คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
คำกล่าวในเฮ็บราย 12:4 (ล.ม.) หมายความอย่างไรที่ว่า “ท่านทั้งหลายยังไม่ได้ต่อต้านจนถึงโลหิต”?
วลีที่ว่า “ต่อต้านจนถึงโลหิต” แสดงนัยถึงการต่อต้านอย่างทรหดขนาดเสียชีวิตก็ยอม หลั่งเลือดกระทั่งหยดสุดท้ายตามตัวอักษร.
อัครสาวกเปาโลรู้ว่า เนื่องด้วยความเชื่อของพวกเขา คริสเตียนชาวฮีบรูบางคน “ได้เพียรอดทนการต่อสู้อย่างหนักด้วยความลำบาก” มาแล้ว. (เฮ็บราย 10:32, 33, ล.ม.) เมื่อชี้ถึงเรื่องนี้ ดูเหมือนเปาโลใช้คำอุปมาว่าด้วยความพยายามของนักกีฬาชาวกรีกในการแข่งขัน ซึ่งอาจรวมถึงการวิ่งแข่ง, มวยปล้ำ, ชกมวย, ขว้างจักร, และพุ่งแหลน. ดังนั้น ที่เฮ็บราย 12:1 (ล.ม.) เปาโลจึงได้กระตุ้นเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “ให้เราปลดของหนักทุกอย่างและบาปที่เข้าติดพันเราโดยง่ายนั้น และให้เราวิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่ง ซึ่งอยู่ต่อหน้าเรา.”
ถัดไปอีกสามข้อ คือที่เฮ็บราย 12:4 เปาโลอาจได้เปลี่ยนภาพเปรียบเทียบของการวิ่งแข่งไปเป็นการแข่งขันชกมวย. (ภาพเปรียบเทียบทั้งสองนี้ปรากฏใน 1 โกรินโธ 9:26.) นักชกสมัยโบราณพันมือและข้อมือของตนด้วยสายหนัง. สายหนังนั้นอาจเพิ่ม “ปุ่มตะกั่ว, เหล็ก, หรือปุ่มโลหะเข้าไป ซึ่งจะทำให้คู่ชกบาดเจ็บสาหัส.” การแข่งขันอย่างโหดร้ายทารุณเช่นนั้นมักทำให้เกิดบาดแผลมีเลือดออก บางครั้งถึงตายด้วยซ้ำ.
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คริสเตียนชาวฮีบรูมีตัวอย่างมากพอจากบรรดาผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าที่ทนรับการกดขี่ข่มเหงและการทำร้ายร่างกายอย่างเหี้ยมโหดกระทั่ง “จนถึงโลหิต” หรือเสียชีวิตด้วยซ้ำ. จงสังเกตบริบทที่เปาโลชี้ให้สนใจสิ่งซึ่งผู้ซื่อสัตย์สมัยโบราณเคยประสบ.
“บางคนถูกหินขว้าง, บางคนถูกเลื่อยเป็นท่อน ๆ, บางคนถูกทดลองต่าง ๆ, บางคนถูกฆ่าด้วยคมดาบ บางคนเที่ยวสัญจรไปนุ่งห่มหนังแกะหนังแพะ อดอยาก, ทนทุกขเวทนาและทนการเคี่ยวเข็ญ.” หลังจากนั้น เปาโลได้กล่าวย้ำเรื่องพระเยซูผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ดังนี้: “พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาราชบัลลังก์ของพระเจ้า.”—เฮ็บราย 11:37; 12:2, ล.ม.
ใช่แล้ว หลายคนได้ “ต่อต้านจนถึงโลหิต” คือถึงแก่ชีวิตนั่นเอง. การต่อต้านดังกล่าวหาใช่เป็นเพียงการต่อสู้ภายในกับบาปแห่งการขาดความเชื่อแค่นั้นไม่. พวกเขาซื่อสัตย์ภักดีภายใต้การประทุษร้ายอย่างเหี้ยมโหดจากผู้คน พวกเขารักษาความซื่อสัตย์กระทั่งตาย.
บรรดาคนใหม่ในประชาคมเยรูซาเลมอาจไม่เคยเผชิญการทดสอบที่รุนแรงขนาดนั้น บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาเข้ามาเป็นคริสเตียนภายหลังการข่มเหงอย่างร้ายกาจก่อนหน้านั้นได้สงบไปแล้ว. (กิจการ 7:54-60; 12:1, 2; เฮ็บราย 13:7) แม้กระนั้น การทดลองบางอย่างแม้ไม่สู้จะรุนแรงเท่าไร แต่ทำให้บางคนระย่อท้อถอยไม่เข้าในการวิ่งแข่งอีกต่อไป พวกเขา “เบื่อระอาและปล่อยตัวหยุดกลางคัน.” (เฮ็บราย 12:3, ล.ม.) พวกเขาจำต้องทำความก้าวหน้าสู่ความอาวุโส. สิ่งนี้จะเพิ่มพูนความสามารถเพื่อเขาจะอดทนได้ไม่ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นก็ตาม กระทั่งรวมไปถึงการถูกทำร้ายทางกายถึงขั้นโลหิตตก.—เฮ็บราย 6:1; 12:7-11.
คริสเตียนหลายคนในสมัยปัจจุบันได้ “ต่อต้านจนถึงโลหิต” คือถูกประหารชีวิตเนื่องจากไม่ยอมอะลุ่มอล่วยหลักการคริสเตียน. แทนที่จะให้คำพูดของเปาโลที่เฮ็บราย 12:4 เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัว เราจะถือเอาถ้อยคำเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเราจะตั้งใจแน่วแน่รักษาความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้าถึงขีดไหน. ถัดจากนั้นในจดหมายฉบับเดียวกันถึงชาวฮีบรู เปาโลเขียนดังนี้: “ขอให้เราได้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับต่อไป เพื่อโดยทางนั้นเราจะถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าอย่างที่ทรงยอมรับด้วยความเกรงกลัวและเกรงขามพระองค์.”—เฮ็บราย 12:28, ล.ม.