ศาสนาคริสเตียนแพร่หลายท่ามกลางชาวยิวในศตวรรษแรก
ศาสนาคริสเตียนแพร่หลายท่ามกลางชาวยิวในศตวรรษแรก
ประมาณปีสากลศักราช 49 มีการประชุมครั้งสำคัญในกรุงเยรูซาเลม. “ผู้ที่เขานับถือว่าเป็นหลัก” ของประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกได้แก่ โยฮัน, เปโตร, และยาโกโบน้องชายต่างบิดาของพระเยซูก็อยู่ที่นั่น. มีอีกสองคนที่ถูกระบุชื่ออยู่ในการประชุมครั้งนั้นด้วยคือ อัครสาวกเปาโลและบาระนาบาเพื่อนของท่าน. เรื่องที่ต้องมีการตกลงกันในที่ประชุมก็คือ ควรแบ่งเขตมอบหมายอันกว้างใหญ่สำหรับการประกาศอย่างไร. เปาโลอธิบายว่า “[พวกเขา] ได้ยื่นมือขวาให้ข้าพเจ้ากับบาระนาบาจับเป็นเครื่องหมายว่ามีความสามัคคีต่อกัน, เพื่อเราจะได้ไปหาชนต่างชาติ, และท่านเหล่านั้นจะได้ไปหาพวกที่ถือพิธีสุหนัต.”—ฆะลาเตีย 2:1, 9. *
เราน่าจะเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับการตกลงกันครั้งนั้น? ได้มีการแบ่งเขตการประกาศข่าวดีในลักษณะที่ว่า ชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวถือเป็นเขตหนึ่ง และคนต่างชาติเป็นอีกเขตหนึ่งไหม? หรือที่จริงแล้วเป็นการตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางภูมิศาสตร์? เพื่อจะพบคำตอบที่สมเหตุผล เราต้องทราบข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวยิวพลัดถิ่น ซึ่งก็คือชาวยิวที่ตั้งชุมชนนอกดินแดนปาเลสไตน์.
โลกของยิวในสมัยศตวรรษแรก
มีชาวยิวพลัดถิ่นมากน้อยแค่ไหนในศตวรรษแรก? ผู้คงแก่เรียนหลายคนดูเหมือนเห็นพ้องกับหนังสือแผนที่เกี่ยวกับโลกของยิว (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “เป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนแน่นอน แต่มีเหตุผลที่จะกะประมาณได้ว่า ในช่วงเวลาไม่นานก่อนปี ส.ศ. 70 มีชาวยิวสองล้านห้าแสนคนในยูเดียและมากกว่าสี่ล้านคนตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทั่วเขตแดนจักรวรรดิโรมัน. . . . เป็นไปได้มากทีเดียวว่าอัตราส่วนชาวยิวต่อประชากรทั้งจักรวรรดิคือหนึ่งต่อสิบ และเขตที่มีชาวยิวมากที่สุดคือเมืองที่อยู่แถบตะวันออก ซึ่งอาจมีพวกยิวอาศัยอยู่ที่นั่นในอัตราหนึ่งต่อสี่หรือมากกว่านั้น.”
ศูนย์กลางของชาวยิวอยู่ที่ซีเรีย, เอเชียน้อย, บาบิโลน, และอียิปต์ ซึ่งเป็นดินแดนแถบตะวันออก และยังมีชุมชนชาวยิวเล็ก ๆ แถบยุโรปด้วย. คริสเตียนชาวยิวรุ่นแรก ๆ บางคนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็มีภูมิหลังเป็นชาวยิวพลัดถิ่น เช่น บาระนาบามาจากไซปรัส, อะกุลาและปริศกิลามาจากปนโทสและต่อมาก็โรม, อะโปโลมาจากอะเล็กซานเดรีย, และเปาโลมาจากเมืองทาร์ซัส (ตาระโซ).—กิจการ 4:36; 18:2, 24; 22:3.
มีหลายสิ่งที่เชื่อมโยงชุมชนชาวยิวพลัดถิ่นกับบ้านเกิดเมืองนอนของเขา. หนึ่งในนั้นคือการส่งเงินภาษีประจำปีเพื่อบำรุงพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่พวกเขามีส่วนในการนมัสการและการงานในพระวิหาร. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้คงแก่เรียนจอห์น บาร์เคลย์ให้ข้อสังเกตว่า “มีหลักฐานมากพอที่ว่า ชาวยิวพลัดถิ่นในชุมชนได้รวบรวมเงินภาษีเหล่านี้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งก็รวมถึงเงินบริจาคพิเศษจากคนรวย.”
อีกสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาก็คือพวกผู้เดินทางหลายหมื่นคนที่ไปร่วมงานเทศกาลในกรุงเยรูซาเลมทุกปี. เรื่องกิจการ 2:9-11 ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับเทศกาลเพนเทคอสต์ปี ส.ศ. 33 แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้. พวกผู้เดินทางชาวยิวที่เข้าร่วมงานเทศกาลมาจากปาร์เทีย, มีเดีย, เอลาม, เมโสโปเตเมีย, กัปปะโดเกีย, ปนโทส, เอเชีย, ฟรีเกีย, ปัมฟีเลีย, อียิปต์, ลิเบีย (ลิบูเอ), โรม, ครีต (เกรเต), และคาบสมุทรอาหรับ.
ราวที่ผู้ดูแลพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมใช้วิธีเขียนจดหมายเพื่อติดต่อกับชาวยิวพลัดถิ่น. เป็นที่รู้กันว่าฆามาลิเอลผู้สอนพระบัญญัติที่กล่าวถึงในกิจการ 5:34 ได้ส่งจดหมายไปยังบาบิโลนและส่วนอื่น ๆ ของโลก. เมื่ออัครสาวกเปาโลถูกพาตัวมายังโรมในฐานะนักโทษประมาณปี ส.ศ. 59 “พวกผู้ใหญ่ในพวกยูดาย” บอกท่านว่า “พวกเราหาได้รับจดหมายมาจากมณฑลยูดายกล่าวถึงท่าน, หรือหามีพวกพี่น้องผู้หนึ่งผู้ใดมากล่าวร้ายถึงท่านไม่.” ข้อนี้บ่งชี้ว่ามีการส่งจดหมายและรายงานจากดินแดนบ้านเกิดไปยังโรมบ่อย ๆ.—กิจการ 28:17, 21.
คัมภีร์ไบเบิลฉบับที่ชาวยิวพลัดถิ่นใช้ได้แก่พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูฉบับแปลภาษากรีก หรือที่รู้จักกันในชื่อเซปตัวจินต์. แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “นับเป็นเรื่องสมเหตุผลที่จะลงความเห็นว่า ชาวยิวพลัดถิ่นทุกชุมชนอ่าน LXX [เซปตัวจินต์] และยอมรับว่า นี่เป็นคัมภีร์ไบเบิลของชาวยิวพลัดถิ่นหรือ ‘คำจารึกศักดิ์สิทธิ์.’ ” คริสเตียนในศตวรรษแรกก็ใช้ฉบับแปลเดียวกันนี้อย่างกว้างขวางในการสอน.
สมาชิกคณะกรรมการปกครองคริสเตียนในกรุงเยรูซาเลมคุ้นเคยกับสภาพการณ์เช่นนี้. ได้มีการประกาศข่าวดีอยู่แล้วแก่ชาวยิวพลัดถิ่นที่อาศัยในซีเรียและเขตที่อยู่ไกลออกไป รวมทั้งดามัสกัส (ดาเมเซ็ก) และอันทิโอก (อันติโอเกีย). (กิจการ 9:19, 20; 11:19; 15:23, 41; ฆะลาเตีย 1:21) ดูเหมือนว่า ณ การประชุมในปี ส.ศ. 49 ผู้เข้าร่วมประชุมวางแผนสำหรับงานประกาศในอนาคต. ให้เราพิจารณาข้ออ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิลที่เกี่ยวข้องกับการแผ่ขยายข่าวดีท่ามกลางชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิว.
การเดินทางของเปาโลและชาวยิวพลัดถิ่น
งานมอบหมายแรกของอัครสาวกเปาโลคือ การ “นำนาม [ของพระเยซูคริสต์] ไปยังคนต่างชาติ, กษัตริย์และพวกยิศราเอล.” * (กิจการ 9:15) หลังจากการประชุมที่กรุงเยรูซาเลม เปาโลยังคงประกาศข่าวดีแก่ชาวยิวพลัดถิ่นตามที่ต่าง ๆ ระหว่างการเดินทาง. (ดูกรอบหน้า 14.) นี่บ่งชี้ว่าการตกลงเรื่องการแบ่งเขตประกาศน่าจะเป็นการแบ่งทางภูมิศาสตร์. เปาโลและบาระนาบาขยายงานมิชชันนารีไปทางแถบตะวันตกของจักรวรรดิโรมัน ส่วนคนอื่น ๆ รับใช้ในดินแดนบ้านเกิดของชาวยิวและชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ในแถบตะวันออก.
เมื่อเปาโลและเพื่อนร่วมงานของท่านเริ่มการเดินทางรอบสองที่อันทิโอกของซีเรีย พวกเขาได้รับการชี้นำให้ไปทางทิศตะวันตกผ่านเอเชียน้อยขึ้นไปยังโตรอัส (โตรอา). จากที่นั่น พวกเขาข้ามไปยังมาซิโดเนีย (มากะโดเนีย) เนื่องจากลงความเห็นว่า “พระเจ้าได้ทรงเรียก [พวกเขา] ให้ไปประกาศกิตติคุณแก่ [ชาวมาซิโดเนีย] นั้น.” ต่อมา มีการตั้งประชาคมคริสเตียนในเมืองอื่น ๆ ของยุโรป รวมทั้งเอเธนส์และโครินท์ด้วย.—กิจการ 15:40, 41; 16:6-10; 17:1–18:18.
ประมาณปี ส.ศ. 56 ตอนสิ้นสุดการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สาม เปาโลวางแผนที่จะเดินทางไปทางตะวันตกให้ไกลกว่าเดิม และขยายเขตทำงานตามที่ท่านได้รับมอบหมาย ณ การประชุมที่กรุงเยรูซาเลม. ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าเต็มใจพร้อมที่จะประกาศกิตติคุณนั้นแก่ท่านทั้งหลายที่อยู่ในกรุงโรม” และ “ข้าพเจ้าจะไปยังประเทศสเปนผ่านตำบลที่ท่านทั้งหลายอยู่นั้น.” (โรม 1:15; 15:24, 28) แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับชุมชนชาวยิวพลัดถิ่นขนาดใหญ่ที่อยู่แถบตะวันออก?
ชุมชนชาวยิวในแถบตะวันออก
ระหว่างช่วงศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช มีชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของชาวยิวพลัดถิ่นในอียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอะเล็กซานเดรียซึ่งเป็นเมืองหลวง. ศูนย์กลางการค้าและวัฒนธรรมแห่งนี้มีประชากรชาวยิวหลายแสนคน และมีธรรมศาลากระจายอยู่ทั่วเมือง. ฟิโล ชาวยิวในอะเล็กซานเดรียอ้างว่า ในเวลานั้นมีชาวยิวอย่างน้อยหนึ่งล้านคน
ในอียิปต์. นอกจากนี้ มีชาวยิวจำนวนมากตั้งถิ่นฐานในลิเบียซึ่งอยู่ไม่ไกล ในเมืองไซรีนี (กุเรเน) และละแวกใกล้เคียง.ชาวยิวบางคนที่เข้ามาเป็นคริสเตียนมาจากดินแดนเหล่านี้. บันทึกมีว่าดังนี้: “อะโปโลซึ่งเกิดในเมืองอะเล็กซันดะเรีย,” “มีบางคนในชาตินั้นเป็นชาวเกาะกุบโรกับชาวกุเรเน,” และ “ลูกิโอชาวเมืองกุเรเน” ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนประชาคมในอันทิโอกของซีเรีย. (กิจการ 2:10; 11:19, 20; 13:1; 18:24) นอกเหนือไปจากนี้แล้วคัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ได้พูดถึงอีกในเรื่องงานของคริสเตียนยุคแรกในอียิปต์และละแวกใกล้เคียง เว้นแต่มีการบันทึกเรื่องที่ฟิลิปซึ่งเป็นคริสเตียนผู้เผยแพร่ได้ให้คำพยานกับขันทีชาวเอธิโอเปีย.—กิจการ 8:26-39.
ศูนย์รวมที่สำคัญของชาวยิวพลัดถิ่นอีกแห่งหนึ่งคือบาบิโลน เลยไปจนถึงปาร์เทีย, มีเดีย, และเอลาม. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า “ทุก ๆ เขตของที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทิส ตั้งแต่อาร์เมเนียจนถึงอ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งจากดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือถึงทะเลแคสเปียน และดินแดนตะวันออกจนถึงมีเดีย มีประชากรชาวยิวอยู่ทั่วไปหมด.” สารานุกรมจูไดกา กะประมาณว่าในดินแดนแถบนั้นมีชาวยิวราว 800,000 คนหรือมากกว่า. โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ยิวในศตวรรษแรกบอกว่า ชาวยิวในบาบิโลนหลายหมื่นคนเดินทางไปยังเยรูซาเลมเพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลประจำปี.
มีชาวยิวในบาบิโลนบางคนที่เดินทางไปเยรูซาเลมได้รับบัพติสมาในวันเพนเตคอสต์ปี ส.ศ. 33 ไหม? เราไม่รู้ แต่ท่ามกลางคนที่ได้ฟังอัครสาวกเปโตรในวันนั้น มีบางคนมาจากเมโสโปเตเมีย. (กิจการ 2:9) เราทราบดีว่าอัครสาวกเปโตรอยู่ในบาบิโลนประมาณปี ส.ศ. 62-64. ขณะที่อยู่ที่นั่น ท่านเขียนจดหมายฉบับแรกและอาจเขียนฉบับที่สองด้วย. (1 เปโตร 5:13) เห็นได้ชัดว่า ตามที่ตกลงกันในการประชุมดังกล่าว เปโตร, โยฮัน, และยาโกโบได้รับมอบหมายให้ประกาศกับชาวยิวมากมายที่อาศัยในบาบิโลน ตามที่มีการอ้างในจดหมายถึงประชาคมในกาลาเทีย.
ประชาคมในกรุงเยรูซาเลมและชาวยิวพลัดถิ่น
ยาโกโบ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมเรื่องเขตทำงานนั้นด้วย ได้รับใช้เป็นผู้ดูแลในประชาคมกรุงเยรูซาเลม. (กิจการ 12: 12, 17; 15:13; ฆะลาเตีย 1:18, 19) ท่านเป็นประจักษ์พยานในวันเพนเตคอสต์ ส.ศ. 33 เมื่อชาวยิวพลัดถิ่นหลายพันคนที่เดินทางมา ได้ตอบรับข่าวดีและรับบัพติสมา.—กิจการ 1:14; 2:1, 41.
ในโอกาสนั้นและหลังจากนั้น ชาวยิวหลายหมื่นคนได้มาร่วมงานเทศกาลประจำปี. กรุงเยรูซาเลมเต็มไปด้วยผู้คน และผู้มาเยือนต้องพักในหมู่บ้านใกล้เคียงหรือในเต็นท์. นอกจากจะมาพบปะกับมิตรสหายแล้ว สารานุกรมจูไดกา อธิบายว่า ผู้เดินทางได้เข้าไปในพระวิหารเพื่อนมัสการ, ถวายเครื่องบูชา, และศึกษาโทราห์.
ไม่ต้องสงสัยว่า ยาโกโบและสมาชิกคนอื่นในประชาคมเยรูซาเลมถือโอกาสนี้ให้คำพยานกับชาวยิวพลัดถิ่นเหล่านั้น. บางทีเหล่าอัครสาวกอาจทำเช่นนั้นด้วยความสุขุมอย่างมาก เนื่องจากช่วงนั้น “บังเกิดการข่มเหงคริสตจักรในกรุงยะรูซาเลมมากขึ้น” อันเป็นผลจากการเสียชีวิตของซะเตฟาโน. (กิจการ 8:1) บันทึกในพระคัมภีร์บ่งชี้ว่า ก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ ความมีใจแรงกล้าในการประกาศของคริสเตียนเหล่านี้ยังผลให้มีการเพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ.—กิจการ 5:42; 8:4; 9:31.
เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
จริงทีเดียว คริสเตียนในยุคแรกพยายามอย่างจริงใจที่จะประกาศกับชาวยิวในทุกที่ที่พวกเขาอยู่. ขณะเดียวกัน เปาโลและคนอื่น ๆ ก็ไปหาคนต่างชาติในแถบยุโรป. พวกเขาปฏิบัติตามที่พระเยซูทรงบัญชาเหล่าสาวกก่อนเสด็จสู่สวรรค์ที่ให้ทำ “คนจากทุกชาติ” เป็นสาวก.—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
จากตัวอย่างของพวกเขา เราได้เรียนรู้ว่าเพื่อจะได้รับการสนับสนุนจากพระวิญญาณของพระยะโฮวา งานประกาศอย่างเป็นระบบระเบียบเป็นเรื่องสำคัญ. นอกจากนั้น เรายังเห็นประโยชน์ของการประกาศกับคนที่นับถือพระคำของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่ไม่ค่อยมีพยานพระยะโฮวา. ในประชาคมของคุณมีเขตทำงานบางเขตที่เกิดผลดีกว่าเขตอื่นไหม? คงจะดีถ้าทำงานในเขตเหล่านี้บ่อย ๆ. มีการจัดงานเทศกาลอะไรไหมในละแวกใกล้เคียงที่น่าจะมีการให้คำพยานเป็นพิเศษ เช่น การให้คำพยานแบบไม่เป็นทางการและตามถนน?
เราได้รับประโยชน์ไม่เพียงแต่จากการอ่านเกี่ยวกับคริสเตียนยุคแรกในคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น แต่จากการได้คุ้นเคยกับรายละเอียดบางอย่างด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์อีกด้วย. เครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งช่วยเราให้มีความเข้าใจดีขึ้นคือ จุลสาร “ไปดูแผ่นดินอันดี” ซึ่งมีแผนที่และภาพประกอบมากมาย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 การประชุมนี้อาจจัดขึ้นในช่วงที่คณะกรรมการปกครองสมัยศตวรรษแรกพิจารณาเรื่องการรับสุหนัต หรือเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องนั้น.—กิจการ 15:6-29.
^ วรรค 13 บทความนี้เน้นเรื่องงานที่เปาโลประกาศกับชาวยิว แต่ไม่ได้เน้นเรื่องที่ท่านเป็น “อัครสาวกมายังพวกต่างประเทศ.”—โรม 11:13.
[แผนภูมิหน้า 14]
ความสนใจของอัครสาวกเปาโลต่อชาวยิวพลัดถิ่น
ก่อนการประชุมในเยรูซาเลมปี ส.ศ. 49
กิจการ 9:19, 20 ดามัสกัส — “ท่านได้เทศนาในธรรมศาลา”
กิจการ 9:29 เยรูซาเลม — “พูดไล่เลียงกับพวกยูดายเป็นภาษาเฮเลน”
กิจการ 13:5 ซาลามิส เกาะไซปรัส — “ประกาศคำของพระเจ้าในธรรมศาลาของพวกยูดาย”
กิจการ 13:14 อันทิโอกในปิซิเดีย — “เข้าไปนั่งลงในธรรมศาลา”
กิจการ 14:1 อิโกนิอัน — “เข้าไปในธรรมศาลาของพวกยูดาย”
หลังจากการประชุมในเยรูซาเลมปี ส.ศ. 49
กิจการ 16:14 ฟิลิปปี — “ลุเดีย . . . มีใจเกรงกลัวพระเจ้า”
กิจการ 17:1 เทสซาโลนิเก — “ธรรมศาลาของพวกยูดาย”
กิจการ 17:10 เบโรยะ — “ธรรมศาลาของพวกยูดาย”
กิจการ 17:17 เอเธนส์ — “โต้ตอบในธรรมศาลากับพวกยูดาย”
กิจการ 18:4 โครินท์ — “สั่งสอน . . . ในธรรมศาลา”
กิจการ 18:19 เอเฟโซส์ — “เข้าไปโต้แย้งกันกับพวกยูดายในธรรมศาลา”
กิจการ 19:8 เอเฟโซส์ — “เข้าไปในธรรมศาลากล่าวโต้แย้งด้วยใจกล้าหาญสิ้นสามเดือน”
กิจการ 28:17 โรม — “เชิญพวกผู้ใหญ่ในพวกยูดายมาประชุมกัน”
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
คนที่ได้ฟังข่าวดีในวันเพนเทคอสต์ปี ส.ศ. 33 มาจากดินแดนที่กว้างใหญ่
อิลลีริคุม
อิตาลี
โรม
มาซิโดเนีย
กรีซ
เอเธนส์
ครีต
ไซรีนี
ลิเบีย
บิทีเนีย
กาลาเทีย
เอเชีย
ฟรีเกีย
ปัมฟีเลีย
ไซปรัส
อียิปต์
เอธิโอเปีย
ปนโทส
กัปปะโดเกีย
ซิลิเซีย
เมโสโปเตเมีย
ซีเรีย
ซะมาเรีย
เยรูซาเลม
ยูเดีย
มีเดีย
บาบิโลน
เอลาม
คาบสมุทรอาหรับ
ปาร์เทีย
[แหล่งน้ำ]
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทะเลดำ
ทะเลแดง
อ่าวเปอร์เซีย