คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ประชาคมคริสเตียนมองการกินเติบอย่างไร?
พระคำของพระเจ้าตำหนิทั้งการเมาเหล้าและการกินเติบว่าเป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสำหรับผู้รับใช้ของพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ ประชาคมคริสเตียนจึงมองคนกินเติบเป็นอาจิณเหมือนกับที่มองคนขี้เมา. ทั้งคนขี้เมาและคนกินเติบจะเป็นส่วนของประชาคมคริสเตียนไม่ได้.
สุภาษิต 23:20, 21 กล่าวว่า “อย่ามั่วสุมกับนักเสพเหล้าองุ่น; หรือกับคนกินเนื้อเติบ: ด้วยว่าคนขี้เมาและคนกินเติบคงจะมาถึงการยากจน; และการเซื่องซึมนั้นจะเป็นเหตุให้ตัวนุ่งห่มผ้าขี้ริ้ว.” ที่พระบัญญัติ 21:20 เราอ่านเรื่อง “คนใจแข็งดื้อดึง” ซึ่งสมควรจะถูกประหารภายใต้พระบัญญัติของโมเซ. ตามพระคัมภีร์ข้อนี้ ลักษณะนิสัยสองอย่างของคนที่ดื้อดึงและไม่กลับใจก็คือ เขาเป็น “คนตะกละและเป็นคนเมาสุรา.” เห็นได้ชัดว่า ในอิสราเอลโบราณ การกินเติบหรือความตะกละถือว่าเป็นกิจปฏิบัติอันไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนที่ปรารถนาจะรับใช้พระเจ้า.
แต่คนกินเติบเป็นเช่นไร และพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกกล่าวอย่างไรในเรื่องนี้? คนกินเติบได้รับการนิยามว่าเป็น “คนที่กินดื่มอย่างตะกละและไม่รู้จักพอจนเป็นนิสัย.” ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือ การกินเติบเป็นรูปแบบหนึ่งของความโลภ และพระคำของพระเจ้าบอกเราว่า “คนมักโลภ” เป็นคนประเภทที่จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. (1 โกรินโธ 6: 9, 10; ฟิลิปปอย 3:18, 19; 1 เปโตร 4:3) นอกจากนี้ เมื่ออัครสาวกเปาโลเตือนคริสเตียนให้ระวัง “การของเนื้อหนัง” ท่านได้กล่าวถึง “การเมาเหล้ากัน, การเลี้ยงอึกทึก, และการต่าง ๆ ทำนองนั้น.” (ฆะลาเตีย 5:19-21, ล.ม.) การกินมากเกินไปมักจะควบคู่กับการเมาเหล้าและการเลี้ยงอึกทึก. นอกจากนั้น การกินเติบยังรวมถึงถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “และการต่าง ๆ ทำนองนั้น” อย่างแน่นอน. เช่นเดียวกับ “การของเนื้อหนัง” ในเรื่องอื่น ๆ คริสเตียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนกินเติบและปฏิเสธอย่างดื้อรั้นที่จะเปลี่ยนนิสัยตะกละนี้จะต้องถูกขับออกจากประชาคม.—1 โกรินโธ 5:11, 13. *
แม้พระคำของพระเจ้าถือว่าคนขี้เมาอยู่ในประเภทเดียวกันกับคนกินเติบ แต่การระบุตัวคนขี้เมานั้นง่ายกว่าการระบุตัวคนกินเติบมากนัก. อาการเมาเหล้ามักจะเห็นได้ชัดทีเดียว. แต่การตัดสินว่าใครเป็นคนกินเติบเป็นอาจิณนั้นยากกว่ามาก เพราะไม่อาจตัดสินโดยดูจากรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น. ด้วยเหตุนี้ เมื่อจัดการกับสภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ พวกผู้ปกครองในประชาคมจะต้องใช้การสังเกตเข้าใจและความระมัดระวังอย่างยิ่ง.
ตัวอย่างเช่น ความอ้วนอาจบ่งบอกถึงการกินเติบ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป. คนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปอาจเป็นเพราะความเจ็บป่วย. ปัจจัยทางกรรมพันธุ์อาจเป็นเหตุทำให้อ้วนด้วยเช่นกัน. นอกจากนี้ เราควรจดจำไว้ด้วยว่าความอ้วนเป็นสภาพทางกาย แต่การกินเติบเป็นอาการทางจิตใจ. ความอ้วนได้รับการนิยามว่า “ร่างกายมีเนื้อและไขมันมากเกินไป” ส่วนการกินเติบคือ “ความตะกละหรือการปล่อยตัวอย่างเลยเถิด.” ด้วยเหตุนี้ การกินเติบไม่ได้ตัดสินจากสัดส่วนของคนเรา แต่ตัดสินจากเจตคติของคนนั้นในเรื่องอาหารต่างหาก. คนเราอาจมีสัดส่วนพอดีหรืออาจถึงกับผอมด้วยซ้ำ แต่ก็ยังเป็นคนกินเติบ. นอกจากนี้ มีการมองน้ำหนักตัวหรือรูปร่างที่พอเหมาะแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง.
อาการกินเติบเป็นเช่นไร? คนกินเติบจะขาดการเหนี่ยวรั้งตนเป็นประจำ และถึงกับกินอาหารอย่างตะกละตะกลามจนรู้สึกอึดอัดหรือถึงกับไม่สบาย. การขาดการควบคุมตัวบ่งชี้ว่า เขาไม่คำนึงถึงจริง ๆ ในเรื่องการนำคำตำหนิมาสู่พระยะโฮวาและชื่อเสียงที่ดีของประชาชนของพระองค์. (1 โกรินโธ 10:31) ในทางกลับกัน คนที่กินมากเกินไปในบางโอกาสจะไม่ถือว่าเป็น “คนโลภ” โดยอัตโนมัติ. (เอเฟโซ 5:5) ถึงกระนั้น ตามเจตนารมณ์ของฆะลาเตีย 6:1 คริสเตียนที่เป็นเช่นนั้นอาจจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ. เปาโลกล่าวว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย, แม้จับคนใดที่พลาดพลั้งกระทำผิดประการใดได้, ท่านทั้งหลายที่อยู่ฝ่ายวิญญาณจิตต์จงช่วยคนนั้นด้วยใจอ่อนสุภาพให้กลับตั้งตัวใหม่ได้อีก.”
เหตุใดคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้หลีกเลี่ยงการกินอย่างเลยเถิดจึงสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในทุกวันนี้? เพราะพระเยซูทรงเตือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสมัยของเราว่า “จงระวังตัวให้ดี, เกลือกว่าใจของท่านจะล้นไปด้วยอาการดื่มเหล้าองุ่นมากและด้วยการเมา [“การกินมากเกินไปและการดื่มจัด,” ล.ม.], และด้วยคิดกังวลถึงชีวิตนี้, แล้วเวลานั้นจะมาถึงท่านดุจบ่วงแร้วเมื่อท่านไม่ทันคิด.” (ลูกา 21:34, 35) การไม่ปล่อยตัวเกินไปในเรื่องอาหารเป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งเพื่อหลีกหนีรูปแบบชีวิตที่เป็นอันตรายฝ่ายวิญญาณ.
การประมาณตนเป็นคุณความดีที่คริสเตียนควรจะมี. (1 ติโมเธียว 3:2, 11) ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาจะทรงช่วยเหลือทุกคนอย่างแน่นอน ซึ่งพยายามอย่างจริงจังเพื่อนำคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้เกี่ยวกับนิสัยการประมาณตนในการกินดื่ม.—เฮ็บราย 4:16.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 โปรดดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในวารสารหอสังเกตการณ์ฉบับ 1 พฤษภาคม 1986 (ภาษาอังกฤษ).