คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
• เราสามารถทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าโศกเศร้าได้อย่างไร เนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่บุคคล?
อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “อย่ากระทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย [“โศกเศร้า,” ล.ม.].” (เอเฟโซ 4:30) บางคนถือว่าถ้อยคำเหล่านี้บ่งชี้ว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นบุคคล. อย่างไรก็ดี บ่อยครั้ง สรรพหนังสือต่าง ๆ ของ “คนต้นเรือนสัตย์ซื่อ” ได้จัดเตรียมข้อพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์และจากพระคัมภีร์ที่ว่า คริสเตียนในยุคแรกถือว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่บุคคลอีกทั้งไม่ใช่พระเจ้าที่เท่าเทียมกับองค์สูงสุดตามที่เรียกกันว่า ตรีเอกานุภาพ. * (ลูกา 12:42) ดังนั้น เปาโลไม่ได้กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าว่าเป็นบุคคล.
พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเป็นพลังปฏิบัติการของพระองค์ที่ไม่ประจักษ์แก่ตา. (เยเนซิศ 1:2) พระเยซูทรงให้บัพติสมา “ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” เช่นเดียวกับที่โยฮันให้บัพติสมาด้วยน้ำ. (ลูกา 3:16) ณ วันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 เหล่าสาวกประมาณ 120 คน “ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ซึ่งเห็นได้ชัดว่า พวกเขาไม่ได้ประกอบด้วยบุคคล. (กิจการ 1:5, 8; 2:4, 33) ผู้ถูกเจิมเหล่านี้ได้รับความหวังฝ่ายสวรรค์ และพระวิญญาณของพระเจ้าชี้นำพวกเขาให้ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์. (โรม 8:14-17; 2 โกรินโธ 1:22) พระวิญญาณก่อให้เกิดผลที่เป็นคุณลักษณะเยี่ยงพระเจ้าและช่วยพวกเขาให้หลีกเลี่ยง “การของเนื้อหนัง” ที่เป็นบาป ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า.—ฆะลาเตีย 5:19-25.
หากเราเป็นเหล่าผู้รับใช้ของพระเจ้าที่มีความหวังบนแผ่นดินโลก เราไม่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ถึงกระนั้น เราสามารถมีพระวิญญาณของพระเจ้าได้มากเท่ากับคนเหล่านั้นที่มีความหวังฝ่ายสวรรค์. ด้วยเหตุนี้ เราก็อาจทำให้พระวิญญาณโศกเศร้าได้เช่นกัน. แต่เราอาจทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
หากเราเพิกเฉยคำแนะนำในพระคัมภีร์ที่เขียนภายใต้การชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราอาจพัฒนาอุปนิสัยต่าง ๆ ซึ่งอาจก่อผลเป็นการทำบาปโดยเจตนาต่อพระวิญญาณ ทำให้สูญเสียความโปรดปรานของพระยะโฮวา และถูกทำลายในที่สุด. (มัดธาย 12:31, 32) เราอาจยังไม่ได้ทำบาปร้ายแรง แต่เราอาจเริ่มเดินบนเส้นทางที่ผิด ซึ่งในที่สุดอาจนำเราไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการชี้นำของพระวิญญาณ. ภายใต้สภาพการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าว เราจะทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์โศกเศร้า.
ถ้าเช่นนั้น เราจะหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้าได้อย่างไร? แน่นอน เราต้องควบคุมความคิดและการกระทำของเรา. ในจดหมายที่เขียนถึงชาวเอเฟโซส์ ในบทที่ 4 อัครสาวกเปาโลพูดถึงการหลีกเลี่ยงแนวโน้มในเรื่องการใช้ถ้อยคำที่ไม่ซื่อตรง, การเก็บ ความโกรธไว้, ความเกียจคร้าน, และคำพูดที่ไม่เหมาะสม. หากเราสวม “บุคลิกภาพใหม่” และกระนั้นปล่อยให้ตัวเราถอยกลับไปสู่การกระทำที่ไม่ดีเช่นนี้ เรากำลังทำอะไร? เรากำลังทำตรงกันข้ามกับคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าซึ่งได้รับการดลใจจากพระวิญญาณ. โดยการทำเช่นนี้ เราจะทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์โศกเศร้า.
ในเอเฟโซบท 5 เราอ่านคำแนะนำของเปาโลเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงความสนใจอย่างไม่บังควรในเรื่องการผิดประเวณี. นอกจากนี้ ท่านอัครสาวกยังกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อให้หลีกเลี่ยงการประพฤติที่น่าละอายและการพูดตลกหยาบโลน. หากเราไม่ต้องการทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าโศกเศร้า เราควรจะจดจำคำแนะนำนี้เมื่อเลือกความบันเทิง. ทำไมเราจะแสดงความสนใจสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวโดยการพูดคุยและอ่านเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น รวมทั้งการดูภาพเหล่านั้นในโทรทัศน์หรือในที่อื่น ๆ?
แน่นอน เราอาจทำให้พระวิญญาณโศกเศร้าในวิธีอื่น ๆ อีก. พระวิญญาณของพระยะโฮวาส่งเสริมเอกภาพในประชาคม แต่สมมุติว่าเราแพร่คำซุบซิบนินทาที่ก่อความเสียหายหรือสนับสนุนการแบ่งพรรคแบ่งพวกในประชาคม. เราจะขัดขวางการชี้นำของพระวิญญาณเพื่อความเป็นเอกภาพมิใช่หรือ? ตามหลักแล้ว เราจะทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์โศกเศร้า เช่นเดียวกับคนเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกในประชาคมที่เมืองโครินท์. (1 โกรินโธ 1:10; 3:1-4, 16, 17) เราจะทำให้พระวิญญาณโศกเศร้าด้วยเช่นกัน หากเราจงใจบ่อนทำลายความน่านับถือต่อพวกผู้ชายที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระวิญญาณในประชาคม.—กิจการ 20:28; ยูดา 8.
ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นการฉลาดสุขุมที่จะพิจารณาเจตคติและการกระทำของเรา โดยคำนึงถึงสิ่งที่เราทราบว่าเป็นการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังที่สะท้อนให้เห็นในคัมภีร์ไบเบิลและในประชาคมคริสเตียน. นอกจากนี้ ขอให้เรา “อธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ยอมให้พระวิญญาณโน้มนำและปฏิบัติสอดคล้องเสมอกับสิ่งที่มีบอกไว้ในพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. (ยูดา 20, ล.ม.) ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่ทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า แต่จะยอมให้พระวิญญาณนำเราเสมอเพื่อถวายเกียรติแด่พระนามอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา.
• พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเทียบความลำบากของคนมั่งมีที่จะเข้าในราชอาณาจักรกับอูฐที่พยายามจะลอดรูเข็ม. พระเยซูกำลังตรัสถึงอูฐตามตัวอักษรและเข็มเย็บผ้าจริง ๆ ไหม?
ถ้อยคำที่ยกจากพระคัมภีร์สองในสามครั้งในเรื่องนี้คล้ายกันทีเดียว. ตามบันทึกของมัดธาย พระเยซูตรัสว่า “ตัวอูฐจะลอดรูเข็มก็ง่ายกว่าคนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า.” (มัดธาย 19:24) ในทำนองเดียวกัน มาระโก 10:25 อ่านว่า “ตัวอูฐจะลอดรูเข็มง่ายกว่าคนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า.”
หนังสืออ้างอิงบางเล่มให้ความเห็นว่า “รูเข็ม” คือประตูเล็ก ๆ ในประตูใหญ่บานหนึ่งของกรุงเยรูซาเลม. หากประตูใหญ่ถูกปิดในตอนกลางคืน ประตูเล็กก็จะเปิดไว้. เชื่อกันว่าอูฐสามารถลอดผ่านประตูนั้นได้พอดี. พระเยซูคิดถึงสิ่งนี้ไหม?
ปรากฏชัดว่าไม่เป็นเช่นนั้น. ดูเหมือนว่าพระเยซูกำลังตรัสถึงเข็มเย็บผ้า. เนื่องจากมีการพบเข็มสมัยโบราณในภูมิภาคนั้นซึ่งทำมาจากกระดูกและโลหะ เข็มเหล่านี้คงต้องมีใช้อยู่ทั่วไปในครัวเรือน. ลูกา 18:25 ช่วยขจัดข้อสงสัยใด ๆ ในคำตรัสของพระเยซู เพราะที่นั่นยกคำตรัสของพระองค์มากล่าวที่ว่า “ตัวอูฐจะลอดรูเข็ม [“รูเข็มเย็บผ้า,” ล.ม.] ก็ง่ายกว่าคนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า.”
ผู้เรียบเรียงพจนานุกรมหลายคนเห็นพ้องว่า คำภาษากรีกที่ตรงกับคำนี้ควรจะได้รับการแปลว่า “เข็มเย็บผ้า” ดังที่ได้มีการแปลเช่นนั้นในฉบับแปลโลกใหม่. คำภาษากรีกสำหรับคำว่า ‘เข็ม’ ในมัดธาย 19:24 และมาระโก (ราฟิส) มาจากคำกริยาที่หมายถึง “เย็บ.” และมีการใช้คำภาษากรีกที่พบใน 10:25ลูกา 18:25 (เวโลนี) เพื่อหมายถึงเข็มเย็บแผลตามตัวอักษร. พจนานุกรมอธิบายศัพท์พันธสัญญาเดิมและใหม่ของไวน์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ความคิดที่ว่า ‘รูเข็ม’ หมายถึงประตูเล็ก ๆ นั้นดูเหมือนจะเป็นความคิดแบบสมัยใหม่ ไม่มีร่องรอยของความคิดเช่นนั้นในสมัยโบราณ. จุดประสงค์ของพระเยซูในคำตรัสนั้นก็คือเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นไปไม่ได้ของมนุษย์และไม่มีความจำเป็นต้องพยายามทำให้ความหมายของความลำบากสำหรับคนมั่งมีที่จะเข้าในราชอาณาจักรอ่อนลง โดยการแปลความหมายของเข็มเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เครื่องใช้ธรรมดา.”—1981 เล่ม 3 หน้า 106.
บางคนให้ความเห็นว่า คำว่า “อูฐ” ในข้อเหล่านี้ควรจะแปลว่า “เชือก.” คำภาษากรีกสำหรับคำว่าเชือก (คามิลอส) และคำว่าอูฐ (คาเมลอส) นั้นคล้ายคลึงกัน. อย่างไรก็ตาม คำภาษากรีกสำหรับคำว่า “อูฐ” แต่ไม่ใช่สำหรับคำว่า “เชือก” นั้นปรากฏที่มัดธาย 19:24 ในสำเนาภาษากรีกของกิตติคุณมัดธายฉบับเก่าแก่ที่สุดที่ยังมีอยู่ (ฉบับไซนายติก, ฉบับวาติกัน หมายเลข 1209, และฉบับอะเล็กซานไดรน์). มีรายงานว่า มัดธายเขียนกิตติคุณของท่านแต่เดิมในภาษาฮีบรูและอาจแปลกิตติคุณนั้นเป็นภาษากรีกด้วยตัวเอง. ท่านทราบอย่างแท้จริงถึงสิ่งที่พระเยซูตรัสและโดยเหตุนั้นจึงได้ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้อง.
ดังนั้นแล้ว พระเยซูหมายถึงเข็มเย็บผ้าตามตัวอักษรและอูฐจริง ๆ. พระองค์ทรงใช้สองสิ่งนี้เพื่อเน้นถึงความเป็นไปไม่ได้ของบางสิ่ง. แต่พระเยซูหมายความว่า คนมั่งมีจะไม่มีทางได้เข้าในราชอาณาจักรไหม? ไม่ เนื่องจากคำตรัสของพระเยซูนั้นไม่ได้มุ่งหมายจะให้เข้าใจตามตัวอักษร. พระองค์ทรงใช้อติพจน์เพื่อแสดงว่า เช่นเดียวกับที่อูฐไม่สามารถลอดรูเข็มเย็บผ้าจริง ๆ ได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่คนมั่งมีจะเข้าในราชอาณาจักร หากเขายังยึดติดอยู่กับความมั่งมีของตนและไม่ได้ให้พระยะโฮวาอยู่ในอันดับแรกในชีวิตของเขา.—ลูกา 13:24; 1 ติโมเธียว 6:17-19.
พระเยซูตรัสถ้อยคำนี้ทันทีหลังจากที่ขุนนางหนุ่มผู้มั่งมีปฏิเสธสิทธิพิเศษอันใหญ่หลวงแห่งการเป็นสาวกของพระเยซู. (ลูกา 18:18-24) คนมั่งคั่งที่รักทรัพย์สมบัติของตนมากกว่าสิ่งฝ่ายวิญญาณไม่อาจคาดหมายจะได้รับชีวิตนิรันดร์ในการจัดเตรียมเรื่องราชอาณาจักร. กระนั้น คนมั่งมีบางคนได้เข้ามาเป็นเหล่าสาวกของพระเยซู. (มัดธาย 27:57; ลูกา 19:2, 9) ดังนั้น คนมั่งมีที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตนและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าสามารถได้รับความรอดจากพระองค์.—มัดธาย 5:3; 19:16-26.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 โปรดดูจุลสารคุณควรเชื่อในตรีเอกานุภาพไหม? (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.