ความบากบั่นเพื่อให้มีคัมภีร์ไบเบิลในภาษากรีกสมัยใหม่
ความบากบั่นเพื่อให้มีคัมภีร์ไบเบิลในภาษากรีกสมัยใหม่
คุณอาจแปลกใจที่รู้ว่าในประเทศกรีซ ดินแดนที่บางครั้งเรียกกันว่าถิ่นกำเนิดแห่งความคิดเสรีนั้น การแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาของสามัญชนเคยเป็นเป้าหมายที่ทำให้ต้องต่อสู้อย่างยาวนานและหนักหน่วง. แต่ใครล่ะที่ต่อต้านการผลิตคัมภีร์ไบเบิลภาษากรีกที่อ่านเข้าใจง่าย? เหตุใดจึงมีคนที่ต้องการยับยั้งการผลิตนั้น?
ใคร ๆ อาจคิดว่าผู้คนที่พูดภาษากรีกได้รับสิทธิพิเศษเนื่องจากหลายตอนในพระคัมภีร์บริสุทธิ์นั้นแต่แรกเขียนขึ้นในภาษาของเขา. แต่ภาษากรีกสมัยใหม่แตกต่างไปมากจากภาษากรีกที่ใช้ในฉบับเซปตัวจินต์ซึ่งเป็นฉบับแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. แท้จริง ในช่วงหกศตวรรษที่ผ่านไป ผู้คนส่วนใหญ่ที่พูดภาษากรีกพบว่าภาษากรีกในคัมภีร์ไบเบิลเข้าใจยากพอ ๆ กับภาษาต่างประเทศ. มีการเอาถ้อยคำใหม่ ๆ แทนที่ถ้อยคำเดิม และคำศัพท์, ไวยากรณ์, รวมทั้งโครงสร้างประโยคก็เปลี่ยนไป.
ฉบับสำเนาภาษากรีกที่รวบรวมไว้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ถึงศตวรรษที่ 16 เป็นหลักฐานว่ามีการพยายามแปลฉบับเซปตัวจินต์ เป็นภาษากรีกแบบยุคหลัง ๆ. ในศตวรรษที่สาม เกรกอรี บิชอปแห่งเนโอซีซาเรีย (ประมาณ ส.ศ. 213 ถึง ส.ศ. 270) ได้แปลพระธรรมท่านผู้ประกาศจากฉบับเซปตัวจินต์ เป็นภาษากรีกแบบง่าย. ในศตวรรษที่ 11 ชาวยิวชื่อโทเบียส เบน เอลีเอเซอร์ ซึ่งอาศัยอยู่ในมาซิโดเนีย ได้แปลส่วนต่าง ๆ ของเพนทาทุกในฉบับเซปตัวจินต์ เป็นภาษากรีกธรรมดา. เขายังใช้อักษรภาษาฮีบรูด้วยเพื่อประโยชน์ของชาวยิวเชื้อสายมาซิโดเนียซึ่งพูดได้เฉพาะภาษากรีกแต่อ่านหนังสือภาษาฮีบรู. เพนทาทุกครบชุดแบบนี้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นที่คอนสแตนติโนเปิลในปี 1547.
แสงสว่างที่ฉายออกมาบ้างท่ามกลางความมืด
ภายหลังจากอาณาเขตที่ประกอบด้วยผู้คนที่พูดภาษากรีกของจักรวรรดิไบแซนไทน์ตกอยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิออตโตมานในศตวรรษที่ 15 ผู้คนที่นั่นส่วนใหญ่ถูกละเลยให้ไม่ได้รับการศึกษา. คริสตจักรออร์โทด็อกซ์ภายใต้อำนาจจักรวรรดิออตโตมาน แม้ว่ามีสิทธิพิเศษมาก แต่กลับละเลยฝูงแกะของตนให้ขาดแคลนและไม่มีความรู้. นักเขียนชาวกรีกชื่อ โทมัส สปีลีโอส ให้ความเห็นว่า “จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของคริสตจักรออร์โทด็อกซ์และระบบการศึกษาของคริสตจักรนี้คือ เพื่อป้องกันเหล่าสมาชิกคริสตจักรไว้จากการจู่โจมโดยการโฆษณาชวนเชื่อของอิสลามและโรมันคาทอลิก. ด้วยเหตุนั้น การศึกษาของชาวกรีกจึงไม่ค่อยก้าวหน้า.” ในบรรยากาศที่ห่อเหี่ยวเช่นนั้น เหล่าผู้รักคัมภีร์ไบเบิลเห็นว่าจำเป็นต้องให้การบรรเทาและคำปลอบโยนจากพระธรรมบทเพลงสรรเสริญแก่ผู้คนที่ซึมเศร้า. ตั้งแต่ปี 1543 ถึง 1835 จึงมีการแปลพระธรรมบทเพลงสรรเสริญเป็นภาษากรีกที่ใช้กันในสมัยนั้นออกมาถึง 18 ฉบับ.
ฉบับแปลภาษากรีกฉบับแรกของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกครบชุดถูกจัดทำขึ้นโดยแมกซิมุส คัลลีโปลีเทส นักบวชชาวกรีกแห่งคัลลีโปลิส. มีการจัดทำฉบับแปลนี้ขึ้นโดยการชี้แนะและสนับสนุนของซีริล ลูคาริส สังฆราชแห่งคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งตั้งใจจะเป็นผู้ปฏิรูปคริสตจักร * ลูคาริสถูกรัดคอตายในฐานะผู้ทรยศ. ถึงกระนั้น ฉบับแปลโดยแมกซิมุสก็มีการพิมพ์ขึ้นในปี 1638. ประมาณ 1,500 เล่ม. สำหรับการตอบรับฉบับแปลนี้ การสังคายนาของคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ที่เยรูซาเลมในอีก 34 ปีให้หลังมีคำประกาศว่า “เฉพาะผู้ที่ค้นคว้าเรื่องฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้งและหลังจากที่ค้นคว้าอย่างเหมาะสมแล้วเท่านั้นที่ควรอ่านพระคัมภีร์ ไม่ใช่ใครก็ได้.” ซึ่งก็หมายความว่าเฉพาะพวกนักเทศน์นักบวชที่มีการศึกษาเท่านั้นที่ควรอ่านพระคัมภีร์ฉบับนี้.
ออร์โทด็อกซ์. แต่ภายในคริสตจักรนี้ ลูคาริสมีเหล่าศัตรูซึ่งจะไม่ตอบรับความพยายามใด ๆ ในการปฏิรูปและไม่เห็นด้วยกับการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในสมัยนั้น.ในปี 1703 เซราฟิม นักบวชชาวกรีกจากเกาะเลสบอส ได้พยายามจัดพิมพ์ฉบับแปลแมกซิมุสฉบับปรับปรุงขึ้นในลอนดอน. เมื่อราชสำนักอังกฤษไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามสัญญา เขาได้พิมพ์ฉบับปรับปรุงนั้นขึ้นโดยใช้เงินส่วนตัว. ในคำนำที่แสดงความรู้สึกอันแรงกล้า เซราฟิมเน้นความจำเป็นที่ “คริสเตียนผู้มีความศรัทธาทุกคน” ต้องอ่านคัมภีร์ไบเบิล และเขากล่าวหาพวกนักเทศน์นักบวชตำแหน่งสูงของคริสตจักรว่า “ต้องการจะปิดซ่อนการประพฤติผิดของตนไว้ด้วยการทำให้ผู้คนไม่มีความรู้ต่อ ๆ ไป.” เป็นไปตามที่คาดกันไว้ พวกออร์โทด็อกซ์ซึ่งเป็นศัตรูจับเขาได้ในรัสเซียและเนรเทศไปไซบีเรีย ที่ซึ่งเขาสิ้นชีวิตในปี 1735.
เมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับความหิวกระหายฝ่ายวิญญาณของผู้คนที่พูดภาษากรีกในช่วงเวลานั้น นักเทศน์ชาวกรีกคนหนึ่งกล่าวถึงฉบับแปลแมกซิมุสฉบับปรับปรุงดังนี้: “ชาวกรีกกับคนอื่น ๆ รับเอาคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยความรักและด้วยความกระหายยิ่ง. และพวกเขาอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับนั้น. และพวกเขารู้สึกว่าความปวดร้าวใจได้รับการบรรเทา และความเชื่อในพระเจ้า . . . แรงกล้าขึ้น.” แต่พวกหัวหน้าศาสนาของพวกเขากลัวว่าถ้าประชาชนเริ่มเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล เหล่านักเทศน์นักบวชจะถูกเปิดโปงเรื่องที่ความเชื่อและการกระทำของพวกเขาไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. ดังนั้น สำนักสังฆราชแห่งคอนสแตนติโนเปิลได้ออกคำสั่งให้เผาคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลแมกซิมุสทั้งหมดในปี 1823 และอีกครั้งในปี 1836.
ผู้แปลที่กล้าหาญ
ในสภาพการณ์ที่มีทั้งการต่อต้านอย่างโหดร้ายและความปรารถนาอันแรงกล้าต่อความรู้ในคัมภีร์ไบเบิล ได้เกิดมีบุคคลที่โดดเด่นผู้หนึ่งซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษากรีกสมัยใหม่. บุคคลที่กล้าหาญผู้นี้คือเนโอฟิโทส วามวาส นักภาษาศาสตร์และผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง คนทั่วไปถือว่าเขาเป็น “อาจารย์แห่งชาติ” คนหนึ่ง.
วามวาสคิดว่าคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ต้องรับผิดชอบที่ประชาชนไม่มีความรู้ด้านศาสนา. เขาเชื่อมั่นว่า เพื่อทำให้ผู้คนตื่นตัวด้านศาสนา จำเป็นต้องมีการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษากรีกที่ใช้พูดกันในสมัยนั้น. ในปี 1831 ด้วยความช่วยเหลือจากผู้คงแก่เรียนคนอื่น ๆ เขาเริ่มแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษากรีกที่เหมาะสำหรับผู้มีความรู้. ฉบับแปลที่เสร็จสมบูรณ์ของเขาถูกจัดพิมพ์ขึ้นในปี 1850. เนื่องจากคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ไม่ให้การสนับสนุน เขาจึงร่วมมือกับสมาคมบริติช แอนด์ ฟอรีน ไบเบิล (BFBS) เพื่อพิมพ์และจำหน่ายฉบับแปลของเขา. คริสตจักรออร์โทด็อกซ์ตราหน้าเขาว่าเป็น “โปรเตสแตนต์” และในอีกไม่นานเขาก็ถูกถือว่าเป็นผู้ที่ถูกขับออกจากศาสนา.
การแปลของวามวาสยึดกับฉบับแปลคิงเจมส์ อย่างใกล้ชิดและสืบทอดความบกพร่องของฉบับแปลนี้มาเนื่องจากในสมัยนั้นความรู้ความชำนาญด้านคัมภีร์ไบเบิลและความรู้ด้านภาษามีไม่พอ. ถึงอย่างนั้นก็นานหลายปีทีเดียวที่ฉบับแปลของเขาเป็นคัมภีร์ไบเบิลในภาษากรีกที่ทันสมัยที่สุดซึ่งผู้คนจะหาอ่านกันได้. ที่น่าสนใจคือ ฉบับแปลของเขามีเยเนซิศ 22:14; เอ็กโซโด 6:3; 17:15; วินิจฉัย 6:24.
พระนามเฉพาะของพระเจ้าอยู่สี่ครั้งในรูปของ “อีโอวา.”—โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้และฉบับแปลที่อ่านเข้าใจง่ายฉบับอื่น ๆ? มีการตอบรับอย่างท่วมท้นทีเดียว! ในเรือลำหนึ่งซึ่งลอยลำอยู่ห่างจากหมู่เกาะแห่งหนึ่งของกรีก ผู้จำหน่ายคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งจาก BFBS “ถูกห้อมล้อมด้วยเรือหลายลำซึ่งเต็มไปด้วยเด็ก ๆ ที่มาเสาะหาคัมภีร์ไบเบิล จนเขาต้อง . . . สั่งกัปตันให้ออกเรือ” ถ้าไม่เช่นนั้น เขาคงไม่เหลือคัมภีร์ไบเบิลสำหรับที่อื่น! แต่พวกที่ต่อต้านก็มาถึงอย่างรวดเร็ว.
พวกบาทหลวงออร์โทด็อกซ์เตือนประชาชนไม่ให้รับคัมภีร์ไบเบิลฉบับเหล่านั้น. ตัวอย่างเช่นที่กรุงเอเธนส์ คัมภีร์ไบเบิลถูกริบ. ในปี 1833 บิชอปออร์โทด็อกซ์ที่เกาะครีตได้เผา “คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่” ที่เขาค้นพบ ณ โบสถ์แห่งหนึ่ง. บาทหลวงคนหนึ่งได้ซ่อนเล่มหนึ่งไว้ และผู้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงก็ซ่อนเล่มส่วนตัวไว้จนกระทั่งบิชอปคนนั้นไปจากเกาะ.
ต่อมาที่เกาะคอร์ฟู คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลของวามวาสถูกสั่งห้ามโดยสภาสงฆ์บริสุทธิ์แห่งคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์. มีการห้ามจำหน่ายฉบับแปลนี้ และเล่มที่มีอยู่ถูกทำลาย. ที่เกาะคิออส, ซีรอส, และไมโกนอส ความเป็นปฏิปักษ์ของนักเทศน์นักบวชประจำท้องถิ่นทำให้มีการเผาคัมภีร์ไบเบิล. แต่การขัดขวางการแปลคัมภีร์ไบเบิลยังไม่หมดแค่นี้.
ราชินีองค์หนึ่งสนใจคัมภีร์ไบเบิล
ในช่วงทศวรรษที่เริ่มในปี 1870 ราชินีโอลกาแห่งกรีซตระหนักว่าประชาชนกรีกโดยทั่วไปยังไม่ค่อยมีความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิล. ด้วยเชื่อว่าความรู้จากพระคัมภีร์จะให้การปลอบโยนและความสดชื่นแก่ชาติ พระนางจึงพยายามให้มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายกว่าฉบับแปลของวามวาส.
ในการดำเนินงานครั้งนี้ โปรโคปีโอส อาร์ชบิชอปแห่งเอเธนส์ซึ่งเป็นหัวหน้าสภาสงฆ์บริสุทธิ์ด้วย ได้ให้การสนับสนุนราชินีอย่างไม่เป็นทางการ. แต่พอพระนางขอความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากสภาสงฆ์บริสุทธิ์ พระนางกลับถูกปฏิเสธ. ถึงกระนั้น พระนางมิได้ย่อท้อ ทรงยื่นขออนุมัติอีก ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธอีกเป็นครั้งที่สองในปี 1899. พระนางไม่สนพระทัยการไม่ได้รับอนุมัตินั้น และตัดสินพระทัยจะจัดพิมพ์ฉบับแปลนี้ขึ้นจำนวนหนึ่งโดยออกค่าใช้จ่ายเอง. ฉบับแปลนี้พิมพ์เสร็จในปี 1900.
ฝ่ายต่อต้านที่ไม่ยอมเลิกรา
ในปี 1901 ดิ อะโครโปลิส หนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงฉบับหนึ่งในเอเธนส์ได้ลงพิมพ์กิตติคุณที่เรียบเรียงโดยมัดธายซึ่งแปลเป็นภาษากรีกสมัยใหม่แบบง่ายโดยอะเล็กซานเดอร์ พาลลิส นักแปลซึ่งทำงานในลิเวอร์พูล อังกฤษ. ปรากฏชัด
ว่าพาลลิสกับเพื่อนร่วมงานของเขามีเจตนาจะ ‘ให้ความรู้แก่ชาวกรีก’ และ “ช่วยชาตินี้ให้ฟื้นตัว” จากความเสื่อม.เหล่านักศึกษาและอาจารย์ด้านศาสนศาสตร์ของออร์โทด็อกซ์บอกว่าฉบับแปลนั้นเป็น “การเย้ยหยันสิ่งพึงเคารพบูชาอันสูงค่าที่สุดของชาติ” เป็นการดูหมิ่นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์. สังฆราชโยอาคิมที่ 3 แห่งคอนสแตนติโนเปิลได้ให้มีหนังสือแสดงการไม่ยอมรับฉบับแปลนั้นออกมา. ความขัดแย้งนี้ลามไปถึงแวดวงการเมือง และพวกนักการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันก็ใช้ความขัดแย้งนี้อย่างมีเล่ห์เหลี่ยม.
สำนักข่าวทรงอิทธิพลแห่งหนึ่งในเอเธนส์เริ่มโจมตีฉบับแปลของพาลลิสโดยตราหน้าฉบับนี้ว่าเป็นผู้สนับสนุน “พวกอเทวนิยม,” “พวกทรยศ,” และเป็น “สายของมหาอำนาจต่างชาติ” ซึ่งมุ่งหมายจะทำให้สังคมกรีกสั่นคลอน. ตั้งแต่วันที่ 5 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 1901 พวกนักศึกษาก่อจลาจลขึ้นในเอเธนส์โดยการยุยงส่งเสริมจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมตกขอบของคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์. พวกเขาโจมตีสำนักงานของดิ อะโครโปลิส, เดินขบวนหน้าราชวัง, ยึดมหาวิทยาลัยเอเธนส์ และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก. เมื่อการจลาจลรุนแรงถึงขีดสุด มีแปดคนถูกฆ่าในการปะทะกับกองทหาร. ในวันต่อมา กษัตริย์เรียกร้องให้อาร์ชบิชอปโปรโคปีโอสลาออก และสองวันถัดจากนั้น รัฐมนตรีก็ลาออกทั้งคณะ.
อีกหนึ่งเดือนให้หลัง พวกนักศึกษาเดินขบวนอีกและเผาสำเนาฉบับแปลของพาลลิสต่อหน้าสาธารณชน. พวกเขาออกมติต่อต้านการจำหน่ายฉบับแปลนี้และขอให้มีการลงโทษอย่างหนักหากมีความพยายามใด ๆ เพื่อทำเช่นนั้นอีกในอนาคต. มตินี้เป็นข้ออ้างสำหรับการห้ามใช้คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลภาษากรีกสมัยใหม่ไม่ว่าฉบับใด. นั่นเป็นช่วงเวลาที่มืดมนจริง ๆ!
“คำตรัสของพระยะโฮวาดำรงอยู่เป็นนิตย์”
คำสั่งห้ามการใช้คัมภีร์ไบเบิลภาษากรีกสมัยใหม่ถูกยกเลิกในปี 1924. นับแต่นั้นมา คริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ประสบความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในการพยายามกีดกันคัมภีร์ไบเบิลไว้จากประชาชน. ระหว่างนั้น พยานพระยะโฮวานำหน้าในการให้ความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลในกรีซเช่นเดียวกับที่ได้ทำในประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ. ตั้งแต่ปี 1905 พวกเขาใช้ฉบับแปลของวามวาสเพื่อช่วยผู้คนที่พูดภาษากรีกหลายพันหลายหมื่นคนให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.
ตลอดเวลาหลายปี ผู้คงแก่เรียนและครูอาจารย์จำนวนมากได้พยายามอย่างน่าชมเชยเพื่อผลิตคัมภีร์ไบเบิลขึ้นในภาษากรีกสมัยใหม่. ปัจจุบัน มีคัมภีร์ไบเบิลทั้งครบชุดหรือบางส่วนถึงประมาณ 30 ฉบับซึ่งสามัญชนอ่านเข้าใจได้. ที่นับว่าเป็นอัญมณีแท้ในฉบับแปลเหล่านี้ก็คือฉบับแปลภาษากรีกของพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ซึ่งออกในปี 1997 เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน 16 ล้านคนทั่วโลกที่พูดภาษากรีก. ฉบับแปลนี้ซึ่งผลิตโดยพยานพระยะโฮวาได้แปลพระคำของพระเจ้าให้อ่านเข้าใจง่ายโดยยึดกับข้อความดั้งเดิมอย่างซื่อสัตย์.
ความบากบั่นเพื่อจะมีคัมภีร์ไบเบิลในภาษากรีกสมัยใหม่แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงอันสำคัญข้อหนึ่ง. นั่นแสดงชัดว่า แม้มนุษย์ที่เป็นฝ่ายศัตรูจะพยายามสักเท่าใด แต่ “คำตรัสของพระยะโฮวาดำรงอยู่เป็นนิตย์.”—1 เปโตร 1:25, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซีริล ลูคาริส โปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 กุมภาพันธ์ 2000 หน้า 26-29.
[ภาพหน้า 27]
ซีริล ลูคาริสชี้แนะการแปลฉบับภาษากรีกฉบับแรกของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกครบชุดในปี 1630
[ที่มาของภาพ]
Bib. Publ. Univ. de Genève
[ภาพหน้า 28]
ฉบับแปลบางฉบับในภาษากรีกที่ใช้กันในสมัยนั้น: พระธรรมบทเพลงสรรเสริญที่พิมพ์เมื่อ: (1) ปี 1828 โดย อิลาริอน, (2) ปี 1832 โดยวามวาส, (3) ปี 1643 โดยจูเลียนุส. “พันธสัญญาเดิม” พิมพ์เมื่อ: (4) ปี 1840, โดยวามวาส
ราชินีโอลกา
[ที่มาของภาพ]
Bibles: National Library of Greece; Queen Olga: Culver Pictures
[ที่มาของภาพหน้า 26]
Papyrus: Reproduced by kind permission of The Trustees of the Chester Beatty Library, Dublin
[ที่มาของภาพหน้า 29]
Papyrus: Reproduced by kind permission of The Trustees of the Chester Beatty Library, Dublin