ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัย
ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัย
คุณคิดถึงอะไรเมื่อได้ยินคำว่า “ค่ายผู้ลี้ภัย”? คุณเคยไปเยี่ยมชมค่ายผู้ลี้ภัยสักแห่งไหม? ค่ายดังกล่าวดูแล้วเป็นอย่างไรจริง ๆ?
ตอนที่เขียนบทความนี้ ได้มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัย 13 แห่งในภาคตะวันตกของแทนซาเนีย. เนื่องจากสงครามกลางเมืองทำให้ต้องพลัดพรากจากบ้าน มีผู้ลี้ภัยประมาณ 500,000 คนจากประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลแทนซาเนียที่ร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR). ชีวิตในค่ายเป็นเช่นไร?
มาถึงค่าย
สาววัยรุ่นคนหนึ่งชื่อแคนดีดาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเธอกับครอบครัวมาถึงเมื่อสองสามปีก่อนว่า “พวกเขาให้บัตรปันส่วนพร้อมกับหมายเลขของบัตรประจำตัวแก่เรา และครอบครัวของเราถูกมอบหมายไปอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยนีอารูกูซู. ที่นั่นเราได้รับหมายเลขซึ่งระบุถนนและที่ตั้งบ้านของเรา. มีการชี้ให้เราดูว่าจะตัดต้นไม้และเก็บหญ้าได้ที่ไหนเพื่อใช้ในการสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ของเราเอง. เราทำอิฐด้วยโคลน. สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้ให้พลาสติกแผ่นใหญ่แก่เราเพื่อมุงหลังคา. นั่นเป็นงานที่ต้องออกแรง แต่เรามีความสุขเมื่อบ้านที่สร้างแบบง่าย ๆ ของเราเสร็จ.”
มีการใช้บัตรปันส่วนทุกวันพุธเว้นพุธ. แคนดีดาเล่าต่อไปว่า “เราเข้าคิวที่โรงอาหารเพื่อรับอาหารหลัก ๆ ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ แจกจ่าย.”
รายการอาหารประจำวันสำหรับคนหนึ่ง ๆ มีอะไรบ้าง?
“เราแต่ละคนได้รับแป้งข้าวโพดประมาณ 3 ถ้วย, เมล็ดถั่วหนึ่งถ้วย, แป้งถั่วเหลือง 20 กรัม, น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร 2 ช้อนโต๊ะ, และเกลือประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะ. บางครั้งเรายังได้รับสบู่ก้อนหนึ่งซึ่งใช้ได้นานตลอดทั้งเดือน.”
จะว่าอย่างไรเรื่องน้ำดื่มที่สะอาด? เป็นสิ่งที่หาได้ไหม? หญิงสาวคนหนึ่งชื่อรีซีคีกล่าวว่า “หาได้ มีการสูบน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียงโดยผ่านทางท่อส่งมายังอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมา. น้ำผ่านกระบวนการทำให้สะอาดโดยใช้คลอรีน
ก่อนมีการสูบไปยังแหล่งเก็บน้ำหลายแห่งที่มีไว้ให้ในแต่ละค่าย. เรายังพยายามต้มน้ำก่อนดื่มด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บ. บ่อยครั้งเรามีธุระยุ่งตั้งแต่เช้าจนค่ำในการเก็บน้ำไว้ใช้และซักเสื้อผ้าของเราที่แหล่งเก็บน้ำเหล่านี้. เราจะได้น้ำเพียงวันละถังครึ่งเท่านั้น.”หากขับรถผ่านค่ายสักแห่งหนึ่ง คุณอาจสังเกตเห็นโรงเรียนอนุบาล, โรงเรียนประถม, และโรงเรียนมัธยม. อาจมีบางแห่งที่ให้การศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ในค่ายด้วยซ้ำ. สถานีตำรวจและสถานที่ราชการตั้งอยู่ติดค่ายด้านนอกเพื่อรับประกันความมั่นคงปลอดภัยของค่าย. คุณอาจเห็นตลาดใหญ่ซึ่งมีร้านเล็ก ๆ หลายร้านที่ผู้ลี้ภัยจะหาซื้อผัก, ผลไม้, ปลา, ไก่, และอาหารหลักชนิดอื่นได้. ประชาชนในท้องถิ่นบางคนมาค้าขายที่ตลาด. แต่ผู้ลี้ภัยเอาเงินมาจากไหนเพื่อซื้อสิ่งของ? บางคนทำสวนผักเล็ก ๆ แล้วขายผลผลิตที่ตลาด. บางคนอาจขายแป้งหรือเมล็ดถั่วบางส่วนที่เขาได้รับแจก โดยวิธีนี้จึงได้เนื้อหรือผลไม้บ้าง. ถูกแล้ว ค่ายนั้นอาจดูแล้วเหมือนหมู่บ้านใหญ่มากกว่าจะเป็นค่าย. เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นบางคนที่ตลาดหัวเราะและสนุกสนานกัน ดังที่พวกเขาคงได้ทำเช่นนั้นในบ้านเกิดของตน.
หากคุณแวะที่โรงพยาบาล หมอคนหนึ่งอาจบอกคุณว่ามีคลินิกสองสามแห่งในค่ายที่รักษาโรคทั่วไป; กรณีฉุกเฉินและคนไข้อาการหนักถูกแนะให้ไปโรงพยาบาล. พอจะเข้าใจได้ว่า แผนกสูตินรีเวชและห้องคลอดที่โรงพยาบาลนับว่าสำคัญ เมื่อคำนึงถึงว่าในค่ายที่มีผู้ลี้ภัย 48,000 คน อาจมี
เด็กเกิดมาประมาณ 250 คนต่อเดือน.ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีทางฝ่ายวิญญาณ
ตลอดทั่วโลก พยานพระยะโฮวาอาจอยากรู้เกี่ยวกับพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเขาซึ่งอยู่ในค่ายที่แทนซาเนีย. โดยรวมแล้ว พวกเขาราว ๆ 1,200 คนได้รับการจัดระเบียบเป็น 14 ประชาคมและ 3 กลุ่ม. พวกเขาทำกันอย่างไร?
ในบรรดาสิ่งแรก ๆ ที่คริสเตียนผู้เลื่อมใสเหล่านี้ทำเมื่อพวกเขามาถึงค่ายก็คือขอที่ดินผืนหนึ่งเพื่อสร้างหอประชุม. นี่จะทำให้ประชากรในค่ายผู้ลี้ภัยทราบว่าจะพบพวกพยานฯ และจะเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์ของพวกเขาได้ที่ไหน. ในค่ายลูกูฟู มี 7 ประชาคม พร้อมกับคริสเตียนที่ขันแข็งรวมทั้งหมด 659 คน. ณ การประชุมวันอาทิตย์ ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้ง 7 ประชาคมนี้รวมกันแล้วตามปกติมีทั้งสิ้นประมาณ 1,700 คน.
พวกพยานฯ ในค่ายทั้งหมดยังได้รับประโยชน์จากการประชุมใหญ่ของคริสเตียนในขนาดที่ใหญ่กว่าด้วย. เมื่อมีการจัดการประชุมภาคครั้งแรกในค่ายลูกูฟู มีผู้เข้าร่วมประชุม 2,363 คน. พวกพยานฯ ได้สร้างสระสำหรับการรับบัพติสมาข้างนอกสถานที่สำหรับการประชุมใหญ่. สระน้ำเป็นหลุมที่ขุดลงไปในดินโดยมีแผ่นพลาสติกบุข้างในเพื่อกันน้ำซึม. พวกพี่น้องได้ลำเลียงน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ห่างออกไปราว ๆ สองกิโลเมตรโดยใช้จักรยาน. แต่ละเที่ยวพวกเขาขนน้ำได้เพียง 20 ลิตรเท่านั้น นี่หมายความว่าต้องขนกันหลายเที่ยวมาก. ผู้ที่จะรับบัพติสมาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เรียบร้อย เข้าแถวเพื่อรับบัพติสมา. ทั้งหมดมี 56 คนรับบัพติสมาโดยการจุ่มตัวมิดในน้ำ. ผู้เผยแพร่เต็มเวลาคนหนึ่งที่ถูกสัมภาษณ์ ณ การประชุมใหญ่ได้ชี้แจงว่าเขานำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับ 40 คน. นักศึกษาของเขาสี่คนได้รับบัพติสมาที่การประชุมนั้น.
สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาได้จัดให้มีการเยี่ยมเป็นประจำโดยผู้ดูแลเดินทาง. คนหนึ่งในพวกเขากล่าวว่า “พี่น้องของเรามีใจแรงกล้าในงานเผยแพร่. พวกเขามีเขตงานกว้างใหญ่ที่จะประกาศ และในประชาคมหนึ่งพยานฯ แต่ละคนใช้เวลาประมาณ 34 ชั่วโมงต่อเดือนใน
งานเผยแพร่. หลายคนนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับผู้สนใจห้ารายหรือมากกว่านั้น. ไพโอเนียร์คนหนึ่งกล่าวว่าเธอไม่มีเขตงานไหนที่ดีไปกว่านี้. ผู้คนในค่ายชอบสิ่งพิมพ์ของพวกเรามากทีเดียว.”สรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลไปถึงค่ายต่าง ๆ โดยวิธีใด? สาขาส่งสรรพหนังสือโดยทางรถไฟถึงเมืองคีโกมาที่อยู่ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบแทนแกนยิกา. ที่นั่นพวกพี่น้องได้รับสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แล้วจัดส่งไปยังประชาคมทั้งหลาย. บางครั้งพวกเขาเช่ารถบรรทุกเล็กแล้วส่งสรรพหนังสือด้วยตัวเองถึงค่ายทุกแห่ง. นี่ใช้เวลาประมาณสามหรือสี่วันในการเดินทางบนถนนที่ขรุขระมาก.
ความช่วยเหลือทางด้านวัตถุ
พยานพระยะโฮวาในฝรั่งเศส, เบลเยียม, และสวิตเซอร์แลนด์มีส่วนช่วยเป็นพิเศษในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายเหล่านี้. บางคนได้มาเยี่ยมชมค่ายในแทนซาเนีย โดยการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ. พวกพยานฯ ในยุโรปได้รวบรวมนมถั่วเหลือง, เสื้อผ้า, รองเท้า, หนังสือเรียน, และสบู่จำนวนมากมาย. มีการบริจาคสิ่งของเหล่านี้เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ลี้ภัยทั้งหมด สอดคล้องกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ตราบที่เรามีโอกาสเหมาะ ให้เราทำการดีต่อคนทั้งปวง แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ.”—ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.
ความพยายามด้านมนุษยธรรมดังกล่าวนี้ได้ก่อผลดีมากจริง ๆ พร้อมกับผู้ลี้ภัยหลายคนได้รับการช่วยเหลือ. คณะกรรมการชุมชนผู้ลี้ภัยในค่ายแห่งหนึ่งแสดงความขอบคุณด้วยคำพูดดังต่อไปนี้: “ในนามแห่งชุมชนทั้งสิ้นของเรา เรารู้สึกเป็นเกียรติที่จะกล่าวขอบคุณสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่องค์การของคุณได้ให้แก่พวกเราสามครั้ง . . . มีการแจกจ่ายเสื้อผ้าให้บรรดาชายหญิงกับเด็ก ๆ ที่ขัดสนและทารกเกิดใหม่ รวมทั้งสิ้น 12,654 คน . . . ประชากรในค่ายผู้ลี้ภัยมูโยโวซีปัจจุบันมีจำนวน 37,000 คน. รวมทั้งหมดมี 12,654 คนได้รับการช่วยเหลือ หรือ 34.2 เปอร์เซ็นต์ของประชากร.”
ในค่ายอีกแห่งหนึ่ง ผู้ลี้ภัย 12,382 คนได้รับแจกเสื้อผ้าคนละสามชิ้น และอีกค่ายหนึ่งได้รับหนังสือเรียนหลายพันเล่มเพื่อใช้ในโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนประถม รวมทั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กตอนกลางวันด้วย. เจ้าหน้าที่กองพลาธิการของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ในเขตหนึ่งออกความเห็นว่า “เรารู้สึกขอบคุณจริง ๆ สำหรับการบริจาคที่ได้รับ [ซึ่งสนอง] ความจำเป็นอย่างมากมายของประชากรในค่ายผู้ลี้ภัย. การส่งมอบส่วนใหญ่ที่ได้รับเมื่อเร็ว ๆ นี้คือหนังสือเรียน 5 ตู้สินค้า ซึ่งหน่วยบริการชุมชนของเราได้แจกจ่ายให้ประชากรผู้ลี้ภัย. . . . ขอบคุณมากจริง ๆ.”
แม้แต่หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นก็ได้ออกความเห็นเรื่องการสงเคราะห์ที่ผู้ลี้ภัยได้รับด้วย. พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ซันเดย์ นิวส์ ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2001 กล่าวว่า “เสื้อผ้าสำหรับผู้ลี้ภัยในแทนซาเนียมาถึงแล้ว.” ฉบับพิมพ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2002 ออกความเห็นว่า “ชุมชนผู้ลี้ภัยหยั่งรู้ค่าการบริจาค เพราะเด็ก ๆ บางคนที่ได้หยุดเรียนไปเนื่องจากขาดแคลนเสื้อผ้า ตอนนี้ได้เข้าเรียนเป็นประจำแล้ว.”
ลำบากแต่ไม่ไร้ความช่วยเหลือ
สำหรับผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่แล้ว ต้องใช้เวลาราว ๆ หนึ่งปีเพื่อปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบชีวิตใหม่ในค่าย. พวกเขาดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย. พยานพระยะโฮวาในค่ายเหล่านี้กำลังใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแบ่งปันข่าวดีที่ปลอบประโลมใจจากคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า ให้แก่เพื่อนบ้านผู้ลี้ภัยของตน. พวกเขาบอกเรื่องโลกใหม่ที่ทุกคน “จะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา, และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง: ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน, และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” ครั้นแล้วทุกคน “ก็จะนั่งอยู่ใต้ซุ้มเถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน; และจะไม่มีอะไรมาทำให้เขาสะดุ้งกลัว: ด้วยว่า, พระโอษฐ์ของพระยะโฮวาเจ้าแห่งพลโยธาตรัสไว้อย่างนั้น.” เห็นได้ชัด โดยการอวยพรจากพระเจ้า นี่จะเป็นโลกที่ปราศจากค่ายผู้ลี้ภัย.—มีคา 4:3, 4; บทเพลงสรรเสริญ 46:9.
[ภาพหน้า 8]
บ้านในค่ายนดูทา
[ภาพหน้า 10]
หอประชุมลูโคลี (ขวา) การรับบัพติสมาในลูกูฟู (ล่าง)
[ภาพหน้า 10]
การประชุมภาคในค่ายลูกูฟู