การก่อสร้างที่เป็นเอกภาพเพื่อสรรเสริญพระเจ้า
การก่อสร้างที่เป็นเอกภาพเพื่อสรรเสริญพระเจ้า
ผู้คนบนเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะโซโลมอนสังเกตเห็นหอประชุมราชอาณาจักรหลังใหม่ของพยานพระยะโฮวา. สตรีคนหนึ่งกล่าวว่า “ในโบสถ์ของเรามักจะมีการจัดงานเพื่อหาเงินบริจาค. เราขอให้สมาชิกของเราบริจาคเงิน แต่เราก็ยังไม่เคยมีเงินทุนพอที่จะสร้างโบสถ์ใหม่. พยานฯ อย่างพวกคุณได้เงินมาจากไหน?” พยานฯ ที่สตรีคนนั้นคุยด้วยได้ตอบว่า “พวกเรานมัสการพระยะโฮวาฐานะครอบครัวที่เป็นเอกภาพทั่วโลก. ประชาคมของเราและพี่น้องของเราทั่วโลกบริจาคสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างหอประชุมใหม่. พระยะโฮวาทรงสอนให้เราเป็นเอกภาพในทุกสิ่ง.”
คุณจะเห็นเอกภาพท่ามกลางพยานพระยะโฮวาในกิจกรรมทุกอย่างที่พวกเขาทำ รวมถึงการสร้างหอประชุมราชอาณาจักรหลายหมื่นแห่ง. เอกภาพที่ทำให้โครงการเหล่านี้ดำเนินได้เป็นอย่างดีไม่ใช่เรื่องใหม่. นั่นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าตลอดหลายพันปี. เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้นได้?
การสร้างพลับพลาและพระวิหาร
พระยะโฮวาตรัสกับโมเซเมื่อประมาณ 3,500 ปีมาแล้วเกี่ยวกับชาติอิสราเอลดังนี้: “ให้เขาสร้างที่บริสุทธิ์ถวายแก่เรา.” (เอ็กโซโด 25:8) สำหรับรูปแบบการก่อสร้าง พระยะโฮวาตรัสต่อไปว่า “แบบอย่างพลับพลาและเครื่องทั้งปวงของพลับพลานั้น, เจ้าจงทำตามสารพัตรที่เราแจ้งไว้แก่เจ้านี้.” (เอ็กโซโด 25:9) จากนั้น พระยะโฮวาทรงให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง, การตกแต่ง, และข้าวของเครื่องใช้ในพลับพลา. (เอ็กโซโด 25:10–27:19) “พลับพลา” หรือเต็นท์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการนมัสการแท้สำหรับชาวอิสราเอลทุกคน.
เราไม่ทราบว่ามีกี่คนที่เข้าร่วมในการก่อสร้างดังกล่าว แต่ชาวอิสราเอลทุกคนได้รับเชิญให้สนับสนุนโครงการนี้. โมเซบอกพวกเขาว่า “เจ้าทั้งหลายจงนำของมาถวายพระยะโฮวา; ผู้ใดมีน้ำใจสมัครให้ผู้นั้นนำของมาถวายพระยะโฮวา.” (เอ็กโซโด 35:4-9) ชาวอิสราเอลตอบรับอย่างไร? เอ็กโซโด 36:3 กล่าวว่า “ผู้เหล่านี้ได้รับของถวายนั้นจากโมเซ, ที่ชนชาติยิศราเอลได้นำมาถวายเพื่อนำไปทำพลับพลาและการงานต่าง ๆ ที่นั่น. ประชาชนยังนำของสมัครใจถวายมาถวายอีกทุก ๆ เวลาเช้า.”
ไม่นาน สิ่งของบริจาคก็เพิ่มมากขึ้นและประชาชนยังคงนำมาบริจาคมากขึ้นเรื่อย ๆ. ในที่สุด เหล่าช่างจึงบอกโมเซว่า “พลไพร่นำของมาถวายเพิ่มเติมจนเกินความต้องการที่จะใช้ในงานนั้น ๆ, ตามซึ่งพระยะโฮวามีรับสั่งให้กระทำ.” โมเซจึงสั่งให้ประกาศว่า “อย่าให้ชายหญิงนำของถวายเอ็กโซโด 36:4-7.
สำหรับทำพลับพลานั้นมาอีกเลย.” ผลเป็นเช่นไร? “ของนั้นมีพอทำการงานทั้งปวงแล้ว, และยังมีเหลืออีก.”—เนื่องจากความใจกว้างของชาวอิสราเอล พลับพลาจึงแล้วเสร็จภายในหนึ่งปี. (เอ็กโซโด 19:1; 40:1, 2) โดยการสนับสนุนการนมัสการแท้ ประชาชนของพระเจ้าถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา. (สุภาษิต 3:9) ต่อมา พวกเขาก็คิดถึงโครงการก่อสร้างที่ใหญ่กว่านั้นอีก. และอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนที่ต้องการสามารถมีส่วนร่วมไม่ว่าพวกเขาจะมีทักษะในการก่อสร้างหรือไม่ก็ตาม.
เกือบห้าศตวรรษต่อมาหลังการสร้างพลับพลา ชาวอิสราเอลเริ่มการก่อสร้างพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. (1 กษัตริย์ 6:1) นี่จะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ทำจากหินและท่อนไม้ที่สวยงามและคงทนถาวร. (1 กษัตริย์ 5:17, 18) พระยะโฮวาพระราชทานแบบแปลนของพระวิหารแก่ดาวิดโดยการ “ดลใจ.” (1 โครนิกา 28:11-19) แต่พระองค์ทรงเลือกซะโลโมราชบุตรของดาวิดให้เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง. (1 โครนิกา 22:6-10) ดาวิดสนับสนุนโครงการก่อสร้างสิ้นสุดหัวใจ. ท่านรวบรวมหิน, ไม้คาน, และวัสดุอื่น ๆ อีกทั้งบริจาคทองคำและเงินส่วนตัวเป็นจำนวนมาก. ท่านยังสนับสนุนชนอิสราเอลเพื่อนร่วมชาติให้มีใจกว้าง โดยถามว่า “ผู้ใด ๆ มีใจศรัทธาจะถวายของแก่พระยะโฮวาในวันนี้บ้าง?” ประชาชนตอบรับอย่างไร?—1 โครนิกา 29:1-5.
เมื่อถึงสมัยที่ซะโลโมเริ่มสร้างพระวิหาร ท่านมีทองคำและเงินอยู่หลายหมื่นตัน. มีทองแดงและเหล็กมากถึงขนาดที่ไม่มีทางชั่งโลหะเหล่านี้ได้หมด. (1 โครนิกา 22:14-16) โดยการหนุนหลังจากพระยะโฮวาและโดยการสนับสนุนจากชนอิสราเอลทั้งสิ้น โครงการนี้จึงแล้วเสร็จโดยใช้เวลาเพียงเจ็ดปีครึ่งเท่านั้น.—1 กษัตริย์ 6:1, 37, 38.
“วิหารของพระเจ้า”
ทั้งพลับพลาและพระวิหารถูกเรียกว่า “พลับพลาของพระเจ้า” และ “วิหารของพระเจ้า.” (วินิจฉัย 18:31; 2 โครนิกา 24:7) พระยะโฮวาไม่จำเป็นต้องมีราชนิเวศไว้เป็นที่ประทับ. (ยะซายา 66:1) พระองค์บัญชาให้สร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของมนุษย์. จริงทีเดียว ในการอุทิศพระวิหาร ซะโลโมถามว่า “พระเจ้าจะทรงสถิตบนพื้นแผ่นดินเป็นแน่หรือ? นี่แน่ะ, ท้องฟ้าและสวรรค์แวดล้อมพระองค์ ไว้ไม่ได้; โบสถ์นี้ข้าพเจ้าได้สร้างไว้เล็กกว่านั้นอีกมากสักเท่าใด?”—1 กษัตริย์ 8:27.
พระยะโฮวาตรัสผ่านทางผู้พยากรณ์ยะซายาว่า “พลับพลาของเราจะถูกเรียกว่าเป็นพลับพลาสำหรับอธิษฐานของประชาชนทั้งหมด.” (ยะซายา 56:7) การถวายเครื่องบูชาและการอธิษฐานในพระวิหารรวมถึงการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ล้วนแต่มีส่วนช่วยให้ประชาชนที่เลื่อมใสในพระเจ้า—ทั้งชาวยิวและไม่ใช่ยิว—มีโอกาสเข้าใกล้พระเจ้าเที่ยงแท้. พวกเขาได้รับมิตรภาพและการคุ้มครองจากพระยะโฮวาโดยการนมัสการที่ราชนิเวศของพระองค์. คำอธิษฐานที่ซะโลโมกล่าวเมื่อคราวการอุทิศพระวิหารเน้นความจริงในเรื่องนี้. คุณจะอ่านคำอธิษฐานถึงพระเจ้าที่น่าประทับใจนี้ได้ที่ 1 กษัตริย์ 8:22-53; 2 โครนิกา 6:12-42.
ราชนิเวศของพระเจ้าเที่ยงแท้ในสมัยโบราณถูกทำลายไปนานแล้ว แต่พระคำของพระเจ้าชี้ไปยังสมัยหนึ่งที่ผู้คนจากทุกชาติจะรวมตัวกันเพื่อมานมัสการพระยะโฮวาในพระวิหารฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากนัก. (ยะซายา 2:2) เครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบเพียงหนึ่งเดียวของพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า ซึ่งการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาที่พระวิหารเป็นภาพเล็งถึง เป็นหนทางที่ช่วยให้เข้าใกล้พระยะโฮวา. (โยฮัน 14:6; เฮ็บราย 7:27; 9:12) พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้กำลังนมัสการพระเจ้าในวิธีที่ดีกว่านั้น และพวกเขากำลังช่วยหลายคนให้ทำเช่นเดียวกัน.
โครงการก่อสร้างในปัจจุบัน
ตลอดทั่วโลก พยานพระยะโฮวารับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้. พวกเขาประกอบกันเป็น “ชนชาติใหญ่ชาติหนึ่ง” ซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. (ยะซายา 60:22) สถานที่ประชุมที่สำคัญของพยานพระยะโฮวาคือหอประชุมราชอาณาจักร. * ตอนนี้กำลังมีการใช้สถานที่เหล่านี้หลายหมื่นแห่ง และยังคงมีความต้องการอีกมาก.
พยานพระยะโฮวา “เต็มใจ” สร้างหอประชุมซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ. (บทเพลงสรรเสริญ 110:3) อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งพยานฯ ในท้องถิ่นขาดทักษะการก่อสร้างที่จำเป็น และบางภูมิภาคที่มีการเพิ่มทวีอย่างมากก็อยู่ในสภาพที่ยากจนข้นแค้น. ในปี 1999 คณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักรเพื่อช่วยรับมือกับอุปสรรคเหล่านี้. โดยทางโครงการนี้ พยานฯ ที่มีทักษะในอาชีพก่อสร้างได้เดินทางไปยังสถานที่ห่างไกลเพื่อฝึกสอนพี่น้องชายและหญิงให้สร้างหอประชุม. คนงานที่ได้รับการฝึกเหล่านี้ได้ทำงานก่อสร้างต่อไปในภูมิภาคนั้น. ความพยายามเป็นพิเศษเช่นนี้ก่อผลเช่นไร?
เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2006 พยานพระยะโฮวาในดินแดนที่มีเงินทุนและผู้ชำนาญงานจำกัดได้เห็นหอประชุมใหม่มากกว่า 13,000 แห่งถูกสร้างขึ้น. ลองอ่านจดหมายของบางคนที่กำลังใช้หอประชุมใหม่.
“ประชาคมนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมโดยเฉลี่ย 160 คน. แต่การประชุมครั้งแรกที่ใช้หอประชุมใหม่ มีผู้เข้าร่วมการประชุมถึง 200 คน. เดี๋ยวนี้ อีกหกเดือนต่อมา มีผู้เข้าร่วมประชุม 230 คน. เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรการก่อสร้างหอประชุมที่เรียบง่ายทว่าใช้ประโยชน์ได้ดี.”—ผู้ดูแลหมวดในเอกวาดอร์.
“นานหลายปีมาแล้วที่ผู้คนถามเราว่า ‘เมื่อไรพวกคุณจะมีหอประชุมแบบที่เห็นในหนังสือของคุณ?’ เป็นเพราะพระยะโฮวา ในที่สุดเราจึงมีสถานนมัสการที่อวดได้. เราเคยประชุมที่ร้านค้าของพี่น้องซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมโดย
เฉลี่ย 30 คน. การประชุมครั้งแรกในหอประชุมหลังใหม่ มีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 110 คน.”—ประชาคมหนึ่งในยูกันดา.“พี่น้องหญิงสองคนที่เป็นไพโอเนียร์ประจำรายงานว่า การสร้างหอประชุมส่งผลให้การประกาศในเขตทำงานน่ายินดีมากขึ้น. ผู้คนตั้งใจฟังมากขึ้นทั้งในการประกาศตามบ้านและการประกาศแบบไม่เป็นทางการ. ตอนนี้ พี่น้องหญิงทั้งสองนำการศึกษาพระคัมภีร์ 17 ราย และนักศึกษาหลายคนก็เข้าร่วมการประชุมแล้ว.”—สำนักงานสาขาในหมู่เกาะโซโลมอน.
“นักเทศน์ที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับเราได้บอกว่า หอประชุมหลังใหม่เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ทั้งชุมชนและชาวบ้านก็รู้สึกภูมิใจมาก. หลายคนที่ผ่านไปมากล่าวชมหอประชุมที่สวยงาม. นี่เปิดโอกาสที่ดีสำหรับพี่น้องที่จะให้คำพยาน. มีผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยากรู้จักเกี่ยวกับสังคมพี่น้องทั่วโลกของเรา. หลายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมนานหลายปีก็ได้รับการกระตุ้นให้สมทบกับพี่น้องเป็นประจำอีกครั้ง.”—สำนักงานสาขาพม่า.
“พี่น้องหญิงเชิญผู้สนใจคนหนึ่งมายังสถานที่ก่อสร้างหอประชุมซึ่งอยู่ใกล้บ้านเขา. ต่อมาชายคนนั้นกล่าวว่า ‘ผมคิดว่าคนที่ทำงานอยู่ที่นั่นจะไม่ยอมให้ผมเข้าไป. ผมรู้สึกประหลาดใจที่พยานฯ ต้อนรับผมอย่างกรุณา. ทั้งชายและหญิงต่างทำงานอย่างขยันขันแข็ง ไม่มีใครอู้งาน. พวกเขาสามัคคีและมีน้ำใจ.’ ชายคนนี้ตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเริ่มเข้าร่วมการประชุม. ต่อมาเขากล่าวว่า ‘ความคิดของผมเปลี่ยนไปแล้ว. ผมจะไม่ทิ้งพระเจ้าซึ่งผมได้พบแล้วในตอนนี้.’ ”—สำนักงานสาขาโคลัมเบีย.
การสนับสนุนของเราคือสิ่งสำคัญ
การสร้างหอประชุมคือสิ่งสำคัญในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา. วิธีที่พยานพระยะโฮวาทั่วโลกสนับสนุนงานนี้—ทางการเงินและวิธีอื่น ๆ—นับเป็นเรื่องที่น่าชมเชย. แต่เราควรจดจำไว้ว่าการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ในแง่มุมอื่น ๆ ก็สำคัญเช่นกัน. เป็นครั้งคราวที่คริสเตียนตกเป็นเหยื่อของภัยธรรมชาติและต้องการความช่วยเหลือจากพวกเรา. การผลิตสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์. พวกเราส่วนใหญ่เห็นแล้วว่า วารสารที่อาศัยพระคัมภีร์หรือหนังสือที่มีการแจกจ่ายไปถึงคนที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องมีพลังมากขนาดไหน. นอกจากนี้ การสนับสนุนเหล่ามิชชันนารีและผู้รับใช้เต็มเวลาประเภทอื่น ๆ ก็สำคัญมากเช่นกัน. คริสเตียนที่มีน้ำใจเสียสละเช่นนี้มีบทบาทสำคัญในการขยายงานประกาศในสมัยสุดท้ายนี้.
คนที่บริจาคเพื่อการก่อสร้างพระวิหารได้รับความยินดีมากมาย. (1 โครนิกา 29:9) ทุกวันนี้ การให้โดยการบริจาคเพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้ทำให้เรามีความสุขเช่นกัน. (กิจการ 20:35) เราจะมีความสุขเช่นนั้นได้เมื่อเราใส่เงินบริจาคของเราในกล่องบริจาคสำหรับกองทุนหอประชุมราชอาณาจักรและเมื่อเราบริจาคสำหรับงานทั่วโลก โดยวิธีนี้จึงเป็นการสนับสนุนโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. โดยวิธีที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้จึงมีเอกภาพในการนมัสการแท้. ขอเราทุกคนเปี่ยมด้วยความสุขอันเนื่องมาจากการสนับสนุนการนมัสการดังกล่าว!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 16 สำหรับแหล่งที่มาของคำว่า “หอประชุมราชอาณาจักร” ดูหนังสือพยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) หน้า 319 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
วิธีต่าง ๆ ที่บางคนเลือกใช้ในการให้
การบริจาคสำหรับงานทั่วโลก
หลายคนกันเงินหรือจัดงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งซึ่งเขาจะใส่ในกล่องบริจาคที่ติดป้ายว่า “เงินบริจาคสำหรับงานประกาศข่าวดีทั่วโลก—มัดธาย 24:14.”
แต่ละเดือน ประชาคมต่าง ๆ จะส่งเงินเหล่านั้นไปยังสำนักงานของพยานพระยะโฮวาที่ดูแลประเทศนั้น ๆ. เงินบริจาคโดยสมัครใจอาจส่งตรงถึง Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania, c/o Office of the Secretary and Treasurer, 25 Columbia Heights, Brooklyn, New York 11201-2483 หรือถึงสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาซึ่งดำเนินงานในประเทศของคุณ. เช็คที่ส่งถึงที่อยู่ข้างบนควรสั่งจ่ายในนาม “Watch Tower.” อาจบริจาคอัญมณีหรือของมีค่าอื่น ๆ ได้ด้วย. ควรแนบจดหมายสั้น ๆ ไปกับของบริจาค โดยระบุว่าเป็นของที่ยกให้โดยไม่มีเงื่อนไข.
การบริจาคแบบมีเงื่อนไข
อาจมอบเงินไว้ให้ว็อชเทาเวอร์ใช้สำหรับงานทั่วโลก. อย่างไรก็ตาม จะคืนเงินให้ผู้บริจาคหากเขาร้องขอ. สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อสำนักงานเหรัญญิกตามที่อยู่ข้างต้น.
การให้แบบเตรียมการ
นอกจากเงินที่ยกให้โดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว ยังมีวิธีการให้แบบอื่นอีกเพื่อประโยชน์แก่งานราชอาณาจักรทั่วโลก. วิธีให้เหล่านี้รวมถึง:
เงินประกัน: อาจระบุชื่อว็อชเทาเวอร์ [ในประเทศไทย: มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาพระคัมภีร์] ให้เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินบำเหน็จบำนาญ.
บัญชีเงินฝาก: บัญชีเงินฝาก, ใบรับเงินฝากที่เปลี่ยนมือได้, หรือบัญชีเงินบำนาญส่วนบุคคลอาจมอบไว้ให้ว็อชเทาเวอร์ดูแลหรือเบิกได้เมื่อเจ้าของบัญชีสิ้นชีวิต โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารท้องถิ่น.
หุ้นและพันธบัตร: อาจบริจาคหุ้นและพันธบัตรแก่ว็อชเทาเวอร์ด้วยการยกให้โดยไม่มีเงื่อนไข.
อสังหาริมทรัพย์: อาจบริจาคอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถขายได้ ไม่ว่าด้วยการยกให้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือโดยการสงวนสิทธิ์ไว้สำหรับผู้บริจาคซึ่งจะอาศัยในบ้านหรือที่ดินนั้นจนสิ้นชีวิตในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นที่พักอาศัย. ควรติดต่อกับสำนักงานสาขาในประเทศของคุณก่อนจะทำการโอนอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ.
เงินรายปีที่เป็นของขวัญ: เป็นการจัดเตรียมที่คนหนึ่งโอนเงินหรือหลักทรัพย์ให้แก่นิติบุคคลที่พยานพระยะโฮวาใช้. ส่วนผู้บริจาค หรือคนที่ผู้บริจาคได้ระบุชื่อไว้ ได้รับเงินรายปีตามที่กำหนดไว้ตราบใดเขายังมีชีวิตอยู่. ผู้บริจาคอาจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ในปีที่มีการโอนเงินนั้น.
พินัยกรรม: อาจยกทรัพย์สินหรือเงินให้แก่ว็อชเทาเวอร์ [หรือมูลนิธิฯ] ด้วยการทำพินัยกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรืออาจระบุชื่อว็อชเทาเวอร์ [หรือมูลนิธิฯ] เป็นผู้รับประโยชน์ตามข้อตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นประโยชน์ต่อองค์การศาสนาอาจมีข้อดีตรงที่ได้รับการยกเว้นภาษี.
ตามความหมายของสำนวนที่ว่า “การให้แบบเตรียมการ” ผู้บริจาคตามวิธีเหล่านี้คงต้องวางแผนอยู่บ้าง. เพื่อช่วยผู้ซึ่งประสงค์จะสนับสนุนงานทั่วโลกของพยานพระยะโฮวาโดยการให้แบบเตรียมการบางประเภทนั้น จึงมีการจัดเตรียมจุลสารเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนชื่อ การให้แบบเตรียมการเพื่องานราชอาณาจักรทั่วโลก. จุลสารนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับวิธีต่าง ๆ ที่อาจบริจาคได้ไม่ว่าในเวลานี้หรือจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เมื่อตนเสียชีวิต. หลังจากอ่านจุลสารนี้แล้วและปรึกษากับที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือภาษีของตน หลายคนจึงสามารถช่วยสนับสนุนงานด้านศาสนาและมนุษยธรรมของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก และได้รับประโยชน์สูงสุดในเรื่องการเสียภาษีขณะที่ทำการบริจาคดังกล่าว. จะรับจุลสารนี้ได้โดยเขียนไปขอโดยตรงจากแผนกการให้แบบเตรียมการ.
เพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม คุณอาจจะเขียนหรือโทรศัพท์ถึงแผนกการให้แบบเตรียมการตามที่อยู่ข้างล่างนี้ หรือคุณอาจติดต่อสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาซึ่งดำเนินงานในประเทศของคุณ.
แผนกการให้แบบเตรียมการ
Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania
100 Watchtower Drive
Patterson, New York 12563-9204 Telephone: (845) 306-0707
มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาพระคัมภีร์ ตู้ ปณ. 7 คลองจั่น กรุงเทพฯ 10240
[ภาพหน้า 18]
ความพยายามอย่างเป็นเอกภาพของเราทำให้การสร้างหอประชุมที่สวยงามทั่วโลกเป็นไปได้
[ภาพหน้า 18]
หอประชุมราชอาณาจักรหลังใหม่ในกานา