ทาเชียน—นักแก้ต่างเพื่อความเชื่อหรือผู้ออกหาก?
ทาเชียน—นักแก้ต่างเพื่อความเชื่อหรือผู้ออกหาก?
เมื่อการเดินทางเผยแพร่ในต่างแดนรอบที่สามของอัครสาวกเปาโลใกล้เสร็จสิ้น ท่านได้เรียกประชุมพวกผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมในเอเฟโซส. ท่านบอกพวกเขาว่า “ข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า เมื่อข้าพเจ้าไปแล้ว ฝูงสุนัขป่าที่กดขี่จะเข้ามาปะปนในพวกท่าน และจะไม่ปฏิบัติต่อฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน และจากท่ามกลางพวกท่านจะมีบางคนตั้งตัวขึ้นพูดบิดเบือนชักนำเหล่าสาวกให้หลงตามเขาไป.”—กิจการ 20:29, 30, ล.ม.
เป็นจริงตามถ้อยคำของท่านเปาโล ศตวรรษที่สองเป็นเวลาที่มีทั้งการเปลี่ยนแปลงและการออกหากเกิดขึ้นดังที่ท่านบอกไว้ล่วงหน้า. ลัทธิไญยนิยม กลุ่มศาสนาและปรัชญาที่แพร่หลายซึ่งทำให้ความเชื่อของผู้เชื่อถือบางคนปนเปื้อนนั้นกำลังขยายตัว. พวกไญยนิยมเชื่อว่าสิ่งฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งดีและสิ่งฝ่ายวัตถุทั้งสิ้นล้วนชั่วร้าย. พวกเขาให้เหตุผลว่าเนื้อหนังทั้งสิ้นล้วนแต่ชั่ว จึงไม่ยอมสมรสและให้กำเนิดบุตร โดยอ้างว่าซาตานเป็นต้นกำเนิดของสิ่งเหล่านี้. พวกเขาบางคนเชื่อว่า เนื่องจากมีแต่สิ่งฝ่ายวิญญาณเท่านั้นที่ดี การที่มนุษย์จะทำอะไรกับกายเนื้อหนังของตนจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ. ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เกิดมีแบบชีวิตที่เลยเถิด ไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญพรตหรือการหมกมุ่นในกิเลสตัณหา. พวกไญยนิยมอ้างว่าความรอดมาจากความรู้เกี่ยวกับวิญญาณอันลี้ลับหรือการรู้แจ้งด้วยตนเองเท่านั้น ซึ่งตัดเรื่องความจริงในพระคำของพระเจ้าออกไปเลย.
พวกที่ประกาศตัวเป็นคริสเตียนตอบโต้การคุกคามจากลัทธิไญยนิยมอย่างไร? ผู้ทรงภูมิปัญญาบางคนพูดต่อต้านหลักคำสอนเท็จของลัทธินี้ ส่วนคนอื่น ๆ ยอมตามอิทธิพลของลัทธินี้. ตัวอย่างเช่น อีรีเนอุสได้เริ่มการต่อสู้ตลอดชีวิตกับคำสอนเท็จ. เขาได้รับการสอนจากโพลีคาร์ปผู้มีชีวิตในสมัยเดียวกับเหล่าอัครสาวกของพระเยซูคริสต์. โพลีคาร์ปแนะนำให้ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นกับคำสอนของพระเยซูคริสต์และคำสอนของเหล่าอัครสาวกของพระองค์. ฟลอรีนุสซึ่งเป็นเพื่อนของอีรีเนอุส แม้ได้รับการสอนจากโพลีคาร์ปเหมือนกัน แต่เขาก็ค่อย ๆ ยอมรับเอาคำสอนของวาเลนตินุส ผู้นำที่โดดเด่นที่สุดของพวกไญยนิยม. ยุคนั้นนับเป็นยุคที่สับสนวุ่นวายจริง ๆ.
สิ่งที่ให้ความสว่างแก่ความคิดทางศาสนาในยุคนั้นคืองานเขียนของทาเชียน นักเขียนที่โดดเด่นแห่งศตวรรษที่สอง. ทาเชียนเป็นคนแบบใด? เขามาเป็นคริสเตียนได้อย่างไร? และทาเชียนดำเนินการอย่างไรภายใต้อิทธิพลของพวกนอกรีตอย่างลัทธิไญยนิยม? คำตอบที่เร้าความสนใจและแบบอย่างของเขาเองให้บทเรียนทรงค่าสำหรับเหล่าผู้แสวงหาความจริงในสมัยนี้.
เมื่อได้พบ “หนังสือบางเล่มของต่างชาติ”
แต่เดิมทาเชียนเป็นชาวซีเรีย. การได้เดินทางไปในที่ต่าง ๆ มากมายหลายแห่งและการอ่านหนังสือมากทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจดีในเรื่องวัฒนธรรมของชาวกรีก-โรมัน
ในสมัยของเขา. ทาเชียนมายังโรมในฐานะผู้บรรยายเดินทาง. แต่ขณะที่เขาอยู่ในโรม เขาหันมาสนใจศาสนาคริสเตียน. เขาเริ่มติดตามจัสติน มาร์เทอร์ และก็คงได้เป็นศิษย์ของจัสติน.เมื่อเปิดเผยเรื่องที่เขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสเตียนในสมัยนั้น ทาเชียนอ้างว่า “ข้าพเจ้าเสาะหาวิธีที่ข้าพเจ้าจะค้นพบความจริงได้.” เมื่ออธิบายประสบการณ์ตอนที่เขาได้อ่านพระคัมภีร์ เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้พบหนังสือบางเล่มของต่างชาติ เป็นหนังสือที่เก่าเหลือเกินถ้าเทียบกับหนังสือของชาวกรีก และสูงส่งเหลือเกินถ้าเทียบกับข้อผิดพลาดของหนังสือของชาวกรีก; และข้าพเจ้ารู้สึกถูกโน้มน้าวให้เชื่อในหนังสือเหล่านี้เนื่องจากภาษาที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา, ความจริงใจของผู้เขียน, ความรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตที่มีแสดงไว้, คำสั่งสอนที่ดีเยี่ยม, และการประกาศเรื่องรัฐบาลแห่งเอกภพว่ามีศูนย์รวมอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า.”
ทาเชียนไม่รีรอที่จะเชิญผู้คนในสมัยนั้นให้ตรวจสอบศาสนาคริสเตียนที่เขารู้จักและสังเกตดูความเรียบง่ายและชัดเจนของศาสนานี้ซึ่งตรงข้ามกับความมืดมนของลัทธิที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า. เราอาจเรียนรู้อะไรได้จากหนังสือของทาเชียน?
หนังสือของทาเชียนเผยให้เห็นอะไร?
หนังสือของทาเชียนเผยให้เห็นว่าเขาเป็นนักแก้ต่าง คือเป็นนักเขียนที่พูดแก้ต่างเพื่อความเชื่อทางศาสนาของตน. เขามีท่าทีที่แข็งกร้าวและเป็นปฏิปักษ์กับปรัชญาของพวกนอกรีต. ในงานเขียนของเขาชื่อถ้อยคำถึงชาวกรีก ทาเชียนเน้นความไร้ค่าของลัทธินอกรีตและเน้นความมีเหตุผลของศาสนาคริสเตียนที่เขารู้จัก. เขามีลีลาการเขียนในแบบวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเหมือนที่เขาแสดงความรังเกียจต่อวิถีทางของชาวกรีก. ยกตัวอย่าง เมื่อพาดพิงถึงนักปรัชญาชื่อเฮราเคลทุส เขากล่าวว่า “ที่เฮราเคลทุสตายแสดงว่าเขาโง่เง่า; เพราะเมื่อเป็นโรคบวมน้ำ ทั้ง ๆ ที่เขาได้ศึกษาด้านการแพทย์และปรัชญา แต่เขากลับเอามูลวัวพอกตัว ซึ่งพอมันแข็งตัว มันก็ดึงเนื้อทั้งตัวเขาให้ตึง เขาจึงถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วก็ตาย.”
ทาเชียนยกย่องความเชื่อเรื่องพระเจ้าองค์เดียวผู้สร้างสรรพสิ่งอย่างสูงส่ง. (เฮ็บราย 3:4) ในหนังสือถ้อยคำถึงชาวกรีก เขากล่าวถึงพระเจ้าว่าเป็น “องค์วิญญาณ” และกล่าวว่า “พระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ที่ไม่มีการเริ่มต้นและพระองค์เองเป็นต้นกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง.” (โยฮัน 4:24, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 1:17) ในการปฏิเสธการใช้รูปเคารพในการนมัสการ ทาเชียนเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าจะพูดได้อย่างไรว่า ท่อนไม้และก้อนหินเป็นพระเจ้า?” (1 โกรินโธ 10:14) เขาเชื่อว่าพระคำ หรือโลโกส บังเกิดขึ้นเป็นผู้แรกแห่งราชกิจของพระบิดาในสวรรค์และจากนั้นจึงถูกใช้ในการสร้างสรรพวัตถุในเอกภพ. (โยฮัน 1:1-3; โกโลซาย 1:13-17) เกี่ยวกับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายตามเวลากำหนด ทาเชียนกล่าวว่า “เราเชื่อว่าจะมีการกลับเป็นขึ้นจากตายของกายทั้งหลายภายหลังอวสานของสรรพสิ่ง.” ในเรื่องสาเหตุที่คนเราตาย ทาเชียนเขียนว่า “เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้ตาย แต่เราตายเนื่องจากความผิดของเราเอง. เจตจำนงเสรีของเราเองที่ทำลายเรา; พวกเราซึ่งเคยเป็นอิสระได้กลายเป็นทาส; เราถูกขายไว้แล้วเนื่องจากบาป.”
คำอธิบายที่ทาเชียนให้ในเรื่องจิตวิญญาณนั้นสับสน. เขากล่าวว่า “ชาวกรีกเอ๋ย ตัวจิตวิญญาณเองไม่เป็นอมตะ แต่ต้องตาย. แต่ก็เป็นไปได้ที่จิตวิญญาณจะไม่ตาย. ที่จริงแล้ว ถ้าจิตวิญญาณไม่รู้ความจริง จิตวิญญาณก็ตาย และจิตวิญญาณสูญสลายไปพร้อมกับร่างกาย แต่ในที่สุดก็เป็นขึ้นมาอีกในตอนสิ้นสุดของโลกพร้อมกับร่างกาย โดยได้รับความตายเป็นการลงโทษตลอดกาล.” จริง ๆ แล้ว ทาเชียนกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ด้วยความหมายเช่นไรนั้นไม่เป็นที่กระจ่างชัด. อาจเป็นได้ไหมว่าขณะที่ทาเชียนยึดมั่นกับคำสอนบางข้อในคัมภีร์ไบเบิล เขาก็พยายามเอาใจคนสมัยเดียวกันไปด้วย และจึงเอาความจริงในพระคัมภีร์ไปปนเปกับปรัชญาต่าง ๆ ของพวกนอกรีต?
งานเขียนที่เด่นอีกชิ้นหนึ่งของทาเชียนคือ ดิอาเทสซาโรน หรือ ความกลมกลืนกันของกิตติคุณทั้งสี่. ทาเชียนเป็นคนแรกที่ทำให้ประชาคมต่าง ๆ ในซีเรียมีกิตติคุณในภาษาของชาวซีเรียเอง. งานเขียนนี้ได้รับความนับถืออย่างสูง ซึ่งรวมกิตติคุณทั้งสี่เล่มไว้ในคำอธิบายเดียว. คริสตจักรในซีเรียใช้หนังสือนี้สอน.
เป็นคริสเตียนหรือคนนอกรีต?
การตรวจสอบงานเขียนของทาเชียนอย่างถี่ถ้วนเผยให้เห็นว่าเขาคุ้นเคยกับพระธรรมต่าง ๆ ในพระคัมภีร์และให้ความเคารพนับถือพระธรรมเหล่านั้น. เขาเขียนเกี่ยวกับผลกระทบที่พระธรรมเหล่านั้นมีต่อเขาดังนี้: “ข้าพเจ้าไม่กระวนกระวายอยากจะร่ำรวย; ข้าพเจ้าไม่รับตำแหน่งนายทหาร; ข้าพเจ้าสะอิดสะเอียนการผิดประเวณี; ข้าพเจ้าไม่ถูกความกระหายจะมั่งคั่งที่ไม่อาจสนองได้มากระตุ้นให้เป็นกะลาสี; . . . ข้าพเจ้าไม่ถูกครอบงำด้วยความอยากมีชื่อเสียง . . . ทุกคนได้รับประโยชน์จากดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน และทุกคนต่างต้องตาย ไม่ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ด้วยความสำราญหรือด้วยความอัตคัดขัดสน.” ทาเชียนเตือนสติว่า “จงเลิกอยู่ใต้อำนาจโลก, เลิกเกี่ยวข้องกับการโฉดเขลาในโลก. จงมีชีวิตเพื่อพระเจ้า และด้วยความเข้าใจในพระองค์จงถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่าของท่านเสีย.”—มัดธาย 5:45; 1 โกรินโธ 6:18; 1 ติโมเธียว 6:10.
แต่ขอให้พิจารณาหนังสือของทาเชียนที่มีชื่อว่าความสมบูรณ์ตามหลักคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด. ในหนังสือนี้เขาหาว่าพญามารเป็นผู้ก่อตั้งการสมรส. ทาเชียนตำหนิการสมรสอย่างรุนแรงโดยอ้างว่า ด้วยการสมรส คนเราจะทำให้ตัวเองตกเป็นทาสของโลกที่อาจเสื่อมสูญไปได้.
ดูเหมือนว่าประมาณปี ส.ศ. 166 หลังจากจัสติน มาเทอร์เสียชีวิต ทาเชียนถ้าไม่ก่อตั้งก็เข้าร่วมกับนิกายพรตนิกายหนึ่งที่มีชื่อว่าเอนคราทิเทส. พวกที่ถือนิกายนี้ยึดมั่นหรือเน้นการควบคุมตัวเองและควบคุมร่างกายของตนอย่างเข้มงวด. พวกเขาบำเพ็ญพรตซึ่งต้องละเว้นจากเหล้าองุ่น, การสมรส, และทรัพย์สมบัติ.
บทเรียนที่ได้เรียนรู้
ทำไมทาเชียนจึงหันเหจากพระคัมภีร์ไปไกลถึงขนาดนั้น? เขากลายเป็น “ผู้ฟังที่หลงลืม” ไปแล้วหรือ? (ยาโกโบ 1:23-25, ล.ม.) ทาเชียนหักล้างเรื่องเท็จไม่ได้ จึงตกเป็นเหยื่อหลักปรัชญาของมนุษย์ไปแล้วไหม? (โกโลซาย 2:8; 1 ติโมเธียว 4:7) เนื่องจากเขาสนับสนุนเรื่องที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง อาจเป็นได้ไหมว่าเขาสติวิปลาสไประยะหนึ่ง?
ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเช่นไรก็ตาม งานเขียนและตัวอย่างของทาเชียนก็ให้ความกระจ่างแวบหนึ่งเกี่ยวกับบรรยากาศทางศาสนาในสมัยของเขา. สิ่งเหล่านั้นแสดงว่าอิทธิพลของปรัชญาฝ่ายโลกอาจก่อผลเสียหายได้มากเพียงไร. ขอให้เราเอาใจใส่คำเตือนของอัครสาวกเปาโลที่ให้หันหนี “เสียจากการพูดที่ไร้สาระซึ่งละเมิดสิ่งบริสุทธิ์และจากข้อขัดแย้งของสิ่งที่เรียกกันผิด ๆ ว่า ‘ความรู้.’”—1 ติโมเธียว 6:20, ล.ม.