ความสว่างจากพระเจ้าขับไล่ความมืด!
ความสว่างจากพระเจ้าขับไล่ความมืด!
“พระยะโฮวาจะส่องในที่มืดของข้าพเจ้าให้สว่าง.”—2 ซามูเอล 22:29.
1. ความสว่างเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร?
“พระเจ้าจึงตรัสให้เกิดมีความสว่าง: ความสว่างก็เกิดขึ้น.” (เยเนซิศ 1:3) ด้วยคำตรัสที่สำคัญดังกล่าว บันทึกเรื่องการทรงสร้างในพระธรรมเยเนซิศระบุว่าพระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งความสว่าง ซึ่งหากปราศจากความสว่าง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดมีชีวิตบนแผ่นดินโลก. พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งความสว่างฝ่ายวิญญาณด้วย ซึ่งมีความสำคัญยิ่งเพื่อชี้นำเราในการดำเนินชีวิต. (บทเพลงสรรเสริญ 43:3) กษัตริย์ดาวิดชี้ว่าความสว่างฝ่ายวิญญาณเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับชีวิต เมื่อท่านเขียนว่า “บ่อเกิดแห่งชีวิตอยู่กับพระองค์; โดยความสว่างจากพระองค์ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงเห็นความสว่าง.”—บทเพลงสรรเสริญ 36:9, ล.ม.
2. ดังที่เปาโลชี้ให้เห็น ความสว่างเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอะไร?
2 ประมาณ 1,000 ปีหลังสมัยดาวิด อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงบันทึกเรื่องการทรงสร้าง. ท่านเขียนถึงประชาคมคริสเตียนในเมืองโครินท์ (โกรินโธ) ดังนี้: “พระเจ้าคือผู้ได้ตรัสว่า ‘จงให้ความสว่างส่องออกจากความมืด.’” จากนั้น เปาโลชี้ว่าความสว่างฝ่ายวิญญาณเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรู้จากพระยะโฮวาเมื่อท่านกล่าวเสริมอีกว่า “พระองค์ทรงส่องสว่างยังหัวใจของเรา ให้สว่างด้วยความรู้อันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าโดยพระพักตร์พระคริสต์.” (2 โกรินโธ 4:6, ล.ม.) ความสว่างนี้มาถึงเราโดยวิธีใด?
คัมภีร์ไบเบิล—เครื่องมือนำความสว่าง
3. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีความสว่างอะไรทางคัมภีร์ไบเบิล?
3 ส่วนใหญ่แล้ว พระยะโฮวาทรงส่งความสว่างฝ่ายวิญญาณให้แก่เราทางคัมภีร์ไบเบิล พระคำซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจของพระองค์. ดังนั้น เมื่อเราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและรับเอาความรู้จากพระเจ้า เรากำลังยอมให้ความสว่างนั้นส่องมายังเรา. โดยทางคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาทรงให้ความกระจ่างในเรื่องพระประสงค์ของพระองค์และบอกเราเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. ทั้งนี้ทำให้ชีวิตเรามีจุดมุ่งหมายและช่วยตอบสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเรา. (ท่านผู้ประกาศ 12:1; มัดธาย 5:3) พระเยซูทรงเน้นว่าเราต้องเอาใจใส่ความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเรา เมื่อพระองค์ตรัสโดยยกข้อความจากพระบัญญัติของโมเซดังนี้: “มีคำเขียนไว้ว่า, ‘มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่ด้วยบรรดาโอวาทซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า.’”—มัดธาย 4:4; พระบัญญัติ 8:3.
4. พระเยซูทรงเป็น “ความสว่างของโลก” ในทางใด?
4 พระเยซูทรงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความสว่างฝ่ายวิญญาณ. ที่จริง พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่าเป็น “ความสว่างของโลก” และตรัสว่า “ผู้ที่ตามเรามาจะมิได้เดินในความมืด, แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต.” (โยฮัน 8:12) คำตรัสนี้ช่วยเราให้เข้าใจบทบาทที่สำคัญที่สุดของพระ เยซูในการนำความจริงของพระยะโฮวามาสู่มนุษยชาติ. หากเราต้องการหลีกเลี่ยงความมืดและดำเนินในความสว่างของพระเจ้า เราต้องฟังทุกสิ่งที่พระเยซูตรัสและปฏิบัติตามแบบอย่างและคำสอนของพระองค์อย่างใกล้ชิดดังบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล.
5. สาวกของพระเยซูมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์?
5 ไม่กี่วันก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูตรัสถึงพระองค์เองอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นความสว่าง โดยทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ความสว่างจะอยู่ท่ามกลางเจ้าทั้งหลายต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง. จงเดินไปขณะที่เจ้ายังมีความสว่างอยู่ เพื่อความมืดจะได้ไม่เอาชนะเจ้า; และผู้ที่เดินอยู่ในความมืดไม่รู้ว่าตนไปทางไหน. ขณะที่เจ้าทั้งหลายมีความสว่าง จงสำแดงความเชื่อในความสว่างนั้น เพื่อจะได้เป็นลูกแห่งความสว่าง.” (โยฮัน 12:35, 36, ล.ม.) ผู้ที่ได้เข้ามาเป็นลูกแห่งความสว่างเรียน “แบบแผนแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” ในคัมภีร์ไบเบิล. (2 ติโมเธียว 1:13, 14, ล.ม.) เมื่อเรียนรู้แล้ว พวกเขาใช้ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์นั้นเพื่อชักนำผู้มีหัวใจสุจริตคนอื่น ๆ ให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างของพระเจ้า.
6. เราพบความจริงพื้นฐานอะไรเกี่ยวกับความสว่างและความมืดที่ 1 โยฮัน 1:5?
6 อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “พระเจ้าเป็นความสว่าง, และความมืดในพระองค์ไม่มีเลย.” (1 โยฮัน 1:5) โปรดสังเกตความแตกต่างในที่นี้ระหว่างความสว่างกับความมืด. ความสว่างฝ่ายวิญญาณเกิดมาจากพระยะโฮวา และความมืดฝ่ายวิญญาณไม่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระองค์ได้เลย. ถ้าอย่างนั้น ใครเป็นแหล่งที่มาของความมืด?
แหล่งที่มาของความมืดฝ่ายวิญญาณ
7. ใครอยู่เบื้องหลังความมืดฝ่ายวิญญาณของโลก และผู้นี้มีอิทธิพลเช่นไร?
7 อัครสาวกเปาโลกล่าวถึง “พระเจ้าของระบบนี้.” ท่านใช้วลีนี้หมายถึงซาตานพญามาร. ท่านกล่าวต่อไปอีกว่ามันผู้นี้ “ได้ทำให้จิตใจของคนที่ไม่เชื่อมืดไป เพื่อแสงสว่างแห่งข่าวดีอันรุ่งโรจน์เรื่องพระคริสต์ ผู้เป็นพระฉายของพระเจ้าจะไม่ส่องทะลุ.” (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) หลายคนอ้างว่าเชื่อในพระเจ้า; ทว่า มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มนี้ที่ไม่เชื่อว่ามีพญามาร. เพราะเหตุใด? พวกเขาไม่เต็มใจจะยอมรับว่ามีอำนาจชั่วร้ายบางอย่างที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อวิธีที่พวกเขาคิด. อย่างไรก็ตาม ดังที่เปาโลชี้ให้เห็น พญามารดำรงอยู่จริงและมีอิทธิพลต่อผู้คนเพื่อทำให้พวกเขาไม่สามารถเห็นความสว่างแห่งความจริง. อำนาจของซาตานซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของมนุษย์เห็นได้จากคำพรรณนาเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับมันว่าเป็น “ผู้ลวงมนุษย์โลกทั้งปวง.” (วิวรณ์ 12:9) โดยเป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดจากปฏิบัติการของซาตาน สภาพซึ่งผู้พยากรณ์ยะซายาบอกไว้ล่วงหน้าเป็นจริงในเวลานี้กับมนุษยชาติทั้งสิ้น ยกเว้นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา: “ดูเถอะ, ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้มิด, และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้.”—ยะซายา 60:2.
8. ผู้ที่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขางุนงงสับสน?
8 ในความมืดมิด เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นสิ่งใด. คนเราอาจหลงทางหรืองุนงงสับสนได้อย่างง่ายดาย. ในทำนองเดียวกัน คนที่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณขาดการรับรู้เข้าใจ และไม่ช้าก็เริ่มงุนงงสับสนทางฝ่ายวิญญาณ. พวกเขาอาจสูญเสียความสามารถในการแยกแยะว่าอะไรจริงอะไรเท็จ อะไรดีอะไรชั่ว. ผู้พยากรณ์ยะซายากล่าวถึงคนที่อยู่ในความมืดเช่นนั้นเมื่อท่านเขียนว่า “วิบัติแก่คนที่เห็นชั่วเป็นดี, และเห็นดีเป็นชั่ว; และถือเอาว่ามืดเป็นสว่าง, และสว่างเป็นมืด; และถือว่าขมเป็นหวาน, และหวานเป็นขม!” (ยะซายา 5:20) ผู้ที่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณตกอยู่ใต้อิทธิพลของพระแห่งความมืด คือซาตานพญามาร และด้วยเหตุนั้นพวกเขาเหินห่างจากแหล่งแห่งความสว่างและชีวิต.—เอเฟโซ 4:17-19.
ข้อท้าทายในการออกจากความมืดสู่ความสว่าง
9. จงอธิบายว่าผู้ทำผิดมีความผูกพันอยู่กับความมืดอย่างไรทั้งในความหมายตามตัวอักษรและในแง่ฝ่ายวิญญาณ.
9 โยบผู้ซื่อสัตย์ชี้ถึงความผูกพันที่ผู้ทำผิดมีกับความมืดตามตัวอักษรเมื่อท่านกล่าวว่า “ตาของคนมักมากในกามก็คอยเวลาพลบค่ำ. นึกว่า, ‘ไม่มีใครจะเห็นข้าฯ;’ แล้วก็เอาผ้าคลุมหัวไป.” (โยบ 24:15, 16) ผู้ทำผิดยังอยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณอีกด้วย และความมืดเช่นนี้อาจมีอำนาจครอบงำได้มาก. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่าการประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ, การขโมย, ความโลภ, การเมาเหล้า, การด่าทอ, และการขูดรีดเป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นธรรมดาในหมู่คนที่ติดบ่วงแร้วอยู่ในความมืดนั้น. แต่ใครก็ตามที่มาสู่ความ สว่างแห่งพระคำของพระเจ้าสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน. เปาโลแสดงไว้อย่างชัดเจนในจดหมายของท่านถึงประชาคมโกรินโธว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเป็นไปได้. คริสเตียนชาวโกรินโธหลายคนเคยประพฤติการของความมืด กระนั้น เปาโลบอกพวกเขาว่า “แต่ได้ทรงชำระท่านทั้งหลายให้สะอาด แต่ได้ทรงทำให้ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ แต่ได้ประกาศให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ชอบธรรมในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและด้วยพระวิญญาณแห่งพระเจ้าของเรา.”—1 โกรินโธ 6:9-11, ล.ม.
10, 11. (ก) พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์ทรงคำนึงถึงความรู้สึกของชายที่ทรงรักษาให้มองเห็นได้? (ข) เหตุใดหลายคนจึงไม่เลือกความสว่าง?
10 เมื่อคนคนหนึ่งออกมาจากความมืดทึบสู่ความสว่าง ต้องใช้เวลาเล็กน้อยก่อนที่ตาของเขาจะปรับได้. ที่เมืองเบธซายะดา พระเยซูทรงรักษาชายตาบอดคนหนึ่ง แต่พระองค์ทรงทำอย่างนั้นด้วยความกรุณาโดยรักษาเขาเป็นขั้น ๆ. “พระองค์ได้จูงมือคนตาบอดพาออกไปนอกหมู่บ้าน เมื่อได้ทรงบ้วนน้ำลายลงที่ตาคนนั้น และวางพระหัตถ์บนเขาแล้ว, พระองค์จึงตรัสถามว่า, ‘เจ้าเห็นสิ่งใดบ้างหรือไม่?’ คนนั้นเงยหน้าดูแล้วทูลว่า, ‘ข้าพเจ้าแลเห็นคนเหมือนต้นไม้เดินไปเดินมา.’ พระองค์จึงวางพระหัตถ์บนตาเขาอีก, แล้วเขาก็เพ่งดู. และตาก็หายเป็นปกติแลเห็นสิ่งทั้งหลายได้ชัด.” (มาระโก 8:23-25) ดูเหมือนว่า พระเยซูทรงรักษาชายคนนี้ให้ค่อย ๆ เห็นชัดขึ้น เพื่อเขาจะปรับสายตารับแสงจ้าของดวงอาทิตย์ได้. เราสามารถนึกภาพได้ถึงความยินดีของชายผู้นี้เมื่อเขาสามารถมองเห็น.
11 อย่างไรก็ตาม ความยินดีที่ชายคนนี้ได้รับยังไม่เท่ากับความยินดีของคนที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นขั้น ๆ ให้ออกจากความมืดฝ่ายวิญญาณสู่ความสว่างแห่งความจริง. เมื่อเราเห็นความยินดีของพวกเขา เราอาจนึกสงสัยว่าทำไมจึงไม่ได้มีคนมากกว่านี้ที่ถูกดึงดูดใจให้เข้าสู่ความสว่าง. พระเยซูทรงให้เหตุผลดังนี้: “หลักของการพิพากษาก็เป็นอย่างนี้ คือว่าความสว่างได้เข้ามาในโลกแล้วแต่มนุษย์ได้รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง เพราะการของเขาชั่ว. เพราะผู้ที่ทำสิ่งชั่วย่อมชังความสว่างและไม่ได้มาถึงความสว่าง เพื่อการของตนจะไม่ถูกว่ากล่าว.” (โยฮัน 3:19, 20, ล.ม.) ใช่แล้ว หลายคนรักการทำ “สิ่งชั่ว”—อย่างเช่น การประพฤติผิดศีลธรรม, การกดขี่, การโกหก, การฉ้อโกง, และการลักขโมย—และความมืดฝ่ายวิญญาณของซาตานเป็นสภาพแวดล้อมซึ่งเหมาะมากที่พวกเขาจะทำตามความปรารถนาของตน.
การทำความก้าวหน้าในความสว่าง
12. เราได้รับประโยชน์ในทางใดบ้างจากการเข้ามาสู่ความสว่าง?
12 นับตั้งแต่เราได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับความสว่าง เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในตัวเราเอง? บางครั้ง นับว่าดีที่จะมองย้อนกลับไปและวิเคราะห์ดูว่าเราได้ทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างไรบ้าง. เราได้ทิ้งนิสัยที่ไม่ดีอะไรไปบ้าง? ปัญหาอะไรบ้างในชีวิตที่เราสามารถแก้ไข? แผนการของเราสำหรับอนาคตได้เปลี่ยนไปอย่างไร? ด้วยกำลังที่ได้จากพระยะโฮวาและด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ เราสามารถทำการเปลี่ยนแปลงต่อไปในด้านบุคลิกภาพและวิธีคิดซึ่งแสดงว่าเรากำลังตอบรับความสว่าง. (เอเฟโซ 4:23, 24) เปาโลกล่าวอย่างนี้: “เมื่อก่อนท่านทั้งหลายเป็นความมืด, แต่บัดนี้ท่านเป็นความสว่างแล้วในองค์พระผู้เป็นเจ้า จงประพฤติอย่างลูกของความสว่าง. ด้วยว่าผลของความสว่างนั้นคือความดีทุกอย่างและความชอบธรรมและความจริง.” (เอเฟโซ 5:8, 9) การยอมให้ความสว่างของพระยะโฮวาชี้นำเราทำให้เรามีความหวังและจุดมุ่งหมาย อีกทั้งเพิ่ม ความยินดีแก่คนที่อยู่รอบข้าง. และการที่เราเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นทำให้พระยะโฮวายินดีอย่างยิ่ง!—สุภาษิต 27:11.
13. เราจะแสดงความขอบคุณสำหรับความสว่างของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด และจำเป็นต้องมีอะไรเพื่อจะทำอย่างนั้น?
13 เราแสดงความขอบคุณสำหรับชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นโดยการสะท้อนความสว่างของพระยะโฮวา—โดยแบ่งปันสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิลแก่สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว, มิตรสหาย, และเพื่อนบ้าน. (มัดธาย 5:12-16; 24:14) สำหรับคนที่ไม่ยอมฟัง การประกาศของเราพร้อมกับแนวทางชีวิตแบบคริสเตียนอันเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นเหมือนกับการว่ากล่าว. เปาโลอธิบายว่า “จงทำให้แน่ใจต่อ ๆ ไปว่า อะไรเป็นสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้ายอมรับ; และจงเลิกเข้าส่วนกับพวกเขาในการงานที่ไร้ผลซึ่งเป็นของความมืด แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น ให้ว่ากล่าวพวกเขาเสียด้วย.” (เอเฟโซ 5:10, 11, ล.ม.) การที่เราจะช่วยผู้อื่นให้ทิ้งความมืดและเลือกความสว่างจำเป็นต้องอาศัยความกล้า. ที่สำคัญกว่านั้น จำเป็นต้องมีความเมตตาสงสารและความห่วงใยต่อผู้อื่น อีกทั้งมีความปรารถนาจากหัวใจที่จะแบ่งปันความสว่างแห่งความจริงแก่คนเหล่านี้เพื่อประโยชน์ถาวรของพวกเขา.—มัดธาย 28:19, 20.
จงระวังความสว่างที่ลวงให้ติดกับ!
14. เราควรเอาใจใส่คำเตือนอะไรในเรื่องความสว่าง?
14 สำหรับคนที่อยู่ในท้องทะเลยามค่ำคืน การได้เห็นแสงใดก็ตามนับเป็นเรื่องน่ายินดี. ที่ประเทศอังกฤษ ในสมัยก่อนจะมีการจุดคบไฟตามหน้าผาต่าง ๆ เพื่อบอกให้ทราบว่าจะหาที่หลบภัยจากพายุได้ที่ไหน. ชาวเรือรู้สึกขอบคุณที่ได้รับการนำทางโดยแสงเหล่านี้เพื่อเข้าสู่อ่าวจอดเรือที่ปลอดภัย. อย่างไรก็ตาม คบไฟบางอันเป็นคบไฟที่ลวงให้ติดกับ. แทนที่จะพบอ่าวจอดเรือ เรือหลายลำถูกลวงให้ไปอับปางที่แนวชายฝั่งอันเต็มไปด้วยหิน และสินค้าของพวกเขาก็จะถูกขโมย. ในโลกที่หลอกลวงนี้ เราต้องระวังไม่ให้ถูกชักพาไปหาความสว่างอันลวงหลอกซึ่งอาจล่อเราให้อับปางฝ่ายวิญญาณได้. เราได้รับแจ้งว่า “ซาตานเองก็ปลอมตัวเป็นทูตแห่งความสว่างอยู่เรื่อย ๆ.” คล้ายกันนั้น ผู้รับใช้ของมันซึ่งรวมถึงพวกผู้ออกหากด้วยเป็น “คนงานชอบหลอกลวง” ซึ่ง “ปลอมตัวเป็นผู้รับใช้แห่งความชอบธรรมอยู่เสมอ.” หากเรารับเอาการคิดหาเหตุผลอย่างผิด ๆ ของคนพวกนี้มาพิจารณา ความเชื่อมั่นในคัมภีร์ไบเบิลพระคำแห่งความจริงของพระยะโฮวาอาจอ่อนลงไปและอาจทำให้ความเชื่อของเราตายได้.—2 โกรินโธ 11:13-15, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 1:19.
15. อะไรจะช่วยเราให้รักษาตัวอยู่บนทางซึ่งนำไปถึงชีวิต?
15 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนดังนี้: “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า, และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:105) ถูกแล้ว “ทางแคบซึ่งนำไปถึงชีวิต” ถูกทำให้สว่างอย่างชัด แจ้งโดยพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักของเรา “ผู้ซึ่งมีพระทัยประสงค์ให้คนทุกชนิดได้ความรอดและบรรลุความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (มัดธาย 7:14; 1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) การใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยป้องกันเราไว้จากการเดินหลงจากทางแคบไปสู่วิถีแห่งความมืด. เปาโลเขียนไว้ว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ขณะที่เราเติบโตขึ้นฝ่ายวิญญาณ เราได้รับการสอนโดยพระคำของพระเจ้า. ด้วยความสว่างแห่งพระคำของพระเจ้า เราสามารถว่ากล่าวตัวเราเอง หรือหากจำเป็น ได้รับการว่ากล่าวโดยผู้บำรุงเลี้ยงผู้เปี่ยมด้วยความรักในประชาคม. เช่นเดียวกัน เราสามารถจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยและยอมรับการตีสอนในความชอบธรรมด้วยความถ่อมใจเพื่อรักษาก้าวเท้าของเราบนเส้นทางสู่ชีวิต.
เดินในความสว่างด้วยความหยั่งรู้ค่า
16. เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
16 เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าสำหรับความสว่างซึ่งเป็นของประทานอันยอดเยี่ยมจากพระยะโฮวาได้อย่างไร? โยฮันบท 9 บอกเราว่าเมื่อพระเยซูทรงรักษาชายคนหนึ่งซึ่งตาบอดแต่กำเนิด ชายคนนี้ถูกกระตุ้นใจให้แสดงความขอบคุณ. โดยวิธีใด? เขาแสดงความเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้าและประกาศไปทั่วว่าพระองค์เป็น “ผู้พยากรณ์.” นอกจากนั้น เขากล่าวตอบโต้อย่างกล้าหาญต่อคนเหล่านั้นที่พยายามดูถูกการอัศจรรย์ของพระเยซู. (โยฮัน 9:17, 30-34, ล.ม.) อัครสาวกเปโตรเรียกสมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งประชาคมคริสเตียนว่า “ไพร่พลที่เป็นสมบัติพิเศษ.” เพราะเหตุใด? เพราะพวกเขามีเจตคติหยั่งรู้ค่าแบบเดียวกับชายที่ตาบอดแต่กำเนิดซึ่งได้รับการรักษาผู้นี้. พวกเขาแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวา ผู้มีพระคุณอย่างเหลือล้นต่อพวกเขา โดย ‘ประกาศเผยแพร่คุณความดีอันล้ำเลิศของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกพวกเขาออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.’ (1 เปโตร 2:9, ล.ม.; โกโลซาย 1:13) คนเหล่านั้นที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกนี้มีเจตคติหยั่งรู้ค่าแบบเดียวกัน และพวกเขาสนับสนุนพี่น้องผู้ถูกเจิมในการประกาศ “คุณความดีอันล้ำเลิศ” ของพระยะโฮวาแก่คนทั่วไป. นับเป็นสิทธิพิเศษอันสุดจะประมาณที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ไม่สมบูรณ์!
17, 18. (ก) หน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนคืออะไร? (ข) ในการเลียนแบบติโมเธียว คริสเตียนแต่ละคนได้รับการสนับสนุนให้หลีกเลี่ยงอะไร?
17 นับว่าสำคัญมากที่จะมีความหยั่งรู้ค่าจากหัวใจสำหรับความสว่างแห่งความจริง. พึงจำไว้ว่า ไม่มีใครในพวกเราทราบความจริงตั้งแต่เกิด. บางคนเรียนความจริงตอนเป็นผู้ใหญ่ และพวกเขาเห็นอย่างรวดเร็วว่าความสว่างดีกว่าความมืด. คนอื่น ๆ มีโอกาสดีเป็นพิเศษโดยได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่เกรงกลัวพระเจ้า. สำหรับคนเหล่านี้ เป็นเรื่องง่ายที่เขาอาจมองข้ามความสำคัญของความสว่าง. พยานฯ คนหนึ่ง ซึ่งบิดามารดาเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาตั้งแต่ก่อนเธอเกิด ยอมรับว่าเธอต้องใช้เวลาและความพยายามมากทีเดียวจึงจะเข้าใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของความจริงที่เธอได้รับการสอนตั้งแต่เป็นทารก. (2 ติโมเธียว 3:15) ไม่ว่าเยาว์วัยหรือสูงอายุ เราแต่ละคนจำเป็นต้องปลูกฝังความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อความจริงที่พระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผย.
18 ชายหนุ่มติโมเธียวได้รับการสอน “คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์” ตั้งแต่เป็นทารก แต่ท่านได้บรรลุการเป็นคริสเตียนที่อาวุโสหลังจากที่ท่านได้ทุ่มเทตัวเองในงานรับใช้แล้วเท่านั้น. (2 ติโมเธียว 3:15) ถึงตอนนั้น ท่านจึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยอัครสาวกเปาโล ซึ่งได้กระตุ้นเตือนท่านว่า “จงทำสุดความสามารถเพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูก ต้อง.” เช่นเดียวกับติโมเธียว ขอให้เราทุกคนหลีกเลี่ยงการทำสิ่งใด ๆ ที่อาจทำให้เราละอาย—หรือทำให้พระยะโฮวาทรงละอายในตัวเรา!—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.
19. (ก) เช่นเดียวกับดาวิด เราทุกคนมีเหตุผลที่จะกล่าวเช่นไร? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 เรามีเหตุผลทุกประการที่จะสรรเสริญพระยะโฮวา ผู้ประทานความสว่างแห่งความจริงของพระองค์แก่เรา. เช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิด เรากล่าวดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์เป็นพระประทีปของข้าพเจ้า, พระยะโฮวาจะส่องในที่มืดของข้าพเจ้าให้สว่าง.” (2 ซามูเอล 22:29) ถึงกระนั้น เราไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจทำให้เราถอยกลับไปสู่ความมืดซึ่งเราได้รับการช่วยให้ออกมาแล้ว. ด้วยเหตุนั้น บทความถัดไปจะช่วยเราให้ประเมินความสำคัญที่เราให้แก่ความจริงซึ่งได้รับจากพระเจ้าในชีวิตของเรา.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• พระยะโฮวาทรงจัดให้มีความหยั่งเห็นเข้าใจฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
• ความมืดฝ่ายวิญญาณที่อยู่รอบตัวเราทำให้เกิดข้อท้าทายอะไร?
• เราต้องหลีกเลี่ยงอันตรายอะไรบ้าง?
• เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าสำหรับความสว่างแห่งความจริงได้โดยวิธีใด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 8]
พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งความสว่างทั้งทางกายภาพและฝ่ายวิญญาณ
[ภาพหน้า 10]
เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงรักษาชายตาบอดให้ค่อย ๆ เห็นชัดขึ้น พระองค์ทรงช่วยเราในลักษณะเดียวกันให้ออกจากความมืดฝ่ายวิญญาณ
[ภาพหน้า 11]
การถูกลวงโดยความสว่างปลอมของซาตานทำให้อับปางฝ่ายวิญญาณ