กัปปะโดเกียดินแดนที่ผู้คนอาศัยในบ้านที่เป็นรูปเป็นร่างโดยลมและน้ำ
กัปปะโดเกียดินแดนที่ผู้คนอาศัยในบ้านที่เป็นรูปเป็นร่างโดยลมและน้ำ
อัครสาวกเปโตรได้กล่าวถึงกัปปะโดเกีย. ในจดหมายฉบับแรกของท่านที่เขียนขึ้นโดยการดลใจ มีส่วนหนึ่งที่ท่านได้กล่าวถึง “ผู้อาศัยชั่วคราวที่กระจัดกระจายอยู่ใน . . . กัปปะโดเกีย.” (1 เปโตร 1:1, ล.ม.) กัปปะโดเกียเป็นดินแดนแบบไหน? ทำไมประชากรของดินแดนนี้จึงอาศัยในบ้านที่เจาะเข้าไปในหิน? พวกเขาเข้ามาติดต่อเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสเตียนได้อย่างไร?
ดับเบิลยู. เอฟ. อินส์เวิร์ท นักเดินทางชาวบริเตนซึ่งได้แวะที่กัปปะโดเกียในช่วงทศวรรษ 1840 กล่าวว่า “จู่ ๆ เราก็หลงเข้ามาในภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคยซึ่งมีหินรูปกรวยและเสาหินอยู่มากมาย.” ภูมิทัศน์ที่ไม่มีใดเหมือนนี้ยังคงทำให้เหล่าผู้มาเยือนในสมัยปัจจุบันตื่นตะลึงที่ได้เห็นภูมิภาคนี้ของตุรกี. “รูปสลัก” ที่เป็นหินทรงแปลก ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเหมือนเหล่าทหารที่ยืนเฝ้ายามอย่างเงียบกริบในท่ามกลางหุบเขาต่าง ๆ แห่งกัปปะโดเกีย. บางอันดูเหมือนปล่องไฟยักษ์ที่สูงตระหง่านขึ้นไปในท้องฟ้าถึง 30 เมตรหรือมากกว่านั้น. บางอันคล้ายกรวยไอศกรีมยักษ์, เสาหินยอดแหลม, หรือเห็ด.
แสงอาทิตย์ระบายสีรูปสลักเหล่านี้ให้มีสีสันแตกต่างกันในช่วงต่าง ๆ ของวันอย่างงดงามจริง ๆ! ในตอนรุ่งอรุณ รูปสลักเหล่านี้เป็นสีชมพูอ่อน. พอตอนกลางวันก็กลายเป็นสีขาวงาช้าง และอาทิตย์อัสดงทำให้พวกมันเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง. “หินรูปกรวยและเสาหิน” เหล่านี้เกิดจากอะไร? และเหตุใดผู้คนในภูมิภาคนี้จึงสร้างบ้านในหินเหล่านี้?
เป็นรูปเป็นร่างโดยลมและน้ำ
กัปปะโดเกียตั้งอยู่ในใจกลางคาบสมุทรอนาโตเลีย ซึ่งเชื่อมต่อเอเชียกับยุโรป. ภูมิภาคนี้คงจะเป็นที่ราบสูง หากไม่มีภูเขาไฟสองลูก. หลายพันปีมาแล้ว การระเบิดอันมีพลังของภูเขาไฟทั้งสองได้ทำให้บริเวณนั้นปกคลุมไปด้วยหินสองชนิด คือหินอัคนีบะซอลต์และหินตะกอนทูฟา ซึ่งเป็นหินสีอ่อน ๆ ที่เกิดจากการแข็งตัวของเถ้าภูเขาไฟ.
เมื่อแม่น้ำ, สายฝน, และลมเริ่มเซาะกร่อนหินตะกอนทูฟา หุบผาชันก็เกิดขึ้น. ในที่สุด หน้าผาบางส่วนที่อยู่ริมหุบผาชันเหล่านี้ค่อย ๆ สึกกร่อนจนกลายเป็นเสาหินรูปกรวยจำนวนมหาศาล ซึ่งตกแต่งดินแดนนี้ด้วยประติมากรรมที่ไม่พบเห็นที่อื่นใดในโลก. หินรูปกรวยบางอันมีรูพรุนเต็มไปหมดซึ่งดูคล้ายรวงผึ้ง. ประชากรในท้องถิ่นได้เจาะหินตะกอนเป็นห้อง ๆ เพื่อเป็นที่อาศัยและเจาะห้องเพิ่มอีกเมื่อครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น. นอกจากนี้ พวกเขายังพบว่าที่อาศัยเหล่านี้จะเย็นสบายในฤดูร้อนและจะอบอุ่นในฤดูหนาว.
การอาศัยอยู่ ณ ทางแยกแห่งอารยธรรม
เป็นไปได้ว่า เหล่าผู้อาศัยในถ้ำแห่งกัปปะโดเกียคงจะไม่ค่อยติดต่อกับคน
อื่น หากพวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่ ณ ทางแยกสำคัญแห่งอารยธรรม. เส้นทางสายไหมอันมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้า 6,500 กิโลเมตรที่เชื่อมจักรวรรดิโรมันกับจีน ได้ตัดผ่านกัปปะโดเกีย. นอกจากพวกพ่อค้าแล้ว กองทัพเปอร์เซีย, กรีก, และโรมันก็ได้เดินทางตามเส้นทางนี้. นักเดินทางเหล่านี้ได้นำแนวคิดใหม่ ๆ ทางศาสนาเข้ามา.พอถึงศตวรรษที่สองก่อน ส.ศ. ชาวยิวได้ตั้งรกรากแล้วในกัปปะโดเกีย. และชาวยิวจากภูมิภาคนี้ได้อยู่ที่กรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 33. พวกเขาอยู่ที่นั่นเพื่อฉลองเทศกาลเพนเทคอสต์. ด้วยเหตุนี้ อัครสาวกเปโตรได้ประกาศแก่ชาวยิวในกัปปะโดเกียหลังจากการเทพระวิญญาณบริสุทธิ์. (กิจการ 2:1-9) ดูเหมือนว่า บางคนได้ตอบรับข่าวสารของท่านและนำความเชื่อใหม่ที่เพิ่งได้พบกลับไปที่บ้าน. ด้วยเหตุนี้ เปโตรได้กล่าวถึงคริสเตียนชาวกัปปะโดเกียในจดหมายฉบับแรกของท่าน.
แต่ต่อมา หลักปรัชญานอกรีตได้เริ่มมีอิทธิพลต่อคริสเตียนในกัปปะโดเกีย. ผู้นำคริสตจักรคนสำคัญสามคนแห่งกัปปะโดเกียในศตวรรษที่สี่ถึงกับสนับสนุนอย่างเต็มที่ในหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. พวกเขาคือเกรกอรีแห่งนาซิอันซุส, บาซิลผู้ยิ่งใหญ่, และเกรกอรีแห่งนิสซา น้องชายของเขา.
นอกจากนี้ บาซิลผู้ยิ่งใหญ่ยังได้สนับสนุนวิถีชีวิตแบบนักบวช. ที่อาศัยแบบเรียบง่ายของชาวกัปปะโดเกียซึ่งเจาะเข้าไปในหินนั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับวิถีชีวิตที่สมถะซึ่งเขาได้เสนอแนะไว้. เมื่อชุมชนนักบวชเติบโตขึ้น ได้มีการก่อสร้างโบสถ์ต่าง ๆ ที่มีครบทุกอย่างภายในหินรูปกรวยบางอันที่มีขนาดใหญ่. พอถึงศตวรรษที่ 13 ได้มีการเจาะหินทำเป็นโบสถ์ประมาณสามร้อยหลัง. โบสถ์เหล่านี้หลายหลังได้รับการรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้.
ถึงแม้ไม่มีการใช้โบสถ์และอารามเหล่านั้นอีกต่อไป แต่รูปแบบชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านไป. ถ้ำหลายแห่งยังคงใช้เป็นที่อาศัย. หลายคนที่มาเยือนกัปปะโดเกียรู้สึกทึ่งในวิธีที่ประชากรผู้ชาญฉลาดแห่งดินแดนนี้ได้เปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติให้เป็นที่พักอาศัยที่ใช้การได้.
[แผนที่หน้า 24, 25]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
กัปปะโดเกีย
จีน (คาเทย์)