ความพยายามอย่างจริงจังจะได้รับบำเหน็จจากพระยะโฮวาเมื่อไร?
ความพยายามอย่างจริงจังจะได้รับบำเหน็จจากพระยะโฮวาเมื่อไร?
“ปล่อยให้เราไปเถิดเพราะสว่างแล้ว.”
“ข้าพเจ้าจะไม่ให้ท่านไป, กว่าท่านจะได้อวยพรให้แก่ข้าพเจ้า.”
“ตัวท่านชื่ออะไร?”
“ข้าพเจ้าชื่อยาโคบ.”
“เขาจะไม่เรียกชื่อของเจ้าว่ายาโคบต่อไป, จะเรียกชื่อว่ายิศราเอล: เพราะเจ้าได้ต่อสู้กับพระเจ้าและมนุษย์ แล้วได้ชัยชนะ.”—เยเนซิศ 32:26-28.
การสนทนาที่น่าสนใจนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ยาโคบวัย 97 ปีแสดงความกระฉับกระเฉงแบบนักกีฬาอย่างน่าทึ่ง. ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลมิได้พรรณนาถึงท่านว่าเป็นนักกีฬาก็ตาม ท่านได้ปล้ำสู้กับทูตสวรรค์องค์หนึ่งตลอดทั้งคืน. เพราะเหตุใด? ยาโคบเป็นห่วงอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ทำกับบรรพบุรุษของท่าน อันเป็นส่วนแห่งมรดกที่ท่านจะได้รับ.
หลายปีก่อนหน้านั้น เอซาวพี่ชายของยาโคบได้ทำให้สิทธิของบุตรหัวปีสูญเสียไปโดยแลกกับสตูชามหนึ่ง. ตอนนี้ยาโคบได้ยินข่าวว่าเอซาวกับพรรคพวก 400 คนกำลังใกล้เข้ามาแล้ว. เป็นธรรมดาที่ยาโคบรู้สึกกังวล จึงแสวงหาการยืนยันเกี่ยวกับคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ว่าครอบครัวของท่านจะเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน [ยาระเดน]. ประสานกับคำอธิษฐานของท่าน ยาโคบลงมือจัดการอย่างเด็ดเดี่ยว. ท่านส่งของกำนัลอย่างใจกว้างไปให้เอซาวผู้กำลังใกล้เข้ามา. ท่านยังได้ดำเนินการเพื่อป้องกันด้วย โดยแบ่งพรรคพวกของท่านออกเป็นสองกลุ่มและให้ภรรยากับบุตรทั้งหลายของท่านลุยข้ามแม่น้ำยาโบคไป. ด้วยความพยายามอย่างแข็งขันและร้องไห้ฟูมฟาย ตอนนี้ท่านทุ่มเทตัวเองต่อไปอีกโดยปล้ำสู้กับทูตสวรรค์ตลอดคืนเพื่อ “ขอความเมตตา.”—โฮเซอา 12:4, ฉบับแปลใหม่; เยเนซิศ 32:1-32.
ขอพิจารณาตัวอย่างก่อนหน้านี้คือ ราเฮ็ล ภรรยาคนที่สองของยาโคบซึ่งท่านรักมากที่สุด. ราเฮ็ลทราบดีเกี่ยวกับคำสัญญาของพระยะโฮวาที่จะอวยพรยาโคบ. เลอาพี่สาวของเธอซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของยาโคบได้ให้กำเนิดบุตรชายสี่คนขณะที่ราเฮ็ลยังคงเป็นหมัน. (เยเนซิศ 29:31-35) แทนที่จะยอมแพ้เนื่องด้วยความสงสารตัวเอง เธออ้อนวอนพระยะโฮวาอยู่เรื่อย ๆ ในคำอธิษฐานและลงมือจัดการอย่างเด็ดเดี่ยวประสานกับคำอธิษฐานของเธอ. เช่นเดียวกับซาราบรรพสตรีของเธอได้ทำกับฮาฆาร ราเฮ็ลพาบีละฮาสาวใช้ของเธอมาหายาโคบและเสนอเธอให้เป็นอนุภรรยาของท่านเพื่อจะเป็นดังที่ราเฮ็ลกล่าวว่า “ฉันจะได้มีบุตรด้วยอาศัย หญิงคนนี้.” * บีละฮาให้กำเนิดบุตรชายสองคนกับยาโคบ คือดานกับนัฟธาลี. ตอนที่นัฟธาลีเกิดมา ราเฮ็ลได้แสดงให้เห็นว่าเธอมีความพยายามทางด้านอารมณ์แค่ไหนโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปล้ำสู้กับพี่สาวของข้าพเจ้าเสียใหญ่โต และข้าพเจ้าได้ชัยชนะแล้ว.” ราเฮ็ลได้รับพระพรต่อไปอีกโดยมีบุตรชายสองคนของตัวเอง คือโยเซฟกับเบ็นยามิน.—เยเนซิศ 30:1-8, ฉบับแปลใหม่; 35:24.
ทำไมพระยะโฮวาอวยพรความพยายามของยาโคบกับราเฮ็ลที่สู้ทั้งกายและใจ? เขาทั้งสองถือว่าพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาสำคัญที่สุดและทะนุถนอมมรดกของตน. ทั้งสองได้อธิษฐานอย่างจริงจังเพื่อชีวิตของเขาจะได้รับความพอพระทัยจากพระองค์และลงมือทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างที่ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าและสอดคล้องกับคำอ้อนวอนของเขา.
เช่นเดียวกับยาโคบและราเฮ็ล หลายคนในทุกวันนี้ยืนยันได้ว่าต้องพยายามอย่างขันแข็งเพื่อได้รับพระพรจากพระยะโฮวา. บ่อยครั้งความพยายามของพวกเขาควบคู่ไปกับน้ำตา, ความท้อแท้, และความข้องขัดใจ. เอลิซาเบท มารดาคริสเตียนคนหนึ่งระลึกถึงการที่ต้องพยายามอย่างจริงจังเพื่อจะเริ่มเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำอีกหลังจากไม่ได้ไปร่วมเป็นเวลานาน. เนื่องจากมีลูกชายเล็ก ๆ ห้าคน, ทั้งสามีก็ไม่มีความเชื่อ, และต้องขับรถไปหอประชุมที่ใกล้ที่สุดเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นข้อท้าทาย. “การพยายามจะมาประชุมเป็นประจำต้องใช้วินัยกับตัวเองมากทีเดียว ซึ่งดิฉันรู้ว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเองกับพวกลูกชาย. นั่นช่วยพวกเขาให้เห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นแนวทางที่ควรแก่การดำเนินตาม.” พระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามของเธอ. ในบรรดาลูกชายสามคนของเธอซึ่งแข็งขันในประชาคมคริสเตียน มีสองคนอยู่ในงานเผยแพร่เต็มเวลา. เธอกล่าวด้วยความชื่นชมยินดีในความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของพวกเขาว่า “ลูก ๆ ล้ำหน้าดิฉันในการเติบโตฝ่ายวิญญาณ.” ช่างเป็นบำเหน็จอะไรเช่นนี้สำหรับความพยายามอย่างจริงจังของเธอ!
ความพยายามอย่างจริงจังที่ได้รับพระพรจากพระยะโฮวา
การทุ่มเทความพยายามอย่างจริงจังและขยันหมั่นเพียรย่อมได้รับผลตอบแทนอย่างแน่นอน. ยิ่งเรามานะพยายามในภารกิจหรืองานมอบหมายอย่างหนึ่งมากเท่าใด เราก็ยิ่งได้รับความพอใจเป็นการตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น. พระยะโฮวาทรงสร้างเราให้เป็นเช่นนี้. กษัตริย์ซะโลโมได้เขียนไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนควรกินและดื่มด้วยและเห็นสิ่งดีจากงานหนักทั้งสิ้นของเขา. นั่นเป็นของประทานจากพระเจ้า.” (ท่านผู้ประกาศ 3:13, ล.ม.; 5:18, 19) แต่เพื่อได้รับพระพรจากพระเจ้า เราต้องแน่ใจว่าความพยายามของเราถูกใช้ไปในทิศทางที่เหมาะสม. ตัวอย่างเช่น มีเหตุผลไหมที่จะคาดหมายความพอพระทัยจากพระยะโฮวาต่อรูปแบบชีวิตที่เอาเรื่องฝ่ายวิญญาณมาไว้ในอันดับรอง? คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วสามารถคาดหวังความพอพระทัยจากพระยะโฮวาได้ไหมหากเขายอมรับเอางานอาชีพหรือการเลื่อนตำแหน่งซึ่งจะหมายถึงการพลาดการคบหาสมาคมที่เสริมสร้างความเชื่อและคำสั่งสอน ณ การประชุมต่าง ๆ ของคริสเตียนอยู่เสมอ?—เฮ็บราย 10:23-25.
ช่วงชีวิตที่ทำงานหนักในงานอาชีพหรือการมุ่งแสวงหาความมั่งคั่งด้านวัตถุไม่ได้หมายความว่าคนเราจะ “เห็นสิ่งดี” เสมอไปหากเขาไม่รวมเอาสิ่งฝ่ายวิญญาณเข้าไว้ด้วย. พระเยซูทรงพรรณนาถึงผลต่าง ๆ ที่เกิดจากความพยายามซึ่งมุ่งไปผิดทางในอุทาหรณ์ของพระองค์เรื่องผู้หว่านพืช. พระเยซูทรงอธิบายเกี่ยวกับพืชซึ่ง “หว่านกลางหนามนั้น” ว่า “ได้แก่ผู้ที่ได้ยินพระวจนะ, แล้วความปรารภปรารมภ์ด้วยโลกนี้และการล่อลวงแห่งทรัพย์สมบัติก็ปกคลุมพระวจนะนั้นไว้, จึงไม่เกิดผล.” (มัดธาย 13:22) เปาโลยังได้เตือนเรื่องกับดักอย่างเดียวกันด้วยและกล่าวเสริมว่า คนเหล่านั้นซึ่งติดตามแนว ทางที่ฝักใฝ่ทางวัตถุ “ก็ตกเข้าสู่การล่อใจและบ่วงแร้วและความปรารถนาหลายอย่างแบบไร้สติและที่ก่อความเสียหาย ซึ่งทำให้คนตกเข้าสู่ความพินาศและความหายนะ.” อะไรเป็นวิธีแก้สำหรับแนวทางชีวิตที่ยังความหายนะทางฝ่ายวิญญาณเช่นนั้น? เปาโลกล่าวต่อไปว่า ‘จงหนีจากสิ่งเหล่านี้และฝากความหวังของท่าน ไม่ใช่กับทรัพย์ที่ไม่แน่นอน แต่กับพระเจ้า ผู้ทรงจัดสิ่งสารพัดให้เราอย่างบริบูรณ์เพื่อความชื่นชมยินดีของเรา.’—1 ติโมเธียว 6:9, 11, 17, ล.ม.
ไม่ว่าเราอยู่ในวัยใดหรือเรารับใช้พระยะโฮวามานานเท่าใดก็ตาม เราทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากการเลียนแบบความพยายามอย่างจริงจังที่ยาโคบและราเฮ็ลได้แสดงให้เห็น. ในการแสวงหาความพอพระทัยจากพระเจ้า พวกเขาไม่เคยลืมมรดกของตน ไม่ว่าสภาพการณ์ของเขาอาจทำให้หวาดกลัวหรือทำให้ข้องขัดใจสักเพียงไรก็ตาม. ปัจจุบัน ความกดดันและความยากลำบากที่เราเผชิญอาจทำให้หวาดกลัว, ทำให้ข้องขัดใจเช่นเดียวกัน, หรือถึงกับทำให้หดหู่ใจด้วยซ้ำ. เราอาจถูกชักนำให้เลิกต่อสู้แล้วกลายเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของการโจมตีโดยซาตาน. มันอาจใช้วิธีใด ๆ ก็ได้ที่มันต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงหรือนันทนาการ, กีฬาหรืองานอดิเรก, งานอาชีพหรือความมั่งคั่งทางวัตถุ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของมัน. บ่อยครั้งมีการสัญญาว่าจะได้รับผลอันน่าปรารถนา แต่มักจะไม่ค่อยเป็นจริง. คนเหล่านั้นที่ถูกหลอกลวงหรือชักจูงให้หมกมุ่นในการติดตามดังกล่าวบ่อยครั้งทีเดียวพบว่าเขาลงเอยด้วยความผิดหวังเป็นส่วนใหญ่. เช่นเดียวกับยาโคบและราเฮ็ลในสมัยโบราณ ขอให้เราปลูกฝังน้ำใจของผู้ต่อสู้ที่เอาจริงเอาจังและเอาชนะกลอุบายของซาตาน.
พญามารคงจะปรารถนาเหลือเกินที่จะเห็นเรายอมแพ้ รู้สึกว่า ‘สภาพการณ์หมดหวังแล้ว. ไม่มีทางแก้ไข. ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามต่อไป.’ ดังนั้นแล้ว สำคัญเพียงไรที่เราทุกคนจะระวังการพัฒนาเจตคติแบบยอมแพ้โดยไม่ขัดขืน คิดว่า ‘ไม่มีใครรักฉัน’ และ ‘พระยะโฮวาลืมฉันเสียแล้ว.’ การยอมจำนนต่อความคิดดังกล่าวเป็นการทำลายตัวเอง. นั่นอาจบ่งชี้ไหมว่าเรายอมแพ้และไม่ต่อสู้จนได้รับพระพรอีกต่อไปแล้ว? อย่าลืมว่า พระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามอย่างจริงจังของเรา.
สู้ต่อไปเพื่อได้รับพระพรจากพระยะโฮวา
สวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเราส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการที่เราเข้าใจความจริงพื้นฐานสองประการเกี่ยวกับชีวิตของเราในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. (1) ไม่ใช่เราคนเดียวที่มีปัญหา, ความเจ็บป่วย, หรือสภาพการณ์ที่ยากลำบากในชีวิต และ (2) พระยะโฮวาทรงสดับเสียงร้องขอของคนเหล่านั้นที่อ้อนวอนพระองค์อย่างจริงจังเพื่อได้รับความช่วยเหลือและพระพร.—เอ็กโซโด 3:7-10; ยาโกโบ 4:8, 10; 1 เปโตร 5:8, 9.
ไม่ว่าสภาพการณ์ของคุณยากลำบากแค่ไหน หรือคุณอาจรู้สึกว่าตัวเองมีขีดจำกัดเพียงไรก็ตาม อย่ายอมจำนนต่อ “บาปที่เข้าติดพันเราโดยง่าย” นั่นก็คือการขาดความเชื่อ. (เฮ็บราย 12:1, ล.ม.) จงสู้ต่อ ๆ ไปจนกระทั่งคุณได้รับพระพร. สำแดงความอดทนและระลึกถึงยาโคบผู้ชราซึ่งได้ปล้ำสู้ตลอดคืนเพื่อได้รับพระพร. เช่นเดียวกับกสิกรซึ่งหว่านพืชในฤดูใบไม้ผลิและคอยท่าการเก็บเกี่ยว จงอดทนคอยท่าพระพรจากพระยะโฮวาที่จะมีมาเนื่องด้วยกิจกรรมฝ่ายวิญญาณของคุณ ไม่ว่าคุณอาจรู้สึกว่าทำกิจกรรมนั้นได้จำกัดเพียงไรก็ตาม. (ยาโกโบ 5:7, 8) และจงระลึกถึงถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเสมอที่ว่า “คนที่หว่านพืชด้วยน้ำตาไหลจะเก็บเกี่ยวผลด้วยความยินดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 126:5; ฆะลาเตีย 6:9) จงยืนหยัดมั่นคง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในการต่อสู้นั้นต่อไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 การมีอนุภรรยาเคยมีอยู่ก่อนสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัติและเป็นที่ยอมรับและได้รับการกำหนดโดยพระบัญญัติ. พระเจ้าทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาอันควรที่จะฟื้นฟูมาตรฐานดั้งเดิมว่าด้วยการมีภรรยาหรือสามีคนเดียวซึ่งพระองค์ได้ตั้งไว้ในสวนเอเดนจนกระทั่งการปรากฏตัวของพระเยซูคริสต์ แต่พระองค์ทรงคุ้มครองอนุภรรยาโดยการออกกฎหมาย. ตามเหตุผลแล้ว การมีอนุภรรยาได้ช่วยให้ประชากรของชาติอิสราเอลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว.