เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา?
เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา?
“พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องคำสัญญาของพระองค์ . . . แต่พระองค์อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย เพราะพระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.”—2 เปโตร 3:9, ล.ม.
1, 2. (ก) พระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนในทุกวันนี้? (ข) เราอาจถามตัวเองเช่นไร?
ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้รับมอบหมายงาน “ทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19, ล.ม.) ขณะที่เราทำงานมอบหมายนี้และคอยท่า “วันใหญ่ของพระยะโฮวา” เราจำต้องมีทัศนะต่อผู้คนอย่างที่พระยะโฮวาทรงมี. (ซะฟันยา 1:14, ล.ม.) พระองค์มีทัศนะเช่นไร? อัครสาวกเปโตรบอกว่า “พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องคำสัญญาของพระองค์เหมือนบางคนถือว่าช้านั้น แต่พระองค์อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย เพราะพระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9, ล.ม.) พระเจ้าทรงมองมนุษย์ฐานะเป็นรายบุคคลว่าเป็นไปได้ที่แต่ละคนจะกลับใจ. พระองค์ “มีพระทัยประสงค์ให้คนทุกชนิดได้ความรอดและบรรลุความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงปีติยินดีด้วยซ้ำ เมื่อ “คนชั่วกลับเสียจากทางของเขาและมีชีวิต”!—ยะเอศเคล 33:11.
2 โดยส่วนตัวแล้ว เรามีทัศนะต่อผู้คนเหมือนกับพระยะโฮวาไหม? เช่นเดียวกับพระองค์ เราคิดไหมว่าเป็นไปได้ที่ผู้คนเป็นรายบุคคลจากทุกชาติและทุกเชื้อชาติอาจเข้ามาเป็น “แกะแห่งทุ่งหญ้าของพระองค์”? (บทเพลงสรรเสริญ 100:3, ฉบับแปลใหม่; กิจการ 10:34, 35) ขอให้เราพิจารณาสองตัวอย่างที่แสดงถึงความสำคัญของการมีทัศนะอย่างพระเจ้า. ทั้งสองกรณี การทำลายจะมีขึ้นในอีกไม่ช้า และผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้รับการแจ้งล่วงหน้าในเรื่องนี้. ตัวอย่างทั้งสองมีความสำคัญต่อเราเป็นพิเศษขณะที่กำลังคอยท่าวันใหญ่ของพระยะโฮวา.
อับราฮามมีทัศนะอย่างพระยะโฮวา
3. พระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนที่อาศัยในเมืองโซโดมกับโกโมร์ราห์?
3 ตัวอย่างแรกเกี่ยวข้องกับอับราฮามปฐมบรรพบุรุษที่ซื่อสัตย์และเมืองโซโดมกับโกโมร์ราห์ที่ชั่วช้า. เมื่อพระยะโฮวาได้ยิน “เสียงร้องบ่นว่าเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์” พระองค์ไม่ได้ด่วนทำลายเมืองทั้งสองพร้อมกับทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมือง. พระองค์ทรงตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน. (เยเนซิศ 18:20, 21, ล.ม.) ทูตสวรรค์สององค์ถูกส่งไปเมืองโซโดม ที่ซึ่งทั้งสองเข้าพักในเรือนของโลตบุรุษผู้ชอบธรรม. ในคืนที่ทูตสวรรค์ไปถึง “พวกผู้ชายเมืองนั้น . . . ทั้งหนุ่มและแก่หมดทั้งเมืองจนถึงคนสุดท้ายพากันมาล้อมเรือนนั้นไว้” ด้วยปรารถนาจะร่วมประเวณีแบบรักร่วมเพศกับทูตสวรรค์ทั้งสองนั้น. สภาพเสื่อมทรามของผู้อาศัยในเมืองนั้นเป็นหลักฐานชัดเจนว่าเมืองนั้นสมควรถูกทำลาย. กระนั้น ทูตสวรรค์บอกโลตว่า “ที่นี่เจ้ามีใครอีกหรือ บุตรเขย บุตรชาย บุตรหญิง คนของเจ้าในเมืองนี้ จงนำออกไปจากที่นี้ให้หมด.” พระยะโฮวาเปิดโอกาสให้บางคนที่อาศัยในเมืองนั้นรอดชีวิต แต่สุดท้าย มีแค่โลตกับลูกสาวสองคนเท่านั้นที่รอดพ้นการทำลาย.—เยเนซิศ 19:4, 5, 12, 16, 23-26, ฉบับแปลใหม่.
4, 5. เหตุใดอับราฮามจึงวิงวอนเพื่อผู้คนที่อาศัยในเมืองโซโดม และทัศนะของท่านต่อผู้คนสอดคล้องกับของพระยะโฮวาไหม?
4 ขอเราย้อนกลับไปตอนที่พระยะโฮวาเผยให้ทราบพระประสงค์ของพระองค์ที่จะตรวจสอบเมืองโซโดมกับโกโมร์ราห์. ตอนนี้เอง ที่อับราฮามทูลวิงวอนว่า “สมมุติว่ามีคนชอบธรรมห้าสิบคนในเมืองนี้ล่ะ. พระองค์จะทำลายพวกเขาโดยไม่ละเว้นเมืองนี้เพื่อเห็นแก่คนชอบธรรมห้าสิบคนในเมืองหรือ? เป็นเรื่องเหลือคิดที่พระองค์จะทำเช่นนี้ ที่จะสังหารคนชอบธรรมพร้อมกับคนชั่ว ให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเยเนซิศ 18:22-33, ล.ม.
ชอบธรรมเป็นเหมือนที่เกิดกับคนชั่ว! เป็นเรื่องเหลือคิดที่พระองค์จะทำเช่นนั้น. ผู้พิพากษาแห่งแผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะไม่กระทำสิ่งถูกต้องหรือ?” อับราฮามใช้ถ้อยคำ “เป็นเรื่องเหลือคิด” ถึงสองครั้ง. จากประสบการณ์ของท่าน อับราฮามรู้ว่าพระยะโฮวาจะไม่ทำลายคนชอบธรรมพร้อมกับคนชั่ว. เมื่อพระยะโฮวาบอกว่าจะไม่ทำลายเมืองโซโดมถ้าพบ “คนชอบธรรมห้าสิบคนในเมือง” อับราฮามขอต่อรองจนกระทั่งเหลือแค่สิบคน.—5 พระยะโฮวาจะฟังคำวิงวอนของอับราฮามไหม ถ้าคำวิงวอนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับทัศนะของพระองค์? เห็นได้ชัดว่าไม่. ในฐานะ “มิตรของพระยะโฮวา” ดูเหมือนอับราฮามทราบทัศนะของพระองค์และมีทัศนะอย่างเดียวกัน. (ยาโกโบ 2:23, ล.ม.) เมื่อพระยะโฮวามุ่งความสนพระทัยมายังเมืองโซโดมกับโกโมร์ราห์ พระองค์เต็มพระทัยจะสดับคำวิงวอนของอับราฮาม. เพราะเหตุใด? เพราะพระบิดาของเราในสวรรค์ “ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.”
ทัศนะของโยนาห์ต่อผู้คน—ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
6. ชาวเมืองนีเนเวห์มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการประกาศของโยนาห์?
6 ทีนี้ ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างที่สอง คือตัวอย่างของโยนาห์. คราวนี้ เมืองที่กำหนดไว้ว่าจะถูกทำลายคือนีเนเวห์. ผู้พยากรณ์โยนาห์ได้รับพระบัญชาให้ประกาศว่าความชั่วช้าของเมืองนั้น ‘ขึ้นไปเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาแล้ว.’ (โยนา 1:2) นีเนเวห์รวมทั้งเขตชานเมืองเป็นเมืองใหญ่ “กินเวลาสามวันจึงจะเดินข้ามเมืองนั้นได้.” เมื่อโยนาทำตามพระบัญชาในที่สุดและเข้าไปในนีเนเวห์ ท่านประกาศไม่หยุดหย่อนว่า “อีกสี่สิบวันเท่านั้น นีเนเวห์จะถูกทำลาย.” ผลคือ “ชาวเมืองนีเนเวห์เริ่มมีความเชื่อในพระเจ้า แล้วพวกเขาจึงประกาศให้อดอาหารและสวมผ้ากระสอบ.” แม้แต่กษัตริย์นีเนเวห์ก็กลับใจ.—โยนา 3:1-6, ล.ม.
7. พระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อการกลับใจของชาวเมืองนีเนเวห์?
7 ปฏิกิริยาของพวกเขาช่างต่างไปจากของชาวเมืองโซโดมเสียจริง ๆ! พระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อชาวเมืองนีเนเวห์ที่กลับใจ? โยนา 3:10 (ล.ม.) กล่าวว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้จึงเสียพระทัยที่ได้ตรัสว่าจะทำให้เกิดความหายนะแก่พวกเขา; พระองค์จึงไม่ได้ทำเช่นนั้น.” พระยะโฮวา “เสียพระทัย” ในแง่ที่ว่า พระองค์เปลี่ยนการปฏิบัติต่อชาวเมืองนีเนเวห์เนื่องจากพวกเขาได้เปลี่ยนแนวทางของตน. มาตรฐานของพระเจ้าไม่เปลี่ยน แต่พระยะโฮวาเปลี่ยนการตัดสินพระทัยเมื่อเห็นว่าชาวเมืองนีเนเวห์กลับใจ.—มาลาคี 3:6.
8. ทำไมโยนาห์ถึงขุ่นเคือง?
8 เมื่อโยนาห์รู้ว่าเมืองนีเนเวห์จะไม่ถูกทำลาย ท่านมองเรื่องราวต่าง ๆ จากมุมมองของพระยะโฮวาไหม? ไม่เลย ดังที่บันทึกบอกเราว่า “แต่เหตุการณ์นี้ไม่เป็นที่พอใจแก่โยนาอย่างยิ่ง, ท่านโกรธมาก.” นอกจากนั้น โยนาห์ทำอะไรอีก? บันทึกบอกว่า โยนาห์ “ได้อธิษฐานต่อพระยะโฮวาว่า, ‘ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้าขอทูลพระองค์ว่า, ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในบ้านเมืองของข้าพเจ้าว่าจะเป็นอย่างนี้มิใช่หรือ? เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้รีบหนีไปยังเมืองธาระซิศ; เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าผู้ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณและความเมตตาปรานี, ไม่ใคร่ทรงกริ้วโกรธ, สมบูรณ์ไปด้วยความเมตตาอารีรักโยนา 4:1, 2) โยนาห์ทราบเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้น ท่านผู้พยากรณ์ขุ่นเคืองและมีทัศนะต่างไปจากพระเจ้าต่อชาวเมืองนีเนเวห์ที่กลับใจ.
พร้อมที่จะเปลี่ยนพระทัยไม่ลงโทษผู้ใด.’” (9, 10. (ก) พระยะโฮวาให้บทเรียนอะไรแก่โยนาห์? (ข) ทำไมเราลงความเห็นได้ว่าในที่สุดโยนาห์รับเอาทัศนะเหมือนอย่างพระยะโฮวาที่มีต่อชาวเมืองนีเนเวห์?
9 โยนาห์ออกไปนอกเมืองนีเนเวห์ สร้างเพิงและนั่งในร่มเพิงนั้น “คอยดูเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแก่กรุงนั้น.” พระยะโฮวาบันดาลให้น้ำเต้าต้นหนึ่งงอกขึ้นมาเพื่อจะให้ร่มเงาแก่โยนาห์. แต่ต้นนั้นกลับเหี่ยวเฉาไปในวันต่อมา. เมื่อโยนาห์โกรธที่ต้นน้ำเต้าเหี่ยวไป พระยะโฮวาตรัสว่า “ตัวเจ้ายังเสียดายต้นละหุ่ง [“ต้นน้ำเต้า,” ล.ม.] . . . อันตัวเราจะไม่อาลัยนีนะเวกรุงใหญ่นั้นซึ่งมีพลเมืองมากกว่าแสนสองหมื่นคน, เป็นผู้ไม่รู้เดียงสาว่าข้างไหนเป็นมือขวามือซ้าย, รวมทั้งสัตว์เดียรัจฉานเป็นอันมากด้วย, อย่างนั้นหรือ?” (โยนา 4:5-11) ช่างเป็นบทเรียนที่มีค่าสักเพียงไรสำหรับโยนาห์เกี่ยวกับทัศนะที่พระยะโฮวามีต่อผู้คน!
10 ปฏิกิริยาของโยนาห์ต่อถ้อยแถลงของพระเจ้าที่แสดงถึงความรู้สึกสงสารชาวเมืองนีเนเวห์นั้นไม่ได้มีบันทึกไว้. แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าท่านผู้พยากรณ์ได้ปรับทัศนะของตนต่อชาวเมืองนีเนเวห์ที่กลับใจ. เราลงความเห็นอย่างนั้นจากการที่พระยะโฮวาทรงใช้ท่านให้บันทึกเรื่องราวที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้.
คุณมีเจตคติแบบไหน?
11. อับราฮามคงจะมีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้?
11 ในทุกวันนี้ เรากำลังจะเผชิญหน้ากับการทำลายอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเป็นการทำลายระบบชั่วในปัจจุบันที่จะมีขึ้นในวันใหญ่ของพระยะโฮวา. (ลูกา 17:26-30; ฆะลาเตีย 1:4; 2 เปโตร 3:10) ถ้าอับราฮามมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ท่านจะมีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนที่มีชีวิตในโลกนี้ที่จะถูกทำลายในอีกไม่ช้า? ท่านคงจะเป็นห่วงคนเหล่านั้นที่ยังไม่เคยได้ยิน “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) อับราฮามได้ทูลวิงวอนพระเจ้าหลายครั้งในเรื่องผู้ชอบธรรมที่อาจจะมีอยู่ในเมืองโซโดม. โดยส่วนตัวแล้ว เราเป็นห่วงผู้คนเหล่านั้นไหม ซึ่งจะปฏิเสธแนวทางของโลกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของซาตานนี้ หากพวกเขาได้โอกาสที่จะกลับใจและรับใช้พระเจ้า?—1 โยฮัน 5:19; วิวรณ์ 18:2-4.
12. เหตุใดเป็นเรื่องง่ายที่เจตคติอย่างโยนาห์ต่อผู้คนที่เราพบในงานรับใช้จะพัฒนาขึ้นในตัวเรา และเราจะทำอะไรได้ในเรื่องนี้?
12 การกระหายให้ความชั่วช้าจบสิ้นลงเป็นสิ่งที่เหมาะสม. (ฮะบาฆูค 1:2, 3) กระนั้น ง่ายทีเดียวที่จะพัฒนาเจตคติแบบโยนาห์ คือไม่ห่วงใยสวัสดิภาพของผู้คนที่อาจจะกลับใจ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราพบแต่คนที่ไม่แยแส, เป็นปฏิปักษ์, หรือแม้แต่หาเรื่องวิวาทเมื่อเราไปเยี่ยมตามบ้านด้วยข่าวสารราชอาณาจักร. เราอาจกลายเป็นคนไม่ห่วงใยผู้คนที่พระยะโฮวาจะยังคงรวบรวมออกมาจากระบบชั่วนี้. (โรม 2:4) ถ้าการตรวจสอบตัวเองอย่างจริงจังเผยออกมา ว่าเรามีเจตคติแบบเดียวกับที่โยนาห์มีต่อชาวเมืองนีเนเวห์ในตอนแรกอยู่บ้าง เราสามารถอธิษฐานขอความช่วยเหลือให้มีทัศนะเหมือนพระยะโฮวา.
13. เหตุใดเรากล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงห่วงใยผู้คนในทุกวันนี้?
13 พระยะโฮวาทรงห่วงใยผู้ที่ยังไม่ได้รับใช้พระองค์ และทรงสดับคำวิงวอนของผู้ที่ได้อุทิศตัวแด่พระองค์. (มัดธาย 10:11) ตัวอย่างเช่น “พระองค์จะทรงทำให้พวกเขาได้รับความยุติธรรม” เป็นการตอบคำอธิษฐานของพวกเขา. (ลูกา 18:7, 8, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาจะทำให้คำสัญญาและพระประสงค์ทั้งสิ้นของพระองค์สำเร็จเป็นจริงในเวลากำหนดของพระองค์. (ฮะบาฆูค 2:3) นี่จะรวมถึงการขจัดความชั่วทั้งสิ้นให้หมดไปจากแผ่นดินโลก เหมือนกับที่พระองค์ได้ทรงทำลายเมืองนีเนเวห์หลังจากที่ชาวเมืองนั้นกลับไปทำชั่วอย่างเดิม.—นาฮูม 3:5-7.
14. เราควรตั้งใจจะทำอะไรขณะคอยท่าวันใหญ่ของพระยะโฮวา?
14 จนกว่าระบบชั่วนี้จะถูกทำลายในวันใหญ่ของพระยะโฮวา เราจะอดทนคอยและเข้าส่วนอย่างเต็มที่ในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ไหม? เราไม่รู้รายละเอียดว่างานประกาศจะสำเร็จผลไปถึงขีดไหนก่อนถึงวันของพระยะโฮวา แต่เรารู้ว่าข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจะประกาศไปทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่ จนถึงระดับที่พระเจ้าพึงพอพระทัยก่อนอวสานจะมาถึง. และแน่นอนว่าเราพึงห่วงใย “สิ่งน่าปรารถนา” ที่ยังจะถูกนำเข้ามา ขณะที่พระยะโฮวายังคงทำให้พระนิเวศของพระองค์เต็มไปด้วยสง่าราศี.—ฮาฆี 2:7, ล.ม.
ทัศนะของเราปรากฏชัดจากการกระทำ
15. อะไรจะทำให้เราเล็งเห็นความสำคัญของงานประกาศมากขึ้น?
15 เราอาจอาศัยอยู่ในชุมชนที่งานประกาศของเราไม่มีการตอบรับมากนัก และเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะย้ายไปยังเขตที่ต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่า. ถ้าสมมุติว่าเราสามารถพบสิบคนในเขตของเราก่อนจะถึงอวสาน. เรารู้สึกว่าคุ้มค่าไหมที่จะค้นหาสิบคนนั้นให้พบ? พระเยซู “ทรงสงสาร” ประชาชน “ด้วยเขาถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36, ฉบับแปลใหม่) โดยที่เราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและอ่านบทความในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! อย่างถี่ถ้วน เราได้รับความหยั่งเห็นเข้าใจมากขึ้นในเรื่องสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ของโลกนี้. สิ่งนี้ยังผลให้เราเล็งเห็นความจำเป็นมากขึ้นที่จะประกาศข่าวดี. ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราใช้สิ่งพิมพ์ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักซึ่งจัดเตรียมผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ด้วยความรู้สึกหยั่งรู้ค่า นั่นจะเพิ่มพูนความสามารถในการจูงใจของเราเมื่อทำการประกาศในเขตที่มีการทำซ้ำ ๆ.—มัดธาย 24:45-47, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:14-17.
16. เราอาจบังเกิดผลมากขึ้นในงานรับใช้ได้โดยวิธีใด?
16 ความห่วงใยที่เรามีต่อคนที่อาจจะยังตอบรับข่าวสารที่ให้ชีวิตจากคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราให้คิดถึงช่วงเวลาต่าง ๆ และวิธีที่หลากหลายเพื่อจะเข้าหาเจ้าของบ้านในงานรับใช้ของเรา. เราพบว่าหลายคนไม่อยู่บ้านในเวลาที่เราไปเยี่ยมไหม? ถ้าอย่างนั้น เราอาจจะบังเกิดผลมากขึ้นได้ในงานรับใช้ หากเปลี่ยนเวลาและสถานที่ในการให้คำพยาน. ชาวประมงออกหาปลาในเวลาที่พวกเขาจะจับปลาได้. เราทำอย่างเดียวกันนั้นไหมในงานจับปลาฝ่ายวิญญาณของเรา? (มาระโก 1:16-18) ทำไมไม่ลองให้คำพยานในตอนเย็นและให้คำพยานทางโทรศัพท์ หากไม่มีกฎหมายห้ามในพื้นที่นั้น? บางคนได้พบว่าลานจอดรถ, บริเวณที่จอดพักรถบรรทุก, สถานีบริการน้ำมัน, และร้านค้า เป็น ‘ที่ตกปลา’ ที่เกิดผล. การที่เรามีเจตคติอย่างที่อับราฮามมีต่อผู้คนยังปรากฏชัดจากการที่เราฉวยโอกาสในการให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการอีกด้วย.
17. เราจะหนุนกำลังใจมิชชันนารีและคนอื่น ๆ ที่กำลังรับใช้อยู่ต่างแดนได้โดยวิธีใด?
17 ยังมีผู้คนอีกมากมายไม่เคยได้ยินข่าวสารราชอาณาจักร. นอกจากวิธีประกาศแล้ว เราจะแสดงความห่วงใยต่อคนเช่นนั้นได้ไหมแม้ว่าเราไม่ได้ย้ายไปไหน? เรารู้จักมิชชันนารีหรือผู้รับใช้เต็มเวลาคนใดที่กำลังรับใช้อยู่ต่างแดนไหม? ถ้าอย่างนั้น คงจะดีถ้าเราจะเขียนจดหมายแสดงความหยั่งรู้ค่างานของพวกเขา. การทำอย่างนั้นจะเป็นการแสดงความห่วงใยผู้คนทั่วไปได้อย่างไร? จดหมายหนุนกำลังใจและกล่าวชมเชยจากเราสามารถเสริมกำลังมิชชันนารีเหล่านั้นให้คงอยู่ในงานมอบหมายของพวกเขาต่อไป ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการช่วยผู้คนอีกมากมายให้มารู้จักความจริง. (วินิจฉัย 11:40, ล.ม.) เรายังสามารถอธิษฐานเพื่อ เหล่ามิชชันนารีและผู้คนที่หิวกระหายความจริงในดินแดนอื่น ๆ. (เอเฟโซ 6:18-20) อีกวิธีหนึ่งที่จะแสดงความห่วงใยก็คือการบริจาคเงินเพื่องานทั่วโลกของพยานพระยะโฮวา.—2 โกรินโธ 8:13, 14; 9:6, 7.
คุณสามารถย้ายได้ไหม?
18. คริสเตียนบางคนได้ทำอะไรเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรในประเทศที่ตนอาศัยอยู่?
18 ผู้ที่ได้ย้ายไปยังเขตที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่าได้ประสบพระพรอันเนื่องมาจากการลงทุนลงแรงด้วยความเสียสละของพวกเขา. อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาคนอื่น ๆ ที่ยังคงอยู่ในบ้านเกิดของตัวเองได้เรียนภาษาอื่น เพื่อจะสามารถให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณแก่ผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศ. ความพยายามอย่างนั้นก่อบำเหน็จอย่างแท้จริง. ตัวอย่างเช่น พยานฯ เจ็ดคนที่ช่วยชาวจีนในเมืองหนึ่งของรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ได้ต้อนรับ 114 คนที่มายังการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในปี 2001. พยานฯ ที่ช่วยผู้ย้ายถิ่นเช่นนั้นได้พบทุ่งนาของตนเองที่พร้อมสำหรับการเกี่ยว.—มัดธาย 9:37, 38.
19. สมควรที่คุณจะทำอะไรถ้ากำลังคิดจะย้ายไปต่างประเทศเพื่อส่งเสริมงานประกาศราชอาณาจักรที่นั่น?
19 บางที คุณและครอบครัวรู้สึกว่าอยู่ในฐานะที่จะย้ายไปในเขตที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่าได้ไหม? แน่นอน นับว่าสุขุมที่จะ “นั่งลงคิดราคาดูเสียก่อน.” (ลูกา 14:28) เรื่องนี้เป็นจริงโดยเฉพาะกับคนที่คิดจะย้ายไปต่างประเทศ. ใครก็ตามที่คิดถึงความเป็นไปได้ที่จะทำเช่นนั้น อาจถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้: ‘ฉันจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ไหม? ฉันจะขอวีซ่าอย่างที่ต้องการได้ไหม? ฉันพูดภาษาของประเทศนั้นได้อยู่แล้วไหม หรือฉันพร้อมจะเรียนภาษานั้นไหม? ฉันได้พิจารณาในเรื่องภูมิอากาศและวัฒนธรรมแล้วไหม? ฉันจะสามารถเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” ได้อย่างแท้จริง และไม่สร้างภาระแก่เพื่อนร่วมความเชื่อในประเทศนั้นไหม?’ (โกโลซาย 4:10, 11, ล.ม.) เพื่อจะทราบว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในประเทศที่คุณคิดจะย้ายไป นับว่าเหมาะสมเสมอที่จะเขียนไปสอบถามยังสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาที่ดูแลงานประกาศในเขตนั้น. *
20. คริสเตียนหนุ่มคนหนึ่งได้ใช้ความสามารถของตนให้เป็นประโยชน์เพื่อเพื่อนร่วมความเชื่อและคนอื่น ๆ ในต่างแดนอย่างไร?
20 คริสเตียนคนหนึ่งซึ่งเคยร่วมงานก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักรในญี่ปุ่นรู้มาว่า มีความต้องการคนงานที่ชำนาญเพื่อสร้างสถานที่นมัสการในปารากวัย. เนื่องจากยังเป็นโสดและหนุ่มแน่น เขาย้ายไปประเทศนั้นและทำงานเป็นเวลาแปดเดือนฐานะคนงานคนเดียวในโครงการดังกล่าวที่ทำงานเต็มเวลา. ระหว่างอยู่ที่นั่น เขาเรียนภาษาสเปนและนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านหลายราย. เขาเห็นความจำเป็นที่จะมีผู้ประกาศราชอาณาจักรในประเทศนั้น. แม้ว่าจากนั้นเขากลับมาญี่ปุ่น แต่ไม่นานเขาก็กลับไปปารากวัยอีก และช่วยนำผู้คนไปยังหอประชุมราชอาณาจักรหลังที่เขาช่วยสร้างขึ้นนั้นเอง.
21. อะไรเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุด และอะไรควรเป็นทัศนะของเราขณะที่คอยท่าวันใหญ่ของพระยะโฮวา?
21 พระเจ้าจะทรงทำให้แน่ใจว่างานประกาศจะดำเนินไปจนสำเร็จลุล่วงเต็มที่ตามที่พระองค์ทรงประสงค์. ทุกวันนี้ พระองค์กำลังเร่งงานเกี่ยวฝ่ายวิญญาณขั้นสุดท้าย. (ยะซายา 60:22) ดังนั้น ขณะที่เราคอยท่าวันของพระยะโฮวา ขอให้เราเข้าส่วนอย่างกระตือรือร้นในงานเกี่ยว และมีทัศนะต่อผู้คนอย่างเดียวกันกับที่พระเจ้าองค์เปี่ยมด้วยความรักทรงมีต่อคนเหล่านั้น.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 19 ไม่เป็นประโยชน์เสมอไปที่คุณจะย้ายไปยังประเทศที่งานประกาศถูกสั่งห้ามหรือมีการวางข้อจำกัด. การทำเช่นนั้นอาจสร้างปัญหาแก่ผู้ประกาศราชอาณาจักรที่ทำงานอย่างระมัดระวังภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว.
คุณจำได้ไหม?
• เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนขณะที่คอยท่าวันของพระยะโฮวา?
• ทัศนะของอับราฮามต่อคนชอบธรรมที่อาจจะมีอยู่ในเมืองโซโดมเป็นเช่นไร?
• โยนาห์มีทัศนะเช่นไรต่อชาวเมืองนีเนเวห์ที่กลับใจ?
• เราจะแสดงโดยวิธีใดว่าเรามีทัศนะเหมือนอย่างพระยะโฮวาต่อผู้คนที่ยังไม่ได้ยินข่าวดี?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 16]
อับราฮามมีทัศนะต่อผู้คนเหมือนอย่างที่พระยะโฮวาทรงมี
[ภาพหน้า 17]
ในที่สุดโยนาห์มีทัศนะต่อชาวเมืองนีเนเวห์ที่กลับใจเหมือนอย่างพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 18]
ความห่วงใยต่อผู้คนกระตุ้นเราให้คิดถึงช่วงเวลาและวิธีการต่าง ๆ เพื่อประกาศข่าวดี