ก่อนและหลังอดีตอันมืดมน, อนาคตอันสดใส
“จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย”
ก่อนและหลังอดีตอันมืดมน, อนาคตอันสดใส
“พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลังและคมกว่าดาบสองคม . . . ทั้งสามารถสังเกตเข้าใจความคิดและความมุ่งหมายแห่งหัวใจ.” (เฮ็บราย 4:12, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้เช่นนั้นเกี่ยวกับพลังที่เจาะลึกแห่งข่าวสารของพระเจ้า. สมรรถนะของพลังนั้นที่จะเข้าถึงหัวใจปรากฏชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. แม้จะมีอิทธิพลที่ไม่ดีในสมัยนั้น คนเหล่านั้นที่เข้ามาเป็นคริสเตียนได้สวมใส่บุคลิกภาพใหม่.—โรม 1:28, 29; โกโลซาย 3:8-10.
พลังที่ทำให้เปลี่ยนแปลงแห่งพระคำของพระเจ้า ดังที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลยังปรากฏชัดในทุกวันนี้ด้วย. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณากรณีของชายร่างสูงกำยำชื่อริชาร์ด. เนื่องจากเป็นคนอารมณ์ร้อน ริชาร์ดจะชกต่อยเมื่อถูกยั่วโมโหด้วยเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ. ชีวิตเขาได้รับความเสียหายเนื่องจากความรุนแรง. ริชาร์ดถึงกับเข้าสู่วงการมวย. เขาฝึกซ้อมอย่างหนักจนได้เป็นแชมป์รุ่นเฮฟวีเวตของเวสต์ฟาเลีย, เยอรมนี. ริชาร์ดยังดื่มจัดและมีเรื่องทะเลาะวิวาทบ่อย ๆ. ในคราวหนึ่งที่เกิดเรื่องแบบนั้น มีคนเสียชีวิต และริชาร์ดเกือบต้องติดคุก.
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับชีวิตสมรสของริชาร์ด? ริชาร์ดเล่าว่า “ก่อนที่ไฮเกกับผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เราต่างไปคนละทาง. ไฮเกใช้เวลาส่วนใหญ่กับเพื่อนสาวของเธอ ขณะที่ผมก็ใช้เวลาส่วนใหญ่สนุกกับงานอดิเรกของผม ส่วนใหญ่ได้แก่การชกมวย, การโต้คลื่น, และการดำน้ำ.”
เมื่อริชาร์ดกับไฮเกเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา ริชาร์ดติดอยู่กับความคิดที่ว่าต้องทำการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เพื่อให้ชีวิตของเขาประสานกับมาตรฐานอันสูงส่งที่กำหนดไว้ในพระคำของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี ขณะที่เขามารู้จักพระยะโฮวาพระเจ้าดีขึ้น ริชาร์ดได้พัฒนาความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้พระองค์พอพระทัย. ริชาร์ดตระหนักว่าพระเจ้าไม่พอพระทัยคนที่ชอบความรุนแรงหรือคนเหล่านั้นที่ใช้ความรุนแรงเพื่อความบันเทิง. ริชาร์ดได้เรียนรู้ว่า “คนใดที่ชอบความรุนแรงนั้น [พระยะโฮวา] ทรงเกลียดชังอย่างแน่นอน.”—บทเพลงสรรเสริญ 11:5, ล.ม.
นอกจากนี้ ความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลกตรึงใจทั้งริชาร์ดและไฮเก. ทั้งสองต้องการจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันที่นั่น! (ยะซายา 65:21-23) คำเชิญที่ว่า “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย” ทำให้ริชาร์ดซาบซึ้งตรึงใจอย่างยิ่ง. (ยาโกโบ 4:8, ล.ม.) เขามองเห็นคุณค่าของการเอาใจใส่ฟังคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้: “อย่าอิจฉาคนห้าว [“ที่ชอบความรุนแรง,” ล.ม.], และอย่าเลือกทางประพฤติของเขาไว้. เพราะผู้หลงผิดเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา; แต่ทรงเป็นมิตรกับคนตรง.”—สุภาษิต 3:31, 32.
ทั้ง ๆ ที่มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแนวทางความประพฤติ ริชาร์ดก็ตระหนักว่าเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยกำลังของตนเอง. เขาได้เห็นความจำเป็นที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าโดยการอธิษฐาน. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงปฏิบัติสอดคล้องกับถ้อยคำของพระเยซูที่ตรัสกับพวกอัครสาวกที่ว่า “จง . . . อธิษฐานอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อว่าท่านจะไม่ได้ตกสู่การล่อใจ. แน่ล่ะ ใจพร้อม แต่เนื้อหนังอ่อนแอ.”—มัดธาย 26:41, ล.ม.
หลังจากเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรต่อความรุนแรงและการบันดาลโทสะ ริชาร์ดแน่ใจว่าการชกมวยเป็นกีฬาที่ไม่เหมาะสม. โดยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาและ
การสนับสนุนจากคนเหล่านั้นที่ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขา ริชาร์ดได้เลิกเข้าไปพัวพันกับความรุนแรง. เขาเลิกชกมวยและเลิกทะเลาะวิวาทและตัดสินใจที่จะปรับปรุงชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น. ริชาร์ดซึ่งตอนนี้เป็นผู้ดูแลที่มีจิตใจอ่อนโยนในประชาคมหนึ่งของพยานพระยะโฮวากล่าวว่า “การเรียนรู้ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยผมให้หยุดคิดก่อนทำ.” เขากล่าวเสริมว่า “ตอนนี้หลักการเกี่ยวกับความรักและความนับถือชี้นำผมในความสัมพันธ์ระหว่างผมกับภรรยาและลูก ๆ. ผลก็คือ ครอบครัวของเราได้รับการชักนำให้มาอยู่ร่วมกัน.”บางครั้งประชาชนที่ได้รับข้อมูลมาผิด ๆ กล่าวหาพยานพระยะโฮวาว่าทำลายครอบครัว. อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของบุคคลเช่นริชาร์ดพิสูจน์ว่าคำกล่าวอ้างของพวกเขาไม่เป็นความจริง. ตามความเป็นจริงแล้ว ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลสามารถก่อผลเป็นครอบครัวที่มั่นคงและอนาคตอันสดใสสำหรับคนเหล่านั้นที่เคยมีอดีตอันมืดมน.—ยิระมะยา 29:11.
[คำโปรยหน้า 9]
“ความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลกกระตุ้นผมให้ทำการเปลี่ยนแปลง”
[กรอบหน้า 9]
หลักการในคัมภีร์ไบเบิลใช้ได้ผล
คัมภีร์ไบเบิลสามารถก่อผลกระทบอันทรงพลังในชีวิตของผู้คน. ต่อไปนี้เป็นหลักการของพระคัมภีร์บางข้อที่ได้ช่วยคนที่รุนแรงให้เปลี่ยนแปลง:
“คนที่อดโทโสได้ก็ดีกว่าคนที่มีกำลังแข็งแรง; คนที่ชนะใจของตนก็ดีกว่าคนที่ชนะตีเมืองได้.” (สุภาษิต 16:32) ความโกรธที่ไม่มีการควบคุมแสดงถึงความอ่อนแอ ไม่ใช่ความเข้มแข็ง.
“ความหยั่งเห็นของคนย่อมทำให้เขาช้าในการโกรธ.” (สุภาษิต 19:11, ล.ม.) การมีความหยั่งเห็นและความเข้าใจสภาพการณ์ช่วยคนเราให้มองลึกลงไปจากสาเหตุผิวเผินของการขัดแย้งกันและอาจป้องกันมิให้ด่วนบันดาลโทสะ.
‘อย่าคบเป็นมิตรกับคนเจ้าโทโส: เกรงว่าเจ้าจะประพฤติเอาอย่างเขา.’ (สุภาษิต 22:24, 25) ด้วยความฉลาดสุขุมคริสเตียนหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมกับคนเหล่านั้นที่ลุแก่โทสะง่าย.