ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ค่านิยมทางศาสนากำลังมุ่งไปในทิศทางใด?

ค่านิยมทางศาสนากำลังมุ่งไปในทิศทางใด?

ค่า​นิยม​ทาง​ศาสนา​กำลัง​มุ่ง​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​ใด?

“หนุ่ม​สาว​สิบ​ห้า​คู่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ภาค​ค่ำ [ของ​คาทอลิก] ที่​มี​การ​ให้​คำ​แนะ​นำ​แก่​ผู้​ที่​มี​โครงการ​จะ​แต่งงาน. จาก 30 คน​ที่​เข้า​ร่วม มี​เพียง 3 คน​เท่า​นั้น​ที่​อ้าง​ว่า​มี​ความ​เชื่อ.”—ลา ครัวซ์ หนังสือ​พิมพ์​ราย​วัน​ภาษา​ฝรั่งเศส​ของ​คาทอลิก.

ค่า​นิยม​ทาง​ศาสนา​อยู่​ใน​ภาวะ​วิกฤติ. บน​ปก​หน้า​ของ​นิตยสาร​นิวส์วีก ฉบับ​นานา​ชาติ 12 กรกฎาคม 1999 มี​คำ​ถาม​ว่า “พระเจ้า​สิ้น​พระ​ชนม์​แล้ว​หรือ?” สำหรับ​ยุโรป​ตะวัน​ตก คำ​ตอบ​ของ​นิตยสาร​นี้​ดู​เหมือน​เป็น​เช่น​นั้น​แน่นอน. เมื่อ​รายงาน​เกี่ยว​กับ​การ​ประชุม​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก​ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ใน​กรุง​โรม​เดือน​ตุลาคม​ปี​เดียว​กัน​นั้น หนังสือ​พิมพ์​ฝรั่งเศส​เลอ มงด์ ได้​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า “คริสตจักร​พบ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที​เดียว​ที่​จะ​ถ่ายทอด​ข่าวสาร​ของ​คริสตจักร​ใน​วัฒนธรรม​ซึ่ง​ได้​กลาย​เป็น​ที่ ‘รังเกียจ’ สำหรับ​คริสตจักร. . . . ใน​อิตาลี ไม่​ใช่​ชาว​คาทอลิก​ทุก​คน​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ใน​เรื่อง​คำ​สอน​และ​กิจ​ปฏิบัติ​อีก​ต่อ​ไป. . . . ใน​เยอรมนี ข้อ​พิพาท​เกี่ยว​กับ​ศูนย์​ให้​คำ​แนะ​นำ​ปรึกษา​เรื่อง​การ​ทำ​แท้ง​กำลัง​ขยาย​ช่อง​ว่าง​ระหว่าง​โปป​กับ​ระบอบ​ประชาธิปไตย​ซึ่ง​ไม่​เต็ม​ใจ​ยอม​รับ​ความ​เห็น​แบบ​เผด็จการ​อีก​ต่อ​ไป. ผู้​สังเกตการณ์​บาง​คน​ลง​ความ​เห็น​ไป​เลย​ว่า จุด​ยืน​ที่​อาจ​หาญ [ของ​เนเธอร์แลนด์] ใน​เรื่อง​ศีลธรรม​และ​การ​ทำ​ให้​คน​ป่วย​ตาย​อย่าง​สงบ​นั้น เป็น​ผล​จาก​การ​ที่​ประเทศ​นั้น​เลิก​เป็น​คริสเตียน​อย่าง​ทันที​ทันใด.”

ใน​ที่​อื่น​สถานการณ์​แทบ​จะ​ไม่​ต่าง​กัน​เลย. ใน​ปี 1999 จอร์จ แครีย์ อาร์ชบิชอป​แห่ง​แคนเทอร์เบอรี​ได้​เตือน​ว่า​คริสตจักร​แห่ง​อังกฤษ “จะ​สูญ​สิ้น​ไป​ใน​ชั่ว​อายุ​เดียว.” ใน​บทความ​ที่​มี​ชื่อ​ว่า “อวสาน​ของ​ยุโรป​ที่​เป็น​คริสเตียน” หนังสือ​พิมพ์​ฝรั่งเศส​เลอ ฟิกาโร กล่าว​ว่า “อาจ​พบ​เห็น​ตัว​อย่าง​แบบ​เดียว​กัน​ได้​ทุก​หน​แห่ง. . . . ผู้​คน​แสดง​ความ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​จุด​ยืน​ด้าน​หลัก​จรรยา​และ​ด้าน​คำ​สอน.”

การ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​ศาสนา​น้อย​ลง

ใน​ยุโรป จำนวน​ผู้​ไป​โบสถ์​ลด​ลง​อย่าง​ฮวบฮาบ. พวก​คาทอลิก​ชาว​ฝรั่งเศส​ไม่​ถึง 10 เปอร์เซ็นต์​เข้า​ร่วม​พิธี​มิสซา​ทุก​วัน​อาทิตย์ ขณะ​ที่​มี​เพียง 3 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์​ของ​ชาว​คาทอลิก​ที่​อยู่​ใน​นคร​ปารีส​ไป​โบสถ์​เป็นประจำ. มี​การ​สังเกต​ว่า​จำนวน​ผู้​เข้า​ร่วม​ใกล้​เคียง​กัน​หรือ​ต่ำ​กว่า​ด้วย​ซ้ำ​ใน​สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, และ​ประเทศ​แถบ​สแกนดิเนเวีย.

ที่​น่า​เป็น​ห่วง​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​ผู้​มี​อำนาจ​ทาง​ศาสนา​คือ​การ​ขาด​ผู้​สมัคร​เป็น​บาทหลวง. ไม่​ถึง​หนึ่ง​ศตวรรษ จำนวน​ของ​บาทหลวง​ใน​ฝรั่งเศส​ได้​ลด​ลง​อย่าง​ขนาน​ใหญ่ จาก​บาทหลวง 14 คน​ต่อ​ประชากร 10,000 คน​มา​เป็น​น้อย​กว่า 1 ต่อ 10,000 คน​ใน​ปัจจุบัน. ตลอด​ทั่ว​ยุโรป อายุ​โดย​เฉลี่ย​ของ​บาทหลวง​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ และ​การ​ขาด​แคลน​บาทหลวง​ก็​เป็น​เรื่อง​ที่​รู้สึก​ได้​แม้​แต่​ใน​ประเทศ​อย่าง​เช่น​ไอร์แลนด์​และ​เบลเยียม. ขณะ​เดียว​กัน จำนวน​เด็ก​ที่​สมัคร​ใน​ชั้น​เรียน​สอน​ศาสนา​กำลัง​ลด​น้อย​ลง ทำ​ให้​เกิด​ความ​สงสัย​ที่​น่า​เป็น​ห่วง​อย่าง​ยิ่ง​เกี่ยว​กับ​ความ​สามารถ​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก​ที่​จะ​รับประกัน​การ​ฟื้น​คืน​สภาพ​เดิม.

ดู​เหมือน​ว่า​ผู้​คน​หมด​ความ​มั่น​ใจ​ใน​เรื่อง​ศาสนา. มี​เพียง 6 เปอร์เซ็นต์​ของ​คน​ฝรั่งเศส​ที่​เชื่อ​ว่า “จะ​พบ​ความ​จริง​ได้​ใน​ศาสนา​เดียว​เท่า​นั้น” เมื่อ​เทียบ​กับ 15 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปี 1981 และ 50 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปี 1952. ความ​ไม่​แยแส​ทาง​ศาสนา​กำลัง​แพร่​หลาย. อัตรา​ส่วน​ของ​คน​ที่​บอก​ว่า​เขา​ไม่​เป็น​สมาชิก​ของ​ศาสนา​ใด​ได้​เพิ่ม​จาก 26 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปี 1980 มา​เป็น 42 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปี 2000.—เล วาเลอร์ เด ฟรอง​เซ—เอ​โว​ลูซี​ยอง เดอ 1980 อา 2000 (ค่า​นิยม​ของ​ฝรั่งเศส—พัฒนาการ​ตั้ง​แต่​ปี 1980 ถึง​ปี 2000).

การ​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​ขนาน​ใหญ่​ใน​ค่า​นิยม​ด้าน​ศีลธรรม

วิกฤติ​ใน​ด้าน​ค่า​นิยม​ยัง​ปรากฏ​ชัด​ใน​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​ศีลธรรม​ด้วย. ดัง​ที่​กล่าว​ตอน​ต้น ผู้​ไป​โบสถ์​หลาย​คน​ไม่​ยอม​รับ​ข้อ​กำหนด​ทาง​ด้าน​ศีลธรรม​ของ​คริสตจักร​ที่​พวก​เขา​สังกัด​อยู่. พวก​เขา​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​ความ​คิด​ที่​ว่า​ผู้​นำ​ศาสนา​มี​สิทธิ์​ที่​จะ​ตั้ง​มาตรฐาน​เกี่ยว​กับ​ความ​ประพฤติ. คน​กลุ่ม​เดียว​กัน​ที่​แสดง​ความ​เห็น​ชอบ​ใน​จุด​ยืน​ของ​โปป​ว่า​ด้วย​สิทธิ​มนุษยชน​ก็​ได้​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​เมื่อ​คำ​พูด​ของ​โปป​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ชีวิต​ส่วน​ตัว​ของ​พวก​เขา. ตัว​อย่าง​เช่น จุด​ยืน​ของ​โปป​ใน​เรื่อง​การ​คุม​กำเนิด​ได้​ถูก​ละเลย​อย่าง​กว้างขวาง แม้​แต่​โดย​คู่​สมรส​ชาว​คาทอลิก​หลาย​คู่​ด้วย​ซ้ำ.

เจตคติ​เช่น​นี้​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​คน​ที่​เคร่ง​ศาสนา​และ​คน​ที่​ไม่​เคร่ง​ศาสนา​เหมือน​กัน ใน​ทุก​ระดับ​ชั้น​ของ​สังคม. มี​การ​โอน​อ่อน​ให้​กับ​กิจ​ปฏิบัติ​ที่​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ตำหนิ​อย่าง​ชัด​แจ้ง. ยี่​สิบ​ปี​มา​แล้ว พลเมือง​ฝรั่งเศส​ราว ๆ 45 เปอร์เซ็นต์​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​การ​รัก​ร่วม​เพศ. ปัจจุบัน 80 เปอร์เซ็นต์​ถือ​ว่า​กิจ​ปฏิบัติ​ดัง​กล่าว​เป็น​ที่​ยอม​รับ. ถึง​แม้​คน​ส่วน​ใหญ่​เห็น​ชอบ​กับ​ความ​ซื่อ​สัตย์​ใน​ชีวิต​สมรส​ก็​ตาม มี​เพียง 36 เปอร์เซ็นต์​ที่​ตำหนิ​สัมพันธ์​สวาท​นอก​สาย​สมรส​ว่า​เป็น​เรื่อง​ไม่​ชอบ​ด้วย​เหตุ​ผล​เลย.—โรม 1:26, 27; 1 โกรินโธ 6:9, 10; เฮ็บราย 13:4.

การ​ปนเป​กัน​ทาง​ศาสนา

ใน​สังคม​ตะวัน​ตก ศาสนา​คุณ​เลือก​เอง​กำลัง​พัฒนา​ขึ้น​มา​ซึ่ง​ทุก​คน​อ้าง​สิทธิ์​ที่​จะ​เลือก​ความ​เชื่อ​ที่​ตน​ชอบ. คำ​สอน​บาง​อย่าง​เป็น​ที่​ยอม​รับ ขณะ​ที่​คำ​สอน​อื่น​ถูก​ปฏิเสธ. บาง​คน​เรียก​ตัว​เอง​เป็น​คริสเตียน​ใน​ขณะ​ที่​เชื่อ​ใน​เรื่อง​การ​กลับ​ชาติ และ​คน​อื่น​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​ติด​ตาม​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​หลาย​อย่าง​ใน​เวลา​เดียว​กัน. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4, 20; มัดธาย 7:21; เอเฟโซ 4:5, 6) หนังสือ​เล วาเลอร์ เด ฟรอง​เซ แสดง​อย่าง​ชัด​แจ้ง​ว่า​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​กำลัง​หลง​ไป​จาก​แนว​ทาง​ที่​คริสตจักร​ได้​ตั้ง​ขึ้น​โดย​ไม่​อาจ​หวน​กลับ​มา​ได้.

อย่าง​ไร​ก็​ดี แนว​โน้ม​ต่อ​ปัจเจก​นิยม​ทาง​ศาสนา​มาก​ขึ้น​ใช่​ว่า​ไม่​มี​อันตราย. ชอง เดอลูโม นัก​ประวัติศาสตร์​ทาง​ด้าน​ศาสนา​และ​สมาชิก​ของ​อองสตีตู เดอ ฟรองซ์ เชื่อ​มั่น​ว่า​ไม่​มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​ที่​คน​เรา​จะ​ตั้ง​ศาสนา​ของ​ตน​เอง​ขึ้น​โดย​ไม่​อาศัย​ระบบ​ใด ๆ ที่​ตั้ง​อย่าง​เป็น​ทาง​การ. “ความ​เชื่อ​ไม่​อาจ​อยู่​รอด​มา​ได้​หาก​ไม่​ได้​มี​รากฐาน​อยู่​ใน​กลุ่ม​ศาสนา​ใด​ศาสนา​หนึ่ง​ที่​มั่นคง.” ค่า​นิยม​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​กิจ​ปฏิบัติ​ทาง​ศาสนา​ต้อง​เป็น​ส่วน​ของ​การ​เชื่อม​ผนึก​กัน​เป็น​หนึ่ง​เดียว. จะ​พบ​การ​ประสาน​กัน​ดัง​กล่าว​ได้​ที่​ไหน​ใน​สังคม​ที่​ถูก​ทำลาย​เนื่อง​จาก​การ​เปลี่ยน​แปลง?

คัมภีร์​ไบเบิล​ตลอด​ทั้ง​เล่ม​เตือน​ให้​เรา​ระลึก​ว่า พระเจ้า​เป็น​ผู้​ที่​ทรง​ตั้ง​มาตรฐาน​เกี่ยว​กับ​ความ​ประพฤติ​และ​ศีลธรรม​อัน​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ได้ แม้​พระองค์​ทรง​ยอม​ให้​มนุษย์​มี​เสรีภาพ​ที่​จะ​ทำ​ตาม​มาตรฐาน​นั้น​หรือ​ไม่. หลาย​ล้าน​คน​ตลอด​ทั่ว​โลก​ยอม​รับ​ว่า​หนังสือ​ที่​ได้​รับ​ความ​นับถือ​มา​เป็น​เวลา​นาน​เล่ม​นี้​มี​คุณค่า​ที่​ใช้​ได้​จริง​ใน​ทุก​วัน​นี้​และ​เป็น ‘โคม​สำหรับ​เท้า และ​เป็น​แสง​สว่าง​ตาม​ทาง​ของ​พวก​เขา.’ (บทเพลง​สรรเสริญ 119:105) พวก​เขา​ได้​มา​ถึง​ข้อ​สรุป​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร? จะ​มี​การ​พิจารณา​เรื่อง​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.