คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
เปาโลหมายความอย่างไรตอนที่กล่าวว่า “เมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากจอกนี้เวลาใด (“บ่อยเท่าใด,” ล.ม.)”?
เมื่อกล่าวถึงการตั้งการประชุมอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระเยซู เปาโลเขียนว่า “เมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากจอกนี้เวลาใด (“บ่อยเท่าใด,” ล.ม.), ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้ากว่าพระองค์จะเสด็จมา.” (1 โกรินโธ 11:25, 26) บางคนรู้สึกว่าคำ “บ่อย” ในข้อนี้บ่งชี้ว่าควรรำลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์บ่อย ๆ ในแง่ที่ว่าหลายครั้ง. ฉะนั้น พวกเขาจึงรำลึกถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยกว่าปีละครั้ง. เปาโลหมายความเช่นนั้นไหม?
ปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2,000 ปีแล้วนับตั้งแต่พระเยซูทรงเริ่มตั้งการประชุมอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระองค์. เพราะฉะนั้น การฉลองการประชุมอนุสรณ์แม้แต่ปีละครั้งก็หมายความว่ามีการฉลองบ่อย ๆ นับตั้งแต่ปี ส.ศ. 33. อย่างไรก็ดี ตามบริบทของ 1 โกรินโธ 11:25, 26 เปาโลกำลังพิจารณาไม่ใช่เรื่องที่ว่าควรฉลองการประชุมอนุสรณ์บ่อยแค่ไหน แต่ควรฉลองอย่างไร. ในภาษากรีกเดิม ท่านมิได้ใช้คำโพลาคีส ซึ่งหมายถึง “บ่อย ๆ” หรือ “เสมอ.” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านใช้คำออซาคีส ซึ่งหมายถึง “บ่อยเท่าที่” เป็นสำนวนที่หมายถึง “เมื่อใดก็ตาม,” “ทุกครั้งที่.” เปาโลได้กล่าวว่า ‘ทุกครั้งที่ท่านกระทำเช่นนี้ ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า.’
ถ้าเช่นนั้น ควรฉลองการประชุมอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซูบ่อยแค่ไหน? เหมาะสมที่จะฉลองเพียงปีละครั้ง. ตามปกติสิ่งที่นับว่าเป็นอนุสรณ์ อย่างแท้จริงมีการฉลองปีละครั้ง. นอกจากนี้ พระเยซูสิ้นพระชนม์ในวันปัศคาของชาวยิว ซึ่งมีการจัดขึ้นปีละครั้ง. นับว่าเหมาะสม เปาโลได้กล่าวถึงพระเยซูในฐานะ “พระคริสต์ผู้เป็นปัศคาของเราทั้งหลาย” เนื่องจากการสิ้นพระชนม์เป็นเครื่องบูชาของพระเยซูได้เปิดทางสู่ชีวิตสำหรับชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ เช่นเดียวกับเครื่องบูชาปัศคาครั้งแรกได้คุ้มครองชีวิตบุตรหัวปีของชาวอิสราเอลโดยกำเนิดในอียิปต์และเปิดทางให้ชาตินั้นได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส. (1 โกรินโธ 5:7; ฆะลาเตีย 6:16) ความเกี่ยวพันกับปัศคาประจำปีของชาวยิวเช่นนี้เป็นหลักฐานเพิ่มอีกว่าควรฉลองการประชุมอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระเยซูเพียงปีละครั้ง.
นอกจากนี้ เปาโลได้เชื่อมโยงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเข้ากับการฉลองประจำปีอีกอย่างหนึ่งของชาวยิว นั่นก็คือวันไถ่โทษ. ที่เฮ็บราย 9:25, 26 เราอ่านว่า “[พระเยซู] ไม่ต้องถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาบ่อย ๆ เหมือนอย่างมหาปุโรหิตนั้นผู้ได้เข้าไปในที่บริสุทธิ์ทุกปี ๆ [ในวันไถ่โทษ] นำเอาเลือดซึ่งมิใช่โลหิตตัวเองเข้าไป. . . . แต่ว่าเดี๋ยวนี้พระองค์ได้ทรงปรากฏในเวลาที่สุดนี้ครั้งเดียวเพื่อจะได้กำจัดความบาปได้โดยถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา.” เนื่องจากเครื่องบูชาของพระเยซูเข้ามาแทนเครื่องบูชาในวันไถ่โทษประจำปี จึงเหมาะสมที่จะมีการฉลองการประชุมอนุสรณ์ปีละครั้ง. ไม่มีเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์ที่จะฉลองการประชุมอนุสรณ์บ่อยกว่านั้น.
ประสานกับเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์จอห์น ลอเรนซ์ ฟอน โมสไฮม์รายงานว่าคริสเตียนในศตวรรษที่สองซึ่งอยู่ในเอเชียไมเนอร์เคยชินกับการฉลองการประชุมอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระเยซู “ในวันที่สิบสี่เดือนแรก [ไนซาน] ตามปฏิทินของชาวยิว.” มีแต่ในช่วงสมัยหลัง ๆ มาเท่านั้นที่กลายเป็นธรรมเนียมในคริสต์ศาสนจักรที่จะฉลองการประชุมอนุสรณ์บ่อยกว่าปีละครั้ง.