คุณรู้จักซาฟานกับครอบครัวของเขาไหม?
คุณรู้จักซาฟานกับครอบครัวของเขาไหม?
ขณะที่อ่านคัมภีร์ไบเบิล คุณเคยสังเกตข้อที่กล่าวถึงซาฟานกับสมาชิกบางคนในครอบครัวของเขาที่ทรงอิทธิพลไหม? พวกเขาเป็นใคร? พวกเขาได้ทำอะไร? เราสามารถเรียนบทเรียนอะไรจากพวกเขา?
คัมภีร์ไบเบิลทำให้เราได้มารู้จัก “ซาฟานบุตรอาซาละยาบุตรมะซูลาม” ในเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูการนมัสการแท้ของโยซียาในราวปี 642 ก่อนสากลศักราช. (2 กษัตริย์ 22:3) ระหว่าง 36 ปีต่อมา จนกระทั่งกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. เราได้มารู้จักบุตรชายสี่คนของเขา คือ อะฮีคาม, เอลาซา, คะมาระยา, และยาซันยา, อีกทั้งหลานสองคนของซาฟาน คือมิคายาและฆะดัลยา. (โปรดดูแผนภูมิ.) สารานุกรมจูไดกา อธิบายว่า “ครอบครัวของซาฟานมีอิทธิพลเหนือระบบราชการ [ในอาณาจักรยูดาห์] และมีตำแหน่งเป็นอาลักษณ์ของกษัตริย์ตั้งแต่สมัยของโยซียาจนถึงการเป็นเชลย.” การทบทวนสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับซาฟานและครอบครัวของเขาจะช่วยเราเข้าใจวิธีที่พวกเขาสนับสนุนผู้พยากรณ์ยิระมะยาและการนมัสการแท้ของพระยะโฮวา.
ซาฟานสนับสนุนการนมัสการแท้
ในปี 642 ก่อน ส.ศ. ขณะที่กษัตริย์โยซียามีพระชนมายุประมาณ 25 พรรษา เราทราบว่าซาฟานทำหน้าที่เป็นเลขานุการและอาลักษณ์ของกษัตริย์. (ยิระมะยา 36:10) งานนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร? หนังสืออ้างอิงข้างต้นกล่าวว่าอาลักษณ์และราชเลขานุการเป็นที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดของกษัตริย์ ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการคลัง, ช่ำชองด้านการทูต, และรอบรู้ในเรื่องการต่างประเทศ, กฎหมายระหว่างชาติ, และข้อตกลงในด้านการค้า. ด้วยเหตุนี้ ในฐานะราชเลขานุการ ซาฟานจึงเป็นคนหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในอาณาจักร.
สิบปีก่อนหน้านั้น โยซียาผู้ทรงพระเยาว์ได้ “ตั้งพระราชหฤทัยแสวงหาพระเจ้าแห่งดาวิดราชบิดาใหญ่ของท่าน.” ซาฟานดูเหมือนจะสูงวัยกว่าโยซียามาก เพราะฉะนั้นจึงสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ท่านในเรื่องเกี่ยวกับการนมัสการและเป็นผู้สนับสนุนการรณรงค์เพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้ครั้งแรกของโยซียา. *—2 โครนิกา 34:1-8.
ระหว่างงานบูรณะพระวิหาร มีการพบ “หนังสือพระธรรม” และซาฟาน “ได้อ่านหนังสือถวายกษัตริย์.” โยซียาทรงตกตะลึงเมื่อได้ยินเนื้อหาในหนังสือนั้น จึงส่งคณะผู้แทนที่ประกอบด้วยคนที่ไว้ใจได้ไปหาผู้พยากรณ์หญิงฮุลดาเพื่อจะทูลถามพระยะโฮวาเกี่ยวกับหนังสือนั้น. กษัตริย์แสดงความเชื่อมั่นในตัวซาฟานกับอะฮีคามบุตรชายของเขาโดยให้คนทั้งสองรวมอยู่ในคณะผู้แทนนั้นด้วย.—2 กษัตริย์ 22:8-14; 2 โครนิกา 34:14-22.
นี่เป็นเพียงเรื่องเดียวที่มีการกล่าวถึงในพระคัมภีร์เกี่ยวกับสิ่งที่ซาฟานเองได้ทำ. ในข้ออื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล มีการกล่าวถึงเขาว่าเป็นบิดาหรือปู่คนหนึ่งเท่านั้น. ลูกหลานของซาฟานได้มาติดต่ออย่างใกล้ชิดกับผู้พยากรณ์ยิระมะยา.
อะฮีคามกับฆะดัลยา
ดังที่เราได้ทราบแล้ว มีการกล่าวถึงอะฮีคามบุตรชายของซาฟานเป็นครั้งแรกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะผู้แทนซึ่งถูกส่งไปหาผู้พยากรณ์หญิงฮุลดา. หนังสืออ้างอิงเล่ม
หนึ่งให้อรรถาธิบายว่า “ถึงแม้ไม่มีการระบุตำแหน่งของอะฮีคามในคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรูก็ตาม ดูเหมือนว่าเขาอยู่ในตำแหน่งสูง.”ราว ๆ 15 ปีหลังจากเหตุการณ์นั้น ชีวิตของยิระมะยาตกอยู่ในอันตราย. เมื่อท่านเตือนประชาชนเกี่ยวกับการที่พระยะโฮวาทรงมุ่งหมายจะทำลายกรุงเยรูซาเลม “พวกปุโรหิตแลพวกทำนายแลบรรดาไพร่พลเมืองได้จับเอาตัวยิระมะยา บอกว่า, ท่านจะต้องตายเป็นแน่.” แล้วเกิดผลประการใด? เรื่องราวบอกต่อไปว่า “มือของอะฮีคามบุตรชายของซาฟานได้อยู่ด้วยยิระมะยา, สงเคราะห์ไม่ให้เขาส่งตัวยิระมะยาให้เข้าในเงื้อมมือของไพร่พล, เพื่อจะให้ฆ่ายิระมะยาให้ตายนั้นหามิได้.” (ยิระมะยา 26:1-24) เรื่องนี้แสดงให้เห็นอะไร? พจนานุกรม ดิ แองเคอร์ ไบเบิล กล่าวว่า “เหตุการณ์นี้ไม่เพียงยืนยันถึงอำนาจที่อะฮีคามมีอยู่เท่านั้น แต่ยังบ่งชี้ด้วยว่าเขามีแนวโน้มที่จะแสดงความกรุณาต่อยิระมะยา เช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวของซาฟาน.”
ประมาณ 20 ปีต่อมา หลังจากพวกบาบิโลนได้ทำลายกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อน ส.ศ. แล้วพาไพร่พลส่วนใหญ่ไปเป็นเชลย ฆะดัลยาซึ่งเป็นหลานชายของซาฟาน และเป็นบุตรชายของอะฮีคามได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการเหนือพวกยิวที่เหลืออยู่. เขาได้เอาใจใส่ดูแลยิระมะยา เหมือนกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวของซาฟานไหม? บันทึกของคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ยิระมะยาจึงไปหาฆะดัลยาบุตรอะฮีคามถึงเมืองมิศฟา, แลได้พึ่งพาอาศัยอยู่แก่ท่าน.” ภายในไม่กี่เดือน ฆะดัลยาได้ถูกสังหาร และชาวยิวที่เหลืออยู่ได้พายิระมะยาไปกับพวกเขาด้วยเมื่อย้ายไปอยู่อียิปต์.—ยิระมะยา 40:5-7; 41:1, 2; 43:4-7.
คะมาระยากับมิคายา
คะมาระยาบุตรซาฟานและมิคายาผู้เป็นหลานมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ที่พรรณนาไว้ในยิระมะยาบท 36. ตอนนั้นอยู่ในราวปี 624 ก่อน ส.ศ. เป็นปีที่ห้าของกษัตริย์ยะโฮยาคิม. บารุค เลขานุการของยิระมะยา ได้อ่านออกเสียงจากหนังสือถ้อยคำทั้งหลายของยิระมะยาในพระวิหารของพระยะโฮวา “ในห้องของคะมาระยาบุตรของซาฟาน.” ฉะนั้น “มิคายาบุตรของคะมาระยา, ซึ่งเป็นบุตรของซาฟาน, ได้ยินแต่หนังสือนั้นแต่บรรดาถ้อยคำแห่งพระยะโฮวา.”—ยิระมะยา 36:9-11.
มิคายาได้แจ้งให้บิดาของเขาและเจ้านายคนอื่นทั้งหมดทราบเรื่องม้วนหนังสือนั้น และพวกเขาล้วนต้องการได้ยินข้อความที่กล่าวในม้วนหนังสือนั้น. พวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไร? “ครั้นเมื่อเขาทั้งปวงได้ยินบรรดาถ้อยคำเหล่านั้น, เขาก็ตกใจกลัวทุกคนแล้วก็บอกบารุคว่า, พวกเราจะไปทูลกษัตริย์ด้วยแต่บรรดาถ้อยคำเหล่านี้เป็นแน่.” อย่างไรก็ดี ก่อนทูลกษัตริย์ พวกเขาได้แนะนำบารุคว่า “ตัวเจ้ากับยิระมะยาจงไปซ่อนตัวเสีย, อย่าให้ผู้ใดรู้ว่าเจ้าอยู่ที่ไหนเลย.”—ยิระมะยา 36:12-19.
ยิระมะยา 36:21-25) หนังสือยิระมะยา—เพื่อนทางด้านโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) สรุปว่า “คะมาระยาเป็นผู้ช่วยที่ขันแข็งของยิระมะยา ณ ราชสำนักของกษัตริย์ยะโฮยาคิม.”
ดังที่คาดไว้ล่วงหน้า กษัตริย์ทรงปฏิเสธข่าวสารในม้วนหนังสือนั้นแล้วเผาม้วนหนังสือที่ถูกตัดนั้นทีละชิ้น. เจ้านายบางคน รวมทั้งคะมาระยาบุตรซาฟาน “ได้อ้อนวอนกษัตริย์เพื่อจะไม่ให้เผาหนังสือม้วนนั้น, แต่ท่านไม่ฟังคำเขา.” (เอลาซากับยาซันยา
ในปี 617 ก่อน ส.ศ. บาบิโลนได้ยึดครองอาณาจักรยูดาห์. ชาวยิวนับหมื่น “เจ้านายทั้งปวงและชายฉกรรจ์, รวมทั้งนายช่างต่าง ๆ และช่างเหล็กทั้งปวง” ถูกพาไปเป็นเชลย รวมทั้งผู้พยากรณ์ยะเอศเคลด้วย. มาธันยาซึ่งพวกบาบิโลนได้เปลี่ยนชื่อเป็นซิดคียา ได้กลายเป็นเจ้าประเทศราชองค์ใหม่. (2 กษัตริย์ 24:12-17) ภายหลังซิดคียาได้ส่งคณะผู้แทนซึ่งรวมทั้งเอลาซาบุตรซาฟานไปบาบิโลน. ยิระมะยาได้มอบจดหมายฉบับหนึ่งให้เอลาซาซึ่งมีข่าวสารสำคัญจากพระยะโฮวาถึงชาวยิวที่เป็นเชลยอยู่.—ยิระมะยา 29:1-3.
ด้วยเหตุนี้บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่าซาฟาน, บุตรชายสามคน, รวมทั้งหลานชายสองคนของเขาได้ใช้ตำแหน่งอันทรงอิทธิพลของตนเพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้และเกื้อหนุนยิระมะยาผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์. ยาซันยา บุตรชายซาฟานล่ะจะว่าอย่างไร? ต่างจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวของซาฟาน ดูเหมือนว่าเขามีส่วนร่วมในการนมัสการรูปเคารพ. ในปีที่หกแห่งการเป็นเชลยของยะเอศเคลในบาบิโลน หรือราว ๆ ปี 612 ก่อน ส.ศ. ท่านได้รับนิมิตซึ่งมีชาย 70 คนถวายเครื่องหอมแก่รูปเคารพ ณ พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. ยาซันยาอยู่ในท่ามกลางคนเหล่านี้ เป็นคนเดียวเท่านั้นที่มีการบอกชื่อไว้. นี่อาจบ่งบอกว่าเขาเป็นสมาชิกที่โดดเด่นในคนกลุ่มนี้. (ยะเอศเคล 8:1, 9-12) ตัวอย่างของยาซันยาแสดงให้เห็นว่าการที่คนเราได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่เลื่อมใสพระเจ้าใช่จะรับประกันว่าเขาจะมาเป็นผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. แต่ละคนต้องรับผิดชอบต่อแนวทางการกระทำของตนเอง.—2 โกรินโธ 5:10.
ลำดับวงศ์วานของซาฟานกับครอบครัว
ในช่วงที่ซาฟานกับครอบครัวของเขามีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเลม การใช้ตราได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในยูดาห์. มีการใช้ตราเพื่อเป็นพยานหรือลงนามในเอกสารต่าง ๆ และตรานั้นทำด้วยอัญมณี, โลหะ, งาช้าง, หรือแก้ว. ตามปกติ มีการสลักชื่อผู้ที่เป็นเจ้าของ, ชื่อบิดาของเขา และบางครั้ง ตำแหน่งของผู้เป็นเจ้าของบนตรานั้น.
มีการพบตราประทับบนดินเหนียวในภาษาฮีบรูหลายร้อยอัน. ศาสตราจารย์นาฮ์มาน อาวีกาด ผู้คงแก่เรียนด้านศิลาจารึกภาษาฮีบรูและด้านการศึกษาคำจารึกโบราณ ได้ให้อรรถาธิบายไว้ว่า “คำจารึกบนตราเป็นแหล่งเดียวของศิลาจารึกภาษาฮีบรูที่กล่าวถึงบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกันจากคัมภีร์ไบเบิล.” มีการพบตราซึ่งมีคำจารึกใด ๆ เกี่ยวกับซาฟานหรือของสมาชิกในครอบครัวของเขาไหม? ใช่แล้ว ชื่อซาฟานและคะมาระยาบุตรชายของเขาปรากฏบนตราที่แสดงไว้ในหน้า 19 และ 21.
ผู้คงแก่เรียนยังกล่าวด้วยว่าอาจมีการกล่าวถึงสมาชิกอีกสี่คนของครอบครัวบนตราประทับ คืออาซาละยาบิดาของซาฟาน; อะฮีคามบุตรชายของซาฟาน; คะมาระยาบุตรชายของซาฟาน; และฆะดัลยา ผู้ซึ่งดูเหมือนว่าถูกกล่าวถึงบนตราประทับในฐานะเป็น “หัวหน้าของราชสำนัก.” ถือกันว่าตราที่สี่ในบรรดาตราเหล่านี้เป็นของฆะดัลยา หลานชายของซาฟาน ถึงแม้ไม่มีการกล่าวถึงอะฮีคาม บิดาของเขาก็ตาม. ตำแหน่งบนตราประทับนี้บ่งชี้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งในบรรดาข้าราชการตำแหน่งสูงสุดของรัฐ.
เราจะเรียนอะไรได้จากเรื่องของซาฟานกับครอบครัว?
ซาฟานกับครอบครัววางตัวอย่างที่ดีอะไรเช่นนี้ในการใช้ตำแหน่งอันทรงอิทธิพลของตนเพื่อสนับสนุนทั้งการนมัสการแท้และยิระมะยาผู้ซื่อสัตย์! เราก็เช่นกัน สามารถใช้ทรัพยากรและอิทธิพลของเราเพื่อสนับสนุนองค์การของพระยะโฮวาและเพื่อนร่วมนมัสการของเรา.
นับว่าเป็นการเสริมสร้างและกระตุ้นความเชื่อที่ให้เราไม่เพียงอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำเท่านั้น แต่ให้ค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนด้วยและทำตัวให้คุ้นเคยกับพยานของพระยะโฮวาในสมัยโบราณ อย่างเช่น ซาฟานกับสมาชิกในครอบครัวของเขา. พวกเขาก็เช่นกันเป็นส่วนของ “พยานหมู่ใหญ่” ซึ่งเราสามารถเลียนแบบตัวอย่างของเขาได้.—เฮ็บราย 12:1.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 ซาฟานคงต้องสูงวัยกว่าโยซียามาก เมื่อคำนึงถึงว่าอะฮีคามบุตรชายของซาฟานเป็นผู้ใหญ่แล้วตอนที่โยซียามีพระชนมายุราว ๆ 25 พรรษา.—2 กษัตริย์ 22:1-3, 11-14.
[กรอบหน้า 22]
ฮุลดา—ผู้พยากรณ์หญิงที่มีอิทธิพล
เมื่อได้ยินการอ่าน “หนังสือพระธรรม” ที่พบในพระวิหาร กษัตริย์โยซียามีรับสั่งให้ซาฟานและข้าราชการตำแหน่งสูงอีกสี่คนไป “ทูลถามพระยะโฮวา” เกี่ยวกับหนังสือนั้น. (2 กษัตริย์ 22:8-20) คณะผู้แทนจะพบคำตอบได้ที่ไหน? ยิระมะยาและอาจจะรวมทั้งนาฮูมและซะฟันยา ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้พยากรณ์และผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลที่อาศัยอยู่ในยูดาห์เวลานั้น. อย่างไรก็ดี คณะผู้แทนได้ไปหาฮุลดา ผู้พยากรณ์หญิง.
หนังสือเจรูซาเลม—ชีวประวัติด้านโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้คือ แง่มุมระหว่างชายหญิงไม่เป็นที่สังเกตเลยทีเดียว. ไม่มีใครถือแต่อย่างใดว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่คณะกรรมการซึ่งเป็นชายล้วนได้เอาม้วนหนังสือพระบัญญัติไปหาผู้หญิงคนหนึ่งเพื่อให้ตัดสินว่าม้วนหนังสือนั้นมาจากไหน. เมื่อนางประกาศว่านี่เป็นพระคำขององค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่มีใครสักคนสงสัยอำนาจของนางที่จะตัดสินปัญหา. พวกผู้คงแก่เรียนที่ประเมินบทบาทของผู้หญิงในอิสราเอลโบราณมักมองข้ามเหตุการณ์ตอนนี้ไป.” แน่นอน ข่าวสารที่ได้รับนั้นมาจากพระยะโฮวา.
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 21]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
แผนภูมิลำดับวงศ์วานของซาฟาน
มะซูลาม
↓
อาซาละยา
↓
ซาฟาน
↓ ↓ ↓ ↓
อะฮีคาม เอลาซา คะมาระยา ยาซันยา
↓ ↓
ฆะดัลยา มิคายา
[ภาพหน้า 20]
คะมาระยากับคนอื่นได้อ้อนวอนยะโฮยาคิมมิให้เผาม้วนหนังสือของยิระมะยา
[ภาพหน้า 22]
แม้ยาซันยาจะเป็นสมาชิกในครอบครัวของซาฟาน แต่ในนิมิตปรากฏว่าเขานมัสการรูปเคารพอยู่
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Courtesy Israel Antiquities Authority
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Courtesy Israel Antiquities Authority