รับการเสริมกำลังจากภราดรภาพของเราที่มีอยู่ทั่วโลก
เรื่องราวชีวิตจริง
รับการเสริมกำลังจากภราดรภาพของเราที่มีอยู่ทั่วโลก
เล่าโดยทอมสัน กังกาเลอ
วันที่ 24 เมษายน 1993 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมกำหนดการอุทิศชุดอาคารสำนักงานสาขาใหม่ซึ่งรวม 13 อาคารด้วยกัน ในเมืองลูซากา ประเทศแซมเบีย. เนื่องจากผมเดินไม่สะดวก พี่น้องหญิงคริสเตียนที่นำเที่ยวชมอาคารต่าง ๆ ได้ถามผมอย่างกรุณาว่า “ให้ดิฉันช่วยหิ้วเก้าอี้ไปด้วยดีไหมคะ เผื่อคุณจะได้นั่งพักเป็นครั้งเป็นคราว?” ผมเป็นคนผิวดำ ซิสเตอร์คนนี้เป็นคนผิวขาว แต่เธอไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ. ผมกล่าวขอบคุณเธอด้วยความซาบซึ้งใจ เพราะความกรุณาของเธอนี่เองผมจึงมีโอกาสได้ตระเวนชมทุกอาคารในสำนักงานสาขา.
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ทำนองนี้ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นในหัวใจ เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นของผมที่ว่าความรักภายในสังคมคริสเตียนพยานพระยะโฮวานั้นเป็นข้อพิสูจน์ตัวสาวกแท้ตามที่พระคริสต์ตรัสไว้. (โยฮัน 13:35; 1 เปโตร 2:17) ผมขอเล่าให้คุณฟังถึงความเป็นมาที่ผมได้รู้จักคริสเตียนเหล่านี้ย้อนหลังไปในปี 1931 ซึ่งเป็นปีที่พวกเขาประกาศตัวอย่างเปิดเผย ให้เป็นที่รู้จักตามชื่อเรียกในคัมภีร์ไบเบิลว่าพยานของพระยะโฮวา.—ยะซายา 43:12.
งานรับใช้ช่วงแรกในแอฟริกา
เดือนพฤศจิกายน 1931 ตอนนั้นผมอายุ 22 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองคีทเว ในเขตคอปเปอร์เบลต์ของโรดีเซียตอนเหนือ (แซมเบียในปัจจุบัน). เพื่อนที่เล่นเตะบอลด้วยกันได้แนะนำผมให้รู้จักพยานฯ. ผมไปร่วมประชุมเป็นบาง * คู่มือสำหรับศึกษาพระคัมภีร์. หนังสือนั้นเป็นภาษาอังกฤษซึ่งยากที่ผมจะเข้าใจ เนื่องจากผมไม่ถนัดภาษาอังกฤษ.
ครั้ง และเขียนไปยังสำนักงานสาขาที่เคปทาวน์ แอฟริกาใต้ เพื่อขอรับหนังสือพิณของพระเจ้าเขตคอปเปอร์เบลต์อยู่ห่างจากทะเลสาบบังเวอูลูไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 240 กิโลเมตร ใกล้กับตำบลซึ่งผมอยู่มาตั้งแต่เล็กจนโต คนงานจากหลายจังหวัดถูกว่าจ้างมาทำงานที่เหมืองทองแดง. พยานพระยะโฮวาหลายกลุ่มได้จัดประชุมศึกษาพระคัมภีร์ที่นั่นเป็นประจำ. หลังจากนั้นไม่นาน ผมได้ย้ายจากเมืองคีทเวไปยังเมืองอึนโดลาซึ่งอยู่ไม่ไกล และเริ่มสมทบกับกลุ่มพยานฯ ที่นั่น. สมัยนั้น ผมเป็นกัปตันทีมฟุตบอลปรินซ์ออฟเวลส์. นอกจากนั้น ผมทำงานเป็นคนใช้ที่บ้านผู้จัดการบริษัทแอฟริกันเลกส์คอร์ปอเรชันซึ่งเป็นคนผิวขาว บริษัทนี้มีร้านในเครือจำนวนมากทั่วแอฟริกากลาง.
ผมเรียนมาน้อยและเรียนภาษาอังกฤษนิด ๆ หน่อย ๆ จากชาวยุโรปที่ผมทำงานอยู่ด้วย. ถึงกระนั้น ผมกระตือรือร้นอยากเรียนเพิ่มเติมและจึงไปสมัครเรียนในโรงเรียนที่เมืองพลัมทรี โรดีเซียใต้ (ประเทศซิมบับเวในปัจจุบัน). แต่ระหว่างนั้น ผมเขียนจดหมายไปที่สำนักงานสาขาเคปทาวน์เป็นครั้งที่สอง. ผมแจ้งให้เขาทราบว่าผมได้รับหนังสือพิณของพระเจ้าแล้ว และต้องการรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา.
ผมประหลาดใจเมื่อรับจดหมายตอบกลับบอกว่า “เราขอชมเชยคุณที่ประสงค์จะรับใช้พระยะโฮวา. เราอยากสนับสนุนคุณให้อธิษฐานเกี่ยวด้วยเรื่องนี้ และพระยะโฮวาจะช่วยคุณเข้าใจเรื่องความจริงลึกซึ้งยิ่งขึ้น และพระองค์จะให้ที่สำหรับคุณเพื่อทำงานรับใช้พระองค์.” หลังจากอ่านทบทวนจดหมายนั้นหลายครั้ง ผมไต่ถามพยานพระยะโฮวาหลายคนว่าผมควรทำอย่างไร. เขาบอกว่า “ถ้าคุณปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวาจริง ๆ ก็ทำไปเถอะ และเริ่มทำทันที.”
ผมอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดสัปดาห์ ในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกเรียนหนังสือและมุ่งหน้าศึกษาพระคัมภีร์กับพวกพยานฯ. ปีถัดมา เดือนมกราคม 1932 ผมแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้าด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ. หลังการย้ายจากเมืองอึนโดลาไปยังเมืองลูอันชาที่อยู่ใกล้ ๆ ผมก็ได้รู้จักกับเจเนต เพื่อนร่วมความเชื่อเดียวกัน และเราแต่งงานกันในเดือนกันยายน 1934. ตอนเราแต่งงาน เจเนตมีลูกติดเป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง.
ผมทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเรื่อย ๆ พอถึงปี 1937 ผมก็เข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา. ต่อจากนั้นไม่นาน ผมถูกแต่งตั้งเป็นผู้รับใช้เดินทาง ปัจจุบันเรียกว่าผู้ดูแลหมวด ซึ่งเดินทางเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา เพื่อให้การหนุนใจฝ่ายวิญญาณ.
งานประกาศเผยแพร่ช่วงต้น ๆ
เดือนมกราคม 1938 ผมได้รับคำสั่งให้ไปเยี่ยมหัวหน้าเผ่าชาวแอฟริกาชื่อโซโกนทวี เนื่องจากเขาขอให้พยานพระยะโฮวาไปเยี่ยม. ผมขี่จักรยานสามวันกว่าจะเข้าถึงบริเวณพื้นที่ของเขา. เมื่อชี้แจงให้เขาทราบว่า สำนักงานที่เคปทาวน์
ส่งผมมาตามที่ขอไปในจดหมาย เขาปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง.ผมไปเยี่ยมตามกระท่อมต่าง ๆ ของลูกบ้านที่อยู่ในปกครองของเขา และเชิญพวกเขาไปที่ อินซากา (ปะรำที่ชุมนุมของหมู่บ้าน). เมื่อมากันพร้อมหน้า ผมจึงได้กล่าวปราศรัยต่อฝูงชน. ผลคือมีการเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายราย. ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยด้านทะเบียนกลายมาเป็นผู้ดูแลชุดแรกของประชาคมที่นั่น. ปัจจุบัน มีมากกว่า 50 ประชาคมทั่วเขตพื้นที่ ซึ่งตอนนี้รู้จักกันว่าเขตซัมฟยา.
ช่วงระหว่างปี 1942 ถึง 1947 ผมปฏิบัติงานในเขตรอบทะเลสาบบังเวอูลู. ผมอยู่ทำงานร่วมกับประชาคมหนึ่ง ๆ นานสิบวัน. เนื่องจากสมัยนั้นคนทำการเกี่ยวฝ่ายวิญญาณมีน้อย พวกเราคิดเหมือนพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าของเราในคราวที่พระองค์ตรัสว่า “การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่. เหตุฉะนั้นจงอธิษฐานขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น, ให้ใช้คนทำการหลายคนไปในการเกี่ยวของพระองค์.” (มัดธาย 9:36-38) การเดินทางสมัยนั้นลำบาก ดังนั้น ตามปกติเจเนตอยู่กับบ้านดูแลลูกที่เมืองลูอันชา ขณะที่ผมเดินทางเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ. จวบจนเวลานั้น ผมกับเจเนตได้ลูกเพิ่มอีกสองคน แต่คนหนึ่งตายเมื่ออายุได้สิบเดือน.
สมัยนั้นไม่ค่อยมีรถยนต์ และถนนก็มีไม่มากเช่นกัน. วันหนึ่ง ผมออกเดินทางเป็นระยะไกลประมาณ 200 กิโลเมตรโดยขี่จักรยานของเจเนต. บางครั้งเมื่อต้องข้ามลำธาร ผมยกจักรยานใส่บ่าแบกใช้มือข้างหนึ่งจับไว้ และใช้แขนอีกข้างหนึ่งว่ายน้ำ. ช่วงเวลานั้น เหล่าพยานฯ ในเมืองลูอันชามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างน่าทึ่ง และในปี 1946 ผู้เข้าร่วมประชุมอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์มีถึง 1,850 คน.
งานของเราเผชิญการต่อต้านขัดขวาง
คราวหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าหลวงประจำเมืองกาวามบวาเรียกผมเข้าพบ และบอกว่า “ผมต้องการให้คุณงดใช้หนังสือของสมาคมว็อชเทาเวอร์เพราะเวลานี้ถูกสั่งห้ามไปแล้ว. แต่ผมจะให้หนังสืออ้างอิงแก่คุณ เผื่อคุณอาจต้องการใช้แต่งหนังสือเล่มอื่นสำหรับงานของคุณ.”
ผมตอบว่า “ผมพึงพอใจกับหนังสือที่เรามีอยู่แล้ว และผมไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเข้ามา.”
“คุณไม่รู้จักคนอเมริกัน” เขาพูด (สมัยนั้นหนังสือของเราพิมพ์ในสหรัฐ). “พวกนี้จะชักนำคุณไปสู่แนวทางที่ผิด.”
“ไม่หรอกครับ พวกที่ผมสมทบด้วยจะไม่ทำเช่นนั้น” ผมตอบ.
แล้วเขาก็ถามว่า “คุณจะสนับสนุนประชาคมต่าง ๆ ของคุณให้บริจาคเงินช่วยการสงครามได้ไหม อย่างที่ศาสนาอื่นดำเนินการอยู่ขณะนี้?”
ผมตอบเขาว่า “งานนั้นเป็นงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐนี่ครับ.”
เขาพูดว่า “ผมว่าคุณกลับไปก่อนแล้วตรองเรื่องนี้อีกทีดีไหม?”
ผมตอบไปว่า “คัมภีร์ไบเบิลสั่งพวกเราไม่ให้ฆ่าคนและต่อสู้กัน ดังแจ้งอยู่ในเอ็กโซโด 20:13 และ 2 ติโมเธียว 2:24.”
แม้เขาอนุญาตให้ผมกลับไปได้ ในเวลาต่อมาข้าหลวงประจำเมืองฟอร์ตโรสเบรี ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่ามานซา เรียกผมกลับเข้าไปพบ เขาพูดว่า “ที่เราเรียกคุณมาพบวันนี้เพื่อจะให้รับรู้ว่ารัฐบาลสั่งห้ามหนังสือของคุณแล้ว.”
“ครับ ผมได้ข่าวแล้ว” ผมตอบ.
“ฉะนั้น คุณควรไปยังประชาคมทุกแห่งที่คุณรู้จัก และแจ้งแก่พวกที่ร่วมนมัสการด้วยกันกับคุณให้เอาหนังสือทุกอย่างมาไว้ที่นี่ เข้าใจหรือยัง?”
ผมตอบว่า “นั่นไม่ใช่งานของผม เป็นงานรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ.”
การเผชิญหน้ากันก่อผลที่ดี
หลังสงคราม พวกเรายังคงรุดหน้าทำการเผยแพร่. ในปี 1947 ตอนที่ผมเพิ่งเสร็จงานเยี่ยมประชาคมในหมู่บ้านมวานซา ผมเสาะหาร้านซึ่งพอจะซื้อน้ำชาได้สักถ้วย. มีคนชี้ทางให้ผมไปที่บ้านมิสเตอร์อึนคนดี ที่นั่นเป็นร้านน้ำชา. มิสเตอร์อึนคนดีพร้อมกับภรรยาได้ต้อนรับผมด้วยอัธยาศัยไมตรี. ระหว่างดื่มน้ำชา ผมขอมิสเตอร์อึนคนดีอ่านบทที่มีชื่อว่า “นรก สถานที่พักผ่อนพร้อมด้วยความหวัง” ในหนังสือ “จงให้พระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง.”
หลังการดื่มชาแล้วผมถามว่า “คุณอ่านแล้วเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนรก?” ด้วยความรู้สึกทึ่งกับเรื่องที่อ่าน เขาได้เริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา และทีหลังก็รับบัพติสมาพร้อมกับภรรยา. แม้ว่าเขาไม่ได้เป็นพยานฯ แล้วก็ตาม แต่ภรรยาและลูกบางคนยังคงสถานะเป็นพยานฯ. อันที่จริง พิลนีลูกสาวของเขาขณะนี้รับใช้ที่สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในประเทศแซมเบีย. แม้ตอนนี้มารดาของพิลนีมีอายุมาก แต่ก็ยังเป็นพยานฯ ที่ซื่อสัตย์.
ชีวิตช่วงสั้น ๆ ทางตะวันออกของแอฟริกา
สำนักงานสาขาของเราซึ่งตั้งขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 1948 ที่เมืองลูซากา โรดีเซียเหนือ ได้มอบหมายผมไปทำงานที่แทนแกนยิกา (แทนซาเนียในปัจจุบัน). เพื่อนที่เดินทางไปด้วยกันก็มีภรรยาและพยานฯ ชายอีกคนหนึ่ง เราเดินเท้าผ่านพื้นที่ภูเขา. การเดินทางตลอดสามวันทำเอาเราเหน็ดเหนื่อยมาก. ขณะที่ผมเป็นฝ่ายหอบหนังสือมัดใหญ่ ภรรยาผมขนเฉพาะเสื้อผ้าไป ส่วนพยานฯ อีกคนแบกที่นอนหมอนมุ้ง.
เมื่อเราไปถึงเมืองอึมเบยาในเดือนมีนาคม 1948 มีงานที่ต้องทำมากมายเพื่อช่วยพวกพี่น้องปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องเข้าร่องเข้ารอยจริง ๆ กับหลักคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล. อย่างหนึ่งคือ ผู้คนในท้องที่รู้จักพวกเราว่าเป็นคนของว็อชเทาเวอร์. แม้พวกพี่น้องได้รับเอาชื่อพยานพระยะโฮวาแล้วก็ตาม แต่ทว่ายังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป. นอกจากนั้น พยานฯ บางคนยังจะต้องเลิกปฏิบัติธรรมเนียมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการให้เกียรติคนตาย. แต่การปรับเปลี่ยนซึ่งยากที่สุดสำหรับหลายคนคือการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เพื่อเขาจะได้เป็นที่นับถือท่ามกลางคนทั้งปวง.—เฮ็บราย 13:4.
ต่อมา ผมได้รับสิทธิพิเศษให้ไปปฏิบัติงานทางภาคตะวันออกของแอฟริกา รวมถึงยูกันดาด้วย. ผมอยู่ทำงานที่เอนเทบเบและกัมปาลาประมาณหกสัปดาห์ และได้ช่วยหลายคนเรียนรู้ความจริงของคัมภีร์ไบเบิล.
คำเชิญให้ไปนครนิวยอร์ก
หลังการปฏิบัติงานในยูกันดาระยะหนึ่ง ต้นปี 1956 ผมได้มาที่ดาร์เอสซาลาม เมืองหลวงของประเทศแทนแกนยิกา. มีจดหมายจากสำนักงานกลางของพยานพระยะโฮวารอผมอยู่. ในจดหมายนั้นมีคำสั่งให้ผมเตรียมตัวไปร่วมการประชุมนานาชาติในนครนิวยอร์ก ซึ่งจะเริ่มวันที่ 27 กรกฎาคมไปจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 1958. คงไม่ต้องพูดกันละว่าผมตื่นเต้นดีใจมากเพียงใดกับโอกาสนั้น.
เมื่อถึงเวลานั้น ผมกับผู้ดูแลเดินทางอีกคนหนึ่งคือลูคา มวังกอได้นั่งเครื่องบินจากอึนโดลาไปซอลิสเบอรี (เดี๋ยวนี้คือฮาราเร) โรดีเซียใต้ แล้วไปต่อจนถึงไนโรบี ประเทศเคนยา. จากนั้นเราบินไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งที่นั่นเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น. เมื่อเราเข้านอนในคืนนั้นที่มาถึงอังกฤษ เราคุยกันด้วยความตื่นเต้นในเรื่องของเราคนแอฟริกันได้รับการต้อนรับอย่างเอื้ออารีมากเพียงไรจากคนผิวขาว. ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้พวกเราได้กำลังใจมากทีเดียว.
ในที่สุดเราไปถึงนิวยอร์ก ซึ่งการประชุมใหญ่จัดขึ้นที่นั่น. วันหนึ่ง ระหว่างการประชุม ผมได้ให้รายงานเกี่ยวกับกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาในประเทศโรดีเซียเหนือ. สนามโปโลและสนามกีฬาแยงกีในมหานครนิวยอร์ก วันนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 200,000 คน. คืนนั้นผมหลับไม่ลงเพราะนึกถึงความชื่นชมยินดีในสิทธิพิเศษอันล้ำเลิศ.
มิช้ามินาน การประชุมใหญ่ก็สิ้นสุด และเราเดินทางกลับบ้าน. ระหว่างเดินทางกลับ อีกครั้งหนึ่งเราประสบความเอื้ออารีที่เปี่ยมด้วยความรักซึ่งพี่น้องชายหญิงในอังกฤษแสดงต่อเรา. ในช่วงเดินทาง เอกภาพท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวาไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติสัญชาติไหนก็ตาม ได้ปรากฏให้เห็นอย่างที่เราจะลืมเสียมิได้!
งานรับใช้และความยากลำบากคงมีอยู่ต่อไป
ปี 1967 ผมถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลภาค ซึ่งได้แก่ผู้รับใช้ที่เดินทางจากหมวดหนึ่งไปอีกหมวดหนึ่ง. ตอนนั้นพยานพระยะโฮวาในประเทศแซมเบียเพิ่มจำนวนเป็น 35,000 กว่าคน. ในเวลาต่อมา เนื่องจากสุขภาพของผมแย่ลง ผมจึงถูกมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลหมวดอีกครั้งหนึ่ง ณ เขตคอปเปอร์เบลต์. ในที่สุด เจเนตเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ และเสียชีวิตในเดือนธันวาคม 1984 ขณะที่เธอยังคงซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา.
หลังการตายของเธอ ผมเจ็บปวดมากเมื่อญาติฝ่ายเจเนตซึ่งไม่ศรัทธาพระเจ้าได้กล่าวหาผมใช้เวทมนตร์จนเป็นเหตุให้เจเนตถึงแก่ความตาย. แต่บางคนที่รู้เรื่องอาการป่วยของเจเนตและพูดคุยกับหมอที่ทำการรักษาเธอได้ชี้แจงให้ญาติ ๆ รู้ความจริง. แล้วการทดลองอีกอย่างก็ตามมา. ญาติบางคนอยากให้ผมปฏิบัติตามธรรมเนียมอุคุพยานิกา. ในภูมิภาคที่ผมเติบโตมานั้น ธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้กำหนดว่าเมื่อสามีหรือภรรยาตายไป ฝ่ายที่ยังมีชีวิตต้องร่วมเพศกับญาติใกล้ชิดของผู้ตาย. แน่นอน ผมปฏิเสธ.
ผลที่สุด ความกดดันจากพวกญาติได้จบสิ้นไป. ผมขอบคุณพระยะโฮวาที่ทรงช่วยผมยืนหยัดมั่นคง. หนึ่งเดือนหลังจากจัดการฝังศพภรรยาแล้ว บราเดอร์คนหนึ่งมาหาผมและพูดว่า “บราเดอร์กังกาเลอ ตอนที่ภรรยาคุณตาย คุณเป็นแหล่งให้การหนุนกำลังใจพวกเราอย่างแท้จริง เพราะคุณไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมใด ๆ แม้แต่อย่างเดียวซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. พวกเราต้องขอขอบคุณบราเดอร์มาก ๆ.”
การเก็บเกี่ยวผลที่น่าพิศวง
บัดนี้เป็นเวลา 65 ปีแล้วตั้งแต่ผมเริ่มงานรับใช้เต็มเวลาฐานะพยานพระยะโฮวา. ช่างเป็นความยินดีอะไรเช่นนั้นในช่วงเวลาหลายปีที่ได้เห็นการจัดตั้งประชาคมใหม่หลายร้อยประชาคม และเห็นการสร้างหอประชุมราชอาณาจักรบนเขตพื้นที่ซึ่งผมเคยปฏิบัติงานฐานะผู้ดูแลเดินทาง! จากจำนวนพยานฯ ประมาณ 2,800 คนในปี 1943 มาตอนนี้เราได้เห็นผู้ประกาศราชอาณาจักรในประเทศแซมเบียมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 122,000 กว่าคน. จริง ๆ แล้ว ประชากรในประเทศนี้มีไม่ถึง 11 ล้านคน แต่ปีกลายมีผู้ร่วมประชุมอนุสรณ์มากกว่า 514,000 คน.
ในระหว่างนั้น พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยดูแลผม. ยามใดผมต้องไปพบแพทย์ พี่น้องชายก็จะพาผมไปโรงพยาบาล. บางประชาคมยังคงเชิญผมไปบรรยายสาธารณะเสมอ และการทำเช่นนี้เป็นโอกาสสร้างเสริมกำลังผมเป็นอย่างมาก. ประชาคมที่ผมสมทบอยู่จัดเวรให้พี่น้องหญิงผลัดเปลี่ยนกันทำความสะอาดบ้านของผม ส่วนพี่น้องชายก็อาสาพาผมไปร่วมประชุมทุกสัปดาห์. ผมรู้ว่าผมคงไม่มีโอกาสจะรับการเอาใจใส่ด้วยความรักแบบนี้หากผมไม่ได้รับใช้พระยะโฮวา. ผมขอบคุณพระองค์ที่ยังทรงใช้ผมให้เป็นผู้รับใช้เต็มเวลาตราบทุกวันนี้ และมอบภาระรับผิดชอบหลายอย่างเท่าที่ผมสามารถทำได้.
สายตาของผมเริ่มมัว และเมื่อเดินไปหอประชุม หลายครั้งผมต้องหยุดพักกลางทางให้หายเหนื่อย. ตอนนี้ดูเหมือนกระเป๋าหนังสือของผมหนักขึ้น ดังนั้น ถ้าเล่มไหนที่ผมไม่ต้องใช้เมื่อร่วมประชุม ผมจะหยิบออกเสียเพื่อกระเป๋าจะได้เบา. ในส่วนการประกาศเผยแพร่ ส่วนมากผมจะนำการศึกษาพระคัมภีร์กับคนที่มาหาผมที่บ้าน. ถึงกระนั้น ช่างเป็นความชื่นชมยินดีจริง ๆ เมื่อมองย้อนหลังไปหลายปีก่อนและสามารถคิดใคร่ครวญถึงความเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นอย่างน่าทึ่ง! ผมรับใช้ในเขตงานซึ่งคำตรัสของพระยะโฮวาตามบันทึกในยะซายา 60:22 (ล.ม.) สำเร็จเป็นจริงอย่างเด่นชัด. ข้อนั้นกล่าวว่า “คนจิ๋วจะเพิ่มเป็นจำนวนพัน และคนตัวเล็กจะเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่. เราเอง ยะโฮวา จะเร่งกระทำการนี้ในเวลาอันควร.” จริง ๆ แล้ว ผมมีชีวิตอยู่มาจนได้เห็นการนี้เกิดขึ้นไม่เฉพาะที่ประเทศแซมเบียแห่งเดียว แต่ทั่วโลก. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา เวลานี้ไม่มีการพิมพ์จำหน่ายอีกแล้ว.
^ วรรค 50 น่าเศร้า ในที่สุดบราเดอร์กังกาเลอก็หมดกำลังวังชา และเขาเสียชีวิตอย่างคนซื่อสัตย์ขณะเตรียมจะพิมพ์บทความนี้.
[ภาพหน้า 24]
ทอมสัน ฉากหลังคือสาขาประเทศแซมเบีย
[ภาพหน้า 26]
สาขาประเทศแซมเบียในปัจจุบัน