ควรรำลึกถึงพระเยซูคริสต์โดยวิธีใด?
ควรรำลึกถึงพระเยซูคริสต์โดยวิธีใด?
พระเยซูคริสต์ “เป็นหนึ่งในบรรดาคนซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย.”—“สารานุกรมเดอะ เวิลด์ บุ๊ก.”
ตามปกติบุคคลสำคัญมักได้รับการรำลึกถึงเนื่องด้วยสิ่งที่เขาได้ทำ. ดังนั้น เหตุใดหลายคนจึงรำลึกถึงพระเยซูเนื่องด้วยการประสูติของพระองค์แทนที่จะเป็นการกระทำของพระองค์? ตลอดทั่วคริสต์ศาสนจักร คนส่วนใหญ่สามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประสูติของพระองค์. มีสักกี่คนจำได้ถึงคำสอนอันยอดเยี่ยมที่สุดของพระองค์ดังที่พบในคำเทศน์บนภูเขาและพยายามนำคำสอนนั้นไปใช้?
จริงอยู่ การประสูติของพระเยซูเป็นเรื่องที่โดดเด่น แต่เหล่าสาวกรุ่นแรกของพระองค์ถือว่าสิ่งที่พระองค์ทรงทำและสอนมีความสำคัญมากกว่า. แน่นอน พระเจ้าไม่เคยมุ่งหมายให้การประสูติของพระคริสต์มาบดบังชีวิตของพระองค์
ฐานะบุรุษที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว. กระนั้น คริสต์มาสได้ประสบผลสำเร็จในการบดบังบุคลิกลักษณะของพระคริสต์โดยตำนานเหตุการณ์การประสูติของพระองค์.เกิดคำถามอีกอย่างหนึ่งที่รบกวนใจเกี่ยวกับลักษณะของการฉลองคริสต์มาส. หากพระเยซูได้เสด็จกลับมายังแผ่นดินโลกในทุกวันนี้ พระองค์จะทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับการค้าอย่างโจ่งแจ้งที่มีในเทศกาลคริสต์มาส? สองพันปีมาแล้ว พระเยซูได้เสด็จไปที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. พระองค์ทรงขุ่นเคืองเนื่องจากคนรับแลกเงินและพ่อค้าซึ่งฉวยโอกาสหาผลกำไรจากเทศกาลฉลองทางศาสนาของชาวยิว. พระองค์ตรัสว่า “จงเอาสิ่งของเหล่านี้ไปเสีย อย่าทำโบสถ์ของพระบิดาเราให้เป็นที่ค้าขาย.” (โยฮัน 2:13-16) ปรากฏชัดว่า พระเยซูไม่ทรงเห็นชอบที่คนเอาการค้ามาปนกับศาสนา.
ชาวสเปนคาทอลิกที่จริงใจหลายคนแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับลักษณะทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของคริสต์มาส. กระนั้น แนวโน้มในทางการค้าดังกล่าวคงจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น เมื่อคำนึงถึงต้นตอของกิจปฏิบัติมากมายที่เกี่ยวกับคริสต์มาส. นักหนังสือพิมพ์ชื่อควน อารยาสชี้แจงว่า “ภายในศาสนาคริสเตียน คนเหล่านั้นที่ติเตียนลักษณะที่คริสต์มาสได้ถูกทำให้กลายเป็น ‘แบบนอกรีต’ และอุทิศให้แก่ความสนุกรื่นเริงและบริโภคนิยมยิ่งกว่าศาสนา โดยทั่วไปแล้วไม่ทราบว่า แม้แต่ในเรื่องต้นตอของฉากเหตุการณ์การประสูติของพระเยซู . . . ก็ได้มีการผูกโยงเข้ากับลักษณะเด่นหลายประการของเทศกาลฉลอง [เกี่ยวกับดวงอาทิตย์] ของพวกนอกรีตโรมันอยู่แล้ว.”—เอล ปาอิส วันที่ 24 ธันวาคม 2001.
ไม่กี่ปีมานี้ นักหนังสือพิมพ์ชาวสเปนหลายคนและสารานุกรมต่าง ๆ ได้แสดงความเห็นในเรื่องต้นตอแบบนอกรีตของเทศกาลฉลองคริสต์มาสตามประเพณี อีกทั้งการเข้าไปพัวพันกับการค้า. เกี่ยวกับวันที่สำหรับการฉลองคริสต์มาสนั้น เอนซีโกลเพดยา เด ลา เรลีกอน กาโตลีกา กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “เหตุผลที่คริสตจักรโรมันตัดสินใจกำหนดให้ฉลองคริสต์มาสในวันนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเพราะแนวโน้มที่จะเอาเทศกาลฉลองแบบคริสเตียนเข้ามาแทนที่เทศกาลนอกรีต. . . . เราทราบว่าช่วงเวลานั้นในกรุงโรม พวกนอกรีตได้กำหนดให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นการฉลองนาตาลิส อินวิกตี การกำเนิดของ ‘พระอาทิตย์ที่เกรียงไกร.’ ”
เอนซีโกลเพดยา อิสปานีกา ให้ความเห็นคล้ายกันว่า “การกำหนดวันที่ 25 ธันวาคมสำหรับการฉลองคริสต์มาสไม่ได้อาศัยการคำนวณที่ถูกต้องเกี่ยวกับวันประสูติของพระเยซู แต่กลับเป็นการทำให้เทศกาลเหมายัน (จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลโลกมากที่สุดในฤดูหนาว) ซึ่งมีการฉลองในโรมกลายมาเป็นแบบคริสเตียน.” พวกโรมันฉลองการขึ้นมาของดวงอาทิตย์ในท้องฟ้ายามฤดูหนาวโดยวิธีใด? โดยงานเลี้ยง, การเลี้ยงอึกทึก, และการแลกเปลี่ยนของขวัญ. เนื่องจากพวกผู้มีอำนาจในคริสตจักรไม่สู้เต็มใจที่จะยกเลิกเทศกาลฉลองอันเป็นที่นิยมเช่นนั้น พวกเขาจึงทำให้เทศกาลนั้น “เป็นแบบคริสเตียน” โดยเรียกการฉลองนั้นว่าการประสูติของพระเยซูแทนการกำเนิดของพระอาทิตย์.
ตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ในศตวรรษที่สี่และห้า การเกี่ยวพันกับการนมัสการดวงอาทิตย์และธรรมเนียมของการนมัสการนั้นไม่ได้เลิกไปอย่างง่าย ๆ. เอากุสติน “นักบุญ” คาทอลิก (สากลศักราช 354-430) รู้สึกว่ามีพันธะที่จะกระตุ้นเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อไม่ให้ฉลองวันที่ 25 ธันวาคมเหมือนพวกนอกรีตได้ทำกันเพื่อให้เกียรติแก่ดวงอาทิตย์. แม้แต่ทุกวันนี้ การฉลองเทศกาลของโรมันโบราณดูเหมือนว่ามีอิทธิพลที่สำคัญยิ่ง.
เทศกาลวิเศษสุดสำหรับการสนุกรื่นเริงและการค้า
ตลอดหลายศตวรรษ ปัจจัยหลายอย่างมีบทบาทที่แน่ชัดในการหล่อหลอมคริสต์มาสให้เป็นการฉลองระดับนานาชาติซึ่งเป็นที่นิยมกันมากที่สุดเพื่อการสนุกรื่นเริงและการค้า. นอกจากนี้ ธรรมเนียมเกี่ยวกับเทศกาลอื่น ๆ ในฤดูหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลที่มีการฉลองกันในยุโรปเหนือ ค่อย ๆ รวมเข้ากับรูปแบบการฉลองของชาวโรมัน. * และในศตวรรษที่ 20 พวกพนักงานขายและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดกระตือรือร้นส่งเสริมธรรมเนียมใด ๆ ที่สามารถทำกำไรมาก.
ผลเป็นประการใด? การฉลองการประสูติของพระคริสต์ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แทนที่จะเป็นความหมายของเหตุการณ์นั้น. ในหลายกรณี แม้แต่การกล่าวถึงพระคริสต์ก็ได้หายไปเลยจากคริสต์มาสตามประเพณี. หนังสือพิมพ์เอล ปาอิส ของสเปนให้ข้อสังเกตว่า “[คริสต์มาส] เป็นเทศกาลฉลองของโลก เป็นเทศกาลสำหรับครอบครัว และทุกคนต่างก็ฉลองในแบบของตนเอง.”
ความเห็นดังกล่าวนี้สะท้อนถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสเปนและอีกหลายประเทศทั่วโลก. ขณะที่การฉลองคริสต์มาสกลายเป็นสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยมากขึ้นเรื่อย ๆ ความรู้เกี่ยวกับพระคริสต์ก็ลดน้อยลง. ตามความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่เทศกาลฉลองคริสต์มาสได้กลับไปสู่สภาพที่เดิมทีมีอยู่ในสมัยโรมัน นั่นคือ การเลี้ยงอึกทึก, งานเลี้ยง, และการแลกเปลี่ยนของขวัญ.
เด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา
หากคริสต์มาสตามประเพณีไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพระคริสต์จริง ๆ แล้ว คริสเตียนแท้ควรระลึกถึงการประสูติและชีวิตของพระคริสต์โดยวิธีใด? ราว ๆ 700 ปีก่อนการประสูติของพระเยซู ยะซายาได้พยากรณ์เกี่ยวกับพระองค์ว่า “มีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา มีบุตรชายคนหนึ่งประทานมาให้เราและการปกครองจะอยู่ที่บ่าของท่าน.” (ยะซายา 9:6, ฉบับแปลใหม่) เหตุใดยะซายาบ่งชี้ว่าการประสูติของพระเยซูและบทบาทของพระองค์ในภายหลังจะสำคัญจริง ๆ? เพราะพระเยซูจะเป็นผู้ปกครองที่ทรงอานุภาพ. พระองค์จะได้รับการขนานนามว่าองค์สันติราช และการปกครองของ พระองค์จะมีสันติสุขไม่รู้สิ้นสุด. นอกจากนี้ การปกครองของพระเยซูจะได้รับการค้ำชูไว้ “ด้วยความยุติธรรมและความชอบธรรม.”—ยะซายา 9:7.
ทูตสวรรค์ฆับรีเอลได้กล่าวซ้ำคำประกาศของยะซายาเมื่อแจ้งแก่มาเรียเรื่องการมาประสูติของพระเยซู. ทูตสวรรค์ได้บอกล่วงหน้าว่า “บุตรนั้นจะเป็นใหญ่, และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของผู้สูงสุด. [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] พระเจ้าจะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน. และท่านจะครอบครองพงศ์พันธุ์ของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์ และแผ่นดินของท่านจะไม่รู้สิ้นสุดเลย.” (ลูกา 1:32, 33) ปรากฏชัดว่า ความหมายสำคัญเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูนั้นเกี่ยวข้องกับงานที่พระคริสต์จะทรงทำให้สำเร็จในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการแต่งตั้งแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. การปกครองของพระคริสต์จะอำนวยประโยชน์แก่ทุกคน รวมทั้งคุณและคนที่คุณรักด้วย. ที่จริง พวกทูตสวรรค์ได้ชี้แจงว่าการประสูติของพระองค์จะทำให้ “บนแผ่นดินโลก [มี] สันติสุข . . . ท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวงซึ่ง [พระเจ้า] ทรงโปรดปรานนั้น.”—ลูกา 2:14, ฉบับแปลใหม่.
มีผู้ใดหรือไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ในโลกที่มีสันติสุขและความยุติธรรม? แต่เพื่อจะประสบสันติสุขที่การปกครองของพระคริสต์จะนำมานั้น เราต้องทำให้พระเจ้าพอพระทัยและมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์. พระเยซูตรัสว่าขั้นตอนแรกที่จะมีสัมพันธภาพดังกล่าวคือ เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระคริสต์. พระเยซูตรัสว่า “นี่แหละเป็นชีวิตนิรันดร์, คือว่าให้เขารู้จักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงใช้มาคือพระเยซูคริสต์.”—โยฮัน 17:3.
เมื่อเรารู้จักพระเยซูอย่างถ่องแท้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องสงสัยอีกต่อไปว่าพระองค์ทรงประสงค์ให้เรารำลึกถึงพระองค์โดยวิธีใด. โดยการกิน, การดื่ม, และการแลกเปลี่ยนของขวัญในวันเดียวกันกับเทศกาลนอกรีตโบราณไหม? ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น. ในคืนก่อนสิ้นพระชนม์ พระเยซูได้แจ้งให้เหล่าสาวกทราบสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์มากกว่า. “ผู้ที่มีบัญญัติของเราและประพฤติตามบัญญัตินั้น, ผู้นั้นแหละรักเรา, และผู้ที่รักเราพระบิดาของเราจะทรงรักผู้นั้น, และเราจะรักเขา.”—โยฮัน 14:21.
พยานพระยะโฮวาได้ศึกษาพระคัมภีร์บริสุทธิ์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งได้ช่วยพวกเขาเข้าใจว่าอะไรคือพระบัญชาของพระเจ้าและพระเยซู. พวกเขาจะยินดีช่วยคุณให้เข้าใจพระบัญชาสำคัญเหล่านั้นเพื่อคุณจะรำลึกถึงพระเยซูอย่างที่ควรรำลึก.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 ต้นคริสต์มาสและซานตาคลอสเป็นสองตัวอย่างที่โดดเด่น.
[กรอบ/ภาพหน้า 6, 7]
คัมภีร์ไบเบิลไม่เห็นด้วยกับการจัดงานเลี้ยงและการให้ของขวัญไหม?
การให้ของขวัญ
คัมภีร์ไบเบิลเห็นชอบกับการให้ของขวัญ พระยะโฮวาเองได้รับการขนานนามว่าผู้ทรงให้ “ของประทานอันดีทุกอย่าง และของประทานอันเลิศทุกอย่าง.” (ยาโกโบ 1:17) พระเยซูทรงชี้แจงว่าบิดามารดาที่ดีจะให้ของดีแก่บุตรของตน. (ลูกา 11:11-13) มิตรสหายและสมาชิกในครอบครัวของโยบได้นำของกำนัลมาให้ท่านเมื่อท่านกลับมีสุขภาพดีดังเดิม. (โยบ 42:11) อย่างไรก็ดี การให้เช่นนั้นไม่จำเป็นต้องมีการฉลองในวันพิเศษ. การให้ดังกล่าวเป็นการให้จากหัวใจ.—2 โกรินโธ 9:7.
การชุมนุมสังสรรค์ของครอบครัว
การชุมนุมสังสรรค์ของครอบครัวช่วยได้มากในการทำให้สมาชิกในครอบครัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันแล้ว. พระเยซูและเหล่าสาวกของพระองค์ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงสมรสในบ้านคานา ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นการชุมนุมสังสรรค์ขนาดใหญ่ของครอบครัวและมิตรสหาย. (โยฮัน 2:1-10) และในอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย บิดาได้ฉลองการกลับมาของบุตรชายด้วยการจัดงานเลี้ยงในครอบครัว ซึ่งมีทั้งดนตรีและการเต้นรำด้วย.—ลูกา 15:21-25.
การชื่นชมกับอาหารมื้ออร่อย
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวบ่อยครั้งถึงผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ชื่นชมกับอาหารรสอร่อยร่วมกับครอบครัว, มิตรสหาย, หรือเพื่อนร่วมนมัสการ. เมื่อทูตสวรรค์สามองค์มาเยี่ยมอับราฮาม ท่านได้จัดเตรียมการเลี้ยงสำหรับพวกเขา ซึ่งมีทั้งเนื้อ, นม, เนย, และขนม. (เยเนซิศ 18:6-8) ซะโลโมได้พรรณนาว่า ‘การกิน, การดื่ม, และความชื่นชมยินดี’ เป็นของประทานจากพระเจ้า.—ท่านผู้ประกาศ 3:13; 8:15.
ปรากฏชัดว่า พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราชื่นชมกับอาหารอร่อยร่วมกับมิตรสหายและครอบครัว ทั้งพระองค์ทรงเห็นชอบกับการให้ของขวัญ. เรามีโอกาสเหลือเฟือที่จะทำเช่นนั้นในเวลาใดก็ได้ตลอดทั้งปี.