จงระวังการหลอกลวง
จงระวังการหลอกลวง
“จงระวัง: อาจมีคนที่จะทำให้พวกท่านตกเป็นเหยื่อของเขาได้โดยใช้ . . . คำล่อลวงเหลวไหล.”—โกโลซาย 2:8, ล.ม.
1-3. (ก) มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงว่าการหลอกลวงแทรกซึมเข้าไปในแทบทุกด้านของชีวิตแต่ละวัน? (ข) เหตุใดเราไม่ควรประหลาดใจที่มีการหลอกลวงในโลก?
“มีกี่คนในพวกคุณที่ไม่เคยเจอลูกความคนใดโกหกเลย?” เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์ด้านกฎหมายท่านหนึ่งทำการสำรวจโดยตั้งคำถามดังกล่าว. คำตอบเป็นอย่างไร? เขาอธิบายว่า “จากท่ามกลางทนายความนับพัน มีแค่คนเดียวที่ไม่เคยเจอลูกความโกหก.” เหตุผลน่ะหรือ? “ทนายความคนนั้นเพิ่งเริ่มทำงานอาชีพกับบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งและยังไม่เคยคุยกับลูกความมาก่อน.” ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความจริงอันน่าเศร้า นั่นคือการโกหกหลอกลวงเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไปในโลกทุกวันนี้.
2 การหลอกลวงมีมาในหลายรูปแบบและแทรกซึมเข้าไปในแทบทุกด้านของชีวิตปัจจุบัน. รายงานในสื่อต่าง ๆ มีตัวอย่างมากมาย—นักการเมืองโกหกเกี่ยวกับการกระทำของตน, นักบัญชีและนักกฎหมายกล่าวเกินจริงถึงเรื่องผลกำไรของบริษัท, นักโฆษณาหลอกผู้บริโภคให้หลงเชื่ออย่างผิด ๆ, ผู้เอาประกันภัยหลอกบริษัทประกัน ที่กล่าวมานี้เป็นแค่เพียงบางตัวอย่าง. แล้วก็มีการหลอกลวงทางศาสนา. พวกนักเทศน์ชักนำประชาชนให้หลงไปด้วยคำสอนเท็จ เช่น เรื่องความเป็นอมตะของจิตวิญญาณ, ไฟนรก, และตรีเอกานุภาพ.—2 ติโมเธียว 4:3, 4.
3 เราควรรู้สึกประหลาดใจไหมที่มีการหลอกลวงเช่นนี้? ไม่เลย. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเกี่ยวกับ “สมัยสุดท้าย” ว่า “คนชั่วและเจ้าเล่ห์จะกำเริบชั่วร้ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้อื่นหลงผิดและตนเองถูกทำให้หลงผิด.” (2 ติโมเธียว 3:1, 13, ล.ม.) ฐานะคริสเตียน เราต้องคอยระวังแนวความคิดที่ทำให้หลงผิด ซึ่งอาจชักนำเราให้หันเหออกไปจากความจริง. ไม่แปลกที่จะเกิดคำถามขึ้นมาสองข้อ: ทำไมการหลอกลวงจึงมีแพร่ หลายเหลือเกินในทุกวันนี้ และเราจะระวังไม่ให้ตัวเองถูกหลอกได้อย่างไร?
เหตุใดจึงมีการหลอกลวงมากเหลือเกินในทุกวันนี้?
4. คัมภีร์ไบเบิลอธิบายอย่างไรถึงสาเหตุที่มีการหลอกลวงแพร่หลายในโลก?
4 คัมภีร์ไบเบิลอธิบายอย่างชัดเจนถึงเหตุที่มีการหลอกลวงแพร่หลายในโลกนี้. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) “ตัวชั่วร้าย” ที่ว่านี้คือซาตานพญามาร. พระเยซูตรัสถึงตัวชั่วร้ายนี้ว่า “มันมิได้ตั้งมั่นอยู่ในความจริง เพราะว่าความจริงมิได้มีอยู่ในตัวมัน. เมื่อมันพูดมุสา มันก็พูดตามแนวโน้มในตัวมันเอง เพราะมันเป็นผู้พูดมุสาและเป็นพ่อของการมุสา.” ฉะนั้น น่าประหลาดใจหรือที่โลกนี้สะท้อนน้ำใจ, ค่านิยม, และลักษณะนิสัยหลอกลวงของผู้ครองโลกนี้?—โยฮัน 8:44, ล.ม.; 14:30; เอเฟโซ 2:1-3.
5. ซาตานเพิ่มความพยายามในการหลอกลวงมากขึ้นอย่างไรในเวลาอวสานนี้ และมันมุ่งเป้าไปที่ใครเป็นพิเศษ?
5 ในเวลาอวสานนี้ ซาตานเพิ่มความพยายามหนักยิ่งขึ้น. มันถูกเหวี่ยงลงมายังแผ่นดินโลก. มันรู้ว่าเวลาของมันมีน้อย และมี “ความโกรธยิ่งนัก.” เนื่องจากมุ่งหมายที่จะพามนุษย์ไปสู่ความพินาศให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มันจึง “ชักนำแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ให้หลง.” (วิวรณ์ 12:9, 12, ล.ม.) ซาตานไม่ใช่ผู้หลอกลวงเป็นครั้งคราว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น มันไม่เคยละลดความพยายามในการชักนำมนุษยชาติให้หลง. * มันใช้วิธีการหลอกลวงทุกอย่างที่มันมีอยู่—รวมถึงกลอุบายและการกระทำที่ไม่ซื่อ—เพื่อทำให้จิตใจของคนที่ไม่เชื่อมืดไป และทำให้คนเหล่านั้นอยู่ห่างจากพระเจ้า. (2 โกรินโธ 4:4) จอมหลอกลวงผู้นี้หมายมุ่งเป็นพิเศษที่จะขย้ำกลืนบรรดาผู้นมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:24, ล.ม.; 1 เปโตร 5:8) อย่าลืมว่าโดยแท้แล้ว ซาตานอ้างว่า ‘ข้าจะทำให้ใคร ๆ ละทิ้งพระเจ้าก็ได้.’ (โยบ 1:9-12) ขอเราพิจารณา “กลวิธีหลอกลวงต่าง ๆ” ของซาตาน และวิธีที่จะระวังไม่ให้ถูกมันหลอก.—เอเฟโซ 6:11, คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ของยิว (ภาษาอังกฤษ).
ระวังการหลอกลวงโดยผู้ออกหาก
6, 7. (ก) ผู้ออกหากอาจอ้างในเรื่องอะไร? (ข) พระคัมภีร์แสดงชัดแจ้งอย่างไรถึงสิ่งที่ผู้ออกหากต้องการ?
6 นานมาแล้วที่ซาตานใช้พวกผู้ออกหากในความพยายามของมันเพื่อจะล่อลวงผู้รับใช้ของพระเจ้า. (มัดธาย 13:36-39) ผู้ออกหากอาจอ้างว่านมัสการพระยะโฮวาและเชื่อคัมภีร์ไบเบิล แต่พวกเขาปฏิเสธองค์การของพระองค์ในส่วนที่เห็นได้ด้วยตา. บางคนถึงกับกลับไปเชื่อคำสอนของ “บาบิโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ ซึ่งหลู่เกียรติพระเจ้า. (วิวรณ์ 17:5, ล.ม.; 2 เปโตร 2:19-22) ภายใต้การดลใจจากพระเจ้า ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้ถ้อยคำอันทรงพลังเพื่อเปิดโปงเจตนาและวิธีการของพวกผู้ออกหาก.
7 ผู้ออกหากต้องการอะไร? พวกเขาส่วนใหญ่ไม่พอใจเพียงแค่ละทิ้งความเชื่อที่ครั้งหนึ่งพวกเขาอาจถือว่าเป็นความจริง. บ่อยครั้ง พวกเขาต้องการให้คนอื่น ๆ ติดตามเขาไป. แทนที่จะออกไปหาผู้คนและทำให้คนอื่น ๆ มาเป็นสาวกของพวกเขาเอง ผู้ออกหากหลายคนพยายาม “ชักนำเหล่าสาวก [ของพระคริสต์] ให้หลงตามเขาไป.” (กิจการ 20:29, 30, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลให้คำเตือนอันเร่งด่วนเรื่องผู้สอนเท็จดังนี้: “จงระวัง: อาจมีคนที่จะทำให้พวกท่านตกเป็นเหยื่อของเขาได้.” (โกโลซาย 2:8, ล.ม.) ถ้อยคำนี้พรรณนาสิ่งที่ผู้ออกหากหลายคนพยายามทำมิใช่หรือ? เช่นเดียวกับที่คนลักพาตัวจะพาเหยื่อผู้ไม่ระแวงสงสัยไปจากครอบครัว พวกผู้ออกหากจะฉวยประโยชน์โดยอาศัยการที่สมาชิกของประชาคมหลงไว้ใจ และหาทางชักนำพวกเขาไปจากฝูงแกะ.
8. ผู้ออกหากใช้วิธีการอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน?
8 ผู้ออกหากใช้วิธีอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน? บ่อยครั้ง พวกเขาใช้วิธีบิดเบือน, เสนอเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง, และใช้คำโกหกล้วน ๆ. พระเยซูทราบว่าสาวกของพระองค์จะกลายเป็นเหยื่อของคนที่จะ “พูดคำโกหกที่มุ่งร้ายทุกรูปแบบต่อ” พวกเขา. (มัดธาย 5:11, ฉบับแปล ทูเดส์ อิงลิช) ผู้ต่อต้านที่ประสงค์ร้ายเหล่านี้จะบอกสิ่งที่ไม่จริงด้วยเจตนาจะหลอกลวง. อัครสาวกเปโตรเตือนเกี่ยวกับผู้ออกหากที่จะใช้ “คำหลอกลวง,” แพร่ “คำสอนหลอกลวง,” และ “บิดเบือน . . . พระคัมภีร์” ให้เข้ากับจุดมุ่งหมายของตน. (2 เปโตร 2:3, 13, ล.ม.; 3:16, ล.ม.) น่าเศร้า ผู้ออกหากประสบความสำเร็จในการ “ทำลายความเชื่อของบางคน.”—2 ติโมเธียว 2:18.
9, 10. (ก) เราจะระวังตัวโดยวิธีใดไม่ให้ถูกผู้ออกหากหลอกลวง? (ข) เหตุใดเราไม่รู้สึกถูกรบกวนใจเมื่อความเข้าใจของเราเรื่องพระประสงค์ของพระเจ้าจำต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข?
9 เราจะระวังตัวโดยวิธีใดไม่ให้ถูกผู้ออกหากหลอกลวง? โดยใส่ใจคำแนะนำในพระคำของพระเจ้า ที่กล่าวว่า “ให้คอยสังเกตดูคนเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดการแตกแยกและสภาพการณ์ที่ทำให้สะดุด ซึ่งเป็นการขัดกับคำสอนที่พวกท่านได้เรียนรู้มา และจงหลีกหนีจากคนเหล่านั้น.” (โรม 16:17, ล.ม.) เรา “หลีกหนีจากคนเหล่านั้น” โดยไม่รับฟังการอ้างเหตุผลของพวกเขา—ไม่ว่าทางการสนทนา, จดหมาย, สิ่งพิมพ์, หรืออินเทอร์เน็ต. เหตุใดเราจึงยึดจุดยืนเช่นนั้น? ประการแรก เพราะพระคำของพระเจ้าสั่งให้เราทำอย่างนั้น และเราวางใจว่าพระยะโฮวาทรงคำนึงถึงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เรามากที่สุดเสมอ.—ยะซายา 48:17, 18.
10 ประการที่สอง: เรารักองค์การที่ได้สอนความจริงอันล้ำค่าแก่เราซึ่งทำให้เราแยกต่างหากอย่างเด็ดขาดจากบาบิโลนใหญ่. ขณะเดียวกัน เรายอมรับว่าความรู้ของเราเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้ายังไม่สมบูรณ์ และความเข้าใจของเราได้รับการปรับปรุงแก้ไขตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา. คริสเตียนผู้ภักดีพอใจคอยท่าให้พระยะโฮวาปรับปรุงความเข้าใจเช่นนั้นทุกอย่าง. (สุภาษิต 4:18) ในเวลาเดียวกัน เราจะไม่ละทิ้งองค์การที่พระเจ้าพอพระทัยจะใช้ เนื่องจากเราเห็นหลักฐานชัดเจนว่าพระองค์ทรงพอพระทัยองค์การนี้.—กิจการ 6:7; 1 โกรินโธ 3:6.
ระวังการหลอกตัวเอง
11. เหตุใดมนุษย์ไม่สมบูรณ์จึงมีแนวโน้มที่จะหลอกตัวเอง?
11 มนุษย์ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มอย่างหนึ่งที่ซาตานจะรีบฉวยประโยชน์ นั่นคือการหลอกตัวเอง. ยิระมะยา 17:9 (ล.ม.) กล่าวว่า “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด.” และยาโกโบเขียนว่า “ทุกคนถูกทดลองโดยที่ความปรารถนาของเขาเองชักนำและล่อใจเขา.” (ยาโกโบ 1:14, ล.ม.) ถ้าหัวใจล่อใจเรา อาจเปรียบเหมือนกับมันเอาบาปมาล่อตาเรา ทำให้สิ่งนั้นดูน่าดึงดูดใจและไร้พิษภัย. ภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพลวงตา เพราะการยอมให้ตัวเองถูกชักนำไปสู่บาปจะนำไปสู่ความหายนะในที่สุด.—โรม 8:6.
12. ในทางใดบ้างที่เราอาจติดกับของการหลอกตัวเอง?
12 การหลอกตัวเองอาจทำให้เราติดกับได้ง่าย. หัวใจที่ทรยศอาจคิดหาข้อแก้ตัวสำหรับความบกพร่องร้ายแรงด้านบุคลิกภาพหรือสำหรับบาปที่ร้ายแรง. (1 ซามูเอล 15: 13-15, 20, 21) หัวใจที่สิ้นคิดยังอาจคิดหาทางเพื่อแก้ตัวในเรื่องความประพฤติที่น่าสงสัย. ขอให้พิจารณาเรื่องความบันเทิงเป็นตัวอย่าง. ความบันเทิงบางอย่างเป็นประโยชน์และน่าเพลิดเพลิน. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โลกนี้เสนอให้ในภาพยนตร์, รายการโทรทัศน์, และเว็บไซต์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหยาบโลนและผิดศีลธรรม. ง่ายที่จะคิดหาเหตุผลกับตัวเองให้เชื่อว่าเราสามารถชมความบันเทิงที่ไม่สะอาดโดยไม่ได้รับผลเสียหาย. บางคนถึงกับหาเหตุผลว่า “ในเมื่อมันไม่รบกวนสติรู้สึกผิดชอบของฉัน แล้วจะผิดตรงไหน?” แต่คนเช่นนั้นกำลัง “หลอกตัวเองด้วยการคิดหาเหตุผลผิด ๆ.”—ยาโกโบ 1:22, ล.ม.
13, 14. (ก) ตัวอย่างอะไรจากพระคัมภีร์ที่แสดงว่าสติรู้สึกผิดชอบของเราไม่ใช่เครื่องชี้นำทางที่ปลอดภัยเสมอไป? (ข) เราจะระวังเพื่อจะไม่หลอกตัวเองได้อย่างไร?
13 เราจะระวังเพื่อจะไม่หลอกตัวเองได้อย่างไร? แรกทีเดียว เราต้องจำไว้ว่าสติรู้สึกผิดชอบของมนุษย์ไม่ใช่วางใจได้เสมอไป. ขอพิจารณากรณีของอัครสาวกเปาโล. ก่อนเข้ามาเป็นคริสเตียน ท่านกดขี่ข่มเหงสาวกของพระคริสต์. (กิจการ ) สติรู้สึกผิดชอบของท่านอาจไม่รบกวนท่านเลยในตอนนั้น. แต่เห็นได้ชัดว่าสติรู้สึกผิดชอบถูกชักนำไปผิดทาง. เปาโลกล่าวว่า “ที่ข้าพเจ้าได้กระทำอย่างนั้นก็กระทำไปโดยความเขลาเพราะความไม่เชื่อ.” ( 9:1, 21 ติโมเธียว 1:13) ฉะนั้น เพียงข้อเท็จจริงที่ว่าความบันเทิงบางอย่างไม่รบกวนสติรู้สึกผิดชอบของเราก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าแนวทางการประพฤติของเราจะถูกต้อง. เฉพาะแต่สติรู้สึกผิดชอบที่ไม่บกพร่อง ซึ่งได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสมจากพระคำของพระเจ้าเท่านั้น ที่เป็นเครื่องนำทางที่ปลอดภัย.
14 เพื่อจะหลีกเลี่ยงการหลอกตัวเอง มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์บางอย่างซึ่งเราต้องจดจำไว้. จงวิเคราะห์ตัวเองพร้อมด้วยการอธิษฐาน. (บทเพลงสรรเสริญ 26:2; 2 โกรินโธ 13:5) การวิเคราะห์ตัวเองอย่างซื่อตรงอาจทำให้เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทัศนะหรือลักษณะนิสัยบางอย่าง. จงรับฟังผู้อื่น. (ยาโกโบ 1:19) เนื่องจากเราอาจเข้าข้างตัวเองเมื่อทำการตรวจสอบตัวเอง จึงนับว่าฉลาดสุขุมที่จะรับฟังความเห็นที่ไม่ลำเอียงจากเพื่อนคริสเตียนที่อาวุโส. ถ้าคุณพบว่าตัวเองกำลังตัดสินใจหรือทำอะไรที่ดูน่าสงสัยในสายตาของเพื่อนร่วมความเชื่อที่มีความสมดุลและมีประสบการณ์ คุณอาจถามตัวเองว่า ‘เป็นไปได้ไหมว่าสติรู้สึกผิดชอบของฉันขาดการฝึกฝนอย่างเหมาะสม หรือเป็นไปได้ไหมว่าหัวใจของฉันกำลังหลอกตัวเอง?’ จงหล่อเลี้ยงตัวเองเป็นประจำด้วยคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. (บทเพลงสรรเสริญ 1:2) การทำอย่างนั้นจะช่วยคุณรักษาความคิด, ทัศนะ, และความรู้สึกให้สอดคล้องกับหลักการของพระเจ้าเสมอ.
ระวังคำโกหกของซาตาน
15, 16. (ก) ในการพยายามหลอกลวงเรา ซาตานใช้คำโกหกอะไรบ้าง? (ข) เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกหลอกด้วยคำโกหกเช่นนั้นได้อย่างไร?
15 ซาตานพยายามหลอกลวงเราโดยใช้คำโกหกหลายอย่าง. มันพยายามทำให้เราเชื่อว่าการมีสมบัติวัตถุจะนำมาซึ่งความสุขและความพอใจ แต่บ่อยครั้งผลปรากฏว่าตรงกันข้าม. (ท่านผู้ประกาศ 5:10-12) มันอยากให้เราเชื่อว่าโลกชั่วนี้จะอยู่ตลอดไป ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเรามีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ซาตานส่งเสริมความคิดที่ว่าไม่มีผลเสียหายอะไรจากการติดตามแนวทางชีวิตที่ผิดศีลธรรม แม้ว่าบ่อยครั้งผู้ที่แสวงหาความเพลิดเพลินจะเกี่ยวเก็บผลอันขมขื่น. (ฆะลาเตีย 6:7) เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกหลอกด้วยคำโกหกเช่นนั้นได้อย่างไร?
16 จงได้ประโยชน์จากตัวอย่างต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล. คัมภีร์ไบเบิลบรรจุตัวอย่างเตือนใจของบุคคลต่าง ๆ ที่ถูกหลอกด้วยคำโกหกของซาตาน. คนเหล่านั้นรักสิ่งฝ่ายวัตถุ, ไม่ใส่ใจถึงยุคสมัยที่พวกเขามีชีวิตอยู่, หรือไม่ก็ปล่อยตัวทำผิดศีลธรรม ซึ่งมีแต่ส่งผลร้าย. (มัดธาย 19:16-22; 24:36-42; ลูกา 16:14; 1 โกรินโธ 10:8-11) จงเรียนจากตัวอย่างสมัยปัจจุบัน. น่าเศร้า เป็นครั้งคราวคริสเตียนบางคนสูญเสียความสำนึกถึงความเร่งด่วน และเริ่มเชื่อว่า โดยการรับใช้พระเจ้า พวกเขากำลังสูญเสียสิ่งดี ๆ บางอย่างไป. พวกเขาอาจละทิ้งความจริงไปเพื่อแสวงหาชีวิตที่ว่ากันว่ามีความสุข. อย่างไรก็ตาม คนเช่นนั้น “ยืนอยู่ในที่ลื่น” ด้วยว่าไม่ช้าก็เร็ว ผลของความประพฤติที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าจะตามพวกเขาทัน. (บทเพลงสรรเสริญ 73:18, 19) นับเป็นการฉลาดที่เราจะเรียนจากความผิดพลาดของคนอื่น ๆ.—สุภาษิต 22:3.
17. เหตุใดซาตานจึงส่งเสริมคำโกหกที่ว่า พระยะโฮวาไม่รักเรา หรือถือว่าเราไม่มีค่า?
17 มีคำโกหกอีกอย่างที่ซาตานใช้ได้ผล นั่นคือคำโกหกที่ว่าพระยะโฮวาไม่รักเรา หรือถือว่าเราไม่มีค่า. ซาตานมีเวลาหลายพันปีเพื่อศึกษามนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. มันรู้ดีว่าความท้อแท้สามารถบั่นทอนสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. (สุภาษิต 24:10) ซาตานจึงส่งเสริมคำโกหกที่ว่าเราไม่มีค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า. หากเราถูก “ตีล้มลง” และเชื่อว่าพระยะโฮวาไม่ใฝ่พระทัยเรา เราอาจถูกล่อใจให้เลิกราได้. (2 โกรินโธ 4:9, ล.ม.) นั่นเป็นสิ่งที่ซาตาน จอมหลอกลวงต้องการทีเดียว! ถ้าอย่างนั้น เราจะระวังตัวไม่ให้ถูกหลอกด้วยคำโกหกนี้ของซาตานได้อย่างไร?
18. คัมภีร์ไบเบิลให้คำรับรองเราอย่างไรในเรื่องความรักของพระยะโฮวา?
18 จงใคร่ครวญสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับความรักที่พระเจ้ามีต่อเรา. พระคำของพระเจ้าใช้คำเปรียบที่ทำให้บทเพลงสรรเสริญ 56:8) พระองค์ทรงทราบเมื่อคุณ “หัวใจสลาย” และทรงอยู่ใกล้กับคุณในเวลาเช่นนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 34:18, ล.ม.) พระองค์ทรงทราบรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับตัวคุณ รวมทั้งจำนวน “ผม . . . ทุกเส้น.” (มัดธาย 10:29-31) ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด พระเจ้า “ทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์” เพื่อประโยชน์ของคุณ. (โยฮัน 3:16, ล.ม.; ฆะลาเตีย 2:20) บางครั้งคุณอาจรู้สึกยากที่จะเชื่อว่าข้อคัมภีร์เหล่านั้นนำมาใช้ได้กับตัวคุณเอง. อย่างไรก็ตาม เราต้องเชื่อในสิ่งที่พระยะโฮวาตรัส. พระองค์ปรารถนาให้เราเชื่อว่าพระองค์รักเราไม่เพียงฐานะเป็นกลุ่มชน แต่เป็นรายบุคคลด้วย.
เห็นภาพเพื่อรับรองแก่เราว่าพระยะโฮวาทรงสังเกตเห็นและรักเราเป็นรายบุคคล. พระองค์ทรงเก็บน้ำตาของคุณไว้ใน “ขวด” ของพระองค์ ซึ่งหมายความว่า พระองค์ทรงเห็นและจดจำน้ำตาที่คุณหลั่งออกในการบากบั่นรักษาความซื่อสัตย์. (19, 20. (ก) เหตุใดจึงสำคัญที่จะมองให้ออกและไม่ฟังคำโกหกของซาตานที่ว่าพระยะโฮวาไม่รักคุณ? (ข) ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งช่วยพี่น้องที่ท้อแท้ใจอย่างไร?
19 จงมองคำโกหกให้ออกและไม่ฟังคำโกหกนั้น. หากคุณรู้ว่าใครบางคนพูดโกหก คุณก็สามารถป้องกันตัวไม่ให้เขามาหลอกคุณได้. ดังนั้น แค่รู้ว่าซาตานอยากให้คุณเชื่อคำโกหกที่ว่าพระยะโฮวาไม่รักคุณก็ช่วยได้มากเช่นกัน. หลังจากได้อ่านบทความในวารสารหอสังเกตการณ์ ที่เตือนถึงเล่ห์เหลี่ยมของซาตาน คริสเตียนคนหนึ่งบอกว่า “ฉันไม่เคยตระหนักมาก่อนว่าซาตานพยายามใช้ความรู้สึกของฉันทำให้ตัวฉันเองท้อใจ. การรู้อย่างนี้ทำให้ฉันมีแรงกระตุ้นที่จะเอาชนะความรู้สึกเหล่านั้น.”
20 ขอพิจารณาประสบการณ์ของผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งในประเทศแถบอเมริกาใต้. เมื่อไปเยี่ยมบำรุงเลี้ยงเพื่อนร่วมความเชื่อที่ท้อแท้ใจ เขามักจะถามว่า ‘คุณเชื่อตรีเอกานุภาพไหม?’ พี่น้องที่ท้อใจก็มักจะตอบว่า ‘ไม่เชื่อ’ โดยรู้ว่านั่นเป็นคำโกหกอย่างหนึ่งของซาตาน. แล้วผู้ดูแลเดินทางก็ถามต่อไปว่า ‘คุณเชื่อเรื่องไฟนรกไหม?’ อีกครั้งหนึ่งที่คำตอบคือ ‘ไม่!’ จากนั้น ผู้ดูแลเดินทางก็บอกว่ามีคำโกหกของซาตานอีกอย่างหนึ่งที่เรามักจะมองกันไม่ค่อยออกเหมือนอย่างคำโกหกที่กล่าวมา. เขานำความสนใจไปสู่หน้า 249 ข้อ 21 ของหนังสือจงเข้าใกล้พระยะโฮวา * ซึ่งเปิดโปงคำโกหกที่ว่า พระยะโฮวาไม่รักเราเป็นรายบุคคล. ผู้ดูแลเดินทางรายงานถึงผลดีจากการใช้วิธีนี้ช่วยผู้ที่ท้อใจให้มองออกและไม่ฟังคำโกหกนั้นของซาตาน.
ป้องกันตัวไม่ให้ถูกหลอก
21, 22. เหตุใดเราจึงไม่ได้ถูกปล่อยให้ไม่รู้อะไรในเรื่องกลวิธีหลอกลวงของซาตาน และเราควรมีความตั้งใจแน่วแน่ในเรื่องใด?
21 ในช่วงปลายของสมัยสุดท้ายนี้ เป็นที่คาดหมายได้ว่าซาตานจะปล่อยคำโกหกและคำหลอกลวงมากมายออกมาเรื่อย ๆ. น่าดีใจที่พระยะโฮวาไม่ได้ปล่อยให้เราไม่รู้อะไรเลยในเรื่องกลวิธีหลอกลวงของซาตาน. คัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ก็เปิดโปงวิธีการอันชั่วร้ายของพญามารให้เห็นชัด. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) การรู้ล่วงหน้าทำให้เราพร้อมจะเผชิญ.—2 โกรินโธ 2:11.
22 ฉะนั้น ขอให้เราคอยระวังการอ้างเหตุผลของผู้ออกหากต่อ ๆ ไป. ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะหลีกเลี่ยงกับดักที่แฝงเร้นของการหลอกตัวเอง. และขอให้เรามองคำโกหกทั้งสิ้นของซาตานให้ออกและอย่าฟังคำโกหกเหล่านั้น. ด้วยการทำอย่างนั้น เราจะปกป้องสัมพันธภาพระหว่างเรากับ “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง” ผู้ทรงเกลียดชังการหลอกลวง.—บทเพลงสรรเสริญ 31:5; สุภาษิต 3:32.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 เกี่ยวกับรูปคำกริยาที่ได้รับการแปลว่า ‘ชักนำให้หลง’ ที่วิวรณ์ 12:9 นั้น หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งอธิบายว่าคำนี้ “บ่งชี้ถึงการกระทำอย่างต่อเนื่องที่กลายมาเป็นลักษณะนิสัย.”
^ วรรค 20 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดจึงมีการหลอกลวงมากเหลือเกินในโลกทุกวันนี้?
• เราจะระวังตัวไม่ให้ถูกผู้ออกหากหลอกได้อย่างไร?
• เราจะระวังแนวโน้มใด ๆ ที่จะหลอกตัวเองได้อย่างไร?
• เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกหลอกด้วยคำโกหกของซาตานได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 17]
อย่าหลอกตัวเองในเรื่องความบันเทิง
[ภาพหน้า 18]
ในการระวังเพื่อจะไม่หลอกตัวเอง จงวิเคราะห์ตัวเองพร้อมด้วยการอธิษฐาน, รับฟังผู้อื่น, และหล่อเลี้ยงตัวเองเป็นประจำด้วยพระคำของพระเจ้า