การให้ที่ก่อความยินดี
การให้ที่ก่อความยินดี
เชนิเวาซึ่งอาศัยอยู่ในย่านสลัมแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ได้เลี้ยงดูภรรยาและบุตรด้วยค่าจ้างน้อยนิดที่ได้รับจากการเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาล. ทั้ง ๆ ที่ลำบากยากเข็ญ เชนิเวาได้ถวายส่วนสิบชักหนึ่งอย่างซื่อตรง. เขาเล่าพลางลูบท้องไปพลางว่า “บางครั้งครอบครัวของผมหิวโหย แต่ผมก็ยังต้องการให้สิ่งดีที่สุดแก่พระเจ้า ไม่ว่าจำเป็นต้องเสียสละแค่ไหนก็ตาม.”
หลังจากตกงาน เชนิเวาก็ยังถวายส่วนสิบชักหนึ่งอยู่ต่อไป. นักเทศน์ได้กระตุ้นเขาให้ทดลองดูพระเจ้าโดยการบริจาคเงินก้อนใหญ่. นักเทศน์รับรองว่าพระเจ้าจะเทพรให้เขาแน่นอน. ดังนั้น เชนิเวาตัดสินใจที่จะขายบ้านแล้วถวายเงินที่ได้นั้นให้แก่โบสถ์.
เชนิเวาใช่ว่าเป็นคนเดียวเท่านั้นที่มีความจริงใจดังกล่าวในการให้. หลายคนที่ยากจนข้นแค้นได้ถวายส่วนสิบชักหนึ่งด้วยความสำนึกในหน้าที่เนื่องจากพวกเขาได้รับการสอนจากคริสตจักรของตนว่า การถวายส่วนสิบชักหนึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล. เรื่องนี้เป็นความจริงไหม?
การถวายส่วนสิบชักหนึ่งและพระบัญญัติ
พระบัญญัติว่าด้วยการถวายส่วนสิบชักหนึ่งเป็นส่วนแห่งพระบัญญัติที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงประทานให้แก่ชาติอิสราเอลโบราณ 12 ตระกูล เป็นเวลากว่า 3,500 ปีมาแล้ว. พระบัญญัตินั้นสั่งว่าต้องให้หนึ่งในสิบของผลผลิตจากแผ่นดินและต้นไม้ที่เกิดผล รวมทั้งหนึ่งในสิบของฝูงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นแก่ตระกูลเลวีเพื่อสนับสนุนการรับใช้ของพวกเขาที่พลับพลา.—เลวีติโก 27:30, 32; อาฤธโม 18:21, 24.
พระยะโฮวาทรงรับรองกับชนอิสราเอลว่าพระบัญญัติ ‘ไม่เป็นข้อยากเหลือปัญญาของเขา.’ (พระบัญญัติ 30:11) ตราบใดที่พวกเขาปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ รวมทั้งกฎเรื่องการถวายส่วนสิบชักหนึ่ง พระองค์ทรงสัญญาเรื่องการเก็บเกี่ยวอย่างบริบูรณ์. และเพื่อเป็นการป้องกันความขาดแคลน มีการกันส่วนสิบชักหนึ่งประจำปีอีกส่วนไว้ ซึ่งตามปกติถูกนำมาใช้เมื่อชาตินั้นประชุมกันเพื่อการฉลองเทศกาลทางศาสนาของพวกเขา. โดยวิธีนี้ ‘คนแขกเมือง, ลูกกำพร้า, และหญิงหม้ายทั้งปวง’ จะได้รับการสนองตามความต้องการ.—พระบัญญัติ 14:28, 29; 28:1, 2, 11-14.
พระบัญญัติมิได้กำหนดบทลงโทษไว้สำหรับการไม่ได้ถวายส่วนสิบชักหนึ่ง ทว่าชนอิสราเอลแต่ละคนอยู่ภายใต้พันธะทางศีลธรรมอันหนักแน่นที่จะสนับสนุนการนมัสการแท้โดยวิธีนี้. ที่จริง พระยะโฮวาทรงกล่าวโทษชนอิสราเอลซึ่งละเลยการถวายส่วนสิบชักหนึ่งในสมัยของมาลาคีว่า ‘ฉ้อโกงพระองค์ในส่วนสิบชักหนึ่งและในเครื่องถวายบูชา.’ (มาลาคี 3:8) ข้อกล่าวหาเดียวกันนี้นำมาใช้กับคริสเตียนที่ไม่ได้ถวายส่วนสิบชักหนึ่งได้ไหม?
เอาละ ให้เรามาพิจารณากัน. ตามปกติกฎหมายของประเทศหนึ่งไม่มีผลบังคับใช้ในอีกประเทศหนึ่ง. ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่กำหนดให้ผู้ขับขี่รถยนต์ในบริเตนขับรถทางด้านซ้ายของถนนไม่ได้นำมาใช้กับผู้ขับรถในฝรั่งเศส. คล้ายกัน กฎหมายที่เรียกร้องการถวายส่วนสิบชักหนึ่งนั้นเป็นส่วนแห่งสัญญาไมตรีโดยเฉพาะระหว่างพระเจ้ากับชาติอิสราเอล. (เอ็กโซโด 19:3-8; บทเพลงสรรเสริญ 147:19, 20) เฉพาะชนอิสราเอลเท่านั้นที่ถูกผูกมัดโดยกฎหมายนั้น.
นอกจากนี้ ถึงแม้เป็นความจริงที่ว่า พระเจ้าไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่บางครั้งข้อเรียกร้องของพระองค์เปลี่ยนไป. (มาลาคี 3:6) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างแน่ชัดว่าการวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชาของพระเยซูในปี ส.ศ. 33 “ลบ” หรือ “กำจัด” พระบัญญัติ และรวมทั้ง ‘พระบัญญัติที่สั่งให้รับทศางค์ [“ส่วนสิบชักหนึ่ง,” ล.ม.] ด้วย.’—โกโลซาย 2:13, 14, ล.ม.; เอเฟโซ 2:13-15; เฮ็บราย 7:5, 18, ฉบับแปลใหม่.
การให้ของคริสเตียน
อย่างไรก็ดี การบริจาคเพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้ยังคงจำเป็นอยู่. พระเยซูได้มอบหมายเหล่าสาวก ‘ที่จะเป็นพยานจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.’ (กิจการ 1:8) ขณะที่จำนวนของผู้เชื่อถือเพิ่มขึ้น ก็มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นที่ผู้สอนคริสเตียนและผู้ดูแลจะไปเยี่ยมและเสริมสร้างประชาคม. แม่ม่าย, ลูกกำพร้า, และผู้ที่ขัดสนคนอื่น ๆ ต้องได้รับการดูแลเป็นครั้งคราว. คริสเตียนในศตวรรษแรกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างไร?
ประมาณปี ส.ศ. 55 มีการส่งคำขอร้องไปยังคริสเตียนต่างชาติในยุโรปและเอเชียไมเนอร์เพื่อประโยชน์ของประชาคมที่ยากจนในยูเดีย. ในจดหมายถึงประชาคมในเมืองโครินท์ อัครสาวกเปาโลพรรณนาวิธีจัดระเบียบ “การเรี่ยไรสำหรับสิทธชน.” (1 โกรินโธ 16:1) คุณอาจแปลกใจในสิ่งที่ถ้อยคำของเปาโลเผยให้เห็นในเรื่องการให้ของคริสเตียน.
อัครสาวกเปาโลไม่ได้คะยั้นคะยอเพื่อนร่วมความเชื่อในการให้. ที่จริง คริสเตียนชาวมาซิโดเนียซึ่ง “รับความทุกข์ลำบาก” และอยู่ใน “ความยากจนแสนเข็ญ” ต้อง ‘วิงวอนท่านมากมายขอเข้าส่วนในการกุศลที่จะช่วยสิทธชน.’—2 โกรินโธ 8:1-4.
จริงอยู่ เปาโลได้สนับสนุนชาวโครินท์ที่มั่งมีกว่าให้เลียนแบบพี่น้องของเขาที่ใจกว้างซึ่งอยู่ในมาซิโดเนีย. แม้จะเป็นเช่นนั้น หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า ท่าน ‘ไม่ยอมออกคำสั่ง แต่เลือกที่จะขอร้อง, เสนอแนะ, สนับสนุน, หรืออ้อนวอนมากกว่า. หากมีการบีบบังคับ การให้ของชาวโครินท์คงจะไม่ได้เป็นไปด้วยใจสมัครและขาดความกระตือรือร้นในการให้.’ เปาโลทราบว่า “พระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี” มิใช่ผู้ที่ให้ “ด้วยฝืนใจหรือถูกบังคับ.”—2 โกรินโธ 9:7, ล.ม.
ความเชื่อและความรู้ที่เต็มเปี่ยมพร้อมกับความรักแท้ต่อเพื่อนคริสเตียนคงได้กระตุ้นชาวโครินท์ที่จะให้โดยไม่ต้องมีใครกระตุ้น.—2 โกรินโธ 8:7, 8.
‘อย่างที่เขาได้มุ่งหมายไว้ในหัวใจของตน’
แทนที่จะระบุจำนวนหรืออัตราส่วน เปาโลเพียงแต่เสนอแนะว่า “ในวันแรกของทุกสัปดาห์ แต่ละคน . . . ควรกันเงินจำนวนหนึ่งไว้ อย่างที่ประสานกันกับรายได้ของเขา.” (เราทำให้เป็นตัวเอน; 1 โกรินโธ 16:2, นิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน ) โดยการวางแผนและกันเงินจำนวนหนึ่งไว้เป็นประจำ ชาวโครินท์คงจะไม่รู้สึกถูกกดดันในการให้ด้วยความเสียดายหรือโดยอาศัยแรงกระตุ้นทางด้านอารมณ์เมื่อเปาโลมาถึง. สำหรับคริสเตียนแต่ละคน การตัดสินใจว่าจะให้เท่าไรนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นการตัดสินใจที่ ‘เขาได้มุ่งหมายไว้ในหัวใจของตน.’—2 โกรินโธ 9:5, 7, ล.ม.
เพื่อจะเก็บเกี่ยวมาก ชาวโครินท์ต้องหว่านมาก. ไม่เคยมีการเสนอแนะเรื่องการให้เกินกว่าที่สามารถให้ได้. เปาโลรับรองกับพวกเขาว่า ‘ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่าให้การงานของพวกท่านหนักขึ้น.’ การบริจาคเป็น “ที่ทรงรับตามที่ทุกคนมีอยู่ มิใช่ตามที่เขาไม่มี.” (2 โกรินโธ 8:12, 13, ฉบับแปลใหม่; 9:6) ในจดหมายฉบับต่อมา อัครสาวกเตือนว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่เลี้ยงดูคนเหล่านั้น . . . ซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับ ว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) เปาโลมิได้สนับสนุนการให้ที่ละเมิดหลักการข้อนี้.
นับว่า มีความหมายที่เปาโลดูแล “การเรี่ยไรสำหรับสิทธชน” ผู้ซึ่งขัดสน. เราไม่ได้อ่านในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการที่เปาโลหรืออัครสาวกคนอื่น ๆ จัดการเรี่ยไรหรือได้รับส่วนสิบชักหนึ่งเพื่อหาเงินทุนสำหรับงานรับใช้ของพวกเขาเอง. (กิจการ 3:6) โดยรู้สึกขอบคุณเสมอที่ได้รับของกำนัลซึ่งประชาคมต่าง ๆ ส่งให้ท่าน เปาโลระมัดระวังไม่วาง “ภาระหนัก” ไว้บนพี่น้องของท่าน.—1 เธซะโลนิเก 2:9, ล.ม.; ฟิลิปปอย 4:15-18.
การให้ด้วยใจสมัครในทุกวันนี้
เห็นได้ชัด ระหว่างศตวรรษแรก เหล่าสาวกของพระคริสต์ทำการให้ด้วยใจสมัคร ไม่ใช่โดยการถวายส่วนสิบชักหนึ่ง. อย่างไรก็ดี คุณอาจสงสัยว่าการให้เช่นนี้ยังคงเป็นวิธีที่ได้ผลหรือไม่เพื่อสนับสนุนด้านการเงินในการประกาศข่าวดีและเอาใจใส่ดูแลคริสเตียนที่ขัดสน.
ขอพิจารณาส่วนต่อไปนี้. ในปี 1879 กองบรรณาธิการของวารสารนี้ได้แถลงอย่างเปิดเผยว่า พวกเขาจะ “ไม่มีวันขอ หรือเรียกร้อง ให้มนุษย์สนับสนุนเลย.” การตัดสินใจเช่นนั้นได้ขัดขวางความพยายามของพยานพระยะโฮวาที่จะเผยแพร่ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไหม?
ปัจจุบัน พวกพยานฯ แจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิล, หนังสือคริสเตียน, และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ใน 235 ดินแดน. หอสังเกตการณ์ วารสารที่ให้การศึกษาด้านคัมภีร์ไบเบิล เริ่มต้นมีการแจกจ่ายเป็นรายเดือน 6,000 เล่ม พิมพ์ในหนึ่งภาษา. หลังจากนั้นวารสารนี้ได้กลายเป็นวารสารรายปักษ์โดยมีจำนวนพิมพ์มากกว่า 24,000,000 เล่มที่หาได้ใน 146 ภาษา. เพื่อจัดระเบียบงานให้การศึกษาด้านคัมภีร์ไบเบิลทั่วโลก พยานฯ ได้สร้างหรือซื้ออาคารศูนย์กลางสำหรับการบริหารงานใน 110 ประเทศ. นอกจากนี้ พวกเขาได้สร้างสถานที่ประชุมในท้องถิ่นหลายหมื่นแห่งรวมทั้งห้องประชุมใหญ่เพื่อจัดให้มีที่สำหรับบรรดาผู้สนใจในการได้รับคำสั่งสอนจากคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นอีก.
ขณะที่การเอาใจใส่ต่อความจำเป็นด้านวิญญาณของผู้คนมีความสำคัญอันดับแรก พยานพระยะโฮวาไม่ได้ละเลยความจำเป็นด้านวัตถุของเพื่อนร่วมความเชื่อ. เมื่อพี่น้อง
ของเขาได้รับผลกระทบจากสงคราม, แผ่นดินไหว, ความแห้งแล้ง, และพายุ พวกเขาได้จัดส่งเวชภัณฑ์, อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ไปให้ทันที. เงินทุนสำหรับสิ่งเหล่านี้ได้มาโดยการบริจาคของคริสเตียนเป็นรายบุคคลและประชาคมต่าง ๆ.นอกจากได้ผลแล้ว การบริจาคด้วยใจสมัครยังลดภาระของคนเหล่านั้นที่มีทรัพย์จำกัด เช่น เชนิเวาที่กล่าวถึงในตอนต้น. น่ายินดี ก่อนที่เขาจะขายบ้านได้ มารีอา ผู้เผยแพร่เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวาได้มาเยี่ยมเชนิเวา. เชนิเวาเล่าว่า “การสนทนาครั้งนั้นได้ช่วยครอบครัวของผมให้พ้นจากความยากลำบากมากมายโดยไม่จำเป็น.”
เชนิเวาได้พบว่างานขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนสิบชักหนึ่ง. ที่จริง การถวายส่วนสิบชักหนึ่งไม่ใช่ข้อเรียกร้องของพระคัมภีร์อีกต่อไป. เขาได้เรียนรู้ว่าคริสเตียนได้รับพระพรเมื่อให้อย่างใจกว้าง แต่คริสเตียนไม่มีพันธะที่จะให้เกินกว่าสามารถให้ได้.
การให้ด้วยใจสมัครได้ทำให้เชนิเวาเกิดความยินดีแท้. เขาแสดงความยินดีนั้นดังนี้: “ผมอาจให้หรือไม่ให้ 10 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ แต่ผมยินดีในการบริจาค และผมมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงยินดีด้วยเช่นกัน.”
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
นักเขียนคริสตจักรรุ่นแรกสอนเรื่องการถวายส่วนสิบชักหนึ่งไหม?
“คนร่ำรวยที่อยู่ในท่ามกลางพวกเราช่วยคนขัดสน . . . พวกเขาที่มั่งคั่ง และเต็มใจ ให้สิ่งที่แต่ละคนเห็นว่าเหมาะสม.”—การขอขมาครั้งแรก (ภาษาอังกฤษ) โดยจัสติน มาร์เทอร์ ราว ๆ ส.ศ. 150.
“ชาวยิวได้อุทิศหนึ่งในสิบแห่งทรัพย์ของตนให้พระองค์อย่างแท้จริง แต่พวกคริสเตียนได้กันทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของเขาไว้เพื่อพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า . . . ดังที่หญิงม่ายยากจนคนนั้นได้ทำโดยใส่เงินทั้งหมดที่ใช้เลี้ยงชีพของเธอลงในคลังทรัพย์ของพระเจ้า.”—ต่อต้านคำสอนนอกรีต (ภาษาอังกฤษ) โดยไอรีเนียส ราว ๆ ส.ศ. 180.
“ถึงแม้เรามีตู้ใส่เงินถวาย ก็ไม่ใช่เป็นเงินสำหรับซื้อความรอด ราวกับว่าศาสนาตั้งราคาขึ้นมา. เดือนละครั้ง ถ้าคนไหนอยากจะบริจาค แต่ละคนก็ใส่เงินจำนวนเล็กน้อยลงในตู้ถวาย แต่เป็นไปตามที่เขาพอใจจะให้ และเท่าที่เขาสามารถจะนำมาถวาย เพราะไม่มีการบังคับ เป็นการให้ด้วยความสมัครใจทั้งสิ้น.”—การแก้ต่าง (ภาษาอังกฤษ) โดยเทอร์ทูลเลียน ราว ๆ ส.ศ. 197.
“ขณะที่คริสตจักรขยายตัวและสถาบันต่าง ๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่จะออกกฎหมายซึ่งจะรับประกันการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมอย่างถาวรแก่นักเทศน์. มีการนำกฎเรื่องการจ่ายส่วนสิบชักหนึ่งจากพระบัญญัติเก่ามาใช้ .. . กฎข้อบังคับแรกสุดที่แน่ชัดในเรื่องนั้นดูเหมือนมีอยู่ในจดหมายของบิชอปที่ชุมนุมกัน ณ เมืองตูร์ในปี 567 และ [กฎข้อบังคับ] ของการประชุมสังคายนาที่เมืองมากองในปี 585.”—สารานุกรมคาทอลิก (ภาษาอังกฤษ).
[ที่มาของภาพ]
Coin, top left: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[ภาพหน้า 4, 5]
การให้ด้วยใจสมัครนำมาซึ่งความยินดี
[ภาพหน้า 7]
การบริจาคด้วยใจสมัครทำให้มีเงินทุนสำหรับงานประกาศ, การบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน, และการก่อสร้างสถานที่ประชุม