จุดเด่นจากพระธรรมอาฤธโม
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมอาฤธโม
หลังการอพยพออกจากอียิปต์ ชาวอิสราเอลถูกรวบรวมขึ้นเป็นชาติหนึ่ง. อีกไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาก็จะได้เข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา แต่แล้วพวกเขากลับไม่ได้เข้า. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาต้องรอนแรมประมาณสี่สิบปีใน “ป่าใหญ่อันน่ากลัว.” (พระบัญญัติ 8:15) เพราะเหตุใด? เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในพระธรรมอาฤธโมบอกให้เราทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น. เรื่องราวนี้น่าจะทำให้เราเข้าใจความจำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังพระยะโฮวาพระเจ้าและนับถือผู้ที่เป็นตัวแทนของพระองค์.
พระธรรมอาฤธโมเขียนโดยโมเซในถิ่นทุรกันดารและ ณ ที่ราบโมอาบ ครอบคลุมระยะเวลา 38 ปีกับ 9 เดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1512 ก่อน ส.ศ. จนถึง 1473 ก่อน ส.ศ. (อาฤธโม 1:1; พระบัญญัติ 1:3) เรื่องราวแบ่งออกเป็นสามตอน. ตอนแรกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ภูเขาไซนาย. ตอนที่สองครอบคลุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาติอิสราเอลระหว่างการรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร. และตอนสุดท้ายพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิด ณ ที่ราบโมอาบ. เมื่อคุณอ่านเรื่องราวเหล่านี้ คุณอาจถามตัวเองว่า ‘เหตุการณ์นี้สอนอะไรฉัน? มีหลักการในพระธรรมนี้ไหมที่จะเป็นประโยชน์แก่ฉันในทุกวันนี้?’
ที่ภูเขาไซนาย
การนับจำนวนประชากรครั้งแรกในสองครั้งเกิดขึ้นในช่วงที่ชาวอิสราเอลยังคงตั้งค่ายอยู่ที่เชิงเขาไซนาย. ผู้ชายที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ยกเว้นชาวเลวี มีจำนวนทั้งหมด 603,550 คน. เห็นได้ชัดว่า การนับจำนวนประชากรมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร. ผู้คนทั้งหมดในค่าย ซึ่งรวมทั้งผู้หญิง, เด็ก, และชาวเลวีอาจมีจำนวนมากกว่าสามล้านคน.
หลังจากการนับจำนวนประชากร ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งเกี่ยวกับระเบียบในการเคลื่อนขบวน, รายละเอียดในเรื่องหน้าที่ของพวกเลวีและงานรับใช้ในพลับพลา, พระบัญชาเรื่องการกักกันผู้ที่เป็นโรคติดต่อ, และกฎหมายในเรื่องกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหึงหวงอีกทั้งคำปฏิญาณของพวกนาษารีษ. บท 7 มีข้อมูลเกี่ยวกับการถวายสิ่งของโดยหัวหน้าตระกูลต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีชโลมเปิดแท่นบูชา และบท 9 พิจารณาเรื่องการฉลองปัศคา. นอกจากนั้น ผู้ที่มาชุมนุมกันยังได้รับคำสั่งเกี่ยวกับการตั้งและการรื้อถอนค่าย.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:1, 2—ตระกูลต่าง ๆ ที่แบ่งเป็นกองละสามตระกูลจะต้องตั้งค่ายล้อมรอบ “ธง” อะไรในถิ่นทุรกันดาร? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้คำอธิบายว่าธงที่ว่านี้คืออะไร. อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้ถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นเครื่องหมายทางศาสนา. มีการใช้ธงเพื่อจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์ นั่นคือเพื่อช่วยให้ผู้คนรู้ว่าตนควรอยู่ที่ไหนในค่าย.
5:27 (ฉบับแปลใหม่)—หมายความอย่างไรที่ว่า “โคนขา” ของหญิงที่เล่นชู้จะ “ลีบไป”? คำว่า “โคนขา” ที่ใช้ในที่นี้เป็นเครื่องหมายแทนอวัยวะสืบพันธุ์. คำว่า “ลีบไป” บ่งชี้ว่าอวัยวะเหล่านี้จะเสื่อมไป ทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปไม่ได้.
บทเรียนสำหรับเรา:
6:1-7. พวกนาษารีษจะต้องละเว้นจากเหล้าองุ่นและเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมา ซึ่งเรื่องนี้เรียกร้องการปฏิเสธตัวเอง. พวกเขาจะต้องไว้ผมยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการยอมอยู่ใต้อำนาจของพระยะโฮวา เช่นเดียวกับสตรีทั้งหลายที่ต้องยอมอยู่ใต้อำนาจสามีหรือบิดาของพวกนาง. พวกนาษารีษจะต้องคงไว้ซึ่งความสะอาดโดยการอยู่ห่างจากศพ แม้แต่ของญาติใกล้ชิดด้วยซ้ำ. ผู้รับใช้เต็มเวลาในทุกวันนี้แสดงน้ำใจเสียสละตัวเองเมื่อต้องเสียสละและยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาและการจัดเตรียมของพระองค์. งานมอบหมายบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับการไปยังเขตที่ ห่างไกล ซึ่งอาจยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำที่จะกลับบ้านเพื่อร่วมงานศพของญาติสนิทในครอบครัว.
8:25, 26. เพื่อจะแน่ใจว่ามีการมอบหมายชายที่มีความสามารถให้ทำงานรับใช้ของพวกเลวีอย่างเหมาะสม และคำนึงถึงอายุ จึงมีการบัญชาให้ชายสูงอายุพักจากการรับใช้ตามหน้าที่. อย่างไรก็ตาม พวกเขาสามารถช่วยงานพวกเลวีคนอื่น ๆ ได้ด้วยความสมัครใจ. ขณะที่ในทุกวันนี้ไม่มีการปลดเกษียณจากการเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร แต่หลักการของกฎหมายข้อนี้สอนบทเรียนอันมีค่า. หากความชราภาพเป็นเหตุให้คริสเตียนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างได้ เขาก็อาจทำงานรับใช้แบบอื่นที่เขามีกำลังพอที่จะทำได้.
จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในถิ่นทุรกันดาร
ในที่สุด เมื่อเมฆที่อยู่เหนือพลับพลาลอยขึ้นไป พวกอิสราเอลก็เริ่มเดินขบวน ซึ่งจะนำเขาเข้าไปอยู่ในทะเลทราย ณ ที่ราบโมอาบหลังจากเดินทางนาน 38 ปีกับอีกหนึ่งหรือสองเดือน. คุณอาจพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะติดตามเส้นทางของพวกเขาได้ในแผนที่ของจุลสาร “ไปดูแผ่นดินอันดี” หน้า 9 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
บนเส้นทางที่จะไปยังคาเดช ในถิ่นทุรกันดารพาราน มีการบ่นว่าเกิดขึ้นอย่างน้อยสามครั้ง. เพื่อยุติการบ่นครั้งแรก พระยะโฮวาทรงส่งไฟมาล้างผลาญบางคน. ต่อมา ชาวอิสราเอลบ่นคร่ำครวญขอเนื้อ และพระยะโฮวาได้ส่งฝูงนกกระทามาให้. มิระยามและอาโรนบ่นว่าโมเซ ซึ่งผลก็คือมิระยามเป็นโรคเรื้อนชั่วระยะหนึ่ง.
ขณะที่ตั้งค่ายในคาเดช โมเซส่งชาย 12 คนเพื่อไปสอดแนมแผ่นดินตามคำสัญญา. พวกเขากลับมาหลังจากนั้น 40 วัน. โดยเชื่อในรายงานที่ไม่ดีของผู้สอดแนมสิบคน ผู้คนจึงต้องการจะเอาหินขว้างโมเซ, อาโรน, และผู้สอดแนมที่ซื่อสัตย์สองคนคือยะโฮซูอะกับคาเลบ. พระยะโฮวาตั้งใจจะประหารชีวิตพวกเขาด้วยโรคร้าย แต่โมเซได้เข้าเฝ้าทูลขอความกรุณา และพระเจ้าทรงประกาศิตว่าพวกเขาจะระเหเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาถึงสี่สิบปี จนกว่าทุกคนที่นับจำนวนไว้จะตายหมด.
พระยะโฮวาทรงประทานข้อกฎหมายต่าง ๆ เพิ่มเติม. โคราและคนอื่น ๆ ขืนอำนาจโมเซและอาโรน แต่ผู้ที่ขืนอำนาจเหล่านี้ก็ถูกทำลายด้วยไฟหรือไม่ก็ถูกธรณีสูบ. วันถัดมา ผู้คนที่มาร่วมชุมนุมทั้งหมดบ่นต่อว่าโมเซและอาโรน. ผลก็คือ มี 14,700 คนต้องตายเนื่องจากวิบัติที่มาจากพระยะโฮวา. เพื่อให้รู้ว่าพระยะโฮวาทรงเลือกใครสำหรับตำแหน่งมหาปุโรหิต พระเจ้าทรงบันดาลให้ไม้เท้าของอาโรนออกดอก. ต่อจากนั้น พระยะโฮวาทรงประทานกฎข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยเรื่องหน้าที่ของพวกเลวีและเรื่องการชำระตัวประชาชนให้หมดมลทิน. การใช้เถ้าของวัวแดงเป็นภาพล่วงหน้าของการชำระให้หมดมลทินโดยทางเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู.—เฮ็บราย 9:13, 14.
ชาวอิสราเอลกลับไปยังคาเดช และมิระยามสิ้นชีวิตที่นั่น. ฝูงชนบ่นตำหนิโมเซและอาโรนอีกครั้งหนึ่ง. เหตุผลของพวกเขาน่ะหรือ? เพราะขาดน้ำนั่นเอง. เนื่องจากโมเซและอาโรนไม่ได้ทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถือเมื่อนำน้ำมาให้ประชาชนด้วยวิธีอัศจรรย์ พวกเขาจึงสูญเสียสิทธิพิเศษที่จะเข้าในแผ่นดินตามคำสัญญา. ชาวโยฮัน 3:14, 15) ชาวอิสราเอลชนะกษัตริย์ซีโฮนและโอฆแห่งอะโมรีและยึดครองดินแดนของพวกเขา.
อิสราเอลย้ายออกจากคาเดช และอาโรนสิ้นชีวิตที่ภูเขาโฮร์ (ฮาระ). ขณะที่เดินทางอ้อมเอโดม ชาวอิสราเอลรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและพูดติเตียนพระเจ้าและโมเซ. พระยะโฮวาจึงส่งงูพิษมาลงโทษพวกเขา. โมเซทูลอ้อนวอนอีกครั้งหนึ่ง และพระเจ้าสั่งให้ท่านทำงูทองแดงและพันไว้บนเสา เพื่อผู้ที่ถูกงูกัดจะได้รับการรักษาเมื่อมองที่งูทองแดงนั้น. งูดังกล่าวนี้เป็นภาพเล็งถึงพระเยซูคริสต์ผู้ถูกตรึงบนหลักเพื่อผลประโยชน์อันถาวรของเรา. (คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
12:1—เหตุใดมิระยามและอาโรนจึงพูดติเตียนโมเซ? เหตุผลที่แท้จริงในการติเตียนของพวกเขาก็คือ ดูเหมือนว่ามิระยามปรารถนาที่จะได้อำนาจมากขึ้น. เมื่อซิพโพราภรรยาของโมเซได้มาอยู่ด้วยในถิ่นทุรกันดาร มิระยามอาจเกรงว่านางจะไม่ถูกมองว่าเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งในค่ายอีกต่อไป.—เอ็กโซโด 18:1-5.
12:9-11—เหตุใดมีเพียงมิระยามคนเดียวเท่านั้นที่เป็นโรคเรื้อน? เป็นไปได้มากทีเดียวว่า นางเป็นคนยุยงให้เกิดการบ่นและชักชวนอาโรนให้เข้าร่วมกับนางด้วย. อาโรนแสดงทัศนะอันถูกต้องโดยสารภาพความผิดของท่าน.
21:14, 15—หนังสือที่กล่าวถึงในที่นี้คืออะไร? พระคัมภีร์กล่าวพาดพิงถึงหนังสือต่าง ๆ ที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้เป็นแหล่งข้อมูล. (ยะโฮซูอะ 10:12, 13; 1 กษัตริย์ 11:41; 14:19, 29) “หนังสือเรื่องสงครามของยะโฮวา” ก็เป็นหนังสือแบบนั้นด้วย. หนังสือนี้บรรจุเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การทำสงครามของประชาชนของพระยะโฮวา.
บทเรียนสำหรับเรา:
11:27-29. โมเซเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับวิธีที่เราควรแสดงท่าทีเมื่อคนอื่นได้รับสิทธิพิเศษในงานรับใช้พระยะโฮวา. แทนที่จะหวงแหนการแสวงหาเกียรติยศสำหรับตนเอง โมเซรู้สึกยินดีเมื่อเอลดาดและเมดาดเริ่มจะทำงานในฐานะผู้พยากรณ์.
12:2, 9, 10; 16:1-3, 12-14, 31-35, 41, 46-50. พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้ผู้นมัสการพระองค์แสดงความนับถือต่อผู้ได้รับอำนาจที่พระเจ้าทรงมอบให้.
14:24 (ล.ม.) ปัจจัยสำคัญที่จะต้านทานแรงกดดันจากโลกที่ให้กระทำผิดคือการพัฒนาเจตคติหรือ “น้ำใจที่แตกต่างออกไป.” น้ำใจนี้จะต้องไม่เป็นเหมือนอย่างน้ำใจของโลก.
15:37-41. พู่รอบชายเสื้อของชาวอิสราเอลที่มีลักษณะเฉพาะมุ่งหมายที่จะเตือนว่า พวกเขาเป็นประชาชนที่ถูกแยกไว้ต่างหากเพื่อนมัสการพระเจ้าและเพื่อจะเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์. ไม่ควรหรอกหรือที่เราจะใช้ชีวิตตามมาตรฐานของพระเจ้าและแตกต่างจากโลกอย่างเห็นได้ชัด?
ณ ที่ราบโมอาบ
เมื่อชาวอิสราเอลตั้งค่ายอยู่ในทะเลทราย ณ ที่ราบโมอาบ ชาวโมอาบรู้สึกเป็นทุกข์เพราะพวกอิสราเอล. ด้วยเหตุ
นี้ บาลาคกษัตริย์โมอาบจึงจ้างบีละอามให้สาปแช่งชาวอิสราเอล. แต่พระยะโฮวาบังคับให้บีละอามอวยพรพวกเขา. ต่อมา มีการใช้หญิงชาวโมอาบและชาวมีเดียนล่อให้ผู้ชายชาวอิสราเอลเข้าสู่การทำผิดศีลธรรมและการไหว้รูปเคารพ. ผลก็คือ พระยะโฮวาทรงทำลายผู้ทำผิด 24,000 คน. ในที่สุด วิบัติก็ยุติลงเมื่อฟีนะฮาศแสดงว่าท่านไม่ยอมให้ใครมาเป็นคู่แข่งพระยะโฮวา.การนับจำนวนประชากรครั้งที่สองเผยให้เห็นว่าคนที่ได้ลงทะเบียนครั้งแรกไม่มีชีวิตเหลืออยู่เลย ยกเว้นยะโฮซูอะและคาเลบ. ยะโฮซูอะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากโมเซ. ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งเรื่องขั้นตอนการถวายเครื่องบูชาต่าง ๆ และคำแนะนำเมื่อทำคำปฏิญาณ. ชาวอิสราเอลยังจัดการกับพวกมีเดียนด้วย. ลูกหลานของรูเบน, ฆาด, และครึ่งตระกูลมะนาเซตั้งถิ่นฐานในดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน. ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งให้ข้ามแม่น้ำจอร์แดนและครอบครองดินแดนนั้น. มีการกล่าวโดยละเอียดถึงการแบ่งปันเขตแดน. แผ่นดินที่เป็นมรดกจะต้องตัดสินด้วยการจับฉลาก. ชาวเลวีจะได้รับ 48 เมือง และ 6 เมืองจากจำนวนนี้จะเป็นเมืองลี้ภัย.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
22:20-22—เหตุใดพระพิโรธของพระยะโฮวาจึงพลุ่งขึ้นต่อบีละอาม? พระยะโฮวาตรัสกับผู้พยากรณ์บีละอามว่า เขาไม่ควรสาปแช่งพวกอิสราเอล. (อาฤธโม 22:12) อย่างไรก็ตาม ผู้พยากรณ์ก็ไปกับคนของบาลาคด้วยความตั้งใจเต็มที่ที่จะแช่งพวกอิสราเอล. บีละอามต้องการทำให้กษัตริย์โมอาบพอใจและจะได้รับรางวัลจากเขา. (2 เปโตร 2:15, 16; ยูดา 11) แม้เมื่อบีละอามถูกบังคับให้อวยพรพวกอิสราเอลแทนที่จะแช่งสาปพวกเขา บีละอามก็ยังแสวงหาความชอบจากกษัตริย์โดยแนะให้ใช้พวกผู้หญิงที่นมัสการบาละล่อผู้ชายชาวอิสราเอล. (อาฤธโม 31:15, 16) ด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุผลที่พระยะโฮวาทรงพิโรธบีละอามซึ่งเป็นผู้พยากรณ์ที่มักโลภไร้ศีลธรรม.
30:6-8—สามีของสตรีคริสเตียนจะยกเลิกคำปฏิญาณของภรรยาได้ไหม? พระยะโฮวาปฏิบัติกับผู้นมัสการพระองค์เป็นรายบุคคลเมื่อคำนึงถึงคำปฏิญาณ. ตัวอย่างเช่น การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเป็นคำปฏิญาณส่วนตัว. (ฆะลาเตีย 6:5) สามีจึงไม่มีอำนาจที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนคำปฏิญาณเช่นนั้น. อย่างไรก็ตาม ภรรยาควรหลีกเลี่ยงคำปฏิญาณที่ขัดแย้งกับพระคำของพระเจ้าหรือขัดต่อหน้าที่ที่เธอพึงกระทำต่อสามี.
บทเรียนสำหรับเรา:
25:11. ฟีนะฮาศช่างเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เราจริง ๆ ในเรื่องความมีใจแรงกล้าในการนมัสการพระยะโฮวา! ไม่ควรหรอกหรือที่ความปรารถนาที่จะรักษาประชาคมให้สะอาดกระตุ้นเราให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำผิดศีลธรรมที่ร้ายแรงแก่คริสเตียนผู้ปกครอง?
35:9-29. ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่ฆ่าคนโดยไม่เจตนาต้องออกไปจากบ้านของตนและหนีไปยังเมืองลี้ภัยชั่วระยะเวลาหนึ่งนั้นสอนเราว่าชีวิตศักดิ์สิทธิ์และเราต้องนับถือชีวิต.
35:33. แผ่นดินโลกที่แปดเปื้อนไปด้วยโลหิตของผู้ที่ไม่มีความผิดจะสามารถชำระล้างให้หมดไปได้ก็โดยโลหิตของผู้ที่ทำให้โลหิตนั้นตก. ช่างเหมาะจริง ๆ ที่พระยะโฮวาจะทำลายคนชั่วก่อนที่แผ่นดินโลกจะเปลี่ยนเป็นอุทยาน!—สุภาษิต 2:21, 22; ดานิเอล 2:44.
พระคำของพระเจ้าทรงพลัง
เราต้องแสดงความนับถือพระยะโฮวาและคนเหล่านั้นที่ทรงแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับผิดชอบท่ามกลางประชาชนของพระองค์. พระธรรมอาฤธโมทำให้ความจริงข้อนี้ชัดเจนมากขึ้น. ช่างเป็นบทเรียนที่สำคัญสักเพียงไรที่จะรักษาสันติสุขและเอกภาพของประชาคมในทุกวันนี้!
เรื่องราวในอาฤธโมแสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องง่ายจริง ๆ สำหรับคนที่ละเลยสิ่งฝ่ายวิญญาณจะตกเข้าสู่การกระทำผิด อย่างเช่น การบ่นพึมพำ, การทำผิดศีลธรรม, และการไหว้รูปเคารพ. ตัวอย่างและบทเรียนบางเรื่องจากพระธรรมนี้สามารถใช้เป็นหัวเรื่องที่จะพิจารณาในการประชุมวิธีปฏิบัติงานในส่วนของความจำเป็นของประชาคมที่หอประชุมของพยานพระยะโฮวา. จริงทีเดียว “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง” ในชีวิตของเรา.—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
[ภาพหน้า 24, 25]
พระยะโฮวาทรงชี้นำการตั้งและการรื้อถอนค่ายของพวกอิสราเอลโดยอาศัยเมฆมหัศจรรย์ที่ลอยอยู่เหนือพลับพลา
[ภาพหน้า 26]
พระยะโฮวาสมควรจะได้รับการเชื่อฟังจากเราและทรงคาดหมายให้เรานับถือตัวแทนของพระองค์