ศิลปะของการฟังด้วยความรัก
ศิลปะของการฟังด้วยความรัก
“ขอบคุณที่ฟังฉัน.” มีใครพูดแบบนี้กับคุณเมื่อไม่นานมานี้ไหม? นี่เป็นคำกล่าวที่แสดงถึงความหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริง! ผู้ฟังที่ดีเป็นที่ชื่นชอบของแทบทุกคน. โดยการตั้งใจฟัง เราสามารถทำให้คนที่ทุกข์ระทมหรือมีปัญหาหนักรู้สึกสดชื่นได้. และการเป็นผู้ฟังที่ดีช่วยเราให้ชื่นชมผู้คนมิใช่หรือ? ในประชาคมคริสเตียน การฟังด้วยความรักเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งใน ‘การพิจารณาดูกันและกัน, เพื่อเป็นเหตุให้บังเกิดใจรักซึ่งกันและกันและกระทำการดี.’—เฮ็บราย 10:24.
อย่างไรก็ดี หลายคนไม่ได้เป็นผู้ฟังที่ดี. พวกเขาชอบให้คำแนะนำ, เล่าประสบการณ์ของตนเอง, หรือเสนอความเห็นของตนแทนที่จะฟังสิ่งที่คนอื่นพูด. การฟังเป็นศิลปะอย่างหนึ่งจริง ๆ. เราสามารถเรียนรู้ที่จะฟังด้วยความรักได้โดยวิธีใด?
ปัจจัยสำคัญ
พระยะโฮวาทรงเป็น “พระบรมครู” ของเรา. (ยะซายา 30:20, ล.ม.) พระองค์ทรงสามารถสอนเรามากมายในเรื่องการฟัง. ขอพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงช่วยผู้พยากรณ์เอลียา. เนื่องจากหวาดกลัวคำขู่ของราชินีอีซาเบ็ล เอลียาได้หนีเข้าไปในถิ่นทุรกันดารแล้วบอกว่าอยากจะตาย. ที่นั่นทูตสวรรค์ของพระเจ้าได้พูดกับท่าน. ขณะที่ผู้พยากรณ์ได้อธิบายความกลัวของท่าน พระยะโฮวาทรงฟังและต่อจากนั้นได้สำแดงอำนาจอันใหญ่ยิ่งของพระองค์. ผลเป็นเช่นไร? เอลียาไม่กลัวอีกต่อไป ท่านกลับไปทำงานมอบหมายที่ได้รับ. (1 กษัตริย์ 19:2-15) ทำไมพระยะโฮวาทรงใช้เวลาสดับฟังเรื่องที่ผู้รับใช้ของพระองค์เป็นห่วงกังวล? เพราะพระองค์ทรงใฝ่พระทัยพวกเขา. (1 เปโตร 5:7) นี่เป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นผู้ฟังที่ดี นั่นคือ การเอาใจใส่คนอื่น, และแสดงความห่วงใยอย่างจริงใจต่อเขา.
เมื่อชายคนหนึ่งในโบลิเวียได้ทำบาปอย่างร้ายแรง เขารู้สึกขอบคุณที่เพื่อนร่วมความเชื่อคนหนึ่งได้แสดงความห่วงใยอย่างจริงใจต่อเขา. ชายคนนั้นอธิบายว่า “ตอนนั้นผมอยู่ในช่วงทุกข์ที่สุดในชีวิต. ผมอาจเลิกล้มความพยายามที่จะรับใช้พระยะโฮวาได้ง่าย ๆ หากไม่ใช่เป็นเพราะพี่น้องคนหนึ่งได้ใช้เวลารับฟังผม. เขาไม่ได้พูดอะไรมาก แต่การรู้ว่าเขาใส่ใจมากพอที่จะรับฟังนั้นชูกำลังผมจริง ๆ. ผมไม่ต้องการให้เขาบอกวิธีแก้ปัญหาของผม; ผมรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร. ผมเพียงแค่ต้องการรู้ว่ามีใครสักคนใส่ใจว่าผมรู้สึกอย่างไร. การที่เขารับฟังได้ช่วยผมไม่ให้พ่ายแพ้ต่อความสิ้นหวัง.”
ผู้เป็นแบบอย่างที่ใหญ่ยิ่งที่สุดในเรื่องศิลปะของการฟังด้วยความรักนั้นคือพระเยซูคริสต์. ไม่นานภายหลังพระเยซูสิ้นพระชนม์ สาวกสองคนของพระองค์เดินทางจากกรุงเยรูซาเลมไปยังหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ห่างประมาณ 11 กิโลเมตร. เขาทั้งสองรู้สึกท้อแท้ใจอย่างแน่นอน. ดังนั้น พระเยซูคริสต์ที่ได้คืนพระชนม์แล้วทรงเดินไปกับเขา. พระองค์ทรงใช้คำถามอย่างรอบคอบเพื่อจะทราบเรื่องที่เขาเป็นห่วงกังวล และสาวกทั้งสองคนนั้นก็ได้สนองตอบ. พวกเขาได้พูดออกมาถึงความคาดหวังของตนรวมทั้งความผิดหวังและความสับสนที่เขามีในตอนนั้น. พระเยซูทรงห่วงใยเขา และการที่พระองค์ทรงรับฟังด้วยความรักได้ทำให้สาวกทั้งลูกา 24:13-27.
สองพร้อมที่จะฟังด้วย. ต่อจากนั้น พระเยซูทรง “อธิบายให้เขาฟังในคัมภีร์ทั้งหมดซึ่งเขียนไว้เล็งถึงพระองค์.”—การเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะฟังเป็นวิธีที่เหมาะสมในการทำให้คนอื่นฟังเรา. หญิงชาวโบลิเวียคนหนึ่งกล่าวว่า “พ่อแม่ของดิฉันและพ่อแม่ของสามีเริ่มคัดค้านวิธีที่ดิฉันเลี้ยงดูลูก. ดิฉันขุ่นเคืองในความคิดเห็นของพวกเขา แต่ดิฉันรู้สึกไม่แน่ใจในตัวเองฐานะเป็นแม่. ประมาณช่วงนั้น พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งได้มาเยี่ยมดิฉัน. เธอพูดกับดิฉันเรื่องคำสัญญาของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี วิธีที่เธอถามความคิดเห็นของดิฉันนั่นเองได้ช่วยให้ดิฉันสำนึกว่าเธอผู้นี้เต็มใจรับฟัง. ดิฉันได้เชิญเธอเข้ามาในบ้าน และไม่นานดิฉันก็อธิบายปัญหาของดิฉันให้เธอฟัง. เธอรับฟังด้วยความอดทน. เธอถามว่าดิฉันมีความปรารถนาเช่นไรต่อลูก และสามีของดิฉันรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้. ช่างเป็นการผ่อนคลายจริง ๆ ที่ได้พูดคุยกับคนที่เต็มใจพยายามจะเข้าใจดิฉัน. เมื่อเธอเริ่มชี้ให้ดิฉันดูสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ดิฉันรู้ว่ากำลังพูดคุยกับคนที่สนใจสภาพการณ์ของดิฉัน.”
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความรัก . . . ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง.” (1 โกรินโธ 13:4, 5, ล.ม.) ดังนั้นแล้ว การฟังด้วยความรักจึงหมายความว่า เราให้สิ่งที่เราเองสนใจนั้นเป็นเรื่องรอง. นี่อาจทำให้เราต้องปิดโทรทัศน์, วางหนังสือพิมพ์ลง, หรือปิดโทรศัพท์มือถือตอนที่คนอื่นพูดเรื่องสำคัญกับเรา. การฟังด้วยความรักหมายถึงการสนใจอย่างจริงจังในความคิดของคนอื่น. นี่เรียกร้องให้เราละเว้นจากการเริ่มต้นพูดเกี่ยวกับตัวเองโดยกล่าวในทำนองนี้ว่า “นั่นทำให้ฉันนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับฉันนานมาแล้ว.” แม้ว่าการพูดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับได้ในการคุยกันฉันเพื่อน แต่เราต้องละความสนใจของตนเองไว้ก่อนเมื่อบางคนกำลังพูดคุยปัญหาที่สำคัญ. ความสนใจอย่างจริงใจในคนอื่นอาจสำแดงได้ในอีกวิธีหนึ่ง.
ฟังเพื่อจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
เหล่าสหายของบุรุษชื่อโยบได้ยินคำบรรยายของท่านอย่างน้อยสิบเรื่อง. กระนั้น โยบได้อุทานออกมาว่า “โอถ้าได้มีท่านผู้หนึ่งฟังเสียงของข้าฯ ก็จะดี!” (โยบ 31:35) เพราะเหตุใด? เพราะการฟังของพวกเขาไม่ได้ให้การปลอบโยนแต่อย่างใด. พวกเขาไม่ได้ห่วงใยโยบหรือต้องการจะเข้าใจความรู้สึกของท่าน. แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจอย่างที่ผู้ฟังซึ่งร่วมความรู้สึกพึงมี. แต่อัครสาวกเปโตรแนะนำว่า “ท่านทั้งหลายจงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจ มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง ความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุน จิตใจถ่อม.” (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) เราจะแสดงความเห็นอกเห็นใจได้อย่างไร? วิธีหนึ่งคือโดยแสดงความห่วงใยต่อความรู้สึกของคนอื่นและพยายามจะเข้าใจเขา. คำพูดที่แสดงถึงการร่วมความรู้สึก เช่น “นั่นคงต้องทำให้คุณไม่สบายใจ” หรือ “คุณคงต้องรู้สึกว่ามีการเข้าใจผิดแน่ ๆ” เป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงว่าเราเป็นห่วง. อีกวิธีหนึ่งคือพูดเรื่องที่คนอื่นเล่าโดยใช้คำพูดของเราเอง โดยวิธีนี้แสดงว่าเราเข้าใจสิ่งที่เขาพูด. การฟังด้วยความรักหมายถึงการเอาใจใส่ไม่เพียงคำพูด แต่อารมณ์ความรู้สึกที่แฝงอยู่ด้วย.
โรเบิร์ต *เป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาที่มีประสบการณ์คนหนึ่งของพยานพระยะโฮวา. เขาเล่าว่า “ผมเคยรู้สึกท้อใจเกี่ยวกับงานรับใช้ของผมในช่วงหนึ่งของชีวิต. ดังนั้น ผมจึงขอพูดกับผู้ดูแลเดินทาง. เขาตั้งใจฟังผมและพยายามเข้าใจความรู้สึกของผม. ดูเหมือนว่าเขาถึงกับเข้าใจที่ผม กลัวว่าเขาจะตำหนิเจตคติของผม. พี่น้องคนนี้รับรองกับผมว่าความรู้สึกของผมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเขาเองก็เคยมีความรู้สึกคล้ายกันนี้. นี่ได้ช่วยผมจริง ๆ ให้ทำงานรับใช้ต่อไป.”
เราสามารถรับฟังโดยไม่เห็นพ้องกับเรื่องที่มีการพูดนั้นได้ไหม? เราจะบอกบางคนได้ไหมว่าเราขอบคุณที่เขาบอกเราว่ารู้สึกอย่างไร? แน่นอน. จะว่าอย่างไรหากลูกชายวัยหนุ่มเข้าไปมีเรื่องชกต่อยกันที่โรงเรียน หรือลูกสาววัยรุ่นกลับมาถึงบ้านแล้วบอกว่าเธอกำลังตกหลุมรัก? เป็นการดีกว่ามิใช่หรือที่บิดาหรือมารดาจะฟังและพยายามเข้าใจความคิดของลูก ก่อนที่จะอธิบายว่าอะไรเป็นความประพฤติที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม?
สุภาษิต 20:5 กล่าวว่า “ความมุ่งหมายในใจคนลึกเหมือนน้ำลึก; แต่คนที่มีความเข้าใจจะยกขึ้นมาได้.” หากคนที่ฉลาดและมีประสบการณ์มีแนวโน้มที่จะไม่ให้คำแนะนำถ้าไม่มีใครขอ เราอาจต้องทำให้เขาพูดออกมาเพื่อจะได้คำแนะนำจากเขา. สภาพการณ์คล้ายกันเมื่อเราฟังด้วยความรัก. ต้องใช้ความสังเกตเข้าใจเพื่อจะทำให้คนหนึ่งพูดออกมา. การใช้คำถามต่าง ๆ ช่วยได้ แต่เราต้องระวังเพื่อคำถามของเราไม่ใช่เป็นการสอดรู้สอดเห็นในเรื่องส่วนตัว. อาจเป็นประโยชน์ที่จะชี้แนะให้คนพูดเริ่มต้นด้วยเรื่องที่เขารู้สึกว่าทำให้สบายใจเมื่อพูดถึง. ตัวอย่างเช่น ภรรยาที่ต้องการพูดถึงปัญหาในชีวิตสมรสอาจรู้สึกว่าง่ายขึ้นที่จะเริ่มต้นโดยพูดเรื่องที่ว่าเธอกับสามีได้มาพบกันและแต่งงานกันได้อย่างไร. คนที่เลิกทำงานเผยแพร่ของคริสเตียนอาจพบว่าง่ายขึ้นที่จะเริ่มต้นโดยอธิบายว่าเขาได้เรียนรู้ความจริงโดยวิธีใด.
การฟังด้วยความรัก—เป็นเรื่องยาก
การฟังบางคนที่อารมณ์เสียเพราะเราอาจเป็นเรื่องยาก เพราะแนวโน้มตามธรรมชาติของเราคือที่จะปกป้องตัวเอง. เราจะจัดการกับสภาพการณ์ที่ยุ่งยากนั้นได้อย่างไร? สุภาษิต 15:1 กล่าวว่า “คำตอบอ่อนหวาน [“อ่อนโยน,” ล.ม.]กระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป.” การเชิญชวนคนนั้นด้วยความกรุณาให้พูดออกมา แล้วอดทนฟังขณะที่เขาแสดงความคับแค้นใจของเขาเป็นวิธีหนึ่งที่จะตอบด้วยความอ่อนโยน.
บ่อยครั้งการโต้เถียงอย่างดุเดือดเกิดจากคนสองคนที่เพียงแต่พูดซ้ำสิ่งที่เขาทั้งสองได้พูดไปแล้ว. ต่างฝ่ายต่างก็รู้สึกว่าอีกคนหนึ่งไม่ยอมฟัง. สภาพการณ์คงจะดีขึ้นมากสักเพียงไรหากคนหนึ่งจะหยุดและตั้งใจฟังจริง ๆ! แน่นอน นับว่าสำคัญที่จะรู้จักควบคุมตนเองและออกความเห็นด้วยท่าทีสุขุมและแสดงความรัก. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “ผู้ที่ยับยั้งริมฝีปากของตนย่อมประพฤติเป็นคนมีปัญญา.”—สุภาษิต 10:19.
ความสามารถที่จะฟังด้วยความรักไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ. อย่างไรก็ดี ความสามารถดังกล่าวเป็นศิลปะที่สามารถเรียนได้โดยความพยายามและการใช้วินัย. ความสามารถนี้เป็นทักษะที่คู่ควรกับการได้มาอย่างแน่นอน. การตั้งใจฟังอย่างแท้จริงเมื่อคนอื่นพูดเป็นการแสดงความรักของเรา. การทำเช่นนี้ยังทำให้เรามีความสุขด้วย. ดังนั้น เป็นการฉลาดสักเพียงไรที่จะปลูกฝังศิลปะในการฟังด้วยความรัก!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 นามสมมุติ.
[ภาพหน้า 11]
เมื่อฟังเราต้องให้สิ่งที่เราเองสนใจนั้นเป็นเรื่องรอง
[ภาพหน้า 12]
การฟังเมื่อคนอื่นอารมณ์เสียอาจเป็นเรื่องยาก