คุณจะพบค่านิยมแท้ทางศาสนาได้ที่ไหน?
คุณจะพบค่านิยมแท้ทางศาสนาได้ที่ไหน?
“หากคุณจะปฏิบัติตามศาสนาเพียงเพราะเป็นประเพณีของครอบครัวแล้ว ทำไมไม่เลือกศาสนาของชาวเคลต์ที่บรรพบุรุษของเราได้ถือกันเมื่อ 2,000 ปีที่แล้วล่ะ?” โรดอล์ฟถามเชิงเย้ยหยัน. ความคิดเห็นเช่นนั้นทำให้ผู้ฟังที่เป็นหนุ่มสาวยิ้มออกมา.
โรดอล์ฟอธิบายว่า “สัมพันธภาพของผมกับพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผม. ผมคัดค้านเด็ดขาดต่อความคิดที่ว่าผมต้องยอมรับเอาความเชื่อทางศาสนาเนื่องจากมีการถือสืบต่อกันมา เพียงเพราะสมาชิกในครอบครัวผมซึ่งมีชีวิตอยู่หลายสิบปีหรือกระทั่งหลายร้อยปีมาแล้วนั้นนับถือศาสนานั้น.” โรดอล์ฟประเมินเรื่องอย่างถี่ถ้วน เขามิได้ถือว่าเรื่องสำคัญเช่นนี้เป็นเพียงสิ่งที่เขาได้รับสืบทอดมา.
ถึงแม้การถ่ายทอดศาสนาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งกำลังลดลงในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ก็ยังคงผูกพันอยู่กับศาสนาประจำครอบครัวของตน. แต่เป็นการถูกต้องเสมอไปไหมที่จะยึดมั่นอยู่กับค่านิยมทางศาสนาของบิดามารดา? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร?
หลังจาก 40 ปีในทะเลทราย ยะโฮซูอะผู้สืบตำแหน่งต่อจากโมเซ ได้ตั้งทางเลือกไว้ต่อหน้าชาวอิสราเอลดังนี้: “ถ้าไม่พอใจปฏิบัติพระยะโฮวา, ในวันนี้ก็ให้เลือกหาว่าจะปฏิบัติผู้ใด; จะปฏิบัติพระซึ่งบิดา [“บรรพบุรุษ,” ล.ม.] ของท่านได้ปฏิบัติข้างแม่น้ำฟากข้างโน้นหรือพระของชาติอะโมรี, ในแผ่นดินซึ่งท่านอาศัยอยู่เดี๋ยวนี้: แต่ฝ่ายเราทั้งครอบครัวจะปฏิบัติพระยะโฮวา.”—ยะโฮซูอะ 24:15.
บรรพบุรุษคนหนึ่งที่ยะโฮซูอะกล่าวถึงคือเธรา บิดาของอับราฮาม ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในเมืองอูระ ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรทิส. คัมภีร์ไบเบิลมิได้เปิดเผยเกี่ยวกับเธรามากนัก นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าเขานมัสการพระอื่น. (ยะโฮซูอะ 24:2) อับราฮามบุตรชายของเขา ถึงแม้มีความรู้ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า ก็เต็มใจที่จะออกจากบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อพระยะโฮวาทรงบัญชาท่านให้ทำเช่นนั้น. ถูกแล้ว อับราฮามเลือกศาสนาที่ต่างจากบิดาของท่าน. เนื่องจากอับราฮามทำเช่นนี้ ท่านจึงได้รับบำเหน็จที่พระเจ้าทรงสัญญากับท่าน และท่านได้กลายเป็นบุคคลที่หลายศาสนายอมรับในฐานะ “บิดาของคนทั้งปวงที่เชื่อ [“ในพระเจ้า,” ฉบับแปล ทูเดส์ อิงลิช].”—โรม 4:11.
คัมภีร์ไบเบิลยังเล่าในแง่ที่ชื่นชมเกี่ยวกับเรื่องของรูธซึ่งเป็นบรรพสตรีของพระเยซูคริสต์. รูธหญิงชาวโมอาบที่ได้แต่งงานกับชาวอิสราเอล กลายเป็นแม่ม่ายและเผชิญกับทางเลือกคือ อยู่ในประเทศของตนเองต่อไป หรือไม่ก็กลับไปอิสราเอลพร้อมกับแม่สามีของเธอ. เนื่องจากยอมรับคุณค่าที่เหนือกว่าของการนมัสการพระยะโฮวาเมื่อเทียบกับการนมัสการรูปเคารพที่บิดามารดาของเธอได้ปฏิบัตินั้น รูธยืนยันกับแม่สามีว่า “ญาติพี่น้องของแม่, จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย.”—ประวัตินางรูธ 1:16, 17.
ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับความหมายของ
บันทึกเรื่องนี้ในสารบบของคัมภีร์ไบเบิล ดิกซิยอนแนร์ เดอ ลา บีเบลอ อธิบายว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็น “วิธีที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเกิดในต่างประเทศ เกิดมาในท่ามกลางชนนอกรีตซึ่งเป็นศัตรูและได้รับความเกลียดชังจากชาติอิสราเอล . . . ได้กลายมาเป็นบรรพสตรีของกษัตริย์ดาวิดผู้บริสุทธิ์โดยการจัดเตรียมของพระเจ้าทีเดียว เนื่องจากความรักที่เธอมีต่อชนชาติของพระยะโฮวาและต่อการนมัสการพระองค์.” รูธไม่ลังเลที่จะเลือกศาสนาซึ่งต่างไปจากบิดามารดาของเธอ และผลจากการตัดสินใจเช่นนั้น เธอจึงได้รับพระพรจากพระเจ้า.เรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มต้นของศาสนาคริสเตียนแสดงเหตุผลชัดเจนยิ่งขึ้นที่เหล่าสาวกของพระเยซูได้ละทิ้งศาสนาแห่งบรรพบุรุษของตน. ในคำบรรยายที่โน้มน้าวใจยิ่ง อัครสาวกเปโตรได้เชิญชวนผู้ฟังให้ “เอาตัวรอดจากคนชาติทุจจริตนี้เถิด” โดยกลับใจจากบาปของตนและรับบัพติสมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์. (กิจการ 2:37-41) ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดคือเซาโล ชาวยิวผู้ข่มเหงคริสเตียน. ขณะเดินทางไปเมืองดามัสกัส (ดาเมเซ็ก) เขาเห็นนิมิตเกี่ยวกับพระคริสต์ หลังจากนั้นเซาโลได้เข้ามาเป็นคริสเตียนและเป็นที่รู้จักฐานะอัครสาวกเปาโล.—กิจการ 9:1-9.
คริสเตียนในยุคแรกส่วนใหญ่ไม่ได้มีประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นเช่นนั้น. ถึงกระนั้น ทุกคนต้องละทิ้งถ้าไม่ศาสนายิวก็การนมัสการพระนอกรีตต่าง ๆ. คนเหล่านั้นที่ยอมรับศาสนาคริสเตียนได้ทำเช่นนั้นด้วยความรู้อย่างครบถ้วนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ บ่อยครั้งหลังจากที่ได้มีการพิจารณากันยาวนานเกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูในฐานะพระมาซีฮา. (กิจการ 8:26-40; 13:16-43; 17:22-34) คริสเตียนในยุคแรกเหล่านั้นมีความรู้อย่างแจ่มแจ้งเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะทำการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตน. มีการเสนอคำเชิญแก่ทุกคน ทั้งชาวยิวและคนที่ไม่ใช่ยิว แต่ข่าวสารยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน. เพื่อจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย จำเป็นต้องปฏิบัติตามการนมัสการรูปแบบใหม่ นั่นคือศาสนาคริสเตียน.
การเลือกที่เหมาะสำหรับเรา
เป็นเรื่องแน่นอนที่สุดว่าในศตวรรษแรกต้องมีความกล้าหาญที่จะปฏิเสธประเพณีศาสนาของครอบครัว เช่น ศาสนายิว, การนมัสการจักรพรรดิ, หรือไม่ก็การนมัสการเทพเจ้านอกรีต, และที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มศาสนาที่ได้รับการเยาะเย้ยจากทั้งชาวยิวและชาวโรมัน. ไม่นานการเลือกเช่นนี้นำไปสู่การข่มเหงอย่างรุนแรง. ทุกวันนี้ต้องมีความกล้าหาญคล้ายกันนั้นที่จะปฏิเสธ “การยอมให้ตัวเองถูกดูดเข้าไปและหมกมุ่นในบรรยากาศของการคล้อยตามที่แผ่ไปทั่ว” ดังที่อีปอลีต ซีมอง บิชอปคาทอลิกแห่งเมืองเคลอมองต์-เฟอรัง กล่าวในหนังสือเว อุน ฟรองซ์ ปาเอียน? (การทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นพวกนอกรีตหรือ?) ต้องมีความกล้าหาญที่จะเข้ามาร่วมกับพยานพระยะโฮวา ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนาที่มีคนจำนวนน้อยซึ่งบางครั้งได้รับการติเตียน.
พอล ชายหนุ่มจากเมืองบาสเทีย เกาะคอร์ซิกา ซึ่งได้รับการเลี้ยงดูมาในศาสนาคาทอลิก มีส่วนร่วมในกิจกรรมของโบสถ์เป็นครั้งคราว เช่น การขายขนมเค้กเพื่อรวบรวมเงินทุนสำหรับองค์การการกุศลของคาทอลิก. เนื่องจากต้องการมีความเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้น เขาตกลงที่จะพิจารณากับพยานพระยะโฮวาเป็นประจำ. เมื่อเวลาผ่านไป เขาตระหนักว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้นั้นคงจะนำผลประโยชน์ถาวรมาให้ตัวเอง. ฉะนั้น พอลยอมรับอย่างเต็มที่ในคุณค่าของคัมภีร์ไบเบิลและเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา. บิดามารดานับถือการเลือกของเขา ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในครอบครัวของเขา.
อเมลีอยู่ในภาคใต้ของฝรั่งเศส. สมาชิกในครอบครัวเธอเป็นพยานพระยะโฮวามาสี่ชั่วอายุ. เพราะเหตุใดเธอจึงเลือกที่จะยอมรับค่านิยมทางศาสนาของบิดามารดา? เธออธิบายว่า “คนเราไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาเพราะพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเป็นพยานฯ. แต่สัก
วันหนึ่ง คุณจะบอกตัวเองว่า ‘นี่เป็นศาสนาของฉันเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อมั่นของฉัน.’” เช่นเดียวกับหนุ่มสาวพยานพระยะโฮวาอีกหลายคน อเมลีทราบว่าความเชื่อทางศาสนาที่มั่นคงของเธอทำให้เธอมีจุดมุ่งหมายในชีวิตและเป็นแหล่งแห่งความสุขถาวร.เหตุผลที่ยอมรับค่านิยมของพระเจ้า
พระธรรมสุภาษิตบท 6 ข้อ 20 สนับสนุนคนเหล่านั้นที่ต้องการทำให้พระเจ้าพอพระทัยว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย จงรักษาบัญญัติแห่งบิดาของเจ้าไว้, และอย่าลืมโอวาทแห่งมารดาของเจ้า.” แทนที่จะเสนอแนะการเชื่อฟังอย่างเด็ดขาด คำแนะนำดังกล่าวกระตุ้นเตือนหนุ่มสาวให้ยอมรับมาตรฐานของพระเจ้าโดยการทำให้ความเชื่อของเขาลึกซึ้งยิ่งขึ้นและโดยการยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระเจ้าด้วยตนเอง. อัครสาวกเปาโลเชิญมิตรสหายของท่านที่จะ “ทำให้แน่ใจในทุกสิ่ง” เพื่อตรวจสอบดูว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับการสอนมานั้นสอดคล้องกับพระคำของพระเจ้าและพระทัยประสงค์ของพระองค์หรือไม่ และให้ปฏิบัติตามนั้น.—1 เธซะโลนิเก 5:21, ล.ม.
ไม่ว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาในครอบครัวคริสเตียนหรือไม่ก็ตาม พยานพระยะโฮวามากกว่าหกล้านคน ทั้งหนุ่มสาวและคนสูงอายุ ได้ทำการตัดสินใจดังกล่าว. โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างถี่ถ้วน พวกเขาพบคำตอบที่เชื่อถือได้สำหรับคำถามในเรื่องจุดมุ่งหมายของชีวิตและได้รับความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ. เมื่อได้รับความรู้นี้ พวกเขายอมรับค่านิยมของพระเจ้าและพยายามสุดความสามารถที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.
ไม่ว่าคุณอ่านวารสารนี้เป็นประจำหรือไม่ก็ตาม ก็ลองรับข้อเสนอของพยานพระยะโฮวาดูสิที่จะช่วยคุณค้นดูในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะตรวจสอบค่านิยมด้านศาสนาของพระคัมภีร์. โดยวิธีนี้ คุณจะสามารถ “ชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ” และได้รับความรู้ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติแล้ว จะนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.—บทเพลงสรรเสริญ 34:8; โยฮัน 17:3.
[ภาพหน้า 5]
สี่ชั่วอายุของครอบครัวหนึ่งที่เป็นพยานพระยะโฮวาในฝรั่งเศส
[ภาพหน้า 7]
รูธเลือกที่จะรับใช้พระยะโฮวาแทนพระซึ่งบรรพบุรุษของเธอนับถือ