือคัมภีร์ไบเบิล เพื่อนำชีวิตให้เข้าประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:101) บุคลิกภาพของพวกเขาเปลี่ยนเป็นบุคลิกภาพใหม่ขณะที่พวกเขาพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความชอบธรรมและความภักดี.—เอเฟโซ 4:24.
9 ขอให้พิจารณาตัวอย่างของฟรังโก. เขาเคยมีปัญหาเรื่องอารมณ์โกรธ. เมื่อใดก็ตามที่สิ่งต่าง ๆ ไม่สบอารมณ์เขา เขาจะโกรธจัดและทำลายข้าวของ. ภรรยาของเขาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา และทีละเล็กทีละน้อยตัวอย่างที่ดีในฐานะคริสเตียนของพวกเขาช่วยให้ฟรังโกเห็นว่าเขาเองต้องเปลี่ยน. เขาได้เข้าร่วมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันกับพวกเขา และในที่สุดก็สามารถแสดงสันติสุขและการรู้จักบังคับตนซึ่งเป็นผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) เขาเป็นคนหนึ่งในจำนวน 492 คนในเบลเยียมที่รับบัพติสมาในระหว่างปีรับใช้ 2001. ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของอะเลฮันโดรด้วย. ชายหนุ่มผู้นี้ตกเป็นทาสยาเสพติดจนชีวิตเขาตกต่ำถึงขนาดที่ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการคุ้ยกองขยะ หาอะไรก็ตามที่จะหาได้และเอาไปขายเพื่อจะซื้อยามาเสพ. เมื่อเขาอายุได้ 22 ปี พยานพระยะโฮวาเชิญชวนอะเลฮันโดรให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และเขาตอบตกลง. เขาอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันและเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. เขาจัดการชำระวิถีชีวิตของตนให้สะอาดอย่างรวดเร็ว และภายในเวลาไม่ถึงหกเดือนเขาก็มีคุณวุฒิจะร่วมในงานเผยแพร่กิตติคุณ เป็นคนหนึ่งในจำนวน 10,115 คนที่ทำอย่างนั้นเมื่อปีที่แล้วในประเทศปานามา.
ข่าวดีอันเป็นพระพรแก่ผู้อ่อนน้อม
10. ใครตอบรับข่าวดี และทัศนคติของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร?
10 ยะซายาพยากรณ์ไว้ว่าจะมีการประกาศข่าวดีแก่ผู้อ่อนน้อม. ผู้อ่อนน้อมเหล่านี้คือใคร? คนที่มีพรรณนาไว้ในพระธรรมกิจการว่าเป็นคน “ที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์.” (กิจการ 13:48, ล.ม.) พวกเขาเป็นคนถ่อมที่พบได้ในทุกระดับชั้นของสังคมซึ่งเปิดใจรับฟังข่าวสารแห่งความจริง. คนเหล่านั้นเรียนรู้ว่าการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้านำมาซึ่งพระพรที่อุดมกว่ามากเมื่อเทียบกับสิ่งใด ๆ ที่โลกนี้เสนอให้. (1 โยฮัน 2:15-17) อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาเข้าถึงหัวใจของผู้คนในงานเผยแพร่กิตติคุณของพวกเขาอย่างไร?
11. ตามที่เปาโลกล่าวไว้ ควรประกาศข่าวดีอย่างไร?
11 ขอให้พิจารณาตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล ซึ่งเขียนถึงพี่น้องในเมืองโครินธ์ (โกรินโธ) ว่า “พี่น้องทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้ามาหาท่าน ข้าพเจ้ามิได้มาพร้อมด้วยคำพูดหรือสติปัญญาเลิศลอยเกินความจริงประกาศข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแก่ท่าน. เพราะข้าพเจ้าได้ตัดสินใจไม่รู้จักสิ่งใด ๆ ในท่ามกลางพวกท่าน เว้นแต่พระเยซูคริสต์และที่พระองค์ถูกตรึง.” (1 โกรินโธ 2:1, 2, ล.ม.) เปาโลมิได้พยายามจะทำให้ผู้ที่ฟังท่านประทับใจในความรอบรู้ของท่าน. ท่านไม่สอนสิ่งใดนอกจากข้อเท็จจริงที่มั่นใจได้ซึ่งมาจากพระเจ้า ความจริงซึ่งในปัจจุบันมีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากนี้ ขอให้สังเกตคำหนุนกำลังใจที่เปาโลให้แก่ติโมเธียวเพื่อนผู้เผยแพร่กิตติคุณของท่าน ที่ว่า “จงประกาศพระคำ จงทำอย่างรีบด่วน.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) ติโมเธียวต้องประกาศ “พระคำ” ซึ่งก็คือข่าวสารของพระเจ้า. เปาโลยังเขียนถึงติโมเธียวด้วยว่า “จงทำสุดความสามารถเพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.”—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.
12. พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันเอาใจใส่คำกล่าวและตัวอย่างของเปาโลอย่างไร?
12 พยานพระยะโฮวาใส่ใจในตัวอย่างของเปาโล รวมทั้งคำกล่าวของท่านที่เขียนถึงติโมเธียว. พวกเขาตระหนักดีถึงพลังแห่งพระคำของพระเจ้าและใช้พระคำนั้นให้เป็นประโยชน์ขณะที่พวกเขาพยายามแสดงให้เพื่อนบ้านเห็นถ้อยคำที่เหมาะสมเกี่ยวกับความหวังและการปลอบประโลมใจ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:52; 2 ติโมเธียว 3:16, 17; เฮ็บราย 4:12) จริงอยู่ พวกเขาใช้สรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลให้เป็นประโยชน์เพื่อผู้สนใจจะสามารถได้รับความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นในยามว่าง. แต่พวกเขาพยายามเสมอที่จะชี้ให้ผู้คนดูข้อความในพระคัมภีร์. พวกเขาทราบว่าพระคำของพระเจ้าซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจะกระตุ้นหัวใจของผู้ที่มีใจถ่อม. และพวกเขาอ่านจากพระคัมภีร์โดยตรงอย่างนี้เพื่อเสริมความเชื่อของเขาเองให้เข้มแข็งด้วย.
“เล้าโลมบรรดาคนโศกเศร้า”
13. ในปี 2001 มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้มีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะให้การปลอบโยนแก่ผู้เศร้าโศก?
13 ในปี 2001 ได้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นหลายอย่างซึ่งยังผลทำให้ผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน. ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างยิ่งก็คือ เมื่อถึงเดือนกันยายน ได้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในสหรัฐ เมื่อผู้ก่อการร้ายโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กและอาคารเพนตากอนใกล้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การโจมตีครั้งนี้เป็นเรื่องที่สร้างความสะเทือนขวัญไปทั้งประเทศอย่างแท้จริง! แม้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พยานพระยะโฮวาพยายามทำงานมอบหมายของตนให้สำเร็จด้วยการเสนอการ “เล้าโลมบรรดาคนโศกเศร้า.” ประสบการณ์ดังต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาทำอย่างนั้นโดยวิธีใด.
14, 15. พยานฯ สามารถใช้ข้อพระคัมภีร์อย่างเกิดผลอย่างไรเพื่อปลอบประโลมผู้เศร้าโศก?
14 พยานฯ คนหนึ่งซึ่งทำงานเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาเข้าไปหาสตรีคนหนึ่งบนทางเท้า และถามว่าเธอคิดอย่างไรเกี่ยวกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อเร็ว ๆ นี้. สตรีผู้นี้เริ่มร้องไห้. เธอกล่าวว่าเธอรู้สึกเสียใจมากและอยากจะทำอะไรบางอย่างเพื่อจะช่วยได้บ้าง. พยานฯ บอกเธอว่าพระเจ้าทรงใฝ่พระทัยในพวกเราทุกคนอย่างยิ่ง และอ่านยะซายา 61:1, 2. ถ้อยคำเหล่านี้ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าฟังดูมีเหตุผลสำหรับสตรีผู้นี้ซึ่งกล่าวว่าทุกคนกำลังโศกเศร้า. เธอรับแผ่นพับและเชิญพยานฯ ให้ไปเยี่ยมเธอที่บ้าน.
15 พยานฯ สองคนซึ่งกำลังทำงานประกาศพบชายคนหนึ่งทำงานอยู่ในโรงเก็บของที่บ้าน. ทั้งสองเสนอว่าจะขอชี้ให้เขาดูคำปลอบประโลมใจจากพระคัมภีร์ โดยคำนึงถึงโศกนาฏกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์. เมื่อเขาตอบตกลง ทั้งสองก็อ่าน 2 โกรินโธ 1:3-7 ซึ่งส่วนหนึ่งอ่าน ว่า “ความชูใจของเราเนื่องจากพระคริสต์ก็มาก.” ชายผู้นี้รู้สึกหยั่งรู้ค่าที่พยานฯ เพื่อนบ้านของเขาแบ่งปันข่าวสารที่ปลอบประโลมใจแก่คนอื่น ๆ และกล่าวว่า “ขอพระเจ้าอวยพรงานอันดีเยี่ยมที่คุณกำลังทำ.”
16, 17. ประสบการณ์อะไรที่แสดงถึงพลังของคัมภีร์ไบเบิลในการช่วยคนที่เศร้าเสียใจหรือไม่สบายใจเนื่องด้วยโศกนาฏกรรม?
16 พยานฯ คนหนึ่งซึ่งกำลังกลับเยี่ยมเยียนคนที่แสดงความสนใจได้พบกับบุตรชายของสตรีคนหนึ่งซึ่งก่อนหน้านี้เคยแสดงความสนใจ และอธิบายว่าเขาเป็นห่วงในเรื่องที่ว่าเพื่อนบ้านจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้. ชายคนนั้นรู้สึกทึ่งที่พยานฯ ได้สละเวลาเพื่อเยี่ยมประชาชนและไต่ถามในเรื่องสวัสดิภาพ. เขากล่าวว่าเขากำลังทำงานอยู่ใกล้ ๆ ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ตอนที่มีการโจมตีและได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด. เมื่อเขาถามว่าทำไมพระเจ้าทรงยอมให้มีความทุกข์ พยานฯ อ่านข้อพระคัมภีร์บางข้อรวมทั้งบทเพลงสรรเสริญ 37:39 ซึ่งอ่านว่า “ความรอดของคนสัตย์ธรรมมาแต่พระยะโฮวา, พระองค์เป็นป้อมของเขาในยามยากลำบาก.” ชายผู้นี้ถามอย่างกรุณาว่าพยานฯ คนนี้และครอบครัวเขาเป็นอย่างไรบ้าง, เชิญเขาให้กลับมาเยี่ยมอีก, และแสดงความขอบคุณอย่างแท้จริงสำหรับการเยี่ยม.
17 อีกคนหนึ่งในบรรดาผู้โศกเศร้าจำนวนมากซึ่งได้รับการปลอบโยนโดยพยานพระยะโฮวาหลังจากวันที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีได้แก่สตรีผู้หนึ่งซึ่งพยานฯ พบขณะที่พวกเขากำลังเยี่ยมเพื่อนบ้าน. เธอรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นและรับฟังขณะที่พยานฯ อ่านบทเพลงสรรเสริญ 72:12-14 ที่ว่า “พระองค์จะทรงช่วยคนขัดสนเมื่อเขาร้องทุกข์, และจะทรงช่วยคนอนาถา, ที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์. พระองค์จะสงสารคนอนาถาและคนขัดสน, ชีวิตของคนขัดสนพระองค์จะช่วยให้รอด. พระองค์จะไถ่ชีวิตของเขาให้พ้นจากการข่มเหงและการร้ายกาจ; เลือดของเขาจะประเสริฐต่อพระเนตรของพระองค์.” ถ้อยคำเหล่านี้ช่างมีความหมายจริง ๆ! สตรีผู้นี้ขอให้พยานฯ อ่านข้อเหล่านี้อีกครั้งและเชิญเข้าไปในบ้านเพื่อจะพูดคุยกันต่อไป. เมื่อถึงตอนท้ายของการสนทนา พวกเขาก็ได้เริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลไปแล้ว.
18. พยานฯ คนหนึ่งช่วยเพื่อนบ้านอย่างไรเมื่อได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนในการอธิษฐาน?
18 พยานฯ คนหนึ่งทำงานที่ภัตตาคารในย่านของคนที่ค่อนข้างมีฐานะซึ่งก่อนหน้านี้ผู้คนไม่ค่อยแสดงความสนใจในข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ภายหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ความเชื่อมั่นของชุมชนแห่งนี้ดูเหมือนว่าถูกทำให้
สั่นคลอน. ในคืนวันศุกร์หลังการโจมตี ผู้จัดการภัตตาคารเชิญทุกคนให้ออกไปข้างนอกและถือเทียนไข ยืนสงบนิ่งไว้อาลัยกันชั่วครู่เพื่อระลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นี้. ด้วยความนับถือต่อความรู้สึกของพวกเขา พยานฯ คนนี้ได้ออกไปข้างนอกและยืนอยู่เงียบ ๆ บนทางเท้า. ผู้จัดการทราบว่าเขาเป็นพยานพระยะโฮวา ดังนั้น หลังจากที่ยืนไว้อาลัยเสร็จแล้ว เธอขอให้เขาเป็นตัวแทนทุกคนในการอธิษฐาน. พยานฯ ผู้นี้ตอบตกลง. ในคำอธิษฐาน เขากล่าวถึงความโศกเศร้าซึ่งแผ่ไปทั่ว แต่ก็กล่าวด้วยว่าผู้ที่โศกเศร้าไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์โศกโดยปราศจากความหวัง. เขากล่าวถึงสมัยที่จะไม่มีเหตุการณ์อันเลวร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นอีกต่อไปและกล่าวว่าทุกคนสามารถเข้าใกล้ชิดพระเจ้าผู้ให้การปลอบประโลมใจโดยทางความรู้ถ่องแท้ในคัมภีร์ไบเบิล. หลังจากกล่าว “อาเมน” ผู้จัดการและคนอื่น ๆ ที่อยู่ข้างนอกภัตตาคารมากกว่า 60 คนได้เข้ามาหาพยานฯ ผู้นี้, ขอบคุณเขา, และกอดเขา. ผู้จัดการกล่าวว่านั่นเป็นคำอธิษฐานที่ดีที่สุดเท่าที่เธอเคยได้ยิน.พระพรที่มีต่อชุมชน
19. ประสบการณ์อะไรแสดงว่าบางคนยอมรับว่าพยานพระยะโฮวามีมาตรฐานที่ดีเยี่ยม?
19 ตามที่หลายคนกล่าว ชุมชนต่าง ๆ ที่พยานพระยะโฮวาทำงานอย่างแข็งขันได้รับประโยชน์จากการที่พวกเขาอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้. แน่นอน ผู้คนที่ส่งเสริมสันติสุข, ความซื่อสัตย์, และมีศีลธรรมที่สะอาดย่อมก่อผลกระทบที่ดีต่อชุมชน. ในประเทศหนึ่งแถบเอเชียกลาง พยานฯ ได้พบกับเจ้าหน้าที่ในอดีตหน่วยงานเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว. เขากล่าวว่าเขาเคยได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบองค์การศาสนาหลาย ๆ องค์การ. เมื่อเขาตรวจสอบพยานพระยะโฮวา เขารู้สึกประทับใจในความซื่อสัตย์และความประพฤติที่ดี. เขาชมเชยความเชื่ออันมั่นคงและข้อเท็จจริงที่ว่าคำสอนของพยานฯ ยึดพระคัมภีร์เป็นหลัก. ชายผู้นี้ตอบตกลงจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.
20. (ก) กิจกรรมที่พยานพระยะโฮวารายงานเมื่อปีที่แล้วแสดงถึงอะไร? (ข) อะไรแสดงว่ายังมีงานอีกมากให้ทำ และเรามีทัศนะอย่างไรต่อสิทธิพิเศษในการเผยแพร่กิตติคุณ?
20 จากไม่กี่ประสบการณ์ที่ยกขึ้นมาเล่าในบทความนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายพันเรื่องที่อาจจะเล่าได้ เห็นได้ชัดว่าพยานพระยะโฮวากำลังมีงานยุ่งมากในระหว่างปีรับใช้ 2001 นี้. * พวกเขาคุยกับหลายล้านคน, พวกเขาปลอบประโลมใจหลายคนที่โศกเศร้า, และงานเผยแพร่กิตติคุณของพวกเขาได้รับการอวยพร. มี 263,431 คนที่ได้แสดงเครื่องหมายการอุทิศตัวแด่พระเจ้าด้วยการรับบัพติสมา. ทั่วโลก จำนวนผู้เผยแพร่กิตติคุณเพิ่มขึ้น 1.7 เปอร์เซ็นต์. และข้อเท็จจริงที่ว่ามี 15,374,986 คนเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูในปีที่แล้วชี้ให้เห็นว่ายังมีงานอีกมากให้ทำ. (1 โกรินโธ 11:23-26) ขอให้เราเสาะหาผู้อ่อนน้อมที่ตอบรับข่าวดีต่อ ๆ ไป. และตราบใดที่ “วันเดือนปีที่พระเจ้าทรงโปรดปราน” ยังคงดำเนินอยู่ ขอให้เราปลอบประโลม ‘คนที่จิตต์ใจฟกช้ำ’ ต่อ ๆ ไป. ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เราได้รับ! แน่นอน เราทุกคนเห็นด้วยกับคำกล่าวของยะซายาที่ว่า “ข้าพเจ้าจะยินดีเป็นอย่างยิ่งในองค์พระยะโฮวา, ข้าพเจ้าจะปลาบปลื้มในองค์พระเจ้าของข้าพเจ้า.” (ยะซายา 61:10) ขอพระเจ้าทรงใช้เราต่อ ๆ ไปในขณะที่พระองค์ทรงทำให้สำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์นี้ ที่ว่า “พระยะโฮวาเจ้าก็จะทรงให้ความชอบธรรมและความสรรเสริญจำเริญวัฒนาขึ้นต่อหน้าประชาชาติ.”—ยะซายา 61:11.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 20 แผนภูมิหน้า 19 ถึง 22 รายงานเกี่ยวกับกิจกรรมที่พยานพระยะโฮวาทำในช่วงปีรับใช้ 2001.
คุณจำได้ไหม?
• คนอ่อนน้อมได้รับพระพรอย่างไรจากข่าวดีที่พระเยซูทรงประกาศ?
• พระพรอะไรมีแก่คนที่ตอบรับงานเผยแพร่กิตติคุณของเหล่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรก?
• คนที่ตอบรับได้รับพระพรอย่างไรจากข่าวดีในปัจจุบัน?
• เรามีทัศนะอย่างไรต่อสิทธิพิเศษของเราในการเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ?
[คำถาม]
[ตารางแผนภูมิหน้า 19-22]
รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 2001 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก.
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
[ภาพหน้า 15]
พยานพระยะโฮวาไม่เคยลืมหน้าที่รับผิดชอบของตนในการเผยแพร่กิตติคุณ
[ภาพหน้า 17]
ผู้ที่ตอบรับข่าวดีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลก