พวกเขามีชัยต่อการข่มเหง
พวกเขามีชัยต่อการข่มเหง
ฟรีดา เยสส์เกิดเมื่อปี 1911 ในเดนมาร์ก จากที่นั่นเธอกับบิดามารดาได้ย้ายไปที่เมืองฮูซุมทางภาคเหนือของเยอรมนี. หลายปีต่อมาเธอได้ทำงานในเมืองมักเดบูร์ก และในปี 1930 เธอได้รับบัพติสมาเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอันเป็นชื่อเรียกของพยานพระยะโฮวาในตอนนั้น. ฮิตเลอร์ได้เถลิงอำนาจในปี 1933 และสำหรับฟรีดาแล้วเหตุการณ์นี้เป็นการเริ่มต้นช่วงเวลา 23 ปีที่เธอได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายโดยน้ำมือของรัฐบาลระบอบเผด็จการไม่ใช่แบบเดียว แต่สองแบบ.
ในเดือนมีนาคม 1933 รัฐบาลเยอรมันได้ออกคำสั่งให้มีการเลือกตั้งทั่วไป. ดร. เดทเลฟ การ์เบ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ค่ายกักกันนอยเอนกัมเมที่อยู่ใกล้เมืองฮัมบูร์กอธิบายว่า “พรรคสังคมนิยมแห่งชาติต้องการบีบบังคับให้คนส่วนใหญ่สนับสนุนอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อัครมหาเสนาบดีและผู้นำของพวกเขา.” พยานพระยะโฮวาได้ปฏิบัติตามคำแนะเตือนของพระเยซูที่ให้รักษาความเป็นกลางทางการเมืองและ “ไม่เป็นส่วนของโลก” ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ลงคะแนนเสียง. ผลเป็นเช่นไร? พวกพยานฯ ถูกสั่งห้าม.—โยฮัน 17:16, ล.ม.
ฟรีดาทำกิจกรรมคริสเตียนของเธอต่อไปอย่างลับ ๆ ถึงกับช่วยพิมพ์วารสารหอสังเกตการณ์. เธอกล่าวว่า “มีการลอบนำวารสารบางเล่มเข้าไปในค่ายกักกันสำหรับเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา.” เธอถูกจับกุมในปี 1940 และถูกหน่วยตำรวจเกสตาโปสอบสวน หลังจากนั้นเธอถูกขังเดี่ยวเป็นเวลาหลายเดือน. เธออดทนได้อย่างไร? เธอกล่าวว่า “การอธิษฐานเป็นที่พึ่งสำหรับดิฉัน. ดิฉันเริ่มอธิษฐานตอนเช้าตรู่และอธิษฐานวันละหลายครั้ง. การอธิษฐานทำให้ดิฉันมีกำลังและช่วยไม่ให้กระวนกระวายจนเกินไป.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7.
ฟรีดาถูกปล่อยตัว แต่ในปี 1944 หน่วยตำรวจเกสตาโปจับเธออีก. คราวนี้เธอถูกตัดสินจำคุกเจ็ดปีในคุกวัลด์ไฮม์. ฟรีดาเล่าต่อไปว่า “ผู้คุมได้จัดให้ดิฉันทำงานกับผู้หญิงอื่นบางคนในห้องน้ำ. บ่อยครั้งดิฉันได้อยู่กับเพื่อนนักโทษคนหนึ่งจากเชโกสโลวะเกีย ดังนั้น ดิฉันจึงพูดคุยกับเธอมากมายในเรื่องพระยะโฮวาและความเชื่อของดิฉัน. การสนทนาเช่นนั้นทำให้ดิฉันเข้มแข็งอยู่ต่อไป.”
ถูกปล่อยตัวแต่ก็ไม่นาน
กองทัพโซเวียตได้ทำการปลดปล่อยนักโทษที่คุกวัลด์ไฮม์ในเดือนพฤษภาคม 1945 และฟรีดาถูกปล่อยตัวกลับเมืองมักเดบูร์กและกลับไปทำงานเผยแพร่อย่างเปิดเผย แต่ก็ทำได้ไม่นาน. พวกพยานฯ กลายเป็นเป้าสำหรับการเลือกที่รักมักที่ชังอีกครั้ง คราวนี้โดยพวกผู้มีอำนาจในเขตยึดครองของโซเวียต. เกรัลท์ ฮัคเคแห่งสถาบันฮันนาห์-อะเรนต์เพื่อการวิจัยระบอบการปกครองแบบเผด็จการเขียนว่า “พยานพระยะโฮวาเป็นหนึ่งในกลุ่มทางสังคมไม่
กี่กลุ่มที่ถูกข่มเหงแทบจะไม่หยุดหย่อนจากระบอบเผด็จการทั้งสองแบบในเยอรมนี.”ทำไมจึงเกิดการเลือกที่รักมักที่ชังขึ้นมาอีก? อีกครั้งหนึ่ง ประเด็นสำคัญคือความเป็นกลางแบบคริสเตียน. ในปี 1948 เยอรมนีตะวันออกได้จัดให้มีการลงคะแนนเสียงของประชาชนโดยตรง และดังที่ฮัคเคชี้แจง “สาเหตุพื้นฐาน [ของการข่มเหงพยานพระยะโฮวา] คือการที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียงนั้น.” ในเดือนสิงหาคม 1950 พยานพระยะโฮวาถูกสั่งห้ามในเยอรมนีตะวันออก. หลายร้อยคนถูกจับกุม รวมทั้งฟรีดาด้วย.
ฟรีดากลับไปขึ้นศาลอีกและถูกตัดสินจำคุกหกปี. “คราวนี้ดิฉันอยู่กับเพื่อนร่วมความเชื่อ และการอยู่ร่วมกันเช่นนั้นช่วยได้มากจริง ๆ.” เมื่อถูกปล่อยตัวในปี 1956 เธอย้ายไปเยอรมนีตะวันตก. ปัจจุบันด้วยวัย 90 ปี ฟรีดาอยู่ในเมืองฮูซุม ยังคงรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้อยู่.
ฟรีดาประสบการข่มเหง 23 ปีภายใต้ระบอบเผด็จการสองแบบ. “พวกนาซีพยายามทำลายดิฉันทางกาย; พวกคอมมิวนิสต์พยายามทำลายน้ำใจดิฉัน. ดิฉันได้กำลังจากที่ไหน? นิสัยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ดีขณะมีเสรีภาพ, การอธิษฐานไม่ละลดตอนที่อยู่โดดเดี่ยว, การคบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมความเชื่อเมื่อไรก็ตามที่เป็นไปได้, และการแบ่งปันความเชื่อของดิฉันให้แก่คนอื่นในทุกโอกาส.”
ลัทธิฟาสซิสต์ในฮังการี
อีกประเทศหนึ่งที่พยานพระยะโฮวาได้อดทนการเลือกที่รักมักที่ชังมาเป็นเวลาหลายสิบปีก็คือฮังการี. บางคนได้ประสบการข่มเหงจากระบอบการปกครองแบบเผด็จการไม่ใช่สองแบบเท่านั้น แต่ถึงสามแบบ. ตัวอย่างหนึ่งคืออาดัม ซิงเงอร์. อาดัมเกิดในเมืองปาคช์ ฮังการี เมื่อปี 1922 และได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้เป็นโปรเตสแตนต์. ในปี 1937 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลบางคนได้มาเยี่ยมบ้านของอาดัม และเขาแสดงความสนใจในข่าวสารของพวกเขาทันที. สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิลทำให้เขามั่นใจว่าคำสอนของคริสตจักรที่เขาสังกัดอยู่ไม่ได้สอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น เขาจึงลาออกจากคริสตจักรโปรเตสแตนต์แล้วเข้าร่วมกับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในงานเผยแพร่แก่สาธารณชน.
ลัทธิฟาสซิสต์มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในฮังการี. หลายครั้งพวกตำรวจจับตามองอาดัมขณะเผยแพร่ตามบ้านแล้วจับตัวเขามาสอบปากคำ. ความกดดันต่อพวกพยานฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น และในปี 1939 กิจการงานของพวกเขาถูกสั่งห้าม. ในปี 1942 อาดัมถูกจับกุม, ถูกจำคุก, แล้วถูกตีอย่างรุนแรง. อะไรได้ช่วยเขาตอนอายุ 19 ปีให้อดทนความทุกข์และการอยู่ในคุกหลายเดือน? “ขณะยังอยู่ที่บ้าน ผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างถี่ถ้วนและได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา.” กว่าที่อาดัมจะได้รับบัพติสมาเป็นพยานของพระยะโฮวาในที่สุด ก็หลังจากถูกปล่อยตัวออกจากคุกแล้ว. เขารับบัพติสมาท่ามกลางความมืดยามราตรีในเดือนสิงหาคม 1942 ในแม่น้ำที่อยู่ใกล้บ้านของเขา.
คุกในฮังการี ค่ายแรงงานในเซอร์เบีย
ช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ฮังการีได้เข้าร่วมกับเยอรมนีในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต และในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1942 อาดัมถูกเกณฑ์ให้รับราชการทหาร. เขารายงานว่า “ผมกล่าวว่าผมไม่สามารถรับราชการในกองทัพได้เนื่องจากสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล. ผมอธิบายฐานะที่เป็นกลางของผม.” เขาถูกตัดสินจำคุก 11 ปี. แต่อาดัมอยู่ในฮังการีไม่นาน.
ในปี 1943 พยานพระยะโฮวาราว ๆ 160 คนถูกพามารวมกันแล้วบรรทุกเรือล่องไปตามแม่น้ำดานูบถึงเซอร์เบีย. อาดัมเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น. ในเซอร์เบียนักโทษเหล่านี้มาอยู่ใต้การควบคุมของฮิตเลอร์แห่งจักรวรรดิไรช์ที่สาม. พวกเขาถูกกักตัวอยู่ในค่ายแรงงานที่เมืองบอร์แล้วถูกบังคับให้ทำงานในเหมืองทองแดง. ประมาณหนึ่งปีต่อมา พวกเขาถูกส่งกลับไปฮังการี ที่นั่นอาดัมได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพโซเวียตในฤดูใบไม้ผลิปี 1945.
ฮังการีภายใต้อำนาจควบคุมของคอมมิวนิสต์
แต่เสรีภาพมีอยู่ไม่นาน. พอถึงปลายทศวรรษ 1940 ผู้มีอำนาจฝ่ายคอมมิวนิสต์ในฮังการีได้จำกัดกิจการงานของพยานพระยะโฮวา เช่นเดียวกับที่พวกฟาสซิสต์ได้ทำก่อนสงคราม. ในปี 1952 อาดัมซึ่งตอนนั้นอายุ 29 ปี แต่งงานแล้วพร้อมกับมีบุตรสองคน ได้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหา
ว่ามีความผิดเมื่อเขาปฏิเสธการรับราชการทหารอีกครั้งหนึ่ง. อาดัมชี้แจงต่อศาลว่า “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมปฏิเสธการรับราชการทหาร. ระหว่างช่วงสงคราม ผมถูกจำคุกและถูกเนรเทศไปเซอร์เบียเนื่องด้วยเหตุผลเดียวกัน. ผมปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับกองทัพเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบของผม. ผมเป็นพยานของพระยะโฮวา และผมเป็นกลางทางการเมือง.” อาดัมถูกตัดสินจำคุกแปดปี ภายหลังถูกลดโทษเหลือสี่ปี.อาดัมยังคงประสบการเลือกที่รักมักที่ชังต่อไปจนกระทั่งกลางทศวรรษ 1970 เป็นเวลามากกว่า 35 ปีหลังจากนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมาเยี่ยมที่บ้านบิดามารดาของเขาครั้งแรก. ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวนี้ หกศาลได้ตัดสินให้กักขังเขารวม 23 ปี ถูกจำขังในคุกและในค่ายต่าง ๆ อย่างน้อยสิบแห่ง. เขาอดทนการข่มเหงอย่างต่อเนื่องภายใต้การปกครองสามแบบ คือระบอบฟาสซิสต์ในฮังการีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง, ระบอบสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันในเซอร์เบีย, และระบอบคอมมิวนิสต์ในฮังการีระหว่างช่วงสงครามเย็น.
อาดัมยังอยู่ในบ้านเกิดของเขาที่เมืองปาคช์ รับใช้พระเจ้าอย่างภักดี. เขามีความเก่งกาจเป็นพิเศษไหมซึ่งทำให้เขาสามารถอดทนความยากลำบากอย่างมีชัยเช่นนั้น? เปล่าเลย. เขาชี้แจงดังนี้:
“การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, การอธิษฐาน, และการคบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง. แต่ผมอยากจะเน้นอีกสองสิ่ง. ประการแรกคือ พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งกำลัง. สัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์เป็นเหมือนเชือกชูชีพสำหรับผม. และประการที่สอง ผมระลึกถึงโรมบท 12 เสมอซึ่งบอกว่า ‘อย่าทำการแก้แค้น.’ ดังนั้น ผมไม่เคยอาฆาตแค้น. หลายครั้งผมมีโอกาสที่จะแก้แค้นคนเหล่านั้นที่ได้ข่มเหงผม แต่ผมก็ไม่เคยทำ. เราไม่ควรใช้กำลังที่พระยะโฮวาประทานให้เราในการตอบแทนการชั่วด้วยการชั่ว.”
อวสานสำหรับการข่มเหงทั้งสิ้น
ปัจจุบันฟรีดากับอาดัมสามารถนมัสการพระยะโฮวาได้โดยปราศจากการขัดขวาง. แต่ประสบการณ์ดังกล่าวของคนทั้งสองเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับการข่มเหงทางศาสนา? การข่มเหงเช่นนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างน้อยเมื่อข่มเหงคริสเตียนแท้. ถึงแม้การข่มเหงพยานพระยะโฮวาทำให้สูญเสียทรัพยากรไปมากมายและก่อความทุกข์ทรมานที่ทารุณก็ตาม การข่มเหงนั้นไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์. ปัจจุบัน พยานพระยะโฮวากำลังเฟื่องฟูอยู่ในยุโรปซึ่งระบอบเผด็จการสองแบบที่ยิ่งใหญ่เคยปกครองอยู่.
พวกพยานฯ แสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการข่มเหง? ดังที่เรื่องราวของฟรีดาและอาดัมแสดงให้เห็น คนทั้งสองเอาคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ที่ว่า “อย่าให้ความชั่วมีชัยแก่ตัว แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:21, ล.ม.) ความดีสามารถเอาชนะความชั่วได้จริง ๆ ไหม? ใช่แล้ว เมื่อความดีนั้นเกิดจากความเชื่ออย่างมั่นคงในพระเจ้า. ชัยชนะของพยานพระยะโฮวาเหนือการข่มเหงในยุโรปเป็นชัยชนะแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า เป็นการพิสูจน์ให้เห็นพลังในทางดีที่เป็นผลมาจากความเชื่อซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อขึ้นในตัวคริสเตียนที่มีใจถ่อม. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ในโลกทุกวันนี้ที่เต็มด้วยความรุนแรง นั่นเป็นบทเรียนที่ทุกคนสามารถคำนึงถึงอย่างจริงจัง.
[ภาพหน้า 5]
ฟรีดา เยสส์ (ปัจจุบันคือ ทีเล) ตอนที่ถูกจับกุมและในปัจจุบัน
[ภาพหน้า 7]
อาดัม ซิงเงอร์ตอนที่ถูกจำคุกและในปัจจุบัน