จุดเด่นจากภาคที่ห้าของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากภาคที่ห้าของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ
คนร่ำรวยอาจกล่าวว่า “บุตรชายของพวกข้าพเจ้าแต่เยาว์มาเป็นเหมือนต้นไม้รุ่นเจริญโตขึ้น, บุตรหญิงเป็นเหมือนหินหัวมุมที่สกัดไว้เพื่อสร้างราชวัง; เมื่อยุ้งฉางของพวกข้าพเจ้าเต็มบริบูรณ์ . . . ฝูงแกะตกลูกทวีขึ้นนับพัน.” ยิ่งกว่านั้น คนที่มั่งคั่งอาจร้องออกมาว่า “ในเมื่อไม่มีอันเป็นเช่นนั้นพลเมืองก็มีความสุข [“ชนชาติผู้มีพระพรอย่างนี้หลั่งลงมาถึงก็เป็นสุข,” ฉบับแปลใหม่].” แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก.” (บทเพลงสรรเสริญ 144:12-15) นั่นเป็นความจริง. พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแห่งความสุข และผู้ที่นมัสการพระองค์มีความสุข. (1 ติโมเธียว 1:11) ความจริงข้อนี้ปรากฏชัดเจนในภาคสุดท้ายของบทเพลงที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า ซึ่งประกอบด้วยเพลงสรรเสริญบท 107 ถึง 150.
ภาคที่ห้าของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญยังเน้นคุณลักษณะต่าง ๆ อันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาซึ่งรวมถึงความกรุณารักใคร่, ความจริง, และความดีของพระองค์. ยิ่งเราหยั่งเห็นเข้าใจบุคลิกลักษณะของพระเจ้ามากเท่าไร เราก็จะยิ่งรักและยำเกรงพระองค์มากขึ้นเท่านั้น. นี่ทำให้เรามีความสุข. ข่าวสารในภาคที่ห้าของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญช่างมีคุณค่ามากจริง ๆ!—เฮ็บราย 4:12.
มีความสุขเพราะ ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา
(บทเพลงสรรเสริญ 107:1–119:176)
ชาวยิวที่กลับสู่มาตุภูมิหลังถูกเนรเทศไปบาบิโลนได้ร้องเพลงว่า “สมควรที่คนทั้งหลายจะได้สรรเสริญพระยะโฮวาเพราะความกรุณาคุณของพระองค์, และเพราะกิจการอัศจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงกระทำเพื่อมนุษย์ชาติ.” (บทเพลงสรรเสริญ 107:8, 15, 21, 31) ดาวิดร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าว่า “ความสัตย์จริงของพระองค์เทียมท้องฟ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 108:4) เนื้อเพลงถัดมาเป็นคำอธิษฐานของดาวิดที่กล่าวว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้า; ขอทรงโปรดอุปถัมภ์และช่วยข้าพเจ้าตามพระกรุณาคุณของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 109:18, 19, 26) เพลงสรรเสริญบท 110 เป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับการปกครองของพระมาซีฮา. บทเพลงสรรเสริญบท 111:10 กล่าวว่า “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นต้นเหตุให้เกิดสติปัญญา.” ในเพลงสรรเสริญบทถัดไปกล่าวไว้ว่า “ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่เกรงกลัวพระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 112:1.
เพลงสรรเสริญบท 113 ถึง 118 ถูกเรียกว่าเพลงฮัลเลล ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีการร้องซ้ำคำว่า “ฮัลเลลูยาห์” หรือ “จงสรรเสริญยาห์!” ตามที่กล่าวไว้ในมิชนาห์ ซึ่งเป็นบันทึกคำสอนสืบปากสมัยศตวรรษที่สาม มีการร้องเพลงเหล่านี้ในช่วงปัศคาและในงานเทศกาลประจำปีของชาวยิวสามเทศกาล. เพลงสรรเสริญบท 119 ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญที่ยาวที่สุดและเป็นบทที่ยาวที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล ได้ยกย่องคำตรัสหรือข่าวสารที่พระยะโฮวาทรงเปิดเผย.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
109:23—ดาวิดหมายความเช่นไรเมื่อกล่าวว่า “ข้าพเจ้าล่วงไปดุจเงาที่ยาวไป”? ดาวิดกล่าวในเชิงกวี ท่านรู้สึกว่าความตายของท่านคืบใกล้มามากแล้ว.—บทเพลงสรรเสริญ 102:11.
110:1, 2—“องค์พระผู้เป็นเจ้า [ของดาวิด]” ซึ่งหมายถึงพระเยซูคริสต์ ทรงทำอะไรขณะนั่งอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า? หลังการคืนพระชนม์ พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์และคอยอยู่ที่พระหัตถ์เบื้องขวาของพระเจ้าจนกระทั่งปี 1914 แล้วจึงเริ่มปกครองเป็นกษัตริย์. ระหว่างนั้น พระเยซูทรงปกครองเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์ ให้การชี้นำพวกเขาในงานประกาศและงานทำให้คนเป็นสาวก รวมทั้งเตรียมพวกเขาไว้เพื่อจะปกครองร่วมกับพระองค์ ในราชอาณาจักร.—มัดธาย 24:14; 28:18-20; ลูกา 22:28-30.
110:4 (ล.ม.)—เรื่องใดที่พระยะโฮวา “ทรงปฏิญาณแล้ว และพระองค์จะไม่เสียพระทัย”? คำปฏิญาณนี้เป็นสัญญาที่พระยะโฮวาทำกับพระเยซูคริสต์ที่จะให้พระองค์เป็นกษัตริย์และปุโรหิต.—ลูกา 22:29.
113:3—พระนามของพระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญ “ตั้งแต่ทิศตะวันออกจนถึงทิศตะวันตก” ในทางใด? นี่ไม่ใช่แค่การนมัสการพระเจ้าทุกวันโดยคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น. ดวงอาทิตย์ที่ขึ้นทางทิศตะวันออกและลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกส่องสว่างไปทั่วลูกโลกฉันใด การสรรเสริญพระยะโฮวาตลอดทั่วแผ่นดินโลกก็เป็นฉันนั้น. สิ่งนี้ไม่อาจบรรลุผลได้หากปราศจากการทำงานอย่างเป็นระบบ. ในฐานะพยานพระยะโฮวา เรามีสิทธิพิเศษอันหาที่เปรียบมิได้ที่จะสรรเสริญพระเจ้าและเข้าร่วมงานประกาศราชอาณาจักรด้วยใจแรงกล้า.
116:15—“ความตายแห่งผู้ชอบธรรมของพระองค์ ก็เป็นการสำคัญ [“มีค่ายิ่ง,” ล.ม.] ต่อพระเนตรพระยะโฮวา” เพียงใด? ผู้นมัสการพระยะโฮวามีค่าในสายพระเนตรของพระองค์มากเสียจนพระองค์ถือว่า ความตายของพวกเขาฐานะกลุ่มชนเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมให้เกิดขึ้นได้. หากพระยะโฮวาทรงยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นก็เหมือนกับว่าศัตรูของพระองค์มีอำนาจมากกว่าพระองค์. ยิ่งกว่านั้นก็คงไม่มีใครเหลืออยู่บนแผ่นดินโลกเพื่อจะเป็นรากฐานสำหรับโลกใหม่.
119:71—การทนความทุกข์ยากมีประโยชน์อย่างไร? ความยากลำบากสามารถสอนเราให้วางใจพระยะโฮวาเต็มที่ยิ่งขึ้น, อธิษฐานถึงพระองค์อย่างจริงจังขึ้น, และขยันขันแข็งในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและนำไปใช้มากขึ้น. ยิ่งกว่านั้น ปฏิกิริยาของเราต่อความทุกข์ยากจะเผยให้เห็นข้อบกพร่องที่เราต้องแก้ไข. ความทุกข์ยากจะไม่ทำให้เราขมขื่นหากเราถือว่านั่นเป็นการขัดเกลาเรา.
119:96 (ฉบับแปลใหม่)—“ขอบเขตของความสำเร็จ [“ความสมบูรณ์,” ล.ม.] ทั้งสิ้น” หมายถึงอะไร? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงความสมบูรณ์ในมุมมองของมนุษย์. ท่านคงจะตระหนักว่ามนุษย์เข้าใจแนวคิดเรื่องความสมบูรณ์ในขอบเขตจำกัด. ในทางตรงกันข้าม พระบัญญัติของพระเจ้าไม่มีขอบเขตจำกัดดังกล่าว. เราสามารถนำพระบัญญัติมาใช้ได้ในทุกแง่มุมของชีวิต. คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลใหม่กล่าวต่อไปว่า “แต่พระบัญญัติของพระองค์กว้างขวางเหลือเกิน.”
119:164—ถ้อยคำที่ว่าให้สรรเสริญพระเจ้า “วันละเจ็ดครั้ง” หมายความเช่นไร? บ่อยครั้งเลขเจ็ดหมายถึงความสมบูรณ์. ด้วยเหตุนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกำลังกล่าวว่า พระยะโฮวาสมควรจะได้รับความสรรเสริญทุกประการ.
บทเรียนสำหรับเรา:
107:27-31. สติปัญญาของโลกจะ “สิ้นไป” เมื่อถึงคราวอาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16) สติปัญญานั้นไม่อาจช่วยใคร ๆ ให้พ้นจากการถูกทำลายได้. เฉพาะคนที่หมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อความรอดเท่านั้นจึงจะมีชีวิตอยู่เพื่อ “สรรเสริญพระองค์เพราะพระกรุณาคุณของพระองค์.”
109:30, 31; 110:5. ตามปกติแล้ว เนื่องจากทหารจะใช้มือซ้ายถือโล่ มือขวาที่ถือดาบจึงไม่มีอะไรป้องกัน. การที่พระยะโฮวาทรงอยู่ “ที่มือขวา” ของผู้รับใช้ของพระองค์บ่งนัยถึงการที่ทรงต่อสู้เพื่อพวกเขา. ด้วยวิธีนี้พระองค์ทรงให้การคุ้มครองและช่วยเหลือ เราจึงมีเหตุผลที่ดีที่จะ “ขอบพระเดชพระคุณแห่งพระยะโฮวาอย่างยิ่ง”!
113:4-9. พระยะโฮวาทรงสูงส่งยิ่งจนถึงกับต้องถ่อมพระทัยทอดพระเนตรลงมาเมื่อ “พิจารณาดูฟ้าสวรรค์.” กระนั้น พระองค์ทรงกรุณาคนต่ำต้อย, คนยากจน, และหญิงหมัน. พระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศรทรงถ่อมพระทัยและประสงค์ให้ผู้นมัสการพระองค์ทำเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย.—ยาโกโบ 4:6.
114:3-7. การเรียนรู้เกี่ยวกับราชกิจอันมหัศจรรย์ที่พระยะโฮวาทรงกระทำเพื่อเห็นแก่ประชาชนของพระองค์ที่ทะเลแดง, ที่แม่น้ำจอร์แดน, และที่ภูเขาไซนาย ควรมีผลกระทบต่อเราอย่างลึกซึ้ง. “แผ่นดินโลก” ซึ่งหมายถึงมนุษยชาติควรจะรู้สึกเกรงกลัวองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือ “หวั่นไหว” ในความหมายเป็นนัย.
119:97-101. การได้รับสติปัญญา, ความหยั่งเห็น, และความเข้าใจจากพระคำของพระเจ้าจะคุ้มครองเราให้พ้นจากภัยทางฝ่ายวิญญาณ.
119:105. พระคำของพระเจ้าเป็นดุจโคมส่องเท้าของเราในแง่ที่ว่าช่วยเรารับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบัน. ทั้งยังเป็นแสงสว่างโดยนัยให้กับทางเดินของเรา เพราะพระ คำของพระเจ้าบอกล่วงหน้าถึงพระประสงค์ในอนาคตของพระองค์.
มีความสุขแม้เผชิญความยากลำบาก
(บทเพลงสรรเสริญ 120:1–145:21)
เราจะรับมือสภาพการณ์ที่ยากลำบากและรอดพ้นจากความทุกข์ยากได้อย่างไร? เพลงสรรเสริญบท 120 ถึง 134 ให้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามนี้. เราสามารถรอดพ้นความยากลำบากและรักษาความยินดีไว้ได้โดยแสวงหาความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. บทเพลงสรรเสริญเหล่านี้ซึ่งเรียกว่าเพลงแห่งการขึ้นสู่ที่สูง บางทีอาจเป็นเพลงที่ชาวอิสราเอลร้องเมื่อเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเลมเพื่อเข้าร่วมงานฉลองประจำปี.
เพลงสรรเสริญบท 135 และ 136 ให้ภาพพระยะโฮวาฐานะผู้ทำอะไรก็ได้ที่ทรงพอพระทัย ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับรูปเคารพที่ช่วยตัวเองไม่ได้. เพลงสรรเสริญบท 136 ได้รับการประพันธ์สำหรับการร้องรับ ส่วนสุดท้ายของแต่ละข้อจะร้องรับส่วนแรก. เพลงสรรเสริญบทถัดไปกล่าวถึงหัวใจที่โศกเศร้าของชาวยิวในบาบิโลนเนื่องจากปรารถนาจะกลับไปนมัสการพระยะโฮวาในซีโอน. เพลงสรรเสริญบท 138 ถึง 145 เป็นของดาวิด. ท่านต้องการ ‘ขอบพระเดชพระคุณของพระยะโฮวาด้วยสิ้นสุดใจ.’ เพราะเหตุใด? ท่านกล่าวว่า “เพราะข้าพเจ้าถูกสร้างอย่างน่าพิศวงในวิธีที่น่าเกรงขาม.” (บทเพลงสรรเสริญ 138:1; 139:14, ล.ม.) ในเพลงสรรเสริญบท 140, 141, 142, 143, และ 144 ดาวิดอธิษฐานขอการคุ้มครองให้พ้นจากคนชั่ว, ขอให้ว่ากล่าวอย่างชอบธรรม, ขอช่วยให้รอดจากผู้กดขี่, และขอชี้แนะการประพฤติของท่าน. ท่านเน้นความสุขของประชาชนของพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 144:15) หลังจากทบทวนความยิ่งใหญ่และคุณความดีของพระเจ้า ดาวิดประกาศว่า “ปากของข้าพเจ้าจะกล่าวคำสรรเสริญพระยะโฮวา; และให้สรรพสัตว์ถวายเกียรติยศแก่พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์เสมอไปเป็นนิตย์.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:21.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
122:3—เยรูซาเลมเป็นเมือง “ที่แน่นหนา” อย่างไร? เช่นเดียวกับเมืองทั่ว ๆ ไปในสมัยโบราณ บ้านในกรุงเยรูซาเลมสร้างขึ้นติด ๆ กัน. ทำให้เมืองนั้นเป็นปึกแผ่นและยากที่จะโจมตีได้. ยิ่งกว่านั้น บ้านที่สร้างติด ๆ กันทำให้ผู้อยู่อาศัยพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อการช่วยเหลือและคุ้มครอง. นี่บ่งชี้ถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทางฝ่ายวิญญาณของอิสราเอล 12 ตระกูลเมื่อพวกเขาประชุมด้วยกันเพื่อนมัสการ.
123:2 (ฉบับแปลใหม่)—อะไรคือจุดสำคัญของตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องดวงตาของทาส? ทาสทั้งชายและหญิงมองที่มือนายของตนด้วยเหตุผลสองประการ: ประการแรก เพื่อดูว่านายต้องการอะไร และประการที่สองเพื่อรับการคุ้มครองและได้รับสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิต. ในทำนองเดียวกัน เรามองที่พระยะโฮวาเพื่อจะรู้พระทัยประสงค์ของพระองค์และเพื่อได้รับความโปรดปรานจากพระองค์.
131:1-3—ดาวิดได้ “สงบจิตต์สงบใจ . . . ดุจเด็กที่หย่านมแล้ว” อย่างไร? เช่นเดียวกับเด็กหย่านมซึ่งรู้สึกอุ่นใจและพอใจเมื่ออยู่ในอ้อมแขนของมารดา ดาวิดเรียนรู้ที่จะสงบจิตใจ “ดุจเด็กที่หย่านมแล้ว.” อย่างไร? โดยไม่มีใจที่เย่อหยิ่งและมีตาที่ยโส และไม่ปรารถนาจะได้สิ่งที่ใหญ่เกินไปสำหรับท่าน. แทนที่จะขวนขวายหาชื่อเสียง ดาวิดตระหนักถึงขีดจำกัดของท่านเสมอและแสดงความถ่อมใจ. นับว่าสุขุมที่เราจะเลียนแบบทัศนะของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเอื้อมแขนเพื่อได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในประชาคม.
บทเรียนสำหรับเรา:
120:1, 2, 6, 7. คำพูดให้ร้ายและเยาะเย้ยถากถางอาจทำให้ผู้อื่นทุกข์ใจจนเกินจะทนได้. การควบคุมคำพูดของเราเป็นวิธีหนึ่งที่แสดงว่าเรา “อยากได้ความสงบสุข.”
120:3, 4. ถ้าเราต้องอดทนกับบางคนที่มี “ลิ้นเจ้าเล่ห์” เรารู้สึกได้รับกำลังใจเมื่อรู้ว่าพระยะโฮวาจะจัดเรื่องราวต่าง ๆ ให้ถูกต้องในเวลากำหนดของพระองค์. คนที่ชอบใส่ร้ายจะพบความหายนะที่มือของ “คนกล้าหาญ.” แน่นอนว่า พวกเขาจะได้รับการพิพากษาลงโทษด้วยไฟจากพระยะโฮวาซึ่งเปรียบได้กับ “ไฟถ่านไม้ซาก.”
127:1, 2. ไม่ว่าเราจะพยายามทำสิ่งใดก็ตาม เราควรหมายพึ่งการชี้นำจากพระยะโฮวา.
133:1-3. ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนของพระยะโฮวาทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นใจ, เป็นประโยชน์, และสดชื่น. เราไม่ควรทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยเข้าร่วมในการจับผิด, การทะเลาะเบาะแว้ง, หรือการบ่น.
137:1, 5, 6. ผู้นมัสการพระยะโฮวาที่ถูกเนรเทศรู้สึกผูกพันกับซีโอน ซึ่งเป็นองค์การของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกในสมัยนั้น. แล้วเราล่ะ? เรารู้สึกผูกพันอย่างภักดีต่อองค์การที่พระยะโฮวาทรงใช้ในทุกวันนี้ไหม?
138:2. พระยะโฮวาทรง “กระทำให้พระดำรัสของพระองค์เป็นใหญ่เหนือพระนามทั้งสิ้นของพระองค์” ในแง่ที่ว่า สิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์สัญญาไว้โดยทางพระนามของพระองค์จะสำเร็จเป็นจริงยิ่งกว่าที่เราอาจคาดหวังไว้. ที่จริง ความคาดหวังอันยิ่งใหญ่รออยู่ตรงหน้าเรา.
139:1-6, 15, 16. พระยะโฮวาทรงทราบการกระทำ, ความคิด, และคำพูดของเราแม้ก่อนที่เราจะพูดด้วยซ้ำ. พระองค์ทรงรู้จักเราตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน ก่อนที่อวัยวะแต่ละส่วนจะเห็นได้ชัด. ความรู้ของพระเจ้าเกี่ยวกับเราแต่ละคน “อัศจรรย์” เหลือที่จะหยั่งถึง. ช่างเป็นการชูใจสักเพียงไรที่รู้ว่าพระยะโฮวาทรงเห็นไม่เพียงความยากลำบากที่เราอาจเผชิญ แต่ยังทรงเข้าพระทัยว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรด้วย!
139:7-12. ไม่มีที่ใดที่เราจะอยู่ห่างไกลเกินกว่าที่พระเจ้าจะไปถึงเพื่อจะทรงเสริมกำลังเรา.
139:17, 18. ความรู้ของพระยะโฮวากลายมาเป็นความยินดีสำหรับเราไหม? (สุภาษิต 2:10) ถ้าใช่ เราได้พบน้ำพุแห่งความยินดีอันไม่มีวันเหือดแห้ง. พระดำริของพระยะโฮวามี “มากกว่าเม็ดทราย.” ยังมีอีกมากมายเสมอที่เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์.
139:23, 24. เราควรปรารถนาให้พระยะโฮวาตรวจสอบบุคคลภายในของเราเพื่อดูว่ามี “ทางชั่ว” ซึ่งได้แก่ความคิด, ความปรารถนา, และแนวโน้มที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ และขอช่วยเราขจัดให้หมดไป.
143:4-7. เราจะอดทนแม้กระทั่งความยากลำบากแสนสาหัสได้อย่างไร? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยเราดังนี้: การใคร่ครวญสิ่งที่พระยะโฮวากระทำ, การใส่ใจอยู่เสมอถึงสิ่งที่พระองค์กำลังทำ, และการอธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระองค์.
“ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวา!”
บทเพลงสรรเสริญสี่ภาคก่อนหน้านี้ในแต่ละภาคจบลงด้วยถ้อยคำที่ว่าจงสรรเสริญพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 41:13; 72:19, 20; 89:52; 106:48) ภาคสุดท้ายก็เป็นเช่นนั้นด้วย. บทเพลงสรรเสริญ 150:6 กล่าวว่า “ให้สรรพสัตว์ที่มีลมหายใจสรรเสริญพระยะโฮวา. ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด.” ถ้อยคำนี้จะกลายเป็นความจริงอย่างแท้จริงในโลกใหม่ของพระเจ้า.
ในขณะที่เราคอยท่ายุคสมัยที่น่ายินดีนั้น เรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะถวายพระเกียรติพระเจ้าเที่ยงแท้และสรรเสริญพระนามของพระองค์. เมื่อเราคิดถึงความสุขที่เกิดจากการรู้จักพระยะโฮวาและการมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์ นั่นไม่ได้กระตุ้นเราหรอกหรือที่จะสรรเสริญพระองค์ด้วยหัวใจที่หยั่งรู้บุญคุณ?
[ภาพหน้า 15]
พระราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระยะโฮวาน่าครั่นคร้ามอย่างยิ่ง
[ภาพหน้า 16]
พระดำริของพระยะโฮวามี “มากกว่าเม็ดทราย”