จงวางใจในพระคำของพระยะโฮวา
จงวางใจในพระคำของพระยะโฮวา
“ข้าพเจ้าวางใจในพระคำของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:42, ล.ม.
1. คุณบอกอะไรได้เกี่ยวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119 และบุคลิกลักษณะของเขา?
พระคำของพระยะโฮวามีค่าและเป็นที่หวงแหนสำหรับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119. ผู้ประพันธ์อาจเป็นเจ้าชายฮิศคียาแห่งอาณาจักรยูดาห์. อารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกมาในบทเพลงที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้ตรงกับบุคลิกลักษณะของฮิศคียา ผู้ซึ่ง “ได้เข้าสนิทกับพระยะโฮวา” ขณะเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรยูดาห์. (2 กษัตริย์ 18:3-7) ที่แน่ ๆ อย่างหนึ่งคือ ผู้ประพันธ์เพลงท่านนี้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน.—มัดธาย 5:3, ล.ม.
2. สาระสำคัญของเพลงสรรเสริญบท 119 คืออะไร และรูปแบบการเรียบเรียงเพลงนี้เป็นอย่างไร?
2 สาระสำคัญของเพลงสรรเสริญบท 119 คือ คุณค่าแห่งพระคำของพระเจ้า. * ดูเหมือนว่าเพื่อจะช่วยจำ ผู้ประพันธ์จึงเรียบเรียงเป็นโคลงกระทู้ที่เล่นตัวอักษร. ทั้ง 176 ข้อของบทเพลงนี้ขึ้นต้นด้วยอักษรฮีบรูตามลำดับพยัญชนะ. เพลงนี้ในต้นฉบับภาษาฮีบรูแบ่งเป็น 22 ตอนโดยที่แต่ละตอนมี 8 ข้อและแต่ละตอนขึ้นต้นด้วยอักษรตัวเดียวกัน. เพลงสรรเสริญบทนี้กล่าวถึงพระคำ, พระวจนะ, กฎหมาย, ข้อเตือนใจ, พระมรคา, ข้อบังคับ, พระโอวาท, กฎ, ข้อบัญญัติ, คำตัดสิน, พระดำรัส, และข้อกำหนดของพระเจ้า. ในบทความนี้และบทความหน้า เราจะพิจารณาเพลงสรรเสริญบท 119 ตามคำแปลที่ถ่ายทอดความหมายตรงตามข้อความภาษาฮีบรูในคัมภีร์ไบเบิล. การใคร่ครวญสิ่งที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาในอดีตและปัจจุบันประสบน่าจะช่วยเราให้เข้าใจบทเพลงที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้านี้ดียิ่งขึ้น และทำให้เรามีความหยั่งรู้ค่ามากขึ้นต่อคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าที่มีการบันทึกไว้.
เชื่อฟังพระคำของพระเจ้าและมีความสุข
3. จงอธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นถึงความหมายของการปราศจากผิด.
3 ความสุขแท้ขึ้นอยู่กับการที่เราดำเนินตามกฎหมายของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:1-8) ถ้าเราทำเช่นนั้น พระยะโฮวาจะถือว่าเรา ‘ปราศจากผิดในแนวทางของเรา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:1, ล.ม.) การปราศจากผิดไม่ได้หมายความว่าเราเป็นมนุษย์สมบูรณ์ แต่เป็นการบ่งชี้ว่าเราพยายามอย่างจริงจังเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาพระเจ้า. โนฮา “พิสูจน์ตัวว่าปราศจากข้อบกพร่องท่ามกลางคนในสมัยเดียวกัน” ฐานะเป็นผู้ “ดำเนินกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้.” ปฐมบรรพบุรุษผู้ซื่อสัตย์คนนี้พร้อมกับสมาชิกในครอบครัวรอดชีวิตผ่านน้ำท่วมโลกเพราะท่านดำเนินชีวิตตามแนวทางที่พระยะโฮวาชี้นำ. (เยเนซิศ 6:9, ล.ม.; 1 เปโตร 3:20) ในทำนองเดียวกัน การรอดชีวิตของเราผ่านอวสานของโลกนี้ขึ้นอยู่กับการที่เรา ‘ปฏิบัติตามข้อบังคับของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด’ ซึ่งโดยวิธีนี้ เรากำลังทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 119:4, ล.ม.
4. ความสุขและความสำเร็จของเราขึ้นอยู่กับอะไร?
4 พระยะโฮวาจะไม่ทอดทิ้งเรา หากเรา ‘สรรเสริญพระองค์ด้วยใจเที่ยงตรง และปฏิบัติตามกฎของพระองค์เรื่อยไป.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:7, 8, ล.ม.) พระเจ้าไม่ได้ทอดทิ้งยะโฮซูอะผู้นำชาติอิสราเอลซึ่งเชื่อฟังคำแนะนำของพระองค์ ที่ให้ ‘อ่านหนังสือกฎหมายทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะได้ทำตามทุกสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือนั้น.’ การทำเช่นนั้นช่วยท่านให้บรรลุผลสำเร็จและทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสุขุม. (ยะโฮซูอะ 1:8, ล.ม.) ยะโฮซูอะยังคงสรรเสริญพระเจ้าอยู่เรื่อยไปในบั้นปลายชีวิตของท่าน และสามารถเตือนใจชาวอิสราเอลได้ว่า “ท่านทั้งหลายก็รู้แน่ในใจว่า, ในสิ่งสารพัตร [“ทุกถ้อยคำ,” ล.ม.] อันดีนั้น, ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของท่านทรงตรัสถึงท่านแล้วหาได้ขาดสักสิ่งเดียวไม่.” (ยะโฮซูอะ 23:14) เช่นเดียวกับยะโฮซูอะและผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119 เราจะมีความสุขและบรรลุผลสำเร็จโดยการสรรเสริญพระยะโฮวาและวางใจคำตรัสของพระองค์.
พระดำรัสของพระยะโฮวารักษาเราให้สะอาด
5. (ก) จงอธิบายว่าเป็นไปได้อย่างไรที่จะรักษาความสะอาดฝ่ายวิญญาณ. (ข) มีความช่วยเหลืออะไรสำหรับคนหนุ่มสาวที่ได้ทำบาปร้ายแรง?
5 เราจะสะอาดฝ่ายวิญญาณได้หากเราระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:9-16) เราจะเป็นเช่นนั้นได้แม้แต่เมื่อบิดามารดาของเราไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี. แม้บิดาของฮิศคียาบูชารูปเคารพ ฮิศคียา “ชำระทางประพฤติของตนให้บริสุทธิ์” ซึ่งอาจหมายถึงการอยู่ห่างจากอิทธิพลของการนมัสการนอกรีต. ถ้าเกิดว่าคนหนุ่มสาวที่รับใช้พระเจ้าในทุกวันนี้ทำบาปร้ายแรง การกลับใจ, การอธิษฐาน, ความช่วยเหลือจากบิดามารดา, และความช่วยเหลือด้วยความรักจากเหล่าคริสเตียนผู้ปกครองจะสามารถช่วยเขาให้เป็นเหมือนฮิศคียา และ ‘ชำระทางประพฤติของตนให้บริสุทธิ์และระวัง.’—ยาโกโบ 5:13-15.
6. สตรีคนใดที่ได้ ‘ชำระทางประพฤติของตนให้บริสุทธิ์และระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระเจ้า’?
6 แม้ราฮาบและรูธจะมีชีวิตอยู่นานก่อนจะมีการประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119 แต่ทั้งสองก็ได้ “ชำระทางประพฤติของตนให้บริสุทธิ์.” ราฮาบเป็นโสเภณีชาวคะนาอัน แต่เธอกลายมาเป็นที่รู้จักเนื่องด้วยความเชื่อของเธอฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวา. (เฮ็บราย 11:30, 31) รูธหญิงชาวโมอาบได้ละพระเจ้าของตน, รับใช้พระยะโฮวา, และปฏิบัติตามพระบัญญัติที่พระองค์มอบแก่ชาติอิสราเอล. (ประวัตินางรูธ 1:14-17; 4:9-13) สตรีทั้งสองคนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลนี้ได้ ‘ระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระเจ้า’ และได้รับสิทธิพิเศษอันล้ำเลิศเป็นบรรพสตรีของพระเยซูคริสต์.—มัดธาย 1:1, 4-6.
7. ดานิเอลกับเด็กหนุ่มชาวฮีบรูอีกสามคนวางตัวอย่างที่ดีในการรักษาความสะอาดฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
7 “ความเอนเอียงแห่งหัวใจของมนุษย์นั้นชั่วตั้งแต่เด็กมา” แต่คนหนุ่มสาวก็สามารถดำเนินในแนวทางบริสุทธิ์ได้ แม้อยู่ในโลกที่เสื่อมทรามภายใต้อำนาจควบคุมของซาตานนี้. (เยเนซิศ 8:21, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19) ขณะเป็นเชลยอยู่ในบาบิโลน ดานิเอลและเด็กหนุ่มชาวฮีบรูอีกสามคน ‘ระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระเจ้า.’ ยกตัวอย่าง พวกเขาตั้งใจจะไม่ทำให้ตัวเองเป็นมลทิน “ด้วยอาหารอันโอชะของกษัตริย์.” (ดานิเอล 1:6-10, ล.ม.) ชาวบาบิโลนกินสัตว์ไม่สะอาดที่ต้องห้ามตามพระบัญญัติของโมเซ. (เลวีติโก 11:1-31; 20:24-26) พวกเขามักจะไม่เอาเลือดออกจากสัตว์ที่ฆ่าเป็นอาหาร และการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เอาเลือดออกเป็นการละเมิดกฎหมายของพระเจ้าว่าด้วยเรื่องเลือด. (เยเนซิศ ) ไม่ประหลาดใจเลยที่ชาวฮีบรูสี่คนนี้จะไม่รับประทานอาหารอันโอชะของกษัตริย์นั้น! เด็กหนุ่มเหล่านี้ซึ่งเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าได้รักษาความสะอาดฝ่ายวิญญาณ และโดยวิธีนั้นได้วางตัวอย่างที่ดีไว้. 9:3, 4
พระคำของพระเจ้าช่วยเราให้รักษาความซื่อสัตย์
8. เราต้องมีเจตคติเช่นไรและมีความรู้อะไรหากเราปรารถนาจะเข้าใจกฎหมายของพระเจ้าและนำไปใช้?
8 ความชื่นชอบในพระคำของพระเจ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรารักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 119:17-24) หากเรารู้สึกเหมือนผู้ประพันธ์เพลงที่ได้รับการดลใจนี้ เราจะปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเข้าใจ “ความยอดเยี่ยม” ในกฎหมายของพระเจ้า. เราจะ ‘ปรารถนาคำตัดสินของพระยะโฮวา’ อยู่เสมอ และ ‘ชื่นชอบข้อเตือนใจของพระองค์.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:18, 20, 24, ล.ม.) ถ้าเราอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเมื่อไม่นานมานี้ เราได้ “ปลูกฝังความปรารถนาจะได้น้ำนมอันไม่มีอะไรเจือปนที่เป็นของพระคำ” ไหม? (1 เปโตร 2:1, 2, ล.ม.) เราจำเป็นต้องเข้าใจคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะสามารถเข้าใจกฎหมายของพระเจ้าและนำไปใช้.
9. เราควรทำประการใดหากกฎหมายของพระเจ้าขัดกับข้อเรียกร้องของมนุษย์?
9 เราอาจชื่นชอบข้อเตือนใจของพระเจ้า แต่ถ้า “พวกเจ้านาย” กล่าวร้ายเราด้วยเหตุผลบางอย่างล่ะ? (บทเพลงสรรเสริญ 119:23, 24) ในปัจจุบัน บ่อยครั้ง ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองพยายามทำให้กฎหมายของมนุษย์อยู่เหนือกฎหมายของพระเจ้า. หากข้อเรียกร้องของมนุษย์ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้า เราจะทำประการใด? ความชื่นชอบในพระคำของพระเจ้าจะช่วยเราให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. เราจะกล่าวเช่นเดียวกับอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ที่ถูกข่มเหงได้กล่าว ที่ว่า “ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์.”—กิจการ 5:29.
10, 11. จงยกตัวอย่างว่าเราจะสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวาเมื่ออยู่ในสภาพการณ์ที่ยากลำบากที่สุดได้อย่างไร.
10 เราสามารถรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาได้แม้เมื่ออยู่ในสภาพการณ์ที่ยากลำบากที่สุด. (บทเพลงสรรเสริญ 119:25-32) หากเราต้องการจะประสบความสำเร็จในการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า เราต้องเต็มใจรับการสอนและอธิษฐานอย่างจริงจังเพื่อขอการชี้นำจากพระองค์. นอกจากนี้ เราต้องเลือกเอา “ทางแห่งความสัตย์จริง”—บทเพลงสรรเสริญ 119:26, 30.
11 ฮิศคียา ซึ่งอาจเป็นผู้เขียนเพลงสรรเสริญบท 119 นั้นได้เลือก “ทางแห่งความสัตย์จริง.” ท่านทำเช่นนี้ทั้ง ๆ ที่ถูกแวดล้อมไปด้วยเหล่าผู้นมัสการเท็จและอาจถูกเยาะเย้ยจากผู้คนในราชสำนัก. อาจเป็นไปได้ที่ท่าน “นอนไม่หลับเพราะความเศร้าโศก” เนื่องด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว. (บทเพลงสรรเสริญ 119:28, ล.ม.) แต่ฮิศคียาวางใจพระเจ้า, เป็นกษัตริย์ที่ดี, และ “ประพฤติถูกต้องในคลองพระเนตรแห่งพระยะโฮวา.” (2 กษัตริย์ 18:1-5) โดยการวางใจพระเจ้า เราจะสามารถอดทนความยากลำบากในฐานะผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้เช่นกัน.—ยาโกโบ 1:5-8.
พระคำของพระยะโฮวาทำให้เรามีความกล้า
12. เราแต่ละคนจะทำตามที่กล่าวในบทเพลงสรรเสริญ 119:36, 37 ได้อย่างไร?
12 การทำตามการชี้นำจากพระคำของพระเจ้าทำให้เรามีความกล้าที่จำเป็นต้องมีเพื่อรับมือกับข้อท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต. (บทเพลงสรรเสริญ 119:33-40) เราถ่อมใจขอคำแนะนำจากพระยะโฮวาเพื่อจะถือรักษากฎหมายของพระองค์ได้อย่าง “สุดใจ.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:33, 34) ดังเช่นผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ เราทูลขอพระเจ้าดังนี้: “ขอทรงโน้มน้าวหัวใจข้าพเจ้าไปหาข้อเตือนใจของพระองค์ ไม่ใช่ไปหาผลกำไรต่าง ๆ” ซึ่งเป็นผลกำไรโดยมิชอบ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:36, ล.ม.) เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล เรา “ประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.” (เฮ็บราย 13:18, ล.ม.) หากนายจ้างต้องการให้เราทำอะไรที่ไม่ซื่อสัตย์ เรารวบรวมความกล้าเพื่อยึดมั่นกับการชี้นำของพระยะโฮวา และพระองค์จะทรงอวยพรการทำเช่นนั้นเสมอ. ที่จริง พระองค์ทรงช่วยเราให้ควบคุมความปรารถนาที่ไม่ดีทุกอย่างไว้ได้. ฉะนั้น ให้เราทูลอธิษฐานว่า “ขอให้ลูกตาของข้าพเจ้าเมินไปเสียจากของอนิจจัง.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:37) เราไม่ต้องการที่จะถือว่าสิ่งอนิจจังใด ๆ ที่พระเจ้าทรงเกลียดนั้น เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา. (บทเพลงสรรเสริญ 97:10) สิ่งอนิจจังบางอย่างที่คำอธิษฐานดังกล่าวช่วยกระตุ้นเราให้หลีกเลี่ยงคือ สื่อลามกและลัทธิผีปิศาจ.—1 โกรินโธ 6:9, 10; วิวรณ์ 21:8.
13. สาวกของพระเยซูที่ถูกข่มเหงได้ความกล้าที่จำเป็นโดยวิธีใดเพื่อกล่าวคำพยานอย่างกล้าหาญ?
13 ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าให้ความมั่นใจแก่เราที่จะกล่าวคำพยานอย่างกล้าหาญ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:41-48) และเราต้องมีความกล้าจริง ๆ เพื่อจะ ‘ตอบแก่คนที่เยาะเย้ยเรา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:42) บางครั้ง เราอาจเหมือนกับสาวกของพระเยซูที่ถูกข่มเหงซึ่งได้อธิษฐานว่า “พระยะโฮวา . . . ขอโปรดให้ผู้ทาสของพระองค์กล่าวคำของพระองค์ต่อไปด้วยใจกล้า.” ผลเป็นอย่างไร? “พวกเขาทุกคนได้ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และกล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญ.” องค์บรมมหิศรองค์เดียวกันนี้ทรงประทานความกล้าแก่เราให้กล่าวถ้อยคำของพระองค์ด้วยความกล้าหาญ.—กิจการ 4:24-31, ล.ม.
14. อะไรจะช่วยเราให้กล่าวคำพยานอย่างกล้าหาญเหมือนอย่างเปาโล?
14 เราจะได้ความกล้าที่จำเป็นเพื่อกล่าวคำพยานโดยไม่หวั่นกลัวเนื่องจากความอาย หากเราหวงแหน “พระวจนะอันสัตย์จริง” และ ‘รักษาบัญญัติของพระเจ้าต่อ ๆ ไป.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:43, 44) การขยันศึกษาพระคำของพระเจ้าที่มีการบันทึกไว้จะทำให้เราพร้อมที่จะ “กล่าวถึงข้อเตือนใจของพระองค์ต่อหน้ากษัตริย์ทั้งหลาย.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:46, ล.ม.) การอธิษฐานและพระวิญญาณของพระยะโฮวาจะช่วยเราเช่นเดียวกันให้พูดสิ่งที่เหมาะสมในวิธีที่เหมาะที่ควร. (มัดธาย 10:16-20; โกโลซาย 4:6) เปาโลพูดถึงข้อเตือนใจของพระเจ้าอย่างกล้าหาญต่อผู้มีอำนาจปกครองในศตวรรษแรก. ตัวอย่างเช่น ท่านกล่าวคำพยานแก่เฟลิกซ์ผู้สำเร็จราชการโรมัน ซึ่ง “ฟังเปาโลกล่าวด้วยข้อเชื่อในพระเยซูคริสต์.” (กิจการ 24:24, 25) เปาโลกล่าวคำพยานต่อหน้าผู้สำเร็จราชการเฟศโตและกษัตริย์อะฆะริปาด้วย. (กิจการ 25:22–26:32) ด้วยการหนุนหลังจากพระยะโฮวา เราก็เช่นกันสามารถเป็นพยานที่กล้าหาญ และไม่ “อายในเรื่องกิตติคุณ.”—โรม 1:16.
พระคำของพระเจ้าให้การปลอบโยนเรา
15. พระคำของพระเจ้าจะให้การปลอบโยนเราได้อย่างไรเมื่อถูกเยาะเย้ย?
15 พระคำของพระยะโฮวาให้การปลอบโยนเสมอ. (บทเพลงสรรเสริญ 119:49-56) มีหลายโอกาสที่เราจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยนเป็นพิเศษ. แม้ว่าเราพูดจาตรงไปตรงมาอย่างกล้าหาญฐานะพยานของพระยะโฮวา แต่ “คนอหังการ”—เหล่าคนที่ทำอหังการต่อพระเจ้า—บางครั้งก็ ‘เยาะเย้ยเรามากมาย.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:51) อย่างไรก็ตาม ขณะอธิษฐาน เราอาจระลึกถึงสิ่งดี ๆ ที่กล่าวไว้ในพระคำของพระเจ้า และโดยวิธีนี้เราจึง “ได้รับการปลอบโยน.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:52, ล.ม.) ระหว่างที่เราทูลวิงวอน เราอาจระลึกถึงกฎหมายหรือหลักการในพระคัมภีร์ที่ให้การปลอบโยนและความเข้มแข็งที่จำเป็นเมื่ออยู่ในสภาพการณ์ที่กดดันอย่างหนัก.
16. ผู้รับใช้ของพระเจ้าไม่ได้ทำสิ่งใดแม้ว่าจะถูกข่มเหง?
16 คนอหังการที่เยาะเย้ยผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญนั้นคือชาวอิสราเอล—คนในชาติที่อุทิศแด่พระเจ้า. ช่างน่าละอายจริง ๆ! แต่เราจะไม่เป็นเหมือนกับพวกเขา ขอให้เราตั้งใจมุ่งมั่นว่าจะไม่หันเหออกไปจากกฎหมายของพระเจ้าอย่างเด็ดขาด. (บทเพลงสรรเสริญ 119:51) เมื่อถูกพวกนาซีข่มเหงหรือถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายคล้าย ๆ กันนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจำนวนมากมายไม่ยอมหันเห ออกไปจากกฎหมายและหลักการที่อยู่ในพระคำของพระเจ้า. (โยฮัน 15:18-21) และการเชื่อฟังพระยะโฮวาไม่เป็นภาระหนัก เพราะกฎของพระองค์เป็นดุจบทเพลงที่ปลอบโยนเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 119:54; 1 โยฮัน 5:3.
หยั่งรู้ค่าพระคำของพระยะโฮวา
17. ความหยั่งรู้ค่าต่อพระคำของพระเจ้ากระตุ้นให้เราทำอะไร?
17 เราพิสูจน์ให้เห็นว่าเราหยั่งรู้ค่าพระคำของพระเจ้าโดยดำเนินชีวิตประสานกับพระคำนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 119:57-64) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ‘สัญญาไว้ว่าจะปฏิบัติตามพระคำของพระยะโฮวา’ และถึงกับ ‘ลุกขึ้นขอบพระคุณพระเจ้าตอนเที่ยงคืน เพราะคำตัดสินอันชอบธรรมของพระองค์.’ ถ้าเราตื่นขึ้นมากลางดึก นับว่าเป็นโอกาสอันดีเยี่ยมที่จะกล่าวขอบพระคุณพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน! (บทเพลงสรรเสริญ 119:57, 62, ล.ม.) ความหยั่งรู้ค่าต่อพระคำของพระเจ้ากระตุ้นเราให้แสวงหาคำสอนของพระองค์ และทำให้เรากลาย “เป็นเพื่อน” ที่น่าชื่นชม ‘กับคนทั้งปวงที่เกรงกลัวพระยะโฮวา’—ผู้คนที่เคารพยำเกรงพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:63, 64) จะหาเพื่อนที่ดีกว่านี้ได้จากที่ไหนในโลก?
18. พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเราอย่างไรเมื่อ ‘เชือกของคนชั่วรัดเราไว้’?
18 เมื่อเราทูลอธิษฐานอย่างสุดหัวใจ และถ่อมใจขอพระยะโฮวาสอนเรานั้น เรากำลัง “ทำให้พระองค์ชอบพระทัย.” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องอธิษฐานเมื่อ ‘เชือกของคนชั่วรัดเราไว้.’ (บทเพลงสรรเสริญ 119:58, 61, ล.ม.) พระยะโฮวาสามารถตัดเชือกของศัตรูเพื่อให้เราสามารถทำงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวกได้ต่อไป. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) สิ่งนี้ปรากฏครั้งแล้วครั้งเล่าในดินแดนที่งานของเราถูกสั่งห้าม.
จงมีความเชื่อมั่นในพระคำของพระเจ้า
19, 20. ความทุกข์ยากเป็นคุณได้อย่างไร?
19 ความเชื่อมั่นในพระเจ้าและพระคำของพระองค์ช่วยเราให้อดทนความทุกข์ยากและทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ต่อ ๆ ไป. (บทเพลงสรรเสริญ 119:65-72) แม้ว่าถูกคนอหังการ “คิดอ่านหาคำเท็จกล่าวร้าย” แต่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวเป็นเพลงว่า “การที่เกิดทุกข์ยากแก่ข้าพเจ้าแล้วนั้นเป็นคุณแก่ข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:66, 69, 71) การอดทนความทุกข์ยากจะเป็นคุณหรือก่อผลดีต่อใครก็ตามที่เป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาได้อย่างไร?
20 เมื่อประสบความทุกข์ยาก เราย่อมทูลวิงวอนต่อพระยะโฮวาอย่างจริงจังแน่ ๆ และการทำเช่นนั้นทำให้เราใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น. เราอาจใช้เวลามากขึ้นในการศึกษาพระคำของพระเจ้าที่มีการบันทึกไว้และอาจพยายามให้มากขึ้นที่จะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้. การทำเช่นนี้จะส่งผลให้เรามีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น. แต่ถ้าเรามีปฏิกิริยาต่อความทุกข์ยากที่ประสบไปในทางที่เผยให้เห็นลักษณะนิสัยอันไม่พึงปรารถนาล่ะ เช่น ขาดความอดทนหรือมีความหยิ่งทะนง? ด้วยการอธิษฐานอย่างจริงจังและความช่วยเหลือจากพระคำและพระวิญญาณของพระเจ้า เราสามารถจะเอาชนะข้อบกพร่องเหล่านั้นและ “สวมบุคลิกภาพใหม่” ให้บริบูรณ์เต็มที่ยิ่งขึ้น. (โกโลซาย 3:9-14, ล.ม.) นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นของเราเพิ่มพูนขึ้นเมื่อเราอดทนความทุกข์ยาก. (1 เปโตร 1:6, 7) เปาโลได้รับประโยชน์จากความทุกข์ยากเพราะทำให้ท่านเพิ่มความวางใจในพระยะโฮวา. (2 โกรินโธ 1:8-10) เราล่ะยอมให้ความทุกข์ยากก่อผลดีต่อตัวเราไหม?
จงวางใจพระยะโฮวาเสมอ
21. จะเกิดผลเช่นไรเมื่อพระเจ้าทำให้คนอหังการได้รับความอับอาย?
21 พระคำของพระเจ้าทำให้เรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะวางใจพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 119:73-80) ถ้าเราวางใจพระผู้สร้างของเราอย่างแท้จริง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะรู้สึกอาย. แต่เนื่องจากสิ่งที่คนอื่นทำต่อเรา เราจึงต้องการการปลอบโยนและอาจรู้สึกอยากอธิษฐานว่า “ขอทรงโปรดให้คนอหังการได้ความอัปยศ.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:76-78) เมื่อพระยะโฮวาทำให้คนเหล่านี้ได้รับความอับอาย นั่นจะเป็นการเปิดโปงแนวทางชั่วของพวกเขาและเป็นการทำให้พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์เป็นที่นับถือ. เรามั่นใจได้ว่าพวกที่ข่มเหงประชาชนของพระเจ้าจะเสียแรงเปล่า. ตัว อย่างเช่น พวกเขาไม่เคยกำจัดพยานพระยะโฮวาให้สูญสิ้นไปได้ และไม่มีวันจะทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากพยานพระยะโฮวาวางใจพระเจ้าด้วยสุดหัวใจของตน.—สุภาษิต 3:5, 6.
22. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเป็น ‘เหมือนถุงหนังที่ถูกรมควัน’ ในความหมายเช่นไร?
22 พระคำของพระเจ้าเสริมความวางใจที่เรามีต่อพระองค์เมื่อถูกข่มเหง. (บทเพลงสรรเสริญ 119:81-88) เนื่องจากถูกคนอหังการข่มเหง ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจึงรู้สึกว่าตัวท่านเป็น “เหมือนกะสอบหนัง [“ถุงหนัง,” ล.ม.] ที่ถูกรมควัน.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:83, 86) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ถุงที่ทำจากหนังสัตว์ถูกใช้สำหรับบรรจุน้ำ, เหล้าองุ่น, หรือของเหลวอื่น ๆ. เมื่อไม่ได้ใช้งาน ถุงหนังจะเหี่ยวแห้งหากแขวนไว้ใกล้ไฟในห้องที่ไม่มีปล่องระบายควัน. ความทุกข์ยากหรือการข่มเหงเคยทำให้คุณรู้สึกเป็น ‘เหมือนถุงหนังที่ถูกรมควัน’ ไหม? ถ้าเช่นนั้น จงวางใจพระยะโฮวาและทูลอธิษฐานดังต่อไปนี้: “ด้วยความกรุณารักใคร่ของพระองค์ ขอทรงพิทักษ์ชีวิตข้าพเจ้าไว้ เพื่อข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามข้อเตือนใจจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:88, ล.ม.
23. เราได้พิจารณาอะไรไปแล้วจากการศึกษาบทเพลงสรรเสริญ 119:1-88 และเราอาจถามตัวเองเช่นไรขณะที่คอยท่าการศึกษาบทเพลงสรรเสริญ 119:89-176?
23 สิ่งที่เราได้พิจารณาในครึ่งแรกของเพลงสรรเสริญบท 119 แสดงว่าพระยะโฮวาสำแดงความกรุณารักใคร่ต่อเหล่าผู้รับใช้ของพระองค์ เนื่องจากพวกเขาวางใจพระคำของพระองค์ และชื่นชอบข้อกำหนด, ข้อเตือนใจ, ข้อบัญญัติ, และกฎหมายของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:16, 47, 64, 70, 77, 88, ล.ม.) พระองค์ชอบพระทัยที่บรรดาผู้ที่เลื่อมใสพระองค์ระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:9, 17, 41, 42) ขณะที่คอยท่าการศึกษาส่วนครึ่งหลังของเพลงสรรเสริญที่เสริมกำลังใจบทนี้ คงจะดีที่คุณจะถามตัวเองว่า ‘ฉันให้พระวจนะของพระยะโฮวาส่องสว่างทางของฉันอย่างแท้จริงไหม?’
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 คำว่า “พระคำ” ในเพลงสรรเสริญบท 119 นี้ หมายถึงคำตรัสของพระยะโฮวา ไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ความสุขแท้ขึ้นอยู่กับอะไร?
• พระคำของพระยะโฮวารักษาเราให้สะอาดฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
• พระคำของพระยะโฮวาทำให้เรามีความกล้าและให้การปลอบโยนแก่เราในทางใดบ้าง?
• ทำไมเราควรเชื่อมั่นในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 11]
รูธ, ราฮาบ, และเด็กหนุ่มชาวฮีบรูที่เป็นเชลยอยู่ในบาบิโลน ‘ระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระเจ้า’
[ภาพหน้า 12]
เปาโล ‘กล่าวถึงข้อเตือนใจของพระเจ้าต่อหน้ากษัตริย์ทั้งหลาย’ อย่างกล้าหาญ