“ให้เรากระทำการดีแก่คนทั้งปวง”
“จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น”
“ให้เรากระทำการดีแก่คนทั้งปวง”
การประกาศและการสั่งสอนข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นกิจการงานอันดับแรกของพระเยซู. (มาระโก 1:14; ลูกา 8:1) เนื่องจากพวกสาวกของพระคริสต์ปรารถนาจะเลียนแบบพระองค์ พวกเขาจึงถือว่างานสอนข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา. (ลูกา 6:40) เป็นเรื่องที่ทำให้อบอุ่นใจจริง ๆ สำหรับพยานพระยะโฮวาที่จะเห็นว่าข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรนำความสดชื่นถาวรมาสู่คนเหล่านั้นที่ยอมรับข่าวนั้นเพียงไร เช่นเดียวกับที่เป็นเช่นนั้นขณะพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก.—มัดธาย 11:28-30.
นอกจากสั่งสอนพระคำของพระเจ้าแล้ว พระเยซูได้กระทำการงานที่ดีอื่น ๆ เช่น การรักษาคนป่วยและเลี้ยงอาหารคนที่หิวโหย. (มัดธาย 14:14-21) คล้ายกัน พยานพระยะโฮวาเสริมงานสั่งสอนคัมภีร์ไบเบิลของพวกเขาด้วยการช่วยผู้คนที่ประสบความยากลำบาก. ที่จริง พระคัมภีร์เตรียมคริสเตียนไว้พร้อม “สำหรับการดีทุกอย่าง” และกระตุ้นพวกเขาให้ทำ “การดีแก่คนทั้งปวง.”—2 ติโมเธียว 3:16, 17; ฆะลาเตีย 6:10.
“พี่น้องของเราก็มาถึง”
ในเดือนกันยายน 1999 ไต้หวันเกิดแผ่นดินไหวที่ก่อความหายนะ. ไม่กี่เดือนต่อมา ฝนที่เทกระหน่ำลงมาอย่างหนักและหิมะถล่มได้ทำให้เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา. ไม่นานมานี้ อุทกภัยที่รุนแรงได้ก่อความเสียหายให้กับประเทศโมซัมบิก. ในทั้งสามกรณี พยานพระยะโฮวามาถึงที่เกิดเหตุทันทีพร้อมกับเสบียงอาหาร, น้ำ, เวชภัณฑ์, เครื่องนุ่งห่ม, เต็นท์, เครื่องครัวสำหรับบรรดาผู้ประสบภัย. บรรดาอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้ตั้งแผนกพยาบาลชั่วคราวขึ้นเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บ และคนงานอาสาสมัครก่อสร้างได้สร้างบ้านใหม่หลายหลังสำหรับคนไร้ที่อยู่อาศัย.
บรรดาผู้ประสบภัยรู้สึกตื้นตันใจเนื่องจากพวกเขาได้รับความช่วยเหลือที่ทันเวลา. มัลโยรีซึ่งบ้านของเธอถูกทำลายราบเป็นหน้ากลองเนื่องจากหิมะถล่มในเวเนซุเอลากล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่เราสิ้นหวังอย่างที่สุดนั้น พี่น้องของเราก็ *
มาถึง.” หลังจากพวกอาสาสมัครได้สร้างบ้านหลังใหม่เอี่ยมให้ครอบครัวของเธอแล้ว มัลโยรีอุทานว่า “เราไม่มีวันขอบพระคุณพระยะโฮวาได้หมดสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำเพื่อเรา!” และเมื่อผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในโมซัมบิกได้รับกุญแจสำหรับบ้านหลังใหม่ของพวกเขา คนทั้งกลุ่มร้องเพลงราชอาณาจักรบทที่มีชื่อว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้คุ้มภัย” ออกมาทันที.การช่วยเหลือผู้ที่ลำบากทำให้พวกอาสาสมัครสดชื่นเช่นกัน. มาร์เซโลซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นบุรุษพยาบาลที่ค่ายลี้ภัยในโมซัมบิกได้กล่าวว่า “ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำประโยชน์แก่พี่น้องเหล่านี้ซึ่งประสบความเสียหายอย่างหนัก.” หวัง ซึ่งเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งในไต้หวันกล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนในการนำอาหารและเต็นท์มาให้พวกพี่น้องที่กำลังลำบาก. เป็นการเสริมความเชื่อจริง ๆ.”
โครงการอาสาสมัครที่เกิดผล
งานอาสาสมัครได้นำความสดชื่นทางฝ่ายวิญญาณมาให้นักโทษหลายหมื่นคนทั่วโลกด้วย. โดยวิธีใด? ไม่กี่ปีมานี้ พยานพระยะโฮวาได้จัดหาสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลให้ผู้ที่ถูกคุมขังมากกว่า 30,000 คนในคุกประมาณ 4,000 แห่งเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น. นอกจากนี้ เมื่อเป็นไปได้ พวกพยานฯ ไปเยี่ยมคุกต่าง ๆ ด้วยตัวเองเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับนักโทษและเพื่อนำการประชุมคริสเตียน. พวกนักโทษได้รับประโยชน์ไหม?
นักโทษบางคนที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเริ่มแบ่งปันคำสอนจากพระคำของพระเจ้าที่ทำให้สดชื่นให้กับเพื่อนนักโทษด้วยกัน. ผลก็คือ ในคุกหลายแห่งตลอดทั่วโลกขณะนี้มีกลุ่มนักโทษหลายกลุ่มซึ่งนมัสการพระยะโฮวาร่วมกัน. นักโทษคนหนึ่งในออริกอน สหรัฐอเมริกา รายงานในปี 2001 ว่า “กลุ่มของเรากำลังก้าวหน้า. เรามีผู้ประกาศราชอาณาจักร 7 คน และกำลังนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล 38 ราย. มีมากกว่า 25 คนเข้าร่วมในคำบรรยายสาธารณะและการศึกษาหอสังเกตการณ์ และเรามีผู้เข้าร่วมในการประชุมอนุสรณ์ [ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์] 39 คน. อีกสามคนจะรับบัพติสมาในไม่ช้า!”
ผลประโยชน์และความยินดี
เจ้าหน้าที่เรือนจำได้สังเกตว่าโครงการอาสาสมัครนี้เกิดผล. สิ่งซึ่งทำให้พวกเจ้าหน้าที่ประทับใจมากที่สุดคือผลประโยชน์อันยั่งยืนของโครงการอาสาสมัครนี้. รายงานหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ในสิบปีที่โครงการนี้ได้ดำเนินงานมา ไม่มีนักโทษที่ถูกปล่อยตัวซึ่งได้รับบัพติสมาในคุกฐานะเป็นพยานพระยะโฮวาสักคนเดียวกลับมาติดคุกอีก เมื่อเทียบกับอัตรา 50-60 เปอร์เซ็นต์ของคนในกลุ่มอื่นที่กลับมาติดคุกอีก.” โดยได้รับการกระตุ้นจากผลต่าง ๆ ที่อาสาสมัครพยานฯ ได้บรรลุ อนุศาสนาจารย์ประจำเรือนจำในรัฐไอดาโฮได้กล่าวในจดหมายถึงสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาว่า “ถึงแม้โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับความเชื่อทางศาสนาของคุณ แต่ผมก็รู้สึกประทับใจจริง ๆ ในองค์การของพวกคุณ.”
การช่วยคนเหล่านั้นที่อยู่ในคุกปรากฏว่าให้ผลตอบแทนสำหรับพวกอาสาสมัครด้วย. หลังจากนำการประชุมกับกลุ่มนักโทษซึ่งได้ร้องเพลงราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกแล้ว อาสาสมัครคนหนึ่งได้เขียนว่า “นับว่าเป็นการให้กำลังใจจริง ๆ ที่สังเกตเห็นชาย 28 คนร่วมกันในการร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา. และพวกเขาได้ร้องเพลงด้วยเสียงดัง! ช่างเป็นสิทธิพิเศษอะไรเช่นนี้ที่ได้อยู่ร่วม ณ โอกาสนั้น!” อาสาสมัครคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมคุกต่าง ๆ ในรัฐแอริโซนาได้กล่าวว่า “ช่างเป็นพระพรเสียจริง ๆ ที่ได้มีส่วนในงานพิเศษนี้!”
พยานฯ ผู้อาสาสมัครตลอดทั่วโลกเห็นพ้องด้วยทันทีกับพระเยซูผู้ซึ่งตรัสว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35, ล.ม.) พวกเขายืนยันด้วยว่าการปฏิบัติตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ทำดีแก่คนทั้งปวงนั้นทำให้พวกเขาสดชื่นอย่างแท้จริง.—สุภาษิต 11:25.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 โปรดดูเพลงบท 85 ในหนังสือจงร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 8]
เวเนซุเอลา
[ภาพหน้า 8]
ไต้หวัน
[ภาพหน้า 8]
โมซัมบิก