เอฮูดหักแอกผู้กดขี่
เอฮูดหักแอกผู้กดขี่
นี่เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับความกล้าหาญ และการใช้แผนการที่แยบยล. เรื่องเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว. บันทึกในพระคัมภีร์เริ่มเรื่องด้วยถ้อยคำที่ว่า “พวกยิศราเอลก็กำเริบในการชั่วต่อพระเนตรพระยะโฮวาอีก: พระยะโฮวาจึงทรงอุดหนุนเอฆโลนพระเจ้าแผ่นดินโมอาบให้ชนะต่อพวกยิศราเอล, ด้วยเขาทำผิดต่อพระเนตรพระยะโฮวา. ท่านได้รวมพวกอำโมนและอะมาเล็ค, ยกมารบพุ่งต่อพวกยิศราเอล, มีชัยชนะตีเมืองป่าตาลได้. พวกยิศราเอลได้ปฏิบัติเอฆโลนพระเจ้าแผ่นดินโมอาบถึงสิบแปดปี.”—วินิจฉัย 3:12-14.
เขตแดนของชาวโมอาบอยู่บนฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนและทะเลเค็ม (เดดซี). แต่พวกโมอาบได้ข้ามแม่น้ำไปยึดครองพื้นที่รอบเยริโค (ยะริโฮ) “เมืองต้นอินทผลัม” เป็นการบีบชาวอิสราเอลให้อยู่ในภาวะจำยอม. (พระบัญญัติ 34:3, ฉบับแปลใหม่) เอฆโลน กษัตริย์ชาวโมอาบเป็น “คนอ้วนใหญ่มาก” ได้บังคับเรียกเก็บส่วยซึ่งเป็นภาระหนักและเป็นความน่าละอายสำหรับชาวอิสราเอลอยู่นานเกือบยี่สิบปี. (วินิจฉัย 3:17) แต่การเรียกร้องเครื่องบรรณาการทำให้พวกอิสราเอลได้ช่องจะกำจัดทรราชผู้นี้.
บันทึกแจ้งว่า “เมื่อพวกยิศราเอลร้องทุกข์ทูลพระยะโฮวา, พระยะโฮวาทรงตั้งผู้ช่วยให้เขา, ชื่อเอฮูดบุตรเฆรา, ในตระกูลเบนยามิน, เป็นผู้ถนัดมือซ้าย: พวกยิศราเอลจึงฝากให้ท่านนำเครื่องบรรณาการไปถวายเอฆโลนพระเจ้าแผ่นดินโมอาบ.” (วินิจฉัย 3:15) พระยะโฮวาคงทำให้เป็นที่แน่นอนว่าเอฮูดถูกเลือกให้นำบรรณาการไปถวาย. ท่านเคยทำหน้าที่นี้มาก่อนหรือไม่นั้นไม่มีการกล่าวถึง. อย่างไรก็ตาม วิธีที่เอฮูดเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อเข้าไปพบเอฆโลนและการใช้กลอุบายนั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าท่านคงรู้ทางเข้าออกภายในเขตราชวังของเอฆโลนมากพอสมควร และสิ่งที่ท่านคาดหมายได้ว่าจะประสบ. ในเรื่องนี้ทั้งหมด การที่ท่านถนัดมือซ้ายเป็นสิ่งสำคัญ.
คนทุพพลภาพหรือนักรบ?
วลีที่ว่า “ถนัดมือซ้าย” ตามความหมายเดิมคือ ‘มือกุด, พิการ, หรือมัดมือขวาไว้.’ ทั้งนี้หมายความว่าเอฮูดพิการ, บางทีมือขวาอาจผิดรูปผิดร่างอย่างนั้นหรือ? ขอพิจารณาสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวเกี่ยวกับคนถนัดมือซ้าย “คนที่คัดเลือกแล้วเจ็ดร้อยคน” จากตระกูลเบนยามิน. วินิจฉัย 20:16 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “ทุกคนเอาสลิงเหวี่ยงก้อนหินให้ถูกเส้นผมได้ไม่ผิดเลย.” เป็นไปได้มากที่ว่าคนเหล่านี้ถูกเลือกเพราะชำนาญศึก. ดังผู้คงแก่เรียนบางคนกล่าว การ “ถนัดมือซ้าย” บ่งชี้ว่าผู้นั้นใช้มือซ้ายได้ดีเท่ากับมือขวาทีเดียว คือถนัดใช้มือทั้งสองข้าง.
อันที่จริง ตระกูลเบนยามินมีชื่อเสียงในด้านคนถนัดมือซ้าย. พระธรรม 1 โครนิกา 12:1, 2 กล่าวถึงพวกเบนยามินว่าเป็นคน “กล้าหาญได้เป็นผู้ช่วยกู้แผ่นดิน. เขาถือธนูขว้างหินและยิงธนูชำนาญทั้งมือขวาและมือซ้าย.” หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่าความสามารถในทางนี้อาจถูกฝึกฝนให้ทำได้ “โดยการผูกยึดแขนขวาของผู้เยาว์ไว้—ด้วยเหตุนี้จึง ‘มัดมือขวาเขาไว้’—และฝึกการใช้มือซ้ายให้คล่องแคล่ว.” ศัตรูของชาติอิสราเอลปกติแล้วถูกฝึกให้เผชิญนักรบที่ถนัด มือขวา. ด้วยเหตุนี้ การฝึกของฝ่ายศัตรู ส่วนใหญ่แล้วคงจะไร้ประโยชน์หากเขาบังเอิญเจอนักรบที่ถนัดมือซ้าย.
“ข้อความลับ” สำหรับกษัตริย์
ขั้นตอนแรกของเอฮูดคือ “จัดหากั้นหยั่นเล่มหนึ่ง”—ดาบสองคมที่สั้นพอที่จะซ่อนไว้ใต้เสื้อผ้าได้. ท่านคงคาดหมายจะถูกค้นตัว. โดยทั่วไปการเหน็บดาบติดตัวมักเหน็บไว้ข้างซ้าย ซึ่งคนถนัดมือขวาสามารถชักออกมาได้ทันท่วงที. เนื่องจากถนัดมือซ้าย เอฮูดจึงซ่อนอาวุธไว้ “ที่ใต้ผ้าที่ต้นขาขวา” ซึ่งมหาดเล็กคงจะไม่ตรวจสอบ. ดังนั้น โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ ขัดขวาง “ท่านก็นำเครื่องบรรณาการถวายเอฆโลนพระเจ้าแผ่นดินโมอาบ.”—วินิจฉัย 3:16, 17.
ไม่มีการบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงต้น ๆ ในราชสำนักของเอฆโลน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเพียงแต่ว่า “เมื่อ [เอฮูด] ถวายเสร็จแล้ว, จึงให้พวกที่แบกมานั้นกลับไปเสีย.” (วินิจฉัย 3:18) เอฮูดนำเครื่องบรรณาการมาถวายแล้วเดินออกจากวังของเอฆโลนพร้อมกลุ่มลูกหาบจนมาถึงบริเวณที่ปลอดภัย และหลังจากให้พวกนั้นไปแล้ว ท่านก็ย้อนกลับเข้าไปในวัง. ทำไม? การที่ท่านให้กลุ่มผู้ชายไปด้วยก็เพื่อการดูแลคุ้มครอง, หรือทำให้เป็นพิธีการเท่านั้น, หรือบางทีเพียงแต่ให้เป็นคนแบกของบรรณาการไหม? และท่านต้องการให้เขาไปเสียก่อนท่านจะลงมือปฏิบัติตามแผน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาไหม? ไม่ว่าเอฮูดคิดอะไรอยู่ก็ตาม ท่านย้อนกลับไปเพียงผู้เดียวอย่างกล้าหาญ.
“ฝ่ายท่าน [เอฮูด] กลับมาทางที่สลักหินริมฆิลฆาลทูลว่า, ‘ข้าแต่กษัตริย์, ข้าพเจ้าขอกราบทูลข้อความลับให้ทราบ.’ ” ไม่มีการชี้แจงในพระคัมภีร์ว่าเอฮูดจัดการอย่างไรถึงได้เข้าเฝ้าเอฆโลนอีก. พวกมหาดเล็กไม่ระแวงสงสัยอะไรเลยหรือ? พวกเขาคิดไหมว่าลำพังอิสราเอลคนเดียวเข้าเฝ้าเจ้านายของตนคงไม่เป็นภัยคุกคาม? ที่เอฮูดเข้าไปเพียงลำพังทำให้ดูเหมือนว่าท่านกำลังหักหลังเพื่อนร่วมชาติไหม? ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เอฮูดแสวงโอกาสเข้าเฝ้ากษัตริย์เป็นการส่วนตัว และท่านได้โอกาสนั้น.—วินิจฉัย 3:19.
เรื่องราวที่มีขึ้นโดยการดลใจบอกต่อไปว่า “เอฮูดเข้ามาเฝ้า [เอฆโลน]; ในขณะประทับอยู่บนพระที่นั่งแต่องค์เดียว ที่ห้องเย็นชั้นบนทูลว่า, ‘มีพระดำรัสแต่พระเจ้าจะกราบทูลให้ทราบ.’ ” เอฮูดไม่ได้พาดพิงถึงข่าวสารอันเป็นถ้อยแถลงของพระเจ้า. สิ่งที่เอฮูดคิดอยู่ในใจคือการใช้กั้นหยั่นอาวุธติดตัว. บางทีกษัตริย์อาจคาดหมายจะได้ฟังข่าวจากคิโมศพระเจ้าที่ตนนับถือ จึงได้ “ลุกขึ้นจากพระที่นั่ง.” ว่องไวปานสายฟ้าแลบ เอฮูดชักกั้นหยั่นออกมาแล้วแทงท้องเอฆโลน. ดูเหมือนว่ากั้นหยั่นไม่มีโกร่ง. ด้วยเหตุนี้ “กั้นหยั่นจมเข้าไปหมดทั้งด้าม, และปลายทะลุหลัง; มันข้นก็หุ้มกั้นหยั่นไว้ [“ของโสโครกออกมา,” ล.ม.]” ถ้าไม่ทางบาดแผลก็ทางทวารหนักของเอฆโลนเพราะไม่สามารถบังคับไว้ได้.—วินิจฉัย 3:20-22.
หลบหนีไปได้อย่างราบรื่น
โดยไม่มัวเสียเวลาดึงเอากั้นหยั่นออก “เอฮูดออกไปที่เฉลียง [“ช่องลม,” ล.ม.] ปิดทวารห้องชั้นบนลั่นกุญแจเสีย เมื่อเอฮูดไปแล้ว มหาดเล็กก็เข้ามาดู เมื่อเขาเห็นว่าทวารห้องชั้นบนปิดใส่กุญแจอยู่ เขาทั้งหลายคิดว่า ‘พระองค์ท่านกำลังทรงส่งทุกข์อยู่ที่ในห้องเย็น.’ ”—วินิจฉัย 3:23, 24, ฉบับแปลใหม่.
“ช่องลม” ทางที่เอฮูดหลบออกมานั้นคืออะไร? หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า “ความหมายที่แน่นอน [ของคำภาษาฮีบรู] ไม่เป็นที่รู้กัน” แต่ “แนะให้ใช้คำ ‘เฉลียง’ หรือ ‘ระเบียง’ แทน.” เอฮูดได้ปิดประตูจากด้านในและอาศัยเส้นทางอื่นหลบหนีไหม? หรือท่านปิดประตูจากด้านนอกโดยใช้กุญแจที่เอามาจากกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว? ครั้นแล้วท่านก็เดินเนิบ ๆ เป็นปกติผ่านหมู่มหาดเล็กที่เฝ้ายามราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเช่นนั้นไหม? พระคัมภีร์ไม่ได้บอก. แต่ไม่ว่าเอฮูดใช้วิธีไหน ตราบที่พวกมหาดเล็กของเอฆโลนเห็นประตูปิดใส่กุญแจ พวกเขาไม่สงสัยอะไรเลย. เขาคิดแต่เพียงว่ากษัตริย์ของเขา “กำลังทรงส่งทุกข์.”
ในขณะที่พวกมหาดเล็กรักษาพระองค์ยังคงอ้อยอิ่งอยู่นั้น เอฮูดหลบหนีไป. แล้วท่านเรียกชุมนุมเพื่อนร่วมชาติวินิจฉัย 3:25-30.
บอกเขาว่า “จงตามเรามาเถิด: ด้วยพระยะโฮวาทรงมอบพวกโมอาบข้าศึกไว้ในมือท่านทั้งหลายแล้ว.” โดยอาศัยยุทธการยึดท่าข้ามแม่น้ำจอร์แดน พรรคพวกของเอฮูดได้สกัดพวกโมอาบที่ขาดผู้นำซึ่งกำลังหนีข้ามแม่น้ำกลับไปบ้านของตน. ด้วยเหตุนี้ “ขณะนั้น [ชาวอิสราเอล] ก็ประหารชีวิตพวกโมอาบประมาณหมื่นคน, คือบรรดาคนฉกรรจ์, กล้าหาญมีกำลัง; หนีก็ไม่พ้นสักคนเดียว. ครั้งนั้นพวกโมอาบพ่ายแพ้ฝีมือพวกยิศราเอล. แผ่นดินก็เป็นสุขสงบเงียบอยู่แปดสิบปี.”—บทเรียนสำหรับพวกเรา
สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยเอฮูดเป็นบทเรียนสอนใจเราว่ามีผลเสียหายใหญ่หลวงเมื่อเรากระทำชั่วต่อคลองพระเนตรพระยะโฮวา. ในทางกลับกัน พระยะโฮวาทรงช่วยคนเหล่านั้นที่สำนึกผิดและกลับมาหาพระองค์.
แผนการต่าง ๆ ของเอฮูดประสบผลสำเร็จหาใช่ด้วยความเฉลียวฉลาดของท่าน หรือเพราะฝ่ายศัตรูไร้ความสามารถไม่. การดำเนินงานให้ลุล่วงตามพระประสงค์ของพระเจ้านั้นไม่ได้อาศัยปัจจัยใด ๆ จากมนุษย์. เหตุผลสำคัญในเรื่องความสำเร็จผลของเอฮูดเป็นเพราะพระเจ้าทรงหนุนหลังเนื่องจากท่านทำงานประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถเอาชนะได้ เพื่อการปลดปล่อยประชาชนของพระองค์เป็นอิสระ. พระเจ้าได้ตั้งเอฮูดขึ้นมา และ “พระยะโฮวาทรงตั้งผู้วินิจฉัยขึ้นให้ [ประชาชนของพระองค์] เมื่อไร, พระยะโฮวาสถิตอยู่ด้วยผู้วินิจฉัยนั้น.”—วินิจฉัย 2:18; 3:15.