จงต้านทานวิญญาณของโลกที่เปลี่ยนไป
จงต้านทานวิญญาณของโลกที่เปลี่ยนไป
“เราทั้งหลายไม่ได้รับวิญญาณของโลก, แต่ได้รับพระวิญญาณซึ่งมาจากพระเจ้า.”—1 โกรินโธ 2:12.
1. ฮาวาถูกหลอกในทางใดบ้าง?
“งูล่อลวงข้าพเจ้า.” (เยเนซิศ 3:13) ด้วยถ้อยคำไม่กี่คำนี้ ฮาวา ผู้หญิงคนแรก พยายามอธิบายเหตุผลที่เธอเข้าสู่แนวทางกบฏต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. สิ่งที่เธอพูดเป็นความจริง แม้ว่าเป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับการทำผิดของเธอ. ต่อมา อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนว่า “[ฮาวา] ได้ถูกหลอกลวง.” (1 ติโมเธียว 2:14) เธอถูกหลอกให้เชื่อว่า การไม่เชื่อฟังโดยการกินผลไม้ต้องห้ามนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เธอ ทำให้เธอเป็นเหมือนพระเจ้า. เธอยังถูกหลอกด้วยในเรื่องที่ว่าใครคือผู้ล่อลวงเธอ. เธอไม่รู้ว่าซาตานพญามารต่างหากที่พูดผ่านทางงูนั้น.—เยเนซิศ 3:1-6.
2. (ก) ซาตานชักนำผู้คนให้หลงอย่างไรในทุกวันนี้? (ข) “วิญญาณของโลก” คืออะไร และเราจะพิจารณาคำถามอะไรในตอนนี้?
2 นับตั้งแต่สมัยของอาดามกับฮาวา ซาตานยังคงหลอกลวงผู้คนเรื่อยมา. อันที่จริง มัน “ชักนำแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ให้หลง.” (วิวรณ์ 12:9, ล.ม.) กลอุบายของมันไม่เปลี่ยนไป. แม้ว่ามันไม่ได้ใช้งูจริง ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่มันยังคงปิดซ่อนตัวตนจริง ๆ ของมัน. โดยทางภาคต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมบันเทิง, สื่อรูปแบบต่าง ๆ, และวิธีการอื่น ๆ ซาตานชักนำผู้คนให้เชื่อว่า การชี้นำด้วยความรักของพระเจ้าไม่จำเป็นอีกทั้งไม่เป็นประโยชน์อะไรสำหรับพวกเขา. การดำเนินการอย่างต่อเนื่องของพญามารเพื่อหลอกลวงทำให้ผู้คนทุกหนแห่งมีน้ำใจต่อต้านกฎหมายและหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. คัมภีร์ไบเบิลเรียกน้ำใจนี้ว่า “วิญญาณของโลก.” (1 โกรินโธ 2:12) วิญญาณนี้มีอิทธิพลชักจูงอย่างมีพลังต่อความเชื่อ, เจตคติ, และความประพฤติของคนที่ไม่รู้จักพระเจ้า. วิญญาณนี้ปรากฏชัดอย่างไร และเราจะต้านทานอิทธิพลที่เสื่อมทรามนี้ได้อย่างไร? ให้เรามาดูกัน.
ค่านิยมทางศีลธรรมกำลังเสื่อมถอย
3. เหตุใด “วิญญาณของโลก” จึงปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน?
3 ปัจจุบัน “วิญญาณของโลก” ปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ. (2 ติโมเธียว 3:1-5) คุณคงได้สังเกตว่าค่านิยมทางศีลธรรม กำลังเสื่อมถอย. พระคัมภีร์อธิบายเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น. หลังจากการสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าในปี 1914 เกิดสงครามขึ้นในสวรรค์. ซาตานกับทูตสวรรค์ที่เป็นผีปิศาจพรรคพวกของมันพ่ายแพ้ และถูกขับลงมายังบริเวณโลก. ด้วยความโกรธอย่างยิ่ง ซาตานพยายามหนักยิ่งขึ้นเพื่อดำเนินการหลอกลวงทั่วโลก. (วิวรณ์ 12:1-9, 12, 17) ในทุกทางที่ทำได้ มันพยายาม “ล่อลวงแม้ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้หลง ถ้าเป็นได้.” (มัดธาย 24:24, ฉบับแปลใหม่) ฐานะประชาชนของพระเจ้า เราคือเป้าหมายหลักของมัน. มันพยายามทำลายสภาพฝ่ายวิญญาณของเราเพื่อเราจะสูญเสียความโปรดปรานจากพระยะโฮวาและความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์.
4. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อคัมภีร์ไบเบิล และโลกมีทัศนะเช่นไร?
4 ซาตานพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล หนังสืออันล้ำค่าที่สอนเราเกี่ยวกับพระผู้สร้างของเราที่เปี่ยมด้วยความรัก. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวารักและถือว่าคัมภีร์ไบเบิลมีค่ามาก. เรารู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ หาใช่คำของมนุษย์ไม่. (1 เธซะโลนิเก 2:13; 2 ติโมเธียว 3:16) แต่โลกของซาตานอยากให้เราคิดไปอีกอย่าง. ตัวอย่างเช่น คำนำในหนังสือเล่มหนึ่งที่กล่าวโจมตีคัมภีร์ไบเบิลเขียนว่า “ไม่มีอะไรเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่ ‘บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์’ นี่ไม่ใช่ ‘พระคำของพระเจ้า.’ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เขียนโดยพวกนักบุญที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า แต่เขียนโดยพวกผู้นำศาสนาที่แสวงหาอำนาจ.” คนที่ถูกชักนำให้หลงเชื่อคำอ้างเช่นนั้นอาจง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อของความคิดเห็นผิด ๆ ที่ว่า พวกเขามีอิสระนมัสการพระเจ้าในวิธีใดก็ตามที่พวกเขาพอใจ หรือที่จะไม่นมัสการพระองค์เลย.—สุภาษิต 14:12.
5. (ก) นักเขียนคนหนึ่งกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์ไบเบิล? (ข) แนวความคิดแบบโลกที่มีอยู่ทั่วไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเป็นเช่นไร? (รวมกรอบในหน้าถัดไป.)
5 การโจมตีคัมภีร์ไบเบิลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งความหน้าซื่อใจคดทางศาสนาของคนที่อ้างว่าสนับสนุนคัมภีร์ไบเบิล ทำให้เกิดความไม่พอใจศาสนามากขึ้น รวมถึงศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์ไบเบิล. ในรายงานข่าวและในหมู่ผู้มีการศึกษาระดับสูง ศาสนากำลังถูกโจมตี. นักเขียนคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ทัศนะเกี่ยวกับศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ที่มีทั่วไปเป็นไปในแง่ลบ. อย่างดีที่สุด ศาสนาเหล่านี้ก็ถูกมองว่ามีความเก่าแก่อันน่าดึงดูดใจ. ที่หนักที่สุด คือถูกมองว่าเป็นแนวความคิดอันล้าสมัยที่ถ่วงการพัฒนาทางปัญญาและขัดขวางความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์. ไม่กี่ปีมานี้ ความรู้สึกดูแคลนได้ขยายตัวไปเป็นการกล่าวเยาะเย้ยและการเป็นปฏิปักษ์อย่างเปิดเผย.” การเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวบ่อยครั้งมีต้นตอมาจากผู้ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระเจ้า และคนที่ “คิดในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ.”—โรม 1:20-22.
6. โลกมีทัศนะเช่นไรต่อความประพฤติทางเพศที่พระเจ้าทรงตำหนิ?
6 ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ผู้คนหันเหออกไปไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ จากมาตรฐานของพระเจ้าด้านความประพฤติ. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศว่า “น่าละอาย.” (โรม 1:26, 27) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวด้วยว่าคนที่ทำผิดประเวณีและเล่นชู้จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. (1 โกรินโธ 6:9) กระนั้น ในหลาย ดินแดน ความประพฤติทางเพศเหล่านี้ไม่เพียงถือว่ายอมรับได้เท่านั้น แต่ยังมีการทำให้ดูน่าดึงดูดใจในหนังสือ, นิตยสาร, เพลง, ภาพยนตร์, และรายการทีวี. คนที่ไม่เห็นด้วยกับความประพฤติเช่นนั้นถูกมองว่ามีจิตใจคับแคบ, ชอบตัดสินคนอื่น, และก้าวไม่ทันกับความคิดที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน. แทนที่จะถือว่ามาตรฐานของพระเจ้าเป็นการแสดงถึงความห่วงใยรักใคร่ โลกถือว่ามาตรฐานของพระองค์เป็นสิ่งกีดขวางอิสรภาพและการทำตามความพึงพอใจของตน.—สุภาษิต 17:15; ยูดา 4.
7. เราควรถามตัวเองด้วยคำถามอะไรบ้าง?
7 ขณะที่อยู่ในโลกซึ่งยึดมั่นกับทัศนะที่ขัดกับพระเจ้ามากขึ้นทุกที นับว่าสุขุมที่เราจะตรวจสอบทัศนะและค่านิยมของตัวเอง. เป็นระยะ ๆ เราควรตรวจสอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาพร้อมด้วยการอธิษฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้ลอยห่างไปทีละเล็กทีละน้อยจากทัศนะและมาตรฐานของพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันให้ความบันเทิงแก่ตัวเองด้วยเนื้อหาที่เมื่อหลายปีก่อนฉันจะหลีกเลี่ยงไหม? ฉันรับได้มากขึ้นกับความประพฤติที่พระเจ้าทรงตำหนิไหม? ฉันมีแนวโน้มจะถือว่าสิ่งฝ่ายวิญญาณมีความสำคัญน้อยกว่าแต่ก่อนไหม? วิธีที่ฉันดำเนินชีวิตแสดงไหมว่าฉันให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรกในชีวิต?’ (มัดธาย 6:33) การไตร่ตรองเช่นนี้จะช่วยเราต้านทานวิญญาณของโลก.
“ไม่ลอยห่างไป”
8. คนเราอาจลอยห่างไปจากพระยะโฮวาได้อย่างไร?
8 อัครสาวกเปาโลเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “จำเป็นที่เราจะเอาใจใส่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ยินแล้วนั้นให้มากกว่าปกติ เพื่อว่าเราจะไม่ลอยห่างไป.” (เฮ็บราย 2:1, ล.ม.) เรือที่ล่องลอยออกนอกเส้นทางย่อมจะไปไม่ถึงจุดหมาย. ถ้ากัปตันไม่ได้ใส่ใจต่อกระแสคลื่นลม เรือของเขาอาจล่องลอยผ่านพื้นที่จอดเรือที่ปลอดภัยไป แล้วเกยฝั่งที่เป็นหิน. คล้ายกัน ถ้าเราไม่เอาใจใส่ความจริงอันล้ำค่าแห่งพระคำของพระเจ้า เราอาจลอยห่างไปจากพระยะโฮวาได้ง่าย ๆ แล้วประสบความอับปางฝ่ายวิญญาณ. ในการประสบความสูญเสียเช่นนั้น ไม่จำเป็นที่ว่าเราจะต้องปฏิเสธความจริงอย่างสิ้นเชิง. อันที่จริง มีน้อยคนที่ปฏิเสธพระยะโฮวาในทันทีและอย่างจงใจ. ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องทีละเล็กทีละน้อยกับบางสิ่งที่หันเหความสนใจของเขาไปจากพระคำของพระเจ้า. โดยแทบไม่รู้ตัว พวกเขาลอยไปสู่การทำบาป. เช่นเดียวกับกัปตันที่นอนหลับ คนเหล่านั้นไม่ตื่นขึ้นจนกระทั่งสายเกินไป.
9. พระยะโฮวาทรงอวยพรซะโลโมในทางใดบ้าง?
9 ขอพิจารณาชีวิตของซะโลโม. พระยะโฮวามอบตำแหน่งกษัตริย์ให้ท่านปกครองชาติอิสราเอล. พระเจ้าอนุญาตให้ซะโลโมสร้างพระวิหารและทรงชี้นำท่านให้เขียนบางส่วนของคัมภีร์ไบเบิล. พระยะโฮวาตรัสกับท่านสองครั้ง และประทานความมั่งคั่ง, ชื่อเสียง, และรัชกาลอันสงบสุข. ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด พระยะโฮวาประทานสติปัญญามากมายแก่ซะโลโม. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้กษัตริย์ซะโลโมมีพระสติปัญญา, และความรู้มากยิ่งนัก, และมีพระทัยกว้างขวางมากดุจทรายที่ชายทะเล. และพระสติปัญญาแห่งกษัตริย์ซะโลโมมีมากยิ่งกว่าสติปัญญาชาวประเทศทั้งปวงฝ่ายทิศตะวันออก, และยิ่งกว่าสติปัญญาทั้งหมด ณ ประเทศอายฆุบโต.” (1 กษัตริย์ 4:21, 29, 30; 11:9) คนเราอาจคิดว่า ถ้าใครสักคนน่าจะ รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ผู้นั้นต้องเป็นซะโลโมอย่างแน่นอน. กระนั้น ซะโลโมลอยออกไปสู่การออกหาก. นั่นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
10. ซะโลโมไม่ได้เชื่อฟังคำสั่งอะไร และผลเป็นเช่นไร?
10 ซะโลโมรู้และเข้าใจกฎหมายของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วน. ท่านคงจะให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคำสั่งที่กำหนดไว้สำหรับผู้ที่ได้เป็นกษัตริย์ของชาติอิสราเอล. ในบรรดาคำสั่งเหล่านั้นมีข้อหนึ่งที่กล่าวว่า “ผู้ครอบครองนั้นห้ามมิให้มีมเหสีมาก, เพื่อมิให้ใจหันหวนเสีย.” (พระบัญญัติ 17:14, 17) ทั้ง ๆ ที่มีคำสั่งชัดเจน ซะโลโมรับผู้หญิงมาเป็นมเหสีเจ็ดร้อยองค์ นางสนมอีกสามร้อยคน. หลายคนในบรรดาหญิงเหล่านี้กราบไหว้บูชาพระของต่างชาติ. เราไม่รู้ว่าทำไมซะโลโมรับหญิงหลายคนมาเป็นมเหสี และเราไม่รู้ว่าท่านอ้างเหตุผลเช่นไรในการทำเช่นนั้น. ที่เรารู้แน่ ๆ ก็คือ ท่านไม่เชื่อฟังคำสั่งที่ชัดเจนของพระเจ้า. ผลเป็นจริงอย่างที่พระเจ้าเตือนไว้ว่าจะเป็น. เราอ่านว่า “บรรดามเหสี [ของซะโลโม] ก็ทรงหันพระทัยของพระองค์ [“ทีละเล็กทีละน้อย,” ล.ม.] . . . ให้ไปตามพระอื่น.” (1 กษัตริย์ 11:3, 4, ฉบับแปลใหม่) สติปัญญาของท่านซึ่งได้รับจากพระเจ้าเสื่อมลง “ทีละเล็กทีละน้อย” แต่ก็เป็นไปอย่างแน่นอน. ท่านลอยห่างไปทุกที. ในที่สุด ความปรารถนาของซะโลโมที่จะเอาใจบรรดามเหสีนอกรีตก็เข้าแทนที่ความปรารถนาของท่านที่จะเชื่อฟังพระเจ้าและทำให้พระองค์พอพระทัย. ช่างน่าเศร้าสักเพียงไร เนื่องจากซะโลโมเป็นผู้ที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงมีปัญญาขึ้น, และกระทำให้ใจของเรามีความยินดี; เพื่อเราจะมีคำตอบคนที่ตำหนิเราได้”!—สุภาษิต 27:11.
วิญญาณของโลกมีพลัง
11. สิ่งที่เราป้อนเข้าสู่จิตใจมีผลกระทบต่อความคิดของเราอย่างไร?
11 ตัวอย่างของซะโลโมสอนเราว่า เป็นอันตรายที่จะหาเหตุผลว่าเนื่องจากเรารู้จักความจริงแล้ว อิทธิพลชักจูงของโลกจะไม่มีผลต่อความคิดของเรา. สิ่งที่เรารับประทานเข้าไปส่งผลต่อร่างกายฉันใด สิ่งที่เรารับเข้าไปในจิตใจก็ส่งผลต่อความคิดฉันนั้น. สิ่งที่เราป้อนเข้าสู่จิตใจมีอิทธิพลต่อความคิดและทัศนะของเรา. เพราะตระหนักในความจริงข้อนี้ บริษัทต่าง ๆ จึงใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อโฆษณาสินค้าของตน. การโฆษณาที่ประสบความสำเร็จใช้ถ้อยคำและภาพที่ดึงดูดใจเพื่อกระตุ้นความปรารถนาและความอยากของผู้บริโภค. นักโฆษณายังรู้ด้วยว่าการเห็นโฆษณาเพียงครั้งสองครั้งตามปกติแล้วจะไม่ชักจูงผู้คนให้ไปซื้อสินค้าในทันที. อย่างไรก็ตาม การได้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง บ่อยครั้งทำให้ผู้บริโภคมองสินค้านั้นว่าน่าปรารถนา. การโฆษณาได้ผลจริง มิฉะนั้น คงไม่มีใครลงทุนโฆษณา. การโฆษณาส่งผลกระทบอันทรงพลังต่อความคิดและทัศนคติของผู้คน.
12. (ก) ซาตานชักจูงความคิดของผู้คนโดยวิธีใด? (ข) อะไรแสดงว่าคริสเตียนอาจถูกชักจูงได้?
12 เช่นเดียวกับนักโฆษณา ซาตานส่งเสริมความคิดของมันโดยทำให้ดูน่าดึงดูดใจ โดยรู้อยู่ว่าเวลาจะช่วยให้มันสามารถชักจูงผู้คนให้คล้อยตามความคิดของมัน. โดยทางความบันเทิงและวิธีอื่น ๆ ซาตานหลอกผู้คนให้เห็นดีเป็นชั่วและชั่วเป็นดี. (ยะซายา 5:20) แม้คริสเตียนแท้ก็เคยตกเป็นเหยื่อการดำเนินการแพร่ข้อมูลผิด ๆ ของซาตาน. คัมภีร์ไบเบิลเตือนดังนี้: “พระวิญญาณได้ตรัสไว้โดยแจ่มแจ้งว่า, ภายหลังจะมีบางคนทิ้งความเชื่อเสีย, แล้วไปเชื่อฟังวิญญาณที่ล่อลวงและฟังคำสอนของพวกผีปิศาจ, โดยอาการหน้าซื่อใจคดของคนที่พูดปด, คือทำไปทั้งรู้ ๆ เหมือนอย่างกับเอาเหล็กแดงนาบลงไปบนใจวินิจฉัยผิดและชอบของเขา.”—1 ติโมเธียว 4:1, 2; ยิระมะยา 6:15.
13. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีคืออะไร และการคบหาสมาคมส่งผลต่อเราอย่างไร?
13 ไม่มีใครในพวกเราที่ปลอดผลกระทบจากวิญญาณของโลก. กระแสคลื่นลมของระบบซาตานมีพลังมาก. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราอย่างสุขุมดังนี้: “อย่าหลงผิด. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) การคบหาสมาคมที่ไม่ดีรวมไปถึงสิ่งใดหรือคนใดก็ตาม—แม้กระทั่งภายในประชาคม—ที่สะท้อนวิญญาณของโลก. ถ้าเราคิดว่าการคบหาสมาคมที่ไม่ดีจะไม่ส่งผลเสียต่อตัวเรา เราก็คงต้องลงความเห็นเช่นกันมิใช่หรือว่าการคบหาสมาคมที่ดีจะไม่ส่งผลดีต่อเรา? นั่นเป็นความคิดที่ผิดพลาดสักเพียงไร! คัมภีร์ไบเบิลบอกเรื่องนี้อย่างชัดเจน เมื่อกล่าวว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.”—สุภาษิต 13:20, ล.ม.
14. เราจะต้านทานวิญญาณของโลกได้โดยวิธีใดบ้าง?
14 เพื่อจะต้านทานวิญญาณของโลก เราต้องคบหาสมาคมกับคนมีปัญญา ซึ่งก็คือคนเหล่านั้นที่รับใช้พระยะโฮวา. เราต้องบรรจุความคิดด้วยสิ่งที่เสริมสร้างความเชื่อของเรา. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “สิ่งใดที่จริง, สิ่งใดที่น่าเอาใจใส่อย่างจริงจัง, สิ่งใดที่ชอบธรรม, สิ่งใดที่บริสุทธิ์, สิ่งใดที่น่ารัก, สิ่งใดที่กล่าวถึงในทางดี, มีคุณความดีประการใดและมีสิ่งน่าสรรเสริญประการใด ก็จงใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ต่อ ๆ ไป.” (ฟิลิปปอย 4:8, ล.ม.) ในฐานะผู้มีเจตจำนงเสรี เราสามารถเลือกสิ่งที่เราจะใคร่ครวญ. ขอให้เราเลือกใคร่ครวญในสิ่งที่จะทำให้เราเข้าไปใกล้พระยะโฮวามากขึ้นเสมอ.
พระวิญญาณของพระเจ้ามีพลังเหนือกว่า
15. คริสเตียนในเมืองโครินท์โบราณต่างจากคนอื่น ๆ ในเมืองนั้นอย่างไร?
15 ไม่เหมือนกับคนที่ถูกชักนำให้หลงด้วยวิญญาณของโลก คริสเตียนแท้ได้รับการชี้นำด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. ในจดหมายถึงประชาคมในเมืองโครินท์นั่นเองที่เปาโลได้เขียนว่า “เราทั้งหลายไม่ได้รับวิญญาณของโลก, แต่ได้รับพระวิญญาณซึ่งมาจากพระเจ้า, เพื่อเราทั้งหลายจะได้รู้ถึงสิ่งเหล่านั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงโปรดประทานแก่เรา.” (1 โกรินโธ 2:12) โครินท์สมัยโบราณเป็นเมืองที่ถูกวิญญาณของโลกปกคลุมทั้งเมือง. ชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่มีการเหนี่ยวรั้งทางเพศ จนถึงกับมีการนำชื่อเมืองนี้ไปใช้ในรูปคำกริยาที่มีความหมายว่า “ประพฤติผิดศีลธรรม.” ซาตานได้ทำให้จิตใจชาวเมืองโครินท์มืดไป. ผลคือ พวกเขาแทบไม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. (2 โกรินโธ 4:4) กระนั้น โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระยะโฮวาทรงเปิดตาของชาวโครินท์บางคน ช่วยให้พวกเขาสามารถรับเอาความรู้ในเรื่องความจริง. พระวิญญาณของพระองค์กระตุ้นและชี้นำพวกเขาให้ทำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตเพื่อพวกเขาจะได้รับความพอพระทัยและพระพรจากพระองค์. (1 โกรินโธ 6:9-11) แม้วิญญาณของโลกมีพลัง แต่พระวิญญาณของพระยะโฮวามีพลังเหนือกว่า.
16. เราจะได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าและรักษาไว้ได้อย่างไร?
16 นั่นเป็นจริงในสมัยของเราเช่นกัน. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาเป็นพลังอันทรงฤทธิ์ที่สุดในเอกภพ และพระองค์ประทานสิ่งนี้ให้อย่างเต็มที่แก่ทุกคนที่ขอจากพระองค์ด้วยความเชื่อ. (ลูกา 11:13) อย่างไรก็ตาม เพื่อจะได้รับพระวิญญาณของพระเจ้า เราต้องทำมากกว่าต้านทานวิญญาณของโลก. เรายังต้องศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นประจำและใช้ในชีวิตของเราด้วย เพื่อว่าวิญญาณของเรา —ทัศนะของเรา—จะประสานกับทัศนะของพระองค์. ถ้าเราทำเช่นนั้น พระยะโฮวาจะเสริมกำลังเราให้สามารถยืนหยัดต้านทานกลอุบายใด ๆ ที่ซาตานอาจใช้เพื่อทำลายสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา.
17. ประสบการณ์ของโลตอาจให้กำลังใจเราอย่างไรบ้าง?
17 แม้คริสเตียนไม่เป็นส่วนของโลก แต่พวกเขาก็อยู่ในโลก. (โยฮัน 17:11, 16) ไม่มีใครในพวกเราจะหลีกเลี่ยงวิญญาณของโลกได้อย่างสิ้นเชิง เพราะเราอาจทำงานหรือแม้กระทั่งใช้ชีวิตร่วมกับคนที่ไม่รักพระเจ้าหรือแนวทางของพระองค์. เรารู้สึกเหมือนโลตไหม ที่ “ทุกข์มาก” ถึงกับรู้สึกทรมาน ที่เห็นการกระทำที่ละเลยกฎหมายของผู้คนในเมืองโซโดมที่ท่านอาศัยอยู่? (2 เปโตร 2:7, 8, ล.ม.) ถ้ารู้สึกอย่างนั้น ก็ขอให้เรามีกำลังใจ. พระยะโฮวาทรงคุ้มครองและช่วยโลตให้รอด และพระองค์สามารถทำเช่นเดียวกันนั้นเพื่อเรา. พระบิดาของเราผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักทรงเห็นและทราบสภาพการณ์ของเรา และพระองค์สามารถประทานความช่วยเหลือและกำลังที่จำเป็นแก่เราเพื่อจะรักษาสภาพวิญญาณของเราไว้ได้. (บทเพลงสรรเสริญ 33:18, 19) ถ้าเราหมายพึ่งพระองค์, วางใจพระองค์, และร้องขอพระองค์ พระองค์จะช่วยเราต้านทานวิญญาณของโลก ไม่ว่าสภาพการณ์ของเราจะยุ่งยากเพียงไรก็ตาม.—ยะซายา 41:10.
18. เหตุใดเราควรทะนุถนอมสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวา?
18 ในโลกที่เหินห่างจากพระเจ้าและถูกซาตานหลอก พวกเราฐานะประชาชนของพระยะโฮวาได้รับความรู้เกี่ยวกับความจริง. ด้วยเหตุนี้ เราจึงประสบความยินดีและสันติสุขที่โลกไม่มี. (ยะซายา 57:20, 21; ฆะลาเตีย 5:22) เราทะนุถนอมความหวังอันยอดเยี่ยมเรื่องชีวิตนิรันดร์ในอุทยาน ที่ซึ่งวิญญาณของโลกนี้ที่กำลังจะพินาศจะไม่มีอีกต่อไป. ฉะนั้น ขอให้เราทะนุถนอมสัมพันธภาพอันล้ำค่าระหว่างเรากับพระเจ้า และเฝ้าระวังแก้ไขแนวโน้มใด ๆ ที่จะลอยห่างไปทางฝ่ายวิญญาณ. ขอให้เราเข้าไปใกล้พระยะโฮวายิ่งขึ้น และพระองค์จะช่วยเราต้านทานวิญญาณของโลก.—ยาโกโบ 4:7, 8.
คุณอธิบายได้ไหม?
• ซาตานหลอกและชักนำผู้คนให้หลงในทางใดบ้าง?
• เราจะหลีกเลี่ยงการลอยห่างไปจากพระยะโฮวาได้อย่างไร?
• อะไรแสดงว่าวิญญาณของโลกมีพลัง?
• เราจะได้รับและรักษาพระวิญญาณจากพระเจ้าไว้ได้อย่างไร?
[คำถาม]
[แผนภูมิหน้า 11]
ปัญญาของโลกเทียบกับปัญญาของพระเจ้า
ไม่มีความจริงสัมบูรณ์ แต่ละคนเป็นผู้กำหนดเองว่าอะไรคือความจริง.
“พระคำของ [พระเจ้า] เป็นความจริง.”—โยฮัน 17:17, ล.ม.
เพื่อจะตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดจงอาศัยความรู้สึกของคุณ.
“หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด.”—ยิระมะยา 17:9, ล.ม.
จงทำอย่างที่คุณอยากทำ.
“ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.”—ยิระมะยา 10:23.
ความร่ำรวยเป็นกุญแจสู่ความสุข.
“การรักเงินทองนั้นก็เป็นรากแห่งความชั่วทุกอย่าง.”—1 ติโมเธียว 6:10.
[ภาพหน้า 10]
ซะโลโมลอยห่างจากการนมัสการแท้และหันไปหาพระเท็จ
[ภาพหน้า 12]
เช่นเดียวกับนักโฆษณา ซาตานส่งเสริมวิญญาณของโลก. คุณต้านทานวิญญาณของโลกไหม?