แท่นบูชามีความสำคัญเพียงไรในการนมัสการ?
แท่นบูชามีความสำคัญเพียงไรในการนมัสการ?
คุณถือว่าแท่นบูชาเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการนมัสการของคุณไหม? สำหรับผู้คนมากมายที่เข้าโบสถ์ของคริสต์ศาสนจักร แท่นบูชาอาจเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดความสนใจ. คุณเคยได้ตรวจสอบไหมว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกไว้อย่างไรเกี่ยวกับการใช้แท่นบูชาในการนมัสการ?
แท่นบูชาที่มีการกล่าวถึงครั้งแรกในคัมภีร์ไบเบิลคือแท่นบูชาที่สร้างโดยโนฮาเพื่อใช้ถวายสัตว์บูชา หลังจากที่ท่านออกจากนาวาที่ช่วยให้รอดชีวิตจากมหาอุทกภัย. *—เยเนซิศ 8:20.
หลังจากเกิดความสับสนทางภาษาที่บาเบล มนุษยชาติกระจัดกระจายกันไปทั่วโลก. (เยเนซิศ 11:1-9) เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการที่จะนมัสการอยู่ในตัว พวกเขาจึงหาทางที่จะเข้าใกล้พระเจ้า ผู้ซึ่งพวกเขาก็รู้จักน้อยลงทุกที จึงเหมือนกับ “คลำหา” พระองค์อย่างคนตาบอด. (กิจการ 17:27; โรม 2:14, 15) นับจากสมัยของโนฮา ชนชาติต่าง ๆ มากมายได้สร้างแท่นบูชาสำหรับพระเจ้าของตน. ศาสนาและชนชาติต่าง ๆ ได้ใช้แท่นบูชาในการนมัสการเท็จ. เนื่องจากเหินห่างจากพระเจ้าเที่ยงแท้ บางคนจึงใช้แท่นบูชาเพื่อประกอบพิธีกรรมที่น่าสยดสยองโดยการบูชายัญมนุษย์หรือกระทั่งเด็ก ๆ. เมื่อกษัตริย์อิสราเอลบางองค์ละทิ้งพระยะโฮวา พวกเขาสร้างแท่นบูชาสำหรับพระเจ้าของพวกนอกรีต เช่น พระบาละ. (1 กษัตริย์ 16:29-32) แต่จะว่าอย่างไรกับการใช้แท่นบูชาในการนมัสการแท้?
แท่นบูชากับการนมัสการแท้ในอิสราเอล
ภายหลังสมัยโนฮา เหล่าผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ก็ได้สร้างแท่นบูชาเพื่อใช้ในการนมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้. อับราฮามได้สร้างแท่นบูชา ณ เมืองเชเคม, ณ ที่แห่งหนึ่งใกล้เมืองเบธเอล, ณ ตำบลเฮโบรน, และบนภูเขาโมริยาห์ ที่ซึ่งท่านได้ถวายแกะตัวผู้ที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้ให้เป็นเครื่องบูชาแทนการถวายยิศฮาค. ต่อมา ด้วยแรงกระตุ้นของตนเอง ยิศฮาค, ยาโคบ, และโมเซได้สร้างแท่นบูชาเพื่อใช้นมัสการพระเจ้า.—เยเนซิศ 12:6-8; 13:3, 18; 22:9-13; 26:23-25; 33:18-20; 35:1, 3, 7; เอ็กโซโด 17:15, 16; 24:4-8.
เมื่อพระเจ้าประทานพระบัญญัติให้แก่ชาวอิสราเอล พระองค์บัญชาให้พวกเขาสร้างพลับพลาชนิดที่เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พลับพลาประชุม” อันเป็นส่วนสำคัญแห่งการจัดเตรียมเพื่อเข้าเฝ้าพระองค์. (เอ็กโซโด 39:32, 40) พลับพลานี้มีแท่นบูชาสองแท่น. แท่นหนึ่งสำหรับถวายเครื่องบูชาเผาที่ทำจากไม้อาเคเชียหุ้มด้วยทองแดงตั้งไว้หน้าทางเข้าพลับพลา และใช้สำหรับถวายสัตว์บูชา. (เอ็กโซโด 27:1-8; 39:39; 40:6, 29) อีกแท่นหนึ่งซึ่งใช้สำหรับเผาเครื่องหอมนั้นทำจากไม้อาเคเชียเช่นกัน แต่ หุ้มด้วยทองคำ และตั้งไว้หน้าม่านห้องบริสุทธิ์ที่สุดในพลับพลา. (เอ็กโซโด 30:1-6; 39:38; 40:5, 26, 27) มีการเผาเครื่องหอมที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษบนแท่นบูชานี้วันละสองครั้ง คือเวลาเช้ากับเวลาเย็น. (เอ็กโซโด 30:7-9) พระวิหารถาวรที่กษัตริย์ซะโลโมสร้างขึ้นนั้นก็ได้สร้างตามแบบพลับพลานี้ และมีแท่นบูชาสองแท่น.
“พลับพลาแท้” กับแท่นบูชาที่มีความหมายเป็นนัย
เมื่อพระยะโฮวาประทานพระบัญญัติแก่ชาติอิสราเอล สิ่งที่พระองค์ประทานให้ประชาชนของพระองค์นั้นเป็นยิ่งกว่ากฎเกณฑ์สำหรับการดำเนินชีวิตและสำหรับการเข้าเฝ้าพระองค์โดยทางการถวายเครื่องบูชาและการอธิษฐาน. ข้อกำหนดต่าง ๆ หลายอย่างในพระบัญญัตินั้นประกอบกันเป็นสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่า “แบบ,” “ภาพแสดง,” หรือ “เงาของสิ่งฝ่ายสวรรค์.” (เฮ็บราย 8:3-5, ล.ม.; 9:9, ล.ม.; 10:1; โกโลซาย 2:17) กล่าวอีกอย่างหนึ่ง หลายแง่มุมของพระบัญญัติไม่ได้เพียงแค่นำชาวอิสราเอลไปจนกระทั่งการมาของพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังประกอบกันเป็นภาพล่วงหน้าเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะสำเร็จโดยทางพระเยซูคริสต์. (ฆะลาเตีย 3:24) ใช่แล้ว หลายแง่มุมของพระบัญญัติมีความหมายเชิงพยากรณ์. ยกตัวอย่าง แกะปัศคา ซึ่งมีการใช้เลือดของมันเป็นสัญลักษณ์แห่งการรอดพ้นของชาวอิสราเอลนั้น เป็นภาพล่วงหน้าถึงพระเยซูคริสต์. พระองค์เป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไป” ซึ่งพระโลหิตที่หลั่งออกของพระองค์ไถ่เราให้พ้นจากบาป.—โยฮัน 1:29; เอเฟโซ 1:7.
หลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานรับใช้ที่พลับพลาและพระวิหารเป็นภาพเล็งถึงสิ่งที่มีอยู่จริงในสวรรค์. (เฮ็บราย 8:5; 9:23) อันที่จริง เปาโลเขียนเกี่ยวกับ “พลับพลาแท้, ซึ่งพระเจ้าได้ทรงสร้าง ไม่ใช่มนุษย์สร้าง.” ท่านเขียนต่อว่า “พระคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมหาปุโรหิตสำหรับการดีซึ่งเป็นมานั้น, พระองค์ก็ได้เสด็จมาทางพลับพลาอันประเสริฐกว่า [“พลับพลาที่ยิ่งใหญ่กว่าและสมบูรณ์กว่า,” ล.ม.], ที่มือมนุษย์ไม่ได้สร้าง, คือไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งซึ่งทรงสร้างไว้ในโลกนี้.” (เฮ็บราย 8:2; 9:11) “พลับพลาที่ยิ่งใหญ่กว่าและสมบูรณ์กว่า” คือการจัดเตรียมพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. ถ้อยคำที่ใช้ในพระคัมภีร์บ่งชี้ว่าพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่คือการจัดเตรียมเพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าเฝ้าพระยะโฮวาได้โดยอาศัยเครื่องบูชาระงับพระพิโรธของพระเยซูคริสต์.—เฮ็บราย 9:2-10, 23-28.
การที่ได้เรียนรู้จากพระคำของพระเจ้าว่าข้อบัญญัติและกฎเกณฑ์บางอย่างที่วางไว้ในพระบัญญัติเป็นภาพเล็งถึงสิ่งที่มีอยู่จริงในสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่กว่า มีความหมายครบถ้วนกว่า ย่อมเสริมความเชื่อในเรื่องที่ว่าคัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นโดยการดลใจ และยังเสริมความหยั่งรู้ค่าต่อพระสติปัญญาของพระเจ้าที่มีเฉพาะแต่ในพระคัมภีร์อีกด้วย.—โรม 11:33; 2 ติโมเธียว 3:16.
แท่นบูชาสำหรับเครื่องบูชาเผามีความหมายเชิงพยากรณ์ด้วย. ดูเหมือนว่าแท่นบูชาดังกล่าวเป็นภาพเล็งถึง “น้ำพระทัย” ของพระเจ้า หรือความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะรับเอาเครื่องบูชามนุษย์สมบูรณ์ของพระเยซู.—เฮ็บราย 10:1-10.
ในตอนท้าย ๆ ของพระธรรมเฮ็บราย เปาโลกล่าวถ้อยคำที่น่าสนใจต่อไปนี้: “เรามีแท่นบูชาแท่นหนึ่ง, และคนที่ปรนนิบัติในพลับพลานั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะกินของจากแท่นนั้น.” (เฮ็บราย 13:10) เปาโลหมายถึงแท่นบูชาไหน?
ผู้ตีความฝ่ายนิกายคาทอลิกหลายคนอ้างว่าแท่นบูชาที่เอ่ยถึงในเฮ็บราย 13:10 นั้นคือแท่นบูชาสำหรับพิธีศีลมหาสนิท ซึ่งเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” หรือพิธีกรรมที่กล่าวกันว่าพระคริสต์ทรงวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชาทุกครั้งในระหว่างพิธีมิสซานี้. แต่คุณจะเห็นได้จากบริบทของข้อนี้ว่าแท่นบูชาที่เปาโลกล่าวถึงนั้นมีความหมายเป็นนัย. ผู้คงแก่เรียนหลายคนให้ความเห็นว่า “แท่นบูชา” ในข้อนี้ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร. จูเซปเป บงเซียร์วอง ซึ่งเป็นเยสุอิตคนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า “นี่สอดคล้องอย่างเต็มที่กับการใช้สัญลักษณ์ทั้งหมดในจดหมาย [ถึงชาวฮีบรู].” เขาอธิบายว่า “คำ ‘แท่นบูชา’ ในสำนวนภาษาที่ใช้กันในหมู่คริสเตียนนั้น ทีแรกถูกใช้ในความหมายที่ไม่ใช่ตามตัวอักษร แต่หลังจากอีรีเนอุส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเทอร์ทูลเลียนและนักบุญซีเปรียนไปแล้วเท่านั้น ที่มีการใช้คำนี้กับพิธีศีลมหาสนิท และมุ่งใช้กับโต๊ะประกอบพิธีศีลมหาสนิทเป็นส่วนใหญ่.”
ดังที่วารสารคาทอลิกฉบับหนึ่งชี้แจง การใช้แท่นบูชาเริ่มแพร่หลายใน “ยุคของคอนสแตนติน” เมื่อมี “การสร้างโบสถ์คริสเตียน.” วารสารรีวิสตา ดิ อาร์เกโอโลเจีย กริสเตียนา (บทวิจารณ์โบราณคดีคริสเตียน) กล่าวว่า “เป็นที่แน่นอนว่าในช่วงสองศตวรรษแรก ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามีการใช้สถานที่ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะสำหรับการนมัสการ แต่มีการร่วมประชุมทำพิธีทางศาสนากันในห้องตามบ้านส่วนตัว . . . พอเสร็จสิ้นพิธี ห้องเหล่านั้นก็กลับสู่การใช้งานตามเดิม.”
การใช้แท่นบูชาในคริสต์ศาสนจักร
วารสารคาทอลิกลา ชีวิลตะ กัตโตลีกา กล่าวว่า “แท่นบูชาไม่ได้เป็นเพียงจุดรวมความสนใจของโบสถ์เท่านั้น แต่ของสมาชิกโบสถ์ด้วย.” กระนั้น พระเยซูคริสต์ไม่เคยตั้งพิธีทางศาสนาแม้แต่อย่างเดียวที่จะต้องทำพิธีกันที่แท่นบูชา อีกทั้งไม่เคยบัญชาเหล่าสาวกของพระองค์ให้ประกอบพิธีกรรมโดยใช้แท่นบูชา. แท่นบูชาที่พระเยซูกล่าวถึงในมัดธาย 5:23, 24 และในที่อื่น ๆ เกี่ยวข้องกับธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาที่แพร่หลายในท่ามกลางชาวยิว แต่พระองค์ไม่ได้บ่งชี้ว่าสาวกของพระองค์จะต้องนมัสการพระเจ้าโดยใช้แท่นบูชา.
จอร์จ ฟุต มัวร์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน (ส.ศ. 1851-1931) เขียนดังนี้: “รูปแบบหลัก ๆ ในการนมัสการของคริสเตียนเหมือนกันเสมอ แต่พิธีกรรมที่เรียบง่ายดังที่จัสตินพรรณนาไว้ในช่วงกลางศตวรรษที่สองนั้นได้ถูกต่อเติมเสริมแต่งจนในที่สุดกลายเป็นการนมัสการที่ดูโอ่อ่าน่าประทับใจ.” พิธีกรรมต่าง ๆ ของคาทอลิกมีมากมายและซับซ้อนเสียจนถึงกับตั้งเป็นวิชา “พิธีกรรม”—วิชาหนึ่งที่ศึกษากันในวิทยาลัยนักธรรมคาทอลิก. มัวร์กล่าวต่อไปว่า “แนวโน้มในเรื่องนี้ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพิธีกรรมทุกอย่าง ได้รับอิทธิพลมาจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและยิ่งมีมากขึ้นนับตั้งแต่นักเทศน์นักบวชของศาสนาคริสเตียนถูกมองว่าเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งปุโรหิตในระบบศาสนาในอดีตที่พระเจ้าบัญญัติขึ้น. เครื่องแต่งกายที่โอ่อ่าของมหาปุโรหิต, ชุดที่พวกปุโรหิตคนอื่น ๆ ใส่ประกอบพิธีกรรม, ขบวนพิธีที่ดูขึงขัง, คณะนักร้องชาวเลวีที่ร้องเพลงสรรเสริญ, ควันจากเครื่องหอมในภาชนะที่แกว่งไปมา—ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่าเป็นแม่แบบแห่งการนมัสการที่พระเจ้ากำหนดไว้ ซึ่งทำให้คริสตจักรมีเหตุผลอันควรที่จะพยายามทำให้การนมัสการของตนมีความโอ่อ่าไม่น้อยหน้าศาสนาอื่น ๆ ในโลกสมัยโบราณ.”
คุณอาจประหลาดใจที่ทราบว่าพิธีกรรม, เครื่องแต่งกาย, และอุปกรณ์เครื่องใช้อื่น ๆ ที่ใช้กันในโบสถ์ต่าง ๆ เพื่อการนมัสการนั้น ไม่ใช่คำสอนคริสเตียนที่มีในพระธรรมกิตติคุณ แต่เป็นธรรมเนียมและพิธีกรรมของชาวยิวและพวกนอกศาสนา. สารานุกรมกัตโตลีกา กล่าวว่าคริสตจักรคาทอลิก “รับเอาการใช้แท่นบูชามาจากศาสนายูดาห์ และส่วนหนึ่งมาจากศาสนานอกรีต.” มินูคีอุส เฟลิกซ์ ผู้กล่าวปกป้องความเชื่อคนหนึ่งในศตวรรษที่สามสากลศักราชเขียนไว้ว่าคริสเตียน ‘ไม่มีทั้งพระวิหารและแท่นบูชา.’ พจนานุกรมทางศาสนาเรลีโจนี เอ มีตี (ศาสนาและเทพนิยาย) กล่าวคล้าย ๆ กันดังนี้: “คริสเตียนในยุคแรกไม่ใช้แท่นบูชาเพื่อให้พวกเขาต่างไปจากการนมัสการของชาวยิวและพวกนอกรีต.”
ที่สำคัญที่สุด เนื่องจากศาสนาคริสเตียนตั้งอยู่บนหลักการอันจะเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั่วทุกหนแห่ง จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ อีกต่อไปที่จะต้องมีนครศักดิ์สิทธิ์บนแผ่นดินโลก หรือมีพระวิหารจริง ๆ พร้อมกับแท่นบูชา อีกทั้งไม่ต้องมีปุโรหิตที่เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นชนชั้นพิเศษที่แต่งกายด้วยชุดที่ต่างไปจากคนอื่น. พระเยซูตรัสไว้ว่า “จะมีเวลาที่พวกเจ้าจะมิได้นมัสการพระบิดาที่ภูเขานี้หรือที่เยรูซาเลม. . . . ผู้นมัสการแท้ทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:21, 23, ล.ม.) ความสลับซับซ้อนของพิธีกรรมต่าง ๆ และการใช้แท่นบูชาของหลายคริสตจักรนั้น เป็นการมองข้ามสิ่งที่พระเยซูตรัสไว้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ควรได้รับการนมัสการ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ก่อนหน้านั้น คายินกับเฮเบลอาจใช้แท่นบูชาเพื่อถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา.—เยเนซิศ 4:3, 4.