ชีวิตมีค่าหรือว่าไร้ค่า?
ชีวิตมีค่าหรือว่าไร้ค่า?
“เนื่องจากมนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามแบบของพระเจ้า ฉะนั้น การฆ่ามนุษย์จึงเป็นการทำลายสิ่งล้ำค่าและศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดในโลก.”—การชี้นำธรรมดาที่นำมนุษย์ไปสู่หลักจรรยา (ภาษาอังกฤษ) โดยวิลเลียม บาร์เคลย์.
‘สิ่งล้ำค่ามากที่สุดในโลก.’ คุณมีทัศนะอย่างนั้นต่อชีวิตไหม? จากวิธีที่ผู้คนประพฤติตัว ปรากฏชัดว่าหลายคนไม่เห็นด้วยกับผู้เขียนคนดังกล่าว. ชีวิตคนนับล้านถูกทำลายอย่างเหี้ยมโหดโดยคนที่ชอบความรุนแรงซึ่งได้มุ่งติดตามเป้าหมายที่เห็นแก่ตัวโดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของเพื่อนมนุษย์แต่อย่างใด.—ท่านผู้ประกาศ 8:9.
ไร้ค่าและทำลายได้
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่น. นักประวัติศาสตร์ เอ. เจ. พี. เทย์เลอร์กล่าวว่า หลายครั้งหลายหนระหว่างการสู้รบที่น่าสยดสยองนั้น “ชีวิตมนุษย์ถูกสังเวยโดยเปล่าประโยชน์.” ในการแสวงหาเกียรติยศและสง่าราศี ผู้นำทางทหารได้ใช้พวกทหารประหนึ่งว่าพวกเขาไม่มีค่าและไม่มีความสำคัญอะไรเลย. ในการสู้รบเพื่อปกป้องป้อมปราการแวร์เดิงในฝรั่งเศส มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าห้าแสนคน. เทย์เลอร์เขียนว่า “ไม่มีรางวัล [ซึ่งมีคุณค่าทางยุทธศาสตร์ใด ๆ] ที่จะได้รับหรือสูญเสีย มีแต่การฆ่ามนุษย์และเกียรติศักดิ์แห่งการได้ชัยชนะเท่านั้น.”—สงครามโลกครั้งแรก (ภาษาอังกฤษ).
การดูถูกคุณค่าของชีวิตเช่นนั้นยังคงแพร่หลายอยู่. เควิน เบลส์ ผู้คงแก่เรียนชี้แจงว่าไม่นานมานี้ “มีคนที่ยากจนและถูกทำร้ายได้ง่ายจำนวนมากมาย [ได้] หลั่งไหลเข้าไปในตลาดแรงงานของโลก.” พวกเขาเผชิญกับการต่อสู้ดิ้นรนตลอดชีวิตเพียงเพื่ออยู่รอดในระบบการค้าที่กดขี่ซึ่ง “ชีวิตมีคุณค่าไม่มากนัก” ในระบบดังกล่าว. เบลส์กล่าวว่า คนเหล่านั้นที่แสวงประโยชน์จากพวกเขา ปฏิบัติกับพวกเขาราวกับเป็นทาส—“เป็นเครื่องมือหาเงินซึ่งใช้แล้วทิ้งไปได้เลย.”—ผู้คนที่ถูกใช้แล้วทิ้ง (ภาษาอังกฤษ).
“เหมือนวิ่งไล่ตามลมไป”
มีเหตุผลอีกหลายประการที่ผู้คนนับล้านรู้สึกไร้ค่าและหมดหวังอย่างสิ้นเชิง นั่นคือไม่มีใครใส่ใจจริง ๆ ไม่ว่าเขาจะอยู่หรือตาย. นอกจากสงครามและความอยุติธรรมแล้ว ยังมีผลเสียหายจากความแห้งแล้ง, การกันดารอาหาร, โรคภัย, การสูญเสียผู้เป็นที่รัก, และสิ่งอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนซึ่งก่อความเดือดร้อนแก่มวลมนุษยชาติ ทำให้ผู้คนสงสัยว่าชีวิตมีค่าควรแก่การดำรงอยู่หรือไม่.—ท่านผู้ประกาศ 1:8, 14.
แน่นอน ใช่ว่าทุกคนเผชิญกับความสูญเสียและความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสในชีวิตของเขา. ทว่าแม้แต่คนเหล่านั้นที่ไม่ได้ประสบการกดขี่อย่างสาหัสเช่นนั้นมักจะเห็นพ้องกับคำตรัสของกษัตริย์ซะโลโมในอิสราเอลโบราณ ผู้ซึ่งถามว่า “เขาได้อะไรเล่าจากบรรดาการงานของเขาที่เขาต้องทำอย่างคร่ำเครียดภายใต้ดวงอาทิตย์?” เมื่อใคร่ครวญดูเรื่องนี้แล้ว หลายคนได้มาตระหนักว่าสิ่งที่พวกเขาทำส่วนใหญ่นั้นกลับกลายเป็น “การอนิจจังเหมือนวิ่งไล่ตามลมไป.”—ท่านผู้ประกาศ 2:22, 26.
“ชีวิตมีแค่นี้หรือ?” หลายคนถามขณะที่มองย้อนหลังดูชีวิตตน. ใช่แล้ว มีสักกี่คนซึ่งจบชีวิตลงด้วยความรู้สึก “พึงพอใจ” อย่างแท้จริงกับอายุของตน เหมือนกับอับราฮามปฐมบรรพบุรุษ? (เยเนซิศ 25:8, ล.ม.) คนส่วนใหญ่รู้สึกถึงความไร้ประโยชน์อยู่ร่ำไป. กระนั้น ไม่จำเป็นที่ชีวิตจะไร้ประโยชน์. พระเจ้าทรงถือว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนมีค่าและประสงค์ให้เราแต่ละคนมีชีวิตที่ครบถ้วนและน่าพอใจอย่างแท้จริง. เรื่องนี้จะเป็นไปได้อย่างไร? ขอพิจารณาสิ่งที่บทความถัดไปกล่าวในเรื่องนี้.