เอบลาเมืองโบราณที่เคยถูกลืมถูกค้นพบอีก
เอบลาเมืองโบราณที่เคยถูกลืมถูกค้นพบอีก
ฤดูร้อนปี 1962 ปาโอโล มาตีไอ นักโบราณคดีหนุ่มชาวอิตาลี ได้สำรวจบริเวณที่ราบทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียโดยที่ไม่ทราบว่าจะพบสิ่งใดหรือไม่. บริเวณตอนกลางของซีเรียเป็นที่ที่เคยคิดกันว่าไม่มีแหล่งสำรวจทางโบราณคดีมากนัก. แต่จากการขุดค้นซึ่งเริ่มขึ้นในสองปีถัดมาที่เตล มาร์ดิคห์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอะเลปโปไปทางใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร ก็พบสิ่งซึ่งหลายคนถือว่าเป็น ‘การค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20.’
ข้อความจารึกโบราณยืนยันว่าเมืองที่ชื่อว่าเอบลาเคยมีอยู่จริง. อย่างไรก็ดี ไม่มีใครรู้ว่าภายใต้เนินดินกองใดในจำนวนมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วตะวันออกกลางนั้นจะเป็นที่ตั้งของเมืองดังกล่าว. ข้อความหนึ่งกล่าวถึงชัยชนะของซาร์กอน กษัตริย์แห่งอักกาดที่มีเหนือ “มารี, ยาร์มุตี, และเอบลา.” ในข้อความจารึกอีกแห่งหนึ่ง กษัตริย์กูเดียชาวสุเมเรียนได้กล่าวถึงไม้ซุงล้ำค่าซึ่งทรงได้รับจาก “ภูเขาแห่งอิบลา [เอบลา].” นอกจากนี้ ชื่อของเอบลายังปรากฏอยู่ที่คาร์นัก ประเทศอียิปต์ ในรายชื่อเมืองต่าง ๆ ยุคโบราณที่ฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 พิชิตได้. คุณคงเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดนักโบราณคดีจึงพยายามค้นหาเมืองเอบลา.
อย่างไรก็ดี การขุดค้นต่อไปช่วยให้ทราบอะไรเพิ่มขึ้น. ในปี 1968 มีการพบส่วนหนึ่งของรูปปั้นของไอบิท-ลิม ราชาแห่งเอบลา. คำปฏิญาณซึ่งจารึกไว้ในภาษาอักกาดเปิดเผยว่ารูปปั้นดังกล่าวอุทิศแด่เทพธิดาอิชทาร์ ผู้ “เจิดจรัสอยู่ในเอบลา.” ใช่แล้ว การค้นพบทางโบราณคดีเริ่มเผยให้เห็น “ภาษา, ประวัติศาสตร์, และวัฒนธรรมที่นักโบราณคดีไม่เคยรู้จักมาก่อน.”
ในปี 1974/1975 มีการยืนยันว่าเตล มาร์ดิคห์คือเมืองเดียวกับเอบลาโบราณ เมื่อได้ค้นพบแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มที่กล่าวถึงชื่อโบราณนี้หลายต่อหลายครั้ง. การขุดค้นยังแสดงให้เห็นด้วยว่าเมืองนี้เคยมีอย่างน้อยสองยุค. หลังจากเรืองอำนาจในครั้งแรก เมืองนี้ก็เริดร้าง. จากนั้น เอบลาก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่แล้วก็เริดร้างอีกและถูกลืมไปนานนับศตวรรษ.
หนึ่งเมืองแต่หลายประวัติศาสตร์
เมืองโบราณส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นบนที่ราบตะกอนน้ำพา เช่น ที่ราบระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทิส ซึ่งสามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่. เมืองแรก ๆ ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลอยู่ในเมโสโปเตเมีย. (เยเนซิศ 10:10) ชื่อเอบลาดูเหมือนจะมีความหมายว่า “หินสีขาว” หมายถึงชั้นหินปูนซึ่งเป็นฐานรากของเมืองนี้. ดูเหมือนว่ามีการเลือกสร้างเมืองขึ้นในบริเวณนี้เนื่องจากชั้นหินปูนเป็นสิ่งรับประกันว่าที่นี่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลแม่น้ำสายหลัก.
ปริมาณน้ำฝนในเอบลาทำให้การเพาะปลูกจำกัดอยู่เพียงธัญพืช, ไม้เถา, และต้นมะกอก. พื้นที่บริเวณนี้ยังเหมาะแก่การเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะแกะอีกด้วย. ที่ตั้งอันเป็นชัยภูมิทางการค้า เนื่องจากอยู่ระหว่างที่ราบเมโสโปเตเมียกับชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนทำให้เมืองนี้เหมาะแก่การค้าขายไม้ซุง, พลอย, และโลหะ. เอบลาครอบคลุมเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 200,000 คน โดยเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้อาศัยอยู่ในเมืองหลวง.
ซากปรักหักพังของพระราชวังขนาดใหญ่เป็นหลักฐานถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเอบลาในยุคดังกล่าว. เพื่อจะเข้าไปในพระราชวังต้องผ่านประตูที่สูง 12 ถึง 15
เมตร. เมื่อเวลาผ่านไปพระราชวังหลังนี้ได้ถูกขยายต่อเติมเพื่อจะรองรับความจำเป็นต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นขณะที่อำนาจการบริหารขยายออกไป. พวกเจ้าหน้าที่ทำงานภายใต้ระบบการบริหารที่ซับซ้อน ซึ่งประกอบด้วยกษัตริย์และมเหสี พร้อมด้วยผู้ช่วยคือ “เจ้านาย” และ “ผู้ปกครอง.”มีการพบแผ่นดินเหนียว และเศษที่แตกหักมากกว่า 17,000 ชิ้น. เดิมทีเป็นไปได้ว่ามีการวางแผ่นดินเหนียวที่จารึกเสร็จสมบูรณ์มากกว่า 4,000 ชิ้นอย่างระมัดระวังไว้บนชั้นไม้. เอกสารดังกล่าวให้หลักฐานว่าเอบลาเคยทำการค้าในขอบเขตที่ใหญ่โต. ตัวอย่างเช่น เมืองนี้เคยค้าขายกับอียิปต์ ดังจะเห็นได้จากราชลัญจกรของฟาโรห์สององค์. แผ่นดินเหนียวเหล่านี้ส่วนใหญ่เขียนด้วยอักษรรูปลิ่มภาษาสุเมเรียน. แต่ก็มีบางส่วนที่เขียนเป็นภาษาเอบลาซึ่งเป็นภาษาเซมิติกที่เก่าแก่มากแต่สามารถถอดความหมายได้เนื่องจากเอกสารดินเหนียวเหล่านี้. บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมตะวันออกต่างก็ประหลาดใจที่พบภาษาเซมิติกที่เก่าแก่ขนาดนี้. คุณอาจสนใจที่ได้รู้ว่าแผ่นดินเหนียวเหล่านี้บางแผ่นมีรายการที่เขียนด้วยสองภาษาคือสุเมเรียน-เอบลา. หนังสือที่ชื่อเอบลา—อัลเล ออริจินิ เดลลา ซิวิลตา อูร์บานา (เอบลา—ณ ต้นกำเนิดอารยธรรมเมือง, ภาษาอิตาลี) เรียกแผ่นดินเหนียวเหล่านี้ว่า “พจนานุกรมเก่าแก่ที่สุดที่เราเคยรู้จัก.”
เห็นได้ชัดว่าเอบลามีกองทหารที่ทรงอานุภาพ เนื่องจากงานแกะสลักหลายชิ้นที่ขุดพบมีภาพนักรบชาวเอบลาในท่ากำลังสังหารศัตรูหรือถวายศีรษะที่ตัดมาได้. อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองของเอบลาก็ถึงกาลอวสานเมื่อประวัติศาสตร์ของพวกเขามาถึงช่วงที่อัสซีเรียและบาบิโลนกำลังเรืองอำนาจ. ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสืบย้อนเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสมัยโน้น แต่ดูเหมือนว่ากษัตริย์ซาร์กอนที่ 1 (ไม่ใช่ซาร์กอนที่กล่าวถึงในยะซายา 20:1) และนาราม-ซินผู้เป็นนัดดาได้ยกทัพมาตีเอบลา. หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ครั้งนั้นเป็นไปอย่างดุเดือดและเป็นการโจมตีที่ป่าเถื่อนอย่างยิ่ง.
แต่ดังที่กล่าวไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งเมืองนี้ก็กลับมามีชีวิตอีกครั้งและถึงกับกลายเป็นเมืองสำคัญของภูมิภาคด้วยซ้ำ. เมืองใหม่นี้สร้างขึ้นตามแบบแปลนทุกประการ ซึ่งทำให้ดูยิ่งใหญ่กว่าเดิม. เมืองส่วนที่อยู่ต่ำกว่ามีบริเวณศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอุทิศแด่
เทพธิดาอิชทาร์ ผู้ที่ชาวบาบิโลนถือว่าเป็นเทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์. คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับประตูอิชทาร์อันเลื่องชื่อซึ่งพบอยู่ใต้ซากปรักหักพังของบาบิโลน. สิ่งก่อสร้างแห่งหนึ่งในเอบลาที่น่าประทับใจเป็นพิเศษดูเหมือนจะเคยเป็นที่อยู่ของสิงโตซึ่งถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์สำหรับเทพธิดาอิชทาร์. นี่นำเรามาถึงศาสนาของชาวเอบลา.ศาสนาในเอบลา
เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ ในตะวันออกโบราณ เอบลามีเทพเจ้ามากมาย. เทพเหล่านี้รวมถึงบาละ, ฮะดัด (ชื่อที่เป็นส่วนประกอบของชื่อกษัตริย์ซีเรียบางองค์), และดากาน. (1 กษัตริย์ 11:23; 15:18; 2 กษัตริย์ 17:16) ชาวเอบลาเกรงกลัวเทพเหล่านี้ทุกองค์. พวกเขาถึงกับนับถือพระของชนชาติอื่นด้วย. การค้นพบทางโบราณคดีบ่งชี้ว่ามีการนมัสการบรรพกษัตริย์ผู้ได้รับการยกย่องเป็นเทพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสหัสวรรษที่สองก่อนสากลศักราช.
ชาวเอบลาไม่ได้วางใจในเทพของตนโดยสิ้นเชิง. เมืองเอบลาที่สร้างขึ้นใหม่มีกำแพงวงแหวนสองชั้นที่ใหญ่โตมโหฬารซึ่งคงต้องทำให้พวกข้าศึกครั่นคร้าม. กำแพงชั้นนอกมีเส้นรอบวงยาวเกือบสามกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันยังมองเห็นได้ชัดเจน.
อย่างไรก็ตาม แม้แต่เมืองเอบลาที่สร้างใหม่นี้ก็ถึงกาลอวสาน. บางทีอาจเป็นชาวฮิตไทต์ ในช่วงประมาณปี 1600 ก่อน ส.ศ. ที่พิชิตเมืองซึ่งเคยเรืองอำนาจนี้. บทกวีโบราณบทหนึ่งกล่าวว่า เอบลา “แตกกระจัดกระจายเหมือนแจกันเซรามิก.” ไม่ช้า เมืองนี้ก็สาบสูญไปจากประวัติศาสตร์. ในเอกสารชิ้นหนึ่งที่เขียนโดยนักรบครูเสดที่ยกทัพมายังเยรูซาเลมในปี 1098 มีการกล่าวถึงบริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเอบลา โดยเรียกบริเวณนั้นว่าเมืองหน้าด่านที่อยู่ห่างไกลในชนบท ซึ่งมีชื่อว่ามาร์ดิคห์. เอบลาเกือบจะถูกลืมไปแล้ว ก่อนจะมีผู้ค้นพบอีกครั้งหนึ่งในหลายพันปีต่อมา.
[กรอบ/ภาพหน้า 14]
เอบลาและคัมภีร์ไบเบิล
บทความที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1976 ในวารสารนักโบราณคดีคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) ได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่รู้ในหมู่ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล. ผู้ถอดความหมายข้อความบนแผ่นดินเหนียวของชาวเอบลาแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่ว่า ในบรรดาเรื่องต่าง ๆ ที่มีจารึกไว้ แผ่นดินเหนียวเหล่านั้นได้กล่าวถึงชื่อคนและสถานที่ซึ่งหลายศตวรรษต่อมาได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล. บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาคิดไปไกลกว่าที่กล่าวถึงในบทความนั้น ผู้คงแก่เรียนบางคนจึงเริ่มเขียนว่าเอบลาให้หลักฐานทางโบราณคดีซึ่งแสดงว่าบันทึกในเยเนซิศเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้. * มิตเชล เดฮุด สมาชิกนิกายเยสุอิต อ้างว่า “แผ่นจารึกดินเหนียว [จากเอบลา] ให้ความกระจ่างแก่ความคลุมเครือที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล.” ตัวอย่างเช่น เขาเชื่อว่าแผ่นจารึกเหล่านั้นสามารถไข “ปัญหาเรื่องความเก่าแก่ของพระนามพระเจ้าแห่งอิสราเอล.”
ปัจจุบันข้อความในแผ่นดินเหนียวเหล่านี้ได้รับการศึกษาและตรวจสอบอย่างถูกต้องมากขึ้น. เนื่องจากทั้งภาษาฮีบรูและภาษาเอบลาต่างก็เป็นภาษาเซมิติก จึงเป็นไปได้ว่าชื่อเมืองหรือคนอาจคล้ายคลึงหรือตรงกับชื่อในคัมภีร์ไบเบิล. อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าหมายถึงสถานที่หรือบุคคลเดียวกัน. ยังคงต้องดูกันต่อไปว่าการค้นพบในเอบลาจะมีผลต่อการศึกษาด้านคัมภีร์ไบเบิลมากน้อยเพียงไร. ในเรื่องพระนามของพระเจ้า ผู้เขียนบทความในวารสารนักโบราณคดีคัมภีร์ไบเบิล ได้ปฏิเสธว่าเขาไม่เคยบอกว่ามีการกล่าวถึง “ยาห์เวห์” ในข้อความภาษาเอบลา. สำหรับผู้คงแก่เรียนบางคน เครื่องหมายรูปลิ่มที่มีการแปลว่า ยาเพียงแต่บ่งชี้ถึงพระองค์หนึ่งในบรรดาพระที่ชาวเอบลายอมรับนับถือ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนอธิบายว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องหมายทางไวยากรณ์เท่านั้น. ไม่ว่าจะอย่างไร สัญลักษณ์นี้ก็ไม่ได้หมายถึงพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว.—พระบัญญัติ 4:35; ยะซายา 45:5.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 19 สำหรับการพิจารณาว่าหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร โปรดดูบทที่ 4 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิล—คำของพระเจ้าหรือของมนุษย์? (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[แผนที่/รูปภาพหน้า 12]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ทะเลใหญ่
คะนาอัน
ซีเรีย
อะเลปโป
เอบลา (เตล มาร์ดิคห์)
แม่น้ำยูเฟรทิส
[ที่มาของภาพ]
Archaeologist: Missione Archeologica Italiana a Ebla - Università degli Studi di Roma ‘La Sapienza’
[ภาพหน้า 12, 13]
สร้อยคอทองคำอายุย้อนไปถึงประมาณปี 1750 ก่อน ส.ศ.
[ภาพหน้า 13]
ซากปรักหักพังของพระราชวังขนาดใหญ่
[ภาพหน้า 13]
ภาพเขียนของจิตรกรแสดงให้เห็นแผ่นดินเหนียวที่ถูกเก็บไว้ในห้องเก็บเอกสาร
[ภาพหน้า 13]
แผ่นดินเหนียวจารึกอักษรรูปลิ่ม
[ภาพหน้า 13]
คทาของกษัตริย์อียิปต์ปี 1750-1700 ก่อน ส.ศ.
[ภาพหน้า 13]
นักรบชาวเอบลากับศีรษะของศัตรู
[ภาพหน้า 14]
ศิลาจารึกที่อุทิศแด่เทพธิดาอิชทาร์
[ที่มาของภาพ]
Missione Archeologica Italiana a Ebla - Università degli Studi di Roma ‘La Sapienza’
[ที่มาของภาพหน้า 13]
All images (except palace remains): Missione Archeologica Italiana a Ebla - Università degli Studi di Roma ‘La Sapienza’