‘ถ้าท่านถูกเกณฑ์ให้ทำงาน’
‘ถ้าท่านถูกเกณฑ์ให้ทำงาน’
“นี่แก! ทิ้งงานตรงนั้นซะ แล้วมาแบกของให้ฉันหน่อย.” คุณคิดว่าชาวยิวในสมัยศตวรรษแรกที่กำลังมีธุระยุ่งอาจมีปฏิกิริยาอย่างไรถ้านายทหารโรมันพูดอย่างนั้นกับเขา? ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูให้คำแนะนำว่า “ถ้าผู้ใดจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปสี่สิบเส้น, ก็ให้เลยไปกับเขาถึงแปดสิบเส้น.” (มัดธาย 5:41) ผู้ฟังของพระเยซูเข้าใจคำแนะนำนั้นอย่างไร? และคำแนะนำนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับเราในทุกวันนี้?
เพื่อจะได้คำตอบ เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเกณฑ์คนเพื่อใช้แรงงานในสมัยโบราณ. ชาวอิสราเอลในสมัยพระเยซูคุ้นเคยกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี.
การเกณฑ์คนเพื่อทำงาน
การเกณฑ์คนเพื่อทำงาน (หรืองานที่ไม่มีค่าแรง) ในดินแดนตะวันออกใกล้มีหลักฐานย้อนหลังไปถึงสมัยศตวรรษที่ 18 ก่อนสากลศักราช. ข้อความเกี่ยวกับการบริหารจากเมืองอาลาลักซึ่งเป็นเมืองของซีเรียโบราณ ได้อ้างถึงกลุ่มคนงานที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรงซึ่งถูกเกณฑ์โดยรัฐเพื่อทำงานรับใช้เหล่าผู้ปกครองเมือง. ในเมืองอูการิตบนชายฝั่งทะเลของซีเรีย ชาวนาที่ทำนาเช่าถูกเกณฑ์ให้ทำงานคล้ายกันเว้นแต่จะได้รับการยกเว้นจากกษัตริย์.
แน่นอนว่า ประชาชนจากเมืองที่แพ้สงครามหรือถูกพิชิตมักจะถูกบังคับใช้แรงงาน. ผู้คุมคนงานชาวอียิปต์บังคับให้ชาวอิสราเอลเป็นทาสเพื่อทำอิฐให้พวกเขา. ต่อมา ชาวอิสราเอลก็ใช้ชาวคะนาอันที่อาศัยในแผ่นดินตามคำสัญญาทำงานเป็นทาส และดาวิดกับซะโลโมก็ยังทำคล้าย ๆ กันนั้นต่อไป.—เอ็กโซโด 1:13, 14; 2 ซามูเอล 12:31; 1 กษัตริย์ 9:20, 21.
เมื่อชาวอิสราเอลร้องขอให้มีกษัตริย์ ซามูเอลอธิบายถึงสิ่งที่กษัตริย์สมควรจะได้รับโดยชอบธรรม. พระองค์ต้องมีคนงานเพื่อเป็นพลรถและพลม้า, ไถนาและเก็บเกี่ยว, ทำอาวุธ, และอื่น ๆ. (1 ซามูเอล 8:4-17) อย่างไรก็ตาม ในช่วงการก่อสร้างพระวิหารของพระยะโฮวา ขณะที่คนต่างชาติถูกเกณฑ์ให้ทำงานหนักเยี่ยงทาส “แต่พวกยิศราเอลนั้นซะโลโมมิได้ทรงให้เป็นทาส: แต่เขาเป็นทหาร, เป็นผู้ปรนนิบัติพระองค์, เป็นเจ้านาย, เป็นนายทหาร, เป็นผู้ขับราชรถ, และเป็นทหารม้าของพระองค์.”—1 กษัตริย์ 9:22.
ในกรณีของชาวอิสราเอลที่ถูกใช้ให้ทำงานในโครงการก่อสร้าง 1 กษัตริย์ 5:13, 14 กล่าวว่า “กษัตริย์ซะโลโมจึงทรงมีรับสั่งให้เกณฑ์คนตลอดทั่วพวกยิศราเอล, ได้สามหมื่นคน. แล้วพระองค์ก็ใช้เขาไปยังละบาโนนเป็นเวรกันเดือนละหมื่นคน คือเดือนหนึ่งอยู่ที่ละบาโนน, และสองเดือนอยู่ที่บ้าน.” ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า “ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า กษัตริย์ชาวอิสราเอลและยูดาห์ใช้ประโยชน์จากแรงงานที่ไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพื่อการก่อสร้างและงานในที่ดินของกษัตริย์.”
1 กษัตริย์ 12:12-18) อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการบังคับใช้แรงงานก็ยังไม่หมดไป. อาซาซึ่งเป็นหลานของระฮับอามได้เกณฑ์ชาวยูดาห์ให้ก่อสร้างเมืองเกบา (เฆบา) และมิซพาห์ (มิศเฟ) และ “มิได้เว้นสักคนเลย.”—1 กษัตริย์ 15:22.
ประชาชนมีภาระหนักภายใต้การปกครองของซะโลโม. ภาระหนักนั้นยิ่งกลายเป็นการกดขี่อย่างมากเมื่อระฮับอามขู่จะเพิ่มงานให้มากขึ้นไปอีก ชาวอิสราเอลทั้งสิ้นจึงก่อการปฏิวัติและเอาหินขว้างเจ้าหน้าที่ที่ถูกมอบหมายให้เกณฑ์คนมาใช้แรงงาน. (ภายใต้การครอบครองของโรมัน
คำเทศน์บนภูเขาแสดงให้เห็นว่า ชาวยิวในสมัยศตวรรษแรกคุ้นกับการที่เขาอาจจะถูก ‘เกณฑ์ให้ทำงาน.’ คำที่ใช้แปลคำภาษากรีกอากาเรโว ซึ่งเดิมทีเกี่ยวข้องกับงานของคนส่งข่าวชาวเปอร์เซีย. พวกเขามีอำนาจที่จะขอใช้คน, ม้า, เรือ, หรืออะไรก็ได้ที่จำเป็นเพื่อเร่งให้งานส่วนรวมเสร็จเร็วขึ้น.
ในสมัยของพระเยซู พวกโรมันปกครองอิสราเอลและได้นำระบบที่คล้ายกันนี้มาใช้. ในภูมิภาคทางตะวันออก นอกจากจะมีการเก็บภาษีตามปกติแล้ว อาจมีการเกณฑ์พลเมืองให้ทำงานประจำหรือในโอกาสพิเศษ. งานเช่นนั้นคงไม่มีใครชอบอย่างแน่นอน. นอกจากนี้ เป็นเรื่องปกติที่จะมีการยึดสัตว์, คนขับ, หรือเกวียนโดยที่กษัตริย์ไม่ได้สั่งเพื่อใช้ในงานขนส่งของรัฐ. ตามที่นักประวัติศาสตร์ไมเคิล รอสท็อฟทซิฟกล่าวไว้ เหล่าผู้ปกครองเมือง “พยายามวางข้อกำหนดและจัดระบบ [ธรรมเนียมนี้] เนื่องจากตราบใดที่ธรรมเนียมนี้ยังคงอยู่ก็จะเกิดผลร้ายตามมาอย่างแน่นอน แต่ปรากฏว่าทำไม่สำเร็จ. มีการออกคำสั่งหลายครั้งหลายหนโดยข้าหลวงซึ่งพยายามอย่างจริงใจที่จะหยุดยั้งการใช้อำนาจที่กดขี่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบบการบังคับใช้แรงงาน . . . แต่ธรรมเนียมนี้ก็ยังคงสร้างความลำบากต่อไป.”
ผู้คงแก่เรียนชาวกรีกกล่าวว่า “อาจมีการเกณฑ์ใครก็ได้ให้แบกสัมภาระของกองทัพในระยะทางช่วงหนึ่ง และอาจบังคับใครก็ได้ให้ทำงานตามแต่ผู้ปกครองโรมันจะเลือกให้ทำ.” นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับซีโมนชาวกุเรเน ซึ่งเป็นคนที่ทหารโรมัน “เกณฑ์” ให้แบกเสาทรมานของพระเยซู.—มัดธาย 27:32.
ข้อความของพวกรับบีก็เช่นกันได้อ้างถึงธรรมเนียมนี้ที่คนทั่วไปไม่ชอบ. ตัวอย่างเช่น รับบีคนหนึ่งถูกใช้ให้ขนดอกเมอทิลไปยังพระราชวัง. อาจมีการดึงคนงานไปจากนายจ้างและมอบงานอื่นให้ทำ ในขณะที่นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าแรงให้. สัตว์บรรทุกของหรือวัวอาจถูกยึดเอาไปได้. หากมีการส่งสัตว์คืนเจ้าของ พวกมันอาจไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้อีก. คุณคงเห็นแล้วว่าเหตุใดผู้คนจึงมองว่าการยึดทรัพย์สินหรือสัตว์ “ชั่วคราว” จึงเหมือนกับการยึดถาวร. ด้วยเหตุนี้ สุภาษิตยิวจึงยืนยันว่า “อาการีอา เปรียบเหมือนหายนะ.” นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า “หมู่บ้านอาจล่มจมได้เมื่อวัวสำหรับใช้ไถนาถูกยึดไปเพื่ออาการีอา แทนที่จะยึดสัตว์ที่เหมาะจะใช้ลากของมากกว่า.”
คุณคงนึกภาพออกว่า ผู้คนไม่ชอบงานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการบังคับโดยคนที่ยโสและอยุติธรรม. เมื่อคำนึงถึงความเกลียดชังที่ชาวยิวมีต่ออำนาจของชาวต่างชาติที่ปกครองพวกเขา ชาวยิวรู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่ต้องเสื่อมเสียเกียรติเพราะถูกบังคับให้ทำงานที่น่าข้องขัดใจเช่นนี้. ไม่มีกฎหมายเรื่องนี้หลงเหลืออยู่เพื่อบอกให้เรารู้ว่าพลเมืองคนหนึ่งอาจถูกบังคับให้แบกของไกลเพียงไร. เป็นไปได้ว่า หลายคนคงไม่อยากทำงานเกินกว่าที่กฎหมายเรียกร้องแม้แต่นิดเดียว.
กระนั้น นี่เป็นสิ่งที่พระเยซูกล่าวถึงเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปสี่สิบเส้น, ก็ให้เลยไปกับเขาถึงแปดสิบเส้น.” (มัดธาย 5:41) เมื่อได้ยินเช่นนี้ บางคนต้องคิดว่าพระองค์ไม่มีเหตุผล. แล้วพระเยซูหมายถึงอะไร?
คริสเตียนควรมีปฏิกิริยาอย่างไร
พูดง่าย ๆ ก็คือ พระเยซูบอกผู้ฟังของพระองค์ว่า ถ้าผู้มีอำนาจเกณฑ์พวกเขาให้ทำงานบางอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย พวกเขาควรเต็มใจทำงานและไม่ควรรู้สึกขุ่นเคืองใจ. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึง “คืนของของซีซาร์แก่ซีซาร์” แต่ไม่มองข้ามพันธะหน้าที่ที่จะคืน ‘ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.’—มาระโก 12:17, ล.ม. *
ยิ่งกว่านั้น อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนดังนี้: “ให้คนทุกคนยอมอยู่ใต้บังคับผู้มีอำนาจ ด้วยว่าไม่มีอำนาจอันใดเว้นไว้ซึ่งมาจากพระเจ้า และผู้มีอำนาจซึ่งดำรงอยู่นั้นพระเจ้าก็ได้ทรงตั้งไว้. เหตุฉะนั้นผู้ที่ขัดขืนอำนาจนั้นก็ได้ขัดขืนพระดำริของพระเจ้า . . . แต่ถ้าท่านกระทำการชั่วก็จงกลัว เพราะว่าผู้ครอบครองนั้นหาได้ถือดาบเปล่า ๆ ไม่.”—โรม 13:1-4.
โดยการกล่าวเช่นนี้ พระเยซูและเปาโลจึงยอมรับว่ากษัตริย์หรือรัฐบาลมีสิทธิจะลงโทษคนที่ขัดขืนคำสั่งของพวกเขา. เป็นการลงโทษแบบใด? เอพิคเททุส นักปรัชญาชาวกรีกที่มีชีวิตในสมัยศตวรรษที่หนึ่งและสองสากลศักราชให้คำตอบอย่างหนึ่งดังนี้: “ถ้ามีการเรียกร้องที่ไม่ได้คาดล่วงหน้าเกิดขึ้นและมีทหารคนหนึ่งเอาลาหนุ่มของท่านไป จงยอมให้เขาเอาไป. อย่าขัดขืน อย่าบ่น เกรงว่าท่านจะถูกทำร้ายและสูญเสียลาของท่าน.”
ยะซายา 2:4; โยฮัน 17:16; 18:36) ในโอกาสอื่น ๆ คริสเตียนรู้สึกว่าพวกเขาสามารถทำตามที่รัฐบาลเรียกร้องได้. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนบางคนรู้สึกว่า สติรู้สึกผิดชอบที่ดีของเขายอมให้ทำงานภายใต้การบริหารของฝ่ายพลเรือนซึ่งเป็นงานทั่วไปที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน. นั่นอาจหมายถึงการช่วยเหลือคนชราหรือทุพพลภาพ, เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง, ทำความสะอาดชายหาด, ทำงานในสวนสาธารณะ, ป่าไม้, หรือห้องสมุด, และอื่น ๆ.
กระนั้น ทั้งในสมัยโบราณและในปัจจุบัน บางครั้งคริสเตียนรู้สึกว่าเขาทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นขัดต่อสติรู้สึกผิดชอบที่ดีของเขา. บางครั้งผลที่ตามมาอาจเป็นเรื่องร้ายแรง. คริสเตียนบางคนถูกพิพากษาประหารชีวิต. ส่วนคนอื่นถูกจำคุกหลายปีเพราะปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่พวกเขาถือว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง. (แน่นอน สภาพการณ์ย่อมต่างกันไปในแต่ละดินแดน. ดังนั้น เพื่อจะตัดสินใจได้ว่าควรทำตามข้อเรียกร้องใด ๆ หรือไม่นั้น คริสเตียนแต่ละคนต้องทำตามสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกอบรมจากคัมภีร์ไบเบิล.
การเลยไปถึงแปดสิบเส้น
หลักการที่พระเยซูสอน คือการเต็มใจทำงานตามข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นหลักการที่ใช้ได้ผลไม่เพียงแต่สิ่งที่รัฐบาลเรียกร้องเท่านั้น แต่ใช้ได้กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวันด้วย. ตัวอย่างเช่น อาจเป็นได้ว่าคนที่มีอำนาจเหนือคุณอาจขอให้คุณทำบางสิ่งที่คุณไม่อยากทำ แต่สิ่งนั้นไม่ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า. คุณจะมีปฏิกิริยาเช่นไร? คุณอาจรู้สึกว่า นั่นเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีเหตุผลซึ่งทำให้คุณเสียเวลาและพลังงาน และคุณจึงอาจแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจ. นั่นอาจทำให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้. ในอีกด้านหนึ่ง หากคุณทำตามด้วยความข้องขัดใจ คุณอาจไม่มีความสงบใจ. ทางแก้คืออะไร? จงทำตามที่พระเยซูแนะนำไว้ นั่นคือ จงเลยไปกับเขาถึงแปดสิบเส้น. จงทำไม่เพียงสิ่งที่ถูกขอให้ทำ แต่จงทำมากกว่านั้น. ทำอย่างเต็มใจ. ด้วยทัศนะเช่นนี้ คุณจะไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบอีกต่อไป แต่คุณยังคงเป็นนายของตัวเอง.
นักเขียนคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ตลอดชีวิต หลายคนทำงานเฉพาะเมื่อถูกบังคับให้ทำ. สำหรับพวกเขาแล้ว ชีวิตไม่น่าพึงพอใจเลย และเขารู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา. ส่วนคนอื่นทำมากกว่าที่ถูกคาดหมายและเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่น.” ที่จริงแล้ว มีหลายสถานการณ์ที่คนเราต้องเลือกว่าจะไปเพียงสี่สิบเส้นเมื่อถูกบังคับ—หรือเลยไปแปดสิบเส้น. ถ้าคนเราเลือกที่จะทำอย่างแรก เขาอาจสนใจแค่ทำตามสิทธิของเขา. ถ้าเลือกอย่างที่สอง เขาอาจได้รับประสบการณ์ที่ยังความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง. คุณเป็นคนแบบไหน? คุณคงจะมีความสุขและเกิดผลมากขึ้นถ้าคุณมองว่างานที่คุณทำไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่หรือสิ่งที่คุณต้องทำ แต่นั่นเป็นสิ่งที่คุณอยากทำ.
และจะว่าอย่างไรถ้าคุณเป็นผู้มีอำนาจ? เห็นได้ชัดว่า คงไม่ได้เป็นการแสดงความรักหรือเป็นสิ่งที่คริสเตียนควรทำหากใช้อำนาจบังคับคนอื่นให้ทำสิ่งที่คุณต้องการโดยที่เขาไม่เต็มใจ. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ครอบครองของชาวต่างประเทศย่อมกดขี่บังคับบัญชาเขา และผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เอาอำนาจเข้าข่ม.” แต่นั่นไม่ใช่แนวทางของคริสเตียน. (มัดธาย 20:25, 26) ขณะที่วิธีบังคับก็อาจทำให้งานเสร็จได้ แต่ความสัมพันธ์ของทุกคนที่เกี่ยวข้องจะดีขึ้นสักเพียงไร หากคำขอที่กรุณาและเหมาะสมจะมีผู้ทำตามด้วยความนับถือและยินดี! ถูกแล้ว การพร้อมจะเลยไปแปดสิบเส้นแทนที่จะไปเพียงสี่สิบเส้นจะทำให้ชีวิตของคุณน่าพึงพอใจมากขึ้นจริง ๆ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 สำหรับการพิจารณาอย่างละเอียดถึงความหมายของการที่คริสเตียนจะ ‘คืนของของซีซาร์แก่ซีซาร์ แต่ของของพระเจ้าคืนแด่พระเจ้า’ ดูหอสังเกตการณ์ 1 พฤษภาคม 1996 หน้า 15-20.
[กรอบหน้า 25]
การเกณฑ์อย่างไม่ถูกต้องในสมัยโบราณ
เรารู้ได้ว่ามีการเกณฑ์แบบนี้ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อบังคับให้ผู้คนทำงาน เห็นได้จากกฎระเบียบที่วางไว้เพื่อควบคุมการปฏิบัติในทางที่ผิดเช่นนี้. ในปี 118 ก่อน ส.ศ. ปโตเลมี ยูเออร์เจเตสที่สองแห่งอียิปต์ได้ออกกฎข้อบังคับว่า ข้าราชการของเขา “จะต้องไม่เกณฑ์ใครก็ตามที่อาศัยในประเทศนี้ให้ทำงานส่วนตัว ทั้งไม่ร้องขอ (อากาเรอิน) วัวควายเพื่อจุดประสงค์ของตนเอง.” นอกจากนี้ “ไม่ควรมีใครร้องขอ . . . เรือเพื่อใช้ในงานส่วนตัวไม่ว่าจะมีข้ออ้างใด ๆ ก็ตาม.” ในข้อความจารึกสมัยปีสากลศักราช 49 ในวิหารของโอเอซิสหลวงแห่งอียิปต์ เวอร์จิลลิอุส คาปีโต ข้าหลวงโรมันยอมรับว่า พวกทหารเรียกร้องอย่างผิดกฎหมาย และเขาได้ตั้งกฎว่า “ห้ามใครก็ตามยึดหรือเรียกร้อง . . . สิ่งใด ๆ เว้นแต่ผู้นั้นมีหนังสือมอบอำนาจจากเรา.”
[ภาพหน้า 24]
ซีโมนชาวกุเรเนถูกเกณฑ์ให้ทำงาน
[ภาพหน้า 26]
พยานฯ หลายคนถูกจำคุกเนื่องจากรักษาจุดยืนของคริสเตียน